จงเป็นผู้อ่านพระธรรมวิวรณ์ที่มีความสุข
“ความสุขมีแก่ผู้ที่อ่านออกเสียงและคนเหล่านั้นที่ได้ยินถ้อยคำแห่งคำพยากรณ์นี้ และปฏิบัติตามสิ่งที่เขียนไว้ในคำพยากรณ์นี้.”—วิวรณ์ 1:3, ล.ม.
1. อัครสาวกโยฮันตกอยู่ในสถานการณ์แบบใดเมื่อท่านเขียนพระธรรมวิวรณ์ และนิมิตเหล่านี้ได้รับการบันทึกไว้ด้วยจุดประสงค์อะไร?
“ข้าพเจ้าโยฮัน . . . ได้มาอยู่ที่เกาะซึ่งเรียกว่า ปัตโมสเนื่องด้วยได้กล่าวถึงพระเจ้าและให้คำพยานถึงพระเยซู.” (วิวรณ์ 1:9, ล.ม.) อัครสาวกโยฮันเขียนหนังสืออะพอคาลิปส์ หรือพระธรรมวิวรณ์ในสถานการณ์ดังกล่าว. เข้าใจกันว่าท่านถูกเนรเทศมาอยู่ที่เกาะปัตโมสระหว่างรัชสมัยของจักรพรรดิโดมิเทียนแห่งโรมัน (ส.ศ. 81-96) ผู้บังคับให้นมัสการจักรพรรดิและได้กลายมาเป็นผู้ข่มเหงคริสเตียน. ขณะอยู่ที่เกาะปัตโมสโยฮันได้รับนิมิตที่เกี่ยวเนื่องกันเป็นชุดซึ่งท่านได้บันทึกไว้. ท่านบอกเล่านิมิตเหล่านี้ ไม่ใช่เพื่อให้คริสเตียนในยุคแรกกลัว แต่เพื่อเสริมให้เข้มแข็ง, ปลอบโยน, และหนุนกำลังใจพวกเขา โดยคำนึงถึงการทดลองต่าง ๆ ที่พวกเขากำลังประสบอยู่และที่จะมีมาในภายภาคหน้า.—กิจการ 28:22; วิวรณ์ 1:4; 2:3, 9, 10, 13.
2. เหตุใดสถานการณ์ที่โยฮันและเพื่อนคริสเตียนประสบจึงเป็นเรื่องน่าสนใจสำหรับคริสเตียนที่มีชีวิตในปัจจุบัน?
2 สถานการณ์ตอนที่เขียนพระธรรมเล่มนี้ของคัมภีร์ไบเบิลมีความหมายมากสำหรับคริสเตียนที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน. โยฮันกำลังถูกกดขี่เพราะเป็นพยานถึงพระยะโฮวาและพระบุตร พระคริสต์เยซู. ท่านและเพื่อนคริสเตียนมีชีวิตอยู่ในบรรยากาศแห่งความเป็นปฏิปักษ์ ทั้งนี้เพราะในขณะที่พยายามเป็นพลเมืองที่ดี พวกเขาไม่อาจนมัสการจักรพรรดิได้. (ลูกา 4:8) ในบางประเทศ คริสเตียนแท้ในสมัยปัจจุบันพบว่าตนตกอยู่ในสถานการณ์คล้าย ๆ กัน เพราะรัฐถือสิทธิ์ที่จะกำหนดความหมายของสิ่งที่ “ถูกต้องทางศาสนา.” ด้วยเหตุนั้น ถ้อยคำที่พบในส่วนนำของพระธรรมวิวรณ์จึงให้การปลอบโยนสักเพียงไรที่ว่า “ความสุขมีแก่ผู้ที่อ่านออกเสียงและคนเหล่านั้นที่ได้ยินถ้อยคำแห่งคำพยากรณ์นี้ และปฏิบัติตามสิ่งที่เขียนไว้ในคำพยากรณ์นี้; ด้วยว่าเวลากำหนดใกล้เข้ามาแล้ว.” (วิวรณ์ 1:3, ล.ม.) ถูกแล้ว ผู้อ่านพระธรรมวิวรณ์ที่ใส่ใจและปฏิบัติตามสามารถพบความสุขแท้และได้พระพรมากมาย.
3. ใครเป็นแหล่งที่มาของวิวรณ์ซึ่งเปิดเผยแก่โยฮัน?
3 ใครเป็นแหล่งที่มาแรกสุดของพระธรรมวิวรณ์ และมีการใช้ช่องทางอะไรในการถ่ายทอด? ข้อแรกบอกเราดังนี้: “วิวรณ์โดยพระเยซูคริสต์ ซึ่งพระเจ้าได้ประทานแก่พระองค์ เพื่อสำแดงให้ทาสทั้งหลายของพระองค์เห็นสิ่งซึ่งจะต้องเกิดขึ้นในไม่ช้า. และพระองค์ได้ทรงใช้ทูตสวรรค์ของพระองค์ไปและโดยทูตสวรรค์นั้นทรงแสดงวิวรณ์นี้ด้วยสัญลักษณ์ต่าง ๆ แก่ทาสของพระองค์คือโยฮัน.” (วิวรณ์ 1:1, ล.ม.) พูดง่าย ๆ คือ แหล่งที่มาอันแท้จริงของวิวรณ์คือพระยะโฮวาพระเจ้า ผู้ได้ประทานแก่พระเยซู และโดยทางทูตสวรรค์องค์หนึ่ง พระเยซูทรงแจ้งข่าวสารนี้แก่โยฮัน. เมื่อพิจารณาให้ละเอียดอีกสักเล็กน้อยก็จะเห็นว่าพระเยซูยังได้ใช้พระวิญญาณบริสุทธิ์เพื่อส่งข่าวสารต่อไปยังประชาคมต่าง ๆ และเพื่อประทานนิมิตแก่โยฮันด้วย.—วิวรณ์ 2:7, 11, 17, 29; 3:6, 13, 22; 4:2; 17:3; 21:10; เทียบกับกิจการ 2:33.
4. พระยะโฮวายังคงใช้วิธีการอะไรในทุกวันนี้เพื่อนำไพร่พลของพระองค์บนแผ่นดินโลก?
4 พระยะโฮวายังคงใช้พระบุตรซึ่งเป็น “ประมุขของประชาคม” ให้สอนผู้รับใช้ของพระองค์บนแผ่นดินโลก. (เอเฟโซ 5:23, ล.ม.; ยะซายา 54:13; โยฮัน 6:45) นอกจากนี้ พระยะโฮวาทรงใช้พระวิญญาณของพระองค์เพื่อสั่งสอนไพร่พลของพระองค์. (โยฮัน 15:26; 1 โกรินโธ 2:10) และเช่นเดียวกับที่พระเยซูทรงใช้ ‘โยฮันทาสของพระองค์’ เพื่อส่งอาหารฝ่ายวิญญาณซึ่งช่วยค้ำจุนประชาคมต่าง ๆ ในศตวรรษแรก ในปัจจุบันพระองค์ทรงใช้ “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” ซึ่งประกอบด้วย “พวกพี่น้อง” ผู้ถูกเจิมของพระองค์บนแผ่นดินโลก เพื่อแจก “อาหารตามเวลา” ทางฝ่ายวิญญาณแก่ครอบครัวของพระองค์และมิตรสหายของพวกเขา. (มัดธาย 24:45-47; 25:40) ความสุขมีแก่คนเหล่านั้นที่ยอมรับแหล่งแห่ง “ของประทานอันดี” ที่เราได้รับทางอาหารฝ่ายวิญญาณและร่องทางที่พระองค์กำลังใช้อยู่.—ยาโกโบ 1:17.
ประชาคมที่พระคริสต์ทรงชี้นำ
5. (ก) มีการเปรียบประชาคมคริสเตียนและเหล่าผู้ดูแลเหมือนกับอะไร? (ข) แม้เป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์ อะไรจะช่วยให้เรามีความสุข?
5 ในบทนำของพระธรรมวิวรณ์ ได้มีการเปรียบประชาคมคริสเตียนเสมือนเชิงตะเกียง. เหล่าผู้ดูแลประชาคมเปรียบเสมือนทูตสวรรค์ (ผู้ส่งข่าว) และดวงดาว. (วิวรณ์ 1:20)a โดยตรัสถึงพระองค์เอง พระคริสต์ทรงบอกโยฮันให้เขียนว่า “เหล่านี้คือสิ่งที่ตรัสโดยพระองค์ผู้ทรงถือดวงดาวเจ็ดดวงนั้นไว้ในพระหัตถ์เบื้องขวา คือพระองค์ผู้ทรงดำเนินอยู่ท่ามกลางเชิงตะเกียงทองคำเจ็ดคันนั้น.” (วิวรณ์ 2:1, ล.ม.) ข่าวสารทั้งเจ็ดซึ่งถูกส่งไปยังประชาคมทั้งเจ็ดในเอเชียแสดงให้เห็นว่าในศตวรรษแรก ประชาคมต่าง ๆ และผู้ปกครองของประชาคมเหล่านั้นมีจุดเด่นและจุดอ่อนของตน. ปัจจุบันก็เช่นเดียวกัน. ด้วยเหตุนั้น เราจะมีความสุขยิ่งกว่านี้มากหากเราระลึกเสมอถึงข้อเท็จจริงที่ว่าพระคริสต์ผู้เป็นประมุขของเราทรงอยู่ท่ามกลางประชาคมต่าง ๆ. พระองค์ทรงทราบอย่างชัดแจ้งถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น. ตามความหมายเป็นนัย เหล่าผู้ดูแลอยู่ “ในพระหัตถ์เบื้องขวา” กล่าวคืออยู่ภายใต้การควบคุมและการชี้นำของพระองค์และต้องให้การต่อพระองค์สำหรับวิธีที่พวกเขาบำรุงเลี้ยงประชาคม.—กิจการ 20:28; เฮ็บราย 13:17.
6. อะไรแสดงว่าไม่ใช่เฉพาะผู้ดูแลเท่านั้นที่ต้องให้การต่อพระคริสต์?
6 อย่างไรก็ตาม คงเป็นการหลอกตัวเองหากเราคิดว่าเฉพาะผู้ดูแลเท่านั้นที่ต้องให้การต่อพระคริสต์สำหรับความประพฤติของตน. ในข่าวสารตอนหนึ่ง พระคริสต์ตรัสว่า “ประชาคมทั้งปวงจะได้รู้ว่า เราเป็นผู้พิเคราะห์ไตและหัวใจ และเราจะสนองแก่พวกเจ้าเป็นรายบุคคลตามการกระทำของเจ้า.” (วิวรณ์ 2:23, ล.ม.) ข้อนี้ให้ทั้งคำเตือนและกำลังใจในขณะเดียวกัน—ให้คำเตือนที่ว่าพระคริสต์ทรงทราบแรงกระตุ้นในส่วนลึกของเรา และให้กำลังใจเพราะข้อนี้รับรองกับเราว่าพระคริสต์ทรงทราบดีถึงความพยายามของเราและจะอวยพระพรเราหากเราทำสิ่งที่เราทำได้.—มาระโก 14:6-9; ลูกา 21:3, 4.
7. คริสเตียนในเมืองฟีลาเดลเฟีย ‘ปฏิบัติตามถ้อยคำเกี่ยวกับความอดทนของพระเยซู’ อย่างไร?
7 ข่าวสารของพระคริสต์ที่มีไปถึงประชาคมในเมืองฟีลาเดลเฟียแห่งลิเดียไม่ปรากฏว่ามีคำตำหนิ แต่ได้ให้คำสัญญาที่น่าจะทำให้เราสนใจเป็นอย่างยิ่ง. “เพราะเหตุที่เจ้าได้ปฏิบัติตามถ้อยคำเกี่ยวกับความอดทนของเรา เราจะรักษาเจ้าให้พ้นจากชั่วโมงแห่งการทดสอบด้วย ซึ่งจะต้องมีมาทั่วแผ่นดินโลกทั้งสิ้นที่มีคนอาศัยอยู่ เพื่อจะทดสอบคนเหล่านั้นที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินโลก.” (วิวรณ์ 3:10, ล.ม.) คำภาษากรีกสำหรับ “ปฏิบัติตามถ้อยคำเกี่ยวกับความอดทนของเรา” อาจมีความหมายได้ด้วยว่า “ปฏิบัติตามที่เราได้กล่าวเกี่ยวกับความอดทน.” ข้อ 8 แนะว่าคริสเตียนในฟีลาเดลเฟียไม่เพียงเชื่อฟังพระบัญชาของพระคริสต์ แต่ยังได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของพระองค์ที่ให้อดทนอย่างซื่อสัตย์ด้วย.—มัดธาย 10:22; ลูกา 21:19.
8. (ก) พระเยซูทรงสัญญาอะไรกับคริสเตียนที่ฟีลาเดลเฟีย? (ข) ใครในปัจจุบันที่ได้รับผลกระทบจาก “ชั่วโมงแห่งการทดสอบ”?
8 พระเยซูตรัสเสริมอีกว่าพระองค์จะช่วยพวกเขาให้พ้นจาก “ชั่วโมงแห่งการทดสอบ.” นี่หมายถึงอะไรจริง ๆ สำหรับคริสเตียนในตอนนั้น เราไม่ทราบ. แม้มีช่วงว่างเว้นสั้น ๆ จากการถูกกดขี่หลังจากจักรพรรดิโดมิเทียนสิ้นพระชนม์ในปี ส.ศ. 96 แต่การกดขี่ระลอกใหม่ซึ่งเริ่มเกิดขึ้นภายใต้การปกครองของทราจัน (ส.ศ. 98-117) คงทำให้มีการทดลองต่อไปอย่างไม่ต้องสงสัย. แต่ “ชั่วโมงแห่งการทดสอบ” ครั้งใหญ่เกิดขึ้นใน “วันขององค์พระผู้เป็นเจ้า” ในช่วง “เวลาอวสาน” ที่เรากำลังมีชีวิตอยู่นี้เอง. (วิวรณ์ 1:10, ล.ม.; ดานิเอล 12:4, ล.ม.) คริสเตียนที่ได้รับการเจิมด้วยพระวิญญาณผ่านช่วงเวลาพิเศษเฉพาะแห่งการทดสอบในระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและทันทีหลังจากนั้น. กระนั้น “ชั่วโมงแห่งการทดสอบ” ก็ยังคงดำเนินอยู่. เวลาดังกล่าวนี้มีผลต่อ “ทั่วแผ่นดินโลกทั้งสิ้นที่มีคนอาศัยอยู่” รวมถึงหลายล้านคนที่ประกอบกันเป็นชนฝูงใหญ่ซึ่งหวังที่จะรอดชีวิตผ่านความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่. (วิวรณ์ 3:10; 7:9, 14, ล.ม.) เราจะมีความสุขหากเรา ‘ปฏิบัติตามที่พระเยซูได้กล่าวเกี่ยวกับความอดทน’ กล่าวคือ “ผู้ใดทนได้จนถึงที่สุด, ผู้นั้นจะรอด.”—มัดธาย 24:13.
การอ่อนน้อมต่อพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวาอย่างมีความสุข
9, 10. (ก) นิมิตเกี่ยวด้วยราชบัลลังก์ของพระยะโฮวาน่าจะมีผลกระทบต่อเราในทางใดบ้าง? (ข) การอ่านพระธรรมวิวรณ์อาจช่วยให้เรามีความสุขได้อย่างไร?
9 นิมิตเกี่ยวด้วยพระราชบัลลังก์ของพระยะโฮวาและราชสำนักฝ่ายสวรรค์ของพระองค์ซึ่งมีกล่าวไว้ในบท 4 และ 5 ของพระธรรมวิวรณ์น่าจะทำให้เรารู้สึกเกรงขามอย่างยิ่ง. เราน่าจะประทับใจในคำสรรเสริญที่ออกมาจากใจของเหล่ากายวิญญาณที่มีอำนาจในสวรรค์ขณะที่พวกเขาแสดงความอ่อนน้อมด้วยความยินดีต่อพระบรมเดชานุภาพอันชอบธรรมของพระยะโฮวา. (วิวรณ์ 4:8-11) เสียงของเราควรได้ยินอยู่ท่ามกลางคนเหล่านั้นที่กล่าวว่า “ขอให้พระองค์ผู้ประทับบนราชบัลลังก์และพระเมษโปดกนั้นจงได้รับพระพรและเกียรติยศและสง่าราศีและฤทธานุภาพตลอดไปเป็นนิตย์.”—วิวรณ์ 5:13, ล.ม.
10 ในทางปฏิบัติ นี่หมายถึงการที่เราอ่อนน้อมด้วยความยินดีทำตามพระทัยประสงค์ของพระยะโฮวาในทุกสิ่ง. อัครสาวกเปาโลเขียนดังนี้: “ไม่ว่าท่านจะพูดหรือทำอะไรก็ตาม จงทำทุกสิ่งในนามของพระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้า ขอบพระคุณพระเจ้าพระบิดาโดยทางพระองค์.” (โกโลซาย 3:17, ล.ม.) การอ่านพระธรรมวิวรณ์จะทำให้เรามีความสุขอย่างแท้จริง หากในส่วนลึกที่สุดแห่งจิตใจและหัวใจของเรา เรายอมรับพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวาและคำนึงถึงพระทัยประสงค์ของพระองค์ในทุกแง่มุมแห่งชีวิต.
11, 12. (ก) ระบบโลกของซาตานจะถูกเขย่าและถูกทำลายอย่างไร? (ข) ตามพระธรรมวิวรณ์บท 7 ใครจะ “ยืนอยู่ได้” เมื่อถึงเวลานั้น?
11 การอ่อนน้อมด้วยความยินดีต่อพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวาเป็นรากฐานสำหรับความสุขทั้งในส่วนของตัวเราเองและคนอื่น ๆ ทั้งหมด. ไม่ช้า แผ่นดินไหวใหญ่ในความหมายเป็นนัยจะเขย่าระบบโลกของซาตานให้สะเทือนจนถึงรากและทำลายทั้งระบบ. จะไม่มีที่ลี้ภัยสำหรับมนุษย์ผู้ปฏิเสธที่จะอ่อนน้อมต่อรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์ของพระคริสต์ซึ่งเป็นตัวแทนแห่งการปกครองที่ถูกต้องเที่ยงธรรมของพระเจ้า. คำพยากรณ์กล่าวไว้ว่า “กษัตริย์ทั้งหลายแห่งแผ่นดินโลกและผู้มีตำแหน่งสูงส่งและเหล่านายทหารชั้นผู้ใหญ่และพวกคนร่ำรวยและคนที่เข้มแข็งและทาสและไทยทุกคนซ่อนตัวในถ้ำและตามหินผาแห่งภูเขาต่าง ๆ. และพวกเขาบอกกับภูเขาและกับหินผาโดยไม่หยุดว่า ‘จงหล่นลงมาบนเราเถิดและบังซ่อนเราไว้จากพระพักตร์พระองค์ผู้ประทับบนราชบัลลังก์และจากพระพิโรธของพระเมษโปดกนั้น เพราะว่าวันใหญ่แห่งพระพิโรธของพระองค์ [ทั้งสอง] มาถึงแล้ว และผู้ใดอาจยืนอยู่ได้เล่า?’”—วิวรณ์ 6:12, 15-17, ล.ม.
12 โดยคำนึงถึงคำถามดังกล่าว ในบทถัดมา อัครสาวกโยฮันพรรณนาถึงคนเหล่านั้นที่ประกอบกันเป็นชนฝูงใหญ่ผู้ออกมาจากความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่ว่า “ยืนอยู่ต่อหน้าราชบัลลังก์และต่อพระพักตร์พระเมษโปดก.” (วิวรณ์ 7:9, 14, 15, ล.ม.) การที่พวกเขายืนอยู่ต่อหน้าราชบัลลังก์ของพระเจ้าแสดงว่าพวกเขายอมรับราชบัลลังก์นั้นและอ่อนน้อมอย่างเต็มที่ต่อพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวา. ด้วยเหตุนั้น พวกเขาจึงยืนอยู่อย่างที่ได้รับการยอมรับ.
13. (ก) ประชากรโลกส่วนใหญ่นมัสการสิ่งใด และเครื่องหมายที่หน้าผากหรือที่มือของพวกเขาเป็นสัญลักษณ์ถึงอะไร? (ข) ดังนั้น เหตุใดความอดทนจึงจะเป็นเรื่องจำเป็น?
13 ในอีกด้านหนึ่ง บท 13 พรรณนาถึงประชากรโลกที่เหลือว่ากำลังนมัสการระบบการเมืองของซาตานซึ่งได้ให้สัญลักษณ์ไว้ว่าเป็นสัตว์ร้าย. คนเหล่านี้ได้รับเครื่องหมายที่ “หน้าผาก” หรือที่ “มือ” แสดงถึงการสนับสนุนของพวกเขาต่อระบบนั้นทั้งทางความคิดและทางกาย. (วิวรณ์ 13:1-8, 16, 17) ต่อมา บท 14 กล่าวเสริมอีกว่า “ถ้าผู้ใดนมัสการสัตว์ร้ายและรูปของมัน และได้รับเครื่องหมายที่หน้าผากหรือที่มือ เขาก็จะดื่มเหล้าองุ่นแห่งพระพิโรธของพระเจ้าด้วยซึ่งได้เทลงอย่างไม่ได้เจือจางในถ้วยแห่งความกริ้วของพระองค์ . . . ตรงนี้แหละความอดทนจึงมีความสำคัญสำหรับเหล่าผู้บริสุทธิ์ คือคนเหล่านั้นที่ปฏิบัติตามข้อบัญญัติต่าง ๆ ของพระเจ้าและรักษาความเชื่อของพระเยซู.” (วิวรณ์ 14:9, 10, 12, ล.ม.) ขณะที่เวลาผ่านไป คำถามนี้ก็จะยิ่งทวีความเข้มข้น: คุณสนับสนุนผู้ใด? พระยะโฮวาและพระบรมเดชานุภาพของพระองค์หรือระบบการเมืองที่ไม่เลื่อมใสพระเจ้าซึ่งมีสัญลักษณ์เป็นสัตว์ร้าย? ความสุขย่อมจะมีแก่คนที่หลีกเลี่ยงการรับเครื่องหมายของสัตว์ร้ายและอดทนอย่างซื่อสัตย์ในการอ่อนน้อมต่อพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวา.
14, 15. มีข้อความอะไรแทรกอยู่ระหว่างคำพรรณนาเกี่ยวกับอาร์มาเก็ดดอนของพระธรรมวิวรณ์ และนั่นมีความหมายเช่นไรสำหรับเรา?
14 ผู้ปกครองทั้งหลายของ “ทั่วทั้งแผ่นดินโลกที่มีคนอาศัย” อยู่ในวิถีแห่งการปะทะ คือกำลังมุ่งหน้าไปสู่การเผชิญหน้ากับพระยะโฮวาเกี่ยวด้วยประเด็นพระบรมเดชานุภาพ. การเผชิญหน้าเพื่อประลองครั้งสุดท้ายจะเกิดขึ้นในคราวอาร์มาเก็ดดอน “สงครามแห่งวันใหญ่ของพระเจ้าองค์ทรงฤทธานุภาพทุกประการ.” (วิวรณ์ 16:14, 16, ล.ม.) มีข้อความที่ทำให้ประหลาดใจแทรกอยู่ระหว่างข้อความที่พรรณนาถึงการรวบรวมบรรดาผู้ปกครองของแผ่นดินโลกให้ทำสงครามกับพระยะโฮวา. พระเยซูเองตรัสแทรกเข้ามาในนิมิตนั้นว่า “นี่แน่ะ! เราจะมาเหมือนขโมย. ความสุขมีแก่ผู้ที่ตื่นตัวเสมอและรักษาเสื้อชั้นนอกของตน เพื่อเขาจะไม่เดินเปลือยกายและผู้คนมองเห็นความน่าอับอายของเขา.” (วิวรณ์ 16:15, ล.ม.) ความตอนนี้อาจพาดพิงถึงยามรักษาการณ์ประจำพระวิหารชาวเลวีซึ่งถูกเปลื้องเสื้อชั้นนอกและได้รับความอับอายต่อหน้าธารกำนัล หากถูกจับได้ว่าหลับยาม.
15 แนวคิดที่แฝงอยู่เห็นได้ชัดเจน: หากเราต้องการรอดชีวิตผ่านอาร์มาเก็ดดอน เราต้องรักษาความตื่นตัวฝ่ายวิญญาณอยู่เสมอและรักษาเสื้อโดยนัยซึ่งระบุตัวเราว่าเป็นพยานที่ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวาพระเจ้า. เราจะมีความสุขหากเราหลีกเลี่ยงความเซื่องซึมฝ่ายวิญญาณและดำเนินต่อไปอย่างไม่เลื่อยล้า เข้าส่วนร่วมด้วยใจแรงกล้าในการแพร่ “ข่าวดีนิรันดร์” เกี่ยวกับราชอาณาจักรของพระเจ้าซึ่งได้รับการสถาปนาแล้ว.—วิวรณ์ 14:6, ล.ม.
‘ความสุขมีแก่คนใด ๆ ที่ปฏิบัติตามถ้อยคำเหล่านี้’
16. เหตุใดบทท้าย ๆ ของพระธรรมวิวรณ์จึงเป็นเหตุแห่งความสุขเป็นพิเศษ?
16 ผู้อ่านพระธรรมวิวรณ์ที่มีความสุขย่อมจะมีแต่ความตื่นเต้นยินดีขณะที่เขาอ่านบทท้าย ๆ ที่พรรณนาถึงความหวังอันรุ่งโรจน์ของเรา—ฟ้าสวรรค์ใหม่และแผ่นดินโลกใหม่ ซึ่งก็คือรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์ที่ชอบธรรมซึ่งปกครองเหนือสังคมมนุษย์ใหม่ที่ชำระให้สะอาดแล้ว ซึ่งทั้งหมดนี้จะมีขึ้นเพื่อสรรเสริญ “พระยะโฮวาพระเจ้าองค์ทรงฤทธานุภาพทุกประการ.” (วิวรณ์ 21:22, ล.ม.) ขณะที่ชุดของนิมิตอันน่าพิศวงปิดฉากลง ทูตสวรรค์ผู้ส่งข่าวกล่าวแก่โยฮันว่า “ถ้อยคำเหล่านี้วางใจได้และสัตย์จริง; ถูกแล้ว พระยะโฮวา พระเจ้าแห่งคำกล่าวโดยการดลใจของพวกผู้พยากรณ์ได้ทรงใช้ทูตสวรรค์ของพระองค์ไปเพื่อสำแดงให้ทาสทั้งหลายของพระองค์เห็นสิ่งซึ่งจะต้องเกิดขึ้นในไม่ช้า. และนี่แน่ะ! เราจะมาโดยเร็ว. ความสุขมีแก่คนใด ๆ ที่ปฏิบัติตามถ้อยคำแห่งคำพยากรณ์ของหนังสือม้วนนี้.”—วิวรณ์ 22:6, 7, ล.ม.
17. (ก) มีคำรับรองอะไรซึ่งให้ไว้ที่วิวรณ์ 22:6? (ข) เราควรตื่นตัวที่จะหลีกเลี่ยงอะไร?
17 ผู้อ่านพระธรรมวิวรณ์ที่มีความสุขคงจะจำได้ว่าถ้อยคำตอนนี้คล้ายคลึงกับที่ปรากฏในตอนต้นของ “หนังสือม้วนนี้.” (วิวรณ์ 1:1, 3) ถ้อยคำเหล่านี้รับรองกับเราว่า ทุก “สิ่ง” ที่มีพยากรณ์ไว้ในพระธรรมเล่มสุดท้ายของคัมภีร์ไบเบิลนี้จะ “เกิดขึ้นในไม่ช้า.” เรากำลังมีชีวิตล่วงเลยเข้ามามากแล้วในเวลาอวสาน ซึ่งเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่สัมพันธ์กันตามที่มีบอกไว้ล่วงหน้าในวิวรณ์จะต้องเกิดขึ้นตามลำดับอย่างรวดเร็วในอีกไม่ช้านี้แน่นอน. ด้วยเหตุนั้น ไม่ควรปล่อยให้อะไรก็ตามที่ดูเหมือนว่ามั่นคงในระบบของซาตานมากล่อมเราให้หลับใหล. ผู้อ่านที่ตื่นตัวจะระลึกเสมอถึงคำเตือนที่ให้ไว้ในข่าวสารที่ส่งไปถึงประชาคมทั้งเจ็ดในเอเชียและจะหลีกเลี่ยงกับดักแห่งวัตถุนิยม, การบูชารูปเคารพ, การผิดศีลธรรม, ความเฉื่อยชา, และการถือลัทธิออกหาก.
18, 19. (ก) เหตุใดพระเยซูยังจะต้องเสด็จมา และเราจะมีส่วนร่วมในความหวังอะไรที่โยฮันกล่าวถึง? (ข) พระยะโฮวายังจะ “มา” เพื่ออะไร?
18 ในพระธรรมวิวรณ์ พระเยซูทรงประกาศหลายครั้งว่า “เราจะมาโดยเร็ว.” (วิวรณ์ 2:16; 3:11; 22:7, 20ก, ล.ม.) พระองค์ยังจะต้องเสด็จมาสำเร็จโทษตามการพิพากษาต่อบาบูโลนใหญ่, ระบบการเมืองของซาตาน, และมนุษย์ทั้งสิ้นที่ปฏิเสธจะอ่อนน้อมต่อพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวาซึ่งบัดนี้แสดงออกทางราชอาณาจักรมาซีฮา. เราเข้าร่วมเปล่งเสียงด้วยกันกับอัครสาวกโยฮันที่อุทานออกมาว่า “อาเมน! เชิญเสด็จมาเถิด พระเยซูเจ้า.”—วิวรณ์ 22:20ข, ล.ม.
19 พระยะโฮวาเองตรัสว่า “‘นี่แน่ะ! เราจะมาโดยเร็ว และบำเหน็จที่เราประทานก็อยู่กับเรา เพื่อตอบสนองแก่แต่ละคนตามการงานของตน.” (วิวรณ์ 22:12, ล.ม.) ขณะที่คอยท่ารางวัลแห่งชีวิตอันรุ่งโรจน์ที่ไม่รู้สิ้นสุดในฐานะส่วนหนึ่งของ “ฟ้าสวรรค์ใหม่” หรือ “แผ่นดินโลกใหม่” ตามคำสัญญา ขอให้เราเข้าร่วมด้วยใจแรงกล้าในการขยายคำเชิญไปยังบรรดาชนผู้มีหัวใจสุจริตว่า “มาเถิด!” และให้คนใด ๆ ที่กระหายมาเถิด; ให้คนใด ๆ ที่ปรารถนามารับน้ำแห่งชีวิตโดยไม่ต้องเสียค่า.” (วิวรณ์ 22:17, ล.ม.) ขอให้พวกเขาด้วยเช่นกันกลายเป็นผู้อ่านที่มีความสุขที่อ่านพระธรรมวิวรณ์ซึ่งมีขึ้นโดยการดลใจและให้แรงบันดาลใจ!
[เชิงอรรถ]
a โปรดดูพระธรรมวิวรณ์—ใกล้จะถึงจุดสุดยอด! หน้า 28, 29, 136 (เชิงอรรถ).
จุดเพื่อการทบทวน
▫ พระยะโฮวาทรงใช้ร่องทางอะไรเพื่อถ่ายทอดวิวรณ์ และเราอาจเรียนอะไรได้จากเรื่องนี้?
▫ เหตุใดเราควรมีความสุขที่ได้อ่านข่าวสารที่ส่งไปยังประชาคมทั้งเจ็ดในเอเชีย?
▫ เราจะรักษาตัวให้ปลอดภัยได้อย่างไรในระหว่าง “ชั่วโมงแห่งการทดสอบ”?
▫ ความสุขเช่นไรจะเป็นของเราหากเราปฏิบัติตามถ้อยคำในม้วนหนังสือซึ่งบรรจุอยู่ในพระธรรมวิวรณ์?
[รูปภาพหน้า 15]
ความสุขมีแก่คนที่ยอมรับแหล่งที่มาแห่งข่าวน่ายินดี
[รูปภาพหน้า 18]
ความสุขมีแก่คนที่ตื่นตัวอยู่เสมอ