จงรักษา ‘ความรักที่คุณมีในตอนแรก’
“จงยึดสิ่งที่เจ้ามีอยู่ไว้ให้มั่น.”—วิ. 3:11.
1, 2. คุณรู้สึกอย่างไรเมื่อคุณเริ่มเชื่อมั่นว่าสิ่งที่คุณเรียนรู้เกี่ยวกับพระยะโฮวาเป็นความจริง?
คุณจำได้ไหมตอนที่คุณเรียนรู้เป็นครั้งแรกเกี่ยวกับความหวังอันยอดเยี่ยมที่พระยะโฮวาทรงเสนอจะประทานแก่มนุษยชาติที่เชื่อฟัง? ถ้าคุณเคยถือศาสนาอื่นมาก่อน คุณรู้สึกอย่างไรเมื่อพยานพระยะโฮวาอธิบายเกี่ยวกับพระประสงค์ของพระเจ้าโดยใช้พระคัมภีร์หรือเมื่อคุณได้รับคำอธิบายอย่างชัดเจนในเรื่องที่เคยเป็นเรื่องยากจะเข้าใจ? คุณอาจตระหนักว่าก่อนหน้านี้คุณไม่ได้รับการสอนความจริงเกี่ยวกับพระเจ้า. แต่คุณรู้สึกยินดีสักเพียงไรที่ในตอนนี้คุณรู้ความจริงแล้ว. หากบิดามารดาที่เลี้ยงดูคุณมาเป็นคริสเตียน คุณจำได้ไหมว่าคุณรู้สึกอย่างไรเมื่อคุณเริ่มเชื่อมั่นว่าสิ่งที่คุณเรียนรู้เกี่ยวกับพระยะโฮวาเป็นความจริงและคุณตัดสินใจจะดำเนินชีวิตตามความจริงนั้น?—โรม 12:2.
2 พี่น้องฝ่ายวิญญาณของคุณหลายคนจะบอกคุณได้ว่าพวกเขาปีติยินดีมาก, รู้สึกใกล้ชิดกับพระยะโฮวา, และหยั่งรู้ค่าที่พระองค์ได้ชักนำพวกเขามาหาประชาคมของพระองค์. (โย. 6:44) ความสุขที่พวกเขามีกระตุ้นพวกเขาให้ร่วมทำกิจกรรมต่าง ๆ ของคริสเตียน. พวกเขาเต็มเปี่ยมด้วยความยินดีจนทำให้พวกเขาต้องการจะแบ่งปันความยินดีที่ตนมีกับทุกคน. คุณมีประสบการณ์คล้าย ๆ กันนี้ไหม?
3. สถานการณ์ในประชาคมเอเฟโซส์เป็นอย่างไรเมื่อพระเยซูทรงส่งข่าวสารมาถึงพวกเขา?
3 เมื่อตรัสกับประชาคมคริสเตียนในเมืองเอเฟโซส์สมัยศตวรรษแรก พระเยซูตรัสถึง “ความรักอย่างที่เจ้าเคยมีในตอนแรก.” คริสเตียนในเอเฟโซส์มีคุณลักษณะที่ดีหลายอย่าง แต่ความรักต่อพระยะโฮวาที่พวกเขาเคยแสดงให้เห็นกลับลดน้อยลง. ด้วยเหตุนั้น พระเยซูทรงบอกพวกเขาว่า “เรารู้ว่าเจ้าทำอะไร และรู้ว่าเจ้าทำงานหนักและเพียรอดทน เรารู้ว่าเจ้าทนคนเลวไม่ได้ และเจ้าทดสอบคนเหล่านั้นที่บอกว่าเขาเป็นอัครสาวกแต่หาได้เป็นไม่ และเจ้าพบว่าเขาพูดมุสา. เจ้ายังมีความเพียรอดทนด้วย เจ้าทนหลายสิ่งเพื่อเห็นแก่นามของเราและไม่ได้ท้อแท้. แต่เรามีเรื่องจะว่ากล่าวเจ้า คือ เจ้าไม่มีความรักอย่างที่เจ้าเคยมีในตอนแรก.”—วิ. 2:2-4.
4. เหตุใดข่าวสารจากพระเยซูถึงคริสเตียนในเอเฟโซส์มีความสำคัญในสมัยปัจจุบัน?
4 คำแนะนำของพระเยซูแก่คริสเตียนในเอเฟโซส์และประชาคมอื่น ๆ ในหนังสือวิวรณ์นับว่าเหมาะจริง ๆ เมื่อคำนึงถึงสภาพการณ์ช่วงหนึ่งท่ามกลางคริสเตียนผู้ถูกเจิมนับตั้งแต่ปี 1914 เป็นต้นมา. (วิ. 1:10) กระนั้น เป็นไปได้ที่แม้แต่ในเวลานี้คริสเตียนบางคนอาจสูญเสีย “ความรักอย่างที่ [พวกเขา] เคยมีในตอนแรก” ต่อพระยะโฮวาและความจริงของคริสเตียน. โดยคำนึงถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว ให้เราพิจารณาว่าการระลึกถึงและการใคร่ครวญประสบการณ์ของตัวคุณเองจะช่วยคุณอย่างไรให้รักษา, ฟื้นฟู, และเสริมความรักและความกระตือรือร้นที่คุณเคยมีต่อพระเจ้าและความจริง.
อะไรทำให้คุณเชื่อมั่นว่าสิ่งที่คุณได้เรียนรู้เป็นความจริง?
5, 6. (ก) คริสเตียนแต่ละคนต้องเชื่อมั่นในเรื่องใด? (ข) อะไรทำให้คุณเชื่อมั่นว่าพยานพระยะโฮวาสอนความจริง? (ค) อะไรสามารถช่วยใครคนหนึ่งให้ฟื้นฟูความรักอย่างที่เขาเคยมีในตอนแรก?
5 ทุกคนที่อุทิศตัวแด่พระยะโฮวาต้อง “ทำให้รู้แน่” ก่อนว่าอะไรคือ “พระประสงค์อันดีของพระเจ้าซึ่งเป็นที่ชอบพระทัยและสมบูรณ์พร้อม.” (โรม 12:1, 2) ส่วนหนึ่งนั้น นั่นเกี่ยวข้องกับการเรียนความจริงในคัมภีร์ไบเบิล. สิ่งที่ทำให้ใครคนหนึ่งเชื่อมั่นว่าพยานพระยะโฮวาสอนความจริงอาจต่างจากสิ่งที่ทำให้อีกคนหนึ่งเชื่อมั่น. บางคนจำได้ว่าจุดเปลี่ยนก็คือเมื่อพวกเขาอ่านพบพระนามของพระเจ้าในคัมภีร์ไบเบิล หรือเมื่อพวกเขาเข้าใจว่าสภาพที่แท้จริงของคนตายเป็นอย่างไร. (เพลง. 83:18; ผู้ป. 9:5, 10) สิ่งที่ทำให้หลายคนประทับใจก็คือความรักในหมู่ประชาชนของพระยะโฮวา. (โย. 13:34, 35) และก็ยังมีอีกหลายคนที่ประทับใจเมื่อได้มาเข้าใจความหมายของการไม่เป็นส่วนของโลก. พวกเขาได้ข้อสรุปว่าคริสเตียนแท้ไม่อาจมีส่วนร่วมกับความขัดแย้งทางการเมืองหรือในสงครามของชาติต่าง ๆ.—ยซา. 2:4; โย. 6:15; 17:14-16.
6 สำหรับหลายคน การหาเหตุผลในเรื่องเหล่านี้และเรื่องอื่น ๆ ช่วยจุดประกายทำให้พวกเขาเริ่มมีความรักต่อพระเจ้า. ลองใช้เวลาสักนิดนึกทบทวนว่าอะไรทำให้คุณเชื่อมั่นในความจริง. คุณเป็นปัจเจกบุคคลที่มีสภาพการณ์ในชีวิตและบุคลิกลักษณะเฉพาะตัวไม่เหมือนใคร ดังนั้นเหตุผลพื้นฐานที่ทำให้คุณรักพระยะโฮวาและเชื่อคำสัญญาของพระองค์คงจะแตกต่างจากคนอื่น ๆ. เป็นไปได้มากทีเดียวว่า เหตุผลดังกล่าวก็ยังคงเป็นจริงสำหรับคุณในทุกวันนี้เช่นเดียวกับตอนที่คุณเรียนรู้เหตุผลเหล่านั้นเป็นครั้งแรก. ความจริงไม่เคยเปลี่ยน. ดังนั้น การทบทวนแนวคิดและความรู้สึกที่มีต่อเรื่องเหล่านั้นอาจช่วยฟื้นฟูความรักที่คุณเคยมีต่อความจริงในตอนแรก.—อ่านบทเพลงสรรเสริญ 119:151, 152; 143:5.
จงเสริมความรักของคุณให้แรงกล้ายิ่งขึ้น
7. เหตุใดเราจำเป็นต้องเสริมความรักต่อความจริงที่เรามีในตอนแรกให้แรงกล้ายิ่งขึ้น และเราจะทำอย่างนั้นได้อย่างไร?
7 ชีวิตของคุณอาจเปลี่ยนไปมากนับตั้งแต่ที่คุณได้อุทิศตัวแด่พระยะโฮวา. ความรักต่อความจริงที่คุณมีในตอนแรกนับว่าสำคัญ แต่เมื่อเวลาผ่านไปคุณจำเป็นต้องเสริมความรักให้แรงกล้ายิ่งขึ้นเพื่อจะเผชิญกับข้อท้าทายใหม่ ๆ ที่ทดสอบความเชื่อของคุณ. อย่างไรก็ตาม พระยะโฮวาได้ทรงค้ำจุนคุณ. (1 โค. 10:13) ด้วยเหตุนั้น ประสบการณ์ที่คุณมีเมื่อเวลาผ่านไปก็นับว่ามีค่าอย่างยิ่งสำหรับคุณด้วย. ประสบการณ์เหล่านั้นได้ช่วยคุณเสริมความรักที่คุณมีในตอนแรกให้แรงกล้ายิ่งขึ้น และเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้คุณแน่ใจได้ว่าอะไรคือพระประสงค์อันดีของพระเจ้าซึ่งเป็นที่ชอบพระทัยพระองค์.—ยโฮ. 23:14; เพลง. 34:8.
8. พระยะโฮวาทรงระบุตัวพระองค์เองอย่างไรให้โมเซรู้จัก และชาวอิสราเอลได้มารู้จักพระเจ้าอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นโดยวิธีใด?
8 เพื่อเป็นตัวอย่าง ขอให้พิจารณาสถานการณ์ของชาวอิสราเอลเมื่อพระยะโฮวาทรงบอกพวกเขาว่าพระองค์ทรงประสงค์จะช่วยพวกเขาให้พ้นจากการเป็นทาสในอียิปต์. พระเจ้าทรงระบุตัวพระองค์เองให้โมเซรู้จักโดยตรัสว่า “เราจะเป็นอย่างที่เราประสงค์จะเป็น.” (เอ็ก. 3:7, 8, 13, 14, ล.ม.) โดยพื้นฐานแล้ว พระยะโฮวาทรงหมายความว่าพระองค์จะแสดงบทบาทอะไรก็ตามที่จำเป็นเพื่อปลดปล่อยประชาชนของพระองค์ให้เป็นอิสระ. ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นและตามที่จำเป็นในสถานการณ์ต่าง ๆ ชาวอิสราเอลได้เห็นพระยะโฮวาทรงเผยแง่มุมต่าง ๆ แห่งบุคลิกภาพของพระองค์—ในฐานะผู้ทรงฤทธิ์ใหญ่ยิ่ง, ผู้พิพากษา, ผู้นำ, ผู้ช่วยให้รอด, นักรบ, และผู้เลี้ยงดู.—เอ็ก. 12:12; 13:21; 14:24-31; 16:4; นเฮม. 9:9-15.
9, 10. เหตุการณ์แบบใดบ้างที่อาจช่วยคนเราให้รู้จักพระเจ้าดีขึ้น และเหตุใดจึงนับว่าดีที่จะระลึกถึงประสบการณ์เช่นนั้น?
9 สถานการณ์ในชีวิตของคุณไม่เหมือนกับสถานการณ์ของชาวอิสราเอลโบราณ. แม้กระนั้น คุณคงมีประสบการณ์ที่ทำให้เชื่อมั่นว่าพระเจ้าทรงใฝ่พระทัยคุณเป็นส่วนตัว ซึ่งนั่นเสริมความเชื่อของคุณให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น. พระยะโฮวาอาจแสดงให้เห็นโดยวิธีใดวิธีหนึ่งว่าพระองค์ทรงเป็นผู้เลี้ยงดู, ผู้ปลอบโยน, หรือครู. (อ่านยะซายา 30:20ข, 21.) หรือคุณอาจมีประสบการณ์บางอย่างที่เห็นได้ชัดว่าพระเจ้าตอบคำอธิษฐานของคุณ. คุณอาจประสบกับปัญหายุ่งยากบางอย่าง แล้วก็มีเพื่อนคริสเตียนมาให้ความช่วยเหลือ. หรือในการศึกษาส่วนตัวคุณอาจสังเกตเห็นข้อคัมภีร์ที่เหมาะกับสภาพการณ์ของคุณ.
10 ถ้าคุณเล่าประสบการณ์เหล่านั้นให้คนอื่นฟัง บางคนอาจไม่รู้สึกประทับใจเหมือนที่คุณรู้สึก. อันที่จริง เหตุการณ์เหล่านั้นไม่ใช่การอัศจรรย์. แต่คุณเห็นว่าเหตุการณ์เหล่านั้นมีความหมายมากสำหรับคุณ. พระยะโฮวาทรงแสดงให้เห็นด้วยการกระทำว่าพระองค์ทรงพร้อมจะแสดงบทบาทใด ๆ ก็ตามที่จำเป็นเพื่อคุณ. ขอให้นึกย้อนกลับไปจนถึงช่วงแรก ๆ ที่คุณอยู่ในความจริง. คุณจำได้ไหมว่ามีกี่ครั้งที่คุณรู้สึกว่าพระยะโฮวาทรงดูแลชีวิตคุณเป็นส่วนตัว? ถ้าอย่างนั้น การจำเหตุการณ์เหล่านี้ไว้และจำว่าเหตุการณ์เหล่านี้ทำให้คุณรู้สึกอย่างไรก็อาจกระตุ้นหัวใจคุณให้รู้สึกถึงความรักต่อพระยะโฮวาเช่นเดียวกับในตอนนั้น. จงรำลึกถึงประสบการณ์เหล่านั้นเสมอ. ใคร่ครวญเรื่องเหล่านั้น. เหตุการณ์เหล่านั้นเป็นข้อพิสูจน์ว่าพระยะโฮวาทรงสนพระทัยในตัวคุณเป็นส่วนตัว และไม่มีใครจะทำให้คุณหมดความเชื่อมั่นเช่นนั้น.
จงวิเคราะห์ตัวคุณเอง
11, 12. หากความรักที่คริสเตียนมีต่อความจริงลดน้อยลงไป นั่นอาจเป็นเพราะอะไร และพระเยซูทรงให้คำแนะนำอะไร?
11 ถ้าคุณไม่ได้รู้สึกว่ารักพระเจ้าและความจริงเหมือนที่เคยรู้สึก นั่นไม่ใช่เพราะว่ามีอะไรเปลี่ยนไปในส่วนของพระองค์. พระยะโฮวาไม่เคยเปลี่ยน. (มลคี. 3:6; ยโก. 1:17) เมื่อก่อนพระองค์ทรงสนพระทัยในตัวคุณ และในเวลานี้พระองค์ก็ทรงสนพระทัยในตัวคุณเหมือนเดิม. ดังนั้น หากมีสิ่งใดที่เปลี่ยนไปในความสัมพันธ์ของคุณกับพระยะโฮวา สิ่งนั้นอาจได้แก่อะไร? อาจเป็นได้ไหมที่คุณหมกมุ่นหรือเครียดมากขึ้นกับความกระวนกระวายต่าง ๆ ในชีวิต? ในอดีต คุณอาจอธิษฐานอย่างแรงกล้ากว่า, ขยันศึกษากว่า, คิดรำพึงบ่อยกว่าเมื่อเทียบกับตอนนี้. ในอดีตคุณกระตือรือร้นในงานรับใช้และเข้าร่วมการประชุมเป็นประจำมากกว่าตอนนี้ไหม?— 2 โค. 13:5.
12 คุณอาจไม่รู้ตัวว่ามีแนวโน้มบางอย่างเปลี่ยนไปในตัวคุณเอง แต่ถ้าคุณรู้ว่ามีอะไรบางอย่างเปลี่ยนไป นั่นเป็นเพราะอะไร? อาจเป็นได้ไหมที่ความเป็นห่วงในเรื่องที่สมควรห่วง เช่น การหาเลี้ยงครอบครัวเพื่อให้พอกินพอใช้, การดูแลสุขภาพ, หรือเรื่องอื่น ๆ ที่คล้าย ๆ กันนั้น ทำให้คุณเฉื่อยลงและไม่สำนึกถึงความเร่งด่วนว่าวันของพระยะโฮวากำลังใกล้เข้ามา? พระเยซูทรงบอกเหล่าอัครสาวกว่า “จงระวังตัวให้ดีเพื่อว่าใจของเจ้าจะไม่หมกมุ่นอยู่กับการกินมากเกินไป การดื่มจัด และความวิตกกังวลกับชีวิต แล้ววันนั้นจะมาถึงเจ้าทันทีโดยที่เจ้าไม่ทันรู้ตัว เหมือนบ่วงแร้ว. ด้วยว่าวันนั้นจะมาถึงทุกคนที่อยู่ทั่วพื้นแผ่นดินโลก. ฉะนั้น จงเฝ้าระวังและทูลวิงวอนอยู่เสมอเพื่อเจ้าทั้งหลายจะหนีพ้นสิ่งทั้งปวงนี้ซึ่งจะต้องเกิดขึ้น.”—ลูกา 21:34-36.
13. ยาโกโบเปรียบพระคำของพระเจ้ากับอะไร?
13 ยาโกโบ ผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลซึ่งได้รับการดลใจ กระตุ้นเพื่อนร่วมความเชื่อให้วิเคราะห์ตัวเองอย่างซื่อสัตย์โดยอาศัยพระคำของพระเจ้า. ยาโกโบเขียนดังนี้: “จงเป็นผู้ทำตามพระคำ ไม่ใช่เป็นเพียงผู้ฟังที่หลอกตัวเองด้วยการหาเหตุผลผิด ๆ. ด้วยว่าถ้าผู้ใดเป็นผู้ฟังพระคำแล้วไม่ทำตาม ผู้นั้นก็เป็นเหมือนคนที่มองหน้าตัวเองในกระจก. เพราะเขามองตัวเองแล้วก็ไปและลืมทันทีว่าเขาเป็นอย่างไร. แต่ผู้ที่พินิจพิจารณากฎหมายอันสมบูรณ์ซึ่งเกี่ยวข้องกับเสรีภาพและยึดมั่นกับกฎหมายนั้น เขาจะมีความสุขที่ทำเช่นนั้น เพราะเขาไม่เป็นผู้ฟังที่หลงลืม แต่เป็นผู้ปฏิบัติตามพระคำ.”—ยโก. 1:22-25.
14, 15. (ก) คัมภีร์ไบเบิลสามารถช่วยคุณให้ปรับปรุงสภาพฝ่ายวิญญาณของคุณได้อย่างไร? (ข) คุณอาจใคร่ครวญคำถามอะไรบ้าง?
14 คนเราสามารถส่องกระจกเพื่อจะตรวจดูให้แน่ใจว่าเขาอยู่ในสภาพที่ดูดีแล้ว. ตัวอย่างเช่น ถ้าชายคนหนึ่งเห็นว่าเนกไทของเขาไม่ตรง เขาก็จะจัดให้ตรงได้. ถ้าผู้หญิงคนหนึ่งเห็นว่าผมยุ่ง เธอก็จะหวีผมให้เรียบร้อยได้. คล้ายกัน พระคัมภีร์ช่วยเราให้ตรวจสอบตัวเองว่าเป็นอย่างไร. เมื่อเราเทียบตัวเราเองกับที่คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่าเราควรเป็น เราก็กำลังใช้พระคัมภีร์ให้ทำหน้าที่เหมือนกับกระจก. แต่จะเป็นประโยชน์ไหมถ้าเราส่องกระจกแล้วก็ไม่ได้ทำอะไรเพื่อแก้ไขจุดบกพร่องที่เรามองเห็น? นับว่าฉลาดสุขุมที่จะลงมือทำตามสิ่งที่เราเห็นใน “กฎหมายอันสมบูรณ์” ของพระเจ้า และเป็น “ผู้ปฏิบัติตาม” กฎหมายนั้น. ด้วยเหตุนั้น ใครก็ตามที่ตระหนักว่าความรักที่ตนเคยมีในตอนแรกต่อพระยะโฮวาและความจริงลดน้อยลงไปน่าจะใคร่ครวญคำถามต่อไปนี้: ‘ฉันกำลังพบกับแรงกดดันอะไรในชีวิต และฉันทำอย่างไรกับแรงกดดันเหล่านั้น? ในอดีตฉันทำอย่างไร? มีอะไรบางอย่างเปลี่ยนไปไหม?’ ถ้าการตรวจสอบตัวเองเช่นนั้นเผยให้เห็นว่ามีข้อบกพร่องบางอย่าง ก็อย่าเพิกเฉย. ถ้าจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแก้ไข อย่าชักช้าที่จะทำอย่างนั้น.—ฮีบรู 12:12, 13.
15 การใคร่ครวญเช่นนั้นยังจะช่วยคุณได้ด้วยให้ตั้งเป้าหมายที่สมเหตุผลเพื่อจะก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณ. อัครสาวกเปาโลให้คำแนะนำซึ่งมาจากการดลใจแก่ติโมเธียวเพื่อนร่วมงานของท่านให้ปรับปรุงงานรับใช้ของตน. เปาโลกระตุ้นเพื่อนผู้อ่อนวัยกว่าว่า “จงไตร่ตรองเรื่องเหล่านี้ จงหมกมุ่นอยู่กับเรื่องเหล่านี้ เพื่อความก้าวหน้าของท่านจะปรากฏแก่ทุกคน.” เราก็ควรไตร่ตรองให้ดีด้วย โดยอาศัยพระคำของพระเจ้า ว่ามีทางใดบ้างที่เราจะก้าวหน้าได้.—1 ติโม. 4:15.
16. คุณจำเป็นต้องตื่นตัวต่ออันตรายอะไรเมื่อตรวจสอบตัวเองโดยอาศัยพระคัมภีร์?
16 หากคุณตรวจสอบตัวเองอย่างซื่อสัตย์ คุณคงจะพบว่าคุณมีข้ออ่อนแอบางอย่าง. นั่นอาจทำให้คุณรู้สึกห่อเหี่ยวใจได้ แต่อย่าปล่อยให้เกิดความรู้สึกอย่างนั้น. ที่จริง จุดประสงค์ของการตรวจสอบตัวเองก็คือเพื่อจะรู้ว่าจะปรับปรุงในจุดไหนได้บ้าง. แน่นอน ซาตานอยากให้คริสเตียนรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่าเพราะความไม่สมบูรณ์. อันที่จริง ได้มีการกล่าวอ้างว่าพระเจ้าทรงดูแคลนความพยายามทั้งสิ้นของมนุษย์ที่ต้องการรับใช้พระองค์. (โยบ 15:15, 16; 22:3) นั่นเป็นคำโกหกที่พระเยซูทรงโต้แย้งอย่างแรง; พระเจ้าทรงถือว่าเราแต่ละคนมีค่ามาก. (อ่านมัดธาย 10:29-31.) การรู้ตัวว่าคุณมีข้อบกพร่องบางอย่างน่าจะทำให้คุณถ่อมใจและตั้งใจแน่วแน่จะแก้ไขตัวเองให้ดีขึ้น โดยอาศัยความช่วยเหลือจากพระยะโฮวา. (2 โค. 12:7-10) หากความเจ็บป่วยหรืออายุที่มากขึ้นเป็นปัจจัยที่ทำให้คุณทำได้จำกัด ก็จงตั้งเป้าหมายอย่างที่ทำได้จริง แต่อย่าหยุดเลิกหรือปล่อยให้ความรักของคุณลดน้อยลงไป.
มีประโยชน์มากมายที่จะหยั่งรู้ค่า
17, 18. การสร้างเสริมความรักที่คุณมีในตอนแรกให้ประโยชน์อะไรบ้าง?
17 มีประโยชน์มากมายที่จะได้รับจากการสร้างเสริมต่อ ๆ ไปบนรากฐานความรักที่คุณมีในตอนแรก. คุณสามารถพัฒนาความรู้เกี่ยวกับพระเจ้าและความหยั่งรู้ค่าต่อการชี้นำด้วยความรักจากพระองค์. (อ่านสุภาษิต 2:1-9; 3:5, 6.) ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญกล่าวว่า “ข้อเตือนใจของพระยะโฮวาวางใจได้ ทำให้ผู้ที่ขาดประสบการณ์มีปัญญา. . . . การรักษาข้อความเหล่านั้นไว้ก็มีบำเหน็จเป็นอันมาก.” นอกจากนั้น “ความสุขมีแก่คนที่ปราศจากผิดในแนวทางของเขา คือผู้ที่ดำเนินในกฎหมายของพระยะโฮวา.”—เพลง. 19:7, 11, ล.ม.; 119:1, ล.ม.
18 คุณคงเห็นด้วยแน่ ๆ ว่าคุณมีหลายสิ่งที่น่าจะหยั่งรู้ค่า. คุณเข้าใจเหตุผลว่าทำไมจึงเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ อย่างที่เป็นอยู่ในโลก. คุณได้รับประโยชน์จากการจัดเตรียมฝ่ายวิญญาณทุกอย่างที่พระเจ้ากำลังประทานแก่ประชาชนของพระองค์ในทุกวันนี้. ไม่มีข้อสงสัยว่าคุณรู้สึกขอบคุณด้วยที่พระยะโฮวาได้ชักนำคุณเข้าสู่ประชาคมของพระองค์ซึ่งมีอยู่ทั่วโลกและประทานสิทธิพิเศษให้คุณเป็นพยานคนหนึ่งของพระองค์. ลองนับพระพรที่คุณได้รับดูสิ! ถ้าคุณจดพระพรเหล่านั้นลงบนกระดาษ ก็คงจะเป็นรายการอันยาวเหยียด. การคิดถึงพระพรเหล่านั้นเป็นครั้งคราวจะช่วยคุณอย่างแน่นอนให้ทำตามคำแนะนำที่ว่า “จงยึดสิ่งที่เจ้ามีอยู่ไว้ให้มั่น.”—วิ. 3:11.
19. นอกจากการใคร่ครวญความสัมพันธ์ที่คุณมีกับพระเจ้าแล้ว ยังมีอะไรอีกที่นับว่าจำเป็นเพื่อจะรักษาสุขภาพฝ่ายวิญญาณให้ดี?
19 การใคร่ครวญวิธีที่ความเชื่อของคุณได้พัฒนาขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งที่สามารถช่วยคุณให้ยึดสิ่งที่คุณมีอยู่ไว้ให้มั่น. วารสารนี้ได้กล่าวย้ำหลายครั้งถึงสิ่งอื่น ๆ ที่จำเป็นเพื่อจะรักษาสุขภาพฝ่ายวิญญาณให้ดี. สิ่งจำเป็นเหล่านี้รวมถึงการอธิษฐาน, การเข้าร่วมและมีส่วนร่วมในการประชุมคริสเตียน, และการร่วมทำงานประกาศอย่างกระตือรือร้น. การทำสิ่งเหล่านี้สามารถช่วยคุณให้ฟื้นฟูและสร้างเสริมความรักที่คุณเคยมีในตอนแรก.—เอเฟ. 5:10; 1 เป. 3:15; ยูดา 20, 21.
คุณจะตอบอย่างไร?
• เหตุผลที่คุณเริ่มรักพระยะโฮวาจะช่วยให้คุณมีกำลังใจในตอนนี้ได้อย่างไร?
• การใคร่ครวญประสบการณ์ที่คุณเองมีตลอดหลายปีที่ผ่านไปจะทำให้คุณสามารถเชื่อมั่นในเรื่องใด?
• เหตุใดคุณควรวิเคราะห์ความรักที่คุณมีต่อพระเจ้า?
[ภาพหน้า 23]
ส่วนไหนของความจริงที่ดึงดูดใจคุณและทำให้คุณเชื่อมั่น?
[ภาพหน้า 25]
คุณเห็นสิ่งใดที่ต้องปรับเปลี่ยนไหม?