การโต้แย้งของพระยะโฮวากับนานาชาติ
“เสียงจะดังจนถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลกอย่างแน่นอน เพราะพระยะโฮวาทรงมีข้อโต้แย้งกับนานาชาติ.”—ยิระมะยา 25:31, ล.ม.
1, 2. (ก) เกิดอะไรขึ้นในอาณาจักรยูดาหลังจากกษัตริย์โยซียาสิ้นพระชนม์? (ข) ใครคือกษัตริย์องค์สุดท้ายของอาณาจักรยูดา และเขาประสบกับสิ่งใดเนื่องจากความไม่ซื่อสัตย์ของตน?
แผ่นดินยูดาเผชิญวิกฤติกาลอันยากจะจัดการได้. กษัตริย์ที่ดีองค์หนึ่ง คือโยซียา ได้ชะลอพระพิโรธอันแรงกล้าของพระยะโฮวาไว้ชั่วคราว. แต่มีอะไรติดตามมาเมื่อโยซียาถูกฆ่าในปี 629 ก่อนสากลศักราช? กษัตริย์องค์ต่าง ๆ ที่ครองราชย์สืบต่อจากท่านได้หลู่เกียรติพระยะโฮวา.
2 กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งยูดาคือซิดคียาซึ่งเป็นราชบุตรองค์ที่สี่ของโยซียา ดำเนินต่อไปในการ “ประพฤติชั่วร้ายในคลองพระเนตรแห่งพระยะโฮวา ตามกิจการต่าง ๆ ซึ่งยะโฮยาคิม [พระเชษฐาของท่าน] ได้ประพฤตินั้น” ดังที่พระธรรม 2 พงศาวดารกษัตริย์ 24:19 บอกไว้. ผลเป็นอย่างไร? นะบูคัดเนซัรยกมาต่อสู้ยะรูซาเลม จับซิดคียา สังหารราชบุตรของท่านต่อหน้าต่อตาท่าน ทำให้ท่านตาบอด แล้วพาไปยังบาบูโลน. ยิ่งกว่านั้น ชาวบาบูโลนได้ปล้นสะดมยึดเอาภาชนะต่าง ๆ ที่ใช้ในการนมัสการพระยะโฮวา เผาพระวิหารกับกรุงยะรูซาเลมเสีย. คนที่รอดชีวิตก็ตกเป็นเชลยในบาบูโลน.
3. ช่วงเวลาอะไรได้เริ่มขึ้นพร้อมกับพินาศกรรมของยะรูซาเลมในปี 607 ก่อนสากลศักราช และอะไรจะเกิดขึ้นเมื่อช่วงเวลานั้นสิ้นสุดลง?
3 ปีนั้น คือปี 607 ก่อนสากลศักราช ไม่เพียงแต่เป็นปีแห่งความร้างเปล่าขั้นเด็ดขาดของยะรูซาเลมเท่านั้น แต่ยังเป็นตอนเริ่มต้น “เวลากำหนดของคนต่างประเทศ” ซึ่งมีกล่าวถึงที่ลูกา 21:24 ด้วย. ช่วงเวลา 2,520 ปีนั้นได้สิ้นสุดลงในศตวรรษของเรานี้ในปี 1914. เมื่อนั้นก็ถึงเวลาที่พระยะโฮวา โดยทางพระเยซูคริสต์ พระบุตรผู้ครองราชย์ของพระองค์ ผู้ซึ่งยิ่งใหญ่กว่านะบูคัดเนซัร จะทรงประกาศและดำเนินการพิพากษาต่อโลกอันเสื่อมทรามนี้. การพิพากษานี้เริ่มด้วยคู่เทียบในสมัยปัจจุบันของยูดา คู่เทียบซึ่งอ้างเป็นตัวแทนพระเจ้าและพระคริสต์บนแผ่นดินโลก.
4. บัดนี้ เกิดคำถามอะไรขึ้นเกี่ยวกับคำพยากรณ์ของยิระมะยา?
4 เราเห็นความคล้ายคลึงกันไหมระหว่างความสับสนวุ่นวายในช่วงปีท้าย ๆ ของอาณาจักรยูดาภายใต้กษัตริย์ของเขา—พร้อมกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งก่อความหายนะที่มีผลกระทบไปถึงประเทศใกล้เคียง—กับความสับสนวุ่นวายในคริสต์ศาสนจักรทุกวันนี้? แน่นอน เราเห็น! ถ้าเช่นนั้น คำพยากรณ์ของยิระมะยาบ่งชี้ถึงอะไรเกี่ยวกับวิธีที่พระยะโฮวาจะทรงจัดการกับเรื่องราวต่าง ๆ ในสมัยนี้? ให้เรามาดูกัน.
5, 6. (ก) ตั้งแต่ปี 1914 สถานการณ์ในคริสต์ศาสนจักรคล้ายคลึงกันอย่างไรกับสถานการณ์ในยูดาก่อนอาณาจักรนั้นถูกทำลาย? (ข) ชนจำพวกยิระมะยาในสมัยนี้นำข่าวสารอะไรไปยังคริสต์ศาสนจักร?
5 นักคณิตศาสตร์และนักปรัชญาชาวอังกฤษชื่อเบอร์ทรานด์ รัสเซลล์ ได้ให้ความเห็นไว้เมื่อประมาณ 40 ปีมาแล้วดังนี้: “นับตั้งแต่ปี 1914 ทุกคนที่สำนึกถึงแนวโน้มของโลกล้วนเป็นทุกข์หนักเนื่องจากสิ่งซึ่งดูเหมือนเป็นการดำเนินที่กำหนดล่วงหน้าให้ไปสู่ภัยพิบัติที่ร้ายแรงยิ่งขึ้นทุกที.” และคอนราด อะเดเนาเออร์ รัฐบุรุษชาวเยอรมันกล่าวว่า “ความปลอดภัยและความสงบอันตรธานจากชีวิตมนุษย์ตั้งแต่ปี 1914.”
6 ทุกวันนี้ ก็เช่นเดียวกับสมัยยิระมะยา การที่ระบบสิ่งต่าง ๆ มุ่งสู่อวสานนั้นเป็นที่เห็นได้จากการทำให้เลือดของผู้ไม่มีความผิดไหลนอง โดยเฉพาะในสงครามโลกสองครั้งในศตวรรษนี้. สงครามเหล่านั้นส่วนใหญ่เป็นการสู้รบกันโดยชาติต่าง ๆ แห่งคริสต์ศาสนจักร ซึ่งอ้างว่านมัสการพระเจ้าแห่งพระคัมภีร์. หน้าซื่อใจคดเสียจริง! ไม่น่าประหลาดใจที่พระยะโฮวาทรงส่งพยานของพระองค์ไปบอกพวกเขา ด้วยถ้อยคำของยิระมะยา 25:5, 6 (ล.ม.) ที่ว่า “ทุกคนโปรดหันกลับจากทางชั่วของตนและจากความชั่วแห่งการประพฤติของพวกเจ้าเถิด . . . และอย่าดำเนินตามพระเจ้าอื่น ๆ เพื่อจะปรนนิบัติและก้มลงกราบพระเหล่านั้น เพื่อเจ้าจะไม่ทำให้เราเคืองใจด้วยงานจากมือของเจ้า และเพื่อเราจะไม่ยังภัยพิบัติให้เกิดแก่เจ้า.”
7. มีหลักฐานอะไรบ่งว่าคริสต์ศาสนจักรเพิกเฉยต่อคำเตือนจากพระยะโฮวา?
7 อย่างไรก็ตาม ชาติต่าง ๆ แห่งคริสต์ศาสนจักรไม่ได้หันกลับ. เรื่องนี้เห็นได้จากการที่พวกเขาได้ถวายบูชาต่อไปแก่พระแห่งสงครามในเกาหลีและเวียดนาม. และพวกเขายังคงให้เงินทุนต่อ ๆ ไปแก่พวกพ่อค้าความตาย คือผู้ผลิตเครื่องอาวุธ. เงินเกือบ 25 ล้านล้านบาทที่ใช้ไปกับเครื่องอาวุธยุทโธปกรณ์ในแต่ละปีตลอดทศวรรษปี 1980 นั้น ส่วนใหญ่แล้วประเทศต่าง ๆ แห่งคริสต์ศาสนจักรเป็นผู้จ่าย. ตั้งแต่ปี 1951 ถึงปี 1991 ค่าใช้จ่ายทางทหารของสหรัฐประเทศเดียวก็มากกว่ากำไรสุทธิของทุกบรรษัทในอเมริการวมกันเสียอีก. นับแต่มีการประกาศอย่างครึกโครมว่าสงครามเย็นยุติลงแล้ว ก็มีการลดอาวุธนิวเคลียร์ที่ล้าสมัย แต่คลังสรรพาวุธมหึมายังมีอาวุธร้ายแรงอื่น ๆ อีกและได้รับการพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ. สักวันหนึ่งอาวุธเหล่านั้นอาจถูกนำมาใช้ก็ได้.
การพิพากษาดินแดนที่มีแต่การปล่อยตามใจแห่งคริสต์ศาสนจักร
8. ถ้อยคำในยิระมะยา 25:8, 9 จะสำเร็จเป็นจริงกับคริสต์ศาสนจักรอย่างไร?
8 ตอนนี้พระคำของพระยะโฮวาที่ยิระมะยา 25:8, 9 (ล.ม.) จึงเหมาะอย่างยิ่งกับคริสต์ศาสนจักรซึ่งไม่ดำเนินประสานกับมาตรฐานอันชอบธรรมของคริสเตียน ที่ว่า “เหตุฉะนั้นพระยะโฮวาแห่งพลโยธาตรัสดังนี้: ‘เพราะเหตุพวกเจ้าไม่เชื่อฟังถอยคำของเรา นี่แหละเราจะส่งไปและเราจะพาบรรดาครอบครัวแห่งทิศเหนือ’ พระยะโฮวาตรัส ‘และส่งแม้กระทั่งนะบูคัดเรสซัรกษัตริย์แห่งบาบูโลน ผู้รับใช้ของเรา และเราจะนำพวกเขามาต่อสู้แผ่นดินนี้และต่อสู้ชาวเมืองนี้และต่อสู้บรรดาชาติที่อยู่ล้อมรอบ; และเราจะมอบเขาไปสู่ความพินาศและทำให้เขาเป็นสิ่งน่าตกตะลึงและเป็นสิ่งที่จะเป่าปากและเป็นที่ร้างเปล่าถึงเวลาไม่กำหนด.’” ฉะนั้น เริ่มกับคริสต์ศาสนจักรที่อ้างเป็นไพร่พลของพระเจ้า ความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่จะเริ่มขึ้น ในที่สุดจะแผ่ไปทั่วโลก ไปถึง ‘บรรดาชาติที่อยู่ล้อมรอบ.’
9. ในสมัยของเรานี้สภาพการณ์ฝ่ายวิญญาณของคริสต์ศาสนจักรกลับเลวร้ายหนักขึ้นในทางใดบ้าง?
9 ในคริสต์ศาสนจักรเคยมีเวลาหนึ่งที่ผู้คนมีความนับถือคัมภีร์ไบเบิล เมื่อเกือบทุกคนมองดูการสมรสและชีวิตครอบครัวว่าเป็นแหล่งแห่งความสุข เมื่อผู้คนลุกขึ้นแต่เช้าและพบความอิ่มใจพอใจจากการงานประจำวันของเขา. หลายคนทำให้ตัวเองสดชื่นด้วยการอ่านและศึกษาพระคำของพระเจ้าโดยแสงตะเกียงในตอนค่ำ. แต่ทุกวันนี้ การสำส่อนทางเพศ, การหย่าร้าง, การใช้ยาเสพย์ติดและการเมาเหล้า, การทำผิดกฎหมาย, ความโลภ, นิสัยเกียจคร้านในการงาน, การติดทีวีและพฤติกรรมเลวร้ายทางศีลธรรมอื่น ๆ อีกได้ทำให้ชีวิตเสื่อมทรามจนถึงขีดน่าตกใจ. นี่มาก่อนการทำลายล้างที่พระยะโฮวาจะทรงดำเนินการกับดินแดนที่มีแต่การปล่อยตามใจแห่งคริสต์ศาสนจักร.
10. จงพรรณนาสภาพการณ์ของคริสต์ศาสนจักรหลังจากที่พระยะโฮวาทรงดำเนินการพิพากษา.
10 พระยะโฮวาทรงแถลง ดังที่เราอ่านที่ยิระมะยาบท 25 ข้อ 10 และ 11 (ล.ม.) ดังนี้: “จากพวกเขาเราจะทำลายเสียงแห่งความดีอกดีใจและเสียงแห่งความปีติยินดี เสียงของเจ้าบ่าวและเสียงเจ้าสาว เสียงโม่และแสงตะเกียง. และแผ่นดินนี้ทั้งสิ้นจะกลายเป็นที่ร้างเปล่า เป็นสิ่งที่น่าตกตะลึง.” นั่นจะเป็นที่น่าตกตะลึงจริง ๆ เมื่อโบสถ์วิหารอันใหญ่โตและวังอันโอ่อ่าหรูหราของคริสต์ศาสนจักรพังทลายสู่ความพินาศ. ความพินาศครั้งนี้จะยาวนานแค่ไหน? ในสมัยยิระมะยา ความร้างเปล่าของยูดากับชาติใกล้เคียงยาวนานถึง 70 ปี ซึ่งบทเพลงสรรเสริญ 90:10 พรรณนาว่าเป็นช่วงชีวิตตามปกติ. การดำเนินการพิพากษาของพระยะโฮวาในสมัยนี้ก็จะเป็นแบบสิ้นเชิง ตลอดไป.
การพิพากษาบาบูโลนใหญ่
11. ใครจะเป็นเครื่องมือในการทำลายล้างคริสต์ศาสนจักร? เพราะเหตุใด?
11 ดังบอกล่วงหน้าไว้ที่วิวรณ์ 17:12-17 (ล.ม.) เวลานั้นจะมาถึงเมื่อพระยะโฮวาทรงเริ่มปฏิบัติการอันประหลาดของพระองค์โดยการบันดาลใจของ “เขาสิบเขานั้น” คือประเทศสมาชิกที่มีกำลังทหารของสหประชาชาติ “ให้กระทำตามความคิดของพระองค์” ทำลายจักรวรรดิแห่งศาสนาเท็จ. แต่การนี้จะเป็นไปอย่างไร? มีวิถีทางมากมายที่ “เขาสิบเขา” ในวิวรณ์บท 17 จะทำดังในถ้อยคำในข้อ 16 คือ “เกลียดชังหญิงแพศยานั้นและ . . . เผานางจนสิ้นด้วยไฟ.” เป็นความจริงที่ว่าอาวุธนิวเคลียร์ได้ทวีจำนวนขึ้นและยังคงทวีจำนวนขึ้นในหลายที่ที่ล่อแหลมบนแผ่นดินโลก. แต่เราต้องคอยท่าและดูว่าพระยะโฮวาจะทรงบันดาลใจพวกผู้ปกครองฝ่ายการเมืองอย่างไรเพื่อดำเนินการแก้แค้นของพระองค์.
12. (ก) เกิดอะไรขึ้นกับบาบูโลนหลังจากได้ทำลายยะรูซาเลมแล้ว? (ข) จะเกิดอะไรขึ้นกับนานาชาติหลังจากคริสต์ศาสนจักรถูกทำลาย?
12 ในสมัยโบราณ เป็นคราวของบาบูโลนที่จะประสบกับพระพิโรธกล้าของพระยะโฮวา. ดังนั้น โดยเริ่มกับยิระมะยาบท 25 ข้อ 12 คำพยากรณ์นั้นเพ่งเล็งเรื่องราวต่อมาภายหลังจากทัศนะที่เปลี่ยนไป. ตอนนี้นะบูคัดเนซัรและบาบูโลนไม่อยู่ในบทบาทผู้สำเร็จโทษซึ่งพระยะโฮวาทรงแต่งตั้งอีกต่อไป แต่ถูกรวมไว้ในบรรดาชาติต่าง ๆ ของโลก. สภาพนั้นคล้ายกับสถานการณ์ในสมัยนี้. “เขาสิบเขา” ในวิวรณ์บท 17 จะทำให้ศาสนาเท็จร้างเปล่า แต่ต่อจากนั้นพวกเขาเองก็จะต้องรับความพินาศพร้อมกับบรรดา “กษัตริย์” อื่นทั้งหลายแห่งแผ่นดินโลก ดังมีพรรณนาไว้ในวิวรณ์บท 19. ยิระมะยา 25:13, 14 พรรณนาถึงวิธีที่บาบูโลนพร้อมกับ “บรรดาชาติ” ที่ได้ขูดรีดไพร่พลของพระยะโฮวานั้นตกเข้าสู่การพิพากษา. พระยะโฮวาได้ทรงใช้นะบูคัดเนซัรเป็นผู้สำเร็จโทษในการลงโทษยูดา. กระนั้น ทั้งนะบูคัดเนซัรและกษัตริย์ที่ครองราชย์ต่อมาต่างก็ยกตนเองขึ้นต่อสู้พระยะโฮวาอย่างยโสโอหัง ดังที่มีตัวอย่างแสดงให้เห็นโดยการนำเอาภาชนะจากพระวิหารของพระยะโฮวามาใช้อย่างดูหมิ่น. (ดานิเอล 5:22, 23) และเมื่อชาวบาบูโลนทำลายกรุงยะรูซาเลม บรรดาชนชาติใกล้เคียงกับยูดา โมอาบ, คืออัมโมน, ตุโร, อะโดม, และชาติอื่น ๆ ต่างก็ยินดีปรีดาและล้อเลียนไพร่พลของพระเจ้า. พวกเขาเช่นกันจะต้องเก็บเกี่ยวการลงโทษอันสมควรจากพระยะโฮวา.
การพิพากษา “นานาชาติ”
13. “ถ้วยเหล้าองุ่นแห่งความพิโรธ” หมายความถึงอะไร และเกิดอะไรขึ้นกับผู้ที่ดื่มจากถ้วยนั้น?
13 ฉะนั้น ยิระมะยาจึงแถลงดังที่บันทึกไว้ในยิระมะยาบท 25 ข้อ 15 และ 16 (ล.ม.) ว่า “พระยะโฮวาพระเจ้าแห่งยิศราเอลได้ตรัสแก่ข้าพเจ้าดังนี้: ‘จงเอาถ้วยเหล้าองุ่นแห่งความพิโรธกล้าไปจากหัตถ์ของเรา และเจ้าต้องทำให้บรรดาชาติที่เราใช้เจ้าไปดื่มเหล้านั้น. และเขาทั้งหลายต้องดื่มและซวนเซไปมาและทำเหมือนคนบ้าเพราะดาบที่เราจะใช้ไปในท่ามกลางพวกเขา.’” ทำไมจึงเป็น ‘ถ้วยเหล้าองุ่นแห่งพระพิโรธกล้าของพระยะโฮวา’? ที่มัดธาย 26:39, 42 (ล.ม.) และโยฮัน 18:11 (ล.ม.) พระเยซูตรัสถึง “ถ้วย” ว่าเป็นสิ่งเล็งถึงพระทัยประสงค์ที่พระเจ้ามีต่อพระองค์. ในทำนองคล้ายกัน มีการใช้ถ้วยเป็นสัญลักษณ์ถึงการที่พระยะโฮวาทรงมีพระทัยประสงค์ให้นานาชาติดื่มจากการแก้แค้นของพระองค์. ยิระมะยา 25:17-26 บอกรายชื่อชนชาติเหล่านั้นซึ่งเป็นภาพเล็งถึงชาติต่าง ๆ ในสมัยนี้.
14. ตามคำพยากรณ์ของยิระมะยา ใครจะดื่มจากถ้วยเหล้าองุ่นแห่งพระพิโรธของพระยะโฮวา และเรื่องนี้เป็นภาพเล็งถึงสิ่งใดสำหรับสมัยของเรา?
14 หลังจากคริสต์ศาสนจักร เหมือนกับยูดา ถูกทำให้ “เป็นที่ร้างเปล่า เป็นสิ่งที่น่าตกตะลึง เป็นสิ่งที่จะเป่าปากและเป็นที่แช่งด่า” ความพินาศคอยท่าส่วนที่เหลือของจักรวรรดิโลกแห่งศาสนาเท็จอยู่. ถัดจากนั้น โลกทั้งสิ้นซึ่งอียิปต์เป็นภาพเล็งถึงก็ต้องดื่มจากถ้วยเหล้าองุ่นแห่งพระพิโรธกล้าของพระยะโฮวา! ถูกแล้ว “บรรดากษัตริย์แห่งทิศเหนือทั้งใกล้และไกลทีละองค์ ๆ และบรรดาอาณาจักรอื่น ๆ แห่งแผ่นดินโลกซึ่งอยู่บนพื้นพิภพ” ต่างก็ต้องดื่ม. สุดท้าย “กษัตริย์แห่งเชชักจะดื่มภายหลังกษัตริย์เหล่านั้น.” และ “กษัตริย์แห่งเชชัก” คือใคร? เชชักคือชื่อที่เป็นนัย เป็นรหัสหรือเครื่องหมายสำหรับบาบูโลน. ซาตานเป็นกษัตริย์ที่ไม่ปรากฏแก่ตาเหนือบาบูโลนฉันใด มันก็เป็น “ผู้ครองโลก” จนถึงสมัยนี้ฉันนั้น ดังที่พระเยซูทรงบ่งชี้. (โยฮัน 14:30) ด้วยเหตุนั้น ยิระมะยา 25:17-26 จึงเหมือนกับวิวรณ์บท 18 ถึง 20 ที่อธิบายชัดแจ้งถึงลำดับเหตุการณ์เมื่อมีการส่งถ้วยแห่งพระพิโรธของพระยะโฮวา. อันดับแรก คือจักรวรรดิแห่งศาสนาเท็จต้องพินาศ และถัดไปก็เป็นอำนาจทางการเมือง และแล้วซาตานจะถูกโยนลงในเหวลึก.—วิวรณ์ 18:8; 19:19-21; 20:1-3.
15. จะมีอะไรเกิดขึ้นเมื่อเสียงร้อง “สันติภาพและความปลอดภัย” ดังขึ้น?
15 มีการพูดกันมากถึงสันติภาพและความปลอดภัยตั้งแต่ที่คิดกันว่าสงครามเย็นสิ้นสุดลง โดยมีเพียงมหาอำนาจเดียวเหลืออยู่. ดังที่กล่าวไว้ในวิวรณ์ 17:10 มหาอำนาจนั้น เศียรที่เจ็ดของสัตว์ร้าย ต้อง “คงอยู่ชั่วขณะหนึ่ง.” แต่ “ชั่วขณะหนึ่ง” นั้นกำลังจะสิ้นสุด. อีกไม่ช้า เสียงร้องทางการเมือง “สันติภาพและความปลอดภัย” จะหลีกทางให้ “ความพินาศโดยฉับพลัน [ซึ่ง] จะมาถึงเขาทันที.” อัครสาวกเปาโลกล่าวไว้เช่นนั้น.—1 เธซะโลนิเก 5:2, 3, ล.ม.
16, 17. (ก) หากใครก็ตามพยายามหลบเลี่ยงจากการพิพากษาของพระยะโฮวา ผลจะเป็นอย่างไร? (ข) ในอีกไม่ช้าพระทัยประสงค์ของพระยะโฮวาจะสำเร็จบนแผ่นดินโลกด้วยวิธีที่เป็นการทำลายล้างเช่นไร?
16 ระบบโลกทั้งสิ้นของซาตาน เริ่มต้นกับคริสต์ศาสนจักร จะต้องดื่มจากถ้วยแห่งการแก้แค้นของพระยะโฮวา. พระบัญชาต่อไปที่พระองค์ทรงให้แก่ยิระมะยาที่บท 25 ข้อ 27 ถึง 29 (ล.ม.) ยืนยันเรื่องนี้: “เจ้าต้องบอกพวกเขาว่า ‘พระยะโฮวาแห่งพลโยธา พระเจ้าแห่งยิศราเอล ได้ตรัสดังนี้: “จงดื่มแล้วก็เมาและอาเจียนและล้มลงอย่างที่เจ้าจะไม่อาจลุกขึ้นได้เพราะดาบที่เราจะส่งมาท่ามกลางเจ้า.”’ และต้องเป็นไปถ้าเขาไม่ยอมรับจอกจากมือเจ้าไปดื่ม เจ้าต้องบอกแก่เขาเช่นกันว่า ‘พระยะโฮวาแห่งพลโยธาตรัสดังนี้: “เจ้าจะดื่มเป็นแน่. เพราะ นี่แน่ะ! เรากำลังเริ่มต้นนำภัยพิบัติมาเหนือกรุงนี้ซึ่งเรียกตามชื่อของเรา และตัวเจ้าจะมีทางพ้นโทษหรือ?”’ ‘เจ้าจะไม่พ้นโทษ เพราะมีดาบที่เราจะเรียกมาต่อสู้ชาวโลกทั้งสิ้น’ พระยะโฮวาแห่งพลโยธาได้ตรัส.”
17 ถ้อยคำเหล่านั้นช่างหนักแน่น ก่อความครั่นคร้ามจริง ๆ เพราะพระเจ้ายะโฮวาองค์บรมมหิศรแห่งเอกภพทรงเป็นผู้ตรัสถ้อยคำเหล่านั้น. ระหว่างหลายพันปี พระองค์ได้ทรงอดกลั้นพระทัยด้วยความอดทนต่อคำสบประมาท, คำตำหนิ, และความเกลียดชังที่สุมบนพระนามบริสุทธิ์ของพระองค์. แต่ในที่สุดเวลาก็มาถึงเพื่อพระองค์จะทรงตอบคำอธิษฐานซึ่งพระเยซูคริสต์พระบุตรที่รักของพระองค์ได้ทรงสอนเหล่าสาวกของพระองค์ขณะที่อยู่บนแผ่นดินโลกนี้ว่า “ฉะนั้น ท่านทั้งหลายต้องอธิษฐานอย่างนี้: ‘พระบิดาผู้สถิตในสวรรค์ ขอให้พระนามของพระองค์เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์. ขอให้ราชอาณาจักรของพระองค์มาเถิด. พระทัยประสงค์ของพระองค์สำเร็จแล้วในสวรรค์อย่างไร ก็ขอให้สำเร็จบนแผ่นดินโลกอย่างนั้น.’” (มัดธาย 6:9, 10, ล.ม.) พระประสงค์ของพระยะโฮวาคือให้พระเยซูทรงปฏิบัติการในฐานะดาบของพระองค์ในการดำเนินการแก้แค้น.
18, 19. (ก) ผู้ใดจะขี่ม้าออกไปเพื่อมีชัยชนะในพระนามของพระยะโฮวา และพระองค์ทรงคอยท่าอะไรก่อนจะทำให้ชัยชนะของพระองค์ครบถ้วน? (ข) เมื่อทูตสวรรค์ปล่อยพายุร้ายแห่งพระพิโรธของพระยะโฮวา จะเกิดเหตุการณ์น่ากลัวอะไรขึ้นบนแผ่นดินโลก?
18 ในวิวรณ์บท 6 (ล.ม.) ประการแรกเราอ่านถึงการที่พระเยซูทรงควบม้าขาวออกไป ‘เพื่อมีชัยและทำให้ชัยชนะของพระองค์ครบถ้วน.’ (ข้อ 2) การนี้เริ่มต้นพร้อมกับการที่พระองค์ทรงขึ้นครองราชย์เป็นมหากษัตริย์ฝ่ายสวรรค์ในปี 1914. ม้าตัวอื่นกับผู้ที่นั่งบนม้าเหล่านั้นติดตามพระองค์ออกไป ซึ่งเป็นภาพเล็งถึงสงครามเบ็ดเสร็จ, การกันดารอาหาร, และโรคระบาดซึ่งเกิดขึ้นกับโลกของเรานับแต่นั้นมา. แต่ความยุ่งยากทั้งหมดนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อไร? วิวรณ์บท 7 แจ้งให้เราทราบว่าทูตสวรรค์สี่องค์กำลังยึด “ลมทั้งสี่ของแผ่นดินโลก” ไว้มั่น จนกว่าชนยิศราเอลฝ่ายวิญญาณกับชนฝูงใหญ่จากนานาประเทศจะถูกรวบรวมไว้เพื่อความรอด. (ข้อ 1) แล้วจากนั้นล่ะ?
19 ยิระมะยาบท 25 ข้อ 30 และ 31 (ล.ม.) บอกต่อไปว่า “‘พระยะโฮวาจะทรงแผดพระสุรเสียงจากที่สูง และพระองค์จะเปล่งพระสุรเสียงจากที่พำนักอันบริสุทธิ์ของพระองค์. พระองค์จะแผดพระสุรเสียงเป็นแน่เหนือราชฐานของพระองค์. พระองค์จะเปล่งเสียงร้องดังต่อสู้บรรดาชาวโลกราวกับเสียงคนย่ำบ่อย่ำองุ่น. เสียงจะดังจนถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลกอย่างแน่นอน เพราะพระยะโฮวาทรงมีข้อโต้แย้งกับนานาชาติ. พระองค์ต้องพิพากษาบรรดาเนื้อหนังทั้งสิ้นด้วยพระองค์เอง. ส่วนคนชั่วนั้น พระองค์จะทรงมอบเขาให้แก่ดาบ’ พระยะโฮวาได้ตรัส.” ไม่มีชาติใดจะหนีพ้นจากการดื่มจากถ้วยแห่งพระพิโรธของพระยะโฮวา. ฉะนั้น จึงเป็นเวลาเร่งด่วนที่ผู้คนที่มีหัวใจสุจริตจะแยกตัวเองจากความชั่วช้าของนานาชาติก่อนที่ทูตสวรรค์ทั้งสี่องค์นั้นจะปล่อยพายุร้ายแรงแห่งพระพิโรธของพระยะโฮวา. ช่างร้ายแรงจริง ๆ เพราะคำพยากรณ์ของยิระมะยากล่าวต่อไปในข้อ 32 และ 33 (ล.ม.) ว่า:
20. คำพรรณนาอะไรยืนยันความร้ายแรงแห่งการพิพากษาของพระยะโฮวา แต่เพราะเหตุใดปฏิบัติการนี้จึงจำเป็น?
20 “พระยะโฮวาแห่งพลโยธาได้ตรัสดังนี้: ‘นี่แน่ะ! ความหายนะจะออกไปตามชาติต่าง ๆ และพายุร้ายยิ่งจะก่อขึ้นจากส่วนสุดไกลแห่งแผ่นดินโลก. และคนที่ถูกพระยะโฮวาประหารในวันนั้นจะมีตั้งแต่ปลายแผ่นดินโลกข้างหนึ่งจนถึงปลายแผ่นดินโลกอีกข้างหนึ่ง. จะไม่มีใครโศกเศร้าคร่ำครวญเพื่อเขา และพวกเขาจะไม่ถูกเก็บรวบรวมหรือฝัง. พวกเขาจะเป็นเหมือนมูลสัตว์บนพื้นดิน.’” เป็นคำพรรณนาที่น่ากลัวอย่างแท้จริง แต่ปฏิบัติการนี้เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อจะชำระแผ่นดินโลกให้สะอาดจากความชั่วช้าทุกประการก่อนจะให้มีอุทยานตามคำทรงสัญญาของพระเจ้า.
คนเลี้ยงแกะจะร้องโหยหวนและร้องขึ้น
21, 22. (ก) ที่ยิระมะยา 25:34-36 ใครคือ “คนเลี้ยงแกะ” แห่งยิศราเอล และทำไมพวกเขาจึงถูกบังคับให้ร้องโหยหวน? (ข) คนเลี้ยงแกะพวกไหนในสมัยนี้ที่พึงได้รับพระพิโรธจากพระยะโฮวา และทำไมจึงควรได้รับอย่างเต็มขนาด?
21 ข้อ 34 ถึง 36 (ล.ม.) กล่าวต่อไปถึงการพิพากษาของพระยะโฮวาว่า “จงร้องโหยหวนเถิด เจ้าคนเลี้ยงแกะ และจงร้องขึ้น! และเจ้าผู้ทรงศักดิ์แห่งฝูงแกะจงกลิ้งเกลือก เพราะวันที่เจ้าจะถูกฆ่าและวันที่เจ้าจะกระจัดกระจายไปนั้นครบกำหนดแล้ว และเจ้าต้องล้มลงเหมือนภาชนะอันน่าปรารถนา! และที่ซึ่งคนเลี้ยงแกะจะหนีไปสู่นั้นก็สูญไปแล้ว และผู้ทรงศักดิ์แห่งฝูงแกะก็ไม่มีทางจะหนีพ้น. จงฟัง! เสียงร้องตะโกนของคนเลี้ยงแกะ และเสียงร้องโหยหวนของผู้ทรงศักดิ์แห่งฝูงแกะ เพราะพระยะโฮวากำลังทำให้ทุ่งเลี้ยงสัตว์ของเขาเสีย.”
22 คนเลี้ยงแกะเหล่านั้นเป็นใคร? พวกเขาไม่ใช่พวกผู้นำศาสนาซึ่งได้ดื่มจากพระพิโรธของพระยะโฮวาไปแล้ว. พวกเขาเป็นคนเลี้ยงแกะทางการทหารที่มีพรรณนาไว้เช่นกันในยิระมะยา 6:3 ซึ่งรวบรวมกองทัพของเขาเป็นฝูงโดยไม่หวั่นพระยะโฮวา. พวกเขาคือเหล่าผู้ปกครองทางการเมือง ซึ่งมั่งคั่งร่ำรวยขึ้นมาจากการทำความเสียหายแก่ผู้อยู่ใต้การปกครอง. หลายคนในจำพวกนี้คือพวกนักการเมืองหัวใส ผู้ชำนาญการทุจริต. พวกเขาชักช้าในการช่วยบรรเทาการกันดารอาหารซึ่งได้ผลาญชีวิตผู้คนมากมายก่ายกองทั่วประเทศที่ด้อยโอกาส. พวกเขาทำให้ “ผู้ทรงศักดิ์แห่งฝูงแกะ” มั่งคั่ง เช่น พวกพ่อค้าอาวุธที่มีอิทธิพล และพวกที่ทำลายสภาพแวดล้อมที่ละโมบ ในขณะที่ไม่ยอมให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์และเสบียงอาหารซึ่งด้วยค่าใช้จ่ายเล็กน้อยอาจช่วยชีวิตเด็กที่กำลังจะตายได้หลายสิบล้านคน.
23. จงพรรณนาสภาพการณ์ของดินแดนที่อยู่ใต้อำนาจซาตาน หลังจากที่พระยะโฮวาทรงทำลายล้าง.
23 จึงไม่แปลกที่ยิระมะยาบท 25 สรุปในข้อ 37, 38 (ล.ม.) โดยกล่าวถึงคนเหล่านั้นซึ่งแสวงหาสันติภาพเพื่อตนเองอย่างเห็นแก่ตัวว่า “ที่อยู่ทั้งหลายที่สงบเงียบนั้นก็ถูกทำให้ไร้ชีวิตเพราะพิโรธอันแรงกล้าของพระยะโฮวา. พระองค์ได้ทรงออกจากที่ซุ่มของพระองค์ดุจสิงโตหนุ่ม เพราะแผ่นดินของเขากลายเป็นสิ่งน่าตกตะลึงเนื่องด้วยดาบที่ไร้ปรานีและเพราะพระพิโรธอันแรงกล้าของพระองค์.” ช่างน่าตกตะลึงจริง ๆ! กระนั้น พระพิโรธอันแรงกล้าของพระยะโฮวาก็จะมีการสำแดงอย่างแน่นอนโดยทางพระองค์ผู้นั้นซึ่งมีพรรณนาถึงในวิวรณ์ 19:15, 16 ว่าทรงเป็น “กษัตริย์แห่งกษัตริย์ทั้งหลายและเจ้านายแห่งเจ้านายทั้งหลาย” ผู้ทรงเลี้ยงดูนานาชาติด้วยคทาเหล็ก. แล้วมีอะไรติดตามมา?
24. การทำลายล้างศาสนาเท็จและโลกของซาตานทั้งหมดจะทำให้มีพระพรอะไรบ้างแก่มนุษยชาติที่ชอบธรรม?
24 คุณเคยประสบพายุเฮอร์ริเคนหรือไต้ฝุ่นไหม? นั่นเป็นประสบการณ์อันน่าขนพองสยองเกล้า. แต่ในเช้าวันรุ่งขึ้น แม้คุณจะเห็นซากปรักหักพังอยู่รอบด้าน ปกติแล้วอากาศจะแจ่มใสมากและความสงบทำให้ชื่นใจจริง ๆ จนคุณขอบพระคุณพระยะโฮวาสำหรับวันอันสดใสเป็นพิเศษนั้น. เช่นเดียวกัน เมื่อพายุแห่งความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่ยุติ คุณจะมองดูแผ่นดินโลกด้วยความขอบพระคุณที่คุณมีชีวิตอยู่และพร้อมจะร่วมในงานขั้นต่อไปของพระยะโฮวาในการชำระแผ่นดินโลกให้เป็นอุทยานอันรุ่งโรจน์. ข้อขัดแย้งที่พระยะโฮวาทรงมีต่อนานาประเทศจะต้องถึงจุดจบอันยิ่งใหญ่ โดยที่พระนามของพระองค์จะเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์และแผ้วถางทางไว้สำหรับให้พระทัยประสงค์ของพระองค์มาสำเร็จบนแผ่นดินโลกภายใต้รัชสมัยพันปีแห่งราชอาณาจักรมาซีฮา. ขอให้ราชอาณาจักรนั้นมาเร็ว ๆ เถิด!
การทบทวน วรรค 5-24 ของบทความนี้
▫ แนวทางหน้าซื่อใจคดอะไรของคริสต์ศาสนจักรซึ่งตกอยู่ใต้การพิพากษาในขณะนี้?
▫ ยิระมะยา 25:12-38 ให้มุมมองที่กว้างขึ้นอย่างไรในเรื่องการพิพากษา?
▫ ถ้วยแห่งการแก้แค้นอะไรที่มีการส่งให้นานาชาติ?
▫ ใครคือผู้เลี้ยงแกะที่ร้องโหยหวนและร้องตะโกน และทำไมพวกเขาจึงรู้สึกวุ่นวาย?
[รูปภาพหน้า 18]
พระยะโฮวาทรงเลือกเครื่องมือทำลายล้างคริสต์ศาสนจักร
[รูปภาพหน้า 23]
ภายหลังพายุร้ายแรงแห่งความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่จะมีแผ่นดินโลกที่สะอาดหมดจด