-
ม้วนหนังสือแห่งทะเลตาย—การค้นพบอันมีค่าหอสังเกตการณ์ 1991 | 15 เมษายน
-
-
ม้วนหนังสือแห่งทะเลตาย—การค้นพบอันมีค่า
ประมาณ 24 กิโลเมตรไปทางตะวันออกเฉียงใต้ของยะรูซาเลม วาดี เอน–นาร์ ทางน้ำที่รกร้างแห้งแล้งทอดยาวไปทางตะวันออกลงสู่ทะเลตาย. แนวผาขาดทอดยาวอยู่เบื้องหลังของที่ราบลุ่มตามแนวชายฝั่งทะเล. บนที่ราบแห่งนี้ ชาวเบดูอินเผ่าทาอะมิเรห์เลี้ยงฝูงแกะและฝูงแพะของพวกเขาอยู่ในฤดูใบไม้ร่วงที่กลางวันร้อนแต่กลางคืนหนาว.
ในปี 1947 ขณะกำลังเลี้ยงฝูงสัตว์ คนเลี้ยงสัตว์วัยเยาว์ชาวเบดูอินขว้างก้อนหินเข้าไปในช่องเล็ก ๆ ในรอยแตกของหน้าผา. เขาสะดุ้งตกใจเพราะเสียงที่เกิดจากก้อนหินนั้น เห็นชัดว่าเป็นเสียงไหดินเผาแตก. เขาวิ่งหนีไปด้วยความกลัว แต่สองวันต่อมาเขาก็กลับไปอีกและปีนขึ้นไปราว 100 เมตร เพื่อจะเข้าไปในช่องที่สูงกว่าและใหญ่กว่า. เมื่อตาเขาชินกับความมืด เขาได้เห็นไหทรงสูง 10 ใบวางเรียงตามผนังถ้ำ และกองเศษดินเผาที่แตกนั้นอยู่ท่ามกลางเศษหินที่ร่วงเรี่ยราดบนพื้น.
ไหส่วนใหญ่ว่างเปล่า แต่มีใบหนึ่งที่มีม้วนหนังสือบรรจุอยู่สามม้วน สองม้วนหุ้มด้วยผ้า. เขานำม้วนหนังสือเหล่านั้นกลับไปที่ค่ายชาวเบดูอินและทิ้งม้วนหนังสือเหล่านั้นไว้ในถุงที่แขวนบนเสากระโจมราว ๆ เดือนหนึ่ง. ในที่สุด ชาวเบดูอินคนหนึ่งก็เอาม้วนหนังสือเหล่านั้นไปเบธเลเฮมเพื่อดูว่าจะขายได้สักเท่าไร. ชาวเบดูอินคนนั้นถูกปฏิเสธอย่างไม่ไยดีจากอารามแห่งหนึ่ง โดยได้รับการบอกว่าม้วนหนังสือเหล่านั้นไม่มีค่าอะไรเลย. พ่อค้าอีกคนหนึ่งบอกว่าม้วนหนังสือเหล่านั้นไม่ได้มีค่าทางโบราณคดี และเขาสงสัยว่าถูกขโมยมาจากธรรมศาลาของชาวยิว. ช่างเป็นความผิดพลาดของเขาเสียจริง! สุดท้าย โดยช่างทำรองเท้าชาวซีเรียคนหนึ่งซึ่งทำหน้าที่เป็นคนกลาง คุณค่าของม้วนหนังสือเหล่านั้นจึงได้รับการกำหนดอย่างเหมาะสม. ไม่ช้า ต้นฉบับอื่น ๆ ก็มีการนำมาประเมินค่าด้วย.
ข้อเขียนโบราณเหล่านี้บางชิ้นได้เผยออกซึ่งความหยั่งเห็นเข้าใจใหม่ทั้งหมดในเรื่องกิจกรรมของกลุ่มศาสนาชาวยิวราว ๆ สมัยของพระคริสต์. แต่เป็นต้นฉบับของคัมภีร์ไบเบิลแห่งคำพยากรณ์ของยะซายาซึ่งทำให้โลกตื่นเต้นสนใจ. เพราะเหตุใด?
ค่ามหาศาล
ม้วนหนังสือของยะซายาที่ค้นพบใหม่นั้นแต่เดิมมีความยาว 7.5 เมตร และประกอบด้วยแผ่นหนัง 17 แผ่นซึ่งจัดทำขึ้นอย่างประณีต ละเอียดจนเกือบเท่ากับกระดาษ. เรียบเรียงขึ้นเป็น 54 ช่อง ช่องละ 30 บรรทัด ได้รับการขีดเป็นบรรทัดอย่างละเอียด. บนบรรทัดเหล่านี้นักคัดลอกที่เชี่ยวชาญได้ใส่ตัวอักษรต่าง ๆ ของข้อความ เขียนไว้เป็นตอน ๆ.—ดูภาพข้างล่าง.
ม้วนหนังสือไม่ได้ถูกม้วนไว้รอบแกนไม้ และตอนกลางซึ่งหลายคนใช้มือจับเพื่อจะอ่านนั้นมีสีเข้มกว่าที่อื่นมาก. ม้วนหนังสือนี้ทนทานมาก เห็นได้ชัดว่ามีการซ่อมแซมและเสริมแต่งอย่างชำนาญ. การถูกเก็บรักษาอย่างดีเยี่ยมนั้นเห็นได้จากมีการปิดผนึกอย่างมิดชิดในไห. ม้วนหนังสือนี้มีคุณค่ามากแค่ไหนสำหรับผู้เชี่ยวชาญทางคัมภีร์ไบเบิล และยิ่งกว่านั้น สำหรับพวกเราทุกคน?
ต้นฉบับของผู้พยากรณ์ยะซายานี้มีอายุยาวนานกว่าม้วนอื่น ๆ ที่หลงเหลืออยู่ราว ๆ หนึ่งพันปี แต่สิ่งที่มีจารึกไว้ในม้วนหนังสือนี้ไม่ต่างกันเท่าไรนัก. ศาสตราจารย์ มิลลาร์ เบอร์โรว์ ผู้จัดพิมพ์เนื้อความของม้วนนั้นเมื่อปี 1950 กล่าวว่า: “โดยทั่วไปแล้ว ข้อความของยะซายาในสำเนาเก่าแก่นี้ มีข้อแตกต่างที่สังเกตเห็นได้ในการสะกดและไวยากรณ์และข้อความที่ไม่เหมือนกันซึ่งน่าสนใจและสำคัญไม่มากก็น้อยส่วนใหญ่มีเนื้อความเหมือนที่มีในฉบับภาษาฮีบรูมาโซเรติกซึ่งเขียนขึ้นภายหลังนั้นอีกนาน.”a และที่น่าสนใจมากด้วยก็คือมีการใช้เททรากรัมมาทอน, יהוה พระนามศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า คือ ยะโฮวา ในภาษาฮีบรูโดยตลอด.
ต้นฉบับอื่น ๆ ที่มีคุณค่า
พระนามของพระเจ้ามีปรากฏในต้นฉบับอีกชิ้นหนึ่งด้วยเช่นกันจากถ้ำเดียวกัน ซึ่งบัดนี้เป็นที่รู้จักกันว่าถ้ำที่ 1. ในคำอธิบายพระธรรมฮะบาฆูค มีเททรากรัมมาทอนปรากฏอยู่สี่ครั้งในตัวอักษรฮีบรูโบราณ เป็นแบบที่เก่าแก่กว่าซึ่งต่างกันมากกับตัวหนังสือฮีบรูแบบสี่เหลี่ยมที่คุ้นเคยกัน.—โปรดดูเชิงอรรถของฮะบาฆูค 1:9, พระคัมภีร์ฉบับมีข้ออ้างอิง.
ในถ้ำนั้นยังมีบางส่วนของม้วนหนังสือของยะซายาพร้อมกับเศษแผ่นหนังบางส่วนจากพระธรรมดานิเอลด้วย. ส่วนหนึ่งในชิ้นส่วนเหล่านี้คงไว้ซึ่งการเปลี่ยนจากภาษาฮีบรูเป็นภาษาอาระเมอิกที่ดานิเอล 2:4 ดังที่พบในต้นฉบับของอีกพันปีต่อมา.
ส่วนเล็กน้อยของม้วนหนังสือเหล่านี้ซึ่งถูกเก็บรักษาไว้อย่างดีนั้นบัดนี้มีแสดงไว้ที่ยะรูซาเลม ในพิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็นที่รู้จักกันว่าเป็นสถานศักดิ์สิทธิ์แห่งพระคัมภีร์. พิพิธภัณฑ์นี้อยู่ใต้ดิน ดังนั้น เมื่อคุณไปเยี่ยมที่นั่น คุณจะมีความรู้สึกของการเข้าไปในถ้ำ. ส่วนบนของพิพิธภัณฑ์นี้มีรูปร่างลักษณะเหมือนฝาไหดินเผาซึ่งม้วนหนังสือแห่งทะเลตายได้มีการค้นพบนั้น. แต่คุณก็จะได้เห็นเพียงแต่สำเนาของต้นฉบับพระธรรมยะซายาเท่านั้น. ต้นฉบับดั้งเดิมอันมีค่านั้นอยู่อย่างปลอดภัยในห้องเก็บรักษาซึ่งอยู่ใกล้ ๆ นั้นเอง.
-
-
ม้วนหนังสือแห่งทะเลตาย—สมบัติอันล้ำค่าหอสังเกตการณ์ 1991 | 15 เมษายน
-
-
ม้วนหนังสือแห่งทะเลตาย—สมบัติอันล้ำค่า
ณ ตอนปลายของวาดี คัมรัน ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของทะเลตาย มีซากปรักหักพังเก่าแก่บางส่วน. ถือกันมานานแล้วว่าเป็นส่วนที่เหลือของป้อมโรมัน ซากเหล่านี้ได้รับการใส่ใจเพียงเล็กน้อยจากพวกนักโบราณคดี. แต่การค้นพบม้วนหนังสือแห่งทะเลตายของยะซายาในปี 1947 ได้กระตุ้นให้มีการพิจารณาสถานที่นี้กันใหม่อีกครั้ง.
ไม่ช้าพวกผู้เชี่ยวชาญก็ระบุสิ่งปลูกสร้างนั้นว่าเป็นของชุมชนทางศาสนาของชาวยิว. ข้อสันนิษฐานที่ผุดขึ้นทันทีก็คือว่าผู้คนเหล่านั้นได้ซ่อนม้วนหนังสือนั้นไว้ในถ้ำซึ่งอยู่ท่ามกลางหน้าผาใกล้ ๆ. แต่การค้นคว้าต่อ ๆ มาดูเหมือนจะทำให้มีข้อสงสัยในเรื่องนั้น.
การค้นพบที่มีค่ายิ่ง
ชาวเบดูอินถูกทำให้ตื่นตัวต่อคุณค่าของม้วนหนังสือที่พวกเขาได้ค้นพบไปแล้ว. ดังนั้น ในปี 1952 เมื่อชายสูงอายุคนหนึ่งนึกขึ้นได้ว่าในคราวเป็นหนุ่มเขาได้ไล่ตามนกกระทาบาดเจ็บตัวหนึ่งจนกระทั่งมันหายเข้าไปในโพรงแห่งหนึ่งในหน้าผา ซึ่งเขาได้พบภาชนะดินเผาและตะเกียงน้ำมันจำนวนหนึ่ง การค้นคว้าใหม่จึงได้ดำเนินการ.
ชายสูงอายุคนนั้นยังคงสามารถชี้ปากถ้ำซึ่งอยู่หว่างช่องแตกลึกของหน้าผาสูงชันได้. ปรากฏว่าถ้ำนั้นเป็นถ้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น ซึ่งเดี๋ยวนี้มีการระบุให้เป็นถ้ำที่ 4. ที่นั่นเองชาวเบดูอินได้พบชิ้นส่วนต่าง ๆ ของต้นฉบับในที่ซึ่งอยู่ต่ำกว่าระดับพื้นลงไปประมาณ 1 เมตร. ไม่มีสักชิ้นที่ถูกเก็บไว้ในไห ดังนั้น ส่วนใหญ่จึงชำรุดทรุดโทรมมาก, ดำคล้ำ และเปราะมาก. ต่อมาก็ได้ค้นพบชิ้นส่วนต่าง ๆ ถึง 40,000 ชิ้น ซึ่งเป็นส่วนของต้นฉบับเกือบ 400 ฉบับ. พระธรรมทุกเล่มของพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู, ยกเว้นพระธรรมเอศเธระก็อยู่ในต้นฉบับคัมภีร์ไบเบิลร้อยฉบับ. เนื้อเรื่องต่าง ๆ ที่มีการค้นพบใหม่จากถ้ำที่ 4 ยังไม่มีการจัดพิมพ์ขึ้นเลย.
หนึ่งในต้นฉบับต่าง ๆ ที่มีความสำคัญมากคือพระธรรมซามูเอล ซึ่งมีการคัดลอกเป็นม้วนเดียว. เนื้อความในภาษาฮีบรูของพระธรรมนี้ซึ่งมีเหลืออยู่ 47 คอลัมน์จากที่อาจเป็นได้ว่า 57 คอลัมน์นั้นคล้ายกันมากกับที่มีการใช้โดยผู้แปลของฉบับแปลกรีกเซ็พตัวจินท์. และยังมีชิ้นส่วนในภาษากรีกของฉบับเซ็พตัวจินท์ จากพระธรรมเลวีติโกและอาฤธโมซึ่งย้อนหลังไปในสมัยศตวรรษแรกก่อนสากลศักราช. ต้นฉบับพระธรรมเลวีติโกใช้ IAO สำหรับคำฮีบรู יהוה คือพระนามของพระเจ้า แทนคำภาษากรีกคูรีออส “องค์พระผู้เป็นเจ้า.”a
ในชิ้นส่วนที่มาจากพระธรรมพระบัญญัติ เนื้อความภาษาฮีบรูรวมทั้งส่วนจากบท 32 ข้อ 43 ที่พบในฉบับเซ็พตัวจินท์ ซึ่งมีอ้างถึงที่เฮ็บราย 1:6 ว่า: “ให้บรรดาพวกทูตทั้งสิ้นของพระเจ้าคุกเข่ากราบพระองค์.” นี่เป็นครั้งแรกที่มีการพบข้อความบรรทัดนี้ในต้นฉบับใด ๆ ในภาษาฮีบรู จึงเป็นการเผยให้เห็นต้นฉบับที่ดูเหมือนเป็นรากฐานของฉบับแปลภาษากรีก. ด้วยเหตุนั้น พวกผู้เชี่ยวชาญจึงได้รับความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับข้อความในฉบับเซ็พตัวจินท์ ซึ่งมีการอ้างถึงบ่อยครั้งในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก.
ม้วนหนังสือพระธรรมเอ็กโซโดได้มีการระบุว่าเขียนในราวปี 351–375 ก่อนสากลศักราช พระธรรมซามูเอลเขียนในช่วงปลายศตวรรษเดียวกัน และม้วนหนังสือพระธรรมยิระมะยาเขียนระหว่างปี 225–175 ก่อนสากลศักราช. ได้มีการค้นพบเนื้อเรื่องตั้งแต่ศตวรรษที่สามถึงศตวรรษที่หนึ่งก่อนสากลศักราชอย่างเพียงพอที่จะสืบสาวการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบการเขียนและตัวหนังสือฮีบรูทุกตัวและอักษรอาระเมอิก ซึ่งเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามหาศาลในการระบุเวลาของต้นฉบับต่าง ๆ.
ความพิศวงในถ้ำ 11
ในที่สุด พื้นที่บริเวณคัมรันก็ได้มีการค้นอย่างถ้วนทั่ว ทั้งโดยชาวเบดูอินและโดยนักโบราณคดี. แต่วันหนึ่งในปี 1956 ชาวเบดูอินบางคนได้สังเกตการออกมาของค้างคาวจากรอยแตกของหน้าผา ทางเหนือของถ้ำ 1. พวกเขาปีนขึ้นไปและพบอีกถ้ำหนึ่ง ทางเข้าถ้ำนี้ถูกปิดไว้. จะต้องมีการเคลื่อนก้อนหินหนักสองตันซึ่งหล่นลงมาออกไปเพื่อจะเปิดถ้ำนี้. สิ่งที่ค้นพบข้างในน่าตื่นเต้น—นั่นคือต้นฉบับครบถ้วนสองฉบับและส่วนใหญ่ห้าส่วนของต้นฉบับอื่น ๆ.
การค้นพบครั้งสำคัญที่สุดคือม้วนหนังสือที่สวยงามของพระธรรมบทเพลงสรรเสริญ. ความหนาของแผ่นหนังชี้ว่าคงเป็นหนังลูกวัวมากกว่าหนังแพะ. รวมทั้งหมดห้าผืน สี่แผ่นที่แยกได้ และสี่ชิ้นนั้นมีความยาวทั้งหมดกว่า 4 เมตร. แม้ว่าส่วนบนของม้วนหนังสือนี้จะอยู่ในสภาพดี ส่วนขอบล่างชำรุดมาก. ม้วนหนังสือนี้เขียนในช่วงห้าสิบปีแรกของศตวรรษที่หนึ่งและบรรจุส่วนต่าง ๆ ของบทเพลงสรรเสริญ 41 บท. มีการจารึกเททรากรัมมาทอนประมาณ 105 ครั้งในตัวอักษรฮีบรูโบราณ ซึ่งทำให้ดูโดดเด่นจากท่ามกลางตัวเขียนฮีบรูแบบสี่เหลี่ยมของบริบท.
ต้นฉบับอีกอันหนึ่งของพระธรรมเลวีติโก มีการเขียนไว้ทั้งหมดในตัวเขียนภาษาฮีบรูโบราณ แต่เหตุผลที่เป็นเช่นนั้นไม่ได้มีอธิบายไว้มากพอ. ต้นฉบับนี้เป็นบันทึกที่ยาวที่สุดที่มีอยู่ซึ่งใช้การเขียนแบบนี้ ซึ่งมีการใช้กันในคราวที่ชาวยิวไปเป็นเชลยของชาวบาบูโลนในตอนปลายศตวรรษที่เจ็ดก่อนสากลศักราช.
สำเนาของทาร์กัมฉบับหนึ่ง การถอดความในภาษาอาระเมอิกของพระธรรมโยบ ก็ได้มีการเผยออกมา. ต้นฉบับนี้เป็นหนึ่งในทาร์กัมฉบับแรก ๆ ที่สุดซึ่งมีการเขียนบันทึกไว้. คำอธิบายจำนวนหนึ่งเกี่ยวกับพระธรรมเล่มอื่น ๆ ก็ได้มีการพบในถ้ำอื่น ๆ ด้วย. ม้วนหนังสือทั้งหลายเหล่านี้ถูกซ่อนไว้อย่างดีเช่นนั้นในถ้ำเหล่านี้อย่างไรกัน?
ดังที่มีกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ ม้วนหนังสือบางส่วนอาจถูกซ่อนไว้โดยชุมชนคัมรัน. แต่จากพยานหลักฐาน ดูเหมือนอาจเป็นได้ว่าม้วนหนังสือจำนวนมากถูกใส่ไว้ที่นั่น โดยชาวยิวที่หนีการบุกรุกของพวกโรมันไปที่ยูดายในปีสากลศักราช 68 ก่อนความพินาศเด็ดขาดของกรุงยะรูซาเลมในอีกสองปีภายหลัง. ป่ากันดารของแผ่นดินยูดายเป็นสถานที่ปลอดภัยตามธรรมชาติสำหรับต้นฉบับอันมีค่าเหล่านั้นไม่เพียงแต่ในถ้ำซึ่งอยู่ใกล้คัมรันเท่านั้น แต่ในถ้ำเหล่านั้นซึ่งอยู่ไปทางเหนือหลายกิโลเมตรด้วย แถบเมืองยะริโฮ และไปทางใต้ใกล้มาซาดา. เรารู้สึกขอบคุณจริง ๆ สำหรับการเก็บรักษาของม้วนหนังสือเหล่านั้น! ม้วนหนังสือเหล่านั้นให้ข้อพิสูจน์มากขึ้นเกี่ยวกับการที่พระคำซึ่งได้รับการดลบันดาลของพระยะโฮวาไม่เปลี่ยนแปลง. จริงทีเดียว “พระดำรัสของพระเจ้าของเราจะยั่งยืนอยู่เป็นนิตย์.”—ยะซายา 40:8.
-