การเสด็จมาของพระเยซูหรือการประทับของพระเยซู—อย่างไหน?
“จะมีอะไรเป็นหมายสำคัญในการที่พระองค์จะเสด็จมา [“ประทับ,” ล.ม.] และเวลาที่จะสิ้นโลกนี้?”—มัดธาย 24:3.
1. คำถามมีบทบาทเช่นไรในงานรับใช้ของพระเยซู?
ความชำนิชำนาญของพระเยซูในการใช้คำถามทำให้ผู้ฟังของพระองค์คิด ถึงกับทำให้พวกเขาพิจารณาสิ่งต่าง ๆ จากมุมมองใหม่ด้วยซ้ำ. (มาระโก 12:35-37; ลูกา 6:9; 9:20; 20:3, 4) เราน่าจะรู้สึกขอบคุณที่พระองค์ทรงตอบคำถามต่าง ๆ ด้วย. คำตอบของพระองค์ช่วยฉายความจริงให้กระจ่างแจ้ง ซึ่งหากพระองค์ไม่ทรงตอบ เราก็ไม่อาจจะรู้หรือเข้าใจได้เลย.—มาระโก 7:17-23; 9:11-13; 10:10-12; 12:18-27.
2. คำถามอะไรที่เราควรสนใจในขณะนี้?
2 ที่มัดธาย 24:3 เราพบคำถามสำคัญที่สุดข้อหนึ่งที่พระเยซูทรงตอบ. ขณะที่วาระสุดท้ายแห่งชีวิตของพระองค์บนแผ่นดินโลกนี้คืบใกล้เข้ามา พระเยซูเพิ่งจะตรัสเตือนไปว่า พระวิหารแห่งกรุงยะรูซาเลมจะถูกทำลาย ซึ่งจะเป็นสัญลักษณ์แห่งอวสานของระบบยิว. บันทึกของมัดธายเพิ่มเติมดังนี้: “ครั้นพระองค์ประทับอยู่บนภูเขามะกอกเทศ, พวกสาวกมาเฝ้าส่วนตัวกราบทูลว่า, ‘ขอโปรดให้ข้าพเจ้าทั้งหลายทราบว่า, เหตุการณ์เหล่านี้จะบังเกิดขึ้นเมื่อไร? จะมีอะไรเป็นหมายสำคัญในการที่พระองค์จะเสด็จมา [“ประทับ,” ล.ม.] และเวลาที่จะสิ้นโลกนี้?’”—มัดธาย 24:3.
3, 4. มีความแตกต่างที่สำคัญอะไรในเรื่องวิธีที่คัมภีร์ไบเบิลฉบับต่าง ๆ ใช้คำหลักที่มัดธาย 24:3?
3 ผู้อ่านคัมภีร์ไบเบิลหลายล้านคนสงสัยกันมานานว่า ‘เหตุใดพวกสาวกถามคำถามนั้น และคำตอบของพระเยซูน่าจะมีผลกระทบฉันอย่างไร?’ ในคำตอบของพระองค์ พระเยซูตรัสถึงการผลิใบอ่อนซึ่งแสดงว่าฤดูร้อน “ใกล้จะถึงแล้ว.” (มัดธาย 24:32, 33) ด้วยเหตุนี้ คริสตจักรหลายนิกายสอนว่า พวกอัครสาวกถามถึงสัญลักษณ์แห่ง ‘การเสด็จมา’ ของพระเยซู สัญลักษณ์ซึ่งพิสูจน์ว่า การเสด็จกลับของพระองค์จวนจะถึงแล้ว. พวกเขาเชื่อว่าในคราว ‘การเสด็จมา’ นี้แหละที่พระองค์จะทรงนำคนที่เป็นคริสเตียนขึ้นสวรรค์ และจากนั้นก็นำอวสานมาสู่โลก. คุณเชื่อว่าความคิดนี้ถูกต้องไหม?
4 แทนที่จะใช้คำ “เสด็จมา” ฉบับแปลคัมภีร์ไบเบิลบางฉบับ รวมทั้งพระคัมภีร์บริสุทธิ์ฉบับแปลโลกใหม่ ด้วย ใช้คำ “การประทับ.” เป็นได้ไหมว่า สิ่งที่พวกสาวกถามถึงและสิ่งที่พระเยซูตรัสตอบต่างไปจากสิ่งที่คริสตจักรต่าง ๆ สอน? อะไรกันแน่ที่มีการถามถึง? และพระเยซูทรงให้คำตอบเช่นไร?
พวกเขาถามถึงอะไร?
5, 6. เราอาจลงความเห็นเช่นไรเกี่ยวกับสิ่งที่อยู่ในความคิดของพวกอัครสาวกตอนที่พวกเขาถามคำถามดังที่เราอ่านที่มัดธาย 24:3?
5 เมื่อคำนึงถึงสิ่งที่พระเยซูตรัสเกี่ยวกับพระวิหาร พวกสาวกคงจะคิดถึงระบบยิวขณะที่พวกเขาถามถึง “สัญลักษณ์แห่งการประทับของพระองค์ [หรือ ‘การเสด็จมา’] และช่วงอวสานของระบบ [ตามตัวอักษรคือ “ยุค”].”—เทียบกับ “โลก” ที่ 1 โกรินโธ 10:11 และฆะลาเตีย 1:4, ฉบับแปลคิง เจมส์.
6 ถึง ณ จุดนี้ ความเข้าใจของพวกอัครสาวกในคำสอนของพระเยซูยังจำกัดอยู่มาก. ก่อนหน้านี้ พวกเขาก็เข้าใจไปเองว่า “แผ่นดินของพระเจ้าจะปรากฏโดยพลัน.” (ลูกา 19:11; มัดธาย 16:21-23; มาระโก 10:35-40) และแม้แต่หลังจากการพิจารณาที่ภูเขามะกอกเทศ แต่ก่อนที่พวกเขาจะได้รับการเจิมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ พวกเขายังถามพระเยซูว่าพระองค์จะฟื้นฟูราชอาณาจักรให้แก่ยิศราเอลในครั้งนั้นหรือไม่.—กิจการ 1:6.
7. ทำไมพวกอัครสาวกถามพระเยซูเกี่ยวกับบทบาทของพระองค์ในอนาคต?
7 กระนั้น พวกเขารู้ว่าพระองค์จะจากไป เพราะพระองค์ตรัสไม่นานก่อนหน้านั้นว่า “ความสว่างจะอยู่กับท่านทั้งหลายอีกหน่อยหนึ่ง. เมื่อยังมีความสว่างอยู่จงเดินไปเถิด.” (โยฮัน 12:35; ลูกา 19:12-27) ดังนั้น พวกเขาคงต้องสงสัยเป็นแน่ว่า ‘หากพระเยซูจะจากไป เมื่อถึงเวลาที่พระองค์เสด็จกลับเราจะรู้ได้อย่างไร?’ เมื่อครั้งที่พระองค์มาปรากฏฐานะพระมาซีฮา คนส่วนใหญ่ไม่ตระหนักถึงฐานะของพระองค์. และหลังจากผ่านไปปีกว่า ก็ยังมีข้อสงสัยอยู่ในเรื่องที่ว่า พระองค์จะทำสิ่งต่าง ๆ ทั้งสิ้นที่มีกำหนดให้พระมาซีฮาทำหรือไม่. (มัดธาย 11:2, 3) ดังนั้น พวกอัครสาวกมีเหตุผลจะถามเกี่ยวกับอนาคต. ทว่า ย้ำอีกครั้งหนึ่ง พวกเขาถามถึงสัญลักษณ์ของการที่พระองค์จะเสด็จมาในไม่ช้า หรือถามถึงสิ่งอื่น?
8. เหล่าอัครสาวกคงจะใช้ภาษาใดพูดกับพระเยซู?
8 ลองจินตนาการว่าคุณเป็นนกที่ได้ฟังการสนทนาบนภูเขามะกอกเทศ. (เทียบกับท่านผู้ประกาศ 10:20.) คุณคงจะได้ยินพระเยซูและเหล่าอัครสาวกพูดกันในภาษาฮีบรู. (มาระโก 14:70; โยฮัน 5:2; 19:17, 20; กิจการ 21:40) กระนั้น พวกเขาคงรู้ภาษากรีกด้วย.
สิ่งที่มัดธายบันทึก—ในภาษากรีก
9. ฉบับแปลพระธรรมมัดธายสมัยใหม่ส่วนมากอาศัยอะไรเป็นพื้นฐาน?
9 ประวัติบันทึกแหล่งต่าง ๆ ย้อนหลังไปถึงศตวรรษที่สองสากลศักราชชี้ว่า เดิมทีมัดธายเขียนกิตติคุณของท่านในภาษาฮีบรู. ดูเหมือนว่า ภายหลังท่านเขียนกิตติคุณนั้นเป็นภาษากรีก. ฉบับสำเนาภาษากรีกหลายฉบับได้รับการรักษาไว้จนกระทั่งสมัยของเรา และใช้เป็นพื้นฐานในการแปลกิตติคุณของท่านเป็นภาษาต่าง ๆ ในปัจจุบัน. มัดธายเขียนอะไรในภาษากรีกเกี่ยวกับการสนทนาบนภูเขามะกอกเทศ? ท่านเขียนอะไรเกี่ยวกับ ‘การเสด็จมา’ หรือ “การประทับ” ที่เหล่าอัครสาวกถาม และสิ่งที่พระเยซูทรงอธิบาย?
10. (ก) คำกรีกคำใดที่หมายถึง “มา” ซึ่งมัดธายใช้อยู่บ่อยครั้ง และคำนี้อาจมีความหมายอะไรได้บ้าง? (ข) คำกรีกอะไรอีกที่น่าสนใจ?
10 ใน 23 บทแรกของมัดธาย เราพบคำกริยากรีกที่มีความหมายว่า “มา” มากกว่า 80 ครั้ง ซึ่งคำนี้คือเออร์ʹโคไม. ปกติคำนี้ทำให้คิดถึงการเข้าไปใกล้ หรือการดึงให้เข้ามาใกล้ เช่นที่โยฮัน 1:47 บอกว่า “พระเยซูทรงเห็นนะธันเอลมาหา พระองค์.” คำกริยาเออร์ʹโคไม นี้อาจหมายถึง “มาถึง,” “ไป,” “ไปถึง,” “ไปยัง,” หรือ “กำลังไป.” ทั้งนี้ขึ้นกับการเลือกใช้. (มัดธาย 2:8, 11; 8:28; โยฮัน 4:25, 27, 45; 20:4, 8; กิจการ 8:40; 13:51) แต่ว่าที่มัดธาย 24:3, 27, 37, 39 มัดธายใช้อีกคำหนึ่ง ซึ่งเป็นคำนามที่ไม่พบที่อื่นในกิตติคุณเล่มอื่น: นั่นคือ พารูเซียʹ. เนื่องจากพระเจ้าทรงดลใจให้เขียนคัมภีร์ไบเบิล เหตุใดพระองค์ทรงดลใจให้มัดธายเลือกคำกรีกคำนี้ในข้อดังกล่าว เมื่อท่านเขียนกิตติคุณนี้เป็นภาษากรีก? คำนี้หมายความเช่นไร และทำไมเราน่าจะอยากทราบความหมาย?
11. (ก) พารูเซียʹ มีความหมายเช่นไร? (ข) ตัวอย่างจากข้อเขียนของโยเซฟุสยืนยันความเข้าใจของเราเกี่ยวกับพารูเซียʹ อย่างไร? (โปรดดูเชิงอรรถ.)
11 ถ้าจะพูดให้ตรงจุด พารูเซียʹ หมายความว่า “การประทับ.” พจนานุกรมอธิบายศัพท์คัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ ของไวน์ กล่าวว่า “พารูเซียʹ . . . ตามตัวอักษรแล้วคือการประทับ พารา มีความหมายว่า ด้วย, กับ, และ อูเซีย มีความหมายว่า การอยู่ (จากคำไอมิ ซึ่งแปลว่า อยู่) บ่งชี้ทั้งการมาถึงและการประทับอยู่ต่อจากนั้น. ตัวอย่างเช่น ในจดหมายฉบับหนึ่งบนกระดาษพาไพรัส สตรีผู้หนึ่งกล่าวถึงความจำเป็นสำหรับพารูเซียʹ ของเธอ ณ สถานที่แห่งหนึ่ง เพื่อจัดการเรื่องทรัพย์สินของเธอ.” ปทานุกรมฉบับอื่น ๆ อธิบายว่า พารูเซีย แสดงถึง ‘การมาเยือนของผู้มีอำนาจปกครอง.’ ดังนั้น จึงไม่ใช่เพียงชั่วเวลาสั้น ๆ แห่งการมาถึง แต่เป็นการประทับอยู่ต่อไปนับจากที่ได้มาถึง. น่าสนใจ นี่เป็นความหมายที่โยเซฟุส นักประวัติศาสตร์ชาวยิวซึ่งเป็นคนในสมัยเดียวกันกับบรรดาอัครสาวกใช้คำพารูเซียʹ.a
12. คัมภีร์ไบเบิลเองช่วยเราอย่างไรให้มั่นใจในความหมายของพารูเซียʹ?
12 เห็นได้ชัดว่า ความหมาย “การประทับ” ได้รับการยืนยันหนักแน่นโดยสรรพหนังสือโบราณ กระนั้น คริสเตียนสนใจเป็นพิเศษถึงวิธีที่พระคำของพระเจ้าใช้คำพารูเซียʹ. คำตอบก็เป็นเช่นเดียวกัน—คำนี้หมายถึงการประทับ. เราเห็นข้อเท็จจริงนี้ได้จากตัวอย่างต่าง ๆ ในจดหมายของเปาโล. ยกตัวอย่างเช่น ท่านเขียนถึงชาวฟิลิปปอยดังนี้: “เหมือนท่านทั้งหลายได้ยอมฟังทุกเวลา, และไม่ใช่เมื่อข้าพเจ้าอยู่ด้วย เท่านั้น, เดี๋ยวนี้เมื่อข้าพเจ้าไม่อยู่ด้วย ท่านทั้งหลายจงอุสส่าห์ประพฤติให้ความรอดของตนบริบูรณ์.” ท่านยังได้กล่าวถึงการอยู่กับพวกเขาเพื่อว่าพวกเขาจะได้รับการชูใจโดยการที่ ‘ท่านอยู่กับ [พารูเซียʹ] พวกเขา.’ (ฟิลิปปอย 1:25, 26; 2:12) ฉบับแปลอื่น ๆ อ่านดังนี้: “เมื่อข้าพเจ้ากลับมาอยู่กับท่านอีก” (เวมัท; พระวจนะสำหรับยุคใหม่); “เมื่อข้าพเจ้าได้อยู่กับพวกท่านอีกครั้ง” (เจรูซาเลม ไบเบิล; นิว อิงลิช ไบเบิล); และ “เมื่อพวกท่านได้มีข้าพเจ้าอยู่ท่ามกลางพวกท่านอีกครั้งหนึ่ง.” (ทเวนทิเอท เซนจูรี นิว เทสทาเมนต์) ที่ 2 โกรินโธ 10:10, 11 (พระวจนะสำหรับยุคใหม่) เปาโลเทียบให้เห็นความแตกต่างระหว่างการที่ท่าน “มาอยู่ด้วย” กับการที่ท่าน “อยู่ห่างไกล.” ในตัวอย่างเหล่านี้ ท่านไม่ได้พูดถึงการเข้ามาใกล้หรือการมาถึงของท่าน แต่ท่านใช้คำพารูเซียʹ ในความหมายของการอยู่ที่นั่น.b (เทียบกับ 1 โกรินโธ 16:17.) อย่างไรก็ตาม จะว่าอย่างไรเกี่ยวกับข้อต่าง ๆ ที่กล่าวถึงพารูเซียʹ ของพระเยซู? ข้อเหล่านี้หมายถึง ‘การเสด็จมา’ ของพระองค์ หรือว่าบ่งชี้ถึงการประทับอยู่อย่างต่อเนื่องยาวนาน?
13, 14. (ก) เหตุใดเราต้องลงความเห็นว่าพารูเซียʹ กินเวลาชั่วระยะหนึ่ง? (ข) ต้องกล่าวเช่นไรเกี่ยวกับความยาวนานแห่งพารูเซียʹ ของพระเยซู?
13 คริสเตียนที่ได้รับการเจิมด้วยพระวิญญาณในสมัยของเปาโลต่างก็สนใจในพารูเซียʹ ของพระเยซู. แต่เปาโลเตือนพวกเขาว่าอย่าให้ใครทำให้เขา ‘หวั่นไหวไปจากเหตุผลของตน.’ ก่อนอื่นต้องปรากฏมี “คนละเลยกฎหมาย” ซึ่งก็ได้แก่พวกนักเทศน์นักบวชแห่งคริสต์ศาสนจักร. เปาโลเขียนว่า “การอยู่ ของคนละเลยกฎหมายนั้นเป็นไปตามการดำเนินงานของซาตานพร้อมกับการอิทธิฤทธิ์ทุกอย่างและสัญลักษณ์ปลอม.” (2 เธซะโลนิเก 2:2, 3, 9, ล.ม.) เห็นได้ชัดว่า พารูเซียʹ หรือการอยู่ของ “คนละเลยกฎหมาย” ไม่ใช่เป็นเพียงการมาถึงชั่วขณะหนึ่ง หากแต่กินเวลาชั่วระยะหนึ่ง ซึ่งในช่วงเวลานี้เองจะมีการทำสัญลักษณ์ปลอม. เหตุใดเรื่องนี้นับว่าสำคัญ?
14 ขอให้พิจารณาข้อก่อนหน้านั้นขึ้นไปข้อหนึ่งที่ว่า “คนละเลยกฎหมายจะถูกเปิดเผย ผู้ซึ่งพระเยซูเจ้าจะทรงกำจัดเสียด้วยวิญญาณจากพระโอษฐ์ของพระองค์และจะทรงผลาญให้สิ้นสูญไปโดยการสำแดงการประทับ ของพระองค์.” เช่นเดียวกับที่การอยู่ของ “คนละเลยกฎหมาย” จะมีอยู่ชั่วระยะหนึ่ง การประทับของพระเยซูก็จะกินเวลาช่วงหนึ่งเช่นกัน และจะถึงจุดสุดยอดในคราวการทำลาย “บุตรแห่งความพินาศ” ที่เป็นผู้ละเลยกฎหมาย.—2 เธซะโลนิเก 2:8, ล.ม.
แง่มุมทางภาษาฮีบรู
15, 16. (ก) คำอะไรโดยเฉพาะที่ใช้ในพระธรรมมัดธายฉบับแปลหลายฉบับซึ่งแปลเป็นภาษาฮีบรู? (ข) คำโบห์ ถูกใช้อย่างไรในพระคัมภีร์?
15 ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ดูเหมือนว่ามัดธายเขียนพระธรรมกิตติคุณของท่านในตอนเริ่มแรกเป็นภาษาฮีบรูก่อน. ถ้าอย่างนั้น คำอะไรในภาษาฮีบรูที่ท่านใช้ที่มัดธาย 24:3, 27, 37, 39? ฉบับแปลต่าง ๆ ของมัดธายที่แปลเป็นภาษาฮีบรูสมัยใหม่ใช้รูปหนึ่งของคำกริยาโบห์ ทั้งในคำถามของพวกอัครสาวกและในคำตอบของพระเยซู. ดังนั้น เราอาจอ่านได้ดังนี้: ‘จะมีอะไรเป็นสัญลักษณ์แห่ง [โบห์ ] ของพระองค์และช่วงอวสานของระบบ?’ และ ‘สมัยของโนฮาเป็นอย่างไร [โบห์] ของบุตรมนุษย์ก็จะเป็นอย่างนั้น.’ (มัดธาย 24:3, 37) คำโบห์ นี้มีความหมายเช่นไร?
16 แม้ว่ามีความหมายได้หลายอย่าง โดยพื้นฐานแล้ว คำกริยาฮีบรูโบห์ หมายถึง “มา.” พจนานุกรมเทววิทยาว่าด้วยพันธสัญญาเดิม กล่าวว่า ‘คำโบห์ ปรากฏ 2,532 ครั้ง นับเป็นคำกริยาที่ใช้บ่อยที่สุดคำหนึ่งในคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู และเป็นคำกริยาพื้นฐานที่ใช้แสดงการเคลื่อนที่.’ (เยเนซิศ 7:1, 13; เอ็กโซโด 12:25; 28:35; 2 ซามูเอล 19:30; 2 กษัตริย์ 10:21; บทเพลงสรรเสริญ 65:2; ยะซายา 1:23; ยะเอศเคล 11:16; ดานิเอล 9:13; อาโมศ 8:11) หากพระเยซูและเหล่าอัครสาวกใช้คำในข่ายความหมายดังกล่าว ก็อาจทำให้โต้แย้งได้ในเรื่องความหมาย. แต่พระเยซูและเหล่าอัครสาวกได้ใช้คำนี้ไหม?
17. (ก) เหตุใดฉบับแปลพระธรรมมัดธายภาษาฮีบรูสมัยใหม่ใช่ว่าจะต้องเป็นแหล่งที่บ่งชี้สิ่งซึ่งพระเยซูและพวกอัครสาวกกล่าวจริง ๆ เสมอไป? (ข) เราอาจจะพบข้อแนะอื่นจากที่ไหนอีกเรื่องคำที่พระเยซูและเหล่าอัครสาวกได้ใช้ และมีเหตุผลอะไรอีกที่แหล่งนี้นับว่าน่าสนใจสำหรับเรา? (โปรดดูเชิงอรรถ.)
17 จำไว้ว่า ฉบับแปลภาษาฮีบรูสมัยใหม่นั้นเป็นฉบับแปล ซึ่งอาจจะไม่ได้ใช้คำที่มัดธายได้ใช้จริง ๆ เมื่อท่านเขียนในภาษาฮีบรูก็ได้. ข้อเท็จจริงคือว่า พระเยซูอาจใช้อีกคำหนึ่งไม่ใช่โบห์ ก็ได้ ซึ่งเป็นคำที่ตรงกับความหมายของพารูเซียʹ. เราเห็นเรื่องนี้จากหนังสือซึ่งจัดพิมพ์ในปี 1995 ชื่อกิตติคุณของมัดธายภาษาฮีบรู ของศาสตราจารย์ จอร์จ โฮวิร์ด. หนังสือนี้มุ่งเน้นที่บทถกปัญหาตอนหนึ่งในศตวรรษที่ 14 ที่นายแพทย์ชาวยิว เชม-ทอบ เบน ไอแซก อิบน์ ชาพรูต ได้คัดค้านหลักการคริสเตียน. เอกสารนี้ได้ลงข้อความภาษาฮีบรูจากกิตติคุณมัดธาย. มีหลักฐานว่า แทนที่จะได้รับการแปลจากภาษาลาตินหรือกรีกในสมัยของเชม-ทอบ เนื้อความจากมัดธายฉบับนี้เก่าแก่มาก และเดิมเขียนเป็นภาษาฮีบรู.c ดังนั้น ข้อเขียนชิ้นนี้อาจนำเราไปใกล้มากขึ้นกับสิ่งที่ได้มีการพูดกันที่ภูเขามะกอกเทศ.
18. คำฮีบรูที่น่าสนใจอะไรซึ่งเชม-ทอบใช้ และคำนี้มีความหมายอย่างไร?
18 ที่มัดธาย 24:3, 27, 39 ในพระธรรมมัดธายของเชม-ทอบไม่ได้ใช้คำกริยา โบห์. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น หนังสือนี้ใช้คำนามที่เกี่ยวพันกันคือ บิอาห์ʹ. คำนามนี้ปรากฏในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูเฉพาะที่ยะเอศเคล 8:5 ซึ่งที่นั่นคำนี้มีความหมายว่า “ทางเข้า.” แทนที่จะแสดงการกระทำของการมา บิอาห์ ʹ ในที่นั่นพาดพิงถึงจุดเริ่มต้นของอาคาร; เมื่อคุณอยู่ที่ทางเข้าหรือที่ธรณีประตู คุณก็ได้อยู่ในอาคารนั้นแล้ว. นอกจากนี้ หนังสือทางศาสนาที่ไม่ใช่ส่วนของคัมภีร์ไบเบิลที่อยู่ในหมู่ม้วนหนังสือทะเลตาย ก็มีการใช้บิอาห์ ʹ อยู่บ่อยครั้งเมื่อกล่าวถึงการมาถึงหรือการเริ่มต้นทำหน้าที่ของปุโรหิต. (โปรดดู 1 โครนิกา 24:3-19; ลูกา 1:5, 8, 23.) และในการแปลฉบับซิรีแอค (หรือ อาระเมอิก) เพชิตตา โบราณมาเป็นภาษาฮีบรู เมื่อปี 1986 ก็ใช้คำ บิอาห์ ʹ ที่มัดธาย 24:3, 27, 37, 39. ดังนั้น มีหลักฐานว่า ในสมัยโบราณ คำนาม บิอาห์ ʹ อาจมีความหมายแตกต่างไปจากคำกริยา โบห์ ที่ใช้ในคัมภีร์ไบเบิล. ทำไมเรื่องนี้จึงน่าสนใจ?
19. หากพระเยซูและเหล่าอัครสาวกใช้คำบิอาห์ ʹ เราอาจลงความเห็นได้เช่นไร?
19 ในคำถามของเหล่าอัครสาวกและในคำตอบของพระเยซูอาจได้ใช้คำนาม บิอาห์ ʹ นี้. แม้ว่าพวกอัครสาวกจะคิดถึงเพียงแค่ การมาถึง ของพระเยซูในอนาคต พระคริสต์อาจได้ใช้คำ บิอาห์ ʹ เพื่อกินความมากกว่าที่พวกเขาคิดกันอยู่. พระเยซูอาจได้ชี้ไปยังการเสด็จมาของพระองค์เพื่อเริ่มหน้าที่ใหม่. การเสด็จมาถึงของพระองค์จะเป็นการเริ่มบทบาทใหม่ของพระองค์ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ตรงกับความหมายของคำ พารูเซียʹ ที่มัดธายได้ใช้ในเวลาต่อมา. การใช้คำ บิอาห์ ʹ เช่นนั้นคงจะเห็นได้ว่าสนับสนุนสิ่งที่พยานพระยะโฮวาได้สอนมาเป็นเวลานาน ที่ว่า “สัญลักษณ์” ซึ่งประกอบด้วยเหตุการณ์หลายอย่างที่พระเยซูทรงให้ไว้แสดงชัดถึงการที่พระองค์ทรงประทับอยู่.
คอยท่าจุดสุดยอดแห่งการประทับของพระองค์
20, 21. เราสามารถเรียนรู้อะไรได้จากคำตรัสของพระเยซูเกี่ยวกับสมัยของโนฮา?
20 การที่เราศึกษาเรื่องการประทับของพระเยซูน่าจะมีอิทธิพลต่อชีวิตของเรา รวมทั้งการคาดหวังของเรา. พระเยซูกระตุ้นเตือนผู้ติดตามของพระองค์ให้ตื่นตัวอยู่เสมอ. พระองค์ให้สัญลักษณ์เพื่อการประทับของพระองค์จะเป็นที่รู้กันได้ แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะไม่ยอมสังเกตสัญลักษณ์นั้น: “สมัยของโนฮาเป็นอย่างไร การประทับของบุตรมนุษย์ก็จะเป็นอย่างนั้น. เพราะผู้คนในสมัยก่อนน้ำท่วมเป็นเช่นไร คือกินและดื่ม ผู้ชายทำการสมรสและผู้หญิงถูกยกให้เป็นภรรยา จนถึงวันที่โนฮาเข้าในนาวา; และพวกเขาไม่แยแสจนกระทั่งน้ำมาท่วมและกวาดล้างเขาไปเสียสิ้นฉันใด การประทับของบุตรมนุษย์ก็จะเป็นฉันนั้น.”—มัดธาย 24:37-39, ล.ม.
21 ในสมัยของโนฮา ผู้คนส่วนใหญ่ในชั่วอายุนั้นเพียงแต่ดำเนินชีวิตกันตามปกติธรรมดา. พระเยซูทรงบอกล่วงหน้าว่า จะเป็นเช่นเดียวกับ “การประทับของบุตรมนุษย์.” ประชาชนที่อยู่แวดล้อมโนฮาอาจรู้สึกว่า คงจะไม่มีอะไรเกิดขึ้น. แต่คุณรู้ว่าจริง ๆ แล้วได้เกิดอะไรขึ้น. ช่วงเวลานั้นซึ่งคลุมชั่วระยะเวลาหนึ่งนำไปสู่จุดสุดยอดคือ “น้ำมาท่วมและกวาดล้างเขาไปเสียสิ้น.” ลูกาบันทึกไว้คล้าย ๆ กัน ซึ่งที่นั่นพระเยซูทรงเทียบ “สมัยของโนฮา” กับ “สมัยของบุตรมนุษย์.” พระเยซูทรงเตือนว่า “ในวันที่บุตรมนุษย์จะมาปรากฏก็จะเป็นเหมือนอย่างนั้น.”—ลูกา 17:26-30.
22. เหตุใดเราควรสนใจเป็นพิเศษในคำพยากรณ์ของพระเยซูที่มัดธายบท 24?
22 เรื่องทั้งหมดนี้มีความหมายเป็นพิเศษสำหรับเรา เพราะเรากำลังมีชีวิตอยู่ในเวลาที่เราได้รู้เห็นเป็นจริงถึงเหตุการณ์ที่พระเยซูทรงบอกล่วงหน้า—สงคราม, แผ่นดินไหว, โรคระบาด, การขาดแคลนอาหาร, และการกดขี่ข่มเหงบรรดาสาวกของพระองค์. (มัดธาย 24:7-9; ลูกา 21:10-12) สภาพเช่นนั้นปรากฏชัดนับแต่ความขัดแย้งที่เปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์ที่เรียกกันอย่างมีความหมายว่าสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แม้ว่าคนส่วนใหญ่มองดูเหตุการณ์เหล่านี้ว่าเป็นเรื่องปกติในประวัติศาสตร์. อย่างไรก็ดี คริสเตียนแท้จับความหมายของเหตุการณ์ที่สำคัญเหล่านี้ได้ แบบเดียวกับคนที่ตื่นตัวเข้าใจ เมื่อเห็นต้นมะเดื่อเทศผลิใบ ก็รู้ว่าฤดูร้อนใกล้เข้ามาแล้ว. พระเยซูทรงแนะนำดังนี้: “เช่นนั้นแหละ, เมื่อท่านทั้งหลายเห็นเหตุการณ์ทั้งปวงนั้นบังเกิดมา จงรู้ว่าแผ่นดินของพระเจ้าใกล้จะถึงแล้ว.”—ลูกา 21:31.
23. คำตรัสของพระเยซูที่มัดธายบท 24 มีความหมายเป็นพิเศษสำหรับใคร และเพราะเหตุใด?
23 พระเยซูทรงมุ่งคำตอบส่วนมากของพระองค์ที่ภูเขามะกอกเทศไปยังบรรดาผู้ติดตามของพระองค์. พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่จะร่วมในงานประกาศข่าวดีเพื่อช่วยชีวิตไปตลอดทั่วโลกก่อนอวสานจะมาถึง. พวกเขาจะเป็นพวกที่สามารถหยั่งเห็นเข้าใจ “สิ่งน่าสะอิดสะเอียนซึ่งทำให้ร้างเปล่า . . . ตั้งอยู่ในสถานบริสุทธิ์.” พวกเขาจะเป็นคนที่ตอบรับโดย “หนี” ไปก่อนถึงความทุกข์ลำบากใหญ่. และพวกเขาจะเป็นคนเหล่านั้นที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากคำกล่าวเพิ่มเติมต่อไปนี้ที่ว่า “หากไม่ย่นวันเหล่านั้นให้สั้นลง จะไม่มีเนื้อหนังรอดได้; แต่เพราะเห็นแก่ผู้ถูกเลือกสรร วันเหล่านั้นจึงถูกย่นให้สั้นเข้า.” (มัดธาย 24:9, 14-22, ล.ม.) แต่ว่าคำพูดที่ให้สติเหล่านี้มีความหมายอย่างไรกันแน่ และเหตุใดอาจพูดได้ว่าคำเหล่านี้ทำให้มีพื้นฐานสำหรับเราจะมีความสุข, ความมั่นใจ, และความกระตือรือร้นเพิ่มขึ้นในขณะนี้? การศึกษาเกี่ยวกับมัดธาย 24:22 ที่จะตามมาจะให้คำตอบ.
[เชิงอรรถ]
a ตัวอย่างที่โยเซฟุสใช้คำนี้: ณ ภูเขาซีนาย แสงฟ้าแลบและเสียงฟ้าผ่า “ประกาศว่าพระเจ้าทรงประทับอยู่ [พารูเซียʹ] ที่นั่น.” การสำแดงการอัศจรรย์ในพลับพลา “แสดงการประทับอยู่ [พารูเซียʹ] ของพระเจ้า.” โดยการแสดงให้คนใช้ของอะลีซาเห็นรถรบล้อมรอบ พระเจ้าทรง “สำแดงให้ผู้รับใช้ของพระองค์เห็นอำนาจและการประทับอยู่ [พารูเซียʹ] ของพระองค์.” เมื่อเปโตรเนียส เจ้าหน้าที่โรมันพยายามผ่อนปรนให้กับชาวยิว โยเซฟุสอ้างว่า ‘พระเจ้าทรงแสดงการประทับอยู่ [พารูเซียʹ] ของพระองค์แก่เปโตรเนียส’ โดยทรงส่งฝนลงมา. โยเซฟุสไม่ได้ใช้คำ พารูเซียʹ ในความหมายเพียงแค่การเข้ามาใกล้หรือการมาถึงเพียงชั่วครู่ชั่วยาม. หากแต่หมายถึงการประทับที่ดำเนินต่อไป แม้ว่าไม่ปรากฏแก่ตา. (เอ็กโซโด 20:18-21; 25:22; เลวีติโก 16:2; 2 กษัตริย์ 6:15-17)—เทียบกับ โลกโบราณของยิว เล่ม 3 บท 5 ย่อหน้าที่ 2 [หน้า 80]; บท 8 ย่อหน้าที่ 5 [หน้า 202]; เล่ม 9 บท 4 ย่อหน้าที่ 3 [หน้า 55]; เล่ม 18 บท 8 ย่อหน้าที่ 6 [หน้า 284].
b ใน พจนานุกรมและศัพท์สัมพันธ์ลักษณะวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับพันธสัญญาใหม่ภาษาอังกฤษและกรีก (ภาษาอังกฤษ) อี. ดับเบิลยู. บูลลิงเกอร์ ชี้ว่า พารูเซียʹ หมายถึง ‘การอยู่หรือการได้มาปรากฏ ด้วยเหตุนั้น หมายถึง การอยู่ การมาถึง, การมาซึ่งหมายรวมเอาความคิดเรื่องการอาศัยอยู่อย่างถาวรนับแต่การมาถึงนั้น.’
c หลักฐานอย่างหนึ่งคือ ข้อเขียนนี้มีคำฮีบรู “พระนาม” ทั้งชื่อเต็มและชื่อย่อ ทั้งหมด 19 ครั้ง. ศาสตราจารย์โฮเวิร์ดเขียนดังนี้: “การอ่านพบพระนามของพระเจ้าในเอกสารของคริสเตียนที่ผู้โต้แย้งชาวยิวยกมากล่าวเป็นเรื่องน่าสังเกตมาก. หากเป็นข้อเขียนภาษาฮีบรูที่แปลจากเอกสารของคริสเตียนภาษากรีกหรือลาติน เราคงคาดหมายได้เลยว่าจะพบคำอะโดนาย [องค์พระผู้เป็นเจ้า] ในข้อความนั้น ไม่ใช่สัญลักษณ์ที่ใช้แทนพระนามของพระเจ้าที่ต้องเลี่ยงการเอ่ยขานคือ ยฮวฮ. . . . การที่เขาได้เพิ่มพระนามที่ต้องห้ามนั้นเป็นเรื่องที่ไม่อาจอธิบายได้. มีพยานหลักฐานที่หนักแน่นชี้ว่า เชม-ทอบได้รับพระธรรมมัดธายฉบับที่มีพระนามของพระเจ้าในข้อความอยู่แล้ว และอาจเป็นได้ที่เขารักษาพระนามนี้ไว้ แทนที่จะเสี่ยงมีความผิดฐานลบพระนามนั้นออกไป.” พระคัมภีร์บริสุทธิ์ฉบับแปลโลกใหม่—พร้อมด้วยข้ออ้างอิง ใช้หนังสือมัดธายของเชม-ทอบ [J2] เป็นแหล่งสนับสนุนการใช้พระนามของพระเจ้าในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก.
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ ทำไมจึงสำคัญที่จะเห็นความแตกต่างระหว่างวิธีที่คัมภีร์ไบเบิลฉบับต่าง ๆ แปลมัดธาย 24:3?
▫ ความหมายของพารูเซียʹ คืออะไร และทำไมเรื่องนี้จึงสำคัญมาก?
▫ ข้อความที่มีใจความแบบเดียวกันอะไรซึ่งอาจมีที่มัดธาย 24:3 ในภาษากรีกและฮีบรู?
▫ ปัจจัยอะไรในเรื่องเวลาที่เราจำเป็นต้องทราบเพื่อจะเข้าใจมัดธายบท 24?
[รูปภาพหน้า 10]
ภูเขามะกอกเทศ ที่ซึ่งมองเห็นกรุงยะรูซาเลมอยู่เบื้องล่าง