คณะตุลาการในรัสเซียพิสูจน์ว่าพยานพระยะโฮวาเป็นฝ่ายถูก
พยานพระยะโฮวายินดีรับฟังข่าวเกี่ยวกับพวกเขาทางสื่อมวลชน หากรายงานข่าวนั้น ๆ มีการเตรียมด้วยสำนึกถึงความรับผิดชอบ. นอกจากนี้ พยานพระยะโฮวาเต็มใจเสนอข้อมูลที่เป็นความจริงเกี่ยวกับพวกเขาเอง อีกทั้งความเชื่อและกิจกรรมของเขาทางศาสนา. อย่างไรก็ดี เมื่อมีการพิมพ์เรื่องราวของเขาอย่างไม่ถูกต้องหรือเป็นการใส่ร้าย บางครั้งพยานฯ จะยื่นคำร้องเรียนต่อผู้มีอำนาจหน้าที่ของรัฐเพื่อพิทักษ์สิทธิทางศาสนาและสิทธิพลเมือง. ขอพิจารณาตัวอย่างหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้.
วันที่ 1 สิงหาคม 1997 ในใบแทรกเฉพาะท้องถิ่นของหนังสือพิมพ์ภาษารัสเซียซึ่งเป็นที่นิยมชื่อ คอมโซมอลสกายา ปราฟดา ในเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กได้ลงบทความใส่ร้ายพยานพระยะโฮวาอย่างรุนแรง. ในบทความนั้นซึ่งมีหัวเรื่องว่า “นิกายปีเตอร์สเบิร์ก. จะมีวิหารประจำเมืองที่นี่” โอเลก ซาโซริน ผู้เขียนกล่าวอ้างว่าพยานพระยะโฮวาก่อความเสียหายสืบเนื่องจากความเชื่อของพวกเขา และกิจกรรมของพวกเขาละเมิดรัฐธรรมนูญของรัสเซีย. ส่วนใหญ่ การโจมตีเป็นเรื่องที่บิดเบือนความเชื่อของเหล่าพยานฯ ซึ่งยึดคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลัก อาทิ เกี่ยวกับการถ่ายเลือดและความสัมพันธ์ภายในครอบครัว. นอกจากนั้น บทความนี้เรียกพยานพระยะโฮวาว่าเป็น “นิกาย” โดยได้อ้างว่าในแง่คิดของบางคนแล้วพวกเขาเป็น “นิกายอันตรายยิ่งกว่านิกายอื่นทั้งหมด.”
ศูนย์บริหารองค์การศาสนาส่วนภูมิภาคของพยานพระยะโฮวาในรัสเซียได้ร้องเรียนต่อคณะตุลาการที่ขึ้นอยู่กับประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐรัสเซียที่พิจารณาข้อพิพาททางสื่อมวลชน โดยมีคำร้องให้ตรวจสอบข้อกล่าวหาที่อยู่ในบทความนั้น ซึ่งพยานพระยะโฮวาถือว่าเป็นการหลอกลวง. ณ การพิจารณาคดีของคณะตุลาการเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 1998 ตัวแทนของพยานพระยะโฮวาอยู่ ณ ที่นั่นและตอบคำถามมากมายซึ่งสมาชิกคณะตุลาการได้ยกขึ้นมา รวมทั้งคำถามจากนักหนังสือพิมพ์และทนายความ. เพื่อพิสูจน์ว่าจริง ๆ แล้วพยานพระยะโฮวาเชื่อและสอนอะไร สมาชิกคณะตุลาการได้ตรวจสอบสรรพหนังสือที่พยานพระยะโฮวาได้พิมพ์เผยแพร่อย่างถี่ถ้วน โดยเฉพาะหนังสือ เคล็ดลับสำหรับความสุขในครอบครัว.
วี. วี. บอร์ชีออฟ สมาชิกสภาดูมาแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย ได้ตั้งข้อสังเกตว่าแนวคิดเรื่อง “นิกาย” ล้วนแต่แสดงนัยเป็นเชิงลบทั้งสิ้น. นายบอร์ชีออฟกล่าวดังนี้: “การบิดเบือนข้อเท็จจริง [เช่นนั้น] และการให้ร้ายป้ายสีเป็นอันตรายอย่างยิ่ง. การที่คณะตุลาการยอมรับพิจารณาคำฟ้องของพยานพระยะโฮวาครั้งนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก. กระแสความรู้สึกและการสบประมาทเช่นนั้นที่มุ่งไปที่องค์การทางศาสนาซึ่งขึ้นทะเบียนแล้วจะต้องยุติลง.”
ภายหลังการฟังหลักฐานทุกอย่างแล้ว คณะตุลาการตัดสินว่าบทความที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ คอมโซมอลสกายา ปราฟดา ผิดกฎหมายและผิดจรรยาบรรณ ทั้งได้พบว่าบทความนั้นมีแต่ข้อผิดพลาดและไม่มีมูลความจริง. คณะตุลาการกล่าวว่า “ผู้เขียนหาได้เสนอข้อเท็จจริงใด ๆ โดยเฉพาะเจาะจงไม่ . . . ผู้เขียนสิ่งพิมพ์แพร่ข่าวลือเสมือนรายงานที่เชื่อถือได้ ใช้สิทธิของนักหนังสือพิมพ์อย่างผิด ๆ.” ตรงกันข้ามกับสิ่งที่บทความในหนังสือพิมพ์นั้นได้รายงาน คณะตุลาการได้พบว่า พยานพระยะโฮวาเคารพต่อกฎหมายและพวกเขาสอนสมาชิกให้ดำเนินชีวิตอย่างสงบกับครอบครัวและคนอื่นผู้ซึ่งไม่มีความเชื่อทางศาสนาเหมือนพวกเขา.
หนึ่งชั่วโมงหลังจากได้ฟังคำให้การรอบสุดท้ายแล้ว คณะตุลาการได้แถลงผลการตัดสินดังนี้:
“1. ให้ถือว่าการพิมพ์บทความ ‘นิกายปีเตอร์สเบิร์ก. จะมีวิหารประจำเมืองที่นี่’ เป็นการละเมิดข้อกำหนดมาตรา 4, 49, และ 51 แห่งกฎหมายสหพันธรัฐรัสเซีย ‘ว่าด้วยสื่อสารมวลชน.’
“2. เสนอแนะให้คณะกรรมาธิการของรัฐแห่งสหพันธรัฐรัสเซียซึ่งรับผิดชอบด้านสิ่งพิมพ์พิจารณาประเด็นว่าด้วยการออกคำเตือนไปยังคณะบรรณาธิการหนังสือพิมพ์คอมโซมอลสกายา ปราฟดา.
“3. ออกหนังสือตำหนิโทษนักหนังสือพิมพ์ โอ. ซาโซริน.
“4. เสนอแนะให้คณะบรรณาธิการหนังสือพิมพ์คอมโซมอลสกายา ปราฟดา แถลงคำขอขมาอันเนื่องมาจากการลงข้อมูลข่าวสารที่เชื่อถือไม่ได้ในหนังสือพิมพ์ เป็นการใส่ร้ายองค์การศาสนาแห่งพยานพระยะโฮวาอย่างไม่มีมูลความจริง.”
การตัดสินของคณะตุลาการสอดรับกับการลงความเห็นของเซียร์เก อีวานเยนโก ผู้คงแก่เรียนด้านศาสนาและนักศึกษาด้านปรัชญา. หลังจากได้ศึกษาอย่างถี่ถ้วนเกี่ยวกับความเชื่อของพยานพระยะโฮวาและได้คลุกคลีใกล้ชิดกับพยานฯ นายอีวานเยนโกเองซึ่งไม่ได้เป็นพยานพระยะโฮวา ได้เขียนบทความซึ่งปรากฏในหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ชื่อมอสโก นิวส์ ฉบับ 20-26 กุมภาพันธ์ 1997.a นายอีวานเยนโกลงความเห็นดังนี้: “พยานพระยะโฮวาโดดเด่นอย่างเห็นได้ชัดเนื่องด้วยความเชื่อศรัทธาอันมั่นคงในการดำเนินชีวิตสอดคล้องกับคัมภีร์ไบเบิล. . . . สำหรับพยานพระยะโฮวาแล้ว คัมภีร์ไบเบิลเป็นเสมือนรัฐธรรมนูญ ประมวลกฎหมายแพ่งและเป็นสัจธรรม ขั้น สูงสุด. . . . อาจมองพยานพระยะโฮวาได้ว่าเป็นตัวอย่างแก่เพื่อนร่วมชาติของเขาเรื่องการเลื่อมใสศรัทธาต่อความจริงในคัมภีร์ไบเบิลและความเต็มใจยืนหยัดปกป้องความเชื่อของตนอย่างไม่เห็นแก่ตัว.”
คำตัดสินของคณะตุลาการและความเห็นของนายอีวานเยนโกย่อมยืนยันได้อีกครั้งหนึ่งว่าศาสนาคริสเตียนของพยานพระยะโฮวาไม่เป็นอันตรายต่อสังคม แต่กลับให้คุณประโยชน์แก่คนทุกชนิดที่มีหัวใจเที่ยงธรรม. พยานพระยะโฮวา ‘เตรียมพร้อมเสมอที่จะโต้ตอบต่อหน้าทุกคนซึ่งเรียกเหตุผลจากพวกเขาสำหรับความหวังของเขา แต่ . . . ทำเช่นนี้พร้อมด้วยอารมณ์อ่อนโยนและความนับถือสุดซึ้ง.’—1 เปโตร 3:15, ล.ม.
[เชิงอรรถ]
a บทความของนายอีวานเยนโกที่ชื่อว่า “เราควรกลัวพยานพระยะโฮวาไหม?” ได้รับอนุญาตให้พิมพ์ลงในตื่นเถิด! ซึ่งส่วนใหญ่มีในฉบับ 8 กันยายน 1997 หน้า 22-27.