การสงเคราะห์ครอบครัวแห่งความเชื่อของเราในบอสเนีย
พยานพระยะโฮวาไม่มีส่วนในการต่อสู้กันทางการเมือง. (โยฮัน 17:16) อย่างไรก็ดี โดยปฏิบัติตามคำแนะนำของเปาโลที่ให้ทำดี ‘โดยเฉพาะแก่ครอบครัวแห่งความเชื่อ’ พวกเขาพร้อมจะให้ความช่วยเหลือเพื่อนคริสเตียนในบริเวณที่เดือดร้อนเนื่องจากสงคราม. (ฆะลาเตีย 6:10) ขณะที่ฤดูหนาวของปี 1993-1994 ใกล้เข้ามา พวกพยานฯจากออสเตรียและโครเอเชียได้เสี่ยงชีวิตเพื่อช่วยเหลือครอบครัวแห่งความเชื่อของพวกเขาในบอสเนีย. ต่อไปนี้เป็นรายงานของพวกเขา.
ตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนตุลาคม 1993 ไม่มีทางที่จะส่งสิ่งของบรรเทาทุกข์ไปยังบอสเนีย. อย่างไรก็ดี ในตอนต้นเดือนตุลาคม เจ้าหน้าที่ชี้แจงว่า อาจเป็นไปได้ที่จะขนส่งสิ่งของ. ทั้งนี้ยังคงเป็นภารกิจที่อันตรายอยู่ เพราะมีการต่อสู้อย่างหนักตลอดแนวรบของบอสเนีย.
ถึงอย่างไรก็ดี ในวันอังคารที่ 26 ตุลาคม 1993 รถบรรทุกของเราได้ออกจากเวียนนาลำเลียงอาหารและฟืน 16 ตันสำหรับเพื่อนคริสเตียนในบอสเนีย. เราติดบัตรการประชุมภาคของเราที่ปกเสื้อเพื่อการระบุตัว.
เมื่อมาถึงชายแดนโครเอเชียและบอสเนีย เราถูกพาไปยังฐานปฏิบัติการของทหารที่ซึ่งมีการตรวจค้นรถบรรทุกของเราอย่างถี่ถ้วน. การขอร้องของเราที่จะเดินทางผ่านเขตแดนเซอร์เบียถูกปฏิเสธ. จะอนุญาตให้ผ่านได้เฉพาะทางบอสเนียตอนกลาง—ผ่านตรงบริเวณที่การสู้รบดำเนินอยู่!
ความพยายามไร้ประโยชน์ไหม?
ขณะที่ทหารหน่วยคุ้มกันพาเราผ่านจุดตรวจหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง เราได้ยินเสียงระเบิดอย่างหูดับตับไหม้จากรถถังและปืนใหญ่. ระหว่างคืนนั้น เราเดินทางผ่านป่าโดยมีรถถังสองคันและรถจีปหนึ่งคันคุ้มกัน. รถบรรทุกของเราค่อย ๆ คลานผ่าแนวรบไป! ทุกสิ่งดำเนินไปด้วยดีจนกระทั่งตอนเช้าเมื่อมีการยิงปืนข้ามหัวเราไปมาและเราต้องหลบอยู่หลังเนินเขา. ภายหลังสักครู่หนึ่งการยิงก็หยุดลง และเราก็เดินทางต่อไป.
เมื่อเรามาถึงค่ายหนึ่ง นายทหารผู้บัญชาการได้ถามเราว่า เราเป็นใครและต้องการอะไร. “ความพยายามของพวกคุณจะไม่สำเร็จแน่ ๆ” เขาพูดหลังจากเราชี้แจงจุดประสงค์ของเรา. “คุณไม่มีทางจะออกจากค่ายไปได้ แม้แต่ไปไม่กี่หลาด้วยซ้ำ. มีความอดอยากมากในประเทศจนผู้คนจะจู่โจมคุณแล้วแย่งชิงเอาสิ่งของของคุณไป.” เขาเร่งเร้าเราให้กลับไปเสีย.
ความพยายามของเรา “จะไม่สำเร็จแน่ ๆ” ไหม? เป็นการไร้ประโยชน์หรือไม่ที่จะคาดหวังว่า เราสามารถเดินทางผ่านบริเวณที่เดือดร้อนเนื่องจากสงครามและมีความอดอยากแล้วยังรักษาสิ่งของและชีวิตของเราไว้ได้อยู่? ต้องทำการตัดสินใจที่สำคัญ. เราได้ยินเสียงปืนและระเบิดดังจนหูอื้ออยู่แล้ว. ขณะที่เราอยู่กับทหารเหล่านี้ตอนกลางคืน เราเห็นได้ว่า พวกเขาเตรียมพร้อมสำหรับการรบที่รุนแรง. พวกเขาสวมเสื้อกันกระสุนและติดอาวุธจำนวนมาก. แม้แต่พ่อครัวก็สะพายปืนกลไว้ข้างหลัง. แต่นี่เราสวมเสื้อเชิ้ต, ผูกเนกไทและติดป้ายที่ปกเสื้อ! เป็นการฉลาดไหมสำหรับเราที่จะเดินทางต่อไป?
การมาถึงเมืองทรัฟนีก
ดูเหมือนว่า ความหวังอย่างเดียวของเราคือต้องเจรจากับฝ่ายที่สามในสงครามนี้. เช้าวันรุ่งขึ้นเราถามหญิงสาวคนหนึ่งว่าเธอทราบไหมว่ากองบัญชาการของฝ่ายนั้นอยู่ที่ไหน. เธอบอกว่า “ไม่ไกลหรอก. ทะลุป่านี้ไป คุณจะพบอาคารที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นโรงพยาบาล.” เราใคร่จะไปในทันที. พวกทหารประหลาดใจที่เรากล้าออกจากค่ายโดยไม่ติดอาวุธ.
อาคารที่เคยเป็นโรงพยาบาลกลายเป็นซากปรักหักพัง แต่นายทหารคนหนึ่งปรากฏตัว. เขายินยอมช่วยเหลือ แนะให้เราไปพูดกับผู้บังคับบัญชาของเขาก่อน. เขาพาเราไปโดยรถบุโรทั่งของเขาและขับด้วยความเร็วสูงไปตามแนวรบ. เราหยุด ณ อาคารหลังหนึ่งที่ทหารผู้บัญชาการต้อนรับเราในห้องมืดห้องหนึ่ง.
“เมื่อคืนนี้เราอยากจะเปิดฉากยิงพวกคุณ” เขากล่าว. “พวกคุณต้องการอะไร?”
“พวกเราเป็นพยานพระยะโฮวา และเราต้องการนำสิ่งของบรรเทาทุกข์ไปให้พี่น้องของเรา.”
เขาประหลาดใจทีเดียว และรู้สึกประทับใจ เนื่องจากเป็นเวลาหลายสัปดาห์แล้วไม่มีขบวนรถลำเลียงสิ่งของบรรเทาทุกข์กล้าเสี่ยงอันตรายเข้าไปในบอสเนีย. หลังจากถูกตรวจค้นอย่างถี่ถ้วนแล้ว เราได้รับการอนุมัติเป็นลายลักษณ์อักษร. คืนก่อนเราคิดว่าเราไม่มีทางที่จะเดินทางต่อไปได้ และตอนนี้เราสามารถเดินทางต่อไปโดยไม่มีการคุ้มกัน!
เราขับผ่านป่า ผ่านจุดตรวจต่าง ๆ ครั้งแล้วครั้งเล่าและบางครั้งเราขับรถไปตามแนวรบ. ทั้ง ๆ ที่มีอันตราย เรามาถึงเมืองทรัฟนีกอย่างปลอดภัย. ทหารคนหนึ่งซึ่งได้ยินว่าเรามาถึงได้วิ่งไปยังบ้านหลังหนึ่งซึ่งพี่น้องของเรารวมตัวกันอยู่. เขาตะโกนว่า “พวกของคุณมาที่นี่แล้วพร้อมกับรถบรรทุก!” คุณสามารถนึกภาพความยินดีของพวกเขา. เรานำอาหารเข้าไปในบ้าน พูดกันไม่กี่คำ แต่แล้วก็ต้องเดินทางต่อไป. เริ่มจะมืดแล้ว และการเดินทางที่เต็มด้วยอันตรายเหลืออีก 32 กิโลเมตร.
สู่เมืองเซนัทซา
รถยนต์คุ้มกันคันหนึ่งนำเราผ่านป่าด้วยความเร็วสูง. บางคนบอกว่าเราจะไปไม่ถึงเซนัทซาเลย แต่เราก็ไปถึง. บรรยากาศที่น่าหดหู่ดูเหมือนได้ครอบงำเมืองนั้น. ไม่มีแสงสว่างและไม่มีรถยนต์บนถนน. เซนัทซาถูกล้อมไว้ทุกด้าน ก่อให้เกิดความอดอยากอย่างรุนแรงและความสิ้นหวัง.
ขณะที่เราขับรถไปตามถนน เราเห็นสิ่งที่น่าประหลาดอย่างหนึ่ง—พี่น้องหญิงคริสเตียนสองคนกำลังให้คำพยานอยู่! เราได้เรียนรู้ว่า วันก่อน ณ การประชุมของพวกเขา มีการตัดสินว่า พวกพี่น้องชายจะต้องเข้าไปในป่าเพื่อหาอาหาร เพราะเสบียงเกือบหมด. เรามาถึงทันเวลาพอดี! เราเอาของออกจากรถบรรทุกคันหนึ่งตอนตีสี่ ขณะที่ถนนไร้ผู้คน.
วันรุ่งขึ้นเราติดต่อกับนายพลคนหนึ่ง ผู้ซึ่งรู้สึกประหลาดใจทีเดียวที่เรามาถึงเซนัทซาได้. บัดนี้เราสอบถามเรื่องการเดินทางไปยังจุดหมายต่อไปของเรา เมืองซาราเยโว.
“ไม่มีใครเสี่ยงอันตรายไปที่นั่นโดยรถบรรทุกเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว” นายพลกล่าว. ในที่สุดเขาอนุญาตให้เราเดินทางข้ามภูเขา. “แต่ผมขอบอกคุณว่า ยากที่จะไปถึงได้” เขาเตือน. “ผมไม่แน่ใจว่ารถบรรทุกของคุณแข็งแรงพอที่จะไปถึงปลายทางได้.”
นายพลไม่ได้พูดเกินความจริง. ในเมื่อเราอยู่ห่างจากซาราเยโวเพียง 40 กิโลเมตรเท่านั้น แต่เราต้องเดินทางอ้อมผ่านป่าเป็นระยะทาง 140 กิโลเมตร! เราจะไม่ลืมการขับรถจากเซนัทซาไปยับละนิทซาโดยผ่านซาราเยโวซึ่งต้องใช้เวลาสามวันกับสองคืน บ่อยครั้งด้วยความเร็วเพียง 5 กิโลเมตรต่อชั่วโมง. “ถนน” เป็นทางที่เกิดจากรอยรถเกราะวิ่งผ่านหลาย ๆ ครั้ง. เราขับผ่านโขดหินและหลุมที่ทำให้ขยาด. บ่อยครั้งเราต้องขับไปโดยไม่มีแสงสว่าง และสองครั้งที่รถบรรทุกของเราเกือบลื่นตกเขา. รถบรรทุกของทหารคันหนึ่งที่ตามหลังขบวนรถของเราเปิดไฟเพียงชั่วประเดี๋ยวเท่านั้นและถูกยิงทันที. บางครั้งเราต้องซ่อมแซมสะพานที่เสียหายและปะยาง.
เมื่อเรามาถึงชานเมืองซาราเยโวเราขอพูดกับนายพลที่ควบคุมดูแล. ระหว่างที่รออยู่ เราเห็นรถบรรทุกคันหนึ่งที่ถนนขนศพมาสิบศพและกระสอบใส่หัวคนกระสอบหนึ่ง พวกทหารกำลังเจรจามอบคืนศพกัน เป็นภาพที่ไม่น่าดูจริง ๆ ทำให้เราใฝ่หาวันที่สงครามจะยุติลง.—ยะซายา 2:4.
เวลา 10:00 น. คนหนึ่งในพวกเราได้รับอนุญาตให้พูดกับนายพลและนายทหารระดับสูงของเขาในห้องมืด มีเพียงเทียนไขแท่งหนึ่งจุดอยู่.
“พวกคุณเป็นใคร?” นายพลถาม.
“พวกเราเป็นพยานพระยะโฮวา. เราต้องการนำอาหารมาให้เพื่อนพยานฯในซาราเยโว.”
“คุณทราบหรือว่ามีพยานพระยะโฮวาหลายคนในซาราเยโว?”
“ใช่ครับพวกเราทราบ เพราะเหตุนั้นเราจึงมาที่นี่กัน.”
ครั้นแล้วนายพลได้บอกชื่อพยานฯคนหนึ่ง. “คุณรู้จักเขาไหม?”
“รู้จักครับ เขาเป็นเพื่อนของเรา.”
“เขาเป็นเพื่อนของผมด้วย” นายพลกล่าว. “เราเคยไปโรงเรียนด้วยกัน. ตั้งแต่เขาเข้ามาเป็นพยานฯ ผมนิยมชมชอบเขามากขึ้นด้วยซ้ำ. เขาได้ทำหลายสิ่งหลายอย่างเพื่อพวกของคุณ. ขอเล่าให้เราฟังมากขึ้นอีกเกี่ยวกับพยานพระยะโฮวา.”
การสนทนานานชั่วโมงหนึ่งติดตามมา หลังจากนั้นเราให้วารสารกับจุลสารไว้หลายเล่ม. หลังจากการพบกันครั้งที่สอง นายพลยินยอมให้จัดเตรียมการเป็นพิเศษเพื่อว่าจะสามารถส่งสิ่งของบรรเทาทุกข์ถึงพี่น้องชาวซาราเยโวได้.
นี่ไม่ใช่งานเล็ก ๆ เลย. ผู้คนราว ๆ 30 คน รวมทั้งบางคนที่ไม่ใช่พยานฯด้วย ขนหีบห่อแต่ละชิ้นหนักราว ๆ 27 กิโลกรัม. พวกเขาทำงานตรากตรำตั้งแต่เวลา 20:00 น. จนถึง 5:00 น. ในสองคืนรวมทั้งหมด 18 ชั่วโมง. ผู้ปกครองคนหนึ่งเล่าว่า เพื่อนบ้านของเขารู้สึกตื้นตันใจเนื่องจากความพยายามในการบรรเทาทุกข์นั้นถึงขนาดที่เขาคุกเข่าลงพร้อมกับพี่น้องและขอบพระคุณพระยะโฮวา! แน่นอน พวกเขาได้รับอาหารบางส่วนด้วยเช่นกัน.
ขอให้นึกภาพความยินดีของพี่น้องของเราเมื่อได้รับสิ่งของบรรเทาทุกข์ 11,000 กิโลกรัม! สภาพการณ์ทำให้คนสิ้นหวัง. ในท้องถิ่น แป้งหนึ่งกิโลกรัมมีราคาระหว่าง 450-1,000 มาร์คเยอรมัน (7,000-15,500 บาท). ฟืนกระสอบหนึ่งมีราคาราว ๆ 400 มาร์ค (6,250 บาท) และน้ำมันดีเซลลิตรหนึ่งราคา 30 มาร์ค (500 บาท).
ดูประหนึ่งว่า บัดนี้เราได้รับบำเหน็จสำหรับอันตรายทุกอย่างที่เราเผชิญมารายทางนั้น. เรารู้สึกดีใจที่ใคร่ครวญดูความยินดีของพวกพี่น้องเมื่อเขาได้รับสิ่งของบรรเทาทุกข์ที่ขนส่งมานี้. มันเป็นประสบการณ์ที่พวกเขาและเราด้วยจะไม่ลืมเลย. แต่ตอนนี้เราต้องเริ่มคิดถึงความยากลำบากในการกลับบ้าน.
การกลับบ้าน
“เราควรจะกลับทางไหน?” เราถามนายพล.
“ทางเดียวกันที่คุณมา” เขาตอบ.
เรารู้สึกอ่อนเพลีย เชื้อเพลิงเหลืออยู่ไม่มาก และไม่มียางอะไหล่. ฝนเริ่มตก และเราไม่สามารถเดินทางฝ่าโคลนได้. เราถามนายพลว่าเราจะเดินทางไปทางใต้ได้หรือไม่.
เขาบอกว่า “มีการสู้รบหนักที่นั่น. แม้แต่หนูตัวเดียวก็ยังผ่านไปไม่ได้.” อย่างไรก็ดี หลังจากสักครู่หนึ่ง เขาพิจารณาดูใหม่. เขาบอกว่า “ลองดูก็แล้วกัน. ถึงอย่างไรคุณก็มาถึงที่นี่ได้.”
เราต้องทิ้งรถบรรทุกคันหนึ่งไว้ที่นั่นและแบ่งเชื้อเพลิงของรถคันนั้นให้กับรถบรรทุกอีกสามคัน. เราออกเดินทางตอนเที่ยงคืนและขับเข้าไปตามเส้นทางในป่าอีก.
การเดินทางกลับของเราใช่ว่าไม่มีปัญหา. เราพบรถบรรทุกของทหารคันหนึ่งตะแคงอยู่ บางส่วนกีดขวางสะพานที่เราต้องการข้ามไปนั้น. เราเห็นว่าหากเราสามารถถอดล้อหนึ่งของรถนั้นออกได้ ก็จะมีที่พอให้ผ่านไปได้.
เราได้อ้อนวอนทหารที่ถืออาวุธคนหนึ่ง. “ขอให้เราถอดล้อนั้นออกแล้วใส่เข้าไปอีกหลังจากเราข้ามสะพานแล้วได้ไหม?”
“หากคุณแตะต้องล้อรถ ผมจะยิงคุณ” ทหารตอบพร้อมเล็งอาวุธของเขา.
เราคิดว่าอาจดีขึ้นก็ได้ถ้าชงกาแฟแล้วให้ทหารคนนั้นถ้วยหนึ่ง. เป็นเวลาสองสามชั่วโมง เราเล่าให้เขาฟังเรื่องการประชุมนานาชาติปี 1991 เช่น การประชุมที่จัดขึ้นในเมืองซาเกร็บ. หลังจากนั้น ท่าทีเขาอ่อนลงและเขาอนุญาตให้เราเอาล้อรถออกได้.
ที่เมืองยับละนิทซา พวกเราคนหนึ่งพูดกับผู้บัญชาการคนหนึ่งเรื่องเส้นทางที่เราต้องการจะผ่าน. เขาแทบไม่เชื่อหูตัวเอง. “คุณต้องการผ่านทางหุบเขาเนอร์รัทวาหรือ?”
พอจะเข้าใจได้ที่เขาเป็นกังวล. ไหล่เขาในหุบเขาเนอร์รัทวามีกองทัพที่อยู่คนละฝ่ายยึดครองอยู่. พวกเขายิงใส่กันเสมอ. ถนนมีอันตรายแฝงอยู่เป็นระยะทางเกือบ 16 กิโลเมตร. นายพลบอกว่า “ถนนเป็นแบบนั้นแหละ และคุณยังอยากจะผ่านไปหรือ?”
หลังจากประเมินดูเรื่องราวแล้ว นายพลบอกว่าเราจะไปได้—เฉพาะแต่ถ้าเจ้าหน้าที่ตามเราไปด้วยเท่านั้น. อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่เหล่านี้ไม่เต็มใจจะไปกับพวกเรา! ในที่สุด เราขอร้องให้พวกเขาเพียงแต่ติดต่อกับอีกฝ่ายหนึ่งและแจ้งให้ทราบล่วงหน้าถึงการผ่านของเรา. เราจะผ่านไปโดยไม่มีการคุ้มกันในตอนเช้าวันรุ่งขึ้น.
เราติดป้ายรถบรรทุกของเราด้วยตัวอักษรขนาดใหญ่ว่าขนส่งสิ่งของสงเคราะห์ด้านมนุษยธรรม. หลังจากกล่าวคำอธิษฐานแล้ว เราขับรถผ่านหุบเขานั้น. เราตกลงกันว่าถ้ามีการยิงปืน เราจะไม่เพิ่มความเร็วของเราและก่อให้เกิดความสงสัย.
เราข้ามสะพานไปยังอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำและเดินทางต่อไปผ่านหุบเขาถัดไปผ่านซากสัตว์และรถบรรทุกกับรถถังที่ถูกทำลาย. ทันใดนั้น เราสังเกตเห็นกับระเบิดวางอยู่บนถนน ไม่มีทางที่เราจะผ่านไปได้. เรากดแตรรถจนกระทั่งทหารสองคนโผล่ออกมาจากหลังโขดหิน. เขาถามว่า “พวกคุณเป็นใคร? คุณต้องการอะไร?”
หลังจากแสดงตัวแล้ว เราถามว่าพวกเขาจะเอากับระเบิดออกได้ไหม เขาตกลง. ในที่สุด เราก็มาถึงอีกด้านหนึ่ง.
พวกทหารที่นั่นแปลกใจที่เห็นเรา. พวกเขาค่อย ๆ ออกมาจากที่กำบัง เข้ามาหารถบรรทุกพร้อมด้วยเล็งปืนตรงมาที่เรา. เราแสดงให้เห็นใบอนุญาตของเราพร้อมกับป้ายทะเบียนซึ่งเราได้ถอดออกด้วยเหตุผลในด้านความปลอดภัยขณะที่ขับรถผ่านเขตสงคราม.
“ไม่มีใครคาดว่าคุณจะมา” ทหารคนหนึ่งพูด. “พวกคุณผ่านมาได้อย่างไร?”
ตรงกันข้ามกับคำขอร้องของเรา ไม่มีใครที่ด่านรักษาการณ์เหล่านี้ได้รับการแจ้งให้ทราบว่าพวกเรากำลังจะมาถึง! ทหารพูดต่อไปว่า “ปืนของเราขึ้นไกแล้ว และเรากำลังจะเริ่มยิง.”
เราถามว่าทำไมพวกเขาจึงไม่ยิง.
“ผมก็ไม่รู้” ทหารตอบ. “ผมเชื่อว่าเป็นโชคของคุณ. แต่เมื่อเรามองดูคุณผ่านกล้องส่องทางไกล เราเห็นป้าย ‘สงเคราะห์ด้านมนุษยธรรม’ และเราไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรกับพวกคุณ. ดังนั้น คุณจึงมาถึงได้โดยปลอดภัย.” ภายหลังเราเสนอคำอธิษฐานด้วยใจจริงขอบพระคุณพระยะโฮวาสำหรับการคุ้มครองของพระองค์.
ถึงแม้สภาพแวดล้อมของพวกเขาสาหัสสากรรจ์ก็ตาม น้ำใจของพี่น้องชายหญิงบอสเนียของเราเป็นสิ่งที่กระตุ้นหนุนใจ. พวกเขาแบ่งปันสิ่งฝ่ายวัตถุที่เขามีกับเราทั้งถ้อยคำแห่งความเชื่อและการหนุนใจ! ในเซนัทซา มีพยานฯที่เอาจริงเอาจัง 40 คน รวมทั้งไพโอเนียร์พิเศษ 2 คน, ไพโอเนียร์สมทบ 11 คน, และคนที่รับบัพติสมาใหม่ 14 คน. พยานฯ 65 คนและไพโอเนียร์สมทบ 4 คนซึ่งยังคงอยู่ต่อไปในเมืองซาราเยโวนำการศึกษาคัมภีร์ไบเบิล 134 ราย. พวกพยานฯใช้เวลาโดยเฉลี่ยเดือนละ 20 ชั่วโมงในการพูดคุยกับคนอื่นถึงข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้า.
แท้จริง พยานพระยะโฮวาประกอบกันเป็นครอบครัวของผู้มีความเชื่อทั่วโลก. พวกเขาเต็มใจเสี่ยงชีวิตของตนเพื่อทำดีแก่คนเหล่านั้นที่สัมพันธ์กับเขาในความเชื่อ—แม้แต่คนเหล่านั้นที่พวกเขาไม่เคยพบมาก่อนเลย. เพราะเหตุใด? เพราะพวกเขารักคนเหล่านั้น. พระเยซูคริสต์ตรัสว่า “คนทั้งปวงจะรู้ได้ว่าเจ้าเป็นเหล่าสาวกของเราก็เพราะว่าเจ้าทั้งหลายรักซึ่งกันและกัน.” (โยฮัน 13:35) เป็นเช่นนี้แน่นอนกับครอบครัวแห่งความเชื่อของเราในบอสเนีย.
[แผนที่/รูปภาพหน้า 24]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
ทะเลเอเดรียติก
ออสเตรีย
สโลวีเนีย
ฮังการี
โครเอเชีย
บอสเนีย
ทรัฟนีก
เซนัทซา
ซาราเยโว
เซอร์เบีย
[รูปภาพ]
การนำสิ่งของบรรเทาทุกข์ไปบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา
[รูปภาพหน้า 26]
ค่อย ๆ เคลื่อนผ่านรถบรรทุกที่พลิกคว่ำอยู่