บทสิบสาม
หากชีวิตสมรสอยู่ในขั้นวิกฤติ
1, 2. เมื่อชีวิตสมรสอยู่ภายใต้ความตึงเครียด ควรจะถามคำถามอะไร?
ในปี 1988 สตรีชาวอิตาลีคนหนึ่งชื่อลูชีอารู้สึกสลดหดหู่มาก.a หลังจากสิบปี ชีวิตสมรสของเธอกำลังจะสิ้นสุดลง. เธอพยายามหลายครั้งหลายหนที่จะคืนดีกับสามี ทว่าไม่เกิดผล. ดังนั้น เธอจึงแยกไปอยู่ต่างหากเนื่องจากเข้ากันไม่ได้และจากนั้นต้องเผชิญกับการเลี้ยงดูลูกสาวสองคนด้วยตัวเอง. เมื่อมองย้อนหลังถึงตอนนั้น ลูชีอาเล่าว่า “ดิฉันมั่นใจว่าไม่มีอะไรจะรักษาชีวิตสมรสของเราไว้ได้.”
2 หากคุณมีปัญหาในชีวิตสมรส คุณอาจเข้าใจได้ว่าลูชีอารู้สึกอย่างไร. ชีวิตสมรสของคุณอาจตกอยู่ในความยุ่งยากและคุณอาจสงสัยว่าชีวิตสมรสของคุณจะไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่. หากเกิดกรณีเช่นนี้ขึ้น คุณจะพบว่าเป็นประโยชน์ที่จะพิจารณาคำถามนี้: ฉันได้ปฏิบัติตามคำแนะนำที่ดีทุกอย่างซึ่งพระเจ้าประทานให้ในคัมภีร์ไบเบิลเพื่อช่วยทำให้ชีวิตสมรสประสบผลสำเร็จไหม?—บทเพลงสรรเสริญ 119:105.
3. ถึงแม้การหย่าร้างกลายเป็นที่นิยมกันก็ตาม มีการรายงานถึงปฏิกิริยาเช่นไรในหมู่ผู้คนจำนวนมากที่หย่าร้างกันและครอบครัวของเขา?
3 เมื่อเกิดความตึงเครียดอย่างรุนแรงระหว่างสามีกับภรรยา การทำให้ชีวิตสมรสสิ้นสุดลงอาจดูเหมือนเป็นแนวปฏิบัติที่ง่ายที่สุด. แต่ขณะที่หลายประเทศมีครอบครัวที่แตกสลายเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกตะลึง การวิจัยเมื่อไม่นานมานี้บ่งชี้ว่า ชายและหญิงส่วนใหญ่ที่หย่าร้างนั้นเกิดความเสียใจในภายหลังที่เลิกกัน. จำนวนหนึ่งมีปัญหาด้านสุขภาพ ทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ มากกว่าคนเหล่านั้นซึ่งยังคงรักษาสายสมรสไว้. ความสับสนและการขาดความสุขของเด็กที่พ่อแม่หย่ากันนั้นบ่อยครั้งยังคงมีอยู่ต่อไปเป็นเวลาหลายปี. บิดามารดาและเพื่อน ๆ ของครอบครัวที่แตกสลายก็เป็นทุกข์ด้วย. และพระเจ้าผู้ทรงริเริ่มการสมรสทรงมองดูสภาพการณ์นั้นอย่างไร?
4. ควรจัดการกับปัญหาในชีวิตสมรสโดยวิธีใด?
4 ดังที่ได้ชี้ชัดในบทก่อน ๆ พระเจ้าทรงมุ่งหมายให้การสมรสเป็นความผูกพันตลอดชีวิต. (เยเนซิศ 2:24) ถ้าเช่นนั้น ทำไมชีวิตสมรสหลายรายจริง ๆ จึงล้มเหลว? สิ่งนั้นคงไม่ได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน. ตามปกติมักมีสัญญาณเตือน. ปัญหาเล็ก ๆ ในชีวิตสมรสอาจใหญ่ขึ้น ๆ จนกระทั่งดูเหมือนจะเอาชนะไม่ได้. แต่ถ้าได้จัดการกับปัญหาเหล่านี้ทันทีโดยอาศัยคัมภีร์ไบเบิลแล้ว การแตกหักในชีวิตสมรสหลายรายอาจหลีกเลี่ยงได้.
จงมองตามความเป็นจริง
5. สภาพการณ์อะไรซึ่งตรงกับความเป็นจริงที่ชีวิตสมรสไม่ว่ารายใด ๆ ก็ตามต้องเผชิญ?
5 ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่บางครั้งนำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ คือ การที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายอาจมีการคาดหมายแบบที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง. นิยายรัก ๆ ใคร่ ๆ, นิตยสาร, รายการโทรทัศน์, และภาพยนตร์ซึ่งเป็นที่นิยมอาจสร้างความหวังและความฝันที่ต่างกันลิบลับจากชีวิตจริง. เมื่อความฝันเหล่านี้ไม่เป็นจริง คนเราอาจรู้สึกว่าถูกหลอก, ไม่พอใจ, ถึงกับรู้สึกขมขื่นด้วยซ้ำ. แต่บุคคลที่ไม่สมบูรณ์สองคนจะประสบความสุขในชีวิตสมรสได้อย่างไร? ต้องบากบั่นพยายามเพื่อให้ได้มาซึ่งสัมพันธภาพที่ประสบผลสำเร็จ.
6. (ก) คัมภีร์ไบเบิลให้ทัศนะที่สมดุลอะไรในเรื่องชีวิตสมรส? (ข) มีอะไรบ้างที่เป็นเหตุของความไม่ลงรอยกันในชีวิตสมรส?
6 คัมภีร์ไบเบิลใช้ได้ผลจริง. พระคัมภีร์ยอมรับว่าชีวิตสมรสนำมาซึ่งความสุข แต่ก็เตือนด้วยว่า คนเหล่านั้นที่แต่งงาน “จะยุ่งยากลำบากใจ.” (1 โกรินโธ 7:28) ดังที่ได้ชี้ชัดมาแล้ว คู่สมรสทั้งสองฝ่ายเป็นคนไม่สมบูรณ์และมีแนวโน้มที่จะทำบาป. โครงสร้างด้านจิตใจและด้านอารมณ์กับการอบรมเลี้ยงดูที่แต่ละฝ่ายได้รับนั้นต่างกัน. บางครั้งคู่สมรสไม่เห็นพ้องกันในเรื่องเงิน, ลูก, และญาติของทั้งสองฝ่าย. การไม่มีเวลาพอที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยกันและปัญหาเรื่องเพศก็อาจเป็นต้นเหตุของความขัดแย้งกันได้.b ต้องใช้เวลาเพื่อจะจัดการกับเรื่องดังกล่าว แต่ขอให้มีกำลังใจ! คู่สมรสส่วนใหญ่สามารถเผชิญกับปัญหาดังกล่าวและพบทางแก้ที่ต่างฝ่ายต่างยอมรับได้.
พูดเรื่องที่ผิดใจกัน
7, 8. หากมีความรู้สึกเจ็บช้ำน้ำใจหรือมีการเข้าใจผิดระหว่างคู่สมรส อะไรเป็นวิธีตามหลักพระคัมภีร์ในการจัดการกับเรื่องเหล่านั้น?
7 หลายคนพบว่ายากที่จะสงบอารมณ์อยู่ได้เมื่อเขาถกกันเรื่องความรู้สึกเจ็บช้ำน้ำใจ, ความเข้าใจผิด, หรือความผิดพลาดส่วนตัว. แทนที่จะพูดอย่างตรงไปตรงมาว่า “ฉันรู้สึกว่าคุณเข้าใจฉันผิด” ฝ่ายหนึ่งอาจแสดงอารมณ์ออกมาและทำให้ปัญหาบานปลายขึ้น. หลายคนจะพูดว่า “คุณสนใจแต่ตัวเองเท่านั้น” หรือ “คุณไม่รักฉัน.” เนื่องจากไม่ต้องการเข้าไปสู่การโต้เถียง อีกฝ่ายหนึ่งอาจไม่ยอมตอบโต้.
8 แนวทางดีกว่าที่พึงติดตามคือเอาใจใส่ฟังคำแนะนำของคัมภีร์ไบเบิลที่ว่า “โกรธเถิด, แต่อย่าให้เป็นการบาป อย่าให้ถึงตะวันตกท่านยังโกรธอยู่.” (เอเฟโซ 4:26) มีการถามคู่สมรสที่มีความสุขคู่หนึ่งตอนวันครบรอบแต่งงาน 60 ปีของเขาเกี่ยวกับเรื่องเคล็ดลับของชีวิตสมรสของเขาที่ประสบผลสำเร็จ. ผู้ที่เป็นสามีบอกว่า “เราได้พยายามจะไม่เข้านอนจนกว่าจะได้จัดการกับเรื่องผิดใจกันนั้นให้เรียบร้อย ไม่ว่านั่นอาจเป็นเรื่องเล็กน้อยเพียงไรก็ตาม.”
9. (ก) ในพระคัมภีร์มีการระบุว่าอะไรเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งของการสื่อความ? (ข) บ่อยครั้งคู่สมรสต้องทำอะไร ถึงแม้การทำเช่นนี้ต้องมีความกล้าและความถ่อมใจ?
9 เมื่อสามีกับภรรยาไม่เห็นพ้องต้องกัน แต่ละฝ่ายต้อง “ว่องไวในการฟัง, ช้าในการพูด, ช้าในการโกรธ.” (ยาโกโบ 1:19) หลังจากรับฟังอย่างถี่ถ้วนแล้ว ทั้งคู่ อาจเห็นความจำเป็นต้องขอโทษ. (ยาโกโบ 5:16) การพูดด้วยความจริงใจว่า “ขอโทษที่ทำให้คุณเสียใจ” ต้องใช้ความถ่อมและความกล้า. แต่การจัดการกับความผิดใจกันด้วยท่าทีเช่นนี้จะบังเกิดผลทีเดียวในการช่วยคู่สมรสให้ไม่เพียงแต่แก้ปัญหาของตนเท่านั้น แต่ยังช่วยพัฒนาความอบอุ่นและความสนิทสนมซึ่งจะทำให้เขาประสบความพอใจมากขึ้นที่มีกันและกันเป็นเพื่อน.
การให้สิ่งอันพึงได้ในชีวิตสมรส
10. วิธีป้องกันเช่นไรที่เปาโลแนะนำคริสเตียนชาวโกรินโธซึ่งอาจนำมาใช้ได้กับคริสเตียนในทุกวันนี้?
10 เมื่ออัครสาวกเปาโลเขียนถึงชาวโกรินโธ ท่านแนะนำให้ทำการสมรส “เนื่องด้วยการประพฤติผิดทางเพศแพร่หลาย.” (1 โกรินโธ 7:2, ล.ม.) โลกในทุกวันนี้เลวร้ายพอ ๆ กับเมืองโกรินโธโบราณ หรือเลวร้ายยิ่งกว่าด้วยซ้ำ. เรื่องผิดศีลธรรมซึ่งชาวโลกสนทนากันอย่างเปิดเผย, วิธีที่เขาแต่งตัวแบบไม่สุภาพเรียบร้อย, และเรื่องทางกามารมณ์ที่มีแสดงอย่างเด่นชัดในนิตยสารและหนังสือ, ทีวี, หรือภาพยนตร์, ล้วนกระตุ้นความปรารถนาทางเพศแบบผิดทำนองคลองธรรม. สำหรับชาวโกรินโธที่มีชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมคล้ายกันนั้น อัครสาวกเปาโลกล่าวว่า “แต่งงานเสียก็ดีกว่ามีใจเร่าร้อนด้วยกามราคะ.”—1 โกรินโธ 7:9, ฉบับแปลใหม่.
11, 12. (ก) อะไรที่สามีและภรรยาพึงให้แก่กันและกัน และควรให้ด้วยน้ำใจแบบไหน? (ข) ควรจัดการกับสถานการณ์โดยวิธีใดหากต้องมีการงดสิ่งอันพึงได้ในชีวิตสมรสสักพักหนึ่ง?
11 เพราะฉะนั้น คัมภีร์ไบเบิลสั่งคริสเตียนที่สมรสแล้วว่า “สามีควรให้แก่ภรรยาของตนตามที่เธอควรได้รับ แต่ภรรยาควรกระทำเช่นกันต่อสามีของตนด้วย.” (1 โกรินโธ 7:3, ล.ม.) ขอให้สังเกตว่า มีการเน้นเรื่องการให้—ไม่ใช่การเรียกร้องเอา. เพศสัมพันธ์ในชีวิตสมรสให้ความพอใจอย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อแต่ละฝ่ายคำนึงถึงความพอใจของอีกฝ่ายหนึ่ง. ตัวอย่างเช่น คัมภีร์ไบเบิลสั่งสามีให้ปฏิบัติกับภรรยา “โดยใช้ความรู้.” (1 เปโตร 3:7) นี่เป็นความจริงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการให้และการรับสิ่งอันพึงได้ในชีวิตสมรส. หากภรรยาไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างนุ่มนวลแล้ว เธออาจรู้สึกว่ายากที่จะพึงพอใจในด้านนี้ของชีวิตสมรส.
12 มีบางครั้งที่อาจทำให้คู่สมรสต้องรอนสิทธิ์อันพึงได้ของกันและกันในชีวิตสมรส. อาจเป็นเช่นนี้กับภรรยาในบางช่วงของเดือนหรือเมื่อเธอรู้สึกเหนื่อยอ่อนมาก. (เทียบกับเลวีติโก 18:19.) อาจเป็นเช่นนี้กับสามีเมื่อเขากำลังรับมือกับปัญหาสำคัญในที่ทำงานและรู้สึกหมดพลังใจ. กรณีที่งดการให้สิ่งอันพึงได้ในชีวิตสมรสสักพักหนึ่งเช่นนี้ย่อมเป็นการจัดการอย่างที่ดีที่สุดหากทั้งสองฝ่ายสนทนากันอย่างตรงไปตรงมาถึงสภาพการณ์นั้นและเห็นพ้องกันโดย “ทั้งสองฝ่ายยินยอม.” (1 โกรินโธ 7:5, ล.ม.) การทำเช่นนี้จะป้องกันไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งด่วนลงความเห็นผิด ๆ. แต่ถ้าภรรยาจงใจรอนสิทธิ์ของสามี หรือถ้าสามีเจตนาไม่ให้สิ่งอันพึงได้ในชีวิตสมรสด้วยท่าทีที่แสดงความรักแล้ว อาจเปิดโอกาสให้คู่ของเขาตกเข้าสู่การล่อใจได้. ในสถานการณ์เช่นนั้น ปัญหาอาจเกิดขึ้นได้ในชีวิตสมรส.
13. คริสเตียนจะรักษาความคิดของตนให้สะอาดได้โดยวิธีใด?
13 เช่นเดียวกับคริสเตียนทุกคน ผู้รับใช้ที่สมรสแล้วของพระเจ้าต้องหลีกเลี่ยงสื่อลามก ซึ่งอาจก่อให้เกิดความปรารถนาที่ไม่สะอาดและผิดธรรมชาติ. (โกโลซาย 3:5) เขาต้องระวังความคิดและการกระทำของตนเมื่อติดต่อเกี่ยวข้องกับสมาชิกทุกคนที่เป็นเพศตรงกันข้าม. พระเยซูเตือนว่า “ผู้ใดแลดูผู้หญิงด้วยใจกำหนัดในหญิงนั้น, ผู้นั้นได้ล่วงประเวณีในใจกับหญิงนั้นแล้ว.” (มัดธาย 5:28) โดยนำคำแนะนำของคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับเรื่องเพศมาใช้ คู่สมรสน่าจะสามารถหลีกเลี่ยงการถลำเข้าสู่การล่อใจและทำการเล่นชู้. เขาสามารถมีความสุขกับการมีเพศสัมพันธ์ที่น่ายินดีในชีวิตสมรสต่อไปได้ซึ่งเรื่องเพศถือว่าเป็นของประทานอันมีค่าที่ดีงามจากพระยะโฮวา ผู้ทรงริเริ่มการสมรส.—สุภาษิต 5:15-19.
เหตุผลตามคัมภีร์ไบเบิลสำหรับการหย่าร้าง
14. บางครั้งมีสถานการณ์ที่น่าเศร้าอะไรเกิดขึ้น? เพราะเหตุใด?
14 น่ายินดี ในชีวิตสมรสของคริสเตียนส่วนใหญ่ ปัญหาใด ๆ ที่เกิดขึ้นสามารถจัดการได้. แต่บางครั้งไม่เป็นเช่นนั้น. เพราะมนุษย์ไม่สมบูรณ์และอยู่ในโลกที่มีบาปซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของซาตาน ชีวิตสมรสบางรายจึงมาถึงขั้นวิกฤติ. (1 โยฮัน 5:19) คริสเตียนควรรับมือกับสถานการณ์ที่ลำบากเช่นนั้นโดยวิธีใด?
15. (ก) อะไรเป็นเหตุผลเดียวตามหลักพระคัมภีร์สำหรับการหย่าร้างแล้วแต่งงานใหม่ได้? (ข) ทำไมบางคนตัดสินใจที่จะไม่หย่ากับคู่สมรสที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อตน?
15 ดังที่กล่าวไว้ในบท 2 ของหนังสือนี้ การผิดประเวณีเป็นเหตุผลเดียวตามหลักพระคัมภีร์สำหรับการหย่าร้างแล้วแต่งงานใหม่ได้.c (มัดธาย 19:9) หากคุณมีหลักฐานแน่ชัดว่า คู่สมรสของคุณไม่ซื่อสัตย์ต่อคุณ คุณก็เผชิญกับการตัดสินใจที่ยากลำบาก. คุณจะรักษาสายสมรสไว้หรือว่าจะหย่า? ไม่มีกฎเกณฑ์. คริสเตียนบางคนได้ให้อภัยอย่างหมดสิ้นแก่คู่สมรสที่กลับใจจริง ๆ และสายสมรสที่รักษาไว้นั้นกลับกลายเป็นดี. คนอื่นได้ตัดสินใจไม่หย่าเพราะเห็นแก่ลูก.
16. (ก) มีปัจจัยอะไรบ้างที่ได้กระตุ้นบางคนให้หย่ากับคู่สมรสที่ทำผิด? (ข) เมื่อฝ่ายที่ไม่มีความผิดตัดสินใจที่จะหย่าหรือไม่หย่านั้น ทำไมไม่ควรที่ใคร ๆ จะวิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจของเขา?
16 ในอีกด้านหนึ่ง การกระทำที่ผิดบาปอาจยังผลด้วยการตั้งครรภ์หรือเป็นโรคติดต่อทางเพศ. หรือบางทีเด็ก ๆ อาจจำเป็นต้องได้รับการปกป้องจากบิดาหรือมารดาที่กระทำผิดทางเพศ. ปรากฏชัดว่า มีสิ่งที่พึงพิจารณามากมายก่อนทำการตัดสินใจ. อย่างไรก็ดี หากคุณทราบเรื่องการนอกใจของคู่สมรสของคุณแล้ว และหลังจากนั้นกลับมีเพศสัมพันธ์กับคู่ของคุณอีก โดยวิธีนี้คุณแสดงว่า คุณให้อภัยคู่สมรสของคุณแล้วและปรารถนาจะรักษาสายสมรสไว้. เหตุผลสำหรับการหย่าแล้วแต่งงานใหม่ได้ตามหลักพระคัมภีร์จึงเป็นโมฆะไป. ไม่ควรมีใครไปเที่ยวยุ่งกับธุระของคนอื่นแล้วพยายามโน้มน้าวการตัดสินใจของคุณ อีกทั้งไม่ควรที่ใคร ๆ จะวิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจที่คุณทำลงไป. คุณจะต้องทนอยู่กับผลซึ่งเกิดจากสิ่งที่คุณตัดสินใจนั้น. “ทุกคนต้องแบกภาระของตนเอง.”—ฆะลาเตีย 6:5.
เหตุผลสำหรับการแยกกันอยู่
17. หากไม่มีการทำผิดประเวณี พระคัมภีร์วางข้อจำกัดอะไรในเรื่องการแยกกันอยู่หรือการหย่าร้าง?
17 มีสถานการณ์ที่อาจทำให้เป็นการชอบด้วยเหตุผลไหมในการแยกกันอยู่หรืออาจจะหย่ากับคู่สมรสถึงแม้เขาไม่ได้ทำผิดประเวณี? มี แต่ในกรณีเช่นนั้น คริสเตียนไม่มีอิสระที่จะสนใจคนอื่นซึ่งไม่ใช่คู่ของตนโดยมุ่งหมายจะแต่งงานใหม่. (มัดธาย 5:32) คัมภีร์ไบเบิล แม้จะอนุญาตให้มีการแยกกันอยู่เช่นนั้นก็ตาม ได้ระบุว่า คนที่แยกกันอยู่นั้น ‘อย่าให้ไปมีใหม่ หรือไม่ก็ให้กลับคืนดีกับสามีเก่า.’ (1 โกรินโธ 7:11, ฉบับแปลใหม่) สถานการณ์ถึงขีดสุดอะไรบ้างที่อาจทำให้การแยกกันอยู่ดูเหมือนว่าเหมาะสม?
18, 19. สภาพการณ์ถึงขีดสุดอะไรบ้างที่อาจทำให้คู่สมรสพิจารณาความเหมาะสมในเรื่องการแยกกันอยู่อย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือการหย่าร้าง ถึงแม้ไม่อาจแต่งงานใหม่ได้?
18 ครอบครัวอาจยากจนลงเนื่องจากความเกียจคร้านอย่างเห็นได้ชัดและนิสัยที่ไม่ดีของสามี.d เขาอาจเอารายได้ของครอบครัวไปเล่นการพนันจนหมดหรือใช้เงินนั้นเพื่อเจือจุนนิสัยติดยาหรือแอลกอฮอล์. คัมภีร์ไบเบิลแถลงว่า “ถ้าแม้นผู้ใดไม่จัดหามาเลี้ยง . . . สมาชิกแห่งครอบครัวของตน ผู้นั้นก็ได้ปฏิเสธเสียซึ่งความเชื่อและนับว่าเลวร้ายกว่าคนที่ไม่มีความเชื่อเสียด้วยซ้ำ.” (1 ติโมเธียว 5:8, ล.ม.) หากคนเช่นนั้นไม่ยอมเปลี่ยนแนวทางของเขา บางทีถึงกับเอาเงินที่ภรรยาหามาได้นั้นไปใช้ในการกระทำอันชั่วร้ายของเขา ภรรยาก็อาจเลือกที่จะปกป้องสวัสดิภาพของเธอและของลูก ๆ ไว้โดยการแยกกันอยู่อย่างถูกต้องตามกฎหมาย.
19 อาจมีการคำนึงถึงการดำเนินการตามกฎหมายเช่นนั้นด้วย หากคู่สมรสใช้ความรุนแรงอย่างสุดขีดกับคู่ของเขา บางทีทุบตีเขาครั้งแล้วครั้งเล่าจนถึงขั้นที่สุขภาพและแม้แต่ชีวิตตกอยู่ในอันตราย. นอกจากนี้ หากคู่สมรสพยายามอย่างไม่ละลดที่จะบังคับให้คู่ของเขาละเมิดพระบัญชาของพระเจ้าโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง ฝ่ายที่ถูกคุกคามอาจคำนึงถึงการแยกกันอยู่เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเรื่องมาถึงขั้นที่ชีวิตฝ่ายวิญญาณตกอยู่ในอันตราย. ฝ่ายที่เสี่ยงอันตรายอาจลงความเห็นว่า วิธีเดียวที่จะ “เชื่อฟังพระเจ้าในฐานะเป็นผู้ครอบครองยิ่งกว่ามนุษย์” ก็คือการแยกกันอยู่อย่างถูกต้องตามกฎหมาย.—กิจการ 5:29, ล.ม.
20. (ก) ในกรณีที่เกิดการแตกหักในครอบครัว เพื่อน ๆ และผู้ปกครองที่อาวุโสอาจเสนออะไรให้ และพวกเขาไม่ควรเสนออะไร? (ข) บุคคลที่แต่งงานแล้วไม่ควรใช้สิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงการแยกกันอยู่และการหย่าร้างเป็นข้อแก้ตัวที่จะทำอะไร?
20 ในทุกกรณีของการกระทำอย่างโหดร้ายทารุณต่อคู่สมรส ไม่ควรมีใครมากดดันฝ่ายที่ไม่มีความผิดให้แยกกันอยู่หรือคงอยู่ต่อไปกับคู่สมรส. ขณะที่เพื่อน ๆ และผู้ปกครองที่อาวุโสอาจเสนอการช่วยเหลือและคำแนะนำที่อาศัยคัมภีร์ไบเบิล คนเหล่านี้ไม่อาจรู้รายละเอียดทั้งหมดของสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างสามีกับภรรยา. เฉพาะพระยะโฮวาเท่านั้นทรงทราบเรื่องนี้. แน่นอน ภรรยาคริสเตียนคงจะไม่นับถือการจัดเตรียมของพระเจ้าเรื่องการสมรส หากเธอใช้ข้ออ้างที่ไม่สมเหตุสมผลเพื่อให้พ้นจากชีวิตสมรส. แต่ถ้าสถานการณ์ที่เป็นอันตรายถึงขีดสุดมีอยู่เรื่อย ๆ ก็ไม่ควรที่ใครจะวิพากษ์วิจารณ์เธอหากเธอเลือกที่จะแยกจากคู่สมรส. อาจกล่าวได้เช่นเดียวกันเกี่ยวกับสามีคริสเตียนซึ่งหาทางแยกจากคู่สมรส. “เราทุกคนจะยืนอยู่ต่อหน้าบัลลังก์แห่งการพิพากษาของพระเจ้า.”—โรม 14:10, ล.ม.
วิธีกอบกู้ชีวิตสมรสที่แตกสลาย
21. ประสบการณ์อะไรแสดงว่า คำแนะนำของคัมภีร์ไบเบิลในเรื่องชีวิตสมรสนั้นใช้ได้ผล?
21 สามเดือนหลังจากที่ลูชีอาซึ่งกล่าวถึงข้างต้นได้แยกทางกับสามี เธอได้พบพยานพระยะโฮวาแล้วเริ่มศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับพวกเขา. เธออธิบายว่า “สิ่งที่ทำให้ดิฉันประหลาดใจอย่างยิ่งก็คือ คัมภีร์ไบเบิลเสนอทางแก้ที่ใช้ได้ผลจริงสำหรับปัญหาของดิฉัน. หลังจากการศึกษาเพียงหนึ่งสัปดาห์เท่านั้น ดิฉันต้องการจะคืนดีกับสามีทันที. ทุกวันนี้ดิฉันพูดได้ว่า พระยะโฮวาทรงทราบวิธีประคับประคองชีวิตสมรสในช่วงวิกฤติ เพราะคำสอนของพระองค์ช่วยคู่สมรสให้เรียนรู้วิธีที่จะให้ความนับถือต่อกัน. ไม่เป็นความจริงดังที่บางคนยืนยันว่า พยานพระยะโฮวาทำให้ครอบครัวแตกแยก. ในกรณีของดิฉัน สิ่งที่เป็นความจริงนั้นตรงข้ามทีเดียว.” ลูชีอา เรียนรู้ที่จะนำหลักการในคัมภีร์ไบเบิลมาใช้ในชีวิตของเธอ.
22. คู่สมรสทุกคู่ควรมีความมั่นใจในสิ่งใด?
22 ลูชีอาไม่ได้เป็นกรณียกเว้น. ชีวิตสมรสน่าจะเป็นพระพร ไม่ใช่ภาระหนัก. เพื่อจุดประสงค์นั้น พระยะโฮวาได้จัดเตรียมแหล่งยอดเยี่ยมที่สุดของคำแนะนำเกี่ยวกับชีวิตสมรสเท่าที่เคยบันทึกมา—พระคำอันล้ำค่าของพระองค์. คัมภีร์ไบเบิลสามารถทำให้ “ผู้ที่ขาดประสบการณ์มีปัญญา.” (บทเพลงสรรเสริญ 19:7-11, ล.ม.) พระคัมภีร์ได้กอบกู้ชีวิตสมรสหลายรายที่อยู่ในขั้นวิกฤติ และได้ช่วยชีวิตสมรสอีกหลายรายที่มีปัญหาร้ายแรงให้ดีขึ้น. ขอให้คู่สมรสทุกคู่มีความมั่นใจเต็มเปี่ยมในคำแนะนำเรื่องชีวิตสมรสที่พระยะโฮวาพระเจ้าทรงจัดเตรียมให้. คำแนะนำนั้นใช้ได้ผลจริง ๆ!
a เป็นนามสมมุติ.
b มีการพิจารณาขอบเขตเหล่านี้บางเรื่องในบทก่อน ๆ.
c ถ้อยคำในคัมภีร์ไบเบิลที่ได้รับการแปลว่า “การผิดประเวณี” หมายรวมถึงการกระทำที่เกี่ยวกับการเล่นชู้, การรักร่วมเพศ, การร่วมเพศกับสัตว์, และการกระทำที่เจตนาแบบอื่น ๆ ซึ่งไม่ถูกทำนองคลองธรรมอันเกี่ยวข้องกับการใช้อวัยวะเพศ.
d นี่ไม่ได้หมายรวมถึงสภาพการณ์ซึ่งสามีแม้จะมีความตั้งใจดี ก็ไม่สามารถหาเลี้ยงครอบครัวได้เนื่องด้วยเหตุผลที่อยู่เหนือการควบคุมของเขา เช่น ความเจ็บป่วยหรือการขาดโอกาสที่จะได้รับการว่าจ้าง.