-
จะทำให้โลกเป็นเอกภาพได้ไหม?ตื่นเถิด! 1994 | 8 มกราคม
-
-
ความรุนแรง—บางที คุณอาจจะเห็นด้วยว่า คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้พูดเกินความจริงเลยเมื่อบอกดังนี้: “ผู้ถูกเรียกว่าพญามารและซาตาน . . . ชักนำแผ่นดินโลกทั้งสิ้นที่มีคนอาศัยอยู่ให้หลง.”—วิวรณ์ 12:9, ล.ม.; 1 โยฮัน 5:19.
ประกายแห่งความหวัง
ครั้นเราพิจารณาความอลหม่านของโลกเมื่อไม่นานมานี้ ความฝันที่มนุษยชาติจะเป็นเอกภาพ ดูเหมือนยิ่งห่างไกลกว่าที่เคยเป็น. การแข่งขันชิงดีอันเนื่องมาจากชาตินิยมและเผ่าพันธุ์ คุกคามการดำรงอยู่ของมนุษย์อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน. กระนั้น ท่ามกลางความมืดมนของโลก แสงแห่งความหวังส่องประกายเจิดจ้า. ระหว่างช่วงฤดูร้อนปี 1993 ชนพวกหนึ่งจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่ทำสงครามกัน ได้แสดงให้เห็นถึงการผูกพันกลมเกลียว ซึ่งทำให้พวกเขาอยู่ในภาวะหลุดพ้นจากการต่อสู้ระหว่างชาติพันธุ์ และทำงานร่วมกันด้วยความรักและมีเอกภาพ.
แปลกแต่จริง เครื่องผูกพันนี้ปรากฏว่าเป็นปัจจัยที่มักจะแบ่งแยกมนุษยชาตินั่นเอง—ศาสนาไงล่ะ. นิตยสารไทมบอกว่า “ถ้าคุณขูดขัดคตินิยมเผ่าพันธุ์หรือคตินิยมชาติอันก้าวร้าวใด ๆ โดยปกติคุณจะพบศาสนาเป็นแก่นแฝงอยู่ข้างใต้ . . . ความเกลียดชังทางศาสนามักจะไร้ความเมตตาและเด็ดขาด.” ในทำนองคล้ายคลึงกัน วารสารอินเดีย ทูเดย์บอกว่า “ศาสนาเป็นป้ายบังหน้าผืนใหญ่ซึ่งเบื้องหลังป้ายผืนนั้นมีการประกอบอาชญากรรมอันน่าขยะแขยงที่สุด. . . . ศาสนาก่อความรุนแรงอันน่าสะพรึงกลัว และเป็นพลังล้างผลาญมากจริง ๆ.”
จริงทีเดียว โดยปกติศาสนาปรากฏว่าเป็นส่วนของปัญหา ไม่ใช่ทางแก้ปัญหา. แต่กลุ่มศาสนาหนึ่งที่กล่าวข้างต้นนี้—กลุ่มซึ่งมีจำนวนไม่น้อย—ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ศาสนาสามารถก่อเอกภาพ ไม่ใช่ก่อความแตกแยก. แล้วกลุ่มนี้ประกอบด้วยใครล่ะ? และเหตุใดพวกเขาประสบความสำเร็จอันน่าทึ่ง ขณะที่คนอื่นล้มเหลว? เราขอเชิญคุณอ่านบทความถัดไปเพื่อได้คำตอบ. การทำเช่นนั้นอาจช่วยคุณได้เป็นอย่างดีให้มีมุมมองใหม่เกี่ยวกับอนาคตของมนุษย์.
-
-
เอกภาพอันทำให้โลกอัศจรรย์ใจตื่นเถิด! 1994 | 8 มกราคม
-
-
เอกภาพอันทำให้โลกอัศจรรย์ใจ
โลกตกตะลึงจากการล่มสลายอย่างกะทันหันของลัทธิคอมมิวนิสต์ และเมื่อเร็ว ๆ นี้ จากความรุนแรงทางชาติพันธุ์ซึ่งเพิ่มขึ้นทุกขณะ. กระนั้น ขณะเดียวกัน หลายล้านคนในยุโรปตะวันออกก็รู้สึกอัศจรรย์ใจต่อกิจกรรมอันเป็นเอกภาพและเต็มไปด้วยความเบิกบานยินดีของกลุ่มซึ่งอยู่เหนือความเป็นอริทางเชื้อชาติและสัญชาติ—คือพยานพระยะโฮวา.
พยานพระยะโฮวาประสบความสำเร็จในการธำรงไว้ซึ่งการนมัสการที่เป็นเอกภาพ แม้ขณะที่ไฟสงครามลุกโชนล้อมรอบตน. ในปี 1991 เมื่อฝูงชนพยานฯ จากนานาชาติ 14,684 คนมาประชุมกันในซาเกร็บ โครเอเทีย ตำรวจนายหนึ่งพูดว่า “คงจะดีหากแสดงให้สื่อมวลชนเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสนามกีฬาแห่งนี้เอง ซึ่งเราเห็นชาวเซอร์เบีย, โครเอเทีย, สโลเวเนีย, มอนเตเนโกร และชาติอื่น ๆ นั่งเคียงข้างกันอย่างสันติ.”
ในปีเดียวกันนั้นเอง นักข่าว ณ การประชุมในไซบีเรียเห็นชาวรัสเซียสวมกอดผู้เพิ่งรับบัพติสมาใหม่เชื้อสายบุรยัต. ด้วยรู้ว่ามิตรภาพที่แท้จริงระหว่างผู้คนที่แตกต่างกันเช่นนี้หาได้ยาก เขาจึงถามว่า “คุณเอาชนะสิ่งกีดขวางระหว่างชาติได้อย่างไร?”
ฤดูร้อนที่แล้วนี้เอง พยานพระยะโฮวาได้จัดการประชุมใหญ่ขึ้น 45 แห่งในยุโรปตะวันออกและเอเชีย โดยที่การประชุมในมอสโก และคีฟ เป็นการประชุมนานาชาติ. รวมทั้งสิ้นกว่า 368,000 คนเข้าร่วมการประชุมทั้ง 45 แห่งกว่า 112,000 คนในอดีตสหภาพโซเวียตและเกือบ 11,000 คนในสี่เมืองใหญ่ของอดีตยูโกสลาเวีย.
ทั้ง ๆ ที่มีการสู้รบในภูมิภาคของพวกเขา แต่พยานฯ 215 คนก็เดินทางไปยังการประชุม ณ เบลเกรด เซอร์เบีย เมื่อวันที่ 19 ถึง 22 สิงหาคม. มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 3,241 คน. ผู้สื่อข่าวให้ข้อสังเกตว่า “กลุ่มคนรอบ ๆ ซาราเยโวเองก็สามารถเข้าร่วม. พวกเขา 56 คนเช่ารถโดยสารมา. คนเหล่านี้มาจากลูคาวิกา, เพเล, อิลิดซา, และโวโกสคา. แถมยังมีห้าคนมาจากเบนโคแว็ค. ที่น่าสังเกตอีกข้อหนึ่งคือ 23 คนจาก 174 คนซึ่งรับบัพติสมา ณ การประชุมนั้นมาจากภูมิภาคเหล่านี้ที่อยู่ในภาวะวิกฤติ.”
ในมอสโกและคีฟ
เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 1993 หน้าแรกของหนังสือพิมพ์ เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ ลงรูปขยายใหญ่ของพยานพระยะโฮวาในมอสโก พร้อมด้วยคำบรรยายใต้ภาพ: “การให้เสรีภาพทางศาสนาในรัสเซียได้นำผู้เปลี่ยนความเชื่อเหล่านี้มายังสนามกีฬาโลโคโมทีฟในกรุงมอสโก เพื่อรับบัพติสมาหมู่ เป็นพยานพระยะโฮวา.”
หนังสือพิมพ์ ไทมส์ รายงานว่า “สมาชิกซึ่งมีคราบน้ำตาบนใบหน้า สวมกอดพยานฯ ใหม่ซึ่งตัวยังเปียกน้ำอยู่. ต่างจากพฤติกรรมตามปกติ ณ สนามกีฬาโลโคโมทีฟแห่งนี้ ไม่มีใครสูบบุหรี่ ไม่มีใครใช้คำสบถ ไม่มีใครเมาสุรา.” ตลอดสี่วัน พยานฯ จากรัสเซียและจากประเทศอื่น ๆ มากกว่า 30 ประเทศนั่งกันเต็มสนามอย่างพอเหมาะพอดี ยอดผู้เข้าร่วมประชุมสูงถึง 23,743 คน.
การประชุมนานาชาติของพยานพระยะโฮวาซึ่งมีขนาดใหญ่กว่านั้นอีก จัดขึ้นในคีฟ นครหลวงของยูเครน. มียอดผู้เข้าร่วมประชุม 64,714 คน ณ สนามกีฬาของสาธารณรัฐ นับว่าใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรปตะวันออก. หน้าแรกของหนังสือพิมพ์อิฟนิง คีฟบอกว่า “พยานพระยะโฮวา . . . เป็นเอกภาพมิใช่เพียงเพราะบัตรติดหน้าอกสีฟ้าที่เขียนว่า ‘การสอนจากพระเจ้า’ แต่เพราะความเชื่ออันแท้จริง.”
วิธีบรรลุเอกภาพ
เอกภาพเช่นนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไรนั้นมีการแสดงภาพให้เห็นแจ่มชัดโดยพยานฯ ผู้สูงอายุชาวยูเครน ณ การประชุมที่คีฟ. เธอชี้มือขึ้นฟ้าและพูดว่า “พระยะโฮวา.” แล้วโอบแขนเป็นรูปวงกลม จากนั้นเธอก็ชูนิ้วเดียว. เธอถ่ายทอดความหมายชัดเจนคือ ‘พวกเราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยการสอนจากพระเจ้ายะโฮวา.’
น่าสนใจ สารานุกรมบริแทนนิการายงานเกี่ยวกับพยานพระยะโฮวาในอดีตสหภาพโซเวียต แสดงให้เห็นสาเหตุที่ทำให้พยานฯ เหล่านั้นเป็นเอกภาพ. สารานุกรมอธิบายดังนี้: “พวกเขารู้จักหลักคำสอนของตน [ซึ่งอาศัยคัมภีร์ไบเบิล] เป็นพวกที่กระตือรือร้นในการสอนคนให้เป็นสาวก และเป็นพวกที่จัดชีวิตทั้งสิ้นให้สอดคล้องกับความเชื่อทางศาสนาของตน.” ฉะนั้น นับว่าเหมาะสมเพียงไรที่อรรถบทสำหรับการประชุมใหญ่ในฤดูร้อนนี้ของพยานพระยะโฮวาคือ “การสอนจากพระเจ้า”!
พระเยซูคริสต์ผู้สนับสนุนการสอนจากพระเจ้า ชี้ถึงหลักการสำคัญซึ่งก่อให้เกิดเอกภาพเมื่อพระองค์อธิษฐานพาดพิงถึงสาวกของพระองค์ดังนี้: “เขาไม่อยู่ฝ่ายโลกเหมือนข้าพเจ้าไม่อยู่ฝ่ายโลก.” ถูกแล้ว จุดยืนเรื่องความเป็นกลางของพยานพระยะโฮวาทำให้เขาเป็นเอกภาพ ดังที่พระเยซูทูลขอเมื่อพระองค์อธิษฐานว่า “เพื่อเขาทั้งหลายจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เหมือนพระองค์คือพระบิดาสถิตอยู่ในข้าพเจ้า, และข้าพเจ้าอยู่ในพระองค์, เพื่อเขาจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพระองค์และกับข้าพเจ้าด้วย.”—โยฮัน 17:16-21.
ประสบการณ์ของผู้เข้าร่วมประชุมคนหนึ่งจากสเปนแสดงให้เห็นวิธีที่การไม่เป็นส่วนของโลกทำให้คนของพระเจ้าเป็นเอกภาพ. ขณะเดินทางไปยังการประชุมภาคในกรุงมอสโก เขานั่งข้าง ๆ ชายชาวอัฟกานิสถานซึ่งอธิบายว่า แม้กระทั่งผู้คนในศาสนาเดียวกัน ก็เข่นฆ่ากันในสงครามกลางเมืองของประเทศนั้น. แล้วเขาถามขึ้นว่า “ศาสนาของคุณสนับสนุนพรรคการเมืองไหน?” คำตอบคือ: “ไม่สนับสนุนพรรคใดเลย.” เนื่องจากพยานพระยะโฮวาเป็นกลางเรื่องการเมือง พวกเขาจึงไม่พัวพันในการต่อสู้ระหว่างชาติพันธุ์ ซึ่งนำผู้คนมาปะทะกัน.
ผู้เข้าร่วมประชุมซึ่งเดินทางจากอดีตสาธารณรัฐแห่งหนึ่งของโซเวียต ได้ประสบด้วยตัวเองว่าการสู้รบอาจน่าตกใจแค่ไหน. รถไฟของพวกเขาตกอยู่ท่ามกลางห่ากระสุนจากกองกำลังที่ต่อสู้กัน. พวกเขารู้สึกมีความสุขเพียงไรเมื่อมาถึงเมืองคีฟอย่างปลอดภัย อีกทั้งชื่นชมยินดีกับความรักและเอกภาพท่ามกลางกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มจากนานาประเทศ ณ สนามกีฬา!
ผู้เข้าร่วมประชุมชาวเยอรมันและชาวรัสเซียจำนวนหนึ่งหยั่งรู้ค่าโดยเฉพาะในสิ่งที่พวกเขาได้รับจากการสอนของพระเจ้า. สมัยหนุ่ม ๆ พวกเขาพยายามจะสังหารกันระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง. แต่ระหว่างการประชุม ณ เมืองคีฟ พวกเขาเป็นเอกภาพในการนมัสการแท้ ดังที่เห็นในหน้า 7.
ผู้เฝ้าดูรู้สึกอัศจรรย์ใจ
มอสโก นครที่มีพลเมืองประมาณเก้าล้านคน ที่แล้ว ๆ มาผู้คนแทบไม่มีโอกาสคุ้นเคยกับพยานพระยะโฮวา. จริงอยู่ หลายคนได้ยินเรื่องที่พวกเขาถูกข่มเหงและคุมขังภายใต้ลัทธิคอมมิวนิสต์. อนึ่ง ฤดูร้อนที่ผ่านมา มีการจัดตั้งประชาคมขึ้น 18 แห่งในกรุงมอสโกและ 13 แห่งในเมืองคีฟ เพื่อรองรับจำนวนผู้เข้าร่วมประชุมที่เพิ่มขึ้นของเหล่าพยานฯ. แต่ตอนนี้ คนท้องถิ่นได้เห็นผู้เข้าร่วมประชุมหลายหมื่นคนมีบัตรติดหน้าอกตามสถานที่ประชุมต่าง ๆ และตลอดทั่วเมืองใหญ่ ๆ ของพวกเขา! ผู้สังเกตการณ์หลายคนรู้สึกอัศจรรย์ใจ.
สารวัตรใหญ่กองดับเพลิงแห่งมอสโกเอ่ยว่า “การประชุมครั้งนี้น่าประทับใจที่สุด. น่าพิศวงที่ผู้คนมากมายต่างชาติต่างภาษาสามารถเข้ากันได้. ผมอัศจรรย์ใจเรื่องความสะอาดและความเป็นระเบียบของพวกคุณ. ผมทำงานที่สนามกีฬาแห่งนี้มา 20 ปีแล้ว และไม่เคยเห็นอะไรอย่างนี้มาก่อนเลย.”
มัคคุเทศก์ผู้หนึ่งพูดว่า “ปกติแล้ว เมื่อผมนำกลุ่มทัวร์ ความไม่เป็นเอกภาพเริ่มเห็นชัดทันทีที่ออกจากสนามบิน. พยานพระยะโฮวามิได้เป็นอย่างนั้น.” ผู้มาเยี่ยมชมการประชุมใหญ่ที่เมืองคีฟอุทานว่า “พวกคุณเป็นเอกภาพจริง ๆ. ช่างต่างกันเหลือเกินกับความเป็นไปนอกกำแพงสนามกีฬา!”
เมื่อการประชุมที่มอสโกเริ่มขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 22 กรกฎาคม คนงานหลายคนซึ่งยืนอยู่บนที่สูงของสถานก่อสร้างขนาดใหญ่บริเวณใกล้ ๆ ถึงกับหยุดงานชั่วขณะ. ปรากฏว่าพวกเขาประทับใจเสียงเพลงที่เปล่งออกมาของคนกว่า 23,000 คน. พวกเขาคงจะอัศจรรย์ใจยิ่งขึ้นอีก ถ้ารู้ว่าเพลงนั้นร้องออกมามากกว่า 12 ภาษา. กระทั่งพยานฯ หูหนวกซึ่งไม่สามารถเปล่งเสียงร้องเพลงได้ก็ “ร้อง” ด้วยภาษามือ.
จุดที่ผู้คนนิยมไปอยู่รวมกันในตอนเย็นคือจัตุรัสแดงขนาดใหญ่ของมอสโก นอกกำแพงเครมลิน. ตอนเย็นของวันก่อนการประชุม (ซึ่งยังไม่มืดจนกระทั่งหลังสี่ทุ่ม) พยานฯ หลายร้อยคนจากเชื้อชาติและสัญชาติต่าง ๆ กัน สวมกอดกันอย่างมีความสุข ณ ที่นั่น. ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์มอสโก ไทมส์บังเอิญมาแวะบริเวณนั้นและสงสัยว่า “พวกคุณเป็นตัวแทนของใคร?” เขาถาม. เมื่อทราบคำตอบ เขาเอ่ยว่า “ผมไม่เคยเห็นการผสมผสานอย่างมีความสุขของผู้คนมากมายหลากหลายเชื้อชาติขนาดนี้ ณ จัตุรัสแดง. โดยปกติ คนกลุ่มใหญ่อย่างนี้มาที่นี่เพื่อเดินขบวนหรือประท้วงอะไรสักอย่าง.”
ประชาชนทั้งในมอสโกและคีฟรู้สึกประทับใจจริง ๆ กับผู้เข้าร่วมประชุมนับพันที่มีป้ายติดหน้าอกทักทายกัน, สวมกอดกันอย่างตื่นเต้น และพยายามจะพูดจาสื่อความกันและกัน. นักธุรกิจจากอิหร่านซึ่งมาแวะเที่ยวเมืองคีฟเข้าไปหาพยานฯ จากสหรัฐ แล้วพูดว่า “คุณมีอะไรบางอย่างที่น่าพิศวง. ผมได้เฝ้าสังเกตพวกคุณตลอดสองวันมานี้. ผมอยากอ่านหนังสือของคุณที่เป็นภาษาอังกฤษ.” เขาอธิบายว่า ถ้าไม่เป็นเพราะต้องกลับอิหร่านเช้าวันรุ่งขึ้น เขาจะไปยังการประชุม.
ตลอดกรุงมอสโกและคีฟ—โดยเฉพาะตามท้องถนน, ตามจัตุรัส, และรถใต้ดิน—ผู้มาร่วมประชุมเข้าหาประชาชนเพื่อเสนอแผ่นพับและจุลสารเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิล. ทุก ๆ เย็น จะเห็นพยานฯ ยืนอยู่ใกล้ ๆ สุสานของเลนิน ณ จัตุรัสแดง สนทนาเงียบ ๆ กับผู้คนและแจกจ่ายแผ่นพับ. ปกติ ผู้คนยินดีรับ และมักจะยิ้มอย่างอบอุ่น. ถ้าแจกแผ่นพับในรถใต้ดิน คนมักจะเริ่มอ่านทันที. ไม่แปลกที่เห็นห้าหกคนในรถใต้ดินตู้หนึ่งพากันอ่านแผ่นพับเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิล.
หลังจากอ่านข่าวสารแล้ว ผู้โดยสารรถใต้ดินมักจะแสดงความหยั่งรู้ค่า. ชายวัยกลางคนผู้หนึ่งอธิบายเป็นภาษาอังกฤษอย่างกระท่อนกระแท่นว่า “เราไม่เคยมีโอกาสเรียนรู้เรื่องอย่างนี้เลย. ขอบคุณมาก.” อีกรายหนึ่ง ชายหนุ่มและมารดารู้สึกประทับใจในข่าวสารมากจนลงจากรถใต้ดินตามผู้เข้าร่วมประชุมเพื่อสนทนาต่อ.
เมืองคีฟเต็มไปด้วยพยานฯ ผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 50,000 คนซึ่งมาจาก 30 กว่าประเทศ ทั้งหมดต้องมีที่พัก. ส่วนใหญ่พักโรงแรม, บ้านส่วนตัว, และโรงเรียน แต่ประมาณ 1,800 คนพักบนเรือหกลำ. แม่บ้านบนเรือลำหนึ่งฝากโน้ตให้พวกพยานฯ ซึ่งมีข้อความว่า “ดิฉันรู้สึกเหมือนว่าคุณมาจากอีกโลกหนึ่ง. พวกคุณน่าชมมากและปรองดองกันจนเป็นพระพรแก่เรา. อาจเป็นได้ที่คุณคือบุตรของพระเจ้า. ดิฉันคิดถึงเรื่องนี้ตลอดเวลา.”
เหมาะสมแล้วที่พยานพระยะโฮวาสามารถจัดการประชุมใหญ่ของพวกเขาเช่นนี้ได้ และที่เจ้าหน้าที่ อีกทั้งผู้คนมีโอกาสได้เห็นคุณลักษณะและความประพฤติอันดีฝ่ายคริสเตียนเช่นนั้นซึ่งเป็นการถวายสง่าราศีแด่พระเจ้า! เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นซึ่งทำงานกับพยานฯ ต่างก็ยกย่องชมเชยความมีประสิทธิภาพ, ความมีมารยาท, และความร่วมมือเป็นอย่างดีกับฝ่ายจัดการสนามกีฬาและหน่วยงานอื่น ๆ ของเมือง.
เจ้าหน้าที่คนหนึ่งของเมืองคีฟบอกว่า “ไม่เคยมีการทำความสะอาดสนามกีฬาดีอย่างนี้มาเป็นเวลา 13 ปีแล้ว.” ตำรวจที่นั่นอุทานว่า “คนอะไรอย่างนี้! อย่างกับอยู่ในโลกใหม่. ผมไม่เข้าใจเลยว่า ทำไมพวกคุณเคยถูกข่มเหง.”
จุดเด่นของการประชุม
สำหรับพวกพยานฯ ในกรุงมอสโกและคีฟ บางทีจุดเด่นประการสำคัญก็คือการมีผู้เข้าร่วมประชุมหลายพันคนจากดินแดนต่าง ๆ มากมาย รวมทั้งสมาชิกคณะกรรมการปกครองแห่งพยานพระยะโฮวา. ความยินดีที่เพียงแต่ได้มาอยู่ร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพในการนมัสการอันสงบสุขด้วยกันกับคนหลากหลายสัญชาตินับเป็นสิ่งที่เหลือจะพรรณนา. เมื่อผู้บรรยายสุดท้าย ณ กรุงมอสโกและคีฟบอกว่า การขอบคุณสุดยอดขอมอบกับพระเจ้ายะโฮวา ซึ่งทำให้การประชุมใหญ่นี้เป็นไปได้ ผู้ฟังก็ลุกขึ้นยืนและปรบมือดังกึกก้องติดต่อกันเป็นเวลาหลายนาที จนกระทั่งผู้บรรยายพูดต่อไป.
จุดเด่นอื่น ๆ ของการประชุมคือคำบรรยายโดยสมาชิกคณะกรรมการปกครองแต่ละวันในภาษาอังกฤษ และรายงานสั้น ๆ โดยผู้เข้าร่วมประชุมจากหลายประเทศ. การบรรยายในภาษาอังกฤษเหล่านี้ได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ หลายภาษาพร้อม ๆ กัน. เช่น ที่เมืองคีฟ แปลออก 16 ภาษา! ฉะนั้น เมื่อฟังในส่วนที่จัดไว้สำหรับกลุ่มภาษาหนึ่ง ๆ โดยเฉพาะ ผู้เข้าร่วมประชุมจะได้ยินส่วนนั้นจากระเบียบวาระในภาษาของตนเอง.
แล้วยังมีจุดเด่นของการประชุมอีกอย่างหนึ่งคือ การออกจุลสารใหม่ในภาษารัสเซียและภาษายูเครนชื่อจุดมุ่งหมายของชีวิตคืออะไร? ที่หยั่งรู้ค่าเป็นพิเศษคือการออกหนังสือคู่มือโรงเรียนการรับใช้ตามระบอบการของพระเจ้าในภาษารัสเซีย ซึ่งใช้เป็นเครื่องมือช่วยพยานพระยะโฮวาเสนอความจริงแห่งคัมภีร์ไบเบิลอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น. นอกจากนั้น ยังออกหนังสือในภาษารัสเซียชื่อหนังสือของฉันเกี่ยวด้วยเรื่องราวในพระคัมภีร์ไบเบิ้ลเป็นการเสนอประวัติในคัมภีร์ไบเบิล ด้วยเนื้อหากระชับ เรียงลำดับเหตุการณ์ตามเวลา เขียนขึ้นสำหรับเด็ก ๆ โดยเฉพาะ. หนังสือนี้พิมพ์ออกแล้วกว่า 36 ล้านเล่ม และกว่า 80 ภาษา.
การรับบัพติสมาของสาวกใหม่จำนวนมากเป็นจุดเด่นของการประชุมอย่างแท้จริง. เป็นที่น่าสังเกตว่าหลายคนในจำนวนผู้รับบัพติสมาเป็นคนหนุ่มสาว. ณ การแถลงข่าวในเมืองคีฟ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ออสวิตาถามว่า “สิ่งที่น่าสังเกตในการประชุมของพวกคุณ ก็คือมีคนหนุ่มสาวจำนวนมาก. พวกเขามีใจกรุณา, สะอาดเรียบร้อย, และมีความประพฤติดี. คุณทำได้อย่างไร? คุณมีนโยบายพิเศษเพื่อใช้กับเยาวชนไหม? ผมทำงานกับคนหนุ่มสาวและผมสนใจอยากรู้เป็นอย่างมาก.”
ถึงแม้การอุทิศตัวต่อพระเจ้าต้องอาศัยความรู้ มิใช่อารมณ์ กระนั้น การรับบัพติสมาจริง ๆ ยังคงเป็นโอกาสที่เร้าอารมณ์ ซาบซึ้งถึงหัวใจ. ในกรุงมอสโก ฝูงชนยืนและปรบมือตั้งแต่ผู้ที่จะรับบัพติสมา 1,489 คนเริ่มเดินไปยังสระจุ่มตัวสามแห่ง จนกระทั่งทุกคนรับบัพติสมาเสร็จ นานกว่าหนึ่งชั่วโมงต่อมา.
ในเมืองคีฟ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 64,000 คน มีการจัดตั้งสระบัพติสมาหกสระที่ปลายด้านหนึ่งของสนาม. เนื่องด้วยสระแต่ละแห่งมีผู้ให้บัพติสมาหกคนหรือกว่านั้น จึงมีการจุ่มตัวผู้คนจำนวนเท่ากับประชาคมที่ใหญ่พอสมควรทุก ๆ สองนาที. กระนั้น การบัพติสมาดำเนินติดต่อกันถึงสองชั่วโมงกว่า! ณ การประชุมนานาชาติในนครนิวยอร์ก “พระทัยประสงค์ของพระเจ้า” ปี 1958 มี 7,136 คนรับบัพติสมา. แต่ในเมืองคีฟ พยานพระยะโฮวาที่ได้รับการแต่งตั้งใหม่มี 7,402 คนจากยูเครนและอดีตสาธารณรัฐอื่น ๆ ของสหภาพโซเวียต ทำให้เป็นการรับบัพติสมาครั้งใหญ่ที่สุดของคริสเตียนเท่าที่มีการบันทึก. คนเหล่านี้ซึ่งพูดภาษารัสเซีย มาจากแว่นแคว้นแดนต่าง ๆ ซึ่งพยานพระยะโฮวาถูกห้ามและเป็นเช่นนั้นมาหลายทศวรรษ เพิ่งจะยกเลิกเมื่อไม่นานนี้เอง!
จุดเด่นของการประชุมในเบลเกรดคือผู้เข้าร่วมประชุมมาจากดินแดนที่คุกรุ่นด้วยสงครามและถูกปิดล้อม. ผู้ทำงาน ณ การประชุมเล่าว่า “ผู้เข้าร่วมประชุมเหล่านี้ได้แสดงความขอบคุณอย่างอบอุ่นหลายครั้งที่พวกเขามีสิทธิพิเศษได้มายังการประชุมนี้. อย่างไรก็ดี เรารู้สึกว่าการหนุนกำลังใจอันแท้จริงก็คือที่พวกเรามีโอกาสพบเขา และเห็นประจักษ์ถึงความรักและความกระตือรือร้นของพวกเขาต่อความจริงในคัมภีร์ไบเบิล.”
ณ การประชุม “การสอนจากพระเจ้า” หลายแห่ง ได้มีการอ่านจดหมายที่สะเทือนอารมณ์ซึ่งเขียนเมื่อฤดูหนาวที่แล้วจากซาราเยโว. ผู้เขียนเล่าว่า “อุณหภูมิอยู่ที่ระดับประมาณ -15 องศาเซลเซียส. ผมกับภรรยาและลูกชายสองคน ไม่มีไฟฟ้า และฟืนก็มีไม่พอ . . . ได้ยินเสียงปืนกลและเสียงระเบิด. แต่ในหัวใจของเรานั้นสงบและอบอุ่น เนื่องจากความจริง และสัมพันธภาพอันดีกับพระยะโฮวา. . . . เราขอให้คุณเฝ้าอธิษฐานทูลขอพระยะโฮวาให้ช่วยเรายืนหยัดและอดทนต่อความสยดสยองเหล่านี้ มั่นคงในความเชื่อ. เราอธิษฐานเพื่อคุณ!”
ความแตกต่างนี้เป็นสิ่งสำคัญไหม?
เมื่อมองเทียบกับภาพหลังฉากที่เต็มไปด้วยความแตกแยกซึ่งปรากฏชัดท่ามกลางศาสนาต่าง ๆ ของโลก จะเห็นได้ชัดเจนว่าพวกพยานฯ แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง. จริง ๆ แล้ว ข้อแตกต่างนี้เป็นสิ่งสำคัญไหม? เกี่ยวด้วยการประชุมใหญ่ของพวกพยานฯ เมื่อหลายปีก่อน บทบรรณาธิการหนึ่งกล่าวว่า “เพียงพอแล้วที่จะบอกว่า ถ้าทั่วโลกดำรงชีวิตโดยหลักความเชื่อ [ที่อาศัยคัมภีร์ไบเบิล] ของพยานพระยะโฮวา การนองเลือดและความเกลียดชังจะยุติลง และความรักจะครอบครองเยี่ยงกษัตริย์.”
กระนั้น มนุษยชาติส่วนใหญ่ไม่ได้ปฏิบัติตามคำสอนจากพระเจ้า. ในศตวรรษแรก พวกเขาถึงกับปฏิเสธไม่ฟังพระเยซูคริสต์ พระบุตรของพระเจ้า. ฉะนั้น จะเป็นการคาดหมายมากเกินไปไหมว่าสักวันหนึ่งเราจะเห็นโลกที่เป็นเอกภาพ? เรื่องเช่นนี้เป็นไปได้อย่างไร?
[กรอบหน้า 12]
การประชุมภาคในยุโรปตะวันออกและเอเชีย
ประเทศ ยอดผู้เข้าร่วมประชุม ผู้รับบัพติสมา
แอลเบเนีย (1 แห่ง) 598 39
บัลแกเรีย (1 แห่ง) 704 45
สาธารณรัฐเชก (2 แห่ง) 20,025 620
อดีตสหภาพโซเวียต
เอสโตเนีย (2 แห่ง) 4,732 383
รัสเซีย (3 แห่ง) 32,582 2,454
ยูเครน (2 แห่ง) 69,333 7,797
เคอร์กีสถาน (1 แห่ง) 5,678 604
อดีตยูโกสลาเวีย
โครเอเทีย (1 แห่ง) 5,003 157
มาซิโดเนีย (1 แห่ง) 642 27
เซอร์เบีย (1 แห่ง) 3,24 174
สโลเวเนีย (1 แห่ง) 1,961 69
ฮังการี (5 แห่ง) 22,191 798
โปแลนด์ (13 แห่ง) 152,371 4,352
โรมาเนีย (9 แห่ง) 36,615 2,375
สโลวะเกีย (2 แห่) 13,215 473
รวม: 368,891 20,367
[รูปภาพหน้า 7]
มากกว่า 64,000 คนมาชุมนุมกันที่สนามกีฬาของสาธารณรัฐในเมืองคีฟ
[รูปภาพหน้า 7]
คู่ปรปักษ์จากเยอรมนีและยูเครนสมัยสงครามโลกครั้งที่สองกลายมาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยความจริงจากคัมภีร์ไบเบิล
[รูปภาพหน้า 8, 9]
ผู้นมัสการที่เป็นเอกภาพมากกว่า 23,000 คน ณ สนามกีฬาโลโคโมทีฟ ในกรุงมอสโก
7,402 คนรับบัพติสมาในเมืองคีฟ และ 1,489 คนในกรุงมอสโก
ผู้เข้าร่วมประชุมจากต่างประเทศนำอาหารมากมายหลายตันมาให้ ผู้ที่ขัดสน
บนและกลาง: กลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายประชุมกันด้วยเอกภาพอันสงบสุข ล่าง: การให้คำพยาน ที่จัตุรัสแดง
[รูปภาพหน้า 10]
ผู้เข้าร่วมประชุมเบิกบานยินดีที่ได้หนังสือ “เรื่องราวในพระคัมภีร์ไบเบิ้ล,” “คู่มือโรงเรียน,” และจุลสารใหม่ในภาษาของตน
-