สิ่งที่พระเจ้าสร้างซึ่ง “มีปัญญาโดยสัญชาตญาณ” อาจสอนอะไรแก่เรา
ระบบปรับอากาศ, สารกันเยือกแข็ง, การกลั่นน้ำจืดจากน้ำทะเล, และโซนาร์ เป็นการประดิษฐ์คิดค้นซึ่งผู้คนในศตวรรษที่ 20 นี้รู้จักกันอย่างกว้างขวาง. กระนั้น สิ่งเหล่านี้มีอยู่ในโลกของสัตว์เป็นเวลานับหลายพันปีมาแล้ว. ถูกแล้ว มนุษย์เราได้รับประโยชน์จากการศึกษาสิ่งมีชีวิตซึ่ง “มีปัญญาโดยสัญชาตญาณ.” เหล่านั้น. (สุภาษิต 30:24-28, ล.ม.; โยบ 12:7-9) ดูเหมือนว่าสัตว์บางชนิดได้กลายมาเป็นครูสอนมนุษย์โดยมิได้ปริปากออกมาเป็นถ้อยคำ และเราสามารถพบกับเรื่องที่น่าสนใจเป็นอย่างมากเมื่อพิจารณาสัตว์เหล่านี้อย่างใกล้ชิด.
เราอาจรับประโยชน์จากการพิจารณาลักษณะนิสัยของสัตว์บางชนิดได้ไหม? พระเยซูคริสต์ทรงเปรียบบรรดาผู้ติดตามของพระองค์เป็นเหมือนแกะ, งู, นกพิราบ, และแม้กระทั่งเปรียบเหมือนตั๊กแตน. พระองค์ทรงคิดถึงอะไรเมื่อเปรียบผู้ติดตามของพระองค์เหมือนสัตว์เหล่านี้? ให้เรามาดูกัน.
“แกะของเราย่อมฟังเสียงของเรา”
มีการกล่าวถึงแกะในคัมภีร์ไบเบิลมากกว่า 200 ครั้ง. ตามที่พจนานุกรมอธิบายคัมภีร์ไบเบิลของสมิท อธิบาย “แกะเป็นสัญลักษณ์ของความอ่อนน้อม, ความอดทน, และการยอมอยู่ใต้อำนาจ.” ที่ยะซายาบท 53 มีคำพยากรณ์ซึ่งเปรียบพระเยซูเองว่าเป็นเหมือนแกะ. ช่างเหมาะสมเสียจริง ๆ ที่พระองค์ทรงเปรียบผู้ติดตามของพระองค์ว่าเป็นเหมือนสัตว์ชนิดเดียวกัน! แต่ลักษณะจำเพาะแบบใดบ้างของแกะที่พระเยซูทรงคิดถึง?
พระเยซูตรัสว่า “แกะของเราย่อมฟังเสียงของเรา เรารู้จักแกะนั้น, และแกะนั้นตามเรา.” (โยฮัน 10:27) โดยวิธีนี้ พระองค์ทรงเน้นถึงความอ่อนน้อมของสาวกของพระองค์และความกระตือรือร้นของพวกเขาที่จะติดตามพระองค์. แกะจริง ๆ ฟังเสียงผู้เลี้ยงและเต็มใจติดตามเขาไป. ผู้เลี้ยงแกะก็เช่นกันมีความผูกพันอย่างแนบแน่นกับฝูงสัตว์เลี้ยงของตน.
แกะในฝูงหนึ่งอาจกระจายตัวอยู่ทั่วตามทุ่งหญ้าขณะเล็มหญ้า แต่โดยรวมแล้วแกะแต่ละตัวจะคอยรักษาการติดต่อกับกลุ่มอยู่เสมอ. หนังสืออัลเลส ฟือร์ ดาส ชาฟ (ทุกอย่างสำหรับแกะ) กล่าวว่า โดยวิธีนี้ เมื่อพวกมันรู้สึกไม่ปลอดภัยหรือตื่นตกใจ “พวกมันสามารถรวมตัวกันได้อย่างรวดเร็ว.” หากแกะวิ่งหนีเพื่อให้พ้นอันตราย พวกมันจะวิ่งหนีเป็นกลุ่ม โดยหยุดเป็นพัก ๆ เพื่อประเมินสถานการณ์ใหม่. การหนีเป็นช่วง ๆ ไปทำให้พวกลูกแกะและแกะที่ไม่ค่อยแข็งแรงตามฝูงทัน. ทั้งฝูงยังถึงกับให้การปกป้องเป็นพิเศษกับพวกที่ล้าหลังเหล่านี้ด้วย.” เราสามารถเรียนรู้อะไรได้จากพฤติกรรมนี้?
คริสเตียนแท้ในทุกวันนี้ไม่ได้อยู่กระจัดกระจายตามสำนักและนิกายแห่งคริสต์ศาสนจักร. แทนที่จะเป็นดังนั้น พวกเขารวมตัวกันเป็นฝูงเดียว. คริสเตียนแต่ละคนรู้สึกผูกพันเป็นส่วนตัวอยู่กับฝูงแกะของพระเจ้านี้ และนี่ช่วยให้มีความเป็นเอกภาพในองค์การแห่งพยานพระยะโฮวา. เมื่อใดก็ตามที่เกิดวิกฤตการณ์ขึ้น—ไม่ว่าจะเป็นความเจ็บป่วยร้ายแรง, สงคราม, หรือภัยพิบัติธรรมชาติ—ผู้นมัสการแต่ละคนจะแสวงหาการนำทางและการปกป้องจากที่ไหน? จากภายในองค์การของพระยะโฮวา ซึ่งให้ความปลอดภัยทางฝ่ายวิญญาณนั่นเอง.
คำแนะนำตามหลักพระคัมภีร์ได้รับการจัดให้มีไว้พร้อมโดยทางใดบ้าง? โดยทางสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ เช่นวารสารหอสังเกตการณ์ และวารสารที่ออกคู่กัน คือตื่นเถิด! วารสารเหล่านี้และการประชุมคริสเตียนถึงกับให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษแก่คนที่จำเป็นต้องได้รับการเอาใจใส่เป็นพิเศษ แบบเดียวกับลูกแกะและแกะที่อ่อนแอในฝูง. อาทิเช่น การเอาใจใส่ต่อบิดาหรือมารดาที่เลี้ยงลูกแต่ลำพังและคนที่ประสบกับภาวะซึมเศร้า. ด้วยเหตุนั้น คงเป็นความฉลาดสุขุมจริง ๆ ที่จะอ่านวารสารที่ออกมาแต่ละฉบับ, เข้าร่วมการประชุมประจำประชาคมทุกนัด, และนำสิ่งที่ได้เรียนรู้เอาไปใช้! โดยทำอย่างนี้ เราแสดงออกซึ่งความอ่อนน้อมและการติดสนิทอยู่กับฝูงแกะของพระเจ้าอย่างเหนียวแน่น.—1 เปโตร 5:2.
“ระแวดระวังเหมือนงูและกระนั้น ไม่เป็นพิษเป็นภัยเหมือนนกพิราบ”
พจนานุกรมอธิบายคัมภีร์ไบเบิลของสมิท กล่าวว่า “ตลอดทั่วทั้งโลกตะวันออก งูถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของความชั่วร้าย, สัญลักษณ์ของน้ำใจที่ไม่เชื่อฟัง.” ในทางตรงข้าม ‘แม่นกพิราบของฉัน’ เป็นคำแสดงความรู้สึกรักทะนุถนอม. (เพลงไพเราะ 5:2) ถ้าอย่างนั้น พระเยซูทรงคิดถึงอะไรเมื่อพระองค์กระตุ้นผู้ติดตามทั้งหลายของพระองค์ให้ “ระแวดระวังเหมือนงูและกระนั้น ไม่เป็นพิษเป็นภัยเหมือนนกพิราบ”?—มัดธาย 10:16, ล.ม.
เวลานั้นพระเยซูทรงให้คำแนะนำในเรื่องการประกาศและการสั่งสอน. พวกสาวกคาดหมายได้เลยว่าจะพบกับการตอบรับทั้งสองแบบ. จะพอมีบางคนที่แสดงความสนใจ ขณะที่คนส่วนมากจะปฏิเสธข่าวดี. บางคนจะกดขี่ข่มเหงผู้รับใช้แท้ของพระเจ้าเสียด้วยซ้ำ. (มัดธาย 10:17-23) พวกสาวกควรจะมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อการกดขี่ข่มเหง?
ในดาส เอฟานเกเลียม เดส มัทเทอุส (กิตติคุณมัดธาย) ฟริทซ์ รีเนคเคอร์ กล่าวถึงมัดธาย 10:16 ว่า “ความฉลาด . . . ต้องควบคู่กันไปกับความซื่อสัตย์มั่นคง, ความจริงใจ, และความตรงไปตรงมา หาไม่แล้วอาจทำให้ศัตรูมีช่องที่จะบ่นติเตียนได้. ราชทูตของพระเยซูอยู่ท่ามกลางปรปักษ์ที่โหดร้าย ผู้ซึ่งไม่มีการคำนึงถึงความรู้สึกของพวกเขา และโจมตีพวกเขาโดยปราศจากความเมตตาหากเห็นช่องที่จะโจมตีได้แม้แต่น้อยนิด. ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องเป็นเหมือนงู—ตาจับจ้องที่ปรปักษ์ และประเมินสถานการณ์ด้วยสายตาและประสาทสัมผัสที่ระแวดระวัง ควบคุมสถานการณ์เอาไว้เสมอโดยไม่ใช้เล่ห์กลหรือการหลอกลวง รักษาตัวให้สุภาพและสัตย์จริงในทางคำพูดและการกระทำ และโดยวิธีนี้พิสูจน์ตัวเองเป็นเหมือนนกพิราบ.”
ผู้รับใช้ในสมัยปัจจุบันของพระเจ้าสามารถเรียนรู้อะไรจากคำตรัสของพระเยซูซึ่งพบที่มัดธาย 10:16? ปัจจุบัน ประชาชนมีปฏิกิริยาต่อข่าวดีแบบเดียวกันกับที่เคยเกิดขึ้นสมัยศตวรรษแรกไม่มีผิด. เมื่อเผชิญกับการกดขี่ข่มเหง คริสเตียนแท้จำเป็นต้องรวมเอาความฉลาดแบบงูเข้าด้วยกันกับความไร้มลทินแบบนกพิราบ. คริสเตียนไม่ใช้การลวงหลอกหรือความไม่ซื่อสัตย์ แต่สุจริต, จริงใจ, และสัตย์ซื่อในการประกาศข่าวเรื่องราชอาณาจักรแก่คนอื่น ๆ.
เพื่อเป็นตัวอย่าง: เพื่อนร่วมงาน, เยาวชนในโรงเรียน, หรือแม้แต่สมาชิกครอบครัวของคุณเองอาจใช้คำพูดเสียดสีแดกดันเกี่ยวกับความเชื่อของคุณฐานะพยานพระยะโฮวา. ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นในทันใดอาจเป็นการตอกกลับในวิธีเดียวกันโดยถากถางความเชื่อของเขา. แต่ว่านั่นเป็นการกระทำที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยไหม? ไม่ใช่แน่ ๆ. ถ้าคุณแสดงให้คนที่วิจารณ์คุณเห็นว่า คำวิจารณ์ของเขาไม่มีผลต่อความประพฤติที่ดีของคุณ พวกเขาอาจเห็นว่าไม่มีประโยชน์อะไรที่จะทำอย่างนั้นต่อไป. เมื่อเป็นอย่างนั้น คุณได้แสดงทั้งความฉลาดและไม่เป็นที่ตำหนิได้—‘ระแวดระวังเหมือนงู และกระนั้นไม่เป็นพิษเป็นภัยเหมือนนกพิราบ.’
“พวกตั๊กแตนคล้ายกับม้าที่เตรียมไว้สำหรับการศึก”
วารสารเกโอ รายงานว่าในปี 1784 แอฟริกาใต้ถูกโจมตีโดย “ฝูง [ตั๊กแตน] ขนาดมหึมาที่สุดเท่าที่เคยมีประวัติบันทึกเอาไว้.” ตั๊กแตนฝูงนี้คลุมพื้นที่ถึง 5,200 ตารางกิโลเมตร ประมาณห้าเท่าของขนาดเกาะฮ่องกง. พจนานุกรมอธิบายคัมภีร์ไบเบิลของสมิท บอกว่าตั๊กแตน “ผลาญทำลายพืชพรรณอย่างน่ากลัวตามประเทศต่าง ๆ ที่พวกมันแวะเยือน.”
ในการเปิดเผยสิ่งต่าง ๆ ที่พระเจ้าประทานให้ซึ่งจะเกิดขึ้นในระหว่าง “วันขององค์พระผู้เป็นเจ้า” พระเยซูทรงใช้ภาพนิมิตของฝูงตั๊กแตน. มีการกล่าวถึงพวกมันว่า “พวกตั๊กแตนคล้ายกับม้าที่เตรียมไว้สำหรับการศึก.” (วิวรณ์ 1:1, 10; 9:3-7, ล.ม.) ภาพสัญลักษณ์นี้มีความหมายอย่างไร?
พยานพระยะโฮวาเข้าใจมานานแล้วว่า ตั๊กแตนในวิวรณ์บท 9 เป็นภาพเล็งถึงผู้รับใช้ที่ได้รับการเจิมของพระเจ้าบนแผ่นดินโลกในศตวรรษนี้.a คริสเตียนเหล่านี้ได้รับมอบหมายงานโดยเฉพาะอย่างหนึ่ง—การประกาศข่าวเรื่องราชอาณาจักรไปตลอดทั่วโลกและทำให้คนเป็นสาวก. (มัดธาย 24:14; 28:19, 20) การนี้เรียกร้องให้พวกเขาเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ และบากบั่นในงานของตน. จะมีอะไรที่ให้ภาพอย่างชัดเจนได้ดีกว่าตั๊กแตนที่ไม่อาจปราบได้พวกนี้?
แม้ว่าตัวมันมีความยาวเพียงสองนิ้วเศษ ๆ ตามปกติตั๊กแตนเดินทางระหว่าง 100-200 กิโลเมตรต่อวัน. ตั๊กแตนทะเลทรายอาจยืดระยะทางออกไปอีกเป็น 1,000 กิโลเมตรต่อวัน. วารสารเกโอ อธิบายว่า “ปีกมันขยับ 18 ครั้งต่อวินาที และตลอดชั่วระยะเวลา 17 ชั่วโมงต่อวัน—เป็นสิ่งที่ไม่มีแมลงอื่นใดทำได้.” ช่างเป็นงานช้างเสียจริง ๆ สำหรับสิ่งที่พระเจ้าสร้างตัวกระจิริดแค่นั้น!
พยานพระยะโฮวาร่วมกันเป็นกลุ่มยึดมั่นอยู่ในงานแพร่กระจายข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร. ปัจจุบันพวกเขาประกาศไปมากกว่า 230 ประเทศ. ผู้รับใช้เหล่านี้ของพระเจ้าเอาชนะอุปสรรคหลายอย่างเพื่อจะมีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานนี้ได้. ปัญหาแบบไหนบ้างที่พวกเขาเผชิญ? อคติ, ข้อจำกัดทางกฎหมาย, ความเจ็บป่วย, ความท้อแท้, และการต่อต้านขัดขวางจากญาติ เป็นเพียงไม่กี่อย่าง. แต่ไม่มีสิ่งใดที่สามารถกั้นขวางไม่ให้พวกเขารุดหน้าต่อไป. พวกเขายึดมั่นในงานที่พระเจ้าทรงประทานให้พวกเขาทำ.
จงสำแดงคุณลักษณะแบบคริสเตียนต่อ ๆ ไป
ใช่แล้ว พระเยซูทรงเปรียบผู้ติดตามของพระองค์เหมือนกับแกะ, งู, นกพิราบ, และตั๊กแตน. นี่นับว่าเหมาะกับสมัยของเราเสียจริง ๆ. เพราะเหตุใด? เพราะอวสานของระบบนี้จวนจะถึงอยู่แล้ว และปัญหาต่าง ๆ กำลังบีบคั้นกดดันมากขึ้นทุกที.
โดยระลึกถึงคำตรัสเปรียบให้เห็นภาพชัดของพระเยซู คริสเตียนแท้ติดสนิทแนบแน่นอยู่กับฝูงแกะของพระเจ้า และยอมรับคำแนะนำจากองค์การของพระยะโฮวาด้วยความอ่อนน้อม. พวกเขาเฝ้าระวังและตื่นตัวต่อสภาพการณ์ที่อาจกีดขวางกิจกรรมของพวกเขาฐานะคริสเตียน ขณะเดียวกันก็รักษาตัวให้ปราศจากตำหนิในทุกสิ่ง. ยิ่งกว่านั้น พวกเขาพากเพียรทำตามพระทัยพระเจ้าเมื่อเผชิญอุปสรรคใด ๆ มาขัดขวาง. และพวกเขาเรียนรู้จากสิ่งทรงสร้างซึ่ง “มีปัญญาโดยสัญชาตญาณ” อยู่เสมอไป.
[เชิงอรรถ]
a โปรดดูพระธรรมวิวรณ์—ใกล้จะถึงจุดสุดยอด! จัดพิมพ์โดยสมาคมว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์ แห่งนิวยอร์ก บท 22.