จงเพิ่มความอดทนของท่านทั้งหลายด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้า
“จงเพิ่มความเชื่อของท่านทั้งหลาย . . . ด้วยความอดทน เพิ่มความอดทนด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้า.”—2 เปโตร 1:5, 6, ล.ม.
1, 2. (ก) เริ่มในช่วงทศวรรษปี 1930 เกิดอะไรขึ้นกับพยานพระยะโฮวาในประเทศต่าง ๆ ภายใต้การยึดครองของนาซี และเพราะเหตุใด? (ข) ไพร่พลของพระยะโฮวาเป็นอย่างไรบ้างเมื่อได้รับการปฏิบัติอย่างทารุณเช่นนั้น?
มันเป็นช่วงที่มืดมนในประวัติศาสตร์ศตวรรษที่ 20. เริ่มต้นปี 1934 พยานพระยะโฮวาหลายพันคนตามประเทศต่าง ๆ ภายใต้การยึดครองอำนาจของฝ่ายนาซีถูกจับขังไว้ในค่ายกักกันอย่างไม่ยุติธรรม. ด้วยสาเหตุอะไร? เพราะพยานฯคงความเป็นกลางและไม่ยอมตะโกนร้องสนับสนุนฮิตเลอร์. พวกเขาได้รับการปฏิบัติอย่างไร? “ไม่มีนักโทษกลุ่มอื่น ๆ . . . ถูกทหารหน่วยเอสเอสประทุษร้ายร่างกายอย่างเปิดเผยเหมือนนักศึกษาพระคัมภีร์ [พยานพระยะโฮวา] ได้รับ. มันเป็นการทรมานคนให้เจ็บปวดอย่างต่อเนื่องทั้งทางร่างกายและจิตใจ เป็นการทรมานชนิดที่ไม่อาจสรรหาคำภาษาใด ๆ ในโลกขึ้นมาชี้แจงได้.”—คาร์ล วิตทิก อดีตข้าราชการเยอรมัน.
2 พยานพระยะโฮวาเป็นอย่างไรบ้าง? ในหนังสือการปกครองระบอบนาซีกับศาสนาใหม่ ๆ: การศึกษาวิจัยห้ารายที่ไม่ยอมปฏิบัติตาม [ภาษาอังกฤษ] ดร. คริสติน อี. คิง กล่าวว่า “[ต่างจากสมาชิกกลุ่มศาสนาอื่น ๆ] มีแต่พยานฯเท่านั้นที่รัฐบาลปราบไม่สำเร็จ.” ถูกแล้ว พยานพระยะโฮวาโดยส่วนรวมยืนหยัดมั่นคง ถึงแม้ว่าสำหรับพวกเขานับร้อย ๆ คนการเช่นนี้หมายถึงความอดทนจนสิ้นชีวิต.
3. อะไรได้ช่วยพยานพระยะโฮวาให้อดทนการทดลองอันสาหัส?
3 อะไรช่วยพยานพระยะโฮวาอดทนการทดลองได้ถึงขนาดนั้น ไม่เฉพาะกับพวกนาซีในประเทศเยอรมนีแต่ทั่วโลกเลยทีเดียว? พระบิดาผู้สถิตในสวรรค์ทรงช่วยพวกเขาให้อดทนเนื่องจากความเลื่อมใสในพระเจ้าของเขานั้นเอง. อัครสาวกเปโตรชี้แจงว่า “พระยะโฮวาทรงทราบวิธีที่จะช่วยคนที่เลื่อมใสในพระเจ้าให้รอดพ้นจากการทดลอง.” (2 เปโตร 2:9, ล.ม.) ตอนต้นจดหมายฉบับเดียวกันนี้ เปโตรได้แนะนำคริสเตียนว่า “จงเพิ่มความเชื่อของท่านทั้งหลายด้วย . . . ความอดทน เพิ่มความอดทนด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้า” (2 เปโตร 1:5, 6, ล.ม.) ดังนั้น ความอดทนจึงเกี่ยวพันกันแนบแน่นกับความเลื่อมใสในพระเจ้า. ที่จริง เพื่อจะอดทนได้ถึงที่สุดนั้น เราต้อง ‘ดำเนินตามความเลื่อมใสในพระเจ้า’ และสำแดงความเลื่อมใสนั้นให้ปรากฏ. (1 ติโมเธียว 6:11) ทว่าความเลื่อมใสในพระเจ้าคืออะไรกันแน่?
สิ่งที่ความเลื่อมใสในพระเจ้าหมายถึง
4, 5. ความเลื่อมใสในพระเจ้าคืออะไร?
4 คำนามภาษากรีก (อ็อยเซʹเบเอีย) ที่ใช้หมายถึง “ความเลื่อมใสในพระเจ้า” อาจนำมาแปลตามตัวอักษรว่า “ให้ความเคารพอย่างสมควร.”a (2 เปโตร 1:6, ฉบับคิงดอม อินเตอร์ลิเนีย) คำนั้นหมายถึงความรู้สึกที่อบอุ่นจากหัวใจต่อพระเจ้า. ตามคำชี้แจงของ ดับเบิลยู. อี. ไวน์ คำคุณศัพท์ อ็อยเซเบสʹ ตามตัวอักษรหมายถึง “ด้วยความเคารพนับถืออย่างสมควร” บอกนัยว่า “พลังงานซึ่งได้รับการชี้นำโดยความเกรงกลัวพระเจ้าอย่างบริสุทธิ์ แสดงออกด้วยการกระทำอย่างเลื่อมใส.”—2 เปโตร 2:9, อินเตอร์ลิเนีย.
5 ด้วยเหตุนี้ “ความเลื่อมใสในพระเจ้า” จึงพาดพิงถึงความเคารพยำเกรงหรือความเลื่อมใสต่อพระยะโฮวาซึ่งกระตุ้นเราให้กระทำสิ่งที่พระองค์ทรงพอพระทัย. คนเราทำอย่างนี้แม้ในยามที่เราเผชิญการทดลองที่ยากลำบาก เนื่องจากเรารักพระเจ้าจากหัวใจ. มันเป็นความผูกพันส่วนตัวอย่างซื่อสัตย์ภักดีกับพระยะโฮวา ซึ่งแสดงออกในวิถีชีวิตของเรา. คริสเตียนแท้ได้รับการกระตุ้นให้อธิษฐานเพื่อว่าพวกเขาจะได้ดำเนิน “ชีวิตที่สงบเงียบด้วยความเลื่อมใสอย่างเต็มเปี่ยมในพระเจ้า.” (1 ติโมเธียว 2:1, 2, ล.ม.) ตามที่ เจ. พี. โลว์ และ อี. เอ. นิดา นักชำระปทานุกรมได้บอกดังนี้: “หลายภาษาทีเดียวที่คำ [อ็อยเซʹเบเอีย] ใน 1 ติโมเธียว 2:2 อาจแปลได้ความอย่างเหมาะสมว่า ‘ดำเนินชีวิตอย่างที่พระเจ้าทรงประสงค์ให้เป็นเช่นนั้น’ หรือ ‘ดำรงชีวิตตามที่พระเจ้าตรัสสั่งให้เรากระทำ.’”
6. มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไรระหว่างความอดทนกับความเลื่อมใสในพระเจ้า?
6 บัดนี้ พวกเราย่อมเข้าใจมากขึ้นในความเกี่ยวพันกันระหว่างความอดทนกับความเลื่อมใสในพระเจ้า. เพราะว่าเราดำเนินชีวิตอย่างที่พระเจ้าทรงประสงค์คือด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้า โลกจึงเกลียดพวกเรา ซึ่งเป็นเหตุให้ความเชื่อของเราถูกทดลองหลายวิธีอย่างเลี่ยงไม่พ้น. (2 ติโมเธียว 3:12) แต่ไม่มีวิธีใดอื่นจะกระตุ้นเราให้อดทนเอากับการทดลองดังกล่าวได้ หากไม่ใช่เพราะความผูกพันเป็นส่วนตัวที่เรามีอยู่กับพระบิดาของเราทางภาคสวรรค์. ยิ่งกว่านั้น พระยะโฮวาทรงตอบรับความเลื่อมใสจากใจจริงเช่นนั้น. เพียงสร้างจินตนาการว่าพระองค์คงต้องรู้สึกอย่างไร เมื่อทอดพระเนตรจากสวรรค์และทรงเห็นคนเหล่านั้นอันเนื่องมาจากความเลื่อมใสของตน ต่างก็มุ่งมั่นจะกระทำให้พระองค์ชอบพระทัยทั้ง ๆ ที่ได้รับการต่อต้านทุกรูปแบบ. ไม่ประหลาดใจ พระองค์ทรงตั้งพระทัยไว้แล้วที่จะ “ช่วยคนที่เลื่อมใสในพระเจ้าให้รอดพ้นจากการทดลอง”!
7. ทำไมความเลื่อมใสในพระเจ้าจึงต้องได้รับการปลูกฝัง?
7 แต่พวกเราไม่ได้เกิดมาพร้อมกับความเลื่อมใสในพระเจ้า หรือได้รับโดยอัตโนมัติจากบิดามารดาผู้เลื่อมใสในพระเจ้า. (เยเนซิศ 8:21) แทนที่จะเป็นเช่นนั้น สิ่งนี้จะต้องได้รับการปลูกฝัง. (1 ติโมเธียว 4:7, 10) เราต้องบากบั่นเพื่อจะเพิ่มความเลื่อมใสในพระเจ้าเข้ากับความอดทนและความเชื่อของเรา. เปโตรกล่าวว่าเรื่องนี้เรียกร้อง “ความพยายามอย่างจริงจัง.” (2 เปโตร 1:5, ล.ม.) เช่นนั้นแล้ว เราจะได้มาซึ่งความเลื่อมใสในพระเจ้าโดยวิธีใด?
เราจะได้มาซึ่งความเลื่อมใสในพระเจ้าโดยวิธีใด?
8. ตามถ้อยคำของอัครสาวกเปโตร อะไรเป็นหลักสำคัญเพื่อให้ได้มาซึ่งความเลื่อมใสในพระเจ้า?
8 อัครสาวกเปโตรได้อธิบายหลักสำคัญเพื่อให้ได้มาซึ่งความเลื่อมใสในพระเจ้า. ท่านบอกดังนี้: “ขอให้พระกรุณาอันไม่พึงได้รับและสันติสุขเพิ่มพูนแก่ท่านทั้งหลายโดยความรู้ถ่องแท้เกี่ยวกับพระเจ้าและพระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา เพราะโดยเหตุที่อำนาจของพระองค์ได้ประทานทุกสิ่งที่เกี่ยวกับชีวิต และความเลื่อมใสในพระเจ้าให้เราอย่างไม่อั้น โดยทางความรู้ถ่องแท้เกี่ยวกับพระองค์ผู้ทรงเรียกเราด้วยสง่าราศีและคุณความดี.” (2 เปโตร 1:2, 3, ล.ม.) ดังนั้น ที่จะเพิ่มความเลื่อมใสในพระเจ้าด้วยความเชื่อและความอดทน นั่นคือ เราต้องรับเอาความรู้ถ่องแท้ ซึ่งได้แก่ความรู้อันเต็มบริบูรณ์หรือครบถ้วนเกี่ยวกับพระเจ้ายะโฮวาและพระเยซูคริสต์มากขึ้น.
9. อาจยกตัวอย่างประกอบอย่างไรที่ว่าการมีความรู้ถ่องแท้เกี่ยวกับพระเจ้าและพระคริสต์ไม่ใช่เพียงแต่รู้จักว่าพระองค์ทั้งสองคือใคร?
9 การมีความรู้ถ่องแท้เกี่ยวกับพระเจ้าและพระคริสต์นั้นหมายถึงอะไร? เป็นที่ชัดแจ้งว่า นี้หาใช่เป็นเพียงการรู้จักพระองค์ทั้งสองว่าเป็นผู้ใด. ยกตัวอย่าง: คุณอาจจะรู้จักเพื่อนบ้านที่อยู่ถัดไปว่าเขาเป็นใครและอาจทักทายเรียกชื่อเขาเสียด้วยซ้ำ. แต่คุณจะให้เขายืมเงินก้อนใหญ่ไหม? คุณคงไม่ให้เว้นแต่คุณจะรู้จักจริง ๆ ว่าเขาเป็นคนแบบไหน. (เทียบสุภาษิต 11:15.) ทำนองเดียวกัน การรู้จักพระยะโฮวาและพระเยซูอย่างถ่องแท้, หรืออย่างบริบูรณ์นั้น, ไม่ใช่แค่เชื่อว่าทั้งสองพระองค์ทรงดำรงพระชนม์อยู่และรู้จักพระนามพระองค์เท่านั้น. ที่จะเต็มใจอดทนเอากับความทุกข์ยากลำบากกระทั่งถึงแก่ชีวิตเพราะเห็นแก่พระองค์เช่นนั้น เราต้องรู้จักทั้งสองพระองค์อย่างดีทีเดียว. (โยฮัน 17:3) ทั้งนี้หมายรวมถึงอะไร?
10. การมีความรู้ถ่องแท้เกี่ยวกับพระยะโฮวาและพระเยซูเกี่ยวข้องกับสองสิ่งอะไรบ้าง และทำไม?
10 การมีความรู้ถ่องแท้, หรือครบถ้วน, เกี่ยวกับพระยะโฮวาและพระเยซูนั้นเกี่ยวข้องกับสองสิ่ง: (1) การได้มารู้จักพระเจ้าและพระเยซูในฐานะเป็นบุคคล—คุณลักษณะประการต่าง ๆ ของพระองค์, ความรู้สึก, และแนวทางทั้งหลายของพระองค์—และ (2) เลียนแบบอย่างของพระองค์ทั้งสอง. ความเลื่อมใสในพระเจ้าเกี่ยวข้องกับความผูกพันส่วนตัวจากส่วนลึกของหัวใจกับพระยะโฮวาและปรากฏเด่นชัดโดยแนวทางการดำเนินชีวิตของเรา. เหตุฉะนั้น ที่จะได้มาซึ่งสิ่งนี้ เราจึงต้องมารู้จักพระยะโฮวาเป็นส่วนตัว แถมคุ้นกับพระทัยประสงค์และแนวทางต่าง ๆ ของพระองค์เป็นอย่างดีและอย่างละเอียดถี่ถ้วนเท่าที่มนุษย์เราจะทำได้. จริง ๆ แล้ว ที่จะรู้จักพระยะโฮวาผู้ได้ทรงสร้างตัวเราตามแบบพระฉายของพระองค์ เราจึงต้องใช้ความรู้ดังกล่าวและพยายามจะเลียนแบบพระองค์. (เยเนซิศ 1:26-28; โกโลซาย 3:10) และเนื่องจากพระเยซูได้เลียนแบบพระยะโฮวาโดยครบถ้วนทั้งสิ่งที่พระองค์ตรัสและกระทำ การรู้จักพระเยซูอย่างถ่องแท้จึงเป็นเครื่องช่วยอันทรงคุณค่าในการพัฒนาความเลื่อมใสในพระเจ้า.—เฮ็บราย 1:3.
11. (ก) เราจะได้มาซึ่งความรู้ถ่องแท้เกี่ยวกับพระเจ้าและพระคริสต์โดยวิธีใด? (ข) ทำไมจึงนับว่าสำคัญที่จะคิดรำพึงถึงสิ่งที่เราอ่าน?
11 กระนั้น เราจะได้ความรู้ถ่องแท้ดังกล่าวเกี่ยวกับพระเจ้าและพระคริสต์โดยวิธีใด? โดยการหมั่นขยันศึกษาคัมภีร์ไบเบิลและสรรพหนังสือที่ยึดหลักคัมภีร์ไบเบิล.b อย่างไรก็ดี หากการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัวจะยังผลให้เราได้มาซึ่งความเลื่อมใสในพระเจ้า จึงจำเป็นที่เราพึงใช้เวลาคิดรำพึง คือตรึกตรองหรือใคร่ครวญในสิ่งที่เราได้อ่าน. (เทียบกับยะโฮซูอะ 1:8.) ทำไมเรื่องนี้จึงสำคัญ? พึงระลึกว่าความเลื่อมใสในพระเจ้าเป็นความรู้สึกอันอบอุ่นจากส่วนลึกของหัวใจต่อพระเจ้า. ในพระคัมภีร์การคิดรำพึงเกี่ยวข้องครั้งแล้วครั้งเล่ากับหัวใจโดยนัย—บุคคลที่อยู่ภายใน. (บทเพลงสรรเสริญ 19:14; 49:3; สุภาษิต 15:28) เมื่อเราตรึกตรองสิ่งที่เราได้อ่านด้วยความหยั่งรู้ค่า สิ่งนั้นจะซึมเข้าไปถึงบุคคลที่อยู่ภายใน แล้วก็จะกระตุ้นความรู้สึกและอารมณ์ของเรา และมีผลกระทบต่อการคิดของเรา. ถึงตอนนั้นแหละการศึกษาจะเสริมความเกี่ยวพันส่วนตัวของเรากับพระยะโฮวาให้แน่นแฟ้นและกระตุ้นพวกเราให้ดำเนินชีวิตอย่างเป็นที่พอพระทัยพระเจ้า แม้ในยามเผชิญสภาพการณ์ที่ท้าทายหรือการทดลองที่ยากลำเค็ญ.
การปฏิบัติด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้าที่บ้าน
12. (ก) ตามคำกล่าวของเปาโล คริสเตียนอาจปฏิบัติด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้าที่บ้านโดยวิธีใด? (ข) เหตุใดคริสเตียนแท้จึงเอาใจใส่ดูแลบิดามารดาที่อยู่ในวัยชรา?
12 ความเลื่อมใสในพระเจ้าควรปฏิบัติที่บ้านเป็นแห่งแรก. อัครสาวกเปาโลกล่าวว่า: “แต่ถ้าแม่ม่ายคนใดมีลูกหรือหลาน ก็ให้คนเหล่านี้เรียนรู้ที่จะแสดงความเลื่อมใสในพระเจ้าในครอบครัวของตัวเองก่อน และทดแทนบุญคุณบิดามารดาหรือปู่ย่าตายายของตนเสมอ เพราะการทำอย่างนี้เป็นที่ชอบในสายพระเนตรพระเจ้า.” (1 ติโมเธียว 5:4, ล.ม.) ดังเปาโลได้ชี้แจงว่า การดูแลบิดามารดาที่ชราเป็นการสำแดงความเลื่อมใสในพระเจ้า. คริสเตียนแท้ให้การเอาใจใส่ดูแลดังกล่าวมิใช่เพราะคิดว่าเป็นหน้าที่เท่านั้น แต่เนื่องด้วยความรักที่มีต่อบิดามารดาของตน. มากกว่านั้น เขาตระหนักในความสำคัญที่พระยะโฮวาทรงกำหนดหน้าที่การดูแลครอบครัวไว้กับตน. เขาทราบดีว่าการไม่อุปถัมภ์จุนเจือบิดามารดาของตนในคราวจำเป็นก็เท่ากับว่าผู้นั้น ‘ปฏิเสธความเชื่อฝ่ายคริสเตียน.’—1 ติโมเธียว 5:8.
13. ทำไมการปฏิบัติด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้าที่บ้านจึงเป็นข้อท้าทายอย่างแท้จริง แต่การดูแลบิดามารดาของตนนั้นเกิดผลเป็นความอิ่มใจพอใจอย่างไร?
13 เป็นที่ยอมรับกันว่า ไม่ง่ายเสมอไปที่จะปฏิบัติด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้าที่บ้าน. สมาชิกครอบครัวอาจแยกย้ายกันไปอยู่ที่ห่างไกลกัน. บุตรที่เป็นผู้ใหญ่อาจจะมีครอบครัวของตัวเองและอาจจะดิ้นรนด้านค่าครองชีพ. ลักษณะหรือขนาดของการเอาใจใส่ที่บิดาหรือมารดาต้องการเช่นนั้น อาจกลายเป็นภาระหนักแก่สุขภาพทั้งทางกาย, จิตใจ, และทางอารมณ์ สำหรับคนที่ให้การดูแล. อย่างไรก็ตาม ความอิ่มใจพอใจอย่างแท้จริงย่อมเกิดขึ้นได้ เมื่อรู้ว่าการดูแลบิดามารดานั้นหาใช่เป็นแค่การ “ทดแทนบุญคุณ” เท่านั้น แต่กระทำให้ชอบพระทัยพระองค์ผู้ “ซึ่งแต่ละครอบครัวในสวรรค์ก็ดี ที่แผ่นดินโลกก็ดีมีนามเนื่องด้วยพระองค์.”—เอเฟโซ 3:14, 15, ล.ม.
14, 15. จงยกตัวอย่างของบุตรที่ได้เอาใจใส่ดูแลบิดาของพวกเขาด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้า.
14 จงพิจารณาตัวอย่างหนึ่งที่น่าประทับใจจริง ๆ. เอลลิสและพี่น้องอีกห้าคนทั้งชายและหญิงเผชิญสิ่งท้าทายอันยากยิ่งในการดูแลบิดาที่บ้าน. เอลลิสอธิบายว่า “คุณพ่อล้มป่วยด้วยโรคอัมพาตในปี 1986 และตั้งแต่นั้นก็เลยเป็นอัมพาตทั้งตัว.” ลูกทั้งหกคนต่างก็มีส่วนช่วยดูแลบิดาของเขาตามความจำเป็น เริ่มตั้งแต่การอาบน้ำจนถึงการจับพลิกตัวให้นอนในท่าต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อท่านจะไม่มีอาการเจ็บหรือแผลตามร่างกายเนื่องจากนอนอยู่เป็นเวลานาน. “พวกเราอ่านหนังสือ, เล่นดนตรีให้คุณพ่อฟัง, คุยกับท่าน. เราไม่แน่ใจว่าท่านรับรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวท่านหรือไม่ แต่เราก็ปฏิบัติท่านเหมือนกับว่าท่านรู้เรื่องดีทุกอย่าง.”
15 ทำไมลูก ๆ พากันเอาใจใส่บิดาของเขาอย่างที่พวกเขากระทำ? เอลลิสพูดต่อไปว่า “หลังจากการตายของคุณแม่เมื่อปี 1964 คุณพ่อได้เลี้ยงดูพวกเราด้วยตนเอง. สมัยนั้น พวกเรามีอายุเรียงกันตั้งแต่ 5 ถึง 14 ขวบ. เวลานั้นคุณพ่ออยู่พร้อมให้การช่วยเหลือพวกเรา. เวลานี้พวกเราอยู่ที่นี่พร้อมจะช่วยท่าน.” เห็นได้ชัดว่า การดูแลเช่นนี้ไม่ง่าย และลูก ๆ ก็ท้อใจเป็นครั้งคราว. เอลลิสพูดว่า “แต่พวกเราตระหนักว่าสภาพของคุณพ่อเป็นปัญหาชั่วคราว. พวกเราคอยหาเวลาเมื่อคุณพ่อจะกลับมีสุขภาพแข็งแรงดี และพวกเราจะได้อยู่ด้วยกันกับคุณแม่อีก.” (ยะซายา 33:24; โยฮัน 5:28, 29) เป็นที่แน่นอนว่า การดูแลบิดาหรือมารดาด้วยความเสียสละเช่นนั้นต้องนำความปีติยินดีมาสู่พระองค์ผู้ทรงบัญชาบุตรทั้งหลายให้เกียรติบิดาและมารดาของตน!c—เอเฟโซ 6:1, 2.
ความเลื่อมใสในพระเจ้าและงานรับใช้
16. อะไรควรเป็นเหตุผลประการแรกสำหรับสิ่งที่เรากระทำในงานรับใช้?
16 เมื่อพวกเรารับคำเชิญของพระเยซูให้ ‘ติดตามพระองค์ต่อ ๆ ไป’ เราจึงได้รับมอบหมายจากพระองค์ที่จะประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรและทำให้คนเป็นสาวก. (มัดธาย 16:24; 24:14; 28:19, 20) เห็นได้ชัดว่า การมีส่วนในงานรับใช้นั้นเป็นหน้าที่ของคริสเตียนใน “สมัยสุดท้าย.” (2 ติโมเธียว 3:1) อย่างไรก็ตาม เจตคติของเราต่อการเผยแพร่และการสั่งสอนต้องกว้างไกลกว่าเพียงแต่คิดว่าเป็นหน้าที่หรือข้อผูกมัด. ความรักอันดื่มด่ำต่อพระยะโฮวาต้องเป็นเหตุผลประการแรกสำหรับสิ่งที่เราทำและปริมาณมากน้อยที่เราทำในงานรับใช้. พระเยซูตรัสดังนี้: “ใจเต็มบริบูรณ์ด้วยอะไรปากก็พูดอย่างนั้น.” (มัดธาย 12:34) ใช่แล้ว เมื่อหัวใจของเราเต็มเปี่ยมด้วยความรักต่อพระยะโฮวา เรารู้สึกอยากจะให้คำพยานแก่ผู้อื่นเกี่ยวด้วยพระองค์. เมื่อความรักต่อพระยะโฮวาเป็นเหตุจูงใจของเรา งานรับใช้ที่เรากระทำไปย่อมแสดงออกอย่างหนักแน่นซึ่งความเลื่อมใสในพระเจ้า.
17. เราอาจปลูกฝังเหตุจูงใจที่ถูกต้องเพื่อการรับใช้นั้นโดยวิธีใด?
17 เราจะปลูกฝังเหตุจูงใจอันถูกต้องต่องานรับใช้ได้อย่างไร? จงไตร่ตรองด้วยการหยั่งรู้ค่าถึงเหตุผลสามประการที่พระยะโฮวาทรงแจ้งแก่เรา เพื่อเราจะรักพระองค์. (1) เรารักพระยะโฮวาเนื่องด้วยสิ่งที่พระองค์ได้กระทำเพื่อพวกเราอยู่แล้ว. ไม่มีความรักใดยิ่งใหญ่กว่าที่พระองค์ได้ทรงจัดเตรียมค่าไถ่. (มัดธาย 20:28; โยฮัน 15:13) (2) เรารักพระยะโฮวาเนื่องด้วยสิ่งที่พระองค์กำลังกระทำเพื่อเราอยู่ในขณะนี้. เราทูลพระยะโฮวาอย่างสะดวกใจ พระองค์ทรงตอบคำอธิษฐานของเรา. (บทเพลงสรรเสริญ 65:2; เฮ็บราย 4:14-16) เมื่อเรายกเอาผลประโยชน์แห่งราชอาณาจักรเป็นอันดับแรก เรามีปัจจัยที่จำเป็นเพื่อยังชีพ. (มัดธาย 6:25-33) เราได้รับการเลี้ยงด้วยอาหารฝ่ายวิญญาณสม่ำเสมอ ซึ่งช่วยเราจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ที่เราเผชิญอยู่. (มัดธาย 24:45) และเรามีพระพรอันได้แก่การเป็นส่วนแห่งภราดรภาพคริสเตียนที่มีอยู่ทั่วโลก ซึ่งแยกเราออกจากส่วนของโลกนี้อย่างแท้จริง. (1 เปโตร 2:17) (3) เช่นกัน เรารักพระยะโฮวาเนื่องด้วยสิ่งซึ่งพระองค์จะกระทำเพื่อเราในวันข้างหน้า. เนื่องด้วยความรักของพระองค์ เราจึง “ยึดเอาชีวิตแท้ให้มั่น”—ชีวิตนิรันดรในอนาคต. (1 ติโมเธียว 6:12, 19, ล.ม.) เมื่อเราคำนึงถึงความรักที่พระยะโฮวาทรงสำแดงเพื่อประโยชน์ของเรา เป็นที่แน่นอนว่าหัวใจของเราจะกระตุ้นเราให้เข้าส่วนเต็มที่ในการบอกคนอื่นเกี่ยวกับพระองค์และพระประสงค์อันดีเลิศของพระองค์! ผู้อื่นคงไม่ต้องบอกเราทำอย่างนี้อย่างนั้นหรือต้องรับใช้มากแค่ไหนในงานรับใช้. หัวใจของเราจะกระตุ้นเราให้ทำสิ่งที่เราสามารถทำได้.
18, 19. พี่น้องหญิงคนหนึ่งสามารถเอาชนะอุปสรรคอะไรเพื่อเธอจะมีส่วนในงานรับใช้?
18 แม้ในขณะเผชิญกับสภาพการณ์ต่าง ๆ ที่ท้าทาย หัวใจซึ่งถูกกระตุ้นด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้าก็ย่อมถูกกระตุ้นจะพูด. (เทียบกับยิระมะยา 20:9.) เรื่องนี้เห็นได้จากกรณีของสเตลลา เธอเป็นแม่บ้านคริสเตียนที่ไม่กล้าเข้าหน้าคน. เมื่อเริ่มศึกษาพระคัมภีร์ เธอคิดว่า ‘ฉันคงไม่มีวันจะออกไปตามบ้านได้!’ เธอชี้แจงดังนี้: “ดิฉันเป็นคนไม่ช่างพูด. ไม่เคยเป็นฝ่ายเข้าหาคนอื่นเพื่อเริ่มการสนทนา.” ครั้นเธอได้ศึกษาต่อไปเรื่อย ๆ ความรักของเธอต่อพระยะโฮวายิ่งมากขึ้น และเธอจึงได้พัฒนาความปรารถนาอันแรงกล้านั้นเพื่อบอกคนอื่นเกี่ยวกับพระองค์. “ดิฉันจำได้ว่าเคยพูดกับครูสอนพระคัมภีร์ว่า ‘ดิฉันอยากพูดเหลือเกิน แต่ไม่กล้า และเรื่องนี้ทำให้ดิฉันไม่สบายใจจริง ๆ.’ ดิฉันจะไม่มีวันลืมสิ่งที่เธอบอกดิฉัน: ‘สเตลลา, จงขอบคุณพระเจ้าที่คุณต้องการจะพูด.’”
19 ไม่นานหลังจากนั้น สเตลลาให้คำพยานแก่ผู้หญิงที่อยู่บ้านถัดไป. แล้วเธอได้ก้าวต่อไปอีกขั้นหนึ่งซึ่งนับว่าเป็นก้าวใหญ่สำหรับเธอ—เธอเข้าส่วนในงานประกาศตามบ้านเป็นครั้งแรก. (กิจการ 20:20, 21) เธอเล่าว่า “ดิฉันจดคำพูดสำหรับใช้ในการเสนอ. ถึงแม้กระดาษที่จดคำพูดอยู่ตรงหน้า ดิฉันก็ไม่วายประหม่า. ดิฉันตื่นเต้นเกินไปที่จะดูสิ่งที่จดไว้!” เดี๋ยวนี้ สามสิบห้าปีผ่านไปแล้ว สเตลลายังเป็นคนขี้อายตามนิสัย. ทว่า เธอรักงานเผยแพร่ตามบ้านและยังคงมีส่วนร่วมในงานนี้มิได้ขาด.
20. ตัวอย่างอะไรชี้ให้เห็นว่าแม้แต่การข่มเหงหรือการติดคุกก็ไม่อาจปิดปากพยานพระยะโฮวาที่เลื่อมใสในพระเจ้าเสียได้?
20 แม้การข่มเหงหรือการถูกจำคุกก็ไม่อาจปิดปากพยานผู้เลื่อมใสของพระยะโฮวา. ให้เราพิจารณากรณีของเอิร์นส์ และฮิลเดการ์ต เซลิเกอร์ที่ประเทศเยอรมนี. เนื่องด้วยความเชื่อของคนทั้งสองนี้ เมื่อนับรวมเวลาที่คนทั้งสองอยู่ในค่ายกักกันนาซีและในคุกคอมมิวนิสต์ก็นานกว่าสี่สิบปี. กระทั่งในคุก เขาก็ไม่ลดละการให้คำพยานแก่นักโทษคนอื่น ๆ. ฮิลเดการ์ตเล่าว่า “เจ้าหน้าที่ในเรือนจำจัดแยกดิฉันโดยเฉพาะว่าเป็นนักโทษอันตราย ดังที่ผู้คุมหญิงคนหนึ่งหาว่า ดิฉันพูดเรื่องคัมภีร์ไบเบิลตลอดวัน. ฉะนั้น เขาขังดิฉันไว้ในห้องใต้ดิน.” ในที่สุด เมื่อพวกเขาได้รับอิสรภาพแล้ว บราเดอร์กับซิสเตอร์เซลิเกอร์ก็ได้อุทิศเวลาทั้งหมดทำการรับใช้ฝ่ายคริสเตียน. บุคคลทั้งสองได้รับใช้ด้วยความซื่อสัตย์กระทั่งสิ้นชีวิต บราเดอร์เซลิเกอร์ตายเมื่อปี 1985 ส่วนภรรยาของเขาเมื่อปี 1992.
21. ที่จะเพิ่มความอดทนของเราด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้านั้นเราต้องทำประการใด?
21 โดยการศึกษาพระวจนะของพระเจ้าอย่างขยันขันแข็ง และด้วยการใช้เวลาคิดรำพึงสิ่งที่เราได้เรียนมาอย่างสำนึกในคุณค่า เราจะเจริญเติบโตในความรู้ถ่องแท้เกี่ยวพระเจ้ายะโฮวาและพระเยซูคริสต์. ทั้งนี้จะยังผลให้เราได้มาซึ่งคุณลักษณะที่มีค่าอย่างเต็มขนาด—คือความเลื่อมใสในพระเจ้า. หากปราศจากความเลื่อมใสในพระเจ้าแล้วก็ย่อมไม่มีทางที่เราจะอดทนความยากลำบากต่าง ๆ ที่มาถึงเราในฐานะเป็นคริสเตียนได้. ดังนั้น ให้เราปฏิบัติตามคำแนะนำของอัครสาวกเปโตร ที่จะ ‘เพิ่มความเชื่อของเราด้วยความอดทน และเพิ่มความอดทนด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้า.’ ต่อ ๆ ไป.—2 เปโตร 1:5, 6, ล.ม.
[เชิงอรรถ]
a วิลเลียม บาร์กเลย์ ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับคำ อ็อยเซʹเบเอีย ว่า “เซบ เป็นรากศัพท์ซึ่งหมายถึงความเคารพยำเกรง หรือการนมัสการ. อ็อย เป็นคำกรีกที่มีความหมายว่าสมควร; ดังนั้น อ็อยเซʹเบเอีย คือการนมัสการ, ความเคารพยำเกรงที่ถวายอย่างสมควรและถูกต้อง.”—คำศัพท์พระคริสต์ธรรมคัมภีร์พันธสัญญาใหม่
b สำหรับการพิจารณาวิธีที่เราจะศึกษาเพื่อทวีความรู้เกี่ยวกับพระวจนะของพระเจ้าให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น โปรดอ่านวารสารหอสังเกตการณ์ วันที่ 15 สิงหาคม 1993 หน้า 12-17.
c สำหรับการพิจารณาอย่างละเอียดเกี่ยวกับวิธีจะปฏิบัติบิดามารดาที่ชราด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้า ดูวารสารหอสังเกตการณ์ ฉบับวันที่ 1 มิถุนายน 1987 หน้า 16-21.
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ ความเลื่อมใสในพระเจ้าคืออะไร?
▫ มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไรระหว่างความอดทนและความเลื่อมใสในพระเจ้า?
▫ อะไรคือหลักสำคัญเพื่อจะได้มาซึ่งความเลื่อมใสในพระเจ้า?
▫ คริสเตียนจะปฏิบัติด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้าที่บ้านโดยวิธีใด?
▫ อะไรต้องเป็นเหตุผลประการแรกสำหรับสิ่งที่เรากระทำในงานรับใช้?
[รูปภาพหน้า 18]
พยานพระยะโฮวาที่ถูกคุมขังในค่ายกักกันของนาซีที่ราเฟนส์บรึก สำแดงความอดทนและความเลื่อมใสในพระเจ้า