-
การเตรียมคำบรรยายสาธารณะการรับประโยชน์จากโรงเรียนการรับใช้ตามระบอบของพระเจ้า
-
-
การเตรียมคำบรรยายสาธารณะ
แต่ละสัปดาห์ ประชาคมของพยานพระยะโฮวาส่วนใหญ่จัดให้มีคำบรรยายสาธารณะที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับพระคัมภีร์. หากคุณเป็นผู้ปกครองหรือผู้ช่วยงานรับใช้ คุณให้หลักฐานไหมว่าคุณเป็นผู้บรรยายสาธารณะและเป็นผู้สอนที่มีประสิทธิภาพ? ถ้าใช่ คุณอาจได้รับเชิญให้บรรยายสาธารณะ. โรงเรียนการรับใช้ตามระบอบของพระเจ้าช่วยพี่น้องชายหลายแสนคนให้มีคุณวุฒิสำหรับสิทธิพิเศษแห่งงานรับใช้นี้. เมื่อได้รับมอบหมายให้บรรยายสาธารณะ คุณควรเริ่มจากตรงไหน?
จงศึกษาโครงเรื่อง
ก่อนจะทำการค้นคว้าใด ๆ จงอ่านโครงเรื่องและไตร่ตรองเรื่องนั้นจนกว่าคุณจะเข้าใจความหมายของเรื่อง. จดจำอรรถบทไว้ ซึ่งก็คือหัวเรื่องของคำบรรยายนั่นเอง. คุณจะสอนอะไรแก่ผู้ฟัง? เป้าหมายของคุณคืออะไร?
จงทำความคุ้นเคยกับหัวข้อหลักต่าง ๆ. จงวิเคราะห์จุดสำคัญเหล่านั้น. แต่ละจุดเชื่อมโยงเข้ากับอรรถบทอย่างไร? ภายใต้จุดสำคัญแต่ละจุดก็จะมีจุดย่อยต่าง ๆ. ใต้จุดย่อยเหล่านี้ก็จะมีจุดที่สนับสนุนจุดย่อยนั้น ๆ. จงพิจารณาว่าแต่ละส่วนของโครงเรื่องดำเนินเรื่องต่อจากจุดก่อน, นำไปสู่จุดถัดไป, และช่วยให้บรรลุเป้าหมายของคำบรรยายอย่างไร. เมื่อคุณเข้าใจอรรถบท, เป้าหมายของคำบรรยาย, และวิธีที่จุดสำคัญต่าง ๆ ทำให้เป้าหมายนั้นบรรลุผลแล้ว คุณก็พร้อมจะเริ่มเตรียมคำบรรยาย.
ทีแรก คุณอาจพบว่าเป็นประโยชน์ที่จะคิดว่าคำบรรยายของคุณเป็นคำบรรยายสั้น ๆ สี่หรือห้าเรื่อง แต่ละเรื่องมีจุดสำคัญหนึ่งจุด. จงเตรียมคำบรรยายสั้น ๆ เหล่านั้นทีละเรื่อง.
โครงเรื่องที่จัดเตรียมไว้ให้เป็นเครื่องช่วยในการเตรียม. โครงเรื่องจึงไม่ใช่บันทึกที่คุณจะใช้พูดในการบรรยาย. โครงเรื่องก็เป็นเหมือนโครงกระดูก. คุณจะต้องเติมเนื้อเติมหนัง, ใส่หัวใจและให้ลมหายใจเข้าไป.
การใช้พระคัมภีร์
พระเยซูคริสต์และเหล่าสาวกของพระองค์ใช้พระคัมภีร์เป็นพื้นฐานในการสอน. (ลูกา 4:16-21; 24:27; กิจ. 17:2, 3) คุณสามารถทำเช่นเดียวกันได้. พระคัมภีร์ควรเป็นพื้นฐานในคำบรรยายของคุณ. แทนที่จะเพียงแต่อธิบายและใช้ข้อความที่อยู่ในโครงเรื่องนั้น จงสังเกตว่าข้อคัมภีร์ต่าง ๆ สนับสนุนข้อความเหล่านั้นอย่างไร และจากนั้นจึงสอนโดยใช้พระคัมภีร์.
ขณะที่คุณเตรียมคำบรรยาย จงตรวจดูข้อคัมภีร์แต่ละข้อที่อยู่ในโครงเรื่อง. จงสังเกตบริบทของข้อคัมภีร์นั้น. ข้อคัมภีร์บางข้ออาจให้แค่ข้อมูลภูมิหลังที่เป็นประโยชน์. ไม่จำเป็นต้องอ่านหรืออ้างข้อคัมภีร์ทุกข้อในระหว่างที่บรรยาย. จงเลือกข้อที่ดีที่สุดสำหรับผู้ฟัง. หากคุณมุ่งสนใจไปยังข้อคัมภีร์ต่าง ๆ ที่อยู่ในโครงเรื่อง คุณอาจไม่จำเป็นต้องใช้ข้อคัมภีร์อื่น ๆ เพื่ออ้างอิงเพิ่มเติม.
การที่คำบรรยายของคุณจะบังเกิดผลนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนข้อคัมภีร์ที่ใช้ แต่ขึ้นอยู่กับคุณภาพของการสอน. เมื่อยกข้อคัมภีร์ขึ้นมา จงแสดงให้เห็นว่าทำไมจึงใช้ข้อนั้น. จงใช้เวลาเพื่ออธิบายข้อคัมภีร์นั้น. หลังจากอ่านข้อคัมภีร์ จงเปิดพระคัมภีร์ค้างไว้ขณะที่อธิบายข้อนั้น. ผู้ฟังก็คงจะทำเช่นเดียวกัน. คุณจะเร้าความสนใจของผู้ฟังและช่วยเขาให้ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ยิ่งขึ้นจากพระคำของพระเจ้าได้อย่างไร? (นเฮม. 8:8, 12) คุณทำได้โดยการอธิบาย, การใช้ตัวอย่างเปรียบเทียบ, และแนะวิธีนำความรู้นั้นไปใช้.
การอธิบาย. เมื่อเตรียมจะอธิบายข้อคัมภีร์หลัก จงถามตัวเองดังนี้: ‘ข้อคัมภีร์นี้มีความหมายอย่างไร? เหตุใดผมจึงใช้ข้อนี้ในคำบรรยาย? ผู้ฟังอาจถามตัวเองอย่างไรเกี่ยวกับข้อคัมภีร์นี้?’ คุณอาจต้องวิเคราะห์บริบท, ภูมิหลัง, ฉากเหตุการณ์, พลังที่ดึงดูดใจของถ้อยคำต่าง ๆ, รวมทั้งจุดประสงค์ของผู้เขียนซึ่งได้รับการดลใจ. เพื่อจะทำเช่นนั้น คุณต้องค้นคว้า. คุณจะพบข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากมายจากสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ที่จัดเตรียมโดย “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม.” (มัด. 24:45-47, ล.ม.) อย่าพยายามอธิบายทุกแง่ของข้อคัมภีร์นั้น แต่จงอธิบายถึงเหตุผลที่คุณให้ผู้ฟังอ่านข้อนั้นซึ่งเกี่ยวข้องกับจุดที่มีการพิจารณา.
การใช้ตัวอย่างเปรียบเทียบ. จุดประสงค์ของการใช้ตัวอย่างเปรียบเทียบคือ เพื่อช่วยผู้ฟังให้เข้าใจลึกซึ้งยิ่งขึ้นหรือช่วยพวกเขาให้จำจุดสำคัญหรือหลักการที่คุณได้พิจารณา. การใช้ตัวอย่างเปรียบเทียบช่วยผู้คนให้เข้าใจเรื่องที่คุณบอกเขาและเชื่อมโยงเรื่องนั้นเข้ากับบางสิ่งที่เขารู้อยู่แล้ว. พระเยซูทรงทำเช่นนี้เมื่อพระองค์ให้คำเทศน์บนภูเขาอันลือชื่อ. “ฝูงนกในอากาศ,” “ดอกไม้ที่ทุ่งนา,” “ประตูคับแคบ,” ‘เรือนบนศิลา,’ และอีกหลายถ้อยคำทำนองนี้ที่ทำให้การสอนของพระองค์มีพลัง, ชัดเจน, และยากจะลืมเลือน.—มัด. บท 5-7.
วิธีนำความรู้ไปใช้. การอธิบายข้อคัมภีร์และการใช้ตัวอย่างเปรียบเทียบเป็นการให้ความรู้ แต่การนำความรู้นั้นไปใช้ต่างหากที่ทำให้เกิดประโยชน์. จริงอยู่ เป็นหน้าที่ของผู้ฟังที่จะปฏิบัติตามความรู้ในคัมภีร์ไบเบิล แต่คุณสามารถช่วยพวกเขาให้เห็นว่าอะไรเป็นสิ่งที่ต้องทำ. เมื่อคุณแน่ใจแล้วว่าผู้ฟังเข้าใจข้อคัมภีร์ที่มีการพิจารณา และเขาเห็นความเกี่ยวข้องกันของข้อคัมภีร์กับจุดสำคัญที่ยกขึ้นมา จงใช้เวลาเพื่อแสดงให้พวกเขาเห็นว่าเรื่องนั้นมีผลกระทบต่อความเชื่อและความประพฤติ. จงเน้นประโยชน์ของการละทิ้งความคิดผิด ๆ หรือความประพฤติที่ไม่ถูกต้องซึ่งไม่สอดคล้องกับความจริงที่มีการพิจารณา.
ขณะที่คุณไตร่ตรองเกี่ยวกับวิธีนำข้อคัมภีร์ไปใช้ จงจำไว้ว่าผู้ฟังมาจากหลายภูมิหลังและเผชิญสภาพการณ์ที่แตกต่างกัน. ณ การประชุมอาจมีคนสนใจใหม่ ๆ, เยาวชน, คนสูงอายุ, และผู้ที่กำลังต่อสู้กับปัญหาส่วนตัวในรูปแบบต่าง ๆ. จงทำให้คำบรรยายของคุณสามารถนำไปใช้ได้จริงและตรงกับความเป็นจริง. จงหลีกเลี่ยงการให้คำแนะนำที่ดูราวกับว่าคุณคิดถึงแค่สองสามคน.
การตัดสินใจเลือกของผู้บรรยาย
มีการกำหนดบางอย่างไว้แล้วเกี่ยวกับบทบรรยาย. มีการแสดงให้เห็นจุดสำคัญต่าง ๆ อย่างชัดเจน และมีการบอกเวลาที่คุณควรจะใช้ในแต่ละหัวข้อหลักอย่างชัดเจนด้วย. ส่วนในเรื่องอื่น คุณต้องตัดสินใจเอง. คุณอาจเลือกใช้เวลากับจุดย่อยบางจุดมากขึ้นและใช้เวลากับจุดย่อยอื่น ๆ น้อยกว่า. อย่าคิดว่าคุณจะต้องครอบคลุมจุดย่อยทุกจุดโดยถือว่ามีความสำคัญเท่ากันหมด. การทำเช่นนั้นอาจเป็นเหตุให้คุณต้องบรรยายอย่างเร่งรีบตลอดเรื่องและผู้ฟังจะไม่ค่อยได้รับประโยชน์. คุณจะตัดสินใจได้อย่างไรว่าจุดไหนควรจะขยายให้มากขึ้นและจุดไหนเพียงแต่กล่าวสั้น ๆ หรือกล่าวอย่างผ่าน ๆ? จงถามตัวเองดังนี้: ‘จุดไหนที่จะช่วยผมให้ถ่ายทอดแนวคิดหลักของคำบรรยายออกมา? จุดไหนที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ฟังมากที่สุด? การไม่ยกข้อคัมภีร์บางข้อที่อ้างถึงและจุดที่เกี่ยวข้องด้วยจะทำให้หลักฐานที่เสนอนั้นอ่อนลงไปไหม?’
จงหลีกเลี่ยงการใส่สิ่งที่คาดเดาหรือความเห็นส่วนตัวลงไป. แม้แต่พระบุตรของพระเจ้า พระเยซูคริสต์ ก็ยังทรงหลีกเลี่ยงการกล่าว ‘จากตัวพระองค์เอง.’ (โย. 14:10, ล.ม.) จงตระหนักว่าผู้คนเข้ามายังการประชุมของพยานพระยะโฮวาก็เพื่อฟังการพิจารณาคัมภีร์ไบเบิล. หากคุณได้ชื่อว่าเป็นผู้บรรยายที่ดี ก็น่าจะเป็นเพราะคุณไม่นำความสนใจมาสู่ตัวเอง แต่นำความสนใจไปสู่พระคำของพระเจ้า. เมื่อทำเช่นนี้ คำบรรยายของคุณจะเป็นที่หยั่งรู้ค่า.—ฟิลิป. 1:10, 11.
เมื่อคุณได้ทำให้โครงเรื่องที่มีเพียงแต่รายการหัวข้อสำคัญ ๆ นั้นเต็มไปด้วยคำอธิบายจากข้อคัมภีร์แล้ว บัดนี้คุณจำต้องซ้อมการบรรยาย. เป็นประโยชน์ที่จะซ้อมโดยพูดออกเสียง. สิ่งสำคัญคือทำให้แน่ใจว่าคุณจำทุกจุดได้เป็นอย่างดี. คุณต้องสามารถบรรยายด้วยความมั่นใจ, ทำให้การบรรยายมีชีวิตชีวา, และเสนอความจริงอย่างกระตือรือร้น. ก่อนที่คุณจะบรรยาย จงถามตัวเองดังนี้: ‘ผมหวังจะบรรลุผลอะไร? จุดสำคัญเด่นขึ้นไหม? ผมทำให้พระคัมภีร์เป็นพื้นฐานของคำบรรยายจริง ๆ ไหม? จุดสำคัญแต่ละจุดนำไปสู่จุดถัดไปอย่างราบรื่นไหม? คำบรรยายนี้เสริมสร้างความหยั่งรู้ค่าต่อพระยะโฮวาและการจัดเตรียมของพระองค์ไหม? คำลงท้ายเกี่ยวข้องโดยตรงกับอรรถบท, บอกให้ผู้ฟังทราบถึงสิ่งที่ต้องทำ, และกระตุ้นผู้ฟังให้ลงมือปฏิบัติไหม?’ หากคุณตอบคำถามเหล่านี้ได้ว่า ใช่ คุณก็ย่อมอยู่ในฐานะที่จะ “กล่าวความรู้ที่ถูกต้อง” เพื่อประโยชน์ของประชาคมและเพื่อสรรเสริญพระยะโฮวา!—สุภา. 15:2.
-
-
จงพัฒนาความสามารถในการเป็นผู้สอนการรับประโยชน์จากโรงเรียนการรับใช้ตามระบอบของพระเจ้า
-
-
จงพัฒนาความสามารถในการเป็นผู้สอน
ฐานะเป็นผู้สอน เป้าหมายของคุณคืออะไร? หากคุณเพิ่งเป็นผู้ประกาศราชอาณาจักรได้ไม่นาน และเนื่องจากทราบว่าพระเยซูทรงมอบหมายให้ผู้ติดตามพระองค์มีหน้าที่ทำให้คนเป็นสาวก จึงไม่มีข้อสงสัยเลยว่าคุณคงมีความปรารถนาจะเรียนรู้วิธีนำการศึกษาพระคัมภีร์ตามบ้าน. (มัด. 28:19, 20) หากคุณมีประสบการณ์ในกิจกรรมนี้อยู่แล้ว บางทีเป้าหมายของคุณคือเพื่อจะเพิ่มประสิทธิภาพให้มากขึ้นในการเข้าถึงหัวใจของผู้ที่คุณพยายามช่วยเขา. หากคุณเป็นบิดาหรือมารดา แน่นอนคุณคงต้องการจะเป็นผู้สอนที่สามารถกระตุ้นบุตรให้อุทิศชีวิตของตนแด่พระเจ้า. (3 โย. 4) หากคุณเป็นผู้ปกครองหรือกำลังเอื้อมแขนเป็นผู้ปกครอง บางทีคุณคงต้องการจะเป็นผู้บรรยายสาธารณะที่สามารถเสริมสร้างผู้ฟังให้มีความหยั่งรู้ค่าลึกซึ้งยิ่งขึ้นต่อพระยะโฮวาและวิถีทางของพระองค์. คุณจะบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ได้อย่างไร?
จงเรียนจากพระเยซูคริสต์ ครูผู้ใหญ่ยิ่ง. (ลูกา 6:40) ไม่ว่าพระเยซูตรัสกับฝูงชนบนเชิงเขาหรือตรัสกับแค่ไม่กี่คนขณะเดินไปตามทาง วิธีตรัสและสิ่งที่พระองค์ตรัสก่อให้เกิดความประทับใจไม่รู้ลืม. พระเยซูทรงกระตุ้นจิตใจและหัวใจของผู้ฟัง และพระองค์ทรงบอกวิธีที่จะนำเรื่องนั้นไปใช้อย่างที่พวกเขาเข้าใจได้. คุณจะประสบผลสำเร็จคล้าย ๆ กันนี้ได้ไหม?
จงหมายพึ่งพระยะโฮวา
ความสามารถในการสอนของพระเยซูได้รับการเสริมทั้งจากสัมพันธภาพอันใกล้ชิดที่พระองค์ทรงมีกับพระบิดาฝ่ายสวรรค์และจากการสนับสนุนของพระวิญญาณของพระเจ้า. คุณอธิษฐานอย่างจริงจังขอพระยะโฮวาช่วยคุณให้สามารถนำการศึกษาพระคัมภีร์ตามบ้านอย่างบังเกิดผลไหม? หากคุณเป็นบิดาหรือมารดา คุณอธิษฐานเป็นประจำเพื่อขอการชี้นำจากพระเจ้าในการสอนบุตรของคุณไหม? คุณกล่าวคำอธิษฐานจากหัวใจขณะเตรียมคำบรรยายหรือเตรียมนำการประชุมไหม? การหมายพึ่งพระยะโฮวาอย่างแท้จริงเช่นนั้นจะช่วยคุณให้เป็นผู้สอนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น.
การหมายพึ่งพระยะโฮวายังปรากฏให้เห็นโดยการวางใจพระคำของพระองค์ คือคัมภีร์ไบเบิลด้วย. ในคำอธิษฐานคืนสุดท้ายของชีวิตพระเยซูฐานะมนุษย์สมบูรณ์ พระองค์ตรัสกับพระบิดาดังนี้: “ข้าพเจ้าได้ให้คำของพระองค์แก่เขาแล้ว.” (โย. 17:14) ถึงแม้พระเยซูทรงมีประสบการณ์มากมาย แต่พระองค์ไม่เคยตรัสสิ่งที่เป็นความคิดริเริ่มของพระองค์เอง. พระองค์ตรัสสิ่งที่พระบิดาทรงสอนพระองค์เสมอ โดยวิธีนี้ พระองค์ทรงให้แบบอย่างเพื่อเราจะติดตาม. (โย. 12:49, 50) พระคำของพระเจ้าซึ่งอยู่ในคัมภีร์ไบเบิลมีพลังชักจูงผู้คน คือการกระทำ, ความคิดส่วนลึกที่สุด, และความรู้สึกของพวกเขา. (เฮ็บ. 4:12) ขณะที่คุณเติบโตในความรู้แห่งพระคำของพระเจ้าและเรียนรู้ที่จะใช้ความรู้นั้นอย่างเต็มที่ในงานรับใช้ คุณจะพัฒนาความสามารถในการสอนแบบที่ชักนำผู้คนให้เข้ามาหาพระเจ้า.—2 ติโม. 3:16, 17.
จงถวายเกียรติแด่พระยะโฮวา
การเป็นผู้สอนที่เลียนแบบพระคริสต์ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของการมีความสามารถในการให้คำบรรยายที่น่าสนใจเท่านั้น. จริงอยู่ ประชาชนประหลาดใจใน “ถ้อยคำอันประกอบด้วยคุณ” ของพระเยซู. (ลูกา 4:22) แต่เป้าหมายของพระเยซูในการสอนอย่างน่าจับใจนั้นคืออะไร? ก็เพื่อถวายเกียรติแด่พระยะโฮวา ไม่ใช่เพื่อชักนำความสนใจมาสู่ตัวพระองค์เอง. (โย. 7:16-18) และพระองค์ทรงกระตุ้นเหล่าสาวกของพระองค์ดังนี้: “ให้ความสว่างของท่านส่องไปต่อหน้าคนทั้งปวงอย่างนั้น, เพื่อเขาจะได้เห็นการดีของท่าน, แล้วจะได้สรรเสริญพระบิดาของท่าน ผู้อยู่ในสวรรค์.” (มัด. 5:16) คำแนะนำนี้ควรมีอิทธิพลต่อวิธีที่เราสอน. เราควรตั้งเป้าจะหลีกเลี่ยงสิ่งใด ๆ ที่จะทำให้เขวไปจากเป้าหมายนั้น. ดังนั้น เมื่อกำลังคิดวิธีหรือเรื่องที่เราจะพูด เราควรถามตัวเองว่า ‘การพูดเช่นนั้นจะเสริมความหยั่งรู้ค่าต่อพระยะโฮวาให้ลึกซึ้งขึ้นไหม หรือจะนำความสนใจมาสู่ตัวฉันเอง?’
อาทิเช่น ตัวอย่างเปรียบเทียบและตัวอย่างจากชีวิตจริงสามารถนำมาใช้ได้อย่างบังเกิดผลในการสอน. อย่างไรก็ตาม เมื่อยกตัวอย่างเปรียบเทียบอย่างยืดยาวหรือเล่าประสบการณ์ที่มีรายละเอียดมากเกินไป จุดสำคัญของการสอนอาจสูญเสียไป. คล้ายคลึงกัน การเล่าเรื่องเพียงเพื่อให้สนุกสนานย่อมทำให้เขวไปจากจุดมุ่งหมายในการสอนของเรา. ที่แท้แล้ว ผู้สอนคนนั้นกำลังนำความสนใจมาสู่ตัวเขาเอง แทนที่จะบรรลุเป้าหมายที่แท้จริงของการสอนตามระบอบของพระเจ้า.
จง ‘สังเกตความแตกต่าง’
เพื่อคนหนึ่งจะเข้ามาเป็นสาวกจริง ๆ เขาต้องเข้าใจเรื่องที่เรียนอย่างชัดเจน. เขาต้องได้ยินความจริงและต้องได้เห็นว่าความจริงนั้นต่างจากความเชื่ออื่น ๆ อย่างไร. การเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างช่วยให้บรรลุเป้าหมายนี้.
พระยะโฮวาทรงกระตุ้นไพร่พลของพระองค์ซ้ำแล้วซ้ำอีกให้ ‘สังเกตความแตกต่าง’ ระหว่างของสะอาดและไม่สะอาด. (เลวี. 10:9-11) พระองค์ตรัสว่าผู้ที่จะรับใช้ในวิหารฝ่ายวิญญาณอันยิ่งใหญ่ของพระองค์จะสอนประชาชน “ถึงความแตกต่างระหว่างของบริสุทธิ์และของสาธารณ์.” (ยเอศ. 44:23, ฉบับแปลใหม่) พระธรรมสุภาษิตเต็มไปด้วยการเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างระหว่างความชอบธรรมและความชั่ว, ระหว่างสติปัญญาและความโง่เขลา. แม้แต่สองสิ่งที่ไม่ตรงข้ามกันก็ยังสามารถทำให้เห็นว่าแตกต่างกันได้. อัครสาวกเปาโลเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างระหว่างคนชอบธรรมและคนดี ดังที่บันทึกในพระธรรมโรม 5:7. ในพระธรรมเฮ็บราย ท่านได้แสดงให้เห็นว่างานรับใช้ของพระคริสต์ฐานะมหาปุโรหิตเหนือกว่างานรับใช้ของอาโรน. โยฮันน์ อามอส โกเมเนียส อาจารย์ซึ่งอยู่ในศตวรรษที่ 17 เขียนได้อย่างถูกต้องทีเดียวที่ว่า “การสอนหมายถึงการแสดงให้เห็นวิธีที่สิ่งต่าง ๆ แตกต่างจากอีกสิ่งหนึ่งในด้านวัตถุประสงค์, รูปแบบ, และที่มา. . . . ดังนั้น ผู้ที่อธิบายความแตกต่างระหว่างสิ่งต่าง ๆ ได้ดีก็เป็นผู้สอนที่ดี.”
ขอยกเรื่องการสอนใครสักคนหนึ่งเกี่ยวกับราชอาณาจักรของพระเจ้ามาเป็นตัวอย่าง. ถ้าเขาไม่เข้าใจว่าราชอาณาจักรคืออะไร คุณอาจแสดงให้เขาเห็นว่าสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลกล่าวนั้นแตกต่างกันอย่างไรกับความคิดที่ว่าราชอาณาจักรเป็นเพียงสภาพที่อยู่ในหัวใจของผู้คน. หรือคุณอาจแสดงให้เห็นว่าราชอาณาจักรของพระเจ้าต่างจากรัฐบาลของมนุษย์อย่างไร. กระนั้น สำหรับผู้ที่ทราบความจริงพื้นฐานเหล่านี้ คุณอาจต้องเข้าไปในรายละเอียดที่มากกว่า. คุณอาจแสดงให้พวกเขาเห็นว่าราชอาณาจักรมาซีฮาต่างจากฐานะกษัตริย์แห่งเอกภพของพระยะโฮวาดังที่กล่าวในบทเพลงสรรเสริญ 103:19, หรือต่างจาก ‘ราชอาณาจักรแห่งพระบุตรที่รักของพระเจ้า’ ที่อ้างถึงในโกโลซาย 1:13 (ล.ม.), หรือต่างจาก “การบริหารงาน” ที่กล่าวในเอเฟโซ 1:10 (ล.ม.) อย่างไร. การใช้วิธีเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างสามารถช่วยผู้ฟังเพ่งความสนใจไปยังหลักคำสอนที่สำคัญนี้ของคัมภีร์ไบเบิล.
พระเยซูทรงใช้วิธีการสอนแบบนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า. พระองค์ทรงเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างระหว่างความเข้าใจทั่วไปเกี่ยวกับพระบัญญัติของโมเซกับจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของพระบัญญัติ. (มัด. 5:21-48) พระองค์ทรงชี้ให้เห็นว่าความเลื่อมใสในพระเจ้าอย่างแท้จริงต่างจากการกระทำที่หน้าซื่อใจคดของพวกฟาริซาย. (มัด. 6:1-18) พระองค์ทรงเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างระหว่างน้ำใจของผู้ที่ “กดขี่บังคับบัญชา” คนอื่นกับน้ำใจเสียสละที่เหล่าสาวกของพระองค์จะสำแดงออกมา. (มัด. 20:25-28) ในอีกโอกาสหนึ่ง ดังบันทึกที่มัดธาย 21:28-32 พระเยซูทรงเชิญผู้ฟังให้เปรียบเทียบความแตกต่างด้วยตัวเขาเองระหว่างการถือว่าตัวเองชอบธรรมและการกลับใจที่แท้จริง. นี่นำเราไปสู่อีกลักษณะหนึ่งที่มีค่าของการสอนที่ดี.
จงสนับสนุนผู้ฟังให้คิด
ที่มัดธาย 21:28 เราอ่านว่าพระเยซูทรงเริ่มคำอุปมาโดยถามดังนี้: “ท่านทั้งหลายคิดเห็นอย่างไร?” ผู้สอนที่มีความสามารถไม่เพียงแต่บอกข้อเท็จจริงหรือให้คำตอบเท่านั้น. แทนที่จะทำเช่นนั้น เขาสนับสนุนผู้ฟังให้ปลูกฝังความสามารถในการคิด. (สุภา. 3:21; โรม 12:1) ส่วนหนึ่งที่จะทำเช่นนี้ได้คือโดยการตั้งคำถาม. ดังที่พบในมัดธาย 17:25 พระเยซูทรงถามดังนี้: “ซีโมนเอ๋ย, ท่านเห็นอย่างไร? กษัตริย์เคยเก็บส่วยและภาษีจากผู้ใด, จากโอรสหรือจากผู้อื่น?” คำถามของพระเยซูที่กระตุ้นความคิดช่วยเปโตรให้ได้ข้อสรุปที่ถูกต้องด้วยตนเองเกี่ยวกับการเสียภาษีพระวิหาร. คล้ายคลึงกัน เมื่อทรงตอบชายที่ถามว่า “ใครเป็นเพื่อนบ้านของข้าพเจ้า?” พระเยซูทรงเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างระหว่างการกระทำของปุโรหิตและชาวเลวีกับการกระทำของชาวซะมาเรีย. จากนั้นพระองค์ทรงตั้งคำถามนี้: “ในสามคนนั้นท่านคิดเห็นว่าคนไหนเป็นเพื่อนบ้านของคนที่ถูกปล้น?” (ลูกา 10:29-36) อีกครั้งหนึ่ง แทนที่จะคิดแทนผู้ฟัง พระเยซูทรงเชิญเขาให้ตอบคำถามด้วยตัวเขาเอง.—ลูกา 7:41-43.
จงเข้าถึงหัวใจ
ผู้สอนที่เข้าใจความหมายแห่งพระคำของพระเจ้าตระหนักว่าการนมัสการแท้ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของการจดจำข้อเท็จจริงบางอย่างและปฏิบัติตามกฎบางอย่างเท่านั้น. การนมัสการแท้ตั้งอยู่บนสัมพันธภาพที่ดีกับพระยะโฮวาและความหยั่งรู้ค่าต่อวิถีทางของพระองค์. การนมัสการเช่นนั้นเกี่ยวข้องกับหัวใจ. (บัญ. 10:12, 13; ลูกา 10:25-27) ในพระคัมภีร์ คำ “หัวใจ” บ่อยครั้งพาดพิงถึงบุคคลภายในทั้งสิ้น ซึ่งรวมถึงสิ่งต่าง ๆ เช่น ความปรารถนา, ความรักใคร่, ความรู้สึก, และแรงกระตุ้น.
พระเยซูทรงทราบว่า ขณะที่มนุษย์มองดูสิ่งที่ปรากฏภายนอก แต่พระเจ้าทรงมองดูว่าหัวใจเป็นเช่นไร. (1 ซามู. 16:7) เราควรรับใช้พระเจ้าโดยมีแรงกระตุ้นจากความรักที่เรามีต่อพระองค์ ไม่ใช่เพื่อพยายามให้เพื่อนมนุษย์ประทับใจ. (มัด. 6:5-8) ในทางตรงกันข้าม พวกฟาริซายทำหลายสิ่งเพื่อให้ปรากฏแต่เพียงภายนอก. พวกเขาเน้นอย่างมากต่อการปฏิบัติในรายละเอียดต่าง ๆ ของพระบัญญัติ และทำตามกฎที่พวกเขาตั้งขึ้นมาเอง. แต่พวกเขาไม่ได้สำแดงคุณลักษณะในชีวิตที่จะพิสูจน์ว่าพวกเขาอยู่ฝ่ายพระเจ้าที่พวกเขาอ้างว่านมัสการ. (มัด. 9:13; ลูกา 11:42) พระเยซูทรงสอนว่าขณะที่การเชื่อฟังข้อเรียกร้องของพระเจ้าเป็นเรื่องสำคัญ แต่คุณค่าของการเชื่อฟังนั้นขึ้นอยู่กับสิ่งที่อยู่ในหัวใจ. (มัด. 15:7-9; มโก. 7:20-23; โย. 3:36) การสอนของเราจะบรรลุผลมากที่สุดถ้าเราเลียนแบบตัวอย่างของพระเยซู. เป็นเรื่องสำคัญที่เราช่วยประชาชนให้เรียนรู้สิ่งที่พระเจ้าทรงเรียกร้องจากเขา. แต่เป็นเรื่องสำคัญเช่นกันที่พวกเขาจะรู้จักและรักพระยะโฮวาฐานะเป็นบุคคล เพื่อความประพฤติของเขาจะสะท้อนให้เห็นว่าการมีสัมพันธภาพอันเป็นที่ยอมรับกับพระเจ้าองค์เที่ยงแท้นั้นมีค่าสำหรับเขาเพียงใด.
แน่นอน เพื่อจะได้ประโยชน์จากการสอนเช่นนั้น ผู้คนจำต้องรับมือกับสิ่งที่อยู่ในหัวใจของตน. พระเยซูทรงสนับสนุนประชาชนให้วิเคราะห์แรงกระตุ้นและตรวจสอบความรู้สึกของพวกเขา. เมื่อทรงแก้ไขทัศนะที่ผิด พระองค์จะถามผู้ฟังว่าทำไมพวกเขาจึงคิด, พูด, หรือทำอย่างนั้น. กระนั้น โดยไม่หยุดอยู่เพียงแค่นั้น พระเยซูยังทรงเสริมคำถามของพระองค์ด้วยคำกล่าว, อุทาหรณ์, หรือการกระทำบางอย่าง ซึ่งสนับสนุนพวกเขาให้มองเรื่องต่าง ๆ อย่างถูกต้อง. (มโก. 2:8; 4:40; 8:17; ลูกา 6:41, 46) เราสามารถช่วยผู้ฟังได้เช่นกันโดยแนะให้เขาถามตัวเองด้วยคำถามอย่างเช่น ‘เหตุใดฉันจึงปรารถนาจะทำตามแนวทางการประพฤติแบบนี้? ทำไมฉันจึงทำอย่างที่ฉันทำเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้?’ จากนั้น จงกระตุ้นพวกเขาให้มองเรื่องต่าง ๆ จากทัศนะของพระยะโฮวา.
จงแสดงให้เห็นวิธีนำไปใช้
ผู้สอนที่ดีทราบว่า “สติปัญญาเป็นหลักเอก.” (สุภา. 4:7, ล.ม.) สติปัญญาคือความสามารถที่จะนำความรู้ไปใช้อย่างประสบผลสำเร็จในการแก้ปัญหาต่าง ๆ, หลีกเลี่ยงอันตราย, บรรลุเป้าหมาย, และช่วยเหลือคนอื่น ๆ. ผู้สอนมีหน้าที่ช่วยนักศึกษาให้เรียนรู้ที่จะทำเช่นนั้น แต่ไม่ใช่ที่จะทำการตัดสินใจแทนพวกเขา. เมื่อพิจารณาหลักการต่าง ๆ ของคัมภีร์ไบเบิล จงช่วยนักศึกษาให้หาเหตุผล. คุณอาจพูดถึงเหตุการณ์หนึ่งในชีวิตประจำวันแล้วถามนักศึกษาว่าหลักการของคัมภีร์ไบเบิลที่เพิ่งศึกษาไปจะช่วยเขาอย่างไรหากเขาต้องเผชิญกับสภาพการณ์เช่นนั้น.—เฮ็บ. 5:14.
ในคำบรรยายของเปโตรในวันเพนเตคอสเตปีสากลศักราช 33 ท่านวางตัวอย่างเกี่ยวกับการแนะวิธีนำความรู้ไปใช้ซึ่งกระทบชีวิตผู้คน. (กิจ. 2:14-36) หลังจากท่านได้พิจารณาข้อความสามแห่งในพระคัมภีร์ที่ฝูงชนยอมรับว่าเชื่อ ท่านเปโตรได้แนะวิธีนำเรื่องเหล่านี้ไปใช้โดยคำนึงถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่พวกเขาทุกคนเป็นพยานรู้เห็น. ผลคือ ฝูงชนรู้สึกว่าจำต้องปฏิบัติตามสิ่งที่พวกเขาได้ยิน. การสอนของคุณส่งผลกระทบต่อผู้คนคล้าย ๆ กันไหม? คุณช่วยผู้คนให้เข้าใจเหตุผลของเรื่องนั้นไหม โดยไม่เพียงแต่ให้ข้อเท็จจริงเท่านั้น? คุณสนับสนุนพวกเขาไหมให้ไตร่ตรองว่า เรื่องที่เขากำลังเรียนรู้นั้นควรกระทบชีวิตของเขาอย่างไร? พวกเขาอาจไม่ร้องออกมาว่า “เราจะทำอย่างไร?” ดังที่ฝูงชนในวันเพนเตคอสเตได้ทำ แต่หากคุณใช้พระคัมภีร์อย่างบังเกิดผล พวกเขาจะถูกกระตุ้นให้คิดถึงสิ่งที่ควรจะทำ.—กิจ. 2:37.
เมื่ออ่านคัมภีร์ไบเบิลกับบุตร คุณผู้เป็นบิดามารดามีโอกาสดีที่จะฝึกเขาให้คิดถึงวิธีนำหลักการของคัมภีร์ไบเบิลไปใช้จริง ๆ. (เอเฟ. 6:4) ยกตัวอย่าง คุณอาจเลือกข้อคัมภีร์สองสามข้อจากกำหนดการอ่านพระคัมภีร์ประจำสัปดาห์ พิจารณาความหมายของข้อเหล่านั้น และจากนั้นตั้งคำถาม เป็นต้นว่า ‘ข้อนี้ให้การชี้นำแก่เราอย่างไร? เราจะใช้ข้อคัมภีร์เหล่านี้อย่างไรในงานรับใช้? ข้อเหล่านี้เปิดเผยอะไรเกี่ยวกับพระยะโฮวาและแนวทางที่พระองค์กระทำสิ่งต่าง ๆ และนั่นเสริมสร้างความหยั่งรู้ค่าของเราต่อพระองค์อย่างไร?’ จงสนับสนุนครอบครัวของคุณให้ออกความคิดเห็นเกี่ยวกับจุดเหล่านี้ระหว่างที่พิจารณาส่วนจุดเด่นจากพระคัมภีร์ในโรงเรียนการรับใช้ตามระบอบของพระเจ้า. ข้อที่เขาออกความเห็นนั้นคงเป็นข้อที่พวกเขาจะจดจำได้ดี.
จงวางตัวอย่างที่ดี
คุณสอนไม่เฉพาะจากสิ่งที่คุณพูดเท่านั้น แต่จากสิ่งที่คุณทำด้วย. การกระทำของคุณให้ตัวอย่างที่ใช้ได้จริงเกี่ยวกับวิธีนำสิ่งที่คุณพูดไปใช้. นี่เป็นวิธีที่เด็กเรียนรู้. เมื่อพวกเขาเลียนแบบบิดามารดา นั่นกำลังบ่งชี้ว่าพวกเขาต้องการเป็นเหมือนบิดามารดาของเขา. พวกเขาต้องการรู้ว่าการทำสิ่งที่บิดามารดาทำอยู่เป็นอย่างไร. เช่นเดียวกัน เมื่อคนที่คุณสอน ‘เลียนแบบคุณเหมือนที่คุณเลียนแบบพระคริสต์’ พวกเขาจะเริ่มประสบพระพรในการดำเนินตามวิถีทางของพระยะโฮวา. (1 โก. 11:1, ล.ม.) พวกเขาจะประสบด้วยตนเองถึงสิ่งที่พระเจ้าปฏิบัติต่อพวกเขา.
นี่เป็นข้อเตือนใจที่พึงใคร่ครวญเกี่ยวกับความสำคัญของการวางตัวอย่างที่เหมาะสม. การที่เรา ‘เป็นคนชนิดที่มีการประพฤติอันบริสุทธิ์ และกระทำด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้า’ จะเป็นส่วนส่งเสริมอย่างดีให้คนที่เราสอนเห็นตัวอย่างที่มีชีวิตในเรื่องวิธีที่จะนำหลักการของคัมภีร์ไบเบิลไปใช้. (2 เป. 3:11, ล.ม.) ถ้าคุณสนับสนุนนักศึกษาพระคัมภีร์ให้อ่านพระคำของพระเจ้าเป็นประจำ คุณเองก็ควรขยันอ่านด้วย. หากคุณต้องการให้บุตรเรียนรู้ที่จะทำตามหลักการของคัมภีร์ไบเบิล จงทำให้แน่ใจว่าพวกเขาเห็นการประพฤติของคุณสอดคล้องกับพระทัยประสงค์ของพระเจ้า. หากคุณแนะนำพี่น้องในประชาคมให้กระตือรือร้นในงานรับใช้ จงให้พวกเขาเห็นว่าคุณมีส่วนร่วมเต็มที่ในงานนั้น. เมื่อคุณปฏิบัติในสิ่งที่คุณสอน คุณก็อยู่ในสถานะที่ดีกว่าในการกระตุ้นคนอื่น ๆ.—โรม 2:21-23.
โดยมุ่งหมายที่จะปรับปรุงการสอนของคุณ ขอให้ถามตัวคุณเองดังนี้: ‘เมื่อฉันสอน การสอนนั้นก่อให้เกิดผลกระทบต่อทัศนะ, คำพูด, หรือการกระทำของผู้ฟังไหม? เพื่อทำให้เรื่องชัดเจน ฉันแสดงให้เห็นความแตกต่างระหว่างทัศนะหรือแนวทางการประพฤติอย่างหนึ่งกับอีกอย่างหนึ่งไหม? ฉันทำอะไรที่เป็นการช่วยนักศึกษา, บุตร, หรือผู้ฟังในการประชุมให้สามารถจดจำสิ่งที่ฉันพูดได้? ฉันแสดงให้ผู้ฟังเห็นอย่างชัดเจนไหมว่าจะนำเรื่องที่เขาเรียนรู้ไปใช้อย่างไร? พวกเขาเห็นสิ่งนั้นในตัวอย่างของฉันไหม? พวกเขาเข้าใจไหมว่าวิธีที่เขาตอบรับต่อเรื่องที่พิจารณาไปนั้นจะมีผลกระทบต่อสัมพันธภาพของเขากับพระยะโฮวา?’ (สุภา. 9:10) จงเอาใจใส่สิ่งเหล่านี้ต่อไปขณะที่คุณบากบั่นพยายามพัฒนาความสามารถในการเป็นผู้สอน. “จงเอาใจใส่ตัวท่านและการสอนของท่านอยู่เสมอ. จงจดจ่ออยู่กับสิ่งเหล่านี้ เพราะด้วยการทำอย่างนี้ท่านจะช่วยทั้งตัวท่านเองและคนที่ฟังท่านให้รอด.”—1 ติโม. 4:16, ล.ม.
-