บท 18
คัมภีร์ไบเบิล—ได้รับการดลบันดาลจากพระเจ้าจริง ๆ หรือ?
1. พระผู้สร้างทรงมีความสามารถอะไรซึ่งมนุษย์ไม่มี?
ไม่มีมนุษย์คนใดสามารถบอกล่วงหน้าได้อย่างละเอียดแม่นยำเกี่ยวกับอนาคต. แต่พระผู้สร้างเอกภพทรงมีข้อเท็จจริงที่จำเป็นทุกอย่างทั้งทรงสามารถควบคุมเหตุการณ์ได้ด้วยซ้ำ. พระองค์จึงเป็นผู้ที่ “บอกล่วงหน้าตั้งแต่ต้นว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นตอนปลาย และบอกเล่าสิ่งซึ่งยังไม่เกิดขึ้นไว้ตั้งแต่เวลาโบราณ.”—ยะซายา 46:10; 41:22, 23.
2. หลักฐานอะไรซึ่งบ่งชี้ว่าพระคัมภีร์เป็นหนังสือที่พระเจ้าดลบันดาล?
2 คัมภีร์ไบเบิลมีคำพยากรณ์หลายร้อยข้อ. คำพยากรณ์เหล่านั้นสำเร็จสมจริงกระทั่งเวลานี้ไหม? ถ้าเช่นนั้น ก็เป็นข้อบ่งชี้อย่างหนักแน่นว่าพระคัมภีร์ “ได้รับการดลบันดาลจากพระเจ้า.” (2 ติโมเธียว 3:16, 17, ล.ม.) และยังให้เกิดความเชื่อมั่นในคำพยากรณ์ข้ออื่น ๆ ที่ว่าด้วยเหตุการณ์ซึ่งจะมีมา. ฉะนั้น การพิจารณาคำพยากรณ์บางเรื่องที่สำเร็จสมจริงแล้วจึงเป็นประโยชน์.
ความล่มจมของเมืองตุโร
3. มีการบอกล่วงหน้าไว้อย่างไรเกี่ยวกับเมืองตุโร?
3 ตุโรเป็นเมืองท่าของฟีนีเซียซึ่งเคยต่อต้านยิศราเอลเพื่อนบ้านทางใต้ซึ่งนมัสการพระยะโฮวา. โดยทางผู้พยากรณ์ชื่อยะเอศเคล พระยะโฮวาตรัสถึงความพินาศอันจะเกิดแก่เมืองนั้นนานกว่า 250 ปี ก่อนเหตุการณ์ได้อุบัติขึ้น. พระยะโฮวาทรงแถลงว่า “เราจะยังประเทศเป็นอันมากให้ขึ้นมาต่อสู้เจ้า . . . และเขาทั้งหลายจะทำลายกำแพงของตุโร และจะหักหอรบทั้งหลายแห่งตุโรเสีย เราจะกวาดผงคลีดินจากเมืองนั้น และให้เมืองนั้นเป็นศิลาว่างเปล่าอยู่. เมืองนั้นอยู่ในท่ามกลางทะเลจะเป็นที่สำหรับตากแหและอวน.” ยะเอศเคลระบุชื่อชาติแรกและผู้นำที่จะล้อมเมืองตุโรว่า “เราจะยังนะบูคัดเนซัรกษัตริย์แห่งบาบูโลน . . . มาต่อสู้กับตุโร.”—ยะเอศเคล 26:3-5, 7.
4. (ก) คำพยากรณ์ซึ่งระบุว่า บาบูโลนจะพิชิตเมืองตุโรนั้นสำเร็จสมจริงอย่างไร? (ข) ทำไมชาวบาบูโลนไม่ได้ยึดทรัพย์สมบัติไป?
4 ดังที่บอกล่วงหน้า ต่อมานะบูคัดเนซัรก็ได้ทำลายเมืองตุโรแผ่นดินใหญ่ ดิ เอ็นไซโคลพีเดีย บริแทนนิกา รายงานว่า “นะบูคัดเนซัรได้ล้อมเมืองนานถึง 13 ปี.”1 เมื่อยึดเมืองแล้ว มีรายงานว่าเขามิได้ยึดเอาของปล้นดังนี้ “แต่มิได้มีผลประโยชน์แก่ท่าน.” (ยะเอศเคล 29:18) ทำไม? เพราะส่วนหนึ่งของเมืองตุโรอยู่บนเกาะหนึ่งผ่านช่องแคบ.2 ทรัพย์สมบัติส่วนใหญ่ของตุโรได้ถูกโยกย้ายจากแผ่นดินใหญ่ไปไว้ที่เกาะอันเป็นส่วนหนึ่งของเมืองนั้นซึ่งมิได้ถูกทำลาย.
5, 6. อเล็กซานเดอร์มหาราชได้ทำลายเมืองตุโรส่วนที่เป็นเกาะนั้นโดยวิธีใด? และสมจริงในรายละเอียดอย่างไรตามที่ได้พยากรณ์ไว้?
5 แต่นะบูคัดเนซัรมิได้ “กวาดผงคลีดินจากเมืองนั้นและให้เมืองนั้นเป็นศิลาว่างเปล่าอยู่” ดังที่ยะเอศเคลบอกไว้. ทั้งคำพยากรณ์ก็มิได้สมจริง ซึ่งบอกว่าตุโรจะถูกทิ้ง “ในทะเล.” (ซะคาระยา 9:4) คำพยากรณ์เหล่านี้ไม่แม่นยำหรือ? หามิได้. ภายหลังการทำนายของยะเอศเคลกว่า 250 ปีและเกือบ 200 ปีภายหลังซะคาระยากองทัพกรีกภายใต้การนำของอเล็กซานเดอร์มหาราชก็ได้ทำลายตุโรจนสิ้นซาก เมื่อปี 332 ก่อนสากลศักราช. เอ็นไซโคลพีเดีย อเมริกานา อธิบายว่า “ในปี 332 เขาได้นำเอาซากปรักหักพังของเมืองนั้นบนแผ่นดินใหญ่มาสร้างหนทางเชื่อมระหว่างเกาะกับแผ่นดินใหญ่. ภายหลังการล้อมเจ็ดเดือน . . . เขาก็ยึดเมืองตุโรแล้วทำลายเสีย.”3
6 ด้วยเหตุนี้ ตามที่ได้ทำนายไว้ ผงคลีดินและซากปรักหักพังของเมืองตุโรก็จมอยู่ใต้น้ำ. เมืองตุโรถูกทิ้งเหลือแต่ศิลาว่างเปล่า เป็น “ที่สำหรับตากแหและอวน.”4 ดังนั้น คำพยากรณ์ที่แถลงไว้หลายร้อยปีก่อนหน้าจึงสมจริงในรายละเอียดทุกอย่าง!
ไซรัสและความล่มจมของบาบูโลน
7. คัมภีร์ไบเบิลบอกล่วงหน้าอย่างไรเรื่องพวกยิวกับบาบูโลน?
7 ที่น่าทึ่งอีกอย่างหนึ่งคือคำพยากรณ์เรื่องพวกยิวและบาบูโลน. ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่าบาบูโลนกวาดต้อนพวกยิวไปเป็นเชลย. กระนั้น ยิระมะยาได้บอกเรื่องนี้ประมาณ 40 ปีก่อนเหตุการณ์เกิดขึ้น. ยะซายาได้ทำนายไว้ประมาณ 150 ปีก่อนเกิดเหตุการณ์นั้น ทั้งได้บอกด้วยว่าพวกยิวจะพ้นสภาพการเป็นเชลย. ยิระมะยาบอกเช่นกันว่า พวกยิวจะกลับคืนสู่แผ่นดินของเขาเมื่อ 70 ปีล่วงไปแล้ว.—ยะซายา 39:6, 7; 44:26; ยิระมะยา 25:8-12; 29:10.
8, 9. (ก) ใครพิชิตบาบูโลนและโดยวิธีใด? (ข) ประวัติศาสตร์ได้พิสูจน์คำพยากรณ์ที่กล่าวถึงบาบูโลนว่าถูกต้องสมจริงอย่างไร?
8 การกลับคืนสู่แผ่นดินเป็นไปได้ก็โดยที่ชาวมาดายและเปอร์เซียได้ทำลายอำนาจบาบูโลนในปี 539 ก่อนสากลศักราช. เหตุการณ์นั้นเป็นไปตามที่ยะซายาบอกล่วงหน้าเกือบ 200 ปี และยิระมะยาบอกไว้ก่อนเกิดเหตุการณ์ราว ๆ 50 ปี ทั้งยังบอกว่าทหารบาบูโลนจะไม่รบต่อสู้เลย. ยะซายาและยิระมะยาต่างก็ทำนายไว้ว่า แม่น้ำยูเฟรติสซึ่งเป็นด่านป้องกันบาบูโลน “จะต้องแห้งเสียหมด.” ยะซายาระบุกระทั่งชื่อโคเรส [ไซรัส] แม่ทัพเปอร์เซียผู้พิชิต และว่าตอนที่ยกทัพเข้าไป “ประตูเหล่านั้น [ของบาบูโลน] จะไม่ปิดเสียได้.”—ยิระมะยา 50:38; 51:11, 30; ยะซายา 13:17-19; 44:27; 45:1.
9 เฮโรโดทุสนักประวัติศาสตร์ชาวกรีกชี้แจงว่า ไซรัสได้เบี่ยงให้แม่น้ำยูเฟรติสไหลไปอีกทางหนึ่ง และ “น้ำในแม่น้ำเกือบแห้งขอดจนลุยน้ำข้ามฟากไปได้.”5 ฉะนั้น ตกกลางคืนทหารฝ่ายข้าศึกก็เดินบนท้องแม่น้ำ แล้วเข้าไปทางประตูเมืองที่เปิดอ้าไว้ด้วยความประมาท. เฮโรโดทุสบอกต่อไปว่า “หากทหารบาบูโลนได้รับแจ้งว่าไซรัสกำลังปฏิบัติการอย่างไร พวกเขาคงทันลั่นดาลปิดประตูเมืองบนฝั่งแม่น้ำให้แน่นหนา . . . แต่ดังที่เป็นไป พวกเปอร์เซียจู่โจมโดยที่เขาไม่ทันรู้ตัวแล้วเข้ายึดเมืองไว้ได้.”6 ที่จริง ชาวบาบูโลนเพลินกับงานเลี้ยงเสพสุรามึนเมา ดังที่พระคัมภีร์แจ้งให้ทราบและตามคำยืนยันของเฮโรโดทุส.7 (ดานิเอล 5:1-4, 30) ยะซายาและยิระมะยาบอกล่วงหน้าว่าในที่สุดบาบูโลนจะกลายเป็นเมืองร้างปราศจากผู้คน. และก็เป็นอย่างนั้น. ทุกวันนี้บาบูโลนก็เป็นเพียงเนินดินที่รกร้าง.—ยะซายา 13:20-22; ยิระมะยา 51:37, 41-43.
10. หลักฐานอะไรยืนยันว่าไซรัสได้ปลดปล่อยพวกยิว?
10 อนึ่ง ไซรัสได้กอบกู้ชาวยิวกลับไปยังบ้านเกิดของตน. ก่อนหน้านั้น 200 กว่าปี พระยะโฮวาตรัสถึงไซรัสว่าเป็น “ผู้ที่ประกอบกิจตามน้ำใจของเราให้สำเร็จผล.” (ยะซายา 44:28) จริงตามคำพยากรณ์ หลังจาก 70 ปี ไซรัสได้คืนเชลยไปยังบ้านเกิดเมื่อปี 537 ก่อนสากลศักราช. (เอษรา 1:1-4) ศิลาจารึกของเปอร์เซียโบราณที่เรียกว่ากระบอกกลมของไซรัส แจ้งชัดเจนว่าไซรัสได้ดำเนินการส่งพวกเชลยคืนสู่บ้านเกิด. บันทึกคำแถลงของไซรัสว่า “ส่วนพล-เมืองของบาบูโลนนั้น เราได้รวบรวมชาวเมือง (แต่ก่อน) ของเขาทั้งหมด แล้วส่ง (พวกเขา) คืนไปสู่แผ่นดินของเขา.”8
เมโด-เปอร์เซียและกรีซ
11. พระคัมภีร์บอกล่วงหน้าไว้อย่างไรว่า เมโด-เปอร์เซียจะเรืองอำนาจแล้วเสียอำนาจให้กรีซ?
11 ระหว่างที่บาบูโลนยังเป็นประเทศมหาอำนาจอยู่ พระคัมภีร์แจ้งล่วงหน้าว่าแกะตัวผู้มีสองเขา เล็งถึง “ราชาของมาดายและฟารัศ [เปอร์เซีย] จะพิชิตบาบูโลน. (ดานิเอล 8:20) จริงตามที่พูดไว้ เมโด-เปอร์เซียขึ้นเป็นมหาอำนาจต่อมาเมื่อพิชิตบาบูโลนได้ในปี 539 ก่อนสากลศักราช. แต่เมื่อเวลาผ่านไป “แพะผู้” ซึ่งถูกระบุตัวเป็นกรีซก็ได้ “ชนแกะผู้ตัวนั้นโดนเขาทั้งสองหักไป.” (ดานิเอล 8:1-7) เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปี 332 ก่อนสากลศักราช เมื่อกรีซพิชิตเมโด-เปอร์เซียแล้วขึ้นเป็นมหาอำนาจใหม่.
12. พระคัมภีร์กล่าวอย่างไรถึงเรื่องอำนาจปกครองของกรีซ?
12 จงสังเกตสิ่งที่ได้บอกล่วงหน้าว่าจะเกิดขึ้นถัดจากนั้น “แพะผู้ตัวนั้นก็ได้เป็นใหญ่เป็นโตยิ่งนัก และพอมันมีกำลังแล้ว เขาอันยาวนั้นก็หักเสีย แล้วมีอีกสี่เขาใช้การได้ทีเดียวงอกขึ้นมาแทนที่. แพะตัวผู้นั้นคือราชาของเฮเลน และเขาสัตว์อันใหญ่ระหว่างลูกตาสองข้างนั้นคือราชาองค์แรก. พอเขาสัตว์หักลงแล้วและสี่เขาขึ้นมาแทนที่นั้น ก็ได้แก่สี่อาณาจักรจะบังเกิดขึ้นจากประเทศของเขา แต่ก็ไม่เรืองนามเหมือนดังตัวเขา.”—ดานิเอล 8:8, 21,22.
13. หลังจากมีการจารึกนานถึง 200 กว่าปีแล้ว คำพยากรณ์เรื่องกรีซได้มาสมจริงอย่างไร?
13 ประวัติศาสตร์แสดงว่า “ราชาของเฮเลน [กรีซ]” ได้แก่อเล็กซานเดอร์มหาราช. แต่หลังจากเขาถึงแก่อสัญกรรมในปี 323 ก่อนสากาศักราช จักรภพกรีซก็ถูกแบ่งระหว่างนายพลสี่คน—เซลิวคุส คัสซันเดอร์ ปโตเลมีและลีซิมาคุส. สมดังคำกล่าวในพระคัมภีร์ทีเดียวที่ว่า “สี่เขาขึ้นมาแทนที่นั้น.” กระนั้น ไม่มีแม้แต่คนเดียวในจำนวนสี่คนนี้เรืองอำนาจอย่างอเล็กซานเดอร์. ฉะนั้นหลังจากที่บันทึกไว้นานกว่า 200 ปี คำพยากรณ์ข้อนี้ก็เริ่มสำเร็จสมจริง—เป็นข้อพิสูจน์ที่เด่นอีกประการหนึ่งว่าพระคัมภีร์ได้รับการดลบันดาล!
มีการบอกล่วงหน้าถึงพระมาซีฮา
14. ผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งให้ความเห็นอย่างไร เกี่ยวกับคำพยากรณ์หลายข้อที่ได้สมจริงกับพระเยซูคริสต์?
14 ที่น่าสังเกตเป็นพิเศษคือ คำพยากรณ์หลายข้อในพระคัมภีร์กล่าวถึงพระเยซูคริสต์. ศาสตราจารย์ เจ. พี. ฟรี ตั้งข้อสังเกตว่า “โอกาที่คำพยากรณ์เหล่านี้ทุกข้อจะสมจริงในคน ๆ เดียวนั้นมีน้อยเหลือเกิน ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างน่าทึ่งว่าคำพยากรณ์จะเป็นการคาดคะเนอันเฉียบแหลมของมนุษย์ไม่ได้.”9
15. คำพยากรณ์อะไรบ้างที่ได้สำเร็จสมจริงกับพระคริสต์ ซึ่งเกินอำนาจที่พระองค์จะควบคุมได้?
15 คำพยากรณ์ที่สำเร็จสมจริงย่อมอยู่นอกเหนือการควบคุมของพระเยซู. พระองค์คงไม่เตรียมการที่จะมาประสูติในตระกูลยูดาหรือในเชื้อวงศ์ของดาวิด. (เยเนซิศ 49:10; ยะซายา 9:6, 7; 11:1, 10; มัดธาย 1:2-16) พระองค์คงไม่สามารถพลิกเหตุการณ์ซึ่งพระองค์ได้ประสูติในเมืองเบ็ธเลเฮ็ม. (มีคา 5:2; ลูกา 2:1-7) และคงไม่เตรียมการเพื่อจะถูกทรยศแลกกับเงิน 30 แผ่น (ซะคาระยา 11:12; มัดธาย 26:15) ที่จะให้ศัตรูถ่มน้ำลายรดพระองค์ (ยะซายา 50:6; มัดธาย 26:67) ที่จะถูกประจานขณะตรึงกับหลักประหาร (บทเพลงสรรเสริญ 22:7, 8; มัดธาย 27:39-43) ที่จะถูกแทงแต่ไม่มีกระดูกหัก (ซะคาระยา 12:10; บทเพลงสรรเสริญ 34:20; โยฮัน 19:33-37) และที่ทหารเอาฉลองพระองค์มาจับฉลาก (บทเพลงสรรเสริญ 22:18; มัดธาย 27:35).
การทำลายกรุงยะรูซาเลม
16. พระเยซูทรงพยากรณ์เรื่องอะไรเกี่ยวกับกรุงยะรูซาเลม?
16 พระเยซูทรงเป็นผู้พยากรณ์องค์ยิ่งใหญ่ของพระยะโฮวา. ก่อนอื่น จงสังเกตสิ่งที่พระองค์ตรัสว่าจะเกิดขึ้นกับกรุงยะรูซาเลม: “ศัตรูของเจ้าจะตั้งค่ายรอบเจ้าและล้อมขังเจ้าไว้ทุกด้าน แล้วจะทำลายเจ้าลงให้ราบเหมือนพื้นดิน กับทั้งลูกทั้งหลายของเจ้าซึ่งอยู่ในเจ้าและเขาจะไม่ปล่อยให้ศิลาซ้อนทับกันไว้ภายในเจ้าเลย เพราะเจ้าไม่ได้รู้เวลาที่พระองค์เสด็จมาหาเจ้า.” (ลูกา 19:43, 44) พระเยซูตรัสด้วยว่า “เมื่อท่านเห็นกองทัพมาตั้งล้อมรอบกรุงยะรูซาเลม เมื่อนั้นท่านจงรู้ว่าความพินาศของกรุงนั้นก็ใกล้เข้ามาแล้ว. เวลานั้นให้คนทั้งหลายที่อยู่ในแขวงยูดายหนีไปยังภูเขา.”—ลูกา 21:20, 21.
17. คำพยากรณ์ของพระเยซูว่าด้วยกองทัพยกเข้ามาล้อมกรุงยะรูซาเลมนั้นสำเร็จสมจริงโดยวิธีใด และดังนั้นผู้คนในกรุงจะหนีได้อย่างไร?
17 จริงตามคำพยากรณ์ กองทัพโรมันภายใต้แม่ทัพเซสติอุส แกลลุสได้ยกมาต่อสู้ยะรูซาเลมในปี 66 สากลศักราช. แต่แปลกทั้ง ๆ ที่เขาล้อมกรุงไว้แล้ว เขามิได้ตีให้แตก แต่ดังที่ฟลาวิอุส โยเซฟุส นักประวัติศาสตร์แห่งศตวรรษแรกรายงานว่า “เขาถอนทัพกลับไปจากเมืองโดยไม่มีเหตุผลแม้แต่น้อย.”10 ครั้นกองทัพได้ถอยกลับอย่างไม่คาดฝัน จึงเป็นโอกาสจะทำตามคำสั่งของพระเยซูที่ให้หนีออกไปจากกรุงยะรูซาเลม. นักประวัติศาสตร์ยูเซบิอุสรายงานว่า ชนคริสเตียนนั้นแหละที่พากันหนีออกไป.11
18. (ก) หลังจากกองทัพโรมันถอยกลับจากยะรูซาเลมไม่ทันถึงสี่ปีแล้วเกิดอะไรขึ้นในปี 70 สากลศักราช? (ข) ยะรูซาเลมถูกทำลายถึงขนาดไหน?
18 จากนั้นไม่ถึงสี่ปี ในปี 70 สากลศักราช กองทัพโรมันภายใต้แม่ทัพไททุสย้อนกลับมาแล้วตั้งทัพโอบล้อมกรุงยะรูซาเลม. พวกเขาโค่นต้นไม้รอบ ๆ นครนั้นในรัศมีหลายกิโลเมตร แล้วสร้างรั้วโดยรอบเป็น “ค่ายคูปักเสาเสี้ยมแหลม.” โยเซฟุสชี้แจงว่า “เวลานั้นพวกยิวไม่มีทางหนี.”12 โยเซฟุสชี้ชัดว่าหลังจากกรุงถูกปิดล้อมประมาณห้าเดือน สิ่งที่เหลืออยู่ก็มีป้อมสามแห่งและกำแพงส่วนหนึ่ง นอกนั้นพังราบติดดิน . . . ไม่มีอะไรเหลืออยู่ซึ่งจะทำให้คนที่สัญจรผ่านเชื่อว่าที่ตรงนั้นเคยมีผู้คนตั้งบ้านเรือนอยู่.”13
19. (ก) ความทุกข์ที่ตกแก่ยะรูซาเลมนั้นร้ายแรงเพียงใด? (ข) เวลานี้ประตูโค้งของไททุสชวนให้ระลึกถึงสิ่งใดโดยปราศจากสำเนียง?
19 ระหว่างการปิดล้อมกรุงมีประมาณ 1,100,000 คนเสียชีวิตและ 97,000 คนถูกกวาดเป็นเชลย.14 ทุกวันนี้จะพบข้อยืนยันความสมจริงแห่งคำทำนายของพระเยซูได้ในกรุงโรม. ที่นั่นประตูโค้งครึ่งวงกลมซึ่งชาวโรมันสร้างขึ้นในปีสากลศักราช 81 เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่ไททุสได้ยึดกรุงยะรูซาเลม. ประตูโค้งครึ่งวงกลมนั้นยังคงเตือนให้รำลึกถึงข้อเท็จจริงที่ว่า การไม่เชื่อฟังคำเตือนเชิงพยากรณ์ในพระคัมภีร์นั้นอาจนำไปสู่ความหายนะได้.
คำพยากรณ์ที่สมจริงในทุกวันนี้
20. พระเยซูทรงให้ “สัญลักษณ์” เพื่อตอบคำถามอะไรซึ่งโดยสัญลักษณ์นั้นเราสามารถรู้ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทั่วโลกใกล้เข้ามาแล้ว?
20 ตามที่บอกในคัมภีร์ไบเบิล การเปลี่ยนแปลงทั่วโลกอย่างน่าตกตะลึงใกล้เข้ามาแล้ว. พระเยซูได้ทำนายถึงเหตุการณ์ซึ่งคนในศตวรรษแรกจะรู้ว่าความพินาศจวนจะเกิดแก่ยะรูซาเลมฉันใด พระองค์ก็ทรงทำนายถึงเหตุการณ์ซึ่งคนสมัยนี้จะรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงทั่วโลกใกล้เข้ามาแล้วฉันนั้น. พระเยซูบอก “สัญลักษณ์” นั้นเพื่อตอบสาวกที่ได้ถามว่า “อะไรจะเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการประทับ ของพระองค์และเกี่ยวด้วยช่วงอวสานของระบบนี้?”—มัดธาย 24:3, ล.ม.
21. (ก) “การประทับ” ของพระคริสต์คืออะไร และ “ช่วงอวสานของระบบนี้” คืออะไร? (ข) เราจะอ่านพบสัญลักษณ์ซึ่งพระเยซูทรงระบุไว้นั้นจากที่ไหน?
21 ตามที่กล่าวในคัมภีร์ไบเบิล “การประทับ” ของพระคริสต์ จะไม่เป็นแบบมนุษย์ แต่พระองค์จะทรงเป็นผู้ครอบครองที่มีฤทธิ์อำนาจสถิตในสวรรค์ จะทรงช่วยมนุษย์ให้พ้นทุกข์. (ดานิเอล 7:13, 14) “การประทับ” ของพระองค์จะตกใน “ช่วงอวสานของระบบนี้.” เมื่อเป็นเช่นนั้น พระเยซูทรงให้สัญลักษณ์อะไรเพื่อชี้ถึงเวลาที่พระองค์ประทับเป็นผู้ครอบครองที่ไม่ประจักษ์ และเมื่อจุดอวสานของระบบนี้ใกล้เข้ามา? คุณจะทบทวนเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ประกอบกันเป็นสัญ-ลักษณ์ได้จากคัมภีร์ไบเบิล ที่มัดธายบท 24 มาระโกบท 13 และลูกาบท 21. เหตุการณ์สำคัญ ๆ บางอย่างมีดังต่อไปนี้:
22. สงครามต่าง ๆ ตั้งแต่ปี 1914 เป็นต้นมานั้นได้กลายมาเป็นส่วนแห่งสัญลักษณ์อย่างไร และสงครามเหล่านั้นร้ายกาจเพียงไร?
22 มหาสงคราม: “ชาติจะลุกขึ้นต่อสู้ชาติ และอาณาจักรต่อสู้อาณาจักร.” (มัดธาย 24:7, ล.ม.) ตั้งแต่ปี 1914 เป็นต้นมา คำพยากรณ์ข้อนี้สำเร็จสมจริงทุกประการ. สงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งเริ่มต้นในปี 1914 นั้นเป็นขั้นเริ่มต้นที่มีการใช้ปืนกล รถถัง เรือดำน้ำ เรือบินและแก๊สพิษอย่างขนานใหญ่. เมื่อสงครามครั้งนั้นสงบลงในปี 1918 ปรากฏว่าทหาร และพลเรือนเสียชีวิตราว ๆ 14 ล้านคน. นักประวัติศาสตร์คนหนึ่งกล่าวว่า “สงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นสงคราม “เบ็ดเสร็จ” ครั้งแรก.”15 สงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่างปี 1939 ถึงปี 1945 ซ้ำหนักเข้าไปอีก ทหารและพลเรือนเสียชีวิตประมาณ 55 ล้านคน. และสงครามครั้งนี้ก่อความสยดสยองแบบใหม่—นั้นคือระเบิดปรมาณู! นับตั้งแต่นั้นมา ผู้คนเสียชีวิตไปมากกว่า 30 ล้านคนเนื่องด้วยการสู้รบในสงครามใหญ่น้อยตามที่ต่าง ๆ. วารสารข่าวเยอรมันชื่อ เดอร์ สปีเกล ชี้ชัดว่า “ตั้งแต่ปี 1945 เป็นต้นมา โลกไม่มีความสงบสุข แม้แต่วันเดียว.”16
23. การขาดแคลนอาหารเป็นความทุกข์เดือดร้อนสำหรับแผ่นดินโลก ถึงขีดไหนตั้งแต่ปี 1914?
23 การขาดแคลนอาหาร: “จะเกิดกันดารอาหาร.” (มัดธาย 24:7) ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 การกันดารอาหารเกิดขึ้นในหลายที่. ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การกันดารอาหารยิ่งร้ายแรงมากขึ้น. และทุกวันนี้ล่ะ? ลอนดอน ไทมส์ บอกว่า “ทุกวันนี้ความหิวโหยขยายวงกว้างออกไปเรื่อย ๆ . . . . ผู้คนจำนวน 400 ล้านคนอยู่ในภาวะอดอยากหิวโหยตลอดเวลา.”17 เดอะ โกลบ แอนด์ เมล์ แห่งโทรอนโท แถลงว่า “ผู้คนมากกว่า 800 ล้านไม่ได้รับอาหารพอ.”18 และองค์การอนามัยโลกรายงานว่า “แต่ละปี เด็กแรกเกิด 12 ล้านคนตายด้วยโรคขาดอาหารก่อนอายุครบหนึ่งขวบ.”19
24. ตั้งแต่ปี 1914 เป็นต้นมา แผ่นดินไหวได้ทวีความรุนแรงถึงขนาดไหน?
24 แผ่นดินไหว: “จะเกิดแผ่นดินไหวใหญ่หลายแห่ง.” (ลูกา 21:11) ผู้เชี่ยวชาญทางแผ่นดินไหว เรียกแผ่นดินไหวที่ทังชาน ประเทศจีนเมื่อปี 1976 ว่าเป็น “ภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ” ซึ่งได้พร่าชีวิตมนุษย์หลายแสนคน.20 วารสารอิล พิกโกโล รายงานว่า “คนชั่วอายุนี้มีชีวิตอยู่ในช่วงที่มีแผ่นดินไหวบ่อย ๆ.”21 คนเสียชีวิตเนื่องจากแผ่นดินไหวตั้งแต่ปี 1914 มีจำนวนมากเป็นสิบเท่าของคนเสียชีวิตในศตวรรษก่อน.
25. มีโรคระบาดอะไรบ้างซึ่งยังความหายนะเรื่อยมาตั้งแต่ปี 1914 ซึ่งก็เป็นส่วนของสัญลักษณ์ที่ได้สำเร็จสมจริง?
25 โรคภัย: “โรคภัยในที่ต่าง ๆ.” (ลูกา 21:11) ไซเยนต์ ไดเจสท์ รายงานดังนี้ “ในปี 1918 โรคไข้หวัดใหญ่สเปนระบาดไปทั่วโลก และพร่าชีวิตมนุษย์ 21 ล้านคน. ตลอดประวัติศาสตร์ไม่เคยเกิดการล้มตายอย่างรุนแรงและรวดเร็วกว่าครั้งนี้.”22 ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โรคหัวใจ มะเร็ง กามโรค และโรคระบาดอื่น ๆ หลายโรคได้ทำให้หลายร้อยล้านคนพิการและเสียชีวิต.
26. การละเลยกฎหมายเพิ่มทวีขึ้นอย่างไรตั้งแต่ปี 1914?
26 อาชญากรรม: “ความชั่วทวีขึ้น.” (มัดธาย 24:12) ฆาตกรรม โจรกรรม การข่มขืน ลัทธิก่อการร้าย การฉ้อราษฎร์บังหลวง—รายการยาวเหยียดและรู้จักกันดี. เพื่อยืนยันแนวโน้มของการละเลยกฎหมายภายหลังปี 1914 ผู้เชี่ยวชาญเรื่องลัทธิก่อการร้ายกล่าวว่า “โดยส่วนรวมแล้ว สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่งนั้นผู้คนปฏิบัติต่อกันด้วยความเมตตากรุณามากกว่าสมัยนี้.”23
27. คำพยากรณ์เรื่องความกลัวนั้นกำลังสำเร็จสมจริงอย่างไรในปัจจุบัน?
27 ความกลัว: “จะมีความวิบัติอันน่ากลัว.” (ลูกา 21:11) ดีเวลท์ แห่งฮัมบูร์กให้ฉายาสมัยนี้ว่า “ศตวรรษแห่งความกลัว.”24 การคุกคามแบบใหม่ ๆ ทำให้มนุษยชาติเกิดความกลัวอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน. เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่การใช้อาวุธนิวเคลียร์และมลภาวะส่อเค้าว่าจะ ‘ทำลายแผ่นดินโลก.’ (วิวรณ์ 11:18, ล.ม.) อาชญากรรมที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ภาวะเงินเฟ้อ อาวุธนิวเคลียร์ ความหิวโหย โรคภัยและการชั่วอื่น ๆ ได้ทำให้ผู้คนเกิดความหวาดกลัวมากขึ้นด้านความปลอดภัยและชีวิตของตนเอง.
มันต่างกันตรงไหน?
28. ทำไมลักษณะต่าง ๆ แห่งสัญลักษณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้ บ่งชี้ว่าสมัยของเราเป็น “ช่วงอวสานของระบบนี้”?
28 กระนั้น บางคนชี้ว่าเหตุการณ์เหล่านี้หลายอย่างก็เคยเกิดขึ้นในศตวรรษก่อน ๆ. ดังนั้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสมัยนี้ต่างกันตรงไหน? ประการแรก เหตุการณ์ทุกอย่าง ที่ประกอบกันเป็นสัญลักษณ์คนในชั่วอายุหนึ่งได้สังเกตเห็น—คนรุ่นที่มีชีวิตอยู่ในปี 1914—ปัจจุบันนี้หลายล้านคนในรุ่นนั้นยังมีชีวิตอยู่. พระเยซูทรงแถลงว่า “คนในชั่วอายุนี้จะไม่ล่วงลับไปก่อนสิ่งทั้งปวงนั้นจะบังเกิดขึ้น.” (ลูกา 21:32) ประการที่สอง คนทั่วโลก รับผลกระทบจากสัญลักษณ์นั้น “ในที่ต่าง ๆ หลายแห่ง.” (มัดธาย 24:3, 7, 9; 25:32) ประการที่สาม สภาพการณ์แย่ลงเรื่อย ๆ ระหว่างช่วงนี้: “เหตุการณ์ทั้งปวงนี้เป็นขั้นแรกแห่งความทุกข์” “คนชั่วและคนเจ้าเล่ห์นั้นจะกำเริบชั่วร้ายมากยิ่งขึ้น.” (มัดธาย 24:8; 2 ติโมเธียว 3:13) และประการที่สี่ การเปลี่ยนแปลงของผู้คนทั้งในด้านเจตคติและการกระทำ ควบคู่กับเหตุการณ์เหล่านี้ทั้งหมด ดังที่พระเยซูทรงเตือนว่า “ความรักของคนเป็นอันมากจะเยือกเย็นลง.”—มัดธาย 24:12.
29. สิ่งซึ่งพระคัมภีร์พรรณนาไว้เกี่ยวกับ “ยุคสุดท้ายของโลกนี้” ตรงกันกับสภาพศีลธรรมของผู้คนในทุกวันนี้อย่างไร?
29 ถูกแล้ว หลักฐานหนักแน่นประการหนึ่งที่ว่า ขณะนี้เรามีชีวิตอยู่ในสมัยอวสานซึ่งบอกไว้ล่วงหน้าคือความเสื่อมทางด้านศีลธรรม. จงเทียบสิ่งที่ท่านสังเกตในโลกกับถ้อยคำเชิงพยากรณ์ซึ่งเล็งถึงสมัยของเราว่า “จะเป็นเวลาที่ลำบากเดือดร้อนนักในวาระสุดท้ายนั้นเพราะคนทั้งปวงจะใจดำ รักเงิน คุยโตและอวดดี เขาจะดูหมิ่นไม่เชื่อฟังบิดามารดา เป็นคนอกตัญญู ไม่มีความกรุณาต่อกัน ไม่มีเมตตาจิต ชอบใส่ร้ายผู้อื่น รุนแรงและดุร้าย เขาจะชังความดี ทรยศหักหลัง ไม่ยั้งคิด เย่อหยิ่งจองหอง เขาจะรักความสนุกเพลิดเพลินยิ่งกว่ารักพระเจ้า เขาเป็นคนที่ถือศาสนาแต่ปาก ไม่ยอมรับฤทธิ์ธรรมะที่แท้จริง.”—2 ติโมเธียว 3:1-5, พระวจนะสำหรับยุคใหม่.
ปี 1914—หัวเลี้ยวหัวต่อในประวัติศาสตร์
30, 31. (ก) ผู้คนในสมัยก่อนปี 1914 มองเห็นสภาพการณ์ของโลกเป็นอย่างไร และเขาคิดว่าอนาคตจะเป็นเช่นไร? (ข) นอกจากสัญลักษณ์แล้ว พระคัมภีร์ยังมีอะไรอื่นอีกที่จะชี้ให้เห็นว่าเราอยู่ใน “ยุคสุดท้าย”?
30 โลกที่ยุ่งยากซึ่งกล่าวไว้ล่วงหน้าในคัมภีร์ไบเบิลนั้นอยู่ไกลจากความคิดนึกของผู้คนสมัยก่อนปี 1914. คอนราด อะเดเนาเออร์ รัฐบุรุษชาวเยอรมันกล่าวว่า “ความคิดและภาพต่าง ๆ ปรากฏขึ้นในจิตใจของผม . . . ความคิดถึงปีเหล่านั้นก่อนปี 1914 เมื่อโลกเราสงบสุขจริง ๆ และมีความปลอดภัย—สมัยเมื่อเราไม่รู้จักความกลัว. . . . ความปลอดภัยและความสงบได้สลายไปจากชีวิตของมนุษย์ตั้งแต่ปี 1914.”25 ฮาโรลด์ แม็คมิลแลน รัฐบุรุษชาวอังกฤษรายงานว่า “ผู้คนสมัยก่อนปี 1914 คิดว่าอนาคต “จะดีขึ้นเรื่อยไป.”26 หนังสือปี 1913: อเมริการะหว่างสองโลก บอกว่า “ไบรอัน รัฐมนตรีต่างประเทศกล่าว [เมื่อปี 1913] ว่า ‘เวลานี้สภาพการณ์ซึ่งส่อเค้าว่าทั่วโลกจะมีสันติสุขนั้นกำลังราบรื่นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน.’”27
31 ดังนั้น กระทั่งจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 อยู่ทีเดียว พวกผู้นำของโลกต่างก็พูดถึงยุคแห่งความก้าวหน้า. แต่คัมภีร์ไบเบิลบอกล่วงหน้าถึงสภาพตรงกันข้าม—สงครามปี 1914-1918 ส่อลักษณะสำคัญว่า “คราวที่สุด” ได้เริ่มขึ้นแล้ว. (2 ติโมเธียว 3:1) นอกจากนั้นมีหลักฐานในพระคัมภีร์บอกลำดับวันเดือนปีที่ว่า ราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์ของพระเจ้ากำเนิดในปี 1914 ต่อจากนั้นจะเป็นความยุ่งยากของโลกอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน.28 แต่มีใครไหมซึ่งมีชีวิตในช่วงนั้นรู้ว่า ปี 1914 จะเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญในประวัติศาสตร์?
32. (ก) บรรดาผู้ที่เข้าใจลำดับเวลาตามที่ระบุอยู่ในคัมภีร์ไบเบิลนั้นได้พูดอย่างไรถึงปี 1914 เป็นเวลาหลายสิบปีก่อนหน้านั้น? (ข) ตามแผนภูมิในหนังสือนี้ แหล่งอื่น ๆ รายงานไว้อย่างไรเกี่ยวกับปี 1914?
32 หลายปีก่อนปีนั้น มีองค์การหนึ่งได้ประกาศความสำคัญของปี 1914. วารสาร นิวยอร์ก เวิลด์ ประจำวันที่ 30 สิงหาคม 1914 ชี้แจงว่า “สงครามที่น่าสยดสยองซึ่งระเบิดขึ้นในยุโรปนั้นสมจริงตามคำพยากรณ์อย่างน่าทึ่งทีเดียว. เวลายี่สิบห้าปีผ่านไป พวกนักศึกษาพระคัมภีร์นานาชาติ [พยานพระยะโฮวา] . . . ได้ประกาศแก่โลก โดยผู้ประกาศและโดยสรรพหนังสือว่า วันแห่งความพิโรธตามที่พยากรณ์ไว้ในคัมภีร์ไบเบิลนั้นจะเริ่มขึ้นในปี 1914.”29
ประชาชนที่ทำให้คำพยากรณ์สมจริง
33. พยานพระยะโฮวากำลังทำให้ส่วนไหนของสัญลักษณ์นั้นสำเร็จสมจริง?
33 พระคัมภีร์บอกล่วงหน้าไว้ด้วยว่า “เมื่อถึงสมัยสุดท้ายนั้น” ประชาชนจากทุกชาติจะพากันขึ้นไปยัง “ภูเขาแห่งพระยะโฮวา” โดยนัย จากที่นั่นพระองค์จะ “ทรงสอน [พวกเขา] ให้รู้จักวิถีทางของพระองค์.” คำพยากรณ์นั้นบอกว่า ผลสืบเนื่องจากคำสั่งสอนนั้นอย่างหนึ่งคือ “เขาทั้งหลายจะเอาดาบของเขาตีเป็นผาลไถนา และเอาหอกตีเป็นขอสำหรับลิดแขนง. . . . และ “เขาจะไม่ศึกษายุทธศาสตร์อีกต่อไป.” (ยะซายา 2:2-4) ประวัติของพยานพระยะโฮวาเกี่ยวกับเรื่องสงครามนั้นเป็นการสำเร็จสมจริงตามคำพยากรณ์ข้อนี้.
34. มีหลักฐานอะไรแสดงว่าพยานพระยะโฮวาได้ “ตีดาบเป็นผาลไถนา”?
34 มาร์ติน นีเมอล์เลอร์ ผู้นำนิกายโปรเตสแตนต์ในเยอรมนีก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้กล่าวพาดพิงถึงพยานพระยะโฮวาว่า เป็น “นักศึกษาพระคัมภีร์ซึ่งถูกส่งเข้าค่ายกักกันเป็นจำนวนหลายพันคนและเขาตายเพราะเขาไม่ยอมทำสงคราม.” เพื่อให้เห็นความแตกต่าง เขาเขียนว่า “คริสต์จักรต่าง ๆ ทุกยุคทุกสมัย กลับเป็นฝ่ายให้ศีลให้พรแก่สงคราม กองทหาร และอาวุธ . . . พวกเขาอธิษฐานขอให้ศัตรูพินาศซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสำหรับคริสเตียน.”30 ดังนั้นแล้ว ใครประพฤติตามมาตรฐานที่พระเยซูทรงกำหนดไว้สำหรับคริสเตียนแท้? พระองค์ตรัสว่า “คนทั้งปวงจะรู้ได้ว่า เจ้าเป็นเหล่าสาวกของเรา ก็เพราะว่าเจ้าทั้งหลายรักซึ่งกันและกัน.” (โยฮัน 13:35) 1 โยฮัน 3:10-12 ระบุไว้ชัดเจนว่า ผู้รับใช้ของพระเจ้าไม่ฆ่ากัน.
35. (ก) อะไรทำให้พยานพระยะโฮวาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน? (ข) ความจงรักภักดีที่พวกเขามีต่อราชอาณาจักรของพระเจ้ามีเหตุผลสมควรตามพระคัมภีร์ไหม?
35 การแสดงความจงรักภักดีต่อราชอาณาจักรของพระเจ้า และการยึดมั่นกับหลักการในพระคัมภีร์นี้เองทำให้พยานพระยะโฮวากลมเกลียวเป็นภราดรภาพทั่วโลก. พวกเขารับรองเต็มที่ในสิ่งที่พระคัมภีร์สอน เป็นต้นว่า: ราชอาณาจักรของพระเจ้าเป็นรัฐบาลจริง ๆ ซึ่งมีกฎหมายและอำนาจ และในไม่ช้าจะปกครองแผ่นดินโลกทั้งสิ้น. ราชอาณาจักรนั้นมีพลเมืองหลายล้านคนอยู่แล้วบนแผ่นดินโลกและทวีขึ้นเรื่อย ๆ ผู้ซึ่งรับการอบรมเพื่อเป็นรากฐานของอารยธรรมที่จะมีขึ้นในไม่ช้า. ผู้พยากรณ์ดานิเอลได้รับการดลใจให้เขียนเกี่ยวกับราชอาณาจักรนั้นว่า “พระเจ้าแห่งสรวงสวรรค์จะทรงตั้งอาณาจักรอันหนึ่งขึ้นซึ่งจะไม่มีวันทำลายเสียได้ . . . อาณาจักรนี้จะทำลายอาณาจักรอื่น ๆ ลงให้ย่อยยับและเผาผลาญเสียสิ้น และอาณาจักรนี้จะดำรงอยู่เป็นนิจ.” (ดานิเอล 2:44) พระเยซูให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกแก่ราชอาณาจักรนั้นเมื่อพระองค์สอนว่า “ท่านทั้งหลายจงอธิษฐานตามอย่างนี้ว่า “โอ พระบิดาแห่งข้าพเจ้าทั้งหลายผู้สถิตในสวรรค์ . . . ขอให้แผ่นดินของพระองค์มาตั้งอยู่.’”—มัดธาย 6:9, 10.
36. (ก) พระเจ้าประสงค์ให้โฆษณาเรื่องอะไร? (ข) ใครทำเช่นนั้น?
36 เหตุการณ์หลายอย่างที่สมจริงตามคำพยากรณ์ของพระคัมภีร์ นับตั้งแต่ปี 1914 เป็นต้นมา แสดงว่าในไม่ช้า ราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์ของพระเจ้าจะทำให้รัฐบาลอื่น ๆ สิ้นสุดลง. พระเจ้าประสงค์จะให้มีการประกาศข้อเท็จจริงนี้ ดังที่ส่วนสำคัญแห่งสัญลักษณ์ระบุไว้ว่า “ข่าวดีแห่งราชอาณาจักร นี้จะได้รับการประกาศทั่วแผ่นดินโลกที่มีผู้คนอาศัยอยู่ เพื่อให้คำพยานแก่ทุกชาติ แล้วจุดอวสานจะมาถึง.” (มัดธาย 24:14, ล.ม.) พยานพระยะโฮวาหลายล้านคนทั่วโลกกำลังทำให้คำพยากรณ์ข้อนี้สมจริงอยู่ในขณะนี้.
37. ทำไมอวสานของระบบนี้ที่จะสิ้นสุด ณ อาร์มาเก็ดดอนจึงเป็นข่าวดี?
37 เมื่อการประกาศราชอาณาจักรนั้นสำเร็จแล้ว พระเยซูตรัสว่าโลกจะได้เห็น “ความทุกข์ลำบากใหญ่ยิ่งซึ่งไม่เคยมีตั้งแต่เดิมโลกมาจนบัดนี้ หรือในเบื้องหน้าจะไม่มีต่อไปอีก.” เหตุการณ์นี้จะถึงจุดสุดยอดในสงครามอาร์มาเก็ดดอน เมื่อนั้นแหละอิทธิพลชั่วของซาตานจะถึงกาลอวสาน. สงครามอาร์มาเก็ดดอนจะชำระแผ่นดินโลกทั้งสิ้นมิให้คนชั่วช้าเหลือรอด และจะเปิดทางไว้สำหรับอุทยานที่จะมีมาซึ่งเป็นที่ที่ “ความชอบธรรมจะดำรงอยู่.”—มัดธาย 24:21; 2 เปโตร 3:13; วิวรณ์ 16:14-16; 12:7-12; 2 โกรินโธ 4:4.
38. (ก) ประวัติบันทึกของพระคัมภีร์เกี่ยวด้วยคำพยากรณ์ซึ่งสำเร็จสมจริงแล้วนั้นพิสูจน์อะไร? (ข) คำพยากรณ์เกี่ยวกับอนาคตสมควรได้รับอะไร?
38 เมื่อคำพยากรณ์ได้สำเร็จไปแล้วหลายข้อ ปรากฏชัดว่าพระคัมภีร์เป็นหนังสือที่ “ได้รับการดลบันดาลจากพระเจ้า.” (2 ติโมเธียว 3:16, ล.ม.) ดังนั้น จงรับรองเอาพระคัมภีร์ ไม่ใช่ “อย่างเป็นคำของมนุษย์ แต่ได้รับไว้อย่างเป็นคำของพระเจ้า แล้วก็เป็นคำอย่างนั้นจริง ๆ ด้วย.” (1 เธซะโลนิเก 2:13) เนื่องจากพระยะโฮวาพระเจ้าผู้ประพันธ์พระคัมภีร์เป็น “ผู้บอกเล่าตั้งแต่ต้นว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นตอนปลาย” คุณมั่นใจได้ในคำพยากรณ์ซึ่งจะสมจริงในอนาคต. (ยะซายา 46:10) สิ่งที่จะมีมานั้นน่าพิศวงดังที่คุณจะทราบจากบทถัดไป.
[คำโปรยหน้า 216]
คำพยากรณ์สำเร็จสมจริงก่อให้เกิดความมั่นใจ
[คำโปรยหน้า 222]
พระเยซูทรงพยากรณ์ไว้ว่า กรุงยะรูซาเลมจะถูกทำลาย
[คำโปรยหน้า 226]
เหตุการณ์ทุกอย่างที่ประกอบกันเป็นสัญลักษณ์นั้น คนในชั่วอายุหนึ่งได้สังเกตเห็น
[คำโปรยหน้า 227]
“ก่อนปี 1914 . . . โลกเราสงบสุขจริง ๆ และมีความปลอดภัย”
[คำโปรยหน้า 229]
“เขาจะไม่ศึกษายุทธศาสตร์อีกต่อไป”
[คำโปรยหน้า 231]
พระคัมภีร์พิสูจน์ความน่าเชื่อถือว่า เป็นหนังสือที่พระผู้สร้างทรงดลบันดาล
[กรอบหน้า 228]
หัวเลี้ยวหัวต่อในประวัติศาสตร์
แม้แต่ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองเสียด้วยซ้ำ หลายคนอ้างถึงปี 1914 ว่าเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญในประวัติศาสตร์สมัยปัจจุบัน เช่น:
“อันที่จริง ปี 1914 เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อในสมัยของเรายิ่งกว่าปีที่เกิดเหตุการณ์ในฮิโรชิมา.”—เรเน อัลเบรช์ท แกรี เดอะ ไซเยนติฟิค มันธ์ลิ กรกฎาคม 1951.
“ตั้งแต่ปี 1914 เรื่อยมา ทุกคนที่ตระหนักในแนวโน้มของโลกต่างก็เป็นทุกข์กังวลเนื่องจากสิ่งที่ดูเหมือนว่าเป็นชะตากรรมและต้องเดินไปสู่ความหายนะอันร้ายแรงยิ่งขึ้นซึ่งถูกกำหนดไว้ล่วงหน้า. สุจริตชนหลายคนมีความรู้สึกว่าไม่อาจทำอะไรได้ที่จะยับยั้งการไปสู่ความพินาศ. เขามองเห็นเผ่าพันธุ์มนุษย์เปรียบได้กับวีรบุรุษชาวกรีกที่ถูกเทพยเจ้ากรีกพิโรธแล้วขับไล่เขา จึงไม่สามารถควบคุมชะตากรรมอีกต่อไป.”—เบอร์ทแรนด์ รัสเซล. นิตยสารนิวยอร์ก ไทมส์ วันที่ 27 กันยายน 1953.
“ยุคปัจจุบัน . . . เริ่มในปี 1914 และไม่มีใครรู้ว่ามันจะสิ้นสุดลงเมื่อไรหรืออย่างไร. . . . มันอาจจบลงด้วยการทำลายล้างครั้งใหญ่ก็ได้.”—เดอะ ซีแอ็ทเติล ไทมส์ 1 มกราคม 1959.
“ในปี 1914 โลกตามที่รู้จักและยอมรับกันในสมัยนั้นได้มาถึงซึ่งจุดอวสานแล้ว.”—เจมส์ คาเมรอน 1914 พิมพ์ในปี 1959.
“โลกสมัยปี 1914 ยับเยินอย่างแท้จริง และเรายังไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร. ตอนนั้นหวังจะสุขสบายทุกอย่าง. โลกสงบสุขรุ่งเรือง. ครั้นแล้วทุกสิ่งก็พลิกผัน. ตั้งแต่นั้นมาเราอยู่ในภาวะที่ชะงักงัน.”—ดร. วอล์คเกอร์ เพอร์ซี. อเมริกัน เมดิคัล นิวส์ วันที่ 21 พฤศจิกายน 1977.
“ในปี 1914 โลกได้สูญเสียความสัมพันธ์ไปแล้ว ซึ่งไม่กลับคืนสู่สภาพเดิมตั้งแต่นั้น. . . . นี้เป็นยุคที่โกลาหลและรุนแรงผิดปกติ ไม่ว่าจะข้ามพรมแดนไปประเทศอื่น หรือแม้แต่ภายในประเทศก็ตาม.”—เดอะ อิโคโนมิสท์, ลอนดอน วันที่ 4 สิงหาคม 1979.
“ในปี 1914 อารยธรรมเริ่มทรุดหนักและบางทีอาจจะอยู่ในระยะที่ไม่ฟื้นขึ้นอีก.”—แฟรงค์ ปีเตอร์ส เซนต์หลุยส์ โพสท์—ดิสแพ็ทช วันที่ 27 มกราคม 1980.
“ทุกสิ่งทุกอย่างคงจะดีขึ้นเรื่อย ๆ. นั่นคือโลกที่ผมเกิดมาทันเห็น. . . . แต่ทันใดนั้น โดยไม่คาดฝัน เช้าวันหนึ่งในปี 1914 ทุกสิ่งก็ได้มาสิ้นสุดลง.”—ฮาโรลด์ แมคมิลลัน รัฐบุรุษอังกฤษ เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ 23 พฤศจิกายน 1980.
[ภาพหน้า 217]
การถมทะเลสร้างทางไปเมืองตุโรบนเกาะทำให้คำพยากรณ์ในพระคัมภีร์สำเร็จสมจริง
[ภาพหน้า 218]
การเบี่ยงกระแสน้ำในแม่น้ำยูเฟรติสให้แห้งนั้นทำให้คำพยากรณ์ในพระคัมภีร์สำเร็จสมจริง
[ภาพหน้า 219]
กระบอกดินเหนียวทรงกลมนี้ของไซรัส (ภาพตั้งตรง) บรรยายเรื่องที่ไซรัสจัดส่งเชลยกลับคืนประเทศ
[ภาพหน้า 220]
เหรียญตราทองคำแสดงภาพอเล็กซานเดอร์มหาราช ซึ่งการกระทำของเขาได้แจ้งไว้ล่วงหน้าแล้วในคำพยากรณ์
[ภาพหน้า 221]
พระเยซูคงไม่อาจจัดเตรียมให้สมจริงตามคำพยากรณ์ซึ่งเล็งถึงพระองค์
[ภาพหน้า 223]
ภาพรอยนูนบนกำแพงภายในประตูโค้งครึ่งวงกลมของไททุส เป็นภาพการขนย้ายสมบัติหลังจากยะรูซาเลมถูกทำลายแล้ว เป็นสิ่งเตือนความจำที่ปราศจากสำเนียง
[ภาพหน้า 230]
เมื่อระบบนี้สิ้นสุดลง ผู้รอดชีวิตจะเข้าสู่ระบบใหม่แห่งความชอบธรรม