บท 18
ควรอุทิศตัวให้พระเจ้าและรับบัพติศมาไหม?
1. หลังจากที่ได้เรียนมาถึงตอนนี้ คุณอาจตัดสินใจที่จะทำอะไร?
คุณได้เรียนความจริงหลายอย่างที่อยู่ในคัมภีร์ไบเบิลจากหนังสือเล่มนี้แล้ว เช่น คำสัญญาของพระเจ้าเรื่องชีวิตตลอดไป ตายแล้วเป็นอย่างไร และความหวังเรื่องการฟื้นขึ้นจากตาย (ปัญญาจารย์ 9:5; ลูกา 23:43; ยอห์น 5:28, 29; วิวรณ์ 21:3, 4) คุณอาจเริ่มไปประชุมกับพยานพระยะโฮวาแล้ว และเชื่อว่าพวกเขานมัสการพระเจ้าในแบบที่ถูกต้อง (ยอห์น 13:35) คุณอาจเริ่มสนิทกับพระยะโฮวาและตัดสินใจแล้วว่าอยากรับใช้พระองค์ ตอนนี้คุณอาจคิดว่า ‘ฉันควรทำอะไรถ้าอยากรับใช้พระเจ้า?’
2. ทำไมผู้ชายชาวเอธิโอเปียอยากรับบัพติศมา?
2 ผู้ชายชาวเอธิโอเปียคนหนึ่งที่อยู่ในสมัยพระเยซูก็คิดอย่างนั้นเหมือนกัน หลังจากพระเยซูถูกปลุกให้ฟื้นจากตายได้ไม่นาน ฟีลิปสาวกของพระเยซูประกาศกับผู้ชายคนนี้และช่วยให้เขาเห็นหลักฐานว่าพระเยซูคือเมสสิยาห์ เขารู้สึกประทับใจมากจนพูดว่า “ดูสิ ที่นี่มีน้ำด้วย มีอะไรไหมที่ทำให้ผมยังรับบัพติศมาไม่ได้?”—กิจการ 8:26-36
3. (ก) พระเยซูสั่งให้สาวกทำอะไร? (ข) การรับบัพติศมาต้องทำอย่างไร?
3 คัมภีร์ไบเบิลสอนชัดเจนว่าถ้าคุณอยากรับใช้พระยะโฮวา คุณต้องรับบัพติศมา พระเยซูบอกสาวกของท่านว่า “ให้พวกคุณไปสอนคนทุกชาติให้เป็นสาวก ให้พวกเขารับบัพติศมา” (มัทธิว 28:19) พระเยซูทำเป็นตัวอย่างในเรื่องนี้โดยที่ท่านเองก็รับบัพติศมาด้วย ท่านจุ่มตัวมิดในน้ำ ไม่ใช่แค่พรมหรือรดน้ำลงบนหัว (มัทธิว 3:16) ทุกวันนี้ก็เหมือนกัน เมื่อคริสเตียนรับบัพติศมา เขาต้องจุ่มตัวให้มิดในน้ำ
4. เมื่อคุณรับบัพติศมา คุณทำให้คนอื่นรู้อะไร?
4 การรับบัพติศมาเป็นการทำให้คนอื่นรู้ว่าคุณอยากเป็นเพื่อนกับพระเจ้าและอยากรับใช้พระองค์จริง ๆ (สดุดี 40:7, 8) แต่คุณอาจสงสัยว่า ‘ฉันต้องทำอย่างไรถ้าอยากรับบัพติศมา?’
ความรู้และความเชื่อ
5. (ก) เพื่อคุณจะรับบัพติศมาได้ คุณต้องทำอะไรก่อน? (ข) ทำไมการเข้าร่วมประชุมเป็นประจำจึงสำคัญ?
5 เพื่อคุณจะรับบัพติศมาได้ คุณต้องรู้จักพระยะโฮวาและพระเยซูก่อน และคุณก็ได้ทำขั้นตอนนี้แล้วเมื่อคุณเริ่มเรียนคัมภีร์ไบเบิล (อ่านยอห์น 17:3) แต่แค่นี้ยังไม่พอ คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าคุณต้อง “มีความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับความประสงค์ของพระเจ้า” (โคโลสี 1:9) การประชุมของพยานพระยะโฮวาจะช่วยคุณให้รู้จักและใกล้ชิดพระยะโฮวามากขึ้น และนี่เป็นเหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งที่คุณต้องประชุมกับพยานพระยะโฮวาเป็นประจำ—ฮีบรู 10:24, 25
6. คุณต้องรู้เรื่องในคัมภีร์ไบเบิลมากน้อยแค่ไหนถึงจะรับบัพติศมาได้?
6 พระยะโฮวาไม่ได้คาดหมายว่าคุณต้องรู้ทุกอย่างในคัมภีร์ไบเบิลก่อนถึงจะรับบัพติศมาได้ เหมือนที่พระองค์ไม่ได้คาดหมายว่าผู้ชายชาวเอธิโอเปียคนนั้นจะต้องรู้ทุกอย่างก่อนที่จะรับบัพติศมา (กิจการ 8:30, 31) ที่จริง เราไม่มีวันเรียนรู้เกี่ยวกับพระยะโฮวาได้หมด (ปัญญาจารย์ 3:11) แต่ก่อนที่คุณจะรับบัพติศมาได้ คุณต้องรู้และยอมรับคำสอนพื้นฐานในคัมภีร์ไบเบิล—ฮีบรู 5:12
7. ก่อนที่จะรับบัพติศมาคุณต้องมีอะไรอีก? และการเรียนคัมภีร์ไบเบิลช่วยคุณอย่างไร?
7 คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “ถ้าไม่มีความเชื่อก็ไม่มีทางทำให้พระเจ้าพอใจได้” (ฮีบรู 11:6) ดังนั้น ก่อนที่จะรับบัพติศมาคุณต้องมีความเชื่อในพระเจ้าด้วย คัมภีร์ไบเบิลบอกเราว่าชาวเมืองโครินธ์บางคนในอดีตได้ฟังสาวกของพระเยซูสอน “แล้วก็เชื่อและรับบัพติศมา” (กิจการ 18:8) คล้ายกัน การเรียนคัมภีร์ไบเบิลช่วยให้คุณมีความเชื่อในคำสัญญาต่าง ๆ ของพระเจ้าและเชื่อว่าค่าไถ่ของพระเยซูช่วยให้หลุดพ้นจากบาปและความตายได้—โยชูวา 23:14; กิจการ 4:12; 2 ทิโมธี 3:16, 17
บอกความจริงในคัมภีร์ไบเบิลให้คนอื่นรู้
8. ทำไมคุณอยากบอกคนอื่นถึงสิ่งที่ได้เรียน?
8 เมื่อคุณเรียนคัมภีร์ไบเบิลมากขึ้นและเห็นว่าความรู้ในคัมภีร์ไบเบิลช่วยทำให้ชีวิตคุณดีขึ้น ความเชื่อของคุณก็จะเพิ่มมากขึ้น คุณคงอยากบอกคนอื่นเกี่ยวกับสิ่งที่คุณได้เรียน (เยเรมีย์ 20:9; 2 โครินธ์ 4:13) แต่คุณจะบอกใครได้บ้าง?
9, 10. (ก) คุณจะบอกใครได้บ้างเกี่ยวกับสิ่งที่คุณได้เรียน? (ข) คุณต้องทำอย่างไรถ้าอยากไปประกาศกับพี่น้องในประชาคม?
9 คุณอาจอยากบอกคนในครอบครัว ญาติ ๆ เพื่อน ๆ เพื่อนบ้าน หรือเพื่อนที่ทำงานเกี่ยวกับสิ่งที่ได้เรียน ดีแล้วที่คุณอยากทำอย่างนั้น แต่คุณต้องค่อย ๆ คุยกับเขาและทำให้เขารู้ว่าที่คุณบอกเขาก็เพราะคุณรักเขา เมื่อถึงเวลาที่คุณรู้สึกว่าพร้อมจะไปประกาศกับพี่น้องในประชาคม ก็ให้บอกคนที่สอนคัมภีร์ไบเบิลให้คุณว่าคุณอยากไปประกาศแล้ว ถ้าเขาเห็นว่าคุณพร้อมและได้ปรับเปลี่ยนชีวิตให้ตรงกับมาตรฐานในคัมภีร์ไบเบิลแล้ว เขากับคุณจะไปคุยกับผู้ดูแล 2 คน
10 ผู้ดูแลจะคุยอะไรกับคุณ? พวกเขาจะดูว่าคุณเข้าใจและเชื่อคำสอนพื้นฐานในคัมภีร์ไบเบิลไหม คุณเอาสิ่งที่เรียนจากคัมภีร์ไบเบิลไปใช้ในชีวิตไหม และคุณอยากเป็นพยานพระยะโฮวาจริง ๆ ไหม ขอจำไว้ว่าผู้ดูแลมีหน้าที่ดูแลทุกคนในประชาคมซึ่งรวมถึงคุณด้วย ดังนั้น คุณไม่ต้องกลัวที่จะคุยกับพวกเขา (กิจการ 20:28; 1 เปโตร 5:2, 3) หลังจากที่คุณคุยกับผู้ดูแลแล้ว พวกเขาจะบอกว่าคุณพร้อมแล้วไหมที่จะไปประกาศกับพี่น้องในประชาคม
11. ทำไมเป็นเรื่องสำคัญที่คุณต้องปรับเปลี่ยนตัวเองก่อนจะไปประกาศกับพี่น้องในประชาคม?
11 ผู้ดูแลอาจบอกว่ายังมีบางอย่างที่คุณต้องเปลี่ยนก่อนที่จะไปประกาศกับพี่น้องในประชาคมได้ ทำไมสำคัญที่เราต้องเปลี่ยน? เพราะเมื่อเราไปพูดคุยกับคนอื่นเรื่องพระยะโฮวา เราเป็นตัวแทนของพระองค์และเราต้องใช้ชีวิตในแบบที่ทำให้พระองค์ได้รับการยกย่องสรรเสริญ—1 โครินธ์ 6:9, 10; กาลาเทีย 5:19-21
กลับใจและเปลี่ยนแปลงชีวิตใหม่
12. ทำไมเราทุกคนต้องกลับใจ?
12 ยังมีอย่างอื่นอีกที่คุณต้องทำก่อนที่จะรับบัพติศมาได้ อัครสาวกเปโตรบอกว่า “ให้กลับใจและเปลี่ยนแปลงชีวิตใหม่ เพื่อบาปของพวกคุณจะถูกลบล้าง” (กิจการ 3:19) การกลับใจหมายความว่าอย่างไร? การกลับใจหมายความว่า คุณรู้สึกเสียใจจริง ๆ กับความผิดทุกอย่างที่เคยทำไป เช่น ถ้าคุณเคยใช้ชีวิตแบบผิดศีลธรรมทางเพศ คุณต้องกลับใจ และถึงแม้คุณอาจคิดว่าตลอดชีวิตที่ผ่านมาคุณไม่เคยทำอะไรผิด คุณก็ยังต้องกลับใจอยู่ดี เพราะเราทุกคนมีบาปมาตั้งแต่เกิดและต้องขอให้พระเจ้าอภัยให้เรา—โรม 3:23; 5:12
13. การ “เปลี่ยนแปลงชีวิตใหม่” หมายความว่าอย่างไร?
13 แค่รู้สึกเสียใจกับความผิดที่ได้ทำไปพอไหม? ไม่พอ เปโตรบอกว่าคุณต้อง “เปลี่ยนแปลงชีวิตใหม่” ด้วย นี่หมายความว่าคุณต้องเลิกใช้ชีวิตแบบผิด ๆ และตั้งแต่นี้เป็นต้นไปคุณจะตั้งใจทำแต่สิ่งที่ถูกต้อง เพื่อให้เข้าใจชัดขึ้นลองนึกภาพว่าคุณกำลังขับรถไปที่หนึ่งที่ไม่เคยไปมาก่อน ขับไปได้สักพักคุณก็รู้ตัวว่ามาผิดทาง คุณจะทำอย่างไร? คุณคงชะลอรถ แล้วหยุด จากนั้นก็กลับรถ แล้วขับไปตามเส้นทางใหม่ที่ถูกต้อง คล้ายกัน เมื่อคุณเรียนคัมภีร์ไบเบิล ถ้าคุณรู้ว่ายังมีนิสัยบางอย่างที่ต้องเปลี่ยนหรือยังทำผิดบางอย่างอยู่ คุณก็ต้องเลิกทำสิ่งนั้น กลับตัว พยายาม “เปลี่ยนแปลงชีวิตใหม่” และตั้งใจทำแต่สิ่งที่ถูกต้อง
การอุทิศตัว
14. การอุทิศตัวให้พระเจ้าต้องทำอย่างไร?
14 ขั้นตอนสำคัญอีกขั้นตอนหนึ่งที่คุณต้องทำก่อนจะรับบัพติศมาคือการอุทิศตัวให้พระยะโฮวา การอุทิศตัวหมายถึงการที่คุณอธิษฐานบอกพระยะโฮวาว่า คุณสัญญาว่าจะนมัสการพระองค์เท่านั้นและจะให้ความต้องการของพระองค์สำคัญที่สุดในชีวิตคุณ—เฉลยธรรมบัญญัติ 6:15
15, 16. อะไรจะกระตุ้นเราให้อุทิศตัวให้พระเจ้า?
15 การสัญญาว่าจะรับใช้พระยะโฮวาองค์เดียวเท่านั้นก็เหมือนกับการสัญญาว่าต่อไปนี้คุณจะใช้ชีวิตที่เหลือกับคนที่คุณรัก ลองนึกภาพผู้ชายกับผู้หญิงที่กำลังคบหาดูใจกัน ยิ่งเขารู้จักผู้หญิงคนนั้นมากขึ้น เขาก็ยิ่งรักเธอมากขึ้นและตัดสินใจแต่งงานกับเธอ ถึงแม้เขารู้ว่านี่เป็นการตัดสินใจครั้งใหญ่ในชีวิต และเขาต้องรับผิดชอบกับการตัดสินใจครั้งนี้ แต่เขาก็เต็มใจเพราะเขารักเธอ
16 เมื่อคุณได้รู้จักพระยะโฮวา คุณก็รักพระองค์และอยากรับใช้พระองค์ให้ดีที่สุด ความรู้สึกนี้จะกระตุ้นคุณให้อุทิศตัวโดยการอธิษฐานสัญญากับพระยะโฮวาว่าคุณจะรับใช้พระองค์ คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าคนที่อยากติดตามพระเยซูต้อง “เลิกใช้ชีวิตเพื่อตัวเอง” (มาระโก 8:34) นี่หมายความว่าอย่างไร? หมายความว่าคุณจะให้การเชื่อฟังพระยะโฮวาเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต และให้ความต้องการของพระยะโฮวาสำคัญยิ่งกว่าเป้าหมายในชีวิตของคุณหรือความต้องการของคุณเอง—อ่าน 1 เปโตร 4:2
อย่ากลัวว่าจะทำไม่ได้
17. ทำไมบางคนไม่ยอมอุทิศตัวให้พระยะโฮวา?
17 บางคนไม่กล้าอุทิศตัวให้พระยะโฮวาเพราะกลัวว่าจะรับใช้พระองค์ตามที่สัญญาไว้ไม่ได้ พวกเขาไม่อยากทำให้พระยะโฮวาผิดหวัง หรือพวกเขาอาจคิดว่าถ้าไม่อุทิศตัวให้พระยะโฮวา เขาก็ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรต่อพระเจ้า
18. ทำไมคุณไม่ต้องกลัวว่าจะทำให้พระยะโฮวาผิดหวัง?
18 ถ้าคุณรักพระยะโฮวา คุณจะทำสุดความสามารถเพื่อรักษาคำสัญญาที่ให้ไว้กับพระองค์ และถ้าคุณทำอย่างนั้น คุณก็ไม่ต้องกลัวว่าจะทำให้พระองค์ผิดหวัง (ปัญญาจารย์ 5:4; โคโลสี 1:10) นอกจากนั้น คุณจะไม่คิดว่าการทำตามความต้องการของพระยะโฮวานั้นยากเกินไป อัครสาวกยอห์นเขียนว่า “การรักพระเจ้าหมายถึงการเชื่อฟังคำสั่งของพระองค์ และคำสั่งของพระองค์ไม่ยากเกินไป”—1 ยอห์น 5:3
19. ทำไมคุณไม่ต้องกลัวที่จะอุทิศตัวให้พระยะโฮวา?
19 คุณไม่ต้องรอให้ตัวเองดีพร้อมทุกอย่างก่อนแล้วค่อยอุทิศตัวให้พระยะโฮวา พระองค์ไม่เคยคาดหมายให้เราทำสิ่งที่เราทำไม่ได้ (สดุดี 103:14) พระองค์สัญญาว่าจะช่วยคุณให้ทำสิ่งที่ถูกต้อง (อิสยาห์ 41:10) ขอให้คุณวางใจในพระยะโฮวาสุดหัวใจ และ “พระองค์จะทำให้ชีวิตราบรื่น”—สุภาษิต 3:5, 6
ประกาศอย่างเปิดเผยว่าคุณได้อุทิศตัวแล้ว
20. หลังจากที่อุทิศตัวให้พระยะโฮวาแล้ว ขั้นตอนต่อไปคืออะไร?
20 คุณคิดว่าคุณพร้อมจะอุทิศตัวให้พระยะโฮวาแล้วไหม? หลังจากที่ได้อุทิศตัวให้พระยะโฮวาแล้ว คุณก็พร้อมสำหรับขั้นตอนต่อไป คือการรับบัพติศมา
21, 22. คุณจะ “ประกาศความเชื่อด้วยปากอย่างเปิดเผย” ตอนไหน?
21 ถ้าคุณอยากรับบัพติศมา คุณจะทำอย่างไร? คุณต้องไปบอกผู้ประสานงานคณะผู้ดูแลในประชาคมของคุณว่า คุณได้อุทิศตัวให้พระยะโฮวาแล้วและอยากรับบัพติศมา แล้วเขาจะให้ผู้ดูแลบางคนทบทวนคำสอนพื้นฐานของคัมภีร์ไบเบิลกับคุณ ถ้าพวกเขาเห็นว่าคุณพร้อมแล้ว พวกเขาจะบอกคุณว่าคุณจะรับบัพติศมาได้ในการประชุมใหญ่ครั้งถัดไป ที่การประชุมใหญ่จะมีคำบรรยายที่อธิบายความหมายของการรับบัพติศมา และผู้บรรยายจะถามคำถามคนที่จะรับบัพติศมา 2 ข้อ ตอนที่คุณตอบคำถาม คุณก็กำลัง “ประกาศความเชื่อด้วยปากอย่างเปิดเผย”—โรม 10:10
22 หลังจากนั้นคุณก็รับบัพติศมา คุณจะถูกจุ่มตัวให้มิดในน้ำ การรับบัพติศมาจะทำให้ทุกคนเห็นว่าคุณได้อุทิศตัวให้พระยะโฮวาแล้วและตอนนี้คุณก็ได้เข้ามาเป็นพยานพระยะโฮวาคนหนึ่ง
ความหมายของการรับบัพติศมา
23. การรับบัพติศมา “ในนามพระเจ้าผู้เป็นพ่อ ในนามลูกของพระองค์ และในนามพลังบริสุทธิ์” หมายความว่าอย่างไร?
23 พระเยซูบอกว่าสาวกของท่านต้องรับบัพติศมา “ในนามพระเจ้าผู้เป็นพ่อ ในนามลูกของพระองค์ และในนามพลังบริสุทธิ์” (อ่านมัทธิว 28:19) นี่หมายความว่าอย่างไร? หมายความว่าคุณยอมรับอำนาจของพระยะโฮวา ยอมรับบทบาทของพระเยซูที่เกี่ยวข้องกับความประสงค์ของพระเจ้า และยอมรับว่าพลังบริสุทธิ์เป็นพลังที่พระเจ้าใช้เพื่อทำให้ทุกสิ่งเป็นไปตามที่พระองค์ต้องการ—สดุดี 83:18; มัทธิว 28:18; กาลาเทีย 5:22, 23; 2 เปโตร 1:21
24, 25. (ก) สิ่งที่ทำตอนรับบัพติศมามีความหมายอย่างไร? (ข) ในบทสุดท้ายเราจะพิจารณาเรื่องอะไร?
24 สิ่งที่ทำตอนรับบัพติศมายังมีความหมายสำคัญบางอย่างด้วย การที่คุณจุ่มตัวมิดในน้ำหมายถึงคุณได้ตายหรือทิ้งรูปแบบชีวิตเดิมของคุณ เมื่อคุณโผล่ขึ้นจากน้ำหมายถึงคุณได้เริ่มชีวิตใหม่เพื่อทำตามความต้องการของพระเจ้า การทำอย่างนี้แสดงว่าตั้งแต่นี้เป็นต้นไปคุณจะรับใช้พระยะโฮวา ขอให้จำไว้เสมอว่าคุณไม่ได้อุทิศตัวให้กับมนุษย์ องค์กร หรืองาน แต่คุณอุทิศชีวิตของคุณให้กับพระยะโฮวา
25 การอุทิศตัวจะช่วยคุณให้ใกล้ชิดและสนิทกับพระเจ้ามากขึ้นเรื่อย ๆ (สดุดี 25:14) แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าเมื่อรับบัพติศมาแล้วก็จะรอดโดยอัตโนมัติ อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “ขอให้ทำทุกอย่างด้วยความนับถือและความเกรงกลัวเพื่อจะได้รับความรอด” (ฟีลิปปี 2:12) การรับบัพติศมาเป็นแค่การเริ่มต้นเพื่อจะได้รับความรอด แต่คุณจะทำให้ตัวเองใกล้ชิดและสนิทกับพระยะโฮวาเสมอได้อย่างไร? บทสุดท้ายจะให้คำตอบเรื่องนี้