พระธรรมเล่มที่ 57—ฟิเลโมน
ผู้เขียน: เปาโล
สถานที่เขียน: โรม
เขียนเสร็จ: ประมาณปี ส.ศ. 60-61
1. จดหมายถึงฟิเลโมนมีลักษณะเฉพาะอะไรบ้าง?
จดหมายที่ผ่อนสั้นผ่อนยาวและเต็มไปด้วยความรักของเปาโลฉบับนี้น่าสนใจมากสำหรับคริสเตียนในทุกวันนี้. จดหมายนี้ใช่ว่าเป็นเพียงจดหมายสั้นที่สุดจากมือของผู้ที่เป็น “อัครสาวกไปยังชาติต่าง ๆ” เท่านั้น แต่ในคัมภีร์ไบเบิลทั้งเล่ม มีแต่พระธรรมสองและสามโยฮันเท่านั้นที่มีเนื้อหาน้อยกว่านี้. นอกจากนั้น จดหมายนี้ยังเป็นจดหมาย “ส่วนตัว” ฉบับเดียวของเปาโล ในข้อที่ไม่ได้จ่าหน้าถึงประชาคมใดหรือผู้ปกครองคนใดอย่างเป็นทางการ แต่จ่าหน้าถึงบุคคลหนึ่งเป็นส่วนตัวและเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกับปัญหาพิเศษที่เปาโลต้องการพิจารณากับพี่น้องคริสเตียนคนนี้ คือฟิเลโมนซึ่งดูเหมือนมีฐานะดี อาศัยอยู่ที่เมืองโกโลซายในมณฑลฟรีเกีย (ฟรูเกีย) ใจกลางของเอเชียไมเนอร์.—โรม 11:13, ล.ม.
2. จดหมายถึงฟิเลโมนถูกเขียนขึ้นเนื่องด้วยสาเหตุอะไร และเพื่อจุดประสงค์อะไร?
2 วัตถุประสงค์ของจดหมายนี้มีเผยไว้อย่างชัดเจน: ระหว่างที่ถูกคุมขังครั้งแรกในโรม (ปี ส.ศ. 59-61) เปาโลมีอิสระไม่น้อยในการประกาศเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้า. ในหมู่ผู้ที่รับฟังการประกาศสั่งสอนของท่านก็มีโอเนซิมุส (โอเนซิโม) ทาสที่หนีจากเรือนฟิเลโมนเพื่อนของเปาโล. ผลก็คือโอเนซิมุสได้มาเป็นคริสเตียน และเปาโลได้ตัดสินใจโดยความเห็นชอบของโอเนซิมุสที่ให้ส่งเขากลับไปหาฟิเลโมน. เป็นในช่วงเวลานี้เช่นกันที่เปาโลเขียนจดหมายถึงประชาคมในเอเฟโซและโกโลซาย. ในจดหมายทั้งสองฉบับ ท่านให้คำแนะนำที่ดีแก่คริสเตียนซึ่งเป็นทาสและเจ้าของทาสในเรื่องวิธีประพฤติตนอย่างเหมาะสมในความสัมพันธ์แบบนี้. (เอเฟ. 6:5-9; โกโล. 3:22–4:1) อย่างไรก็ดี นอกจากนี้แล้ว เปาโลยังเขียนจดหมายฉบับหนึ่งถึงฟิเลโมนซึ่งท่านขอร้องเป็นส่วนตัวเพื่อเห็นแก่โอเนซิมุส. นั่นเป็นจดหมายที่ท่านเขียนด้วยตนเอง ซึ่งตามปกติแล้วเปาโลไม่ค่อยทำ. (ฟิเล. 19) การติดต่อเป็นส่วนตัวเช่นนี้เสริมน้ำหนักคำขอร้องของท่านมากทีเดียว.
3. เป็นไปได้อย่างยิ่งว่าจดหมายถึงฟิเลโมนเขียนเมื่อไร และถูกส่งโดยวิธีใด?
3 เป็นไปได้อย่างยิ่งว่าจดหมายนี้เขียนประมาณปี ส.ศ. 60-61 ขณะที่เปาโลดูเหมือนประกาศในโรมนานพอจะทำให้คนเปลี่ยนความเชื่อ. นอกจากนั้น เนื่องจากในข้อ 22 ท่านแสดงความหวังจะได้รับการปล่อยตัว เราจึงลงความเห็นได้ว่าจดหมายนี้ถูกเขียนหลังจากเปาโลถูกคุมขังแล้วระยะหนึ่ง. ปรากฏว่าจดหมายสามฉบับนี้ คือฉบับหนึ่งถึงฟิเลโมนและอีกสองฉบับถึงประชาคมในเอเฟโซและโกโลซาย ถูกนำส่งโดยตุคิโกและโอเนซิมุส.—เอเฟ. 6:21, 22; โกโล. 4:7-9.
4. มีอะไรบ้างที่พิสูจน์ฐานะผู้เขียนและความเชื่อถือได้ของพระธรรมฟิเลโมน?
4 ที่ว่าเปาโลเป็นผู้เขียนพระธรรมฟิเลโมนเห็นได้ชัดจากข้อแรกที่กล่าวถึงชื่อท่าน. ออริเกนและเทอร์ทูลเลียนต่างยอมรับว่าท่านเป็นผู้เขียน.a ความเชื่อถือได้ของพระธรรมนี้ยังได้รับการสนับสนุนด้วยโดยถูกรวมไว้ในรายชื่อพร้อมกับจดหมายฉบับอื่น ๆ ของเปาโลในชิ้นส่วนของมูราโทรีในศตวรรษที่สองแห่งสากลศักราช.
เนื้อเรื่องในฟิเลโมน
5. (ก) จดหมายนี้ขึ้นต้นด้วยคำทักทายและคำชมเชยเช่นไร? (ข) เปาโลบอกอะไรแก่ฟิเลโมนเกี่ยวกับโอเนซิมุสทาสของเขา?
5 โอเนซิมุสถูกส่งคืนให้ผู้เป็นนายอย่างที่ “เป็นมากกว่าทาส” (ข้อ 1-25). เปาโลส่งคำทักทายอันอบอุ่นมายังฟิเลโมน, อัปเฟียผู้เป็น “น้องสาวของเรา,” อาร์คิปปุส (อะระคีโป) “เพื่อนทหารของเรา,” และประชาคมที่อยู่ในบ้านของฟิเลโมน. ท่านชมเชยฟิเลโมน (ซึ่งชื่อของท่านหมายความว่า “มีความรัก”) เนื่องด้วยความรักและความเชื่อที่ท่านมีต่อพระเยซูเจ้าและเหล่าผู้บริสุทธิ์. รายงานเรื่องความรักของฟิเลโมนทำให้เปาโลยินดีและสบายใจมาก. บัดนี้ เปาโล ซึ่งเป็นชายสูงอายุและเป็นผู้ถูกคุมขัง จึงพูดอย่างสะดวกใจยิ่งเกี่ยวกับโอเนซิมุส “บุตร” ของท่าน ซึ่งท่านได้กลายมาเป็น “บิดา” ขณะอยู่ในพันธนะ. โอเนซิมุส (ซึ่งชื่อนี้หมายความว่า “ให้กำไร”) เคยเป็นคนไร้ประโยชน์แก่ฟิเลโมน แต่บัดนี้เขาเป็นประโยชน์แก่ทั้งฟิเลโมนและเปาโล.—ข้อ 2, 10, ล.ม.
6. เปาโลแนะให้ปฏิบัติอย่างไรต่อโอเนซิมุส และด้วยการชักเหตุผลที่ผ่อนสั้นผ่อนยาวเช่นไร?
6 ท่านอัครสาวกอยากได้โอเนซิมุสไว้รับใช้ท่านในคุก แต่ท่านจะไม่ทำเช่นนั้นโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากฟิเลโมน. ดังนั้น ท่านจึงส่งโอเนซิมุสกลับอย่างที่ “ไม่เป็นทาสอีกต่อไปแต่เป็นมากกว่าทาส คือเป็นพี่น้องที่รัก.” เปาโลขอให้ต้อนรับโอเนซิมุสด้วยความกรุณาเช่นเดียวกับที่เปาโลเองจะได้รับ. ถ้าโอเนซิมุสทำผิดต่อฟิเลโมน ก็ขอให้คิดบัญชีเอากับเปาโล เพราะเปาโลบอกฟิเลโมนว่า “ท่านเป็นหนี้ข้าพเจ้ากระทั่งตัวท่านเอง.” (ข้อ 16, 19, ล.ม.) เปาโลหวังว่าอีกไม่นานท่านอาจถูกปล่อยตัว และท่านอาจไปเยี่ยมฟิเลโมน และท่านลงท้ายด้วยคำทักทายและคำอวยพร.
เหตุที่เป็นประโยชน์
7. เกี่ยวกับโอเนซิมุส เปาโลยึดมั่นอย่างไรกับการถูกพระเจ้าเรียกให้เป็นอัครสาวก?
7 ดังที่แสดงไว้ในจดหมาย เปาโลไม่ได้ประกาศ “หลักเกณฑ์สังคม” โดยพยายามจะกำจัดระบบและสถาบันต่าง ๆ ที่มีอยู่ในเวลานั้น เช่น ระบบทาส. ท่านไม่ได้ปล่อยทาสคริสเตียนเป็นอิสระโดยพลการ แต่แทนที่จะทำเช่นนั้น ท่านส่งโอเนซิมุสทาสที่หนีมานั้นกลับไปหาฟิเลโมนผู้เป็นนาย โดยให้เดินทางไกลกว่า 1,400 กิโลเมตร จากโรมถึงโกโลซาย. ดังนั้น เปาโลจึงยึดมั่นกับการถูกพระเจ้าเรียกให้เป็นอัครสาวก โดยเพียรทำงานที่พระเจ้าทรงมอบหมายแก่ท่านอย่างเคร่งครัดคือ “ประกาศเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้า . . . และสอนเรื่องเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์เจ้า.”—กิจ. 28:31, ล.ม.; ฟิเล. 8, 9.
8. พระธรรมฟิเลโมนแสดงให้เห็นวิธีใช้หลักการคริสเตียนอะไรบ้างอย่างได้ผลจริง ๆ?
8 จดหมายถึงฟิเลโมนให้ความกระจ่างในข้อที่ว่า จดหมายนี้แสดงถึงความรักและเอกภาพที่มีอยู่ท่ามกลางคริสเตียนในศตวรรษแรก. ในจดหมายนี้เราทราบว่าคริสเตียนรุ่นแรกเรียกกันเป็น “พี่น้อง.” (ฟิเล. 2, 20, ล.ม.) นอกจากนั้น จดหมายนี้ยังเผยให้คริสเตียนทุกวันนี้เห็นการนำหลักการคริสเตียนไปใช้อย่างได้ผลท่ามกลางพี่น้องคริสเตียน. ส่วนทางด้านเปาโล เราพบการแสดงออกซึ่งความรักฉันพี่น้อง, ความนับถือต่อความสัมพันธ์แบบต่าง ๆ ในสังคมและต่อสมบัติของผู้อื่น, การผ่อนสั้นผ่อนยาวที่ใช้ได้ผล, และความถ่อมใจที่น่าชมเชย. แทนที่จะพยายามบังคับฟิเลโมนให้ยกโทษแก่โอเนซิมุสโดยใช้อำนาจที่ท่านมีในฐานะผู้ดูแลที่นำหน้าในประชาคมคริสเตียน เปาโลกลับถ่อมใจขอร้องฟิเลโมนโดยอาศัยความรักแบบคริสเตียนและมิตรภาพส่วนตัว. ผู้ดูแลในทุกวันนี้สามารถได้รับประโยชน์จากวิธีการที่ผ่อนสั้นผ่อนยาวซึ่งเปาโลใช้กับฟิเลโมน.
9. โดยการทำตามคำขอร้องของเปาโล ฟิเลโมนได้วางแบบอย่างดีเยี่ยมอะไรที่คริสเตียนทุกวันนี้ควรให้ความสนใจ?
9 ปรากฏชัดว่าเปาโลคาดหมายให้ฟิเลโมนทำตามคำขอร้องของท่าน และการที่ฟิเลโมนทำเช่นนั้นย่อมเป็นการทำตามจริง ๆ ในสิ่งที่พระเยซูตรัสไว้ในมัดธาย 6:14 และที่เปาโลกล่าวไว้ในเอเฟโซ 4:32. คริสเตียนในทุกวันนี้ย่อมถูกคาดหมายได้เช่นกันให้เป็นคนกรุณาและให้อภัยพี่น้องที่ทำผิด. หากฟิเลโมนสามารถให้อภัยทาสที่เขาเป็นเจ้าของและมีสิทธิตามกฎหมายจะทำร้ายได้ตามที่เขาพอใจ คริสเตียนทุกวันนี้ก็ควรสามารถให้อภัยพี่น้องที่ทำผิดได้—ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากน้อยกว่ามากทีเดียว.
10. การดำเนินงานแห่งพระวิญญาณของพระยะโฮวาปรากฏชัดอย่างไรในจดหมายถึงฟิเลโมน?
10 การดำเนินงานแห่งพระวิญญาณของพระยะโฮวาเห็นได้ชัดมากในจดหมายถึงฟิเลโมน. การดำเนินงานนี้มีแสดงให้เห็นในวิธีที่เปาโลจัดการกับปัญหาที่ละเอียดอ่อนมากด้วยความชำนาญ. การดำเนินงานนี้เห็นได้ชัดในด้านความเห็นอกเห็นใจ, ความรักใคร่อันอ่อนละมุน, และความไว้วางใจในพี่น้องคริสเตียนที่เปาโลแสดงออกมา. การดำเนินงานนี้ปรากฏในข้อเท็จจริงที่ว่า จดหมายถึงฟิเลโมนเหมือนกับพระธรรมอื่น ๆ ในพระคัมภีร์คือ สอนหลักการคริสเตียน, ส่งเสริมเอกภาพของคริสเตียน, และยกย่องความรักและความเชื่อซึ่งมีอยู่มากมายท่ามกลาง “ผู้บริสุทธิ์” ซึ่งหวังในราชอาณาจักรของพระเจ้าและมีความประพฤติที่สะท้อนให้เห็นความรักกรุณาของพระยะโฮวา.—ข้อ 5, ล.ม.
[เชิงอรรถ]
a สารานุกรม ดิ อินเตอร์แนชันแนล สแตนดาร์ด ไบเบิล เรียบเรียงโดย จี. ดับเบิลยู. บรอมิลีย์ เล่ม 3 1986 หน้า 831.