6 “เสาทรมาน”
คำภาษากรีก σταυρός (สเตารอส) คำภาษาลาติน crux (ครุกซ์)
มัดธาย 27:40 กล่าวถึง “เสาทรมาน” ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือประหารพระเยซู ณ ที่แห่งหนึ่งชื่อโกลโกทาซึ่งแปลว่ากะโหลก. ไม่มีหลักฐานว่าคำภาษากรีกสเตารอส ในข้อคัมภีร์นี้หมายถึงไม้กางเขนอย่างที่พวกนอกรีตใช้เป็นเครื่องหมายทางศาสนามานานหลายศตวรรษก่อนสมัยพระคริสต์.
ในภาษากรีกโบราณ คำสเตารอส หมายถึงเสาที่ตั้งตรง หลัก หรือเสาเข็มเท่านั้น. คำกริยาสเตาโรโอหมายความว่า ล้อมด้วยเสา ล้อมด้วยไม้ซุงหรือเสาแหลม. ผู้เขียนที่ได้รับการดลใจจากพระเจ้าใช้ภาษากรีกสามัญ (คีนี) เขียนพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกและใช้คำสเตารอส ในความหมายเดียวกันกับในภาษากรีกโบราณ คือ ไม้ท่อนเดียวหรือเสา ซึ่งไม่มีไม้อีกท่อนพาดขวาง. ไม่มีหลักฐานพิสูจน์ข้อโต้แย้งในเรื่องนี้. นอกจากนั้น อัครสาวกเปโตรกับเปาโลยังใช้คำซีลอน เมื่อพูดถึงเครื่องมือทรมานที่ใช้ตรึงพระเยซู แสดงว่าพระองค์ถูกตรึงบนเสาที่ตั้งตรงโดยไม่มีไม้อีกท่อนพาดขวาง เพราะในกรณีเช่นนั้นคำซีลอน มีความหมายอย่างนี้. (กิจการ 5:30; 10:39; 13:29; กาลาเทีย 3:13; 1 เปโตร 2:24) ในฉบับเซปตัวจินต์ เราพบคำซีลอน ที่เอษรา 6:11 (2 เอสดรัส 6:11) ที่นั่นพูดถึงคำนี้ว่าเป็นท่อนไม้ซึ่งใช้แขวนผู้ละเมิดกฎหมาย ซึ่งที่กิจการ 5:30 และ 10:39 ก็ใช้คำนี้ในความหมายเดียวกัน.
สำหรับความหมายของคำว่าสเตารอส ดับเบิลยู. อี. ไวน์ กล่าวในหนังสือของเขาที่ชื่อพจนานุกรมอธิบายศัพท์คัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ (An Expository Dictionary of New Testament Words) (พิมพ์ใหม่ปี 1966) เล่ม 1 หน้า 256 ว่า “แต่เดิม สเตารอส (σταυρός) หมายถึงหลักหรือเสาที่ตั้งตรง. พวกอาชญากรจะถูกประหารโดยตรึงไว้บนเสาแบบนี้. ทั้งคำนามและคำกริยาสเตาโรโอ ซึ่งหมายถึงการผูกหรือตรึงกับเสาหรือหลักนั้นแต่เดิมไม่ได้ใช้กับไม้สองท่อนที่ไขว้กันซึ่งใช้เป็นเครื่องหมายทางศาสนา. รูปทรงของไม้กางเขนแบบนี้มีต้นตอมาจากดินแดนแคลเดียโบราณ และถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของพระทัมมูส (เป็นรูปอักษรเทา [Tau] ซึ่งเป็นอักษรตัวแรกของชื่อเทพเจ้าองค์นี้) ในดินแดนนั้นและดินแดนรอบ ๆ รวมทั้งประเทศอียิปต์. เมื่อถึงช่วงกลางศตวรรษที่ 3 แห่งสากลศักราช คริสต์ศาสนจักรได้ละทิ้งหรือไม่ก็บิดเบือนคำสอนบางอย่างของศาสนาคริสเตียน. เพื่อให้ศาสนาคริสต์ที่ออกหากเป็นที่ยอมรับมากขึ้น จึงมีการรับเอาพวกนอกรีตเข้ามาโดยไม่ต้องเปลี่ยนความเชื่อเดิม และยอมให้พวกเขาใช้เครื่องหมายและสัญลักษณ์เกือบทั้งหมดที่พวกเขาใช้อยู่นั้นต่อไป. ดังนั้น อักษรเทา (Tau) หรืออักษรที (T) แบบที่ใช้กันมากที่สุด คือแบบที่มีเส้นขวางเลื่อนลงมานั้น จึงถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของไม้กางเขนของพระคริสต์.”
พจนานุกรมภาษาลาตินของลูอิสและชอร์ตบอกว่าคำครุกซ์ มีความหมายพื้นฐานว่า “ต้นไม้ โครงไม้ หรือเครื่องมือประหารแบบอื่น ๆ ที่ทำด้วยไม้ ซึ่งในสมัยก่อนใช้ตรึงหรือแขวนพวกอาชญากร.” แต่เดิม คำครุกซ์ ไม่ได้หมายถึง “ไม้กางเขน.” ในภาษาลาติน เสาต้นเดียวที่ใช้ตรึงอาชญากรนั้นเรียกว่าครุกซ์ ซิมเพลกซ์. เครื่องทรมานแบบนี้มีภาพวาดอยู่ในหนังสือของยุสทุส ลิปซิอุส (ปี 1547-1606) ชื่อไม้กางเขน เล่มสาม (De cruce libri tres) เมืองแอนทเวิร์ป ปี 1629 หน้า 19 ซึ่งเราลงภาพไว้ในที่นี้แล้ว.
หนังสือชื่อไม้กางเขนและการตรึงพระเยซู (Das Kreuz und die Kreuzigung) เขียนโดยเฮอร์มันน์ ฟุลดา เมืองเบรสเลา ปี 1878 หน้า 109 บอกว่า “ในที่ที่เลือกไว้สำหรับการประหารชีวิตต่อหน้าสาธารณชน ต้นไม้ใช่ว่าจะหาได้ทุกแห่ง. ดังนั้น เขาจึงเอาท่อนไม้ปักไว้กับดิน แล้วมัดหรือตอกมือผู้ร้ายติดกับท่อนไม้โดยให้เหยียดขึ้นเหนือศีรษะ และบ่อยครั้งจะมัดหรือตอกเท้าติดกับท่อนไม้ด้วย.” หลังจากที่ฟุลดาให้ข้อพิสูจน์มากมายแล้ว เขาลงความเห็นที่หน้า 219, 220 ว่า “พระเยซูสิ้นพระชนม์บนหลักประหารที่เป็นเสาต้นเดียว. ข้อสนับสนุนเรื่องนี้มีดังนี้ (ก) การประหารด้วยวิธีนี้เป็นวิธีที่ทางตะวันออกใช้กันทั่วไปในเวลานั้น (ข) เรื่องราวเกี่ยวกับการทนทุกข์ของพระเยซูเป็นข้อสนับสนุนทางอ้อม และ (ค) คำกล่าวของพวกนักเขียนแห่งคริสตจักรในยุคแรก.”
เพาล์ วิลเฮล์ม ชมิดท์ ซึ่งเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยบาเซล ได้ศึกษาคำสเตารอส ในภาษากรีกอย่างละเอียดและเขียนไว้ในหนังสือของเขาชื่อประวัติของพระเยซู (Die Geschichte Jesu) เล่ม 2 เมืองทือบิงเงนและไลพ์ซิก ปี 1904 หน้า 386-394. เขาบอกไว้ในหนังสือของเขาที่หน้า 386 ว่า “σταυρός [สเตารอส] หมายถึงเสาที่ตั้งตรงหรือลำต้นของต้นไม้.” ในเรื่องการลงโทษประหารพระเยซู พี. ดับเบิลยู. ชมิดท์ เขียนในหน้า 387-389 ว่า “ตามบันทึกในกิตติคุณ นอกจากถูกเฆี่ยนแล้ว พระเยซูถูกลงโทษด้วยการตรึงแบบโรมันซึ่งเป็นการลงโทษแบบธรรมดาที่สุด โดยแขวนร่างที่ไม่สวมเสื้อผ้าไว้บนเสาซึ่งพระเยซูต้องแบกหรือลากไปยังที่ประหารเองเพื่อทำให้การลงโทษนั้นดูน่าอัปยศยิ่งขึ้น . . . . เนื่องจากมีการประหารหมู่บ่อย ๆ จึงต้องใช้การประหารด้วยการแขวนแบบธรรมดา ๆ เท่านั้น เช่น การประหารหมู่ 2,000 คนโดยวารุส (หนังสือชาติยิวโบราณโดยโยเซฟุส [Jos. Ant.] เล่ม 17 บท 10 ข้อ 10) การประหารหมู่โดยควาดราทุส (สงครามของชาติยิว [Jewish Wars] เล่ม 2 บท 12 ข้อ 6) การประหารหมู่โดยผู้ว่าราชการเฟลิกซ์ (สงครามของชาติยิว [Jewish Wars] เล่ม 2 บท 15 ข้อ 2 [บท 13 ข้อ 2]) การประหารหมู่โดยทิทุส (สงครามของชาติยิว [Jewish Wars] เล่ม 7 ข้อ 1 [เล่ม 5 บท 11 ข้อ 1]).”
ฉะนั้น ไม่มีหลักฐานใด ๆ เลยที่ยืนยันว่าพระเยซูคริสต์ถูกตรึงบนไม้สองท่อนที่วางไขว้กันเป็นมุมฉาก. เราจึงไม่ใส่แนวคิดเรื่องไม้กางเขนของพวกนอกรีตเพิ่มเข้าไปในพระคัมภีร์ที่ได้รับการดลใจ ซึ่งเป็นพระคำที่พระเจ้าให้เขียนไว้ แต่แปลคำสเตารอส และซีลอน ตรง ๆ ตามความหมายพื้นฐานของคำเหล่านี้. เนื่องจากพระเยซูทรงใช้คำสเตารอส เพื่อทำให้คิดถึงการทนทุกข์และความอับอายหรือความทุกข์ทรมานของเหล่าสาวกของพระองค์ (มัดธาย 16:24) เราจึงแปลคำสเตารอส ว่า “เสาทรมาน” เพื่อแยกคำนี้กับคำซีลอน ซึ่งเราได้แปลว่า “เสา.”
[ภาพหน้า 601]
ภาพวาดครุกซ์ ซิมเพลกซ์