ก5
ชื่อของพระเจ้าในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก
ผู้เชี่ยวชาญด้านคัมภีร์ไบเบิลยอมรับว่าชื่อของพระเจ้าในรูปแบบอักษรฮีบรูสี่ตัวที่รู้จักกันว่าเททรากรัมมาทอน (יהוה) มีปรากฏอยู่ในข้อความต้นฉบับของพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูเกือบ 7,000 ครั้ง แต่มีหลายคนที่คิดว่าชื่อนี้ไม่มีปรากฏอยู่ในข้อความต้นฉบับของพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก นี่ทำให้ในคัมภีร์ไบเบิลสมัยนี้ส่วนใหญ่ไม่มีการใส่ชื่อยะโฮวาไว้เมื่อแปลพระคัมภีร์ส่วนที่เรียกกันว่าภาคพันธสัญญาใหม่ แม้แต่ข้อความที่ยกมาจากภาคภาษาฮีบรูซึ่งจริง ๆ แล้วมีเททรากรัมมาทอนปรากฏอยู่ ก็มีการใช้คำว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า” แทนที่จะใช้ชื่อของพระเจ้า
อย่างไรก็ตาม คัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลโลกใหม่ ไม่ได้เป็นอย่างนั้น คัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลโลกใหม่มีชื่อพระยะโฮวาในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกรวมทั้งหมด 237 ครั้ง มีเหตุผลสำคัญสองข้อที่ผู้แปลตัดสินใจทำแบบนี้ (1) สำเนาพระคัมภีร์ภาษากรีกที่มีในปัจจุบันไม่ใช่ต้นฉบับจริง ๆ สำเนานับเป็นพัน ๆ ที่มีอยู่ในทุกวันนี้ส่วนใหญ่มีการคัดลอกหลังจากต้นฉบับถูกเขียนขึ้นอย่างน้อย 200 ปีแล้ว (2) ในตอนนั้น กลุ่มคนที่คัดลอกสำเนาได้เปลี่ยนเททรากรัมมาทอนเป็น “คีริโอส” ซึ่งเป็นคำภาษากรีกแปลว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า” หรือไม่ก็คัดลอกจากสำเนาพระคัมภีร์ที่มีการเปลี่ยนเททรากรัมมาทอนเป็นคำว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า” เรียบร้อยแล้ว
คณะกรรมการการแปลคัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลโลกใหม่ได้ตัดสินว่ามีหลักฐานชัดเจนว่าเททรากรัมมาทอนมีอยู่ในต้นฉบับภาษากรีกจริง การตัดสินดังกล่าวอาศัยหลักฐานดังต่อไปนี้
สำเนาพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูที่มีการใช้กันในสมัยพระเยซูและสมัยอัครสาวกมีเททรากรัมมาทอนปรากฏอยู่หลายครั้งตลอดทั้งสำเนา ในสมัยก่อนมีเพียงไม่กี่คนที่สงสัยและโต้แย้งข้อสรุปนี้ ปัจจุบันมีการค้นพบสำเนาพระคัมภีร์ใกล้กับคุมรานซึ่งเป็นสำเนาพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูที่ทำขึ้นในศตวรรษแรก การค้นพบนี้ทำให้ไม่มีข้อสงสัยเลยว่าเคยมีชื่อของพระเจ้าปรากฏอยู่ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูที่ใช้กันในสมัยพระเยซู
ในสมัยพระเยซูและสมัยอัครสาวก เททรากรัมมาทอนมีปรากฏในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูที่แปลเป็นภาษากรีกด้วย เป็นเวลาหลายร้อยปีที่ผู้เชี่ยวชาญต่างก็คิดว่าเททรากรัมมาทอนไม่มีในฉบับแปลกรีกเซปตัวจินต์ (พระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูที่แปลเป็นภาษากรีก) แต่เมื่อถึงช่วงกลางศตวรรษที่ 20 มีบางสิ่งที่พวกผู้เชี่ยวชาญสนใจอย่างมาก นั่นคือ การค้นพบชิ้นส่วนที่เก่าแก่มากของฉบับแปลกรีกเซปตัวจินต์จากสมัยพระเยซู และในชิ้นส่วนเหล่านั้นมีชื่อของพระเจ้าที่เขียนเป็นอักษรภาษาฮีบรู ดังนั้น ในสมัยพระเยซู สำเนาต่าง ๆ ของพระคัมภีร์ที่เป็นภาษากรีกมีชื่อของพระเจ้าอยู่จริง อย่างไรก็ตาม พอถึงศตวรรษที่ 4 สำเนาพระคัมภีร์ฉบับกรีกเซปตัวจินต์ ที่สำคัญ ๆ เช่น โคเดกซ์วาติกานุสและโคเดกซ์ไซนายติคุส ไม่มีชื่อของพระเจ้าอยู่ในหนังสือปฐมกาลจนถึงหนังสือมาลาคีเลย (ทั้ง ๆ ที่ชื่อนี้มีในสำเนาที่ทำขึ้นก่อนหน้านั้น) ดังนั้น ไม่น่าแปลกใจเลยว่า ข้อความที่ได้รับการเก็บรักษาตั้งแต่ช่วงเวลานั้นเป็นต้นมาไม่มีชื่อของพระเจ้าเลยในส่วนที่เรียกกันว่าพันธสัญญาใหม่หรือพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกในคัมภีร์ไบเบิล
พระเยซูพูดตรง ๆ ว่า “ผมมาในนามพ่อของผม” และย้ำด้วยว่างานของท่านทำใน “นามพระเจ้าผู้เป็นพ่อของผม”
มีบันทึกในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกว่าพระเยซูพูดถึงชื่อของพระเจ้าบ่อย ๆ และท่านบอกคนอื่นให้รู้จักชื่อนี้ด้วย (ยอห์น 17:6, 11, 12, 26) พระเยซูพูดตรง ๆ ว่า “ผมมาในนามพ่อของผม” และย้ำด้วยว่างานของท่านทำใน “นามพระเจ้าผู้เป็นพ่อของผม”—ยอห์น 5:43; 10:25
เนื่องจากพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกเป็นส่วนที่ได้รับการดลใจให้เขียนขึ้นต่อจากพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ภาคภาษาฮีบรู จึงไม่สมเหตุสมผลที่จู่ ๆ ชื่อของพระยะโฮวาจะหายไป ช่วงกลางศตวรรษแรก สาวกยากอบบอกพวกผู้ดูแลในกรุงเยรูซาเล็มว่า “ซีเมโอนได้เล่าอย่างละเอียดแล้วว่าตอนนี้พระเจ้าหันมาสนใจคนต่างชาติ และแยกคนออกมาให้เป็นประชาชนกลุ่มหนึ่งที่ใช้ชื่อของพระองค์” (กิจการ 15:14) ยากอบคงไม่พูดอย่างนี้ถ้าไม่มีใครในศตวรรษแรกรู้จักหรือใช้ชื่อของพระเจ้าเลย
ชื่อย่อของพระเจ้ามีปรากฏอยู่ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก มีชื่อย่อของพระเจ้าปรากฏอยู่ในวิวรณ์ 19:1, 3, 4, 6 ที่บอกว่า “ให้ทุกคนสรรเสริญยาห์” ซึ่งมาจากภาษาฮีบรูว่า “ฮาเลลูยาห์” คำว่า “ยาห์” ย่อมาจาก “ยะโฮวา” มีหลายคนในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกที่ชื่อของเขามีความหมายเกี่ยวข้องกับชื่อของพระเจ้า ที่จริง หนังสืออ้างอิงต่าง ๆ อธิบายว่าชื่อของพระเยซูก็แปลว่า “พระยะโฮวาเป็นความรอด”
ข้อเขียนของชาวยิวในยุคแรก ๆ บ่งชี้ว่าคริสเตียนชาวยิวใช้ชื่อของพระเจ้าในงานเขียนของพวกเขา หนังสือโทเซฟทาหรือประมวลกฎหมายสืบปากที่เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งเขียนเสร็จประมาณ ค.ศ. 300 พูดถึงเหตุการณ์ตอนที่งานเขียนของคริสเตียนถูกเผาในวันสะบาโตว่า “หนังสือของพวกผู้เขียนกิตติคุณและหนังสือของพวกมินิม [เข้าใจกันว่าคือคริสเตียนชาวยิว] ถูกเผาทำลาย หนังสือเหล่านั้นที่มีชื่อของพระเจ้าอยู่ถูกเผาทันทีที่พบ” หนังสือโทเซฟทายังยกคำพูดของรับบีโยเซ ชาวกาลิลีซึ่งมีชีวิตอยู่ช่วงต้นศตวรรษที่ 2 เขาเล่าว่า ในวันอื่น ๆ ของสัปดาห์ “มีคนตัดส่วนที่เป็นชื่อของพระเจ้าจากหนังสือพวกนั้น [น่าจะหมายถึงงานเขียนของคริสเตียน] และเก็บไว้ ส่วนที่เหลือก็เผา”
ผู้เชี่ยวชาญด้านคัมภีร์ไบเบิลบางคนยอมรับว่าในข้อความของพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูที่ยกมาในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกน่าจะมีชื่อของพระเจ้าปรากฏอยู่ ในพจนานุกรมดิ แองเคอร์ ไบเบิล ที่หัวข้อ “เททรากรัมมาทอนในพันธสัญญาใหม่” มีคำอธิบายดังนี้ “มีหลักฐานบางอย่างที่แสดงว่าตอนที่มีการเขียนพันธสัญญาใหม่ขึ้นครั้งแรก มีเททรากรัมมาทอน หรือ ยาห์เวห์ ซึ่งเป็นชื่อของพระเจ้าปรากฏอยู่ในข้อความบางตอนหรือทุกตอนที่มีการยกมาจากพันธสัญญาเดิม” ด้านผู้เชี่ยวชาญจอร์จ โฮเวิร์ด กล่าวว่า “เนื่องจากเททรากรัมมาทอนยังมีอยู่ในสำเนาคัมภีร์ไบเบิลภาษากรีก [ฉบับแปลเซปตัวจินต์] ซึ่งเป็นส่วนของพระคัมภีร์ของคริสตจักรยุคแรก จึงมีเหตุผลที่จะเชื่อว่าผู้เขียนพันธสัญญาใหม่ได้รักษาเททรากรัมมาทอนไว้ในคัมภีร์ไบเบิลเมื่อยกข้อความมาจากพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู”
ผู้แปลคัมภีร์ไบเบิลที่มีชื่อเสียงหลายคนใช้ชื่อของพระเจ้าในการแปลพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก ผู้แปลเหล่านี้บางคนได้ทำอย่างนั้นมานานก่อนที่จะมีการแปลฉบับแปลโลกใหม่ ด้วยซ้ำ อย่างเช่น ฉบับ A Literal Translation of the New Testament . . . From the Text of the Vatican Manuscript โดยเฮอร์มัน ไฮน์เฟตเตอร์ (ค.ศ. 1863) The Emphatic Diaglott โดยเบนจามิน วิลสัน (ค.ศ. 1864) The Epistles of Paul in Modern English โดยจอร์จ บาร์เกอร์ สตีเวนส์ (ค.ศ. 1898) St. Paul’s Epistle to the Romans โดย ดับเบิลยู. จี. รัทเทอร์ฟอร์ด (ค.ศ. 1900) และ The New Testament Letters โดย เจ. ดับเบิลยู. ซี. วานด์ บิชอปแห่งลอนดอน (ค.ศ. 1946) นอกจากนี้ ในพระคัมภีร์ภาษาสเปนที่แปลโดยพาโบล เบสสันช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ก็มีการใช้คำว่า “เคโอบา” (ยะโฮวา) ด้วย ไม่ว่าจะในลูกา 2:15 ยูดา 14 และยังมีมากกว่า 100 แห่งที่ระบุในเชิงอรรถว่าน่าจะใช้ชื่อของพระเจ้าที่นั่น นานก่อนที่จะมีงานแปลเหล่านี้ คือตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 ก็มีเททรากรัมมาทอนปรากฏอยู่หลายแห่งในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกที่แปลเป็นภาษาฮีบรู ทุกวันนี้ เฉพาะภาษาเยอรมันภาษาเดียวก็มีฉบับแปลอย่างน้อย 11 ฉบับที่ใช้ชื่อ “ยะโฮวา” (หรือแปลชื่อภาษาฮีบรู “ยาห์เวห์” แบบทับศัพท์) ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก และมีผู้แปล 4 คนใส่ชื่อพระเจ้าไว้ในวงเล็บหลังคำว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า” นอกจากนี้ ยังมีฉบับแปลอื่น ๆ ในภาษาเยอรมันมากกว่า 70 ฉบับที่ใช้ชื่อพระเจ้าในเชิงอรรถหรือในส่วนอธิบายคำศัพท์ด้วย
คัมภีร์ไบเบิลในภาษาต่าง ๆ มากกว่าหนึ่งร้อยภาษามีชื่อของพระเจ้าอยู่ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก พระคัมภีร์ที่แปลเป็นภาษาต่าง ๆ ที่ใช้ในแอฟริกา เอเชีย ยุโรป หมู่เกาะแปซิฟิก รวมถึงภาษาพื้นเมืองในอเมริกาก็มีชื่อของพระเจ้าปรากฏอยู่หลายที่ (ดูรายชื่อในหน้า 2286 และ 2287) ผู้แปลพระคัมภีร์ฉบับเหล่านี้เลือกใช้ชื่อของพระเจ้าด้วยเหตุผลคล้าย ๆ กับที่พูดในตอนต้น พระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกเหล่านี้บางฉบับเพิ่งแปลได้ไม่นาน แต่ก็มีชื่อของพระเจ้าด้วย เช่น คัมภีร์ไบเบิลภาษาโรตูมา (ค.ศ. 1999) มีชื่อ “จีโฮวา” 51 ครั้งใน 48 ข้อ และพระคัมภีร์ภาษาบาตัก (โทบา) (ค.ศ. 1989) ของอินโดนีเซียมีชื่อ “เยโฮวา” 110 ครั้ง
ดังนั้น มีเหตุผลมากมายที่จะใส่ชื่อยะโฮวา ซึ่งเป็นชื่อของพระเจ้าไว้ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก และนี่คือสิ่งที่ผู้แปลคัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลโลกใหม่ ได้ทำ พวกเขานับถือชื่อของพระเจ้าอย่างมากและไม่กล้าตัดอะไรที่มีอยู่ในต้นฉบับออกไป—วิวรณ์ 22:18, 19