สังเกตอาการให้ออก
“ความโศกเศร้าเป็นอารมณ์ปกติธรรมดา; โรคซึมเศร้าเป็นโรคชนิดหนึ่ง. สิ่งที่ยากคือการเข้าใจและการแยกแยะความแตกต่างระหว่างสองอย่างนี้.”—นายแพทย์เดวิด จี. ฟาสส์เลอร์.
เช่นเดียวกับโรคอื่น ๆ ส่วนใหญ่ โรคซึมเศร้าก็มีอาการที่ชัดเจน. แต่อาการแสดงไม่ได้มองออกได้ง่าย ๆ เสมอไป. เพราะเหตุใด? เพราะเด็กวัยรุ่นเกือบทุกคนมีอารมณ์เศร้าเป็นครั้งคราว เช่นเดียวกับผู้ใหญ่. อารมณ์เศร้าธรรมดากับโรคซึมเศร้ามีความแตกต่างกันอย่างไร? ส่วนมากมักเกี่ยวข้องกับความรุนแรงและระยะเวลาที่มีอาการ.
ความรุนแรง เกี่ยวข้องกับระดับของความรู้สึกในแง่ลบซึ่งส่งผลกระทบต่อหนุ่มสาว. โรคซึมเศร้ารุนแรงกว่าช่วงแห่งความเศร้าหมองสั้น ๆ โรคนี้เป็นความเจ็บป่วยทางอารมณ์ที่รุนแรงซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อความสามารถของเด็กวัยรุ่นในการดำเนินชีวิตอย่างปกติ. นายแพทย์แอนดรูว์ สเลบี พรรณนาความร้ายแรงของโรคด้วยวิธีนี้: “ลองนึกถึงความเจ็บปวดทางร่างกายที่รุนแรงที่สุดเท่าที่คุณเคยประสบมา—กระดูกหัก, ปวดฟัน, หรือความเจ็บปวดเมื่อคลอดบุตร—เพิ่มความเจ็บปวดขึ้นอีกสิบเท่า แล้วนึกภาพว่าคุณไม่ทราบว่าอะไรเป็นสาเหตุ; แล้วคุณก็อาจจะประเมินความเจ็บปวดของโรคซึมเศร้าได้.”
ระยะเวลา หมายถึงช่วงเวลาของความเซื่องซึม. ลีออน ซีทริน และ โดนัลด์ เอช. แมกนิว จูเนียร์ ศาสตราจารย์ด้านการรักษา กล่าวว่า “เด็กที่ไม่แสดงสัญญาณว่าฟื้นตัวหรือกลับมามีชีวิตตามปกติภายในหนึ่งสัปดาห์หลังจากมีอารมณ์เศร้าหมอง (ไม่ว่าด้วยสาเหตุใดก็ตาม)—หรือภายในหกเดือนหลังจากประสบสิ่งที่เป็นความสูญเสียครั้งใหญ่สำหรับเขา—มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า.”
อาการที่พบเห็นทั่วไป
หนุ่มสาวคนหนึ่งจะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าก็ต่อเมื่อเขาแสดงอาการบางอย่างทุกวัน เกือบทั้งวัน เป็นเวลาอย่างน้อยสองสัปดาห์. ช่วงซึมเศร้าที่ค่อนข้างสั้นถูกเรียกว่าช่วงเศร้าหมอง. จะมีการวินิจฉัยว่าเป็นภาวะอารมณ์ซึมเศร้า (ดิสไทเมีย) ซึ่งเป็นโรคซึมเศร้าอย่างอ่อนจนถึงปานกลางที่เรื้อรังมากกว่า เมื่อมีอาการติดต่อกันอย่างน้อยหนึ่งปีโดยมีช่วงที่ดีขึ้นไม่ถึงสองเดือน. ไม่ว่าเป็นกรณีใด อาการของโรคซึมเศร้าที่พบเห็นทั่วไปมีอะไรบ้าง?a
อารมณ์และพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน. เด็กวัยรุ่นที่เมื่อก่อนเป็นคนหัวอ่อนจู่ ๆ ก็กลายเป็นคนก้าวร้าว. พฤติกรรมขืนอำนาจและแม้แต่การหนีออกจากบ้านเป็นเรื่องที่แพร่หลายในหมู่เด็กวัยรุ่นที่ซึมเศร้า.
การปลีกตัวจากสังคม. เด็กวัยรุ่นที่ซึมเศร้าปลีกตัวออกจากเพื่อนฝูง. หรืออาจเป็นได้ที่เพื่อน ๆ เลิกคบหาเด็กวัยรุ่นที่ซึมเศร้า เพราะสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ไม่ดีในเจตคติและพฤติกรรมของเขา.
หมดความสนใจในกิจกรรมแทบทุกอย่าง. เด็กวัยรุ่นเซื่องซึมผิดปกติ. งานอดิเรกที่เป็นเรื่องน่าสนใจเมื่อไม่นานมานี้ บัดนี้กลับถูกมองว่าน่าเบื่อ.
นิสัยการกินเปลี่ยนแปลงอย่างมาก. ผู้เชี่ยวชาญหลายคนรู้สึกว่าความผิดปกติ เช่น อะโนเรกเซีย, บูลิเมีย, และการกินอย่างควบคุมไม่ได้มักเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับ (และบางครั้งอาจเกิดจาก) โรคซึมเศร้า.
ปัญหาในการนอนหลับ. เด็กวัยรุ่นนอนหลับน้อยเกินไปหรือไม่ก็มากเกินไป. บางคนมีนิสัยการนอนผิดปกติ โดยตื่นตลอดคืนและหลับตลอดวัน.
การเรียนตกต่ำ. เด็กวัยรุ่นที่ซึมเศร้ามีปัญหาเข้ากับครูและเพื่อนนักเรียนไม่ได้ และผลการเรียนก็เริ่มตกต่ำ. ในไม่ช้าเขาก็เริ่มไม่อยากไปโรงเรียนเลย.
การกระทำที่เสี่ยงหรือทำร้ายตัวเอง. พฤติกรรม ‘ท้ามฤตยู’ อาจแสดงให้เห็นว่าเด็กวัยรุ่นไม่ค่อยอยากจะมีชีวิตอยู่. การทำร้ายตัวเอง (เช่น การเชือดตามเนื้อตัว) อาจเป็นอาการอย่างหนึ่งด้วย.
รู้สึกไร้ค่าหรือรู้สึกมีความผิดทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ทำผิด. เด็กวัยรุ่นชอบวิพากษ์วิจารณ์ตัวเอง รู้สึกว่าตนเองล้มเหลวโดยสิ้นเชิง แม้ว่าข้อเท็จจริงอาจเป็นอีกอย่างหนึ่ง.
ปัญหาความเจ็บป่วยทางร่างกายอันเนื่องมาจากจิตใจ. เมื่อไม่พบสาเหตุทางร่างกาย การปวดหัว, ปวดหลัง, ปวดท้อง, และปัญหาอื่น ๆ ทำนองนี้อาจบ่งชี้ถึงโรคซึมเศร้าที่เป็นสาเหตุ.
การคิดอยู่เรื่อย ๆ เกี่ยวกับความตายหรือการฆ่าตัวตาย. การครุ่นคิดเกี่ยวกับเรื่องน่ากลัวอาจชี้ถึงโรคซึมเศร้า. เช่นเดียวกับการขู่จะฆ่าตัวตาย.—ดูกรอบข้างล่าง.
โรคไบโพลาร์
อาการเหล่านี้บางอย่างอาจชี้ถึงโรคอีกชนิดหนึ่งที่น่าฉงน นั่นคือโรคไบโพลาร์. ดร. บาร์บารา ดี. อิงเกอร์ซอลล์ และ แซม โกลด์สไตน์ อธิบายว่า โรคไบโพลาร์ (เป็นที่รู้จักกันด้วยว่า โรคแมนนิก-ดีเพรสซิฟ) คือ “อาการซึมเศร้าช่วงหนึ่งสลับกับช่วงที่มีอารมณ์ร่าเริงกระฉับกระเฉงสุดขีด—ที่จริง เกินระดับอารมณ์ดีตามปกติมากนัก.”
ช่วงที่ร่าเริงนี้ถูกเรียกว่าอาการฟุ้งพล่าน. อาการของช่วงนี้อาจรวมไปถึงการคิดฟุ้งซ่าน, พูดไม่หยุด, และต้องการการนอนหลับน้อยลง. ที่จริง ผู้ป่วยอาจอดหลับอดนอนได้หลายวันโดยไม่แสดงให้เห็นว่าเหน็ดเหนื่อย. อาการอีกอย่างหนึ่งของโรคไบโพลาร์คือพฤติกรรมที่ชอบทำอะไรหุนหันโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบ. รายงานจากสถาบันสุขภาพจิตของสหรัฐกล่าวว่า “ช่วงฟุ้งพล่านมักส่งผลกระทบต่อความคิด, การตัดสินใจ, และพฤติกรรมทางสังคมในแบบที่ก่อให้เกิดปัญหาร้ายแรงและความอับอาย.” ช่วงฟุ้งพล่านนานเท่าใด? บางครั้งก็แค่ไม่กี่วัน; แต่ในบางกรณี ช่วงฟุ้งพล่านก็นานติดต่อกันหลายเดือนก่อนที่จะเกิดอาการซึมเศร้าตามมา.
คนที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคไบโพลาร์นั้นรวมไปถึงคนที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคนี้. ข่าวดีคือมีความหวังสำหรับผู้ป่วย. หนังสือเด็กไบโพลาร์ (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า “ถ้าได้รับการวินิจฉัยแต่เนิ่น ๆ และได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม เด็กเหล่านั้นและครอบครัวของเขาอาจมีชีวิตที่มั่นคงมากขึ้นทีเดียว.”
เป็นเรื่องสำคัญที่จะจำไว้ว่าการมีอาการเพียงอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้แสดงว่าเด็กวัยรุ่นคนนั้นเป็นโรคซึมเศร้าหรือโรคไบโพลาร์. ส่วนใหญ่แล้ว กลุ่มอาการที่แสดงออกมาในระยะเวลาหนึ่งจะนำไปสู่การวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้. ถึงกระนั้น ยังคงมีคำถามอยู่ที่ว่า ทำไมความผิดปกติที่น่าฉงนนี้จึงเกิดขึ้นกับเด็กวัยรุ่น?
[เชิงอรรถ]
a อาการที่ได้กล่าวในที่นี้ ก็เพื่อให้พิจารณาคร่าว ๆ ไม่ใช่บรรทัดฐานในการวินิจฉัยโรค.
[กรอบหน้า 6]
เมื่อเด็กอยากตาย
ศูนย์ควบคุมโรคของสหรัฐรายงานว่า ในปีหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้หนุ่มสาวในสหรัฐเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายมากกว่าการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง, โรคหัวใจ, เอดส์, ความผิดปกติซึ่งมีมาแต่กำเนิด, โรคเส้นเลือดสมอง, ปอดอักเสบ, ไข้หวัดใหญ่, และโรคปอดเรื้อรังรวมกัน. ข้อเท็จจริงที่น่าเป็นห่วงอีกอย่างหนึ่งคือ รายงานที่ว่ามีการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นอย่างน่าเป็นห่วงท่ามกลางเด็กอายุ 10 ถึง 14 ปี.
จะป้องกันการฆ่าตัวตายในหมู่วัยรุ่นได้ไหม? ในบางกรณี ทำได้. ดร. แคทลีน แมกคอย เขียนว่า “สถิติแสดงให้เห็นว่าจริง ๆ แล้วก่อนจะฆ่าตัวตาย หลายรายได้พยายามฆ่าตัวตายหรือพูดเป็นนัย ๆ และบอกล่วงหน้า. เมื่อบุตรวัยรุ่นของคุณบอกเป็นนัยเกี่ยวกับความคิดที่จะฆ่าตัวตาย นั่นเป็นเวลาที่ต้องเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดและอาจต้องขอความช่วยเหลือจากแพทย์.”
การแพร่ระบาดของโรคซึมเศร้าในเด็กวัยรุ่นเน้นความจำเป็นที่บิดามารดาและผู้ใหญ่คนอื่น ๆ ต้องเอาใจใส่อย่างจริงจังต่อข้อบ่งชี้ใด ๆ ก็ตามที่เด็กวัยรุ่นแสดงออกมาว่าเขาต้องการฆ่าตัวตาย. ดร. แอนดรูว์ สเลบี เขียนในหนังสือของเขาชื่อไม่มีใครรู้ถึงความเจ็บปวดของฉัน (ภาษาอังกฤษ) ดังนี้: “ในการฆ่าตัวตายเกือบทุกกรณีที่ผมเคยตรวจสอบ เครื่องบ่งชี้ที่บอกถึงแผนของเด็กวัยรุ่นมักถูกมองข้ามหรือถือว่าไม่สำคัญ. สมาชิกครอบครัวและเพื่อนฝูงไม่เข้าใจความร้ายแรงของการเปลี่ยนแปลงที่เด็กวัยรุ่นกำลังเผชิญ. พวกเขาเพ่งเล็งที่ผล ไม่ใช่ปัญหาที่เป็นสาเหตุ ดังนั้นจึงมีการวินิจฉัยว่านั่นเป็นเพราะ ‘ปัญหาครอบครัว’ หรือ ‘การใช้ยา’ หรือ ‘อะโนเรกเซีย.’ บางครั้งความข้องขัดใจ, ความสับสน, และการฉุนเฉียวง่ายได้รับการบำบัด แต่ไม่ใช่โรคซึมเศร้า. ปัญหาที่เป็นสาเหตุยังคงมีอยู่ ทรมานและรุนแรงยิ่งขึ้น.”
คำแนะนำนั้นชัดเจน: จงถือว่าเครื่องบ่งชี้ทุกอย่างของการฆ่าตัวตายเป็นเรื่องจริงจัง!
[ภาพหน้า 7]
บางครั้งพฤติกรรมขืนอำนาจเป็นสัญญาณของโรคซึมเศร้าที่เป็นสาเหตุ
[ภาพหน้า 7]
เด็กวัยรุ่นที่ซึมเศร้ามักหมดความสนใจในกิจกรรมซึ่งพวกเขาเคยชอบ