บท 12
การซุบซิบนินทาเสียหายตรงไหน?
“ครั้งหนึ่งฉันไปงานปาร์ตี้ วันรุ่งขึ้นเขาก็ลือว่าฉันมีเซ็กซ์กับผู้ชายคนหนึ่งในงาน. มันไม่จริงเลย.”—ลินดา
“บางครั้งคนลือกันว่า ผมเป็นแฟนกับสาวคนหนึ่งทั้ง ๆ ที่ผมไม่เคยรู้จักเธอด้วยซ้ำ. คนที่ชอบซุบซิบไม่เคยคิดจะเช็คว่ามันเป็นเรื่องจริงหรือไม่.”—ไมค์
การซุบซิบนินทาทำให้ชีวิตคนเราดูซับซ้อนซ่อนเงื่อนน่าสนใจยิ่งกว่าในหนังเสียอีก. แอมเบอร์ อายุ 19 เล่าว่า “ฉันถูกนินทาประจำ. มีการลือว่าฉันท้องแล้วไปทำแท้ง แถมยังลือว่าฉันซื้อขายและใช้ยาเสพติด. ทำไมพวกเขาทำได้ขนาดนี้ คิดได้ยังไง.”
แค่ใช้อีเมลหรือเอสเอ็มเอส คนที่มีเจตนาร้ายก็ทำลายชื่อเสียงคุณได้โดยไม่ต้องพูดสักคำ. แค่เคาะคีย์บอร์ดไม่กี่ที เขาก็สามารถแพร่ข่าวลือที่เสีย ๆ หาย ๆ ไปให้อีกหลายสิบคนที่อยากรู้อยากเห็นได้. บางคนสร้างเว็บไซต์ขึ้นมาเพื่อทำลายชื่อเสียงคนอื่น. นอกจากนั้น ยังมีการใช้บล็อกต่าง ๆ เพื่อซุบซิบนินทาคนนั้นคนนี้ ซึ่งถ้าอยู่ต่อหน้าคงไม่กล้าพูดแน่ ๆ.
การพูดถึงคนอื่นต้องไม่ดีเสมอ ไหม?
ให้ขีดว่าจริงหรือไม่จริง.
การพูดถึงคนอื่นเป็นสิ่งไม่ดีเสมอ. □ จริง □ ไม่จริง
คำตอบคืออะไร? ถ้าพูดถึงคนอื่นเกี่ยวกับเรื่องทั่วไปคงไม่ผิดอะไร. ที่จริง พระคัมภีร์บอกให้เรา “ห่วงเรื่องของคนอื่น” ด้วย. (ฟิลิปปอย 2:4) แต่ไม่ได้หมายความว่าเราต้องเข้าไปยุ่มย่ามเรื่องของเขา. (1 เปโตร 4:15) หลายครั้งการพูดคุยกันทำให้เรารู้เรื่องดี ๆ เช่น ใครจะแต่งงานหรือใครคลอดลูก. ที่จริง เราจะบอกว่าสนใจคนอื่นแต่ไม่เคยพูดถึงเขาเลยคงไม่ได้.
แต่การคุยเรื่องทั่วไปอาจกลายเป็นการซุบซิบนินทาได้ เช่น เมื่อมีคนพูดว่า “ถ้าหนุ่มกับดาวชอบกันคงจะดี” อีกคนอาจเอาไปพูดว่า “หนุ่มกับดาวชอบกัน” โดยที่เจ้าตัวไม่รู้เรื่อง. คุณอาจบอกว่า ‘ไม่เห็นเป็นไรเลย’ ก็คุณไม่ใช่หนุ่มหรือดาวหนิ.
จูลี อายุ 18 ถูกพูดถึงทำนองนี้ มันทำให้เธอเจ็บ. เธอบอกว่า “ฉันโกรธและรู้สึกว่าไว้ใจใครไม่ได้.” เจน อายุ 19 ก็เจอแบบเดียวกัน. เธอเล่าว่า “ฉันต้องพยายามอยู่ห่าง ๆ หนุ่มที่ถูกลือว่าเป็นแฟนฉัน. ไม่แฟร์เลย เราเป็นเพื่อนกันแท้ ๆ แต่ข่าวลือแบบนั้นทำให้เราไม่กล้าคุยกัน.”
เปลี่ยนเรื่องพูด
ถ้าคุณอยากนินทาคนอื่น คุณจะควบคุมตัวได้อย่างไร? เพื่อจะได้คำตอบ ให้คิดถึงตอนที่คุณขับรถอยู่บนทางด่วนที่มีรถหนาแน่น จู่ ๆ อาจเกิดสถานการณ์บางอย่างที่ทำให้คุณต้องเปลี่ยนเลน ยอมให้คนอื่นแซงไปหรือหยุดรถกะทันหัน. ถ้าคุณตื่นตัว คุณจะคาดการณ์ได้และปรับเปลี่ยนตามนั้น.
เรื่องการพูดคุยก็เหมือนกัน. ตามปกติแล้วเราจะรู้ว่าการพูดคุยนั้นกำลังจะกลายเป็นการซุบซิบนินทา. คุณจะ ‘เปลี่ยนเลน’ ไหม? ถ้าไม่ การซุบซิบนินทาก็จะก่อปัญหาตามมา. ไมค์เล่าว่า “ผมนินทาสาวคนหนึ่งว่าเธอบ้าผู้ชาย พอเธอรู้เข้า เธอมาหาผม. ผมจะไม่มีวันลืมน้ำเสียงของเธอว่าเธอรู้สึกเจ็บปวดแค่ไหนกับคำพูดพล่อย ๆ ของผม. เราเคลียร์กันได้ แต่ผมยังรู้สึกไม่ดีที่ทำให้เธอเจ็บปวดขนาดนั้น.”
ใช่แล้ว คำพูดทำให้เราเจ็บได้. พระคัมภีร์บอกว่า “คำพูดพล่อย ๆ ของคนบางจำพวกเหมือนการแทงของกระบี่.” (สุภาษิต 12:18) ดังนั้น จึงมีเหตุผลมากมายที่จะชั่งใจก่อนพูด. เพราะถ้าเริ่มคุยกันอย่างเมามันแล้วจะเบรกก็คงยาก. แคโรลิน อายุ 17 บอกว่า “ต้องระวังสิ่งที่เราพูด. ถ้าเราได้ยินจากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือแล้วเอาไปพูดต่อ เราจะกลายเป็นคนกระจายเรื่องโกหก.” แต่ถ้าเรื่องที่คุณได้ยินมาเป็นเรื่องซุบซิบนินทาละก็ ให้ทำตามคำแนะนำของเปาโลที่ว่า “ให้พวกท่านตั้งเป้าหมายที่จะอยู่อย่างสงบ อย่าเข้าไปยุ่งกับเรื่องของคนอื่น.”—1 เทสซาโลนิเก 4:11
คุณจะสนใจคนอื่นโดยไม่เข้าไปยุ่งกับเรื่องส่วนตัวของเขาได้อย่างไร? ก่อนจะพูดถึงใคร ให้ถามตัวเองว่า ‘ฉันรู้เรื่องนั้นจริง ๆ ไหม? ฉันมีเจตนาอะไรที่จะเล่าเรื่องนั้น? ถ้าเล่าไป คนอื่นจะมองฉัน อย่างไร?’ คำถามสุดท้ายถือว่าสำคัญ เพราะถ้าคนอื่นรู้ว่าคุณชอบซุบซิบนินทา ชื่อเสียงของคุณ จะแย่กว่าคนที่ถูกนินทาเสียอีก.
ถ้าคุณ ถูกนินทา
จะว่าอย่างไรถ้าคุณถูกนินทา? ท่านผู้ประกาศ 7:9 เตือนว่า “อย่าให้ใจของเจ้าโกรธเร็ว.” อย่าคิดมาก ให้พยายามทำตามที่พระคัมภีร์บอกไว้คือ “อย่าปล่อยใจให้ไปฟังบรรดาถ้อยคำที่ใคร ๆ กล่าว, . . . ด้วยว่าหลายครั้งหลายคราวเจ้าก็แจ้งอยู่กับใจของเจ้าเองแล้วว่า, ตัวเจ้าเองได้แช่งด่าเขาเหมือนกัน.”—ท่านผู้ประกาศ 7:21, 22
แน่นอน การซุบซิบนินทาเป็นสิ่งผิด. แต่ถ้าคุณโต้ตอบโดยใช้อารมณ์ คนอื่นอาจมองคุณแย่กว่าคนที่นินทาคุณเสียอีก. คุณจะทำอย่างเรอเนได้ไหม? เธอบอกว่า “ฉันรู้สึกเจ็บเมื่อมีคนพูดถึงฉันเสีย ๆ หาย ๆ แต่ฉันพยายามไม่คิดมากเพราะรู้ว่าเดี๋ยวอาทิตย์หน้าเขาก็ลืมเรื่องฉันและพูดเรื่องอื่นแทน.”a
ดังนั้น ถ้าในวงสนทนาเริ่มมีการซุบซิบนินทา ให้คุณเปลี่ยนไปคุยเรื่องอื่น. และถ้ามีคนพูดถึงคุณในทางไม่ดี ก็ให้ใจเย็น ๆ อย่าใช้อารมณ์. จำไว้ว่า การกระทำดังกว่าคำพูด. (1 เปโตร 2:12) ถ้าคุณทำตามนี้ คุณจะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นและพระเจ้าจะพอพระทัยคุณ.
[เชิงอรรถ]
a บางกรณี อาจดีที่จะไปหาคนที่นินทาคุณแล้วคุยกับเขาอย่างผ่อนหนักผ่อนเบา. ส่วนใหญ่แล้วไม่จำเป็นต้องทำเช่นนี้เพราะ “ความรักปิดคลุมบาปไว้มากมาย.”—1 เปโตร 4:8
ข้อคัมภีร์หลัก
“ผู้ที่ระวังปากก็สงวนชีวิตของตน. แต่ผู้ที่พูดพล่อย ๆ จะถึงแก่หายนะ.”—สุภาษิต 13:3, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย
ข้อแนะ
ถ้าคุณได้ยินคนซุบซิบนินทา คุณอาจพูดว่า “ฉันว่าเราอย่าพูดเรื่องนี้เลย. เจ้าตัวก็ไม่อยู่ เราไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วเรื่องเป็นอย่างไร.”
คุณรู้ไหม . . . ?
แค่ฟัง คนอื่นซุบซิบนินทา คุณก็มีส่วนผิดแล้ว. ถ้าปล่อยให้เขานินทาต่อไปเท่ากับคุณยอมให้ข่าวนั้นแพร่กระจายมากขึ้น.
แผนปฏิบัติการ
ถ้าฉันได้ยินข่าวลือแล้วอยากไปเล่าต่อ ฉันจะ ․․․․․
ถ้ามีคนพูดถึงฉันในทางไม่ดี ฉันจะ ․․․․․
สิ่งที่ฉันอยากถามพ่อแม่เกี่ยวกับเรื่องนี้คือ ․․․․․
คุณคิดอย่างไร?
● เราพูดถึงคนอื่นในเรื่องใดได้บ้าง?
● คุณเคยถูกนินทาไหม? ถ้าเคย คุณได้เรียนรู้อะไร?
● ถ้าคุณเอาเรื่องที่คนอื่นนินทากันไปเล่าต่อ คุณ จะเสียชื่อเสียงอย่างไร?
[คำโปรยหน้า 107]
“ฉันเคยนินทาเพื่อนคนหนึ่ง พอเขารู้เข้า เขามาหาฉันและฉันไม่รู้จะแก้ตัวอย่างไร. ตอนนั้นแหละที่ฉันเข้าใจว่าถ้ามีอะไรก็ให้คุยกันตรง ๆ ดีกว่าจะนินทาเขาลับหลัง.”—พอลลา
[ภาพหน้า 108]
การซุบซิบนินทาเป็นเหมือนอาวุธที่ทำลายชื่อเสียงคนอื่นได้