คำอธิบายเพิ่มเติม
1 หลักการ
กฎหมายของพระเจ้ามาจากหลักการของพระองค์ หลักการของพระเจ้าคือความจริงพื้นฐานที่อยู่ในคัมภีร์ไบเบิล หลักการช่วยให้เราเข้าใจว่าพระเจ้าคิดและรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ หลักการช่วยให้เราทำสิ่งที่ดีและตัดสินใจอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ไม่มีกฎตายตัวบอกไว้
2 การเชื่อฟัง
การเชื่อฟังพระยะโฮวาหมายถึง เราเต็มใจทำสิ่งที่พระองค์บอก พระยะโฮวาอยากให้เราเชื่อฟังเพราะรักพระองค์ (1 ยอห์น 5:3) ถ้าเรารักและไว้ใจพระยะโฮวา เราจะทำตามคำแนะนำของพระองค์ในทุกสถานการณ์ เราจะเชื่อฟังแม้เป็นเรื่องยากสำหรับเรา การเชื่อฟังพระยะโฮวาเป็นผลดีกับเราเพราะพระองค์บอกวิธีที่เราจะมีชีวิตที่ดีตั้งแต่ตอนนี้ และสัญญาว่าเราจะได้รับพรมากมายในอนาคต—อิสยาห์ 48:17
3 อิสระในการตัดสินใจ
พระยะโฮวาให้เราทุกคนมีอิสระในการตัดสินใจหรือมีความสามารถที่จะเลือก พระองค์ไม่ได้สร้างเราให้เป็นเหมือนหุ่นยนต์ (เฉลยธรรมบัญญัติ 30:19; โยชูวา 24:15) เราสามารถใช้อิสรภาพของเราในการเลือกสิ่งที่ดี แต่ถ้าเราไม่ระวังเราอาจตัดสินใจผิด การมีอิสระในการตัดสินใจหมายถึง เราต้องตัดสินใจเองว่าจะภักดีต่อพระยะโฮวาและพิสูจน์ว่าเรารักพระองค์จริง ๆ หรือไม่
4 มาตรฐานทางศีลธรรม
พระยะโฮวากำหนดมาตรฐานทางศีลธรรมหรือการชี้นำต่าง ๆ ในเรื่องความประพฤติ ในคัมภีร์ไบเบิล เราสามารถเรียนรู้ว่ามีมาตรฐานทางศีลธรรมอะไรบ้าง และรู้วิธีที่มาตรฐานเหล่านั้นสามารถช่วยให้ชีวิตเราดีขึ้น (สุภาษิต 6:16-19; 1 โครินธ์ 6:9-11) การชี้นำต่าง ๆ ช่วยให้เรารู้ว่าอะไรถูกอะไรผิดในมุมมองของพระยะโฮวา และยังช่วยเราให้รู้วิธีแสดงความรัก วิธีตัดสินใจ และวิธีทำดีกับคนอื่น ถึงแม้มาตรฐานของโลกตกต่ำลงเรื่อย ๆ แต่มาตรฐานของพระยะโฮวาไม่เปลี่ยนแปลง (เฉลยธรรมบัญญัติ 32:4-6; มาลาคี 3:6) เราได้รับการปกป้องทั้งทางกายและทางอารมณ์เมื่อเราทำตามมาตรฐานเหล่านั้น
5 ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี
ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีเป็นความรู้สึกที่รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิดซึ่งอยู่ในตัวเรา พระยะโฮวาให้เราทุกคนมีความรู้สึกผิดชอบชั่วดี (โรม 2:14, 15) ถ้าเราฝึกความรู้สึกผิดชอบชั่วดีตามมาตรฐานทางศีลธรรมของพระยะโฮวา มันก็จะทำงานไม่ผิดพลาด และความรู้สึกผิดชอบชั่วดีก็จะช่วยเราให้ตัดสินใจในแบบที่พระเจ้าพอใจ (1 เปโตร 3:16) ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีช่วยเตือนเราตอนที่เรากำลังจะตัดสินใจผิด หรือช่วยให้เรารู้สึกผิดมากเมื่อทำผิด ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของเราอาจทำงานได้ไม่ดี แต่พระยะโฮวาสามารถช่วยให้ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีกลับมาทำงานได้ดีอีก ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีที่ไม่มีอะไรรบกวนทำให้เรามีใจสงบและมีความนับถือตัวเอง
6 ความเกรงกลัวพระเจ้า
ความเกรงกลัวพระเจ้าหมายถึง การที่เรารักและนับถือพระองค์มากจนเราไม่อยากทำให้พระองค์เสียใจ ความเกรงกลัวพระเจ้าช่วยให้เราทำดีและไม่ทำชั่ว (สดุดี 111:10) ความเกรงกลัวพระยะโฮวาทำให้เราตั้งใจฟังทุกอย่างที่พระองค์บอก ช่วยให้เรารักษาสัญญากับพระองค์เพราะเรานับถือพระองค์จากใจ ความเกรงกลัวพระเจ้ามีผลต่อวิธีที่เราคิด วิธีปฏิบัติต่อคนอื่น และการตัดสินใจของเราในแต่ละวันด้วย
7 การกลับใจ
การกลับใจรวมถึง การรู้สึกเสียใจมากกับความผิดที่ทำลงไป คนที่รักพระเจ้ารู้สึกเสียใจมากเมื่อทำสิ่งที่ขัดกับมาตรฐานของพระองค์ ถ้าเราทำผิดเราควรขอพระยะโฮวายกโทษให้เราโดยอาศัยค่าไถ่ของพระเยซู (มัทธิว 26:28; 1 ยอห์น 2:1, 2) ถ้าเรากลับใจจริง ๆ และเลิกทำผิดเรามั่นใจได้ว่าพระยะโฮวาจะให้อภัยเรา เราไม่ต้องรู้สึกผิดกับเรื่องในอดีตอีกต่อไป (สดุดี 103:10-14; 1 ยอห์น 1:9; 3:19-22) เราต้องพยายามอย่างจริงจังเพื่อเรียนรู้จากความผิดของเรา เปลี่ยนมาคิดสิ่งที่ถูกต้อง และใช้ชีวิตตามมาตรฐานของพระยะโฮวา
8 การตัดสัมพันธ์
ถ้าคนที่ทำผิดร้ายแรงไม่ยอมกลับใจและปฏิเสธมาตรฐานของพระยะโฮวา เขาจะไม่ได้เป็นสมาชิกของประชาคมอีกต่อไป เขาต้องถูกตัดสัมพันธ์ เราจะไม่ยุ่งเกี่ยวและไม่พูดคุยกับคนที่ถูกตัดสัมพันธ์ (1 โครินธ์ 5:11; 2 ยอห์น 9-11) การจัดเตรียมเกี่ยวกับการตัดสัมพันธ์เป็นการปกป้องชื่อเสียงของพระยะโฮวาและประชาคม (1 โครินธ์ 5:6) การตัดสัมพันธ์ยังทำให้คนที่ทำผิดได้รับบทเรียนซึ่งช่วยให้เขากลับใจและกลับมาหาพระยะโฮวาได้—ลูกา 15:17
9 การชี้นำและคำแนะนำ
พระยะโฮวารักเราและอยากช่วยเรา พระองค์ใช้คัมภีร์ไบเบิลและคนที่รักพระองค์เพื่อชี้นำและแนะนำเรา เราเป็นคนไม่สมบูรณ์แบบ เราจึงจำเป็นต้องได้รับการชี้นำและคำแนะนำจากพระองค์ (เยเรมีย์ 17:9) ถ้าเราเต็มใจเชื่อฟังคนที่พระยะโฮวาใช้เพื่อชี้นำเรา ก็แสดงว่าเรานับถือพระองค์และเชื่อฟังพระองค์—ฮีบรู 13:7
10 ความหยิ่งและความถ่อมตัว
เราเป็นคนไม่สมบูรณ์แบบ เราจึงเห็นแก่ตัวและเป็นคนหยิ่งได้ง่าย แต่พระยะโฮวาอยากให้เราถ่อมตัว เราเรียนรู้ที่จะเป็นคนถ่อมตัวด้วยการคิดถึงความยิ่งใหญ่ของพระยะโฮวา และเราจะรู้ว่าเราต่ำต้อยจริง ๆ (โยบ 38:1-4) ลักษณะสำคัญอีกอย่างของความถ่อมตัวคือการรู้จักคิดถึงคนอื่น และคิดถึงประโยชน์ของพวกเขาแทนที่จะคิดถึงประโยชน์ของตัวเอง ความหยิ่งทำให้คนเราคิดว่าตัวเองดีกว่าคนอื่น คนถ่อมตัวมองตัวเองตามความเป็นจริงและเห็นทั้งจุดเด่นและจุดด้อยของตัวเอง เขาไม่กลัวที่จะยอมรับผิด ยอมขอโทษ และยอมรับคำแนะนำ คนถ่อมตัวพึ่งพระยะโฮวาและทำตามการชี้นำของพระองค์—1 เปโตร 5:5
11 ผู้มีอำนาจ
ผู้มีอำนาจ คือ ผู้ที่มีสิทธิ์ออกคำสั่งและตัดสินใจ พระยะโฮวาเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในสวรรค์และบนโลก พระองค์มีพลังอำนาจสูงสุดในเอกภพเพราะพระองค์สร้างทุกสิ่ง พระองค์ใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นเสมอ พระยะโฮวาใช้มนุษย์บางคนให้รับผิดชอบดูแลเรา ตัวอย่างเช่น พ่อแม่ ผู้ดูแลในประชาคม และรัฐบาล พระยะโฮวาให้อำนาจคนเหล่านี้และพระองค์อยากให้เราร่วมมือกับพวกเขา (โรม 13:1-5; 1 ทิโมธี 5:17) แต่ถ้ากฎหมายของมนุษย์ขัดกับกฎหมายของพระเจ้า เราต้องเชื่อฟังพระเจ้ามากกว่าเชื่อฟังมนุษย์ (กิจการ 5:29) ถ้าเรายอมรับอำนาจของคนที่พระยะโฮวาใช้ก็แสดงว่าเรานับถือการตัดสินใจของพระองค์
12 ผู้ดูแล
พระยะโฮวาใช้พี่น้องชายที่มีประสบการณ์ให้เป็นผู้ดูแลประชาคม (เฉลยธรรมบัญญัติ 1:13; กิจการ 20:28) พวกเขาช่วยเราให้มีความสัมพันธ์ที่ดีกับพระยะโฮวาและนมัสการพระองค์อย่างมีสันติสุขและเป็นระเบียบเรียบร้อย (1 โครินธ์ 14:33, 40) ผู้ดูแลได้รับการแต่งตั้งด้วยพลังบริสุทธิ์ ซึ่งหมายความว่าพวกเขาต้องมีคุณสมบัติตามที่บอกไว้ในคัมภีร์ไบเบิล (1 ทิโมธี 3:1-7; ทิตัส 1:5-9; 1 เปโตร 5:2, 3) เราไว้ใจและติดตามองค์การของพระเจ้า เราจึงยินดีร่วมมือกับผู้ดูแล—สดุดี 138:6; ฮีบรู 13:17
13 หัวหน้าครอบครัว
พระยะโฮวาให้พ่อแม่มีหน้าที่รับผิดชอบในการดูแลลูกและคนในครอบครัว อย่างไรก็ตาม คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าสามีเป็นหัวหน้าครอบครัว แต่ถ้าครอบครัวไหนไม่มีพ่อ แม่ก็จะเป็นหัวหน้าครอบครัวแทน หัวหน้าครอบครัวมีหน้าที่จัดหาสิ่งต่าง ๆ ให้ครอบครัว เช่น อาหาร เสื้อผ้า และที่อยู่อาศัย สำคัญมากที่หัวหน้าครอบครัวจะนำหน้าเพื่อช่วยครอบครัวในเรื่องการนมัสการพระยะโฮวา ตัวอย่างเช่น เขาต้องพาครอบครัวไปประชุมเป็นประจำ ไปประกาศสม่ำเสมอ และศึกษาคัมภีร์ไบเบิลด้วยกัน หัวหน้าครอบครัวยังนำหน้าในการตัดสินใจด้วย เขาพยายามเลียนแบบพระเยซูเสมอด้วยการเป็นคนอ่อนโยนและมีเหตุผล ไม่เป็นคนโหดร้ายหรือหยาบคาย การทำแบบนี้ช่วยให้ครอบครัวอบอุ่น ทุกคนในครอบครัวจะรู้สึกปลอดภัยและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับพระยะโฮวามากขึ้น
14 คณะกรรมการปกครอง
คณะกรรมการปกครองคือ กลุ่มพี่น้องชายที่มีความหวังจะได้ไปสวรรค์ซึ่งพระเจ้าใช้ให้ชี้นำการงานให้กับประชาชนของพระองค์ ในศตวรรษแรกพระยะโฮวาใช้คณะกรรมการปกครองให้ชี้นำประชาคมคริสเตียนในการนมัสการและการทำงานประกาศ (กิจการ 15:2) ทุกวันนี้ กลุ่มพี่น้องชายที่เป็นคณะกรรมการปกครองนำหน้าในการแนะนำ ในการชี้นำเรื่องต่าง ๆ และปกป้องประชาชนของพระเจ้า ตอนที่พี่น้องชายกลุ่มนี้ตัดสินใจ พวกเขาจะพึ่งคัมภีร์ไบเบิลและพลังบริสุทธิ์ของพระเจ้า พระเยซูเรียกผู้ชายที่ได้รับการเจิมกลุ่มนี้ว่า “ทาสที่ซื่อสัตย์และสุขุม”—มัทธิว 24:45-47
15 การคลุมหัว
เมื่อพี่น้องหญิงถูกขอให้ทำงานบางอย่างซึ่งปกติเป็นงานของพี่น้องชาย เธอจะแสดงความนับถือต่อการจัดเตรียมของพระยะโฮวาด้วยการคลุมหัวตอนที่เธอทำงานนั้น มีบางสถานการณ์เท่านั้นที่พี่น้องหญิงต้องคลุมหัว เช่น เธอจะคลุมหัวเมื่อสอนคัมภีร์ไบเบิล ตอนที่สามีของเธอหรือพี่น้องชายที่รับบัพติศมาแล้วอยู่ในบริเวณนั้น—1 โครินธ์ 11:11-15
16 ความเป็นกลาง
เมื่อเรารักษาความเป็นกลาง เราจะไม่เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทางการเมือง (ยอห์น 17:16) ประชาชนของพระยะโฮวาสนับสนุนรัฐบาลของพระองค์ เราเป็นกลางในเรื่องต่าง ๆ ทางการเมืองของโลกแบบเดียวกับที่พระเยซูเคยทำ
พระยะโฮวาสั่งให้เรา “เชื่อฟังรัฐบาลและผู้มีอำนาจปกครอง” (ทิตัส 3:1, 2; โรม 13:1-7) แต่กฎหมายของพระเจ้าห้ามไม่ให้เราฆ่าคนด้วย ดังนั้น ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของคริสเตียนจึงไม่ยอมให้เขาไปเป็นทหารและเข้าร่วมสงคราม ถ้ามีทางเลือกให้ทำงานบริการสังคมแทนการเป็นทหาร คริสเตียนต้องดูว่าความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของเขายอมให้ทำงานนั้นหรือไม่
เรานมัสการพระยะโฮวาองค์เดียวเพราะพระองค์เป็นผู้สร้างตัวเรา ถึงแม้เราแสดงความนับถือสัญลักษณ์ของชาติ แต่เราจะไม่เคารพธงชาติและไม่ร้องเพลงชาติ (อิสยาห์ 43:11; ดาเนียล 3:1-30; 1 โครินธ์ 10:14) นอกจากนั้น ประชาชนของพระยะโฮวายังตัดสินใจด้วยตัวเองที่จะไม่เลือกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใดคนหนึ่ง เพราะพวกเขาเลือกแล้วว่าจะสนับสนุนรัฐบาลของพระเจ้าเท่านั้น—มัทธิว 22:21; ยอห์น 15:19; 18:36
17 น้ำใจของโลก
โลกนี้อยากให้เราคิดแบบซาตาน ความคิดแบบนั้นเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับคนที่ไม่ได้รักพระยะโฮวา ไม่ได้คิดแบบพระองค์ และไม่ยอมทำตามมาตรฐานของพระองค์ (1 ยอห์น 5:19) ความคิดแบบซาตานและการกระทำที่มาจากความคิดแบบนั้นเรียกว่า น้ำใจของโลก (เอเฟซัส 2:2) ประชาชนของพระยะโฮวาต้องไม่ยอมแพ้น้ำใจของโลก (เอเฟซัส 6:10-18) แทนที่จะทำอย่างนั้น พวกเขารักแนวทางของพระยะโฮวาและพยายามอย่างเต็มที่เพื่อจะคิดแบบพระองค์เสมอ
18 การทรยศพระเจ้า
การทรยศพระเจ้าคือการต่อต้านความจริงในคัมภีร์ไบเบิล คนทรยศพระเจ้าต่อต้านพระยะโฮวาและต่อต้านพระเยซูกษัตริย์ของรัฐบาลพระเจ้า คนพวกนี้พยายามชักจูงคนอื่นให้ทรยศด้วย (โรม 1:25) พวกเขาพยายามทำให้คนที่นมัสการพระยะโฮวาเกิดความสงสัย บางคนในประชาคมคริสเตียนยุคแรกกลายเป็นคนทรยศพระเจ้า และในสมัยเราก็มีด้วย (2 เธสะโลนิกา 2:3) คนที่ภักดีต่อพระยะโฮวาจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับคนทรยศพระเจ้า เราจะไม่อ่าน และไม่ฟังเรื่องต่าง ๆ ของคนพวกนี้ เราจะไม่ยอมให้ความอยากรู้อยากเห็นและไม่ยอมให้คนอื่นมากดดันเราให้ทำอย่างนั้นด้วย เราจะภักดีต่อพระยะโฮวาและนมัสการพระองค์ผู้เดียว
19 การไถ่บาป
ตามกฎหมายของโมเสส ชาติอิสราเอลขอให้พระยะโฮวาอภัยบาปของพวกเขา พวกเขาเอาเครื่องบูชาไถ่บาปที่ทำจากเมล็ดข้าว น้ำมัน และสัตว์ต่าง ๆ มาที่วิหาร การทำแบบนี้ช่วยให้ชาวอิสราเอลไม่ลืมว่า พระยะโฮวาเต็มใจให้อภัยบาปของพวกเขาทั้งในฐานะเป็นชาติและเป็นรายบุคคลด้วย ต่อมาเมื่อพระเยซูได้สละชีวิตเพื่อไถ่บาปของพวกเราแล้ว ท่านถวายเครื่องบูชาที่สมบูรณ์ “แค่ครั้งเดียว” จึงไม่จำเป็นต้องถวายเครื่องบูชาไถ่บาปอีกต่อไป—ฮีบรู 10:1, 4, 10
20 การคำนึงถึงชีวิตสัตว์
ตามกฎหมายของโมเสส ประชาชนได้รับอนุญาตให้กินเนื้อสัตว์ และพวกเขาต้องทำตามคำสั่งที่ให้ถวายสัตว์เป็นเครื่องบูชาด้วย (เลวีนิติ 1:5, 6) แต่พระยะโฮวาห้ามไม่ให้ทารุณสัตว์ (สุภาษิต 12:10) ที่จริง กฎหมายของโมเสสมีคำสั่งที่เป็นการปกป้องสัตว์จากการถูกทำร้าย และคำสั่งที่ให้ชาวอิสราเอลดูแลสัตว์ของพวกเขาอย่างดีด้วย—เฉลยธรรมบัญญัติ 22:6, 7
21 ส่วนประกอบย่อยของเลือดกับวิธีทางการแพทย์
ส่วนประกอบย่อยของเลือด เลือดมีส่วนประกอบหลัก 4 อย่าง คือ เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด และพลาสมา ส่วนประกอบหลักทั้ง 4 อย่างสามารถแยกย่อยได้อีกหลายอย่าง เรียกว่าส่วนประกอบย่อยของเลือดa
คริสเตียนไม่รับการถ่ายเลือดไม่ว่าจะเป็นเลือดครบส่วนหรือส่วนประกอบหลักอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่คริสเตียนควรรับส่วนประกอบย่อยของเลือดไหม? คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้ให้รายละเอียดที่เจาะจงในเรื่องนี้ ดังนั้น คริสเตียนแต่ละคนต้องตัดสินใจด้วยตัวเองโดยใช้ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีที่สอดคล้องกับหลักการในคัมภีร์ไบเบิล
คริสเตียนบางคนตัดสินใจไม่รับส่วนประกอบย่อยทุกอย่างของเลือด พวกเขาอาจหาเหตุผลว่า กฎหมายของพระเจ้าสั่งให้เทเลือดทั้งหมดของสัตว์ “ให้ไหลลงดิน” พวกเขาจึงไม่รับส่วนประกอบย่อยของเลือด—เฉลยธรรมบัญญัติ 12:22-24
คริสเตียนคนอื่นตัดสินใจต่างออกไป ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของเขายอมให้รับส่วนประกอบย่อยบางอย่างของเลือดได้ พวกเขาอาจหาเหตุผลว่า ส่วนประกอบย่อยเหล่านั้นไม่ได้หมายถึงชีวิตอีกต่อไป พวกเขาจึงรับได้
เมื่อตัดสินใจเกี่ยวกับส่วนประกอบย่อยของเลือด ขอให้คุณถามตัวเองด้วยคำถามต่อไปนี้
ฉันรู้ไหมว่าการไม่รับส่วนประกอบย่อยของเลือดทุกอย่าง หมายความว่าฉันไม่ยอมรับยาบางอย่างที่ใช้รักษาโรค หรือยาที่อาจช่วยให้เลือดหยุดไหล?
ฉันจะอธิบายให้แพทย์ฟังอย่างไรว่า ทำไมฉันรับหรือปฏิเสธการใช้ส่วนประกอบย่อยของเลือดบางอย่าง?
วิธีทางการแพทย์ ในฐานะคริสเตียน เราไม่บริจาคเลือดหรือเก็บเลือดของตัวเองไว้ล่วงหน้าหลายสัปดาห์เพื่อใช้ในการผ่าตัด อย่างไรก็ตาม มีวิธีทางการแพทย์แบบอื่น ๆ ที่ใช้เลือดของผู้ป่วยเองด้วย คริสเตียนแต่ละคนต้องตัดสินใจเองว่าจะให้ทำอย่างไรกับเลือดของเขาในขั้นตอนการผ่าตัด การตรวจทางการแพทย์ หรือการรักษาที่ได้รับอยู่ ในขั้นตอนเหล่านั้น เลือดของผู้ป่วยอาจอยู่นอกร่างกายผู้ป่วยอยู่ช่วงหนึ่ง—สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม ดูหอสังเกตการณ์ 15 ตุลาคม 2000 หน้า 30-31
ตัวอย่างเช่น วิธีที่เรียกว่า การลดความเข้มข้นของเลือด (hemodilution) ซึ่งเลือดส่วนหนึ่งของผู้ป่วยจะถูกนำออกจากร่างกายทันทีก่อนการผ่าตัด และแทนที่ด้วยสารเพิ่มปริมาตรเลือด หลังจากนั้น ระหว่างผ่าตัดหรือหลังจากผ่าตัดเสร็จไม่นาน เลือดจะถูกนำกลับเข้าร่างกายผู้ป่วยอีกครั้ง
อีกวิธีหนึ่งคือการล้างและเก็บเม็ดเลือดกลับมาใช้ (cell salvage) ซึ่งจะมีการเก็บเลือดผู้ป่วยที่สูญเสียระหว่างผ่าตัด มาผ่านการทำความสะอาด และกลับเข้าร่างกายผู้ป่วยอีกครั้งระหว่างผ่าตัดหรือหลังจากผ่าตัดเสร็จไม่นาน
แพทย์แต่ละคนอาจใช้วิธีการรักษาเหล่านี้ต่างกันเล็กน้อย ดังนั้น ก่อนจะยอมรับวิธีผ่าตัด การตรวจทางการแพทย์ หรือการรักษาอย่างใดอย่างหนึ่ง คริสเตียนต้องตรวจสอบให้ดีว่าจะมีการใช้เลือดของตัวเองอย่างไร
เมื่อตัดสินใจเกี่ยวกับการใช้เลือดของตัวเองในขั้นตอนการรักษา ขอให้คุณถามตัวเองด้วยคำถามต่อไปนี้
ถ้าเลือดบางส่วนของฉันถูกนำออกนอกร่างกายและหมุนเวียนกลับเข้าร่างกายอีกครั้งโดยอาจหยุดเป็นบางช่วง ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของฉันจะถือว่าเลือดนั้นยังเป็นส่วนหนึ่งของตัวฉันโดยไม่ต้องเท “ให้ไหลลงดิน” ไหม?—เฉลยธรรมบัญญัติ 12:23, 24
ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของฉันที่ได้รับการฝึกตามหลักการจากคัมภีร์ไบเบิลจะถูกรบกวนไหม ถ้าในบางขั้นตอนของการรักษามีการนำเลือดบางส่วนของฉันไปดัดแปลงและนำกลับเข้าร่างกายหรือนำมาใช้กับฉันอีกครั้งหนึ่ง?
ฉันรู้ไหมว่าการปฏิเสธวิธีทางการแพทย์ทุกอย่างที่เกี่ยวกับการใช้เลือดของตัวเอง หมายความว่าฉันจะไม่รับการตรวจเลือด การฟอกเลือด และการใช้เครื่องหัวใจและปอดเทียม?
ก่อนตัดสินใจเกี่ยวกับวิธีการรักษาที่ใช้ส่วนประกอบย่อยของเลือดและเลือดของตัวเอง เราต้องอธิษฐานขอการชี้นำจากพระยะโฮวาและค้นคว้าข้อมูลอย่างรอบคอบ (ยากอบ 1:5, 6) หลังจากนั้น เราต้องตัดสินใจโดยใช้ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีที่ได้รับการฝึกตามหลักการจากคัมภีร์ไบเบิล เราไม่ควรถามคนอื่นว่าพวกเขาจะทำอย่างไรถ้าเจอสถานการณ์แบบเดียวกับเรา และเราไม่ควรยอมให้คนอื่นกดดันการตัดสินใจของเรา—โรม 14:12; กาลาเทีย 6:5
22 ความสะอาดทางศีลธรรม
ความสะอาดทางศีลธรรมหมายถึง ความประพฤติและการกระทำที่สะอาดในมุมมองของพระเจ้า เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับความคิด คำพูด และการกระทำของเรา พระยะโฮวาสั่งให้เราหลีกเลี่ยงความไม่สะอาดทางศีลธรรมและการผิดศีลธรรมทางเพศทุกรูปแบบ (สุภาษิต 1:10; 3:1) เราต้องตั้งใจไว้ว่าจะทำตามมาตรฐานที่สะอาดของพระยะโฮวา ตั้งแต่ตอนที่เรายังไม่เจอการล่อใจให้ทำผิด เราต้องอธิษฐานเสมอขอให้พระเจ้าช่วยเราให้มีใจบริสุทธิ์ และเราต้องตั้งใจต้านทานสิ่งที่ล่อใจเราให้ทำผิดศีลธรรม—1 โครินธ์ 6:9, 10, 18; เอเฟซัส 5:5
23 การประพฤติไร้ยางอายและการกระทำที่ไม่สะอาด
การประพฤติไร้ยางอายเกี่ยวข้องกับคำพูดและการกระทำที่ขัดกับมาตรฐานของพระเจ้าอย่างร้ายแรง และแสดงให้เห็นถึงความหน้าด้าน คนที่ทำแบบนี้แสดงให้เห็นว่าเขาไม่นับถือกฎหมายของพระเจ้า ถ้ามีคนประพฤติไร้ยางอาย คณะกรรมการตัดสินความจะจัดการเรื่องนี้ การกระทำที่ไม่สะอาดหมายถึงการทำชั่วในรูปแบบต่าง ๆ คณะกรรมการตัดสินความในประชาคมอาจจำเป็นต้องตัดสินความผิดบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับการกระทำที่ไม่สะอาด ขึ้นอยู่กับความร้ายแรงของการกระทำนั้น—กาลาเทีย 5:19-21; เอเฟซัส 4:19; สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม ดู “คำถามจากผู้อ่าน” ในหอสังเกตการณ์ 15 กรกฎาคม 2006
▸ บท 9 ข้อ 7 และ บท 12 ข้อ 10
24 การสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง
พระยะโฮวาให้สามีภรรยามีความสัมพันธ์ทางเพศเพื่อแสดงความรักที่มีต่อกัน แต่การสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง ซึ่งก็คือการกระตุ้นอวัยวะเพศของตัวเองเพื่อให้เกิดความสุขทางเพศ เป็นการประพฤติที่ไม่สะอาดในเรื่องเพศ การสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเองทำลายความสัมพันธ์ที่มีต่อพระยะโฮวา นิสัยแบบนี้อาจทำให้เกิดความต้องการทางเพศที่ผิดธรรมชาติและอาจทำให้มองเรื่องเพศผิดเพี้ยนไป (โคโลสี 3:5) ถ้าใครมีนิสัยที่ไม่สะอาดแบบนี้และรู้สึกว่าเลิกได้ยาก เขาควรพยายามต่อไปเพื่อเลิกให้ได้ (สดุดี 86:5; 1 ยอห์น 3:20) ถ้าคุณมีปัญหานี้ ขอให้อธิษฐานถึงพระยะโฮวาและขอความช่วยเหลือจากพระองค์ หลีกเลี่ยงสื่อลามกหรือสิ่งที่กระตุ้นให้คุณมีความคิดที่ไม่สะอาด หรือปรึกษาพ่อแม่ที่เป็นคริสเตียนหรือเพื่อนที่มีความเป็นผู้ใหญ่ซึ่งนับถือกฎหมายของพระยะโฮวา (สุภาษิต 1:8, 9; 1 เธสะโลนิกา 5:14; ทิตัส 2:3-5) คุณมั่นใจได้เลยว่า พระยะโฮวาเห็นและถือว่าการที่คุณพยายามรักษาความสะอาดทางศีลธรรมมีค่ามาก—สดุดี 51:17; อิสยาห์ 1:18
25 การมีคู่หลายคน
พระยะโฮวาให้ผู้ชายหนึ่งคนแต่งงานกับผู้หญิงหนึ่งคน ในสมัยอิสราเอลโบราณ พระเจ้ายอมให้ผู้ชายมีภรรยามากกว่าหนึ่งคน แต่นี่ไม่ใช่ความประสงค์ของพระองค์ตั้งแต่แรก ทุกวันนี้ พระยะโฮวาไม่อนุญาตให้ประชาชนของพระองค์มีคู่หลายคน สามีมีภรรยาได้คนเดียวและภรรยาก็มีสามีได้คนเดียว—มัทธิว 19:9; 1 ทิโมธี 3:2
26 การหย่าและการแยกกันอยู่
พระยะโฮวาตั้งใจให้สามีภรรยาอยู่ด้วยกันตลอดชีวิต (ปฐมกาล 2:24; มาลาคี 2:15, 16; มัทธิว 19:3-6; 1 โครินธ์ 7:39) พระองค์อนุญาตให้หย่าได้เฉพาะเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเล่นชู้ ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนั้น พระยะโฮวาจะอนุญาตให้ฝ่ายที่ไม่ได้ทำผิดมีสิทธิ์ที่จะหย่าได้ แต่เขาต้องตัดสินใจเองว่าจะหย่าหรือไม่—มัทธิว 19:9
บางครั้ง คริสเตียนตัดสินใจที่จะแยกจากคู่ของเขาไปอยู่ที่อื่นแม้จะไม่มีการทำผิดศีลธรรม (1 โครินธ์ 7:11) คริสเตียนอาจตัดสินใจแยกจากคู่ของเขาเมื่อเกิดสถานการณ์ต่อไปนี้
จงใจไม่เลี้ยงดู: สามีไม่ยอมหาเลี้ยงครอบครัวจนถึงขั้นที่คนในครอบครัวไม่มีจะกิน—1 ทิโมธี 5:8
ทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรง: มีการทำร้ายร่างกายอีกฝ่ายจนบาดเจ็บหรือจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือชีวิต—กาลาเทีย 5:19-21
ทำสิ่งที่ทำลายความสัมพันธ์กับพระยะโฮวา: สามีหรือภรรยาขัดขวางจนทำให้อีกฝ่ายไม่สามารถรับใช้พระยะโฮวาได้—กิจการ 5:29
27 การชมเชยและการให้กำลังใจ
การชมเชยและการให้กำลังใจเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคน (สุภาษิต 12:25; 16:24) เราใช้คำพูดที่แสดงความรักและความกรุณาเพื่อปลอบโยนและทำให้คนอื่นมีกำลังใจ คำพูดแบบนี้ช่วยให้พี่น้องของเราอดทนและรับใช้พระยะโฮวาได้ต่อไปแม้จะเจอความยากลำบาก (สุภาษิต 12:18; ฟีลิปปี 2:1-4) ถ้าเราเห็นใครท้อใจ เราควรตั้งใจรับฟังเขาและพยายามเข้าใจความรู้สึกของเขา เมื่อเราทำแบบนี้ เราจะรู้ว่าเราควรพูดหรือช่วยเหลือเขาอย่างไร (ยากอบ 1:19) ขอให้คุณตั้งเป้าหมายที่จะรู้จักพี่น้องให้ดีขึ้นเพื่อจะรู้ว่าพวกเขาจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลืออะไรบ้าง แล้วคุณจะสามารถช่วยให้พวกเขาหันมาพึ่งพระเจ้าที่คอยให้กำลังใจในทุกสถานการณ์ ซึ่งเป็นแหล่งของการปลอบโยนและความสดชื่นอย่างแท้จริง—2 โครินธ์ 1:3, 4; 1 เธสะโลนิกา 5:11
28 งานแต่งงาน
คัมภีร์ไบเบิลไม่มีกฎตายตัวเกี่ยวกับการจัดงานแต่งงาน ธรรมเนียมและกฎหมายของแต่ละท้องถิ่นก็ต่างกันด้วย (ปฐมกาล 24:67; มัทธิว 1:24; 25:10; ลูกา 14:8) ช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดของงานแต่งงานคือตอนที่เจ้าบ่าวเจ้าสาวปฏิญาณต่อหน้าพระยะโฮวา หลายคู่ตัดสินใจให้ครอบครัวและเพื่อนสนิทมาอยู่ด้วยตอนที่พวกเขากล่าวคำปฏิญาณ และให้ผู้ดูแลในประชาคมบรรยายโดยอาศัยหลักการในคัมภีร์ไบเบิล แต่ละคู่อาจตัดสินใจว่าหลังจากช่วงเวลาสำคัญนั้นพวกเขาจะจัดงานเลี้ยงแบบไหนและจะต้อนรับแขกอย่างไร (ลูกา 14:28; ยอห์น 2:1-11) ไม่ว่าจะตัดสินใจอย่างไรพวกเขาต้องทำให้แน่ใจว่างานแต่งงานจะทำให้พระยะโฮวาได้รับเกียรติ (ปฐมกาล 2:18-24; มัทธิว 19:5, 6) พวกเขาสามารถตัดสินใจอย่างถูกต้องได้โดยใช้หลักการจากคัมภีร์ไบเบิล (1 ยอห์น 2:16, 17) ถ้าพวกเขาตัดสินใจให้มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานเลี้ยง พวกเขาต้องแน่ใจว่าจะควบคุมดูแลเรื่องนี้ได้อย่างเหมาะสม (สุภาษิต 20:1; เอเฟซัส 5:18) ถ้าพวกเขาตัดสินใจให้มีดนตรีหรือการแสดง พวกเขาต้องมั่นใจว่าจะไม่ทำให้พระยะโฮวาเสื่อมเสียเกียรติ คู่แต่งงานคริสเตียนควรให้ความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขาและความสัมพันธ์ระหว่างพระยะโฮวาสำคัญกว่างานแต่งงาน—สุภาษิต 18:22; ดูคำแนะนำเพิ่มเติมในหอสังเกตการณ์ 15 ตุลาคม 2006 หน้า 18-31
29 การตัดสินใจอย่างฉลาด
เราอยากตัดสินใจอย่างดีโดยใช้หลักการจากคัมภีร์ไบเบิล ตัวอย่างเช่น คู่ที่ไม่มีความเชื่อของคริสเตียนคนหนึ่งอาจชวนเขาไปกินข้าวกับญาติ ๆ ในวันหยุดเทศกาล ถ้าคุณเจอสถานการณ์อย่างนั้นคุณจะทำอย่างไร? ถ้าความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของคุณยอมให้ไป คุณอาจบอกกับคู่ของคุณว่า ถ้างานที่ไปนั้นมีธรรมเนียมนอกรีตเข้ามาเกี่ยวข้อง คุณจะไม่ร่วมด้วย แต่คุณควรคิดให้ดีว่าคนอื่นจะรู้สึกไม่สบายใจหรือสะดุดไหมถ้าคุณไปงานนั้น—1 โครินธ์ 8:9; 10:23, 24
บางทีนายจ้างอาจจะให้โบนัสคุณในช่วงเทศกาล คุณควรปฏิเสธโบนัสนั้นไหม? อาจไม่จำเป็น การตัดสินใจว่าจะรับหรือไม่อาจขึ้นอยู่กับว่านายจ้างให้โบนัสด้วยเจตนาอะไร นายจ้างถือว่าโบนัสนั้นเป็นของขวัญสำหรับเทศกาลนั้นไหม? ถ้าคุณรับไว้เขาถือว่าคุณกำลังฉลองเทศกาลนั้นไหม? หรือเขาให้เพื่อแสดงน้ำใจเท่านั้น เมื่อคุณคิดให้ดีถึงเหตุผลต่าง ๆ คุณจะตัดสินใจได้ว่าจะรับโบนัสนั้นหรือไม่
ในอีกสถานการณ์ อาจมีคนให้ของขวัญคุณในช่วงเทศกาลและบอกว่า “ฉันรู้ว่าคุณไม่ฉลองเทศกาล แต่ฉันก็อยากให้ของขวัญนี้กับคุณนะ” อาจเป็นได้ว่าคนที่ให้ของขวัญแค่อยากแสดงน้ำใจกับคุณ แต่ในทางกลับกัน เขาอยากทดสอบความเชื่อของคุณไหม? เขากำลังพยายามดึงให้คุณร่วมฉลองเทศกาลหรือเปล่า? เมื่อคิดอย่างรอบคอบแล้ว คุณต้องตัดสินใจด้วยตัวเองว่าจะรับของขวัญหรือไม่ เราไม่อยากให้การตัดสินใจรบกวนความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของเรา และเราอยากซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวา—กิจการ 23:1
30 ความขัดแย้งทางธุรกิจและเรื่องทางกฎหมาย
ส่วนใหญ่แล้วถ้าความขัดแย้งได้รับการแก้ไขทันทีและด้วยวิธีที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับได้ ปัญหาก็จะไม่บานปลาย (มัทธิว 5:23-26) คริสเตียนทุกคนควรถือว่าการทำให้พระยะโฮวาได้รับเกียรติและการทำให้ประชาคมเป็นหนึ่งเดียวกันเป็นเรื่องสำคัญที่สุด—ยอห์น 13:34, 35; 1 โครินธ์ 13:4, 5
ถ้าคริสเตียนขัดแย้งกันเรื่องธุรกิจ พวกเขาควรพยายามจัดการเรื่องนี้โดยไม่ต้องฟ้องศาล เปาโลแนะนำไว้ที่ 1 โครินธ์ 6:1-8 ว่า การฟ้องร้องพี่น้องจนต้องสู้คดีกันในศาลทำให้พระยะโฮวาและประชาคมเสียชื่อเสียง ที่มัทธิว 18:15-17 บอกว่า เมื่อคริสเตียนมีเรื่องร้ายแรงขัดแย้งกัน เช่น การใส่ร้ายหรือการฉ้อโกง มีสามขั้นตอนที่พวกเขาควรทำคือ (1) พวกเขาควรพยายามตกลงกันเองก่อน (2) ถ้ายังมีปัญหาอยู่ พวกเขาอาจขอให้พี่น้องในประชาคมที่มีความเป็นผู้ใหญ่หนึ่งหรือสองคนเข้ามาช่วย (3) หลังจากนั้น ถ้าจำเป็นจริง ๆ พวกเขาอาจขอให้คณะผู้ดูแลจัดการกับเรื่องนี้ เมื่อถึงขั้นนี้ ผู้ดูแลจะใช้หลักการจากคัมภีร์ไบเบิลช่วยให้ทุกคนตกลงกันได้อย่างสันติ ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยอมทำตามหลักการจากคัมภีร์ไบเบิล ผู้ดูแลในประชาคมอาจจำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการตัดสินความ
อาจมีบางเรื่องที่จำเป็นต้องมีการดำเนินการทางกฎหมาย เช่น การหย่าร้าง สิทธิ์ในการเลี้ยงดูลูก การขอรับค่าเลี้ยงดู การขอรับเงินประกัน การฟ้องล้มละลาย หรือพินัยกรรม ถ้าคริสเตียนต้องใช้วิธีทางกฎหมายเพื่อจัดการกับปัญหา เขาควรทำอย่างประนีประนอม การทำอย่างนี้ไม่ถือว่าเขาไม่เชื่อฟังคำแนะนำของเปาโล
เมื่อมีอาชญากรรมร้ายแรงเกิดขึ้น เช่น การข่มขืน การทำร้ายเด็กทางเพศ การทำร้ายร่างกาย การโจรกรรม หรือการฆาตกรรม คริสเตียนสามารถแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่บ้านเมืองได้โดยไม่ถือว่าเขาทำสิ่งที่ขัดกับคำแนะนำของเปาโล
31 คำหลอกลวงของซาตาน
ซาตานพยายามหลอกลวงมนุษย์ตั้งแต่ในสวนเอเดนเป็นต้นมา (ปฐมกาล 3:1-6; วิวรณ์ 12:9) มันรู้ว่าถ้ามันทำให้เรามีความคิดผิด ๆ มันก็จะชักจูงเราให้ทำชั่วได้ง่ายขึ้น (2 โครินธ์ 4:4; ยากอบ 1:14, 15) มันใช้การเมือง ศาสนา การค้า ความบันเทิง การศึกษา และสิ่งอื่น ๆ อีกหลายอย่างเพื่อสนับสนุนแนวคิดของมัน และทำให้ดูเหมือนเป็นเรื่องที่ยอมรับได้—ยอห์น 14:30; 1 ยอห์น 5:19
ซาตานรู้ว่ามันเหลือเวลาไม่มาก มันจึงพยายามสุดความสามารถที่จะล่อลวงมนุษย์ให้มากที่สุด โดยเฉพาะคนที่รับใช้พระยะโฮวา (วิวรณ์ 12:12) ถ้าเราไม่ระวัง มารซาตานจะค่อย ๆ ทำให้เรามีความคิดผิด ๆ (1 โครินธ์ 10:12) ตัวอย่างเช่น พระยะโฮวาอยากให้สามีภรรยาอยู่ด้วยกันตลอดไป (มัทธิว 19:5, 6, 9) แต่ทุกวันนี้หลายคนคิดว่าการแต่งงานเป็นเรื่องเล่น ๆ จะเลิกกันเมื่อไรก็ได้ ภาพยนตร์และรายการทีวีก็สนับสนุนความคิดนี้ เราต้องไม่ยอมให้ความคิดแบบคนทั่วไปในโลกเกี่ยวกับการใช้ชีวิตคู่มีผลต่อตัวเรา
อีกวิธีหนึ่งที่ซาตานใช้เพื่อล่อลวงเราคือ มันทำให้เราคิดว่าไม่จำเป็นต้องอยู่ใต้อำนาจใคร (2 ทิโมธี 3:4) ถ้าเราไม่ระวัง เราอาจต่อต้านอำนาจคนที่พระยะโฮวาแต่งตั้ง ตัวอย่างเช่น พี่น้องชายอาจเริ่มต่อต้านการชี้นำจากผู้ดูแลในประชาคม (ฮีบรู 12:5) หรือพี่น้องหญิงอาจเริ่มไม่เห็นด้วยกับการจัดเตรียมของพระยะโฮวาเรื่องผู้นำในครอบครัว—1 โครินธ์ 11:3
เราต้องไม่ยอมให้มารซาตานชักจูงเราให้คิดในทางที่ผิด แต่เราจะเลียนแบบวิธีคิดของพระยะโฮวา และ ‘ให้ความคิดของเรายึดอยู่กับสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่เบื้องบน’—โคโลสี 3:2; 2 โครินธ์ 2:11
32 การรักษาทางการแพทย์
เราทุกคนอยากมีสุขภาพดี และตอนที่เราป่วยเราก็อยากรับการรักษาที่ดีที่สุด (อิสยาห์ 38:21; มาระโก 5:25, 26; ลูกา 10:34) ทุกวันนี้ มีเทคนิคและวิธีการรักษาหลายแบบทั้งจากแพทย์และจากแหล่งอื่น เมื่อต้องตัดสินใจว่าจะรับการรักษาแบบไหน เราต้องทำตามหลักการจากคัมภีร์ไบเบิล เราต้องจำไว้ว่ารัฐบาลของพระเจ้าเป็นทางเดียวเท่านั้นที่จะช่วยรักษาความเจ็บป่วยได้อย่างถาวร เราไม่อยากหมกมุ่นกับการรักษาสุขภาพจนละเลยการนมัสการพระยะโฮวา—อิสยาห์ 33:24; 1 ทิโมธี 4:16
เราต้องพยายามหลีกเลี่ยงการรักษาโดยใช้อำนาจของพวกปีศาจ (เฉลยธรรมบัญญัติ 18:10-12; อิสยาห์ 1:13) ดังนั้น ก่อนจะรับการรักษาหรือยาบางชนิด เราจำเป็นต้องดูให้แน่ใจว่ามีอะไรอยู่เบื้องหลัง และการรักษานั้นส่งเสริมความคิดแบบไหน (สุภาษิต 14:15) เราต้องไม่ลืมว่าซาตานพยายามล่อลวงเราให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับพวกปีศาจ ถ้าเราสงสัยว่าการรักษาเกี่ยวข้องกับพวกปีศาจหรือไสยศาสตร์ ดีที่สุดที่เราจะไม่รับการรักษานั้น—1 เปโตร 5:8
a แพทย์บางคนมองว่าส่วนประกอบหลัก 4 อย่างของเลือดก็เป็นส่วนประกอบย่อยของเลือดเหมือนกัน ดังนั้น คุณอาจจำเป็นต้องอธิบายว่าคุณตัดสินใจไม่รับการถ่ายเลือด ทั้งเลือดครบส่วนและส่วนประกอบหลัก 4 อย่าง โดยบอกชัดเจนว่าคุณไม่รับเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด และพลาสมา