บท 7
ชาติต่าง ๆ “จะต้องรู้ว่าเราคือยะโฮวา”
จุดสำคัญ เราได้เรียนอะไรจากการที่ชาวอิสราเอลติดต่อเกี่ยวข้องกับชาติรอบข้างที่ดูหมิ่นชื่อพระยะโฮวา
1, 2. (ก) ทำไมชาติอิสราเอลจึงเหมือนแกะตัวเดียวที่ถูกล้อมด้วยฝูงหมาป่า? (ดูภาพแรก) (ข) ประชาชนและกษัตริย์ของอิสราเอลยอมให้อะไรเกิดขึ้น?
ตลอดหลายร้อยปีชาติอิสราเอลเป็นเหมือนแกะตัวเดียวซึ่งถูกล้อมด้วยฝูงหมาป่า ทางชายแดนทิศตะวันออกพวกเขาถูกคุกคามจากพวกอัมโมน โมอับ และเอโดม ทางทิศตะวันตกก็มีพวกฟีลิสเตียที่เป็นศัตรูมาอย่างยาวนานตั้งรกรากอยู่ ทางทิศเหนือมีเมืองไทระซึ่งเป็นอาณาจักรที่ร่ำรวยและเป็นศูนย์กลางทางการค้าที่รุ่งเรือง ทางทิศใต้มีอียิปต์อาณาจักรโบราณที่แผ่ขยายอำนาจอยู่ในแถบนั้นซึ่งปกครองโดยฟาโรห์กษัตริย์ที่ผู้คนถือว่าเป็นเทพเจ้า
2 เมื่อชาวอิสราเอลพึ่งพระยะโฮวา พระองค์ก็ปกป้องพวกเขาจากศัตรู แต่ครั้งแล้วครั้งเล่าที่ประชาชนและกษัตริย์ของอิสราเอลยอมให้อิทธิพลจากชาติที่อยู่รอบ ๆ มาทำให้ชาติของเขาเสื่อมเสีย กษัตริย์อาหับก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง อาหับปกครองอาณาจักรอิสราเอลสิบตระกูลช่วงเดียวกับที่กษัตริย์เยโฮชาฟัทปกครองยูดาห์ อาหับแต่งงานกับเยเซเบลลูกสาวกษัตริย์ของไซดอนซึ่งปกครองเมืองไทระที่เจริญรุ่งเรือง เยเซเบลทำให้การนมัสการพระบาอัลแพร่หลายในอิสราเอลและผลักดันให้สามีนมัสการด้วย ซึ่งทำให้การนมัสการที่บริสุทธิ์เสื่อมเสียแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน—1 พก. 16:30-33; 18:4, 19
3, 4. (ก) ตอนนี้เอเสเคียลเริ่มพยากรณ์เกี่ยวกับอะไร? (ข) เราจะตอบคำถามอะไร?
3 พระยะโฮวาเคยเตือนประชาชนแล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าพวกเขาไม่ภักดีต่อพระองค์ ตอนนี้พระองค์จะไม่ยอมทนอีกต่อไป (ยรม. 21:7, 10; อสค. 5:7-9) ปี 609 ก่อน ค.ศ. กองทัพบาบิโลนกลับมาแผ่นดินที่พระเจ้าสัญญาเป็นรอบที่สาม ซึ่งเป็นเวลาเกือบสิบปีแล้วหลังจากการบุกครั้งล่าสุด ครั้งนี้พวกเขาจะทำลายกำแพงเมืองเยรูซาเล็มและคนที่กบฏต่อเนบูคัดเนสซาร์ เมื่อการล้อมเมืองเริ่มต้นและคำพยากรณ์ของเอเสเคียลเกิดขึ้นจริงในทุกรายละเอียด เอเสเคียลก็เริ่มพยากรณ์เกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับชาติที่อยู่รอบ ๆ แผ่นดินที่พระเจ้าสัญญา
ชาติต่าง ๆ ที่ดูหมิ่นชื่อพระยะโฮวาจะต้องรับผลจากสิ่งที่พวกเขาทำ
4 พระยะโฮวาบอกเอเสเคียลว่าศัตรูของยูดาห์จะดีใจที่เห็นเยรูซาเล็มถูกทำลายและซ้ำเติมคนที่รอดชีวิต แต่ชาติต่าง ๆ ที่ดูหมิ่นชื่อพระยะโฮวาและข่มเหงหรือทำให้ประชาชนของพระองค์ตกต่ำจะต้องรับผลจากสิ่งที่พวกเขาทำ เราได้บทเรียนอะไรจากความสัมพันธ์ของอิสราเอลกับชาติเหล่านั้น? และคำพยากรณ์ของเอเสเคียลเกี่ยวกับชาติต่าง ๆ ให้ความหวังกับเราอย่างไรในทุกวันนี้?
ญาติพี่น้องที่ “พูดเยาะเย้ย” อิสราเอล
5, 6. ชาวอัมโมนและชาวอิสราเอลเกี่ยวข้องกันอย่างไร?
5 อัมโมน โมอับ และเอโดม เป็นญาติโดยสายเลือดกับชาติอิสราเอล ถึงแม้จะเป็นญาติกันและมีประวัติศาสตร์ร่วมกัน แต่ชาติเหล่านั้นกลับเป็นศัตรูและ “พูดเยาะเย้ย” ประชาชนของพระเจ้ามาตลอด—อสค. 25:6
6 ชาวอัมโมน สืบเชื้อสายมาจากโลทหลานของอับราฮัม บรรพบุรุษของพวกเขาเกิดจากลูกสาวคนเล็กของโลท (ปฐก. 19:38) ดูเหมือนว่าประชาชนของพระเจ้าเข้าใจภาษาของชาวอัมโมนเพราะคล้ายกับภาษาฮีบรู เนื่องจากทั้งสองชาติเกี่ยวข้องกันทางสายเลือด พระยะโฮวาจึงสั่งชาวอิสราเอลไม่ให้เป็นฝ่ายเริ่มทำสงครามกับชาวอัมโมน (ฉธบ. 2:19) แต่ในสมัยผู้วินิจฉัย ชาวอัมโมนร่วมมือกับเอกโลนกษัตริย์โมอับโจมตีอิสราเอล (วนฉ. 3:12-15, 27-30) ต่อมา ตอนที่ซาอูลเป็นกษัตริย์ ชาวอัมโมนก็มาโจมตีอิสราเอล (1 ซม. 11:1-4) และในสมัยกษัตริย์เยโฮชาฟัท ชาวอัมโมนก็ร่วมมือกับกองกำลังโมอับมารุกรานแผ่นดินที่พระเจ้าสัญญาอีก—2 พศ. 20:1, 2
7. ชาวโมอับทำกับชาวอิสราเอลที่เป็นญาติของพวกเขาอย่างไร?
7 ชาวโมอับ ก็สืบเชื้อสายมาจากโลทแต่บรรพบุรุษของพวกเขาเกิดจากลูกสาวคนโต (ปฐก. 19:36, 37) พระยะโฮวาสั่งชาวอิสราเอลไม่ให้ทำสงครามกับชาวโมอับ (ฉธบ. 2:9) แต่ชาวโมอับไม่ได้ทำดีกับชาวอิสราเอลที่เป็นญาติพี่น้องของพวกเขา แทนที่จะช่วยเหลือพี่น้องที่เพิ่งหนีมาจากการเป็นทาสในอียิปต์ พวกเขากลับขัดขวางไม่ให้ชาวอิสราเอลเข้าแผ่นดินที่พระเจ้าสัญญา บาลาคกษัตริย์โมอับจ้างบาลาอัมให้ไปสาปแช่งชาวอิสราเอล บาลาอัมสอนบาลาคให้รู้วิธีชักจูงผู้ชายอิสราเอลหลายคนให้หลงทำผิดศีลธรรมทางเพศและไหว้รูปเคารพ (กดว. 22:1-8; 25:1-9; วว. 2:14) ชาวโมอับข่มเหงญาติของพวกเขามาตลอดหลายร้อยปีตั้งแต่อดีตจนถึงสมัยเอเสเคียล—2 พก. 24:1, 2
8. ทำไมพระยะโฮวาบอกว่าเอโดมเป็นพี่น้องกับชาวอิสราเอล แต่พวกเขาทำอย่างไรกับชาวอิสราเอล?
8 ชาวเอโดม สืบเชื้อสายมาจากเอซาวพี่ชายฝาแฝดของยาโคบ ชาวเอโดมและชาวอิสราเอลเป็นญาติที่ใกล้ชิดกันมาก พระยะโฮวาถึงกับพูดว่าพวกเขาเป็นพี่น้องกัน (ฉธบ. 2:1-5; 23:7, 8) ถึงอย่างนั้น ชาวเอโดมก็ตั้งตัวเป็นศัตรูตั้งแต่ช่วงที่ชาวอิสราเอลอพยพออกจากอียิปต์เรื่อยมาจนถึงช่วงที่เยรูซาเล็มถูกทำลายในปี 607 ก่อน ค.ศ. (กดว. 20:14, 18; อสค. 25:12) ตอนนั้น ชาวเอโดมไม่ใช่แค่ดีใจที่ชาวอิสราเอลเจอความทุกข์และสนับสนุนชาวบาบิโลนให้มาทำลายกรุงเยรูซาเล็มเท่านั้น แต่ยังขัดขวางและจับชาวอิสราเอลที่กำลังหนีเอาชีวิตรอดส่งให้ศัตรูด้วย—สด. 137:7; อบด. 11, 14
9, 10. (ก) เกิดอะไรขึ้นกับอัมโมน โมอับ และเอโดม? (ข) มีตัวอย่างอะไรบ้างที่ทำให้รู้ว่าไม่ใช่ทุกคนในชาติเหล่านั้นเป็นศัตรูกับชาวอิสราเอล?
9 พระยะโฮวาให้ชาติต่าง ๆ ที่เป็นญาติกับอิสราเอลรับผิดชอบสิ่งที่พวกเขาทำต่อประชาชนของพระองค์ พระองค์บอกว่า “เราจะยก . . . ชาวอัมโมนให้เป็นสมบัติของชาวตะวันออก ชาติต่าง ๆ จะได้ไม่นึกถึงชาวอัมโมนอีก” พระองค์ยังบอกอีกว่า “เราจะลงโทษโมอับ แล้วพวกเขาจะต้องรู้ว่าเราคือยะโฮวา” (อสค. 25:10, 11) ประมาณห้าปีหลังจากเยรูซาเล็มพินาศ คำพยากรณ์เหล่านั้นก็เกิดขึ้นจริงเมื่อชาวบาบิโลนมาพิชิตอัมโมนและโมอับ และพระยะโฮวาก็พูดถึงเอโดมด้วยว่า พระองค์จะ “ลงมือจัดการเอโดมและกำจัดทั้งคนและสัตว์ให้หมดจากที่นั่น” และพระองค์จะ “ทำให้เอโดมร้างเปล่า” (อสค. 25:13) ในที่สุดอัมโมน โมอับ และเอโดมก็ถูกทำลายจนสิ้นชาติตามที่บอกไว้—ยรม. 9:25, 26; 48:42; 49:17, 18
10 อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนในชาติเหล่านั้นตั้งตัวเป็นศัตรูกับประชาชนของพระเจ้า ตัวอย่างเช่น เศเลกชาวอัมโมนและอิทมาห์ชาวโมอับมีชื่ออยู่ในกลุ่มนักรบที่เก่งกล้าของกษัตริย์ดาวิด (1 พศ. 11:26, 39, 46; 12:1) และรูธผู้หญิงชาวโมอับก็มาเป็นผู้นมัสการที่ภักดีของพระยะโฮวา—นรธ. 1:4, 16, 17
เราต้องไม่ยอมอะลุ่มอล่วยแม้แต่นิดเดียว
11. เราได้เรียนอะไรจากการที่ชาวอิสราเอลติดต่อเกี่ยวข้องกับชาติอัมโมน โมอับ และเอโดม?
11 เราได้บทเรียน อะไรจากการที่ชาวอิสราเอลติดต่อเกี่ยวข้องกับชาติเหล่านั้น? อย่างแรก เมื่ออิสราเอลไม่ระวัง การนมัสการเท็จของชาติรอบข้างก็เข้ามามีอิทธิพล ตัวอย่างเช่น การนมัสการพระบาอัลแห่งเปโอร์ของชาวโมอับและพระโมเลคของชาวอัมโมน (กดว. 25:1-3; 1 พก. 11:7) เราเองก็เจอเรื่องแบบนั้นได้เหมือนกัน ญาติที่ไม่มีความเชื่อในพระยะโฮวาอาจกดดันเราให้ยอมทำตามความเชื่อของพวกเขา ตัวอย่างเช่น พวกเขาอาจไม่เข้าใจว่าทำไมเราไม่ฉลองปีใหม่ ไม่แลกของขวัญในวันคริสต์มาส หรือไม่ทำตามธรรมเนียมที่นิยมกันซึ่งเกี่ยวข้องกับความเชื่อของศาสนาเท็จ พวกเขามีเจตนาดีจึงพยายามให้เราฉลองกับพวกเขาบ้างเป็นครั้งคราว แต่สำคัญจริง ๆ ที่เราจะไม่ยอมแพ้แรงกดดันแบบนั้น! ประวัติศาสตร์ของชาติอิสราเอลแสดงให้เห็นแล้วว่า การยอมอะลุ่มอล่วยเพียงเล็กน้อยสามารถทำลายความสัมพันธ์ของเรากับพระยะโฮวาได้
12, 13. เราอาจเจอการต่อต้านแบบไหน แต่จะมีผลดีอะไรถ้าเราภักดีอยู่เสมอ?
12 เราได้เรียนอะไรอีกจากการที่ชาวอิสราเอลติดต่อเกี่ยวข้องกับชาติอัมโมน โมอับ และเอโดม เราอาจเจอการต่อต้านอย่างรุนแรงจากคนในครอบครัวของเราที่ไม่มีความเชื่อ พระเยซูเตือนว่าบางครั้งข่าวสารที่เราประกาศอาจทำให้ “เกิดความแตกแยกระหว่างลูกชายกับพ่อ ลูกสาวกับแม่” (มธ. 10:35, 36) พระยะโฮวาสอนชาวอิสราเอลไม่ให้ทะเลาะกับญาติของพวกเขา เราก็จะไม่ทะเลาะกับญาติที่ไม่มีความเชื่อเหมือนกัน แต่เราก็ไม่ควรแปลกใจถ้าถูกต่อต้าน—2 ทธ. 3:12
13 ถึงแม้ญาติของเราไม่ได้ต่อต้านการนมัสการพระยะโฮวาโดยตรง แต่เราต้องไม่ยอมให้พวกเขามีอิทธิพลกับเรามากกว่าพระยะโฮวา เพราะอะไร? เพราะพระยะโฮวาต้องสำคัญที่สุดในชีวิตเรา (อ่านมัทธิว 10:37) นอกจากนั้น ถ้าเราภักดีต่อพระยะโฮวาเสมอ ญาติบางคนอาจเข้ามานมัสการบริสุทธิ์กับเราเหมือนเศเลก อิทมาห์ และรูธ (1 ทธ. 4:16) แล้วพวกเขาก็จะมีความสุขที่ได้รับใช้พระเจ้าเที่ยงแท้ และได้รับความรักและการปกป้องจากพระองค์
ศัตรูของพระยะโฮวาถูก ‘ลงโทษเพราะพระองค์โกรธมาก’
14, 15. ชาวฟีลิสเตียทำอย่างไรกับชาวอิสราเอล?
14 ชาวฟีลิสเตีย อพยพจากเกาะครีตมาสู่แผ่นดินซึ่งต่อมาพระเจ้าสัญญาว่าจะให้กับอับราฮัมและลูกหลานของเขา ทั้งอับราฮัมและอิสอัคจึงต้องติดต่อเกี่ยวข้องกับคนพวกนี้ (ปฐก. 21:29-32; 26:1) ชาวฟีลิสเตียเป็นชาติที่เข้มแข็งและมีกองทัพที่ยิ่งใหญ่อยู่แล้วตอนที่ชาวอิสราเอลเข้าสู่แผ่นดินที่พระเจ้าสัญญา ชาวฟีลิสเตียนมัสการพระเท็จหลายองค์ เช่น พระบาอัลเซบูบและพระดาโกน (1 ซม. 5:1-4; 2 พก. 1:2, 3) บางครั้งชาวอิสราเอลก็หลงไปนมัสการพระพวกนั้นด้วย—วนฉ. 10:6
15 พระยะโฮวาปล่อยให้ชาวฟีลิสเตียกดขี่ข่มเหงชาวอิสราเอลอยู่หลายปีเพราะอิสราเอลไม่ซื่อสัตย์ต่อพระองค์ (วนฉ. 10:7, 8; อสค. 25:15) พวกเขาออกกฎที่ไม่ยุติธรรมกับชาวอิสราเอลa และฆ่าชาวอิสราเอลจำนวนมาก (1 ซม. 4:10) แต่เมื่อชาวอิสราเอลกลับตัวกลับใจมาหาพระยะโฮวาพระองค์ก็ช่วยพวกเขา พระองค์แต่งตั้งหลายคน เช่น แซมสัน ซาอูล และดาวิด เพื่อช่วยประชาชนของพระองค์ (วนฉ. 13:5, 24; 1 ซม. 9:15-17; 18:6, 7) ตามที่เอเสเคียลบอกไว้ ชาวฟีลิสเตียถูก ‘ลงโทษเพราะพระองค์โกรธมาก’ เมื่อชาวบาบิโลนและต่อมาก็ชาวกรีกมาโจมตีเมืองของเขา—อสค. 25:15-17
16, 17. เราได้บทเรียนอะไรจากการที่ชาวอิสราเอลติดต่อเกี่ยวข้องกับชาวฟีลิสเตีย?
16 เราได้บทเรียน อะไรจากการที่ชาวอิสราเอลติดต่อเกี่ยวข้องกับชาวฟีลิสเตีย? ประชาชนของพระยะโฮวาในทุกวันนี้ต้องเจอการต่อต้านจากบางชาติที่มีอำนาจมากที่พยายามจะครอบงำคนทั้งโลก แต่พวกเราไม่เหมือนกับอิสราเอล พวกเรารักษาความภักดีต่อพระยะโฮวาอยู่เสมอ ถึงแม้บางครั้งศัตรูของการนมัสการบริสุทธิ์อาจดูเหมือนจะทำสำเร็จก็ตาม ตัวอย่างเช่น ตอนต้นศตวรรษที่ 20 รัฐบาลสหรัฐอเมริกาพยายามสั่งห้ามงานของผู้รับใช้พระยะโฮวาด้วยการสั่งให้จับคนที่นำหน้าในองค์การพระเจ้าขังคุกเป็นเวลาหลายสิบปี ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พรรคนาซีในเยอรมนีพยายามกวาดล้างประชาชนของพระเจ้า โดยสั่งจำคุกหลายพันคนและฆ่าอีกหลายร้อยคน หลังสงคราม สหภาพโซเวียตก็ต่อต้านพยานพระยะโฮวาต่อเนื่องหลายปี ส่งพี่น้องหลายคนไปที่ค่ายแรงงานหรือไม่ก็เนรเทศไปอยู่ในที่ห่างไกล
17 หลายรัฐบาลยังคงห้ามงานประกาศ สั่งจำคุกประชาชนของพระเจ้า และถึงกับสั่งฆ่าบางคน เหตุการณ์เหล่านี้ควรทำให้เรากลัวหรือสูญเสียความเชื่อไหม? ไม่! พระยะโฮวาจะคุ้มครองคนที่ภักดีต่อพระองค์ (อ่านมัทธิว 10:28-31) เราเห็นแล้วว่าหลายรัฐบาลที่เคยมีอำนาจกดขี่ข่มเหงได้ล่มสลายไป แต่ประชาชนของพระเจ้ายังก้าวหน้าต่อไปไม่หยุดยั้ง อีกไม่นานรัฐบาลทั้งหมดของมนุษย์ต้องพบจุดจบเหมือนกับชาวฟีลิสเตีย พวกเขาจะต้องจำใจยอมรับว่าพระยะโฮวาคือพระเจ้าองค์ยิ่งใหญ่ และพวกเขาจะต้องสาบสูญไปเหมือนกับชาวฟีลิสเตีย
“สมบัติมีค่า” ไม่ได้ให้การปกป้องที่ยั่งยืน
18. ไทระมีอิทธิพลมากในด้านไหน?
18 ไทระb เป็นเมืองเก่าแก่ที่เป็นศูนย์กลางของอาณาจักรทางการค้าที่รุ่งเรืองมากแห่งหนึ่งของโลกสมัยโบราณ ทางตะวันตกมีการแผ่ขยายเส้นทางการค้าทางทะเลไปทั่วทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ส่วนทางตะวันออก ไทระก็ขยายเส้นทางการค้าทางบกเชื่อมโยงกับอาณาจักรต่าง ๆ ที่อยู่ไกลออกไป ตลอดหลายร้อยปีไทระได้สะสมความร่ำรวยจากที่ห่างไกลเหล่านั้น พวกพ่อค้าและคนค้าขายของเมืองนี้กลายเป็นคนร่ำรวยและคิดว่าตัวเองเป็นเหมือนเจ้านาย—อสย. 23:8
19, 20. ชาวไทระแตกต่างจากชาวกิเบโอนอย่างไร?
19 อิสราเอลติดต่อค้าขายกับไทระในช่วงที่กษัตริย์ดาวิดและโซโลมอนปกครอง ชาวไทระส่งวัสดุก่อสร้างและช่างฝีมือมาอิสราเอลเพื่อสร้างวังของดาวิดและวิหารของโซโลมอน (2 พศ. 2:1, 3, 7-16) ไทระติดต่อกับชาวอิสราเอลในช่วงที่อิสราเอลซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวาและได้รับการอวยพรจากพระองค์มากที่สุด (1 พก. 3:10-12; 10:4-9) คิดดูสิ ชาวไทระมีโอกาสดีมากที่จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการนมัสการบริสุทธิ์ ได้รู้จักพระยะโฮวา และได้เห็นว่าการรับใช้พระเจ้าเที่ยงแท้เป็นประโยชน์อย่างมาก!
20 แต่ชาวไทระไม่สนใจโอกาสที่ดีนั้น พวกเขาสนใจแต่วัตถุเงินทอง พวกเขาไม่ได้เลียนแบบตัวอย่างที่ดีของชาวกิเบโอนในคานาอัน ถึงแม้ชาวกิเบโอนจะมีกำลังที่เข้มแข็งแต่เมื่อได้ยินเกี่ยวกับผลงานที่ยิ่งใหญ่ของพระยะโฮวา พวกเขาก็ถูกกระตุ้นให้มาเป็นผู้รับใช้ของพระองค์ (ยชว. 9:2, 3, 22-10:2) ที่จริง ตอนหลังชาวไทระกลายเป็นศัตรูกับประชาชนของพระเจ้าและถึงกับขายชาวอิสราเอลบางคนไปเป็นทาสด้วย—สด. 83:2, 7; ยอล. 3:4, 6; อมส. 1:9
เราต้องไม่มองว่าทรัพย์สมบัติเป็นกำแพงที่ช่วยปกป้อง
21, 22. เกิดอะไรขึ้นกับไทระ และเพราะอะไร?
21 พระยะโฮวาบอกกับพวกศัตรูผ่านทางเอเสเคียลว่า “ไทระ เราจะจัดการเจ้า เราจะพาคนจากชาติต่าง ๆ มาต่อสู้เจ้าเหมือนคลื่นในทะเล พวกเขาจะพังกำแพงและรื้อทำลายป้อมสูงของไทระ เราจะขูดดินให้หมดจากไทระจนเหลือแต่หินเกลี้ยงที่เป็นมันเงา” (อสค. 26:1-5) ชาวไทระเชื่อมั่นว่าความร่ำรวยจะช่วยปกป้องพวกเขาได้ เหมือนกับที่พวกเขารู้สึกปลอดภัยเมื่ออยู่ภายในกำแพงเมืองสูง 46 เมตรซึ่งช่วยปกป้องเมืองส่วนที่อยู่บนเกาะ พวกเขาน่าจะใส่ใจคำเตือนของโซโลมอนที่บอกว่า “ทรัพย์สมบัติคือเมืองที่มั่นคงของคนรวย เขาคิดว่าทรัพย์เหล่านั้นเป็นเหมือนกำแพงที่ปกป้อง”—สภษ. 18:11
22 เมื่อชาวบาบิโลนและชาวกรีกมาโจมตีตามที่เอเสเคียลพยากรณ์ไว้ ชาวไทระก็ได้เห็นว่าความปลอดภัยที่พวกเขามีเป็นเพียงความเพ้อฝัน ความร่ำรวยและกำแพงเมืองก็ไร้ประโยชน์ เพราะหลังจากทำลายกรุงเยรูซาเล็มแล้ว บาบิโลนก็หันมาทำสงครามกับไทระนาน 13 ปี (อสค. 29:17, 18) ต่อมาในปี 332 ก่อน ค.ศ. อเล็กซานเดอร์มหาราชก็ได้ทำให้คำพยากรณ์ของเอเสเคียลเกิดขึ้นจริงอย่างน่าทึ่งc กองทัพของเขาใช้ซากเมืองส่วนที่อยู่บนแผ่นดินใหญ่ทั้งก้อนหิน ไม้ และดิน ถมลงไปในทะเลเพื่อให้เป็นทางข้ามไปยังเมืองส่วนที่อยู่บนเกาะ (อสค. 26:4, 12) อเล็กซานเดอร์ทำลายกำแพง ปล้นเอาทรัพย์สิน ฆ่าทหารกับชาวเมืองหลายพันคน และขายอีกหลายหมื่นคนไปเป็นทาส ชาวเมืองไทระต้องจำใจยอมรับพระยะโฮวา เมื่อพวกเขาได้บทเรียนที่เจ็บปวดว่า “สมบัติมีค่า” ไม่ได้ให้การปกป้องที่ยั่งยืน—อสค. 27:33, 34
23. เราได้บทเรียนอะไรเกี่ยวกับชาวไทระ?
23 เราได้บทเรียน อะไรเกี่ยวกับชาวไทระ? เราต้องไม่ปล่อยให้ “ความหลงใหลในทรัพย์สมบัติ” มาทำให้เราเชื่อมั่นว่าสมบัติวัตถุจะเป็นเหมือนกำแพงที่ปกป้องเราได้ (มธ. 13:22) เราจะ “เป็นทั้งทาสพระเจ้าและทาสทรัพย์สมบัติด้วยไม่ได้” (อ่านมัทธิว 6:24) คนที่รับใช้พระยะโฮวาสุดความสามารถเท่านั้นถึงจะมั่นคงปลอดภัยอย่างแท้จริง (มธ. 6:31-33; ยน. 10:27-29) คำพยากรณ์เกี่ยวกับอวสานของโลกนี้จะเกิดขึ้นจริงทุกอย่างเหมือนกับคำพยากรณ์เกี่ยวกับไทระ เมื่อถึงเวลานั้น คนที่เชื่อมั่นในความร่ำรวยต้องจำใจยอมรับพระยะโฮวา เมื่อพระองค์ทำลายระบบการค้าที่เต็มไปด้วยความโลภและเห็นแก่ตัวของโลกนี้
อำนาจทางการเมืองเป็นเหมือน “ฟางเส้นเดียว”
24-26. (ก) ทำไมพระยะโฮวาบอกว่าอียิปต์เป็นเหมือน “ฟางเส้นเดียว”? (ข) กษัตริย์เศเดคียาห์ปฏิเสธการชี้นำของพระยะโฮวาอย่างไร และผลเป็นอย่างไร?
24 ตั้งแต่ก่อนสมัยโยเซฟมาจนถึงตอนที่ชาวบาบิโลนยกทัพมาเยรูซาเล็ม อียิปต์ มีอิทธิพลทางการเมืองอย่างมากในแถบแผ่นดินที่พระเจ้าสัญญา ประวัติศาสตร์ที่ยาวนานของอียิปต์หยั่งรากลึกเหมือนต้นไม้ใหญ่ที่มั่นคง แต่เมื่อเทียบกับพระยะโฮวา อียิปต์ก็อ่อนแอเหมือน “ฟางเส้นเดียว”—อสค. 29:6
25 กษัตริย์เศเดคียาห์ที่ทรยศพระเจ้าไม่ได้มองอียิปต์แบบนั้น ที่จริงพระยะโฮวาให้ผู้พยากรณ์เยเรมีย์บอกเศเดคียาห์ให้ยอมแพ้กษัตริย์บาบิโลน (ยรม. 27:12) เศเดคียาห์ก็รับปากและถึงกับสาบานในนามพระยะโฮวาว่าจะไม่กบฏต่อกษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์ แต่ต่อมาเขากลับปฏิเสธการชี้นำของพระยะโฮวา ผิดคำสาบานต่อเนบูคัดเนสซาร์ และหันไปขอให้อียิปต์มาช่วยสู้กับบาบิโลน (2 พศ. 36:13; อสค. 17:12-20) ชาวอิสราเอลที่หวังพึ่งอำนาจการเมืองของอียิปต์ก็ทำให้พวกเขาเองเดือดร้อนอย่างหนัก (อสค. 29:7) อียิปต์อาจดูมีอำนาจน่าเกรงขามเหมือน “สัตว์ทะเลตัวใหญ่” (อสค. 29:3, 4) แต่พระยะโฮวาบอกว่าพระองค์จะจัดการกับอียิปต์เหมือนกับที่นายพรานจับจระเข้แม่น้ำไนล์ พระองค์จะเอาตะขอเกี่ยวขากรรไกรของอียิปต์และลากพวกเขาไปสู่ความพินาศ พระองค์ทำแบบนั้นด้วยการส่งชาวบาบิโลนไปพิชิตอาณาจักรโบราณแห่งนี้—อสค. 29:9-12, 19
26 แล้วเกิดอะไรขึ้นกับเศเดคียาห์ที่ไม่ซื่อสัตย์? เพราะเขากบฏต่อพระยะโฮวา เอเสเคียลจึงบอกล่วงหน้าว่า “หัวหน้าของอิสราเอลที่ชั่วช้า” จะถูกถอดมงกุฎและอำนาจปกครองของเขาจะหมดไป แต่เอเสเคียลยังบอกเรื่องหนึ่งที่ให้ความหวังด้วย (อสค. 21:25-27) พระยะโฮวาให้เขาพยากรณ์ว่า กษัตริย์องค์หนึ่งในราชวงศ์นี้ที่มี “สิทธิ์ตามกฎหมาย” จะได้ครองบัลลังก์ ในบทต่อไปเราจะได้รู้ว่ากษัตริย์องค์นี้คือใคร
27. เราได้บทเรียนอะไรจากการที่ชาวอิสราเอลติดต่อเกี่ยวข้องกับอียิปต์?
27 เราได้บทเรียน อะไรจากการที่ชาวอิสราเอลติดต่อเกี่ยวข้องกับอียิปต์? ประชาชนของพระยะโฮวาในทุกวันนี้ต้องหลีกเลี่ยงการไว้วางใจอำนาจทางการเมือง เราต้องไม่คิดว่าอำนาจนั้นจะให้ความมั่นคงปลอดภัยที่แท้จริง เราต้องรักษาตัวให้ “อยู่ต่างหากจากโลก” แม้แต่ในความคิดของเรา (ยน. 15:19; ยก. 4:4) ระบบการเมืองอาจดูแข็งแกร่ง แต่ก็เหมือนกับอียิปต์โบราณที่บอบบางไม่ต่างกับฟางเส้นเดียว ไม่ฉลาดเลยที่จะฝากความหวังไว้กับมนุษย์ที่ตายได้ แทนที่จะฝากไว้กับพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่สูงสุดในเอกภพ—อ่านสดุดี 146:3-6
ชาติต่าง ๆ “จะต้อง รู้”
28-30. วิธีที่ชาติต่าง ๆ “จะต้อง” รู้จักพระยะโฮวาต่างจากวิธีที่เรารู้จักพระยะโฮวาอย่างไร?
28 ในหนังสือเอเสเคียล พระยะโฮวาบอกหลายครั้งว่าชาติต่าง ๆ “จะต้องรู้ว่าเราคือยะโฮวา” (อสค. 25:17) ในสมัยโบราณ ถ้อยคำเหล่านั้นเกิดขึ้นจริงเมื่อพระยะโฮวาตัดสินลงโทษชาติที่เป็นศัตรูกับประชาชนของพระองค์ แต่ในสมัยของเรา เรื่องนี้จะเกิดขึ้นจริงในขอบเขตที่ใหญ่กว่า จะเป็นอย่างนั้นได้อย่างไร?
29 เราก็เหมือนประชาชนของพระเจ้าในสมัยโบราณ เราถูกล้อมด้วยชาติต่าง ๆ ที่มองว่าเราไม่มีทางสู้ซึ่งเหมือนแกะที่อยู่ตัวเดียว (อสค. 38:10-13) ในบท 17 และ 18 เราจะพิจารณาว่า อีกไม่นานชาติต่าง ๆ จะโจมตีประชาชนของพระเจ้าอย่างสุดตัวและโหดเหี้ยม แต่เมื่อพวกเขาลงมือพวกเขาจะได้รู้จักอำนาจที่แท้จริง ตอนที่พระองค์ทำลายพวกเขาในสงครามอาร์มาเกดโดนพวกเขาจะต้องรู้จักพระยะโฮวาและยอมรับการปกครองของพระองค์—วว. 16:16; 19:17-21
30 ตรงกันข้าม พระยะโฮวาจะอวยพรและปกป้องเราให้ปลอดภัย ทำไม? ก็เพราะเราใช้โอกาสที่มีในตอนนี้พิสูจน์ว่าเรารู้จักพระยะโฮวาด้วยการไว้วางใจและเชื่อฟังพระองค์ และให้การนมัสการบริสุทธิ์กับพระองค์แบบที่พระองค์สมควรได้รับ—อ่านเอเสเคียล 28:26
a ตัวอย่างเช่น ชาวฟีลิสเตียห้ามไม่ให้มีช่างโลหะอยู่ในอิสราเอล ชาวอิสราเอลจึงจำเป็นต้องไปหาพวกเขาเพื่อลับเครื่องมือการเกษตรให้คม และต้องจ่ายค่าลับเครื่องมือให้พวกเขาแพงเท่ากับค่าแรงหลายวัน—1 ซม. 13:19-22
b เมืองไทระอยู่ห่างจากภูเขาคาร์เมลไปทางเหนือประมาณ 50 กิโลเมตร ตอนแรก ดูเหมือนว่าเมืองไทระตั้งอยู่บนเกาะไม่ไกลจากชายฝั่ง พื่นที่ส่วนใหญ่ของเกาะนี้เป็นหิน ต่อมามีการสร้างเมืองบนแผ่นดินใหญ่ด้วย ชื่อของเมืองไทระในภาษาเซมิติกคือ ศูร แปลว่า “หิน”
c อิสยาห์ เยเรมีย์ โยเอล อาโมส และเศคาริยาห์ก็พยากรณ์เกี่ยวกับไทระด้วย ซึ่งคำพยากรณ์เหล่านั้นเกิดขึ้นจริงทุกอย่าง—อสย. 23:1-8; ยรม. 25:15, 22, 27; ยอล. 3:4; อมส. 1:10; ศคย. 9:3, 4