คำอธิบายเพิ่มเติม
1. บาบิโลนใหญ่คืออะไร?
เรารู้ได้ยังไงว่า “บาบิโลนใหญ่” หมายถึงทุกศาสนาที่นำคนไปผิดทาง (วิวรณ์ 17:5) ให้เรามาดูเหตุผลด้วยกัน
บาบิโลนใหญ่มีอยู่ทั่วโลก คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าบาบิโลนใหญ่นั่งอยู่บน ‘ประชาชนและประเทศต่าง ๆ’ และ “มีอำนาจปกครองพวกกษัตริย์ของโลก”—วิวรณ์ 17:15, 18
บาบิโลนใหญ่ไม่ใช่ระบบทางการเมืองหรือระบบการค้า เพราะตอนที่บาบิโลนใหญ่ถูกทำลาย “กษัตริย์ของโลก” และ “พวกพ่อค้า” ก็ไม่ได้ถูกทำลาย—วิวรณ์ 18:9, 15
บาบิโลนใหญ่ทำให้พระเจ้าเสื่อมเสีย บาบิโลนใหญ่ถูกเรียกว่าโสเภณีเพราะเธอร่วมมือกับรัฐบาลต่าง ๆ เพื่อจะกอบโกยผลประโยชน์และทรัพย์สินเงินทอง (วิวรณ์ 17:1, 2) เธอหลอกลวงผู้คนจากประเทศต่าง ๆ และทำให้คนมากมายต้องตาย—วิวรณ์ 18:23, 24
2. เมสสิยาห์จะมาเมื่อไหร่?
คัมภีร์ไบเบิลบอกล่วงหน้าว่าเมสสิยาห์จะมาตอนที่ช่วงเวลา 69 สัปดาห์สิ้นสุดลง—อ่านดาเนียล 9:25
ช่วงเวลา 69 สัปดาห์เริ่มต้นเมื่อไหร่? ช่วงเวลานี้เริ่มในปี 455 ก่อน ค.ศ. ตอนที่เนหะมีย์มาถึงกรุงเยรูซาเล็มเพื่อ “ฟื้นฟูและสร้าง” กรุงนี้ขึ้นใหม่—ดาเนียล 9:25; เนหะมีย์ 2:1, 5-8
ช่วงเวลา 69 สัปดาห์นานแค่ไหน? คำพยากรณ์บางเรื่องในคัมภีร์ไบเบิลทำให้รู้ว่า 1 วันอาจหมายถึง 1 ปี (กันดารวิถี 14:34; เอเสเคียล 4:6) หนึ่งสัปดาห์หรือ 7 วันหมายถึง 7 ปี ดังนั้น 69 สัปดาห์ในคำพยากรณ์นี้ก็เลยเท่ากับ 483 ปี (69 คูณ 7)
ช่วงเวลา 69 สัปดาห์จบลงเมื่อไหร่? ถ้าเริ่มนับจากปี 455 ก่อน ค.ศ. ไปอีก 483 ปี เราก็จะรู้ว่าช่วงเวลานี้จบลงในปี ค.ศ. 29a ซึ่งปีนั้นเป็นปีที่พระเยซูรับบัพติศมาและได้รับแต่งตั้งให้เป็นเมสสิยาห์—ลูกา 3:1, 2, 21, 22
3. วิธีทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับเลือด
มีวิธีทางการแพทย์บางอย่างที่เกี่ยวข้องกับการใช้เลือดของผู้ป่วยเอง เช่น ให้ผู้ป่วยบริจาคเลือดหรือเก็บเลือดของเขาไว้ล่วงหน้าหลายสัปดาห์ก่อนการผ่าตัดเพื่อจะเอามาใช้กับตัวเขาเอง วิธีแบบนี้คริสเตียนไม่สามารถรับได้—เฉลยธรรมบัญญัติ 15:23
แต่ก็มีวิธีทางการแพทย์บางอย่างที่คริสเตียนอาจรับได้ เช่น การตรวจเลือด (blood tests) การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (hemodialysis) การลดความเข้มข้นของเลือด (hemodilution) การใช้เครื่องเก็บรวบรวมเลือดระหว่างผ่าตัดเพื่อทำความสะอาดและนำกลับเข้าสู่ร่างกาย (cell-salvage) การใช้เครื่องหัวใจและปอดเทียม (heart-lung bypass machine) คริสเตียนแต่ละคนต้องตัดสินใจเองว่าจะให้ทำยังไงกับเลือดของเขาในขั้นตอนการรักษา การตรวจทางการแพทย์ หรือการบำบัดรักษาที่ได้รับอยู่ แพทย์แต่ละคนอาจใช้วิธีการรักษาเหล่านี้ต่างกันเล็กน้อย ดังนั้น ก่อนจะยอมรับวิธีผ่าตัด การตรวจทางการแพทย์ หรือการรักษาอย่างใดอย่างหนึ่ง คริสเตียนต้องตรวจสอบให้ดีว่าจะมีการใช้เลือดของตัวเองยังไง โดยถามตัวเองด้วยคำถามต่อไปนี้
ถ้าเลือดบางส่วนของฉันไหลออกจากร่างกายชั่วคราวเพื่อเข้าไปสู่อุปกรณ์บางอย่าง โดยขั้นตอนเหล่านี้อาจมีการหยุดเป็นบางช่วง จากนั้นเลือดก็จะไหลกลับเข้าร่างกายของฉันอีกครั้ง ถ้าอย่างนั้น ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของฉันจะถือว่าเลือดนั้นยังเป็นส่วนหนึ่งของตัวฉันไหม หรือฉันถือว่าต้อง “เทเลือดให้ไหลลงดิน”?—เฉลยธรรมบัญญัติ 12:23, 24
ถ้ามีการนำเลือดบางส่วนของฉันออกจากร่างกายไปดัดแปลงโดยผ่านขั้นตอนบางอย่างแล้วนำกลับเข้าร่างกายอีกครั้ง ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของฉันที่เป็นไปตามหลักการในคัมภีร์ไบเบิลจะยอมรับได้ไหม?
4. การแยกกันอยู่
คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าสามีภรรยาไม่ควรแยกกันอยู่และบอกชัดว่าการแยกกันอยู่ไม่ได้ทำให้แต่ละฝ่ายมีสิทธิ์ที่จะแต่งงานใหม่ (1 โครินธ์ 7:10, 11) อาจมีบางสถานการณ์ที่คริสเตียนบางคนตัดสินใจแยกกันอยู่กับคู่ของเขา
ตั้งใจไม่เลี้ยงดูครอบครัว สามีไม่ยอมหาเลี้ยงครอบครัวจนถึงขั้นที่คนในครอบครัวไม่มีจะกิน—1 ทิโมธี 5:8
ทำร้ายร่างกายหลายครั้ง มีการทำร้ายร่างกายอีกฝ่ายจนบาดเจ็บหรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพและชีวิต—กาลาเทีย 5:19-21
ขัดขวางไม่ยอมให้อีกฝ่ายรับใช้พระยะโฮวาอย่างเด็ดขาด สามีหรือภรรยาขัดขวางจนทำให้อีกฝ่ายไม่สามารถนมัสการพระยะโฮวาและทำตามกฎหมายของพระองค์ได้—กิจการ 5:29
5. วันหยุดและเทศกาลต่าง ๆ
คริสเตียนไม่เข้าร่วมเทศกาลหรือการฉลองที่พระเจ้าไม่พอใจ แต่คริสเตียนแต่ละคนต้องตัดสินใจด้วยตัวเองโดยใช้ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีที่ตรงกับหลักการในคัมภีร์ไบเบิล ว่าจะทำยังไงในสถานการณ์ต่าง ๆ ให้เรามาดูบางตัวอย่างด้วยกัน
ถ้ามีคนทักทายคุณด้วยคำพูดที่นิยมพูดกันในช่วงเทศกาล คุณอาจแค่ตอบไปว่า “ขอบคุณ” และถ้าเขาอยากรู้ว่าทำไมคุณถึงไม่ฉลองเทศกาลนั้น คุณก็อธิบายให้เขาฟังได้
ถ้าคู่ของคุณไม่ใช่พยานพระยะโฮวาและเขาชวนคุณไปกินข้าวกับญาติ ๆ ในช่วงวันหยุดเทศกาล ถ้าความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของคุณยอมให้ไป คุณอาจบอกกับคู่ของคุณล่วงหน้าว่า ถ้าในงานนั้นมีการทำบางอย่างที่พระยะโฮวาไม่พอใจ คุณก็จะไม่มีส่วนร่วมทำสิ่งนั้นด้วย
ถ้านายจ้างอยากให้โบนัสคุณในช่วงเทศกาล คุณควรทำยังไง? คุณจะตัดสินใจว่าจะรับหรือไม่รับ อาจขึ้นอยู่กับว่านายจ้างให้โบนัสด้วยเจตนาอะไร นายจ้างถือว่าโบนัสนั้นเป็นของขวัญสำหรับเทศกาลนั้นไหม? หรือเขาแค่อยากจะให้โบนัสเพราะคุณทำงานได้ดี?
ถ้ามีคนให้ของขวัญคุณในช่วงเทศกาล เขาอาจบอกว่า “ฉันรู้ว่าคุณไม่ฉลองเทศกาล แต่ฉันก็อยากให้ของขวัญนี้กับคุณนะ” อาจเป็นได้ว่าคนที่ให้ของขวัญแค่อยากแสดงน้ำใจกับคุณ แต่คุณต้องคิดให้ดีว่า จริง ๆ แล้ว เขาอยากทดสอบความเชื่อของคุณไหม? เขากำลังพยายามชักชวนให้คุณร่วมฉลองเทศกาลหรือเปล่า? เมื่อคิดอย่างรอบคอบแล้ว คุณต้องตัดสินใจด้วยตัวเองว่าจะรับของขวัญนั้นหรือไม่ เราไม่อยากให้การตัดสินใจรบกวนความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของเรา และเราอยากซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวา—กิจการ 23:1
6. โรคติดต่อ
ถ้าเรารู้ตัวว่าเราเป็นโรคติดต่อหรือแค่สงสัยว่าเราอาจจะเป็น เราต้องระวังเป็นพิเศษ เรารักคนอื่นเราเลยไม่อยากให้คนอื่นติดโรคจากเรา เราทำแบบนี้ก็เพราะคัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “ให้รักคนอื่นเหมือนรักตัวเอง”—โรม 13:8-10
คนที่เป็นโรคติดต่อจะทำตามข้อคัมภีร์นี้ได้ยังไง? เขาควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้อื่นโดยการจับมือ โอบกอด หรือจูบ เขาไม่ควรรู้สึกไม่ดีถ้าบางคนไม่ชวนเขาไปบ้านเพราะอยากจะป้องกันไม่ให้คนในบ้านติดเชื้อ และถ้าคนที่เป็นโรคติดต่ออยากจะรับบัพติศมาเขาควรบอกกับผู้ประสานงานคณะผู้ดูแลล่วงหน้าว่าเขาเป็นโรคติดต่อ เพื่อจะหาวิธีป้องกันไม่ให้ผู้รับบัพติศมาคนอื่นติดโรคจากเขา นอกจากนั้น ก่อนที่จะเริ่มคบหาเป็นแฟนกับใครสักคน คนที่คิดว่าตัวเองอาจเป็นโรคติดต่อควรเต็มใจไปตรวจเลือด การทำอย่างนี้แสดงว่าเขาห่วงใยคนอื่น และทำตามคำแนะนำที่บอกว่า “อย่าเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวเท่านั้น ให้เห็นแก่ประโยชน์ของคนอื่นด้วย”—ฟีลิปปี 2:4
7. การจัดการกับปัญหาทางธุรกิจและกฎหมาย
เราจะป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งในเรื่องธุรกิจและเรื่องเงินได้โดยการทำสัญญาทุกอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร เราควรทำแบบนี้เสมอแม้จะเป็นพี่น้องคริสเตียนด้วยกันก็ตาม (เยเรมีย์ 32:9-12) บางครั้งคริสเตียนอาจมีปัญหากันบ้างในเรื่องเงินหรือเรื่องอื่น ๆ แต่พวกเขาควรจะจัดการกับปัญหานั้นให้เร็วที่สุดโดยคุยกันเป็นส่วนตัวและแก้ปัญหาอย่างสันติ
แต่จะทำยังไงถ้าเกิดปัญหาร้ายแรง? เช่น การฉ้อโกงหรือการใส่ร้ายให้เสื่อมเสียชื่อเสียง (อ่านมัทธิว 18:15-17) พระเยซูบอก 3 ขั้นตอนที่เราต้องทำ
พยายามไปคุยกับเขาเป็นส่วนตัวก่อน—ดูข้อ 15
ถ้ายังแก้ปัญหาไม่ได้ ให้พาอีกหนึ่งหรือสองคนไปด้วย คนที่พาไปควรเป็นพี่น้องคริสเตียนในประชาคมที่มีความเป็นผู้ใหญ่—ดูข้อ 16
ถ้าปัญหายังไม่จบ ให้บอกกับผู้ดูแลในประชาคม—ดูข้อ 17
ส่วนใหญ่แล้วเราไม่ควรฟ้องร้องพี่น้องและไม่ควรสู้คดีกันในศาล เพราะการทำแบบนั้นอาจทำให้พระยะโฮวาและประชาคมเสียชื่อเสียง (1 โครินธ์ 6:1-8) แต่ก็อาจมีบางเรื่องที่จำเป็นต้องมีการดำเนินการทางกฎหมาย เช่น การหย่าร้าง สิทธิ์ในการเลี้ยงดูลูก การขอรับค่าเลี้ยงดู การขอรับเงินประกัน การฟ้องล้มละลาย หรือพินัยกรรม แต่คริสเตียนก็ควรจัดการเรื่องต่าง ๆ อย่างสันติและไม่ขัดแย้งกับคำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิล
แต่ถ้ามีอาชญากรรมร้ายแรงเกิดขึ้น เช่น การข่มขืน การทำร้ายเด็กทางเพศ การทำร้ายร่างกาย การโจรกรรม หรือการฆาตกรรม คริสเตียนสามารถแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่บ้านเมืองได้ การแจ้งความในกรณีแบบนี้ไม่ขัดแย้งกับคำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิล
a ตั้งแต่ปี 455 ก่อน ค.ศ ถึงปี 1 ก่อน ค.ศ เป็นเวลา 454 ปี ตั้งแต่ปี 1 ก่อน ค.ศ. ถึงปี ค.ศ. 1 เป็นเวลา 1 ปี (ไม่มีปี ค.ศ. 0) และตั้งแต่ปี ค.ศ. 1 ถึงปี ค.ศ. 29 เป็นเวลา 28 ปี เมื่อเอาเวลาทั้งหมดมารวมกันจะเท่ากับ 483 ปี