นกเค้าแมวออกแบบเพื่อชีวิตยามราตรี
นกเค้าแมวมีอยู่แทบทุกหนแห่ง. เราพบเห็นนกนี้ได้ในทุก ๆ ทวีป ยกเว้นทวีปแอนตาร์กติกา (ขั้วโลกใต้). ตัวของมันมีตั้งแต่ขนาดเท่านกกระจอกไปจนถึงนกอินทรี. นกเค้าแมวขนาดเล็กสุดได้แก่ เอล์ฟและปิ๊กมี ตัวที่ขนาดใหญ่กว่ามากคือ นกเค้าอีเกิลแถบยูเรเซีย นกเค้าเกรทเกรย นกเค้าเกรทฮอร์น และนกเค้าสโนวีที่สวยงามสะดุดตาแถบอาร์กติก. นกเค้าแมวราว 140 ประเภทอยู่กระจายกันทั่วไปตามท้องที่ต่าง ๆ เช่น ตามทุ่งหญ้าทั่วไป ทุ่งหญ้าแพรี (แถบอเมริกาเหนือ) ทะเลทราย ที่ลุ่มชายฝั่ง ป่าลึก ป่าดงดิบ และที่ราบทุนดราเขตขั้วโลกเหนือ. อาหารของมันก็แตกต่างกันไปตามถิ่นที่อยู่ เช่น: หนอน แมลง กบ หนู นกตัวเล็ก ๆ และปลา.
เนื่องด้วยศีรษะขนาดใหญ่ บวกกับดวงตากลมโตของมันซึ่งมีสีเหลืองหรือส้ม ทั้งคู่มองตรงไปเบื้องหน้าและจ้องเขม็งจากเบ้าตากลมคล้ายจานซึ่งมีขนแผ่เป็นรัศมีออกไป ทำให้เจ้านกเค้าแมวดูฉลาดเฉลียวยิ่งนัก. ไม่แปลกที่มันถูกเรียกว่า เค้าแมวแก่เจ้าปัญญา. ส่วนหนึ่งที่ส่อแววถึงความฉลาดนี้มาจากดวงตาโตใหญ่ที่เพ่งมองอย่างแน่วแน่และจ้องเขม็งไม่เคลื่อนไหว. อย่างไรก็ตาม ที่มันจ้องเขม็งอย่างนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับสมรรถนะในการครุ่นคิดอย่างลึกซึ้งใด ๆ—ดวงตาของมันจัดวางอยู่ในเบ้าซึ่งทำให้มันไม่สามารถกรอกหรือหมุนดวงตาไปรอบ ๆ ได้. ถึงแม้จะเป็นเช่นนั้น ก็มีการถือกันว่านกเค้าแมวเป็นสัตว์ที่ฉลาดนับตั้งแต่สมัยโบราณ—มันเป็นนกศักดิ์สิทธิ์ของเทพธิดาพัลลัส อะเธนา เทพธิดาแห่งสติปัญญาของชาวกรีก.
ไม่ใช่นกเค้าแมวทุกประเภทจะส่อให้เห็นแววปัญญาเช่นนี้. เจ้านกเค้าแมวเอล์ฟตัวเล็ก ๆ รูปโฉมภายนอกไม่มีอะไรน่าประทับใจเท่ากับนกเค้าแมวเกรทฮอร์นหรือนกเค้าแมวเบอร์โรอิง. เค้าแมวเอล์ฟอยู่ในดินแดนแถบทะเลทรายและอาศัยตามโพรงที่นกหัวขวานทำทิ้งไว้ในต้นตะบองเพชรยักษ์. นกตัวเล็ก ๆ เหล่านี้ร้องเสียงดัง และเมื่อตัวผู้และตัวเมียร้องสลับกัน—ถ้าจะเรียกว่าร้องเพลงก็ได้—เสียงของมันจะคล้ายเสียงร้องของลูกสุนัข.
นกเค้าแมวเบอร์โรอิง อาศัยอยู่ในหลุมของพวกแพรีด๊อก (หนูในทุ่งหญ้าแถบอเมริกาเหนือ ร้องคล้ายสุนัข) หรือในหลุมของกระรอกและบ่อยครั้งจะเห็นมันกระโดดขึ้นลงบนเนินดินหรือตามเสารั้ว. คราวที่ลูกนกในรังซึ่งอยู่ในโพรงใต้ดินถูกคุกคาม มันจะส่งเสียงขู่ดังฟู่ ๆ แสดงอาการโกรธแค้น ไม่ผิดไปกับเสียงขู่ของงูหางกระดิ่ง. มันพยายามขวางการมาเยือนของผู้ไม่พึงปรารถนา.
หลายคนคิดว่านกเค้าแมวไม่สามารถเห็นได้ดีเท่าไรในเวลากลางวัน. พวกเขายังคิดอีกด้วยว่านกเค้าแมวสามารถเห็นได้ดีในที่มืด. แต่พวกเขาเข้าใจผิดทั้งสองอย่าง. นกเค้าแมวมีสายตาดีมาก. ในช่วงกลางวัน ความสามารถในการมองเห็นของมันดีเยี่ยม. ตอนกลางคืนพวกมันก็เห็นได้เยี่ยมไม่แพ้กัน. นกเค้าแมวที่หากินตอนกลางคืน—ส่วนมากเป็นเช่นนั้น—มีเรตินา (เยื่อชั้นในสุดของลูกตาทำหน้าที่รับภาพ) ซึ่งประกอบด้วยเซลล์รูปแท่งมากมายล้นเหลือจึงทำให้มันสามารถเห็นกระทั่งในแสงสลัวที่สุด. ในสภาพแวดล้อมดังกล่าวตาของมันจึงรวบรวมแสงซึ่งอ่อนสลัวนี้ได้ดีกว่าตาของพวกเรานับร้อย ๆ เท่า. แต่ในสภาพที่มืดสนิท นกเค้าแมวเหมือนกับจะไม่เห็นอะไรเลย. นักวิจัยท่านหนึ่งจัดวางหนูที่ตายแล้วกระจายตามพื้นในห้องซึ่งมืดมิดและจับนกเค้าแมวใส่ไว้ในนั้น. นกเหล่านั้นหาหนูไม่ได้สักตัว.
เมื่อหูกลายเป็นตา
อย่างไรก็ดี เมื่อใส่นกแสก (นกเค้าแมวชนิดหนึ่ง ดูภาพหน้า 21) ไว้ในห้องที่มืดมิดซึ่งมีใบไม้กองอยู่ตามพื้นห้อง และปล่อยหนูวิ่งทำใบไม้เสียงดังกรอบแกรบ เจ้าเค้าแมวนั้นจับหนูได้ทุกตัว. นกเค้าแมวที่หากินตอนกลางคืนพันธุ์อื่น ๆ ก็สามารถทำได้เหมือน ๆ กัน แต่ที่แน่นอนที่สุดก็คือ นกแสกจัดอยู่ในระดับผู้เชี่ยวชาญ. ในยามมืดไร้แสงหูของมันกลายมาเป็นตา. นกแสกมีประสาทการได้ยินที่กำหนดทิศทางได้แม่นยำกว่าสัตว์บกชนิดอื่น ๆ ที่ได้ทำการศึกษามา.
เวลาที่เราต้องการฟังเสียงที่เบามาก เราเอียงหูไปยังทิศทางเดียวกับแหล่งที่มาของเสียงและอาจจะเอามือป้องหู เพื่อรวบรวมคลื่นเสียงและโน้มนำเสียงเข้าช่องหูของเรา. หน้าของนกแสกได้รับการออกแบบเพื่อให้ทำสิ่งนี้โดยอัตโนมัติและเสียงแผ่วเบาที่สุดซึ่งเราไม่สามารถได้ยินมันกลับได้ยินอย่างสบาย ๆ. เวิลด์ บุคส์ ไซเยนส์ เยียร์ 1983 อธิบายว่า “ความไวต่อเสียงของนกแสกที่มีมากยิ่งนี้ส่วนใหญ่เกี่ยวเนื่องกับสมรรถนะในการเก็บรวบรวมเสียงของขนบริเวณใบหน้า—ขนนกหนาทึบเบียดกันแน่นดุจกำแพงซึ่งเรียงตัวเป็นรูปหัวใจ อยู่รอบ ๆ ใบหน้า. . . . เช่นเดียวกับเอามือป้องหู ขนตรงรอบ ๆ ใบหน้าจำนวนมากนี้ช่วยรวบรวมและโน้มนำเสียงเข้าไปในช่องหู.”
การออกแบบเพื่อการได้ยินไม่ได้หยุดอยู่แค่ขนบริเวณรอบหน้าของนกแสก. ‘มือป้อง’ อีกอันหนึ่งอยู่พร้อมเพื่อนำเสียงเข้าสู่ช่องหู. วารสารไซเยนส์เยียร์ 1983 พรรณนาถึงสิ่งนี้ว่า “กลีบสีชมพูเหนือช่องหูของนกแสก มีโครงสร้างคล้ายคลึงกับใบหูชั้นนอกของคนเรา. ขนนกตรงด้านนอกของกลีบใบหูและขนบริเวณด้านหลังของหู ทำหน้าที่คล้ายกับการใช้มือป้องหูเพื่อรวมเสียงให้เข้าไปในช่องหู.”
อย่างไรก็ตาม กลีบหูนี้ไม่ใช่เป็นแค่ ‘มือป้องหู’ เพื่อเพิ่มสมรรถนะการรวบรวมเสียงของขนตรงใบหน้า. กลีบหูกับขนบริเวณรอบใบหน้าได้รับการออกแบบเป็นพิเศษเพื่อเพิ่มสมรรถนะของนกแสกในการจับทิศทางเสียง. ช่องหูซึ่งอยู่ในกะโหลกของนกแสกตั้งอยู่อย่างได้สัดส่วน หมายความว่าช่องหูด้านขวาและซ้ายอยู่ตรงข้ามกันพอดีในกะโหลก. อย่างไรก็ดี โครงสร้างของใบหูส่วนนอกวางอยู่ไม่ได้สัดส่วน. ทั้งกลีบหูและช่องหูด้านขวาอยู่ต่ำกว่า และชี้ขึ้นด้านบน ขณะที่กลีบหูและช่องหูด้านซ้ายอยู่สูงกว่าและชี้ลงด้านล่าง. ดังนั้น หูข้างขวา ซึ่งกลีบใบหูและช่องหูชี้ขึ้นเหมือนกรวย จึงรับเสียงซึ่งมาจากด้านบนได้ดีกว่า ขณะเดียวกันหูข้างซ้าย ซึ่งกลีบหูและช่องหูของมันชี้ลงจึงไวต่อการรับเสียงซึ่งมาจากเบื้องล่าง. ถ้าเสียงเข้ามาทางหูข้างขวามีกำลังแรงกว่า เจ้าเค้าแมวก็รู้ว่าต้นกำเนิดเสียงอยู่ด้านบน แต่ถ้าหูข้างซ้ายได้รับเสียงดังกว่า แหล่งเสียงจะอยู่เบื้องล่าง.
ในทำนองเดียวกัน ถ้าแหล่งกำเนิดเสียงอยู่ในแนวราบมากกว่าแนวตั้งและหูข้างขวาได้ยินก่อนหูข้างซ้าย มันสำเหนียกรู้ได้ทันทีว่า เสียงมาจากด้านขวา หากหูข้างซ้ายได้ยินเสียงก่อน มันก็รู้ว่าเสียงมาทางด้านซ้าย. ศีรษะของนกเค้าแมวมีขนาดเล็ก ดังนั้นความแตกต่างของระยะเวลาที่เสียงมาถึงยังหูข้างหนึ่งเมื่อเทียบกับอีกข้างหนึ่งนั้นน้อยนิดเหลือประมาณ วัดเป็นจุลวินาที (จุลวินาทีคือหนึ่งในล้านของวินาที). ปฏิกิริยาของนกเค้าแมวต่อทิศทางของเสียงมีขึ้นทันที—ในช่วงเวลาหนึ่งในร้อยของวินาที ใบหน้าของมันจะหันไปยังแหล่งเสียง. ความสามารถของมันในการรับรู้จากสัญญาณเป็นเสี้ยววินาทีเหล่านี้สำคัญยิ่งในการกำหนดตำแหน่งที่มาของเสียงอย่างแม่นยำ.
ดังที่กล่าวข้างต้น ตาของนกเค้าแมวชำเลืองไปมารอบ ๆ ไม่ได้เลย. อย่างไรก็ดี นี้ไม่ใช่ความผิดพลาดในการออกแบบ. คอของนกเค้าแมวเคลื่อนไหวง่ายกระทั่งนกบางตัวสามารถหันหัวของมัน ในรัศมี 270 องศาซึ่งช่วยให้มันเห็นกระทั่งสิ่งที่อยู่ข้างหลังมันโดยตรง. ยิ่งไปกว่านั้น ที่ตาของมันไม่เคลื่อนไหวนับว่าเป็นประโยชน์. ทั้งนี้หมายความว่าเมื่อไรก็ตามที่นกเค้าแมวได้ยินเสียงและหันหัวของมันไปตามแหล่งกำเนิดเสียง ตาของมันจะจ้องในทิศทางนั้นตรงเผงโดยอัตโนมัติ. ชั่วเวลาเพียงหนึ่งในร้อยของวินาทีหลังจากมันได้ยินเสียง นกเค้าแมวจะเห็นแหล่งที่มาของเสียงนั้น.
ปีกได้รับการออกแบบด้วยอุปกรณ์เก็บเสียง
ขนของนกส่วนมากก่อเสียงขณะที่มันกระพือปีกบินในอากาศ. แต่ไม่เป็นเช่นนั้นกับขนนกเค้าแมว มันได้รับการออกแบบพิเศษเพื่อความเงียบ. ขนของมันอ่อนและนุ่ม ดุจใยไหม ฉะนั้นเมื่อลมพัดผ่านขนเหล่านี้จึงไม่เกิดเสียง. ขนปีกไม่เป็นเส้นตรง และขอบไม่แข็งเหมือนขนนกส่วนมาก ซึ่งทำให้เกิดเสียงหวือ ๆ ขณะที่กระพือปีกอยู่กลางอากาศ. ก้านขนของมันยาวไม่เท่ากัน จึงทำให้ขนตรงขอบปีกเป็นขนฝอยซึ่งไม่ก่อให้เกิดเสียงขณะที่มันบินอยู่.
อย่างไรก็ตาม ความเงียบที่กล่าวถึงนี้ดูจะหมดไปตอนที่บรรดานกเค้าแมวเข้าสู่วงสนทนา—เสียงฮูก ๆ, เสียงร้องรัว, เสียงผิวปาก, เสียงแกรก ๆ ของจะงอยปาก และเสียงตีปีกในตอนที่มันบิน. นักค้นคว้าบางคนกล่าวถึงเสียงเหล่านี้ว่าเป็นเพลงของนกเค้าแมว และสำหรับหูนกเค้าแมวแล้วเสียงเหล่านี้อาจถือว่าเป็นเสียงเพลงของมัน เนื่องจากเสียงเหล่านี้มีบทบาทในการสื่อความหมายระหว่างคู่รักของนกเค้าแมว.
ปัจจุบันนกเค้าแมวมีคุณค่าในการควบคุมจำนวนแมลงและหนู แม้เมื่อเดิมอาจจะไม่ได้ถูกออกแบบเพื่อจุดประสงค์นี้. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นกแสกถือว่าเป็นเพื่อนของชาวนา เนื่องจากมันช่วยขจัดสัตว์ตระกูลหนูและแมลงต่าง ๆ ซึ่งกินพืชผลในนาของเขา. ในบางท้องถิ่นมีการส่งเสริมนกเค้าแมวเป็นพิเศษ โดยการจัด “ประตูนกเค้าแมว” เพื่อมันจะเข้าไปในตัวอาคารฟาร์มได้ง่าย. ในมาเลเซียผู้ปลูกต้นปาล์มน้ำมันจัดวางกล่องไว้เพื่อเป็นรังสำหรับนกแสก—และสิ่งนี้ไม่ใช่การกุศล. นกแสกคู่ซึ่งอาศัยอยู่ที่นี่ต้องจ่ายค่าเช่าบ้าน ปีหนึ่ง ๆ กำจัดหนูให้กสิกร 3,000 ตัวซึ่งมิฉะนั้นก็คงกินพืชผลของเขา. และเป็นการเพิ่มอีกลักษณะหนึ่งแห่งความงามของนกแสก. มันจัดอยู่ในจำพวกนกที่สวยที่สุด กระจายอยู่ทั่วโลก และนกเหล่านี้มีใบหน้ารูปหัวใจอันมีเสน่ห์ที่สุดอย่างหนึ่งในธรรมชาติ.
คราวใดที่คุณนึกถึงตากลมโตสีเหลืองคู่นั้นซึ่งสามารถรับแม้กระทั่งแสงอ่อนสลัวที่สุด หูซึ่งจับได้แม้กระทั่งเสียงกระซิบอันแผ่วเบาจากทิศทางไหนก็ได้ และขนของปีกนกซึ่งบินผ่านอากาศโดยปราศจากเสียง คุณจะต้องทึ่งกับบรรดานกเค้าแมวที่ออกหากินในเวลากลางคืน เนื่องจากมันถูกสร้างและออกแบบไว้อย่างดียิ่งสำหรับชีวิตยามราตรี.
[รูปภาพหน้า 22,23]
ซ้ายและบน. นกเค้าแมวเกรทฮอร์น และลูกน้อยของมัน
[ที่มาของภาพ]
page 22 left, Robert Campbell; page 22 right, John N. Dean
ขวา. นกเค้าแมวเบอร์โรอิง
[ที่มาของภาพ]
Paul A. Berquist
ขวาสุด. นกเค้าแมวเอล์ฟ
[ที่มาของภาพ]
Paul A. Berquist
[ที่มาของภาพหน้า21]
Photos: page 21, Paul A. Berquist