“คำอธิษฐานของฉันได้รับคำตอบ”
ปฏิกิริยาของผู้อ่านต่อบทความชุดเรื่องพิษสุราเรื้อรัง
นี่คือคำพูดที่เราได้ยินจากผู้อ่านของเราทั่วโลก: “พระยะโฮวาทรงตอบคำอธิษฐานของฉัน.” จากคำพูดนี้ ผู้อ่านของเราอ้างถึงบทความชุดซึ่งปรากฏในฉบับ 22 พฤษภาคม (ภาษาไทย 8 มิถุนายน) 1992 เรื่อง “การช่วยผู้ติดสุราและครอบครัวของเขา.”
บทความดังกล่าวซึ่งอาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลัก แสดงให้เห็นว่าโรคพิษสุราเรื้อรังสามารถครอบงำทั้งครอบครัว. คู่สมรสและลูก ๆ มักร่วมกับผู้ติดสุราในการปฏิเสธเรื่องที่เขามีปัญหาเกี่ยวกับการดื่มจริง ๆ. พวกเขาและคนอื่น ๆ อาจใช้วิธีการที่ไม่มีประสิทธิภาพเพื่อพยายามจะเปลี่ยนผู้ติดสุรา—แต่ประสบผลแค่ทำให้เขาติดสุราอย่างถาวรเท่านั้น. ฉะนั้น สมาชิกในครอบครัวต้องเข้าใจลักษณะของโรคพิษสุราเรื้อรัง และได้มีการให้ข้อแนะโดยเฉพาะเพื่อช่วยพวกเขาหลุดพ้นจากพันธนาการอันเหนียวแน่นซึ่งเป็นภัยของโรคนี้. อีกทั้งมีการให้ความรู้แก่ลูก ๆ ที่โตแล้วของผู้ติดสุราด้วยเพื่อช่วยพวกเขาให้วินิจฉัยออก—และรักษา—บาดแผลทางอารมณ์ของเขา. ดังนั้น จึงไม่น่าประหลาดใจที่บทความเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดการตอบรับที่น่าทึ่งจากผู้อ่าน!
สตรีผู้หนึ่งเขียนมาว่า “เมื่อดิฉันเห็นหน้าปก ดิฉันรู้สึกเย็นเยือก ไปทั้งตัว. ตลอดหนึ่งปีครึ่งที่ผ่านมา ดิฉันป่วยมาก. ในเดือนธันวาคม ดิฉันเริ่มมีอาการหวาดกลัวอย่างแรง และซึมเศร้าอย่างหนักเป็นครั้งคราว. ดิฉันถูกเลี้ยงดูโดยบิดาที่ติดสุรา แต่ก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องโง่ที่จะรื้อฟื้นอดีต. พอดิฉันได้รับวารสารของคุณ ดิฉันอ่านแล้วอ่านอีก. เป็นครั้งแรกที่ดิฉันเข้าใจตัวเอง.”
ผู้อ่านหลายสิบคนแสดงความรู้สึกคล้าย ๆ กัน. เด็กสาววัย 16 ปีคนหนึ่งซึ่งมีบิดาติดสุรา เรียกบทความนี้ว่าเป็นตอนเริ่มต้นของขั้นตอนการรักษาเธอให้หาย. ผู้อ่านอีกคนบอกว่า “ดิฉันอ่านหอสังเกตการณ์ และตื่นเถิด มาตั้งแต่ปี 1969 และไม่เคย มีความรู้ใดเลยที่มีผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อดิฉันเช่นนี้. หลังจากหลายปีที่รู้สึกคล้ายกับล้มเหลวไร้ค่า ดิฉันรู้สึกว่าตนเองทำให้กระทั่งพระยะโฮวาทรงผิดหวัง. มีอะไรผิดพลาดไปหรือในตัวดิฉัน? เมื่อดิฉันได้แต่งงานก็ตกเข้าสู่ความเจ็บปวดและความละอายแบบเดียวกับที่ดิฉันคิดว่าเคยได้สลัดทิ้งมาแล้วและได้นำลูก ๆ ห้าคนเข้าสู่สภาพแวดล้อมของคนติดสุรา. ดิฉันไม่สามารถให้ความรู้สึกปลอดภัยทางอารมณ์ที่พวกเขาต้องการได้. ตื่นเถิด (ภาษาอังกฤษ) ฉบับ 22 พฤษภาคม ได้เปิดทางให้แก่ดิฉัน! ขอบพระคุณพระยะโฮวาที่ทรงช่วยดิฉันเข้าใจจุดอ่อนของตัวเอง.”
ไม่น่าประหลาดใจ บทความนี้ได้ช่วยผู้อ่านหลายคนทางฝ่ายวิญญาณ. สตรีคนหนึ่งจากญี่ปุ่นยอมรับว่า “เป็นเวลานานทีเดียว ดิฉันต้องทนทุกข์เพราะตัวเองไร้ความสามารถที่จะนำหลักการในคัมภีร์ไบเบิลไปใช้. ดิฉันอธิษฐานขอพระเจ้าให้ช่วยดิฉันเปลี่ยนบุคลิก. ไม่กี่วันต่อมา ดิฉันก็ได้รับวารสารนี้. วารสารนี้สอนดิฉันถึงสาเหตุของนิสัยและให้ความกล้าหาญในการพยายามปรับสิ่งต่าง ๆ ให้ถูกต้อง.”
บทความนี้ได้ช่วยผู้อ่านบางคนทะลวงผ่านกำแพงแห่งการปฏิเสธ. สตรีชาวแคนาดาคนหนึ่งบอกว่า “ดิฉันก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ต้องรับผลร้ายจากบิดาซึ่งติดสุรา. แต่เพียงหลังจากอ่านบทความของคุณเท่านั้นดิฉันถึงได้สำนึกอย่างเต็มที่ว่าปัญหาของตนคืออะไร. ดิฉันเติบโตขึ้นพร้อมด้วยการปฏิเสธอยู่เสมอว่าในบ้านมีปัญหา. ทุกวันนี้ดิฉันได้ก้าวไปขั้นหนึ่งสู่การรักษาให้หายโดยการพูดคุยกับพี่น้องหญิงที่อาวุโส. ดิฉันรู้สึกตกตะลึงที่ได้ยินว่าคุณพ่อของเธอก็เป็นคนติดสุราด้วย.”
สำหรับคนอื่น ๆ เนื้อเรื่องนี้ขจัดความรู้สึกเดียวดายออกไป. ผู้อ่านคนหนึ่งกล่าวว่า “เป็นการบำบัดรักษาสำหรับดิฉันที่ได้อ่านชุดบทความนี้ เพราะตอนนี้ดิฉันรู้สึกว่ามีพี่น้องคริสเตียนชายหญิงร่วมความรู้สึกและเข้าใจดิฉัน.”
ผู้อ่านหลายท่านน้ำตาไหลพรากเมื่ออ่านชุดบทความนี้. สตรีผู้หนึ่งบอกว่า “พอดิฉันเห็นชื่อเรื่อง ดิฉันก็เริ่มร้องไห้. คุณพ่อดิฉันเป็นคนติดสุรา และสามีดิฉันเคยเป็นด้วย. ดิฉันไม่เคยตระหนักว่าโรคพิษสุราเรื้อรังมีบทบาทมากเพียงไรในการทำให้วัยเด็กของดิฉันพังพินาศ. มันทำลายชีวิตสมรสของดิฉัน และมันเกือบจะทำลายดิฉันด้วย. ดิฉันร้องไห้เพราะความสว่างได้เริ่มส่องแสงรำไรบนข้อข้องใจที่ดิฉันมีมาตลอดชีวิต เช่น ‘ทำไมดิฉันจึงรู้สึกไร้ค่าอยู่เสมอ? ทำไมดิฉันรู้สึกกลัวที่จะไว้ใจคน? ความรู้สึกอ้างว้างที่อยู่ในตัวดิฉันนี้คืออะไรกัน?’”
คนอื่นรู้สึกว่าบทความนี้ได้ตอบปัญหากวนใจอื่น ๆ ด้วย. ชายหนุ่มคนหนึ่งจากฟินแลนด์บอกว่า “ผมเคยสงสัยเกี่ยวกับความรู้สึกที่อยู่ภายใน เพราะผมไม่สามารถไว้ใจผู้คนหรือแสดงความรู้สึกอบอุ่น.” สตรีผู้หนึ่งเห็นด้วยว่า “ความรู้นี้เป็นเรื่องที่ดิฉันต้องการพอดี. เพื่อนคริสเตียนมักชมเชยที่เราได้วางแบบอย่างอันดีฐานะเป็นครอบครัว. แม้แต่เพื่อนบ้านก็ยกย่องเรา. กระนั้น ถึงแม้ได้ประสบความสำเร็จเช่นนี้ หลายครั้งดิฉันรู้สึกว่า ในส่วนลึกลงไปข้างในของตัวเอง มีอะไรบางอย่างผิดไป. บางครั้ง ดิฉันสู้กับความรู้สึกผิดและประเมินค่าตนเองต่ำ แต่ดิฉันไม่เคยเข้าใจได้เลยว่าทำไม. บทความชุดนี้ได้ช่วยดิฉันให้มองหลายสิ่งอย่างสมดุลยิ่งขึ้น. บาดแผลของดิฉันเริ่มหายแล้ว.”
บุตรที่โตแล้วของบิดาหรือมารดาผู้ติดสุรามักกลัดกลุ้มด้วยความรู้สึกผิด. แต่ ขอสังเกตสิ่งที่ผู้อ่านคนหนึ่งจากญี่ปุ่นเขียนไว้: “เมื่อคุณพ่อที่มึนเมาจะทุบตีคุณแม่ ดิฉันจะต้องทนกับความเครียดทางจิตใจและความสะเทือนใจ. ดิฉันเคยรู้สึกคลื่นไส้และกระทั่งอาเจียน! คุณพ่อจะบอกว่า ‘ถ้าแกเลิกเรียนคัมภีร์ไบเบิล ฉันก็จะเลิกกินเหล้า.’ แต่บทความนี้สอนดิฉันว่าคนติดสุราจะพยายามปัดความรับผิดชอบจากการดื่มไปให้คนอื่น และบทความยังสอนว่าเราต้องไม่ถูกหลอก! ดิฉันรู้สึกราวกับว่าดิฉันได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระ.” ผู้อ่านคนหนึ่งจากบราซิลเขียนว่า “พอคุณพ่อดื่ม เขาก็จะโทษเราเสมอ. หลายครั้งดิฉันรู้สึกว่านั่นเป็นความผิดของดิฉัน. บทความนี้ได้ทำให้เข้าใจว่า นั่นไม่ใช่ความผิดไม่ว่าของคุณแม่หรือของดิฉัน.”
ผู้ปกครองคริสเตียนที่มีความรักอาจเป็นร่องทางอันสำคัญได้ในการให้ความช่วยเหลือ. (ยะซายา 32:2) บทความชุดเกี่ยวกับโรคพิษสุราเรื้อรังนี้ถูกเรียบเรียงขึ้นเพื่อช่วยผู้ดูแลในประชาคมจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ดังกล่าวอย่างได้ผล. (ยะซายา 50:4) สตรีคริสเตียนคนหนึ่งระลึกว่า “ดิฉันเคยใช้ยาต้านอาการจิตซึมเศร้ามานานหลายปี แพทย์ประจำตัวขอให้ดิฉันเสาะหาคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ. แต่ดิฉันรู้สึกไม่สบายใจในการพูดคุยกับคนแปลกหน้าถึงปัญหาของตน. ดิฉันติดต่อกับผู้ปกครอง และโดยการพูดคุยกับพวกเขา พร้อมด้วยสามีของดิฉัน ดิฉันก็สามารถผ่อนคลายความกลัว, ความโกรธ, ความข้องขัดใจ, และความรู้สึกว่าถูกทอดทิ้งลงไปได้มากทีเดียว.”
บ่อยครั้งความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญนับว่าจำเป็นเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากโรคพิษสุราเรื้อรัง. ขณะที่ชุดบทความนั้นไม่ได้เสนอแนะวิธีการบำบัดเฉพาะอย่าง ผู้อ่านหลายคนก็ได้เล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัวของพวกเขา. สตรีผู้หนึ่งเล่าว่า “สามีดิฉันได้เข้าสู่โครงการรักษาผู้ติดสุรา. นั่นเป็นเพียงการเริ่มต้น ของการต่อสู้ดิ้นรนระยะสามปีสำหรับเราทั้งสอง. เราเริ่มการบำบัดประจำสัปดาห์อย่างเคร่งครัด. ไม่มีทางเลย ที่เราจะคลำหาหนทางออกจากความมืดมนทางอารมณ์ได้ด้วยตัวเราเอง.” สตรีชาวเยอรมันผู้หนึ่งซึ่งทำงานในคลินิกรักษาคนไข้ติดสุรา กล่าวเสริมว่า “ขอบคุณอย่างมากสำหรับการชี้ให้เห็นว่าบุคคลซึ่งเผชิญหน้าสู้ปัญหาและแสวงความช่วยเหลือคือคนเข้มแข้ง—ไม่ใช่คนที่กลบเกลื่อนปัญหานั้น ๆ หรือทำให้ดูเป็นเรื่องเล็กน้อย. คุณแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าคนเราจะไม่เสียหน้าเมื่อแสวงหาทางรักษา.”
แม้จะเป็นเรื่องน่าพอใจที่สังเกตเห็นการตอบรับอย่างดีต่อชุดบทความนั้น เราทราบดีว่าการเยียวยารักษาบาดแผลทางอารมณ์จากโรคพิษสุราเรื้อรังนั้นเป็นกระบวนการระยะยาวและบ่อยครั้งเป็นเรื่องยาก. เราอธิษฐานเพื่อคนเหล่านั้นซึ่งกำลังจัดการกับปัญหาที่ไม่เบาเหล่านี้ด้วยความช่วยเหลือจากพระยะโฮวา. ผู้อ่านคนหนึ่งแสดงความรู้สึกออกมาดังนี้: “ดิฉันเติบโตมาโดยมีบิดาติดสุรา. ถึงแม้ดิฉันมีความสุขในการรับใช้พระยะโฮวา บาดแผลทางอารมณ์ก็ยังคงปรากฏชัด. ด้วยการช่วยเหลือจากพระยะโฮวา ดิฉันคืนสู่ปกติมากทีเดียว แต่ดิฉันเห็นด้วยว่าการหายขาดนั้นจะมีได้ก็เพียงในโลกใหม่ของพระยะโฮวาเท่านั้น.”—ยะซายา 65:17.