ความมั่งคั่งทางวัตถุรับประกันความสุขได้ไหม?
“จากจำนวนนักเรียนประมาณ 50 คนในโรงเรียนของเรา เพียง 1 หรือ 2 คนเท่านั้นที่สวมรองเท้า” โปชิงวัย 45 ปีหวนระลึกได้ เขาเติบโตในภาคใต้ของไต้หวันในช่วงทศวรรษปี 1950. “เราไม่มีเงินซื้อ. แต่เราก็ไม่เคยถือว่าเราจน. เรามีทุกสิ่งที่จำเป็น.”
นั่นคือเมื่อประมาณ 40 ปีมาแล้ว. ตั้งแต่นั้นมา ชีวิตเปลี่ยนไปราวกับหน้ามือเป็นหลังมือสำหรับโปชิงและอีก 20 ล้านคนที่อาศัยอยู่บนเกาะไต้หวัน. ดังที่หนังสือข้อเท็จจริงและสถิติ—สาธารณรัฐจีนไต้หวัน (ภาษาอังกฤษ) ชี้แจงว่า “ไต้หวัน [ได้] เปลี่ยนจากสังคมเกษตรกรรมเป็นสังคมอุตสาหกรรมที่รุ่งเรือง.” พอถึงช่วงท้าย ๆ ทศวรรษปี 1970 ไต้หวันได้รับการถือว่าเป็น “สังคมมั่งคั่งที่มีเสถียรภาพแห่งหนึ่ง.”
จริง ๆ แล้ว หลักฐานแสดงความมั่งคั่งมีให้เห็นทั่วทุกหนแห่งในไต้หวัน. ตั้งแต่อาคารสำนักงานแบบล้ำยุคสูงหลายชั้นที่ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ดทั่วไต้หวัน ไปจนถึงทางหลวงที่หนาแน่นไปด้วยรถยนต์นำเข้าราคาแพง ความมั่งคั่งด้านวัตถุของไต้หวันเป็นที่อิจฉาแก่ประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ. ไชนา โพสต์หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษชั้นแนวหน้าของไต้หวันโอ่ว่า ในทุกวันนี้ “ประชาชนของไต้หวันมีมาตรฐานการดำรงชีวิตสูงสุดในประวัติศาสตร์จีน.”
‘ปัญหายุ่งยากมากมาย’
ความมั่งคั่งด้านวัตถุเช่นนี้ทำให้ผู้คนมีความสุขและความพอใจแท้ไหม? ถึงแม้เป็นเรื่องแน่นอนที่ว่า ผู้คนชาวไต้หวันมีหลายสิ่งที่เขาภาคภูมิใจ แต่ก็มีอีกด้านหนึ่งของเรื่องราวแห่งความสำเร็จนี้. ดังที่ไชนา โพสต์ ชี้ให้เห็นต่อไปว่า “พร้อมกับความมั่งคั่งในระดับสูงนี้ก็มีปัญหาซับซ้อนและยุ่งยากมากมายตามมาด้วย.” ความมั่งคั่งทางวัตถุของไต้หวันใช่ว่าได้มาโดยไม่เสียอะไรเลย.
เกี่ยวกับ “ปัญหาซับซ้อนและยุ่งยาก” ที่กำลังรุมล้อมเกาะซึ่งเมื่อก่อนค่อนข้างปลอดอาชญากรรมนี้ ไชนา โพสต์ให้ข้อสังเกตว่า “เมื่อไม่กี่ปีมานี้อาชญากรรมและความวุ่นวายเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจในสังคมที่มั่งคั่งของเรา ซึ่งก่ออันตรายเพิ่มขึ้นแก่ชีวิตและทรัพย์สินของบรรดาพลเมืองที่เชื่อฟังกฎหมาย.” ในบทความหนึ่งชื่อ “ความมั่งคั่งทำให้ไต้หวันเป็นดินแดนแห่งตัณหา” โพสต์ กล่าวตำหนิอย่างรุนแรงเรื่องปัญหา “ภัตตาคารและบาร์ที่มีหญิงบริการ” ที่ผุดขึ้นเหมือนดอกเห็ดและซ่องโสเภณีผิดกฎหมายซึ่งดำเนินการโดยอาศัยร้านตัดผมเป็นเครื่องบังหน้า. การกรรโชกและการลักพาตัวเรียกค่าไถ่ก็ได้กลายเป็นอีกปัญหาหนึ่ง. รายงานข่าวหนึ่งกล่าวถึงการลักพาตัวเด็ก ๆ ว่าเป็น “ธุรกิจแบบใหม่ที่กำลังรุ่งเรืองในไต้หวัน.” หลายคนพึ่งอาชญากรรมแบบนี้เพื่อจ่ายหนี้จากการพนันหรือการขาดทุนด้านอื่น ๆ.
เด็ก ๆ ไม่ใช่เป็นแค่เหยื่อที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ของอาชญากรรมเท่านั้น. พวกเขาเข้าไปพัวพันมากขึ้นในการก่ออาชญากรรม. รายงานข่าวแสดงให้เห็นว่า ในปี 1989 ปีเดียว อาชญากรรมที่ก่อโดยเยาวชนเพิ่มขึ้นถึง 30 เปอร์เซ็นต์. บางคนสืบพบว่าการเพิ่มนี้เนื่องมาจากการล่มสลายของครอบครัว และสถิติต่าง ๆ ก็ดูเหมือนสนับสนุนเรื่องนี้. ยกตัวอย่าง ตั้งแต่ปี 1977 ถึงปี 1987 จำนวนคู่ชายหญิงชาวไต้หวันที่สมรสกันลดลง แต่อัตราหย่าร้างเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่า. เนื่องจากตามประเพณีแล้ว วัฒนธรรมจีนเน้นความสำคัญของครอบครัวในสังคมที่มีเสถียรภาพ จึงไม่น่าประหลาดใจที่หลายคนเป็นห่วงมากเกี่ยวกับสภาพการณ์ที่เลวลง.
มูลเหตุของปัญหา
มีการเสนอคำชี้แจงหลายหลากในการพยายามจะเข้าใจเหตุผลสำหรับความเสื่อมของระเบียบสังคมในท่ามกลางสังคมที่มั่งคั่ง. ผู้คนบางพวกซึ่งค่อนข้างจะหัวปรัชญากล่าวว่า นั่นเป็นเพียงสิ่งที่ต้องจ่ายเพื่อความสำเร็จ. แต่การโทษความสำเร็จหรือความมั่งคั่งก็เป็นเหมือนการโทษอาหารว่าทำให้ตะกละตะกลาม. ไม่ใช่ทุกคนที่กินเป็นคนตะกละ และไม่ใช่ทุกคนที่มั่งคั่งเป็นคนนิยมวัตถุหรือเป็นอาชญากร. เปล่าเลย ความมั่งคั่งด้านวัตถุนั้นในตัวมันเองแล้วไม่ได้ก่ออาชญากรรมและความวุ่นวายทางสังคม.
บทบรรณาธิการหนึ่งในไชนา โพสต์ชี้ถึงปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมปัญหา. บทความนั้นกล่าวดังนี้: “ตลอดหลายทศวรรษมาแล้ว เราได้เน้นการพัฒนาด้านวัตถุมากเกินไป. สิ่งนี้ต้องรับผิดชอบต่อความตกต่ำของค่านิยมทางศีลธรรมและทางศาสนาในสังคมของเราทุกวันนี้.” (ตัวเอนเราทำเอง.) ถูกแล้ว การเน้นมากเกินไปในเรื่องการมุ่งติดตามสิ่งฝ่ายวัตถุย่อมนำไปสู่น้ำใจนิยมวัตถุและความโลภ. การเน้นวัตถุสนับสนุนการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว. น้ำใจแบบนี้แหละนำไปสู่การล่มสลายของครอบครัวและการแพร่ของสิ่งเลวร้ายทางสังคม. สิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลกล่าวเมื่อ 2,000 ปีมาแล้วยังคงเป็นความจริงที่ว่า “ความรักเงิน [ไม่ใช่ตัวเงิน] เป็นรากแห่งสิ่งที่ก่อความเสียหายทุกชนิด.”—1 ติโมเธียว 6:10, ล.ม.
ปัญหาทั่วโลก
ในการแสวงหาความสงบเงียบ—และความปลอดภัย—หลายพันคนจากไต้หวันได้ย้ายถิ่นฐานไปประเทศอื่น. แต่ปัญหาที่ไต้หวันกำลังประสบไม่ใช่มีแต่ในไต้หวันเท่านั้น. ปัญหาดังกล่าวระบาดไปทั่วโลก.
หลายปีมาแล้วการวิจัยรายหนึ่งแสดงว่า เขตที่มั่งคั่งที่สุดแห่งหนึ่งในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา มีอัตราการหย่าร้างสูงที่สุดในประเทศ. ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ของการโอนอสังหาริมทรัพย์ในบางพื้นที่ของเขตนี้เป็นผลสืบเนื่องจากชีวิตสมรสพังทลาย. มีรายงานการฆ่าตัวตายเป็นสองเท่าของเฉลี่ยทั้งประเทศ. อัตราการเป็นโรคพิษสุราเรื้อรังในเขตนี้เป็นหนึ่งในอัตราสูงสุดของประเทศ และกล่าวกันว่า ในเขตนี้มีจิตแพทย์และนักจิตบำบัดอื่น ๆ ต่อจำนวนประชากรมากกว่าเขตอื่นใดในสหรัฐ.
พระเยซูคริสต์ทรงชี้ให้เห็นความจริงพื้นฐานเมื่อพระองค์ตรัสว่า “มนุษย์จะเลี้ยงชีพด้วยขนมปังแต่อย่างเดียวไม่ได้ แต่ด้วยคำตรัสทุกคำที่ออกมาจากพระโอษฐ์ของพระยะโฮวา.” (มัดธาย 4:4, ล.ม.) ทรัพย์สมบัติฝ่ายวัตถุ ไม่ว่าจะมากมายแค่ไหน ไม่อาจสนองความต้องการทุกอย่างของคนเราได้ ทั้งไม่อาจรับประกันความสุขได้. ตรงกันข้าม ดังที่ภาษิตจีนกล่าวว่า “เมื่อคนเรากินอิ่มและอุ่นสบาย ความคิดของเขาก็หันไปหาความเลยเถิดและโลกียตัณหา.” ก็เป็นเช่นนั้น ดังแสดงให้เห็นโดยสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในไต้หวันและในที่ไหน ๆ ก็ตาม—บ่อยครั้ง ความมั่งคั่งด้านวัตถุเพียงอย่างเดียวมักปรากฏผลเป็นการเปิดทางสู่ความเสื่อมทางศีลธรรมและสังคมและปัญหาต่าง ๆ ที่ตามมา.
ถ้าเช่นนั้น อะไรคือสิ่งจำเป็นเพื่อความมั่งคั่งทางวัตถุจะเป็นส่วนหนึ่งแห่งความสุขแท้และถาวรได้? เพื่อจะได้คำตอบ โปรดอ่านบทความต่อไป.
[รูปภาพหน้า 5]
ความมั่งคั่งทางวัตถุเปลี่ยนเมืองเล็ก ๆ กลายเป็นกรุงคึกคักที่สว่างไสวด้วยไฟนีออน
[รูปภาพหน้า 6]
“เมื่อคนเรากินอิ่มและอุ่นสบาย ความคิดของเขาก็หันไปหาความเลยเถิดและโลกียตัณหา.” ภาษิตจีน