วิธีง่าย ๆ สำหรับแก้ความเบื่อหน่ายหรือ?
การจัดหาความสนุกสนานไม่รู้จบสิ้นให้ลูกค้าหลายล้านคนที่รู้สึกเบื่อหน่ายนั้นเดี๋ยวนี้ได้กลายเป็นธุรกิจใหญ่ไปแล้ว. วันหยุดที่ดึงดูดใจ, ของเล่นอิเล็กทรอนิกที่สลับซับซ้อน, งานอดิเรกที่ต้องมานะพยายาม, ทั้งหมดนี้ก็เพื่อฆ่าเวลาของลูกค้า. กระนั้น ความเบื่อหน่ายก็ยังเป็นปัญหาใหญ่. แม้แต่ในช่วงพักร้อน คนที่รู้สึกเบื่อซึ่งไปพักร้อนจำเป็นต้องมีสิ่งกระตุ้นจากภายนอกให้พวกเขาคึกคักอยู่เสมอ. และนักวิ่งเหยาะที่เอาจริงเอาจังหลายคนรู้สึกขาดอะไรบางอย่างไปเมื่อไม่มีวิทยุพกพาติดไปด้วย.
ไม่มีข้อสงสัยใด ๆ ว่า สิ่งบันเทิง เช่น โทรทัศน์ สร้างความตื่นเต้นและขจัดความเหงา แต่นานแค่ไหน? สำหรับบางคนแล้วมันเป็นเหมือนยาเสพย์ติด. ในคราวต่อไป ก็จำเป็นต้องมีสิ่งกระตุ้นมากขึ้นและน่าตื่นเต้นยิ่งขึ้นไปอีก มิฉะนั้น ความรู้สึกหงอยเหงาที่เคยประสบมาแล้วก็จะเกิดขึ้นอีก. แทนที่จะเป็นทางแก้ ในที่สุดสิ่งบันเทิงเช่นนั้นอาจกลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่เสริมความเบื่อหน่าย.
ตัวทีวีเองไม่ก่อความเบื่อหน่าย แต่การดูโทรทัศน์มากเกินไปก็ไม่ขจัดความเบื่อหน่ายเช่นกัน. ซ้ำร้ายกว่านั้น ยิ่งคุณติดทีวีมากเท่าใด คุณก็ยิ่งหลุดไปจากความเป็นจริงมากเท่านั้น. ในกรณีของเด็ก ๆ สิ่งนี้เกิดขึ้นบ่อยเหลือเกิน. ในการสำรวจรายหนึ่ง เมื่อถามเด็ก ๆ วัยสี่ห้าขวบว่า เขาจะเลือกทิ้งทีวีหรือทิ้งคุณพ่อ หนึ่งในสามของเด็กเหล่านั้นตัดสินใจว่า ชีวิตคงจะพอทนได้มากกว่าโดยไม่มีคุณพ่อ!
การสนองความปรารถนาทุกอย่างก็หาใช่วิธีแก้ไม่. ขณะนี้คนหนุ่มสาวจำนวนมาก “ถูกเลี้ยงดูในยุคแห่งความสุขสบายทางวัตถุ พรั่งพร้อมด้วยของเล่นทุกอย่าง, ช่วงวันหยุดทุกรูปแบบ, แฟชั่นใหม่ ๆ ทุกแบบ” สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนหนึ่งในรัฐสภาเยอรมันจากพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยให้ข้อสังเกต. มีอะไรอีกไหมที่คนหนุ่มสาวจะหาความตื่นเต้นได้? อาจเป็นไปได้ว่าบิดามารดาใจดีซึ่งให้ของเล่นใหม่สุดทุกอย่างแก่ลูก ๆ โดยไม่อั้นนั้นแท้จริงแล้วกำลังปูทางให้พวกเขาโตเป็นผู้ใหญ่ที่เป็นโรคเบื่อเรื้อรัง.
มูลเหตุแห่งความเบื่อหน่าย
การหนีให้พ้นจากความเบื่อหน่ายเป็นเป้าหมายที่ขัดกับความเป็นจริงอย่างสิ้นเชิง. ชีวิตในโลกนี้ไม่อาจเป็นชีวิตที่มีแต่ความตื่นเต้นและความสุขอย่างต่อเนื่องได้เลย. การคาดหมายแบบขัดกับความเป็นจริงเช่นนั้นอาจเป็นเหตุให้เกิดความไม่พอใจโดยไม่จำเป็น. ขณะเดียวกัน มีปัจจัยอันแน่ชัดที่ซ้ำเติมเรื่องราวให้เลวร้ายหนักขึ้น.
ตัวอย่างเช่น ในทุกวันนี้ มีครอบครัวที่แตกแยกมากขึ้นเรื่อย ๆ. อาจเป็นไปได้ไหมว่าพ่อกับแม่ต่างก็หมกมุ่นอยู่กับความบันเทิงของตัวเองจนไม่ให้เวลาเพียงพอกับลูก ๆ อีกต่อไป? จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่พวกวัยรุ่นแสวงหาวิถีทางของเขาเองเพื่อทำให้ตนสนุกสนานในดิสโก, ร้านวีดิโอเกมส์, ศูนย์การค้า, และที่อื่น ๆ. ดังนั้น ในหลายครอบครัว การไปเที่ยวด้วยกันเป็นครอบครัวและกิจกรรมอื่น ๆ ที่ทำร่วมกันจึงกลายเป็นเรื่องของอดีต.
ยังมีคนอื่นอีกที่ไม่พอใจอย่างมากกับชีวิตอันจืดชืดของตนจนพวกเขาแยกตัวอยู่ต่างหากโดยไม่รู้ตัว ทำแต่สิ่งที่ตนพอใจ ไม่คำนึงถึงคนอื่น. และขณะที่เขาแยกตัวอยู่ต่างหากมากขึ้นเรื่อย ๆ เขาก็หวังลม ๆ แล้ง ๆ ว่าจะบรรลุสิ่งที่อาจเรียกได้ว่า การประสบผลสำเร็จในด้านศักยภาพของตนด้วยตนเอง. แต่ไม่ปรากฏว่าเป็นเช่นนั้นเลย. ที่จริงแล้ว ไม่มีใครอยู่ได้โดยลำพัง. เราจำเป็นต้องมีเพื่อนและการสื่อความ. ฉะนั้น จึงเลี่ยงไม่ได้ที่พวกนักปัจเจกนิยมซึ่งแยกตัวเองอยู่โดดเดี่ยวนั้นแพร่ความเบื่อหน่าย ทำให้ชีวิตตนเองและชีวิตคนที่อยู่รอบข้างหงอยเหงาโดยไม่ตั้งใจ.
อย่างไรก็ตาม ปัญหาดูค่อนข้างจะลึกกว่านั้น ดังที่ เบลซ ปาสกาล นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 17 ให้ข้อสังเกตโดยเจาะจงดังนี้: “ความเหนื่อยหน่าย [เกิด] จากก้นบึ้งของหัวใจในที่ซึ่งมันมีต้นตอมาแต่กำเนิดและ [ทำให้] จิตใจเต็มด้วยพิษของมัน.” ช่างเป็นความจริงสักเพียงไร!
ตราบที่หัวใจเต็มด้วยความสงสัยจุกจิกกวนใจไม่รู้จบในเรื่องความหมายแท้และเหตุผลของชีวิต ความเบื่อหน่ายก็คงต้องมีอยู่ต่อไป. ความเชื่อมั่นจากหัวใจว่าชีวิตส่วนตัวของคนเรามีความหมาย คือสิ่งจำเป็น. แต่ใครล่ะสามารถเผชิญชีวิตด้วยทัศนะในแง่ดีได้โดยไม่รู้เหตุผลที่เขามีชีวิตอยู่, โดยไม่มีเป้าหมาย, โดยไม่มีความหวังอันมีรากฐานมั่นคงสำหรับอนาคต?
ตรงนี้แหละที่คำถามสำคัญที่สุดเกิดขึ้น: อะไรคือความหมายของชีวิต? ฉันมาอยู่ที่นี่เพื่ออะไร? ฉันกำลังจะไปไหน? ดร. วิกเตอร์ ฟรังเกิล ให้ข้อสังเกตว่า “ความพยายามจะค้นหาความหมายในชีวิตคนเราเป็นแรงกระตุ้นหลักในมนุษย์.” แต่จะพบความหมายเช่นนั้นได้ที่ไหน? คำถามเหล่านี้จะได้รับคำตอบที่น่าพอใจจากไหน?
ลดความเบื่อหน่าย—อย่างไร?
หนังสือเก่าแก่ที่สุดในหนังสือทั้งปวงให้ความกระจ่างแก่คำถามสำคัญยิ่งดังกล่าว. ไฮน์ริก ไฮน์ กวีชาวเยอรมันในศตวรรษที่ 19 กล่าวว่า “ข้าพเจ้าได้ความกระจ่างเพียงเพราะอ่านหนังสือเล่มหนึ่งเท่านั้น.” หนังสือเล่มไหน? คัมภีร์ไบเบิล. ชาร์ลส์ ดิกเก็นส์ กล่าวเช่นกันว่า “นี่คือหนังสือดีที่สุดเท่าที่เคยมีและเท่าที่จะมีในโลก เพราะหนังสือนี้สอนบทเรียนดีที่สุดแก่คุณ ซึ่งเป็นบทเรียนที่มนุษย์ไม่ว่าคนใด . . . สามารถรับการชี้นำได้.”
ไม่มีข้อสงสัยในเรื่องนี้. คัมภีร์ไบเบิลเป็นเครื่องนำทางที่เชื่อถือได้เพื่อไปสู่ชีวิตที่มีความหมาย. ตั้งแต่ต้นจนจบ คัมภีร์ไบเบิลเผยชัดเจนว่า พระเจ้าทรงประทานการงานให้มนุษย์ทำ. มนุษย์ต้องดูแลแผ่นดินโลก, ทำให้โลกสวยงาม, ให้การดูแลชีวิตสัตว์ด้วยความรัก, และที่สำคัญยิ่งคือ ต้องสรรเสริญพระผู้สร้าง พระยะโฮวา. เป็นงานที่หนักเอาการ งานซึ่งจะไม่เปิดช่องให้แก่ความเบื่อหน่าย! คริสเตียนที่เอาการเอางานหลายล้านคนได้พบว่า การยืนอยู่ฝ่ายพระเจ้า โดยอุทิศตัวและแสดงความเลื่อมใสเต็มที่แด่พระองค์ เพิ่มความหมายแก่ชีวิตจริง ๆ และผลักดันความเบื่อหน่ายออกไป.
ความเบื่อหน่ายที่แพร่ระบาดอาจเป็นปรากฏการณ์สมัยปัจจุบัน—ภาษาโบราณส่วนใหญ่ดูเหมือนไม่มีคำสำหรับความเบื่อหน่าย. กระนั้น พร้อม ๆ กับแสดงให้เราทราบความหมายของชีวิต คัมภีร์ไบเบิลมีข้อแนะที่ใช้ได้ผลสำหรับการต่อสู้ความเบื่อหน่าย. ตัวอย่างเช่น คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า ‘คนที่แยกตัวอยู่ต่างหากก็ค้านสติปัญญาทั้งปวงที่ใช้ได้ผล.’ (สุภาษิต 18:1) พูดอีกอย่างก็คือ อย่าเก็บตัวอยู่คนเดียว!
โดยธรรมชาติมนุษย์ชอบสังคม. เขาต้องการสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ และเขามีความต้องการโดยกำเนิดที่จะมีเพื่อน. การระงับความปรารถนาตามปกติในการสมาคมกับคนอื่น ๆ—โดยเป็นคนโดดเดี่ยวเดียวดาย เป็นแค่ผู้เฝ้าดู—ไม่เป็นการฉลาด. เช่นเดียวกัน การจำกัดความสัมพันธ์ส่วนตัวกับคนใดคนหนึ่งแบบผิวเผินก็เท่ากับละเลยสติปัญญาที่ใช้ได้ผล.
แน่นอน ง่ายกว่ามากที่จะได้แต่ชมภาพยนตร์หรือจำกัดการสื่อความของเราไว้กับการป้อนข้อมูลใส่คอมพิวเตอร์. การปรับตัวเข้ากับคนอื่น ๆ ค่อนข้างเป็นเรื่องท้าทายทีเดียว. กระนั้น การมีบางเรื่องที่ควรค่าพอจะพูด และการแลกเปลี่ยนความคิดและร่วมความรู้สึกกับคนอื่น ๆ ย่อมมีผลตอบแทน และแทบไม่เหลือช่องไว้ให้ความเบื่อหน่าย.—กิจการ 20:35.
ซะโลโม ผู้สังเกตที่เฉียบแหลมเกี่ยวกับลักษณะของมนุษย์ ได้ให้ข้อเสนอแนะที่ทรงพลังดังนี้: “พอใจกับสิ่งที่เจ้าเห็นกับตาก็ดีกว่ายอมให้ความปรารถนามาครอบงำ.” (ท่านผู้ประกาศ 6:9, เดอะ นิว อิงลิช ไบเบิล) พูดอีกอย่างก็คือ จงได้ความอิ่มใจและประโยชน์มากที่สุดจากสภาพการณ์ปัจจุบันของคุณ. จดจ่อกับสิ่งที่คุณเห็นอยู่เดี๋ยวนี้. การทำเช่นนั้นดีกว่าการคิดอยากจะหนีจากความเป็นจริง หรือ ‘ยอมให้ความปรารถนามาครอบงำ’ ดังที่ซะโลโมกล่าวไว้.
วันเวลาที่มีการวางแผนอย่างดี, เป้าหมายที่แน่นอน, และความปรารถนาอย่างจริงจังที่จะเรียนรู้ต่อ ๆ ไปจะช่วยคุณให้เอาชนะความเบื่อหน่ายเช่นกัน. ใช่แล้ว แม้แต่ภายหลังเกษียณอายุ คนเรายังคงบรรลุผลสำเร็จได้ในหลายสิ่ง. พยานพระยะโฮวาคนหนึ่งในหมู่เกาะแบลิแอริก เป็นชายที่เกษียณอายุแล้ววัย 70 กว่า กำลังเรียนภาษาเยอรมันอย่างกระตือรือร้น. เป้าหมายนะหรือ? เขาต้องการจะพูดคุยเรื่องพระคำของพระเจ้ากับผู้มาเยือนจากเยอรมนีในวันหยุดที่รู้สึกเบื่อ. ความเบื่อหน่ายไม่เป็นปัญหาสำหรับเขาแน่นอน!
สุดท้าย จะว่าอย่างไรกับการทำอะไรสักอย่างด้วยมือคุณเอง? ทำไมไม่หาความชำนาญในงานฝีมือ, ในการวาดภาพ, หรือในการเล่นเครื่องดนตรีสักอย่างล่ะ? ความนับถือตัวเองจะเพิ่มขึ้นเมื่อรู้สึกว่าประสบความสำเร็จ. ทำไมไม่คิดจะพับแขนเสื้อขึ้นแล้วเสนอตัวช่วยทำงานบ้านล่ะ? ตามปกติแล้วไม่ว่าบ้านไหนมักจะมีสิ่งละอันพันละน้อยหลายอย่างที่จำเป็นต้องซ่อม. แทนที่จะมัวคิดถึงชีวิตอันน่าเบื่อของคุณ จงทำให้ตัวคุณเองอยู่พร้อม, ทำงานที่มีความหมายที่บ้าน, หาความชำนาญในงานฝีมือบางอย่าง. แล้วคุณจะได้บำเหน็จ.—สุภาษิต 22:29.
นอกจากนั้น คัมภีร์ไบเบิลแนะนำเราให้ทำงานด้วยสิ้นสุดจิตวิญญาณไม่ว่าในโครงการใดที่เราอาจลงมือทำ. (โกโลซาย 3:23) นั่นย่อมหมายถึงการหมกมุ่น, สนใจอย่างแท้จริงในสิ่งที่เราทำอยู่. พึงจำไว้ว่าคำภาษาอังกฤษ interest ที่แปลว่า “สนใจ” มาจากคำลาติน อินเทเรสเซ ซึ่งมีความหมายตามตัวอักษรว่า “อยู่ระหว่าง หรือท่ามกลาง” พูดอีกอย่างก็คือ หมกมุ่นอยู่ในงานที่กำลังทำ. นั่นย่อมทำให้งานนั้นน่าสนใจ.
คำแนะนำอันดีทั้งปวงนี้ซึ่งจารึกไว้หลายปีมาแล้ว ถ้าทำตาม ย่อมก่อผลที่แตกต่างมากทีเดียวแก่ผู้คนที่ทนทุกข์จากความเศร้าในช่วงที่มีเวลาว่าง. ฉะนั้น จงหมกมุ่นในสิ่งที่คุณทำ. ติดต่อเกี่ยวข้องกับคนอื่น ๆ. ทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อคนอื่น. เรียนรู้ต่อ ๆ ไป. สื่อความอย่างเสรีกับคนอื่น ๆ. ค้นพบจุดมุ่งหมายแท้ของชีวิต. โดยทำสิ่งทั้งปวงนี้ คุณก็ไม่มีแนวโน้มจะทอดถอนใจบอกว่า ‘ทำไมชีวิตถึงน่าเบื่ออย่างนี้นะ?’
[กรอบหน้า 7]
วิธีเอาชนะความเบื่อหน่าย
1. อย่ายอมให้ความคิดริเริ่มของตนเองถูกยับยั้งโดยความบันเทิงสำเร็จรูป. จงรู้จักเลือกเกี่ยวกับสิ่งที่ทำให้เพลิดเพลินและความบันเทิง.
2. ติดต่อสัมพันธ์กับผู้คน.
3. จงเรียนรู้ต่อ ๆ ไป. มีเป้าหมายส่วนตัว.
4. มีความคิดสร้างสรรค์. ทำอะไร ๆ ด้วยมือตนเอง.
5. จงมีจุดมุ่งหมายในชีวิต. จงคิดคำนึงถึงพระเจ้า.