ทัศนะของคัมภีร์ไบเบิล
การเล่นชู้จะให้อภัยหรือไม่ให้อภัย?
“ถ้าท่านมีเหตุกับผู้หนึ่งผู้ใดจงยกโทษ [“อภัย”, ล.ม.] ให้ผู้นั้นเสีย. เพื่อพระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์จะโปรดยกความผิดของท่านด้วย.” (มาระโก 11:25) ถ้อยคำเหล่านั้นของพระเยซูก่อให้เกิดคำถามที่ท้าทายเมื่อสายสมรสสั่นคลอนเนื่องจากการเล่นชู้ดังนี้: คริสเตียนฝ่ายที่บริสุทธิ์ต้องให้อภัยคู่ของเธอและรักษาสายสมรสให้คงอยู่ต่อไปไหม?a หากเธอตัดสินใจหย่าร้าง เธอทำให้ฐานะของเธอเองกับพระเจ้าตกอยู่ในอันตรายไหม? ให้เรามาดูว่าคัมภีร์ไบเบิลช่วยตอบคำถามเหล่านี้อย่างไร.
คุณต้องให้อภัยเสมอ ๆ ไหม?
คำตรัสของพระเยซูที่ว่า ‘ถ้าท่านมีเหตุกับผู้หนึ่งผู้ใด จงอภัยให้ผู้นั้น’ หมายความว่าในทุกกรณี—รวมทั้งเมื่อคู่สมรสเล่นชู้—คริสเตียนมีพันธะ ต้องให้อภัยกระนั้นไหม? จำต้องเข้าใจคำตรัสของพระเยซูโดยการพิจารณาความเห็นอื่น ๆ ซึ่งพระองค์ทรงตรัสเกี่ยวกับการให้อภัย.
ยกตัวอย่าง เราเรียนรู้หลักการสำคัญในเรื่องการให้อภัยจากคำตรัสของพระเยซูที่บันทึกไว้ในลูกา 17:3, 4 ดังนี้: “ถ้าพี่น้องผิดต่อท่าน, จงต่อว่าเขา และถ้าเขากลับใจแล้ว, จงยกโทษให้เขา. แม้เขาจะผิดต่อท่านวันละเจ็ดหน, และจะกลับมาหาท่านทั้งเจ็ดหนนั้นแล้วว่า, ‘ฉันกลับใจแล้ว.’ จงยกโทษให้เขาเถิด.” แน่นอนในกรณีที่เป็นบาปร้ายแรง ฝ่ายเสียหายได้รับการสนับสนุนให้พยายามอภัยหากมีการกลับใจอย่างแท้จริง. พระยะโฮวาเองก็ทรงมองดูเรื่องราวต่าง ๆ ในทำนองนี้ เพื่อจะได้รับการอภัยจากพระองค์ เราต้องกลับใจอย่างแท้จริง.—ลูกา 3:3; กิจการ 2:38; 8:22.
อย่างไรก็ดี เรื่องนี้แสดงด้วยว่าหากผู้เล่นชู้ไม่ กลับใจ ปฏิเสธไม่รับผิดชอบบาปของตน ย่อมเป็นที่เข้าใจได้หากฝ่ายที่บริสุทธิ์เลือกที่จะไม่ให้อภัย.—เทียบกับ 1 โยฮัน 1:8, 9.
การอภัย—จะว่าอย่างไรกับผลพวง?
แต่จะว่าอย่างไรหากผู้เล่นชู้กลับใจ? เมื่อมีการกลับใจ ย่อมมีมูลสำหรับการอภัย. แต่การให้อภัยหมายความไหมว่าผู้กระทำผิดได้รับการยกเว้นจากผลพวงใด ๆ แห่งแนวทางผิดของเขา? ลองพิจารณาบางตัวอย่างจากการให้อภัยของพระยะโฮวา.
เมื่อชาวยิศราเอลก่อจลาจลขึ้นหลังจากฟังผู้สอดแนมสิบคนซึ่งเสนอรายงานในแง่ลบเกี่ยวกับแผ่นดินคะนาอัน โมเซได้อ้อนวอนพระยะโฮวาว่า “ขอพระองค์ได้ทรงโปรดยกโทษการบาปของคนเหล่านี้.” พระยะโฮวาตรัสตอบว่า “เราได้ยกโทษนั้นตามคำของเจ้า.” นี้หมายความว่าผู้กระทำผิดเหล่านั้นได้รับการยกเว้นจากผลพวงใด ๆ แห่งการกระทำของพวกเขาไหม? พระยะโฮวาตรัสต่อไปว่า “คนทั้งหลายนั้นที่ . . . ไม่ฟังคำของเรา. แท้จริงเขาจะไม่ได้เห็นแผ่นดินที่เราสัญญาไว้กับปู่ย่าตายายของเขา.” (อาฤธโม 14:19-23) พระยะโฮวาทรงพิสูจน์ว่าคำตรัสของพระองค์เป็นความจริง ผู้ใหญ่รุ่นนั้น—ยกเว้นยะโฮซูอะและคาเล็บ—ไม่ได้เห็นแผ่นดินแห่งคำสัญญา.—อาฤธโม 26:64, 65.
ทำนองเดียวกัน เมื่อผู้พยากรณ์นาธานตำหนิกษัตริย์ดาวิดที่ทำบาปกับนางบัธเซบะ ดาวิดผู้กลับใจยอมรับว่า “เราทำผิดเฉพาะพระยะโฮวาแล้ว.” นาธานจึงกล่าวแก่ดาวิดว่า “พระยะโฮวาทรงโปรดยกโทษแล้ว.” (2 ซามูเอล 12:13) กระนั้น แม้ว่าพระยะโฮวาทรงให้อภัยดาวิด แต่ในช่วงชีวิตที่เหลือของท่าน ดาวิดได้ทนทุกข์เนื่องจากผลแห่งบาปของท่าน.—2 ซามูเอล 12:9-14; ดู 2 ซามูเอล บท 24 ด้วย.
ตัวอย่างเหล่านี้ในเรื่องการให้อภัยจากพระเจ้าเน้นบทเรียนที่สำคัญ: เราไม่อาจทำบาปแล้วยังลอยนวลอยู่ได้. (ฆะลาเตีย 6:7, 8) ผู้กระทำบาปที่กลับใจ แม้เขาจะได้รับการอภัย ก็ใช่ว่าจะรอดพ้นจากผลแห่งแนวทางผิดของตนได้เสมอไป. นั่นหมายความไหมว่าฝ่ายที่บริสุทธิ์อาจจะให้อภัยผู้ที่เล่นชู้—อย่างน้อยก็ในความหมายที่ว่าไม่เก็บความขุ่นเคืองอันขมขื่นไว้—และกระนั้น ยังคงตัดสินใจที่จะหย่าขาดจากเขา?
การอภัยและการหย่า
ระหว่างงานรับใช้ของพระองค์ พระเยซูทรงตรัสถึงการหย่าไว้สามโอกาสด้วยกัน. (มัดธาย 5:32; 19:3-9; ลูกา 16:18) น่าสนใจ ไม่มีแม้แต่ครั้งเดียวในการสนทนาเหล่านั้นที่พระเยซูเอ่ยถึงการให้อภัย. ยกตัวอย่าง ดังที่พบในมัดธาย 19:9 พระองค์ตรัสว่า “ผู้ใดหย่าภรรยาของตนเพราะเหตุต่าง ๆ เว้นแต่ผิดกับชายอื่น [“ผิดประเวณี”, ล.ม.], แล้วไปมีภรรยาใหม่, ก็ผิดประเวณี [“เล่นชู้”, ล.ม.].” โดยการตรัสว่า ‘เว้นแต่ผิดประเวณี’ พระเยซูทรงยอมรับว่าการผิดศีลธรรมทางเพศจะให้สิทธิแก่ฝ่ายที่บริสุทธิ์ หรือให้ “พื้นฐาน” ตามหลักพระคัมภีร์สำหรับการหย่า. กระนั้นพระเยซูมิได้ตรัสว่าผู้บริสุทธิ์ควร หย่า. อย่างไรก็ตาม พระองค์ทรงแสดงนัยอย่างชัดเจนว่าเธอสามารถ ทำเช่นนั้นได้.
การสมรสเป็นสิ่งผูกพันสองคนเข้าด้วยกัน. (โรม 7:2) แต่เมื่อฝ่ายหนึ่งไม่ซื่อสัตย์ อาจทำให้พันธนะนั้นขาดสะบั้นได้. ในกรณีเช่นนั้น ฝ่ายที่บริสุทธิ์ต้องเผชิญการตัดสินใจสอง ประการด้วยกัน. ประการแรก เธอควรให้อภัยไหม? ดังที่เราได้ทราบแล้ว ปัจจัยสำคัญในเรื่องนี้คือผู้เล่นชู้กลับใจอย่างแท้จริงหรือไม่. เมื่อมีการกลับใจ ฝ่ายที่บริสุทธิ์อาจให้อภัยในเวลาต่อมา—อย่างน้อยก็ในความหมายที่ว่าไม่เก็บความขุ่นเคืองไว้.
การตัดสินใจประการที่สองคือ เธอควรลงมือหย่าไหม? เหตุใดจึงเกิดคำถามนี้ในเมื่อเธอได้ให้อภัยแก่เขาแล้ว?b เอาละ จะว่าอย่างไรหากเธอมีความกังวลอย่างสมเหตุสมผลเกี่ยวกับความปลอดภัยของตนเองและลูก ๆ ของเธอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าสามีของเธอเป็นคนทำทารุณมาก่อนในอดีต? หรือจะว่าอย่างไรหากมีความหวาดกลัวว่าจะติดโรคติดต่อทางเพศ? และจะว่าอย่างไรหากในส่วนลึกแล้วเธอรู้สึกว่าการทรยศของเขา ทำให้เธอไม่อาจไว้ใจเขาได้อีกต่อไปในสายสัมพันธ์ฉันสามีภรรยา? ภายใต้สถานการณ์เช่นนั้นนับว่าเป็นไปได้ทีเดียวที่ฝ่ายที่บริสุทธิ์อาจให้อภัยคู่ที่ทำผิดของเธอ (ในความหมายของการไม่เก็บความขุ่นเคืองไว้) และกระนั้นยังคงตัดสินใจหย่ากับเขาเพราะเธอไม่ปรารถนาจะใช้ชีวิตร่วมกับเขาอีก. การไม่เก็บความขุ่นเคืองอาจช่วยให้เธอดำเนินชีวิตต่อไปได้. สิ่งนี้อาจช่วยรักษาการข้องเกี่ยวใด ๆ ที่จำเป็นในอนาคตกับผู้ที่นอกใจให้เป็นไปด้วยอัธยาศัยที่ดีขึ้น.
การจะหย่ากับคู่ที่ไม่ซื่อสัตย์หรือไม่นั้นเป็นการตัดสินใจส่วนตัว เป็นการตัดสินใจซึ่งฝ่ายที่บริสุทธิ์ควรทำภายหลังการชั่งดูปัจจัยทั้งสิ้นที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบพร้อมด้วยการอธิษฐาน. (บทเพลงสรรเสริญ 55:22) ผู้อื่นไม่มีสิทธิที่จะพยายามบงการหรือกดดันฝ่ายที่บริสุทธิ์ให้ตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง. (เทียบกับฆะลาเตีย 6:5.) จำไว้ว่าพระเยซูไม่ได้ตรัสถึงสิ่งที่ฝ่ายที่บริสุทธิ์ควรจะทำ. ดังนั้น จึงเป็นที่ชัดเจนว่า พระยะโฮวาไม่ได้ทรงขัดเคืองพระทัยในคนเหล่านั้นที่เลือกการหย่าซึ่งอยู่บนพื้นฐานอันถูกต้องตามหลักพระคัมภีร์.
[เชิงอรรถ]
a แม้เราจะพาดพิงถึงฝ่ายที่บริสุทธิ์ ณ ที่นี้ด้วยคำว่า “เธอ” แต่หลักการต่าง ๆ ที่มีการพิจารณาก็ใช้ได้เช่นกันกับคริสเตียนฝ่ายชายที่บริสุทธิ์.
b โดยการกลับไปมีความสัมพันธ์ทางเพศอีก ฝ่ายที่บริสุทธิ์กำลังแสดงว่าเธอได้ตัดสินใจคืนดีกับคู่สมรสที่ได้ทำผิด. ด้วยเหตุนั้นเธอทำให้พื้นฐานตามหลักพระคัมภีร์ในเรื่องการหย่าเป็นโมฆะ.
[ที่มาของภาพหน้า 10]
Life