มอสโก—นครซึ่งอยู่รอดมาได้
การฉลองครบรอบ 850 ปี
“เสด็จมาเยี่ยมหม่อมฉันที่มอสโกบ้างซิ.” คำเชิญนี้ของยูริ โดลโกรูกิ ในปี 1147 โดยเอ่ยเชิญพระสหายคนหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าผู้ครองนครเช่นกัน ดูเหมือนเป็นครั้งแรกที่มีการกล่าวถึงมอสโกในบันทึกทางประวัติศาสตร์. วันนั้น—850 ปีล่วงมาแล้ว—ได้รับการยอมรับว่าเป็นวันวางรากกรุงมอสโก เมืองหลวงของรัสเซีย แม้ว่าหลักฐานทางโบราณคดีจะแสดงให้เห็นว่าการตั้งถิ่นฐานเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นนานแล้ว.
ในการเตรียมงานฉลองครบรอบ 850 ปีของมอสโกนั้น อาคารสถานที่นับร้อย ๆ แห่งของกรุงนี้ต่างก็ได้รับการตกแต่งและบูรณะ—สนามกีฬา, โรงมหรสพ, โบสถ์, สถานีรถไฟ, สวนสาธารณะ, และสถานที่ราชการต่าง ๆ. เป็นการแปรสภาพที่น่าพิศวงอะไรเช่นนี้! ชาวมอสโกคนหนึ่งสังเกตว่า “ตึกรามทั้งบล็อกเปลี่ยนไปจนจำไม่ได้.”
ระหว่างการเยี่ยมกรุงมอสโกเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว เราได้เห็นกลุ่มคนงานเต็มไปหมดกำลังทำงานในโครงการบูรณะซ่อมแซมอยู่ที่ใจกลางกรุงใกล้ ๆ จัตุรัสแดง. งานดำเนินไปตลอด 24 ชั่วโมง. และทุกหนทุกแห่ง มีสิ่งเตือนใจเรื่องการครบรอบ 850 ปี—ตามหน้าต่างห้างร้าน, รถไฟใต้ดิน, ตามเสาไฟ, ตามสินค้าต่าง ๆ—กระทั่งการแสดงละครสัตว์ในมอสโกที่เราเข้าชมก็ยังรวมเรื่องนี้เข้าไว้ด้วย.
ในเดือนกันยายน เมื่ออาคันตุกะนับพันนับหมื่นจากทั่วทุกมุมโลกมาร่วมฉลองครบรอบ 850 ปี สภาพของมอสโกที่ปรับปรุงตกแต่งแล้วนั้นดูน่าทึ่ง. ใช่แล้ว ทั้ง ๆ ที่ประสบช่วงแห่งความยากลำบากอันร้ายกาจตลอดประวัติศาสตร์ แต่มอสโกก็ยังอยู่รอดและรุ่งเรืองเฟื่องฟู.
ประจักษ์ชัดว่า ผู้คงแก่เรียนด้านคัมภีร์ไบเบิลคนหนึ่งคิดถึงช่วงดังกล่าวช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์ของมอสโก เมื่อเขาพูดในตอนต้น ๆ ของศตวรรษที่แล้ว เรื่อง “การสู้รบ” ซึ่งเกี่ยวโยงกับ “อาร์มาเก็ดดอน” ในคัมภีร์ไบเบิล. (วิวรณ์ 16:14, 16, ฉบับแปลคิง เจมส์) เขาให้ข้อสังเกตว่า บางคนคิดกันว่าสมรภูมิของอาร์มาเก็ดดอนคือมอสโก แม้ว่าตัวเขาเองไม่ได้สนับสนุนทัศนะนี้.a
ทำไมบางคนจึงอ้างเช่นนั้น? เอาละ ให้เราพิจารณาประวัติศาสตร์ของมอสโกที่น่าดึงดูดใจ และบ่อยครั้งน่าเศร้าสลด.
อยู่รอดในช่วงต้น ๆ
มอสโกตั้งอยู่ในทำเลที่เหมาะใกล้แม่น้ำสายหลัก ๆ (แม่น้ำออกา, วอลกา, ดอน, และดนีเปอร์) รวมทั้งเส้นทางเดินบกสำคัญ ๆ ด้วย. จดหมายเหตุประจำปี 1156 รายงานว่า โดลโกรูกิเจ้าผู้ครองนคร “ได้วางรากหลักเมืองให้กับมอสโก” ซึ่งหมายความอย่างชัดเจนว่า พระองค์ได้สร้างป้อมปราการแรกที่เป็นกำแพงดินโดยมีส่วนบนเป็นกำแพงไม้. กำแพงเครมลินหรือป้อมปราการนี้ ตั้งอยู่ที่ผืนดินรูปสามเหลี่ยมระหว่างแม่น้ำมอสค์วาและเนกลีนนายา ซึ่งเป็นแควเล็ก ๆ.
น่าเศร้า เพียง 21 ปีหลังจากนั้น เจ้าผู้ครองนครรีอาซานที่อยู่ใกล้ ๆ “ยาตราทัพเข้ามอสโกและเผาเมืองจนสิ้นซาก.” มอสโกถูกสร้างขึ้นใหม่ แต่ในเดือนธันวาคมปี 1237 พวกมองโกลโดยการนำของบาตูข่าน ราชนัดดาของเจงกิสข่านผู้เรืองนาม ก็บุกยึดมอสโกและเผาราบคาบอีกครั้ง. พวกมองโกลยังปล้นสะดมกรุงนี้ในปี 1293 อีกด้วย.
คุณรู้สึกทึ่งไหมที่มอสโกอยู่รอดมาได้หลังจากถูกโจมตีจนราพณาสูรในแต่ละครั้ง? กรุงนี้ยังผุดโผล่ขึ้นมาฐานะเป็นศูนย์กลางทางศาสนาของรัสเซียในปี 1326 ด้วย เมื่ออีวาน กาลิตะ เจ้าผู้ครองนครมอสโกชวนเชิญประมุขของคริสตจักรรัสเซียออร์โทด็อกซ์ให้อาศัยอยู่ในมอสโก.
ในที่สุด พอถึงรัชกาลของอีวานมหาราช (ตั้งแต่ปี 1462 ถึง 1505) มอสโกได้รับเอกราชจากพวกมองโกล. ในปี 1453 กรุงคอนสแตนติโนเปิล (ปัจจุบันคือ อิสตันบูล) แตกพ่ายแก่พวกออตโตมัน เติร์ก ซึ่งยังผลให้ผู้ปกครองรัสเซียฐานะกษัตริย์ออร์โทด็อกซ์เป็นพวกเดียวที่ยังคงเหลืออยู่ในโลก. ผลก็คือ มอสโกได้มาเป็นที่รู้จักกันว่า “โรมที่สาม” และผู้ปกครองรัสเซียก็ถูกขนานนามว่า ซาร์ หรือ ซีซาร์.
ครั้นถึงปลายรัชกาลของอีวานมหาราช—เมื่อคริสโตเฟอร์ โคลัมบัสแล่นเรือไปอเมริกา—มีการขยายเครมลินออกไป และมีการสร้างกำแพงอิฐกับหอต่าง ๆ ซึ่งอยู่รอดมาจนถึงปัจจุบันโดยแทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง. กำแพงทอดยาวกว่าสองกิโลเมตร หนา 6 เมตร สูง 18 เมตร และกำแพงนี้ล้อมรอบพระราชวังเครมลินซึ่งมีเนื้อที่เกือบ 175 ไร่.
คุณอาจจะแปลกใจที่พอถึงกลางทศวรรษปี 1500 มีการกล่าวกันว่ามอสโกใหญ่กว่าลอนดอนเสียอีก. แต่แล้วพิบัติภัยก็กระหน่ำในวันที่ 21 มิถุนายน 1547 เมื่อกรุงนี้ถูกเพลิงผลาญวอดวาย ซึ่งยังผลให้ประชากรแทบทั้งเมืองไร้ที่อยู่อาศัย. อีกครั้งหนึ่ง ชาวมอสโกผู้มีความสามารถก็สร้างขึ้นมาใหม่. โบสถ์ใหญ่แห่งเซนต์ เบซิลก็ปรากฏให้เห็นในครั้งนี้ด้วย ซึ่งถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะทางการทหารที่มีเหนือพวกตาตาร์หรือมองโกล ในกะแซน. แม้ในปัจจุบัน ผลงานชิ้นเอกด้านสถาปัตยกรรมที่อยู่ ณ จัตุรัสแดงนี้ (สร้างเสร็จเมื่อปี 1561) ก็ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นสัญลักษณ์ของมอสโก.
ราว ๆ สิบปีต่อมาคือในปี 1571 พวกมองโกลแถบคาบสมุทรไครเมียได้บุกยึดมอสโก ก่อความพินาศย่อยยับอย่างไม่น่าเชื่อ. พวกเขาเผาแทบทุกสิ่งนอกจากพระราชวังเครมลิน. บันทึกต่าง ๆ เผยว่า ในจำนวนประชากร 200,000 คนของกรุงนี้ เหลือรอดเพียง 30,000 คนเท่านั้น. บรรณาธิการหนังสือไทม์-ไลฟ์ รายงานไว้ในหนังสือความรุ่งเรืองของรัสเซีย (ภาษาอังกฤษ) ดังนี้: “แม่น้ำมอสโกเต็มแน่นไปด้วยซากศพจนสายน้ำเปลี่ยนทิศทาง และน้ำก็สีแดงก่ำไหลเป็นทางยาวหลายกิโลเมตรไปตามกระแสน้ำ.”
อีกครั้งหนึ่ง มอสโกต้องได้รับการบูรณะ. และก็เป็นเช่นนั้น! ต่อมา กรุงนี้ขยายจากเครมลินออกไปรอบทิศ พร้อมด้วยกำแพงเป็นชั้น ๆ ล้อมรอบส่วนต่าง ๆ ซึ่งมีชื่อเรียกว่าคีไต โกร็อด, กรุงขาว, และกรุงไม้. ผังเมืองของมอสโกที่มีลักษณะเป็นวงคล้าย ๆ กันยังคงมีอยู่ในปัจจุบันพร้อมด้วยถนนวงแหวนแทนกำแพงล้อมรอบพระราชวังเครมลิน.
ระหว่างยุคนี้ ชาวมอสโกเดือดร้อนอย่างหนักจากการปกครองแบบทรราชของอีวานจอมโหด ราชนัดดาของอีวานมหาราช. ต่อมาในปี 1598 ฟีโอดอร์ ซึ่งเป็นราชบุตรและผู้สืบตำแหน่งจากอีวานจอมโหดสิ้นพระชนม์โดยปราศจากผู้สืบบัลลังก์. “ยุคเข็ญ” ก็เริ่มขึ้น ซึ่งหนังสือความรุ่งเรืองของรัสเซียเรียกว่า “ยุคที่ยุ่งเหยิงและสับสนที่สุดในประวัติศาสตร์รัสเซียทั้งหมด.” ยุคนี้ดำเนินอยู่ราว ๆ 15 ปี.
ทนทานต่อวิกฤตการณ์ที่ไม่มีใดเหมือน
ไม่นานหลังจาก บอริส กอดูนอฟ ซึ่งเป็นพระเชษฐภรรดาของฟีโอดอร์ ขึ้นครองบัลลังก์ มอสโกก็ประสบความแห้งแล้งและความอดอยากอย่างหนัก. ช่วงเวลาแค่เจ็ดเดือนในปี 1602 มีรายงานว่า 50,000 คนเสียชีวิต. รวมแล้วมีมากกว่า 120,000 คนเสียชีวิตในกรุงนี้ระหว่างปี 1601 ถึง 1603.
ที่ตามมาติด ๆ หลังจากมหันตภัยนี้ก็คือ บุรุษผู้หนึ่งซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าชายดมิตรี ราชบุตรของอีวานจอมโหด ได้บุกรัสเซียด้วยความช่วยเหลือของทหารโปแลนด์. ที่จริง หลักฐานบ่งชี้ว่า ดมิตรีตัวจริงถูกปลงพระชนม์แล้วในปี 1591. เมื่อกอดูนอฟสิ้นพระชนม์อย่างคาดไม่ถึงในปี 1605 ดมิตรีตัวปลอมตามที่เรียกกันก็เสด็จเข้ามอสโกและได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระเจ้าซาร์. พอปกครองไปได้เพียง 13 เดือน พระองค์ก็ถูกปลงพระชนม์โดยศัตรู.
ผู้แอบอ้างอื่น ๆ เพื่อช่วงชิงบัลลังก์ก็ติดตามมา รวมทั้งดมิตรีตัวปลอมคนที่สอง ซึ่งก็ได้รับการช่วยเหลือจากโปแลนด์เช่นกัน. แผนอุบาทว์, สงครามกลางเมือง, และการสังหาร กลายเป็นเรื่องที่มีแพร่หลายดาษดื่น. ปี 1609 กษัตริย์ซิกิสมุนด์ วาซาที่สามแห่งโปแลนด์บุกรัสเซีย และต่อมามีการเซ็นสนธิสัญญายอมรับราชบุตรของพระองค์คือ วลาดิสลาฟ วาซาที่สี่เป็นซาร์แห่งรัสเซีย. เมื่อโปแลนด์ยาตราเข้ามอสโกในปี 1610 กรุงนี้ก็ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของโปแลนด์. แต่ในไม่ช้าชาวรัสเซียก็รวบรวมพลต่อต้านพวกโปแลนด์และขับไล่ไปจากมอสโกเมื่อปลายปี 1612.
ช่วงแห่งความยุ่งยากมหันต์เหล่านี้ทำให้มอสโกกลายเป็น ‘แผ่นดินรกร้างที่เต็มไปด้วยต้นหญ้าต้นหนามทอดยาวหลายกิโลเมตรในที่ซึ่งแต่ก่อนเคยเป็นถนนหนทาง.’ กำแพงของกรุงไม้ถูกเผาเรียบ และพระราชวังเครมลินก็ชำรุดทรุด. ผู้แทนด้านการทูตชาวสวีเดนคนหนึ่งซึ่งมาเยือนลงความเห็นว่า “นั่นคืออวสานที่น่าสยดสยองและยับเยินของกรุงมอสโกอันมีชื่อเสียง.” แต่เขาเป็นฝ่ายผิด.
ในปี 1613 มีการเลือกซาร์แห่งรัสเซียจากตระกูลโรมานอฟ และซาร์ราชวงศ์ใหม่จากตระกูลโรมานอฟนี้ยืนยงอยู่นานกว่า 300 ปี. ถึงแม้ว่า มิคาอิล ซาร์องค์ใหม่ที่ทรงพระเยาว์ ซึ่งตามรายงานแล้ว “ไม่มีที่ที่จะประทับเลย” เนื่องจากความย่อยยับนี้ แต่มอสโกได้รับการบูรณะใหม่ และกลับกลายเป็นนครใหญ่ของโลกอีกครั้ง.
ในปี 1712 พระเจ้าซาร์ปีเตอร์มหาราช ราชนัดดาของมิคาอิลได้ย้ายเมืองหลวงของรัสเซียจากมอสโกไปที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ซึ่งพระองค์ได้สร้างขึ้นริมฝั่งทะเลบอลติก. แต่มอสโกยังคงเป็น “หัวใจ” อันเป็นที่รักยิ่งของรัสเซีย. ที่จริง มีรายงานว่า จักรพรรดินะโปเลียน โบนาปาร์ต แห่งฝรั่งเศสซึ่งพยายามจะพิชิตรัสเซียพูดดังนี้: ‘ถ้าเรายึดปีเตอร์สเบิร์ก เราจะได้ส่วนหัวของรัสเซีย แต่ถ้าเรายึดมอสโก เราจะทำลายหัวใจ.’
นะโปเลียนบุกมอสโกจริง ๆ แต่ตามบันทึกในประวัติศาสตร์ หัวใจของเขาเองนั่นแหละที่แหลกสลาย ไม่ใช่มอสโก. สิ่งที่ได้เกิดขึ้นมาในมอสโกนั้นน่าสยดสยองยิ่งนักจนเป็นสาเหตุเด่นชัดที่ทำให้บางคนเปรียบเทียบกรุงนี้กับอาร์มาเก็ดดอน.
มอสโกฟื้นขึ้นมาจากเถ้าถ่าน
ในฤดูใบไม้ผลิปี 1812 นะโปเลียน บุกรัสเซียด้วยกำลังทหารที่เพิ่มขึ้นถึงประมาณ 600,000 คน. รัสเซียใช้กลยุทธ์ “ทำลายให้เรียบ” โดยถอนกำลังหนีและไม่เหลืออะไรไว้ให้ข้าศึกได้ใช้ประโยชน์เลย. ในที่สุด พวกเขาก็ตัดสินใจทิ้งมอสโกที่ร้างเปล่าให้แก่ฝรั่งเศส!
นักวิชาการหลายคนบอกว่า ชาวมอสโกเองจุดไฟเผาเมืองแทนที่จะปล่อยให้ทหารฝรั่งเศสเข้ามาเสวยสุข. หนังสือประวัติศาสตร์รัสเซียเล่มหนึ่งรายงานว่า “ลมที่แรงดังพายุเปลี่ยนเพลิงที่ลุกไหม้เป็นประหนึ่งนรกจริง ๆ.” ทหารฝรั่งเศสตกอยู่ในสภาพที่ปราศจากอาหารสำหรับคนหรือสัตว์ ดังหนังสือประวัติศาสตร์เล่มนี้อธิบายว่า “ไม่มีแป้งสักถุงเดียว หรือหญ้าเลี้ยงสัตว์สักเกวียนที่ชาวรัสเซียเหลือไว้ให้กองทัพฝรั่งเศส.” โดยไม่มีทางเลือก ทหารฝรั่งเศสจึงทิ้งมอสโกในเวลาไม่ถึงหกสัปดาห์หลังจากยาตราทัพเข้าเมือง และสูญเสียทหารเกือบทั้งกองทัพในการถอนกำลังกลับ.
ความกล้าหาญของชาวมอสโกทำให้กรุงอันเลื่องชื่อของตนรอดพ้นข้าศึกมาได้ และด้วยความเด็ดเดี่ยวแน่วแน่พวกเขาก็สร้างขึ้นใหม่จากเถ้าถ่าน. อะเลคซันเดอร์ ปุชกิน ซึ่งมักจะได้รับการมองว่าเป็นกวีผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของรัสเซีย มีอายุ 13 ปีตอนที่นะโปเลียนบุกมอสโก บ้านเกิดที่ปุชกินรัก. เขาเขียนเกี่ยวกับมอสโกดังนี้: “ชาวรัสเซียผู้ภักดีต่อมาตุภูมิแต่ละคนรู้สึกท่วมท้นซาบซึ้งอะไรเช่นนี้เมื่อนึกถึงมอสโก! คำนั้นส่งเสียงก้องกังวานดื่มด่ำสักเพียงไร!”
อยู่รอดและรุ่งเรือง
ไม่ว่าจะโดยความทรงจำหรือโดยภาพยนตร์ หลายคนในปัจจุบันยังจำได้ถึงยุคอันลำบากแสนสาหัสที่มอสโกประสบระหว่างการปฏิวัติรัสเซียซึ่งเริ่มในปี 1917. กระนั้น กรุงมอสโกไม่เพียงรอดมาได้—แต่ยังรุ่งเรืองอีกด้วย. มีการสร้างรถไฟใต้ดิน อีกทั้งคลองมอสโก-วอลกา เพื่อส่งน้ำเข้าเมือง. การไม่รู้หนังสือส่วนใหญ่ถูกขจัดออกไป และพอถึงปลายทศวรรษปี 1930 มอสโกก็มีห้องสมุดมากกว่าหนึ่งพันแห่ง.
ในปี 1937 อดีตนายกเทศมนตรีของแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ เขียนไว้ในหนังสือมอสโกที่กำลังพัฒนา (ภาษาอังกฤษ) ดังนี้: “ถ้าไม่เกิดมหาสงคราม . . . ข้าพเจ้าเชื่อว่าเมื่อแผนพัฒนาประเทศสิบปีสิ้นสุด มอสโกจะก้าวหน้าถึงจุดที่ควรเป็น ในเรื่องสุขอนามัย, ความสะดวกสบาย, และสิ่งอำนวยความรื่นรมย์ของชีวิตสำหรับพลเมืองทุกคน, และจะเป็นมหานครที่มีการวางผังดีที่สุดเท่าที่โลกเคยรู้จัก.”
แต่ในเดือนมิถุนายนปี 1941 เยอรมนีก็แสดงแสนยานุภาพโจมตีรัสเซียอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย ซึ่งรัสเซียเป็นพันธมิตรที่เยอรมนีเคยลงนามด้วยในสนธิสัญญาไม่รุกรานกันไม่ถึงสองปีก่อนหน้านี้. พอถึงเดือนตุลาคม ทหารเยอรมันก็เข้าประชิดพระราชวังเครมลินในระยะ 40 กิโลเมตร. ความล่มจมของมอสโกดูเหมือนไม่มีทางเลี่ยง. เกือบครึ่งของประชากร 4.5 ล้านคนในมอสโกถูกโยกย้าย. โรงงานราว ๆ 500 โรงเก็บเครื่องจักรของตนและส่งไปยังที่ใหม่ในรัสเซียตะวันออก. แต่มอสโกกลับไม่ล่ม. มีการขุดสนามเพลาะเพื่อเป็นแนวป้องกันตัวเมือง และทหารเยอรมันถูกตีโต้ถอยร่นกลับไป.
มอสโกประสบความเสียหายอย่างหนักเช่นเดียวกับเมืองอื่น ๆ อีกหลายเมืองของรัสเซีย. นักข่าวชาวอเมริกันคนหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ที่นั่นในทศวรรษปี 1930 และ 1940 เขียนว่า “มอสโกประสบอะไร ๆ มากมายเหลือเกินภายในศตวรรษเดียว จนผมรู้สึกอัศจรรย์ใจที่กรุงนี้อยู่รอดมาได้.” จริงทีเดียว เป็นเรื่องน่าทึ่งที่มอสโกอยู่รอดจนกลายเป็นหนึ่งในเมืองใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดของโลกสมัยปัจจุบัน.
ปัจจุบัน มอสโกมีประชากรมากกว่าเก้าล้านคน และมีเนื้อที่ประมาณ 1,000 ตารางกิโลเมตร ทำให้กรุงนี้ใหญ่กว่าและมีประชากรมากกว่านครนิวยอร์ก. มีถนนวงแหวนชุดหนึ่งล้อมรอบพระราชวังเครมลิน พร้อมด้วยถนนวงแหวนรอบมอสโกซึ่งยาวกว่า 100 กิโลเมตรก่อตัวเป็นพรมแดนชั้นนอกของมอสโกอย่างคร่าว ๆ. มีถนนสายสำคัญที่กว้างใหญ่หลายสายแผ่จากใจกลางกรุงดูคล้าย ๆ กับซี่ล้อรถ.
อย่างไรก็ตาม ชาวมอสโกส่วนใหญ่เดินทางโดยรถไฟใต้ดินอันเยี่ยมยอดประจำนคร ซึ่งขยายออกไปรวมแล้วเก้าสาย และมีประมาณ 150 สถานี ให้บริการทุกส่วนของเมือง. สารานุกรมเวิลด์ บุ๊กกล่าวขวัญถึงสถานีรถไฟใต้ดินของมอสโกว่า “หรูหราที่สุดของโลก.” บางสถานีดูคล้ายกับพระราชวัง ประดับประดาด้วยโคมระย้า, รูปสลัก, กระจกสี, และเต็มไปด้วยหินอ่อน. ที่จริง 14 สถานีแรกสร้างโดยใช้หินอ่อนมากกว่า 70,000 ตารางเมตร มากกว่าที่อยู่ในพระราชวังทั้งหมดซึ่งสร้างโดยราชวงศ์โรมานอฟตลอดช่วงเวลา 300 ปีเสียอีก!
กรุงได้รับการเปลี่ยนโฉมใหม่
ระหว่างการเยือนของเราเมื่อฤดูร้อนปีที่แล้ว เรานั่งรถไฟใต้ดินเพื่อชมหนึ่งในโครงการบูรณะที่ใหญ่ที่สุด—สนามกีฬาเลนินสเตเดียมอันมหึมาขนาด 103,000 ที่นั่ง ซึ่งสร้างขึ้นในทศวรรษปี 1950 อยู่ทางใต้ของมอสโก. มีการติดตั้งที่นั่งใหม่เมื่อเรามาถึง และเรานึกเห็นภาพของหลังคาเคลื่อนที่ซึ่งจะทำให้เป็นไปได้ที่จะจัดงานต่าง ๆ ได้ตลอดทั้งปี.
ด้านหน้าของห้างสรรพสินค้า กูม อันลือชื่อ ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามพระราชวังเครมลินอีกฝั่งหนึ่งของจัตุรัสแดง ก็ได้รับการเปลี่ยนโฉมใหม่อย่างงดงาม. อีกด้านหนึ่งของพระราชวังเครมลิน ซึ่งเคยมีสายน้ำเนกลีนนายาไหลผ่านก่อนจะถูกเปลี่ยนให้ไหลใต้ดินระหว่างศตวรรษที่แล้ว ปัจจุบันนี้มีการจัดสวนหย่อมโดยสร้างลำธารสายหนึ่งเพื่อจำลองสายน้ำดังกล่าว. ฝั่งตรงข้ามของลำธารสายนี้พอดี มีศูนย์การค้าใต้ดินขนาดยักษ์หลายชั้น รวมทั้งภัตตาคารและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ที่กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง. นักเขียนชาวมอสโกคนหนึ่งเรียกสถานที่นี้ว่า “ศูนย์การค้าที่ใหญ่ที่สุดของยุโรป” แต่พูดเสริมว่า “หรือไม่ก็เป็นสิ่งที่เชื่อกันที่สำนักนายกเทศมนตรี.”
ในอีกบริเวณหนึ่งไม่ไกลจากพระราชวังเครมลิน ปั้นจั่นดูเหมือนจะมีทั่วไปทุกหนแห่ง และการก่อสร้างก็ทำกันอย่างคร่ำเคร่ง. มีการค้นพบโบราณวัตถุอันล้ำค่า ณ บริเวณที่มีการขุด ซึ่งในจำนวนนี้มีที่หนึ่งพบกรุสมบัติมีเหรียญของรัสเซียและยุโรปตะวันตกมากกว่า 95,000 เหรียญ มีอายุตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 ถึง 17.
โบสถ์ต่าง ๆ ก็ได้รับการตกแต่งและบางแห่งก็สร้างขึ้นใหม่. โบสถ์ใหญ่พระแม่มารีแห่งกะแซนบนจัตุรัสแดงซึ่งถูกทำลายในปี 1936 และทำเป็นส้วมสาธารณะแทน ก็สร้างเสร็จเรียบร้อย. โบสถ์พระคริสต์ผู้ช่วยให้รอดหลังมหึมา ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อฉลองชัยชนะที่มีต่อนะโปเลียนถูกระเบิดย่อยยับในปี 1931 ในช่วงการรณรงค์ต่อต้านศาสนาโดยพวกคอมมิวนิสต์. ระหว่างการเยี่ยมชมของเรา การบูรณะโบสถ์นี้ขึ้นใหม่บนที่เดิมใกล้จะแล้วเสร็จ ซึ่งที่นี้เคยใช้เป็นสระว่ายน้ำอุ่นกลางแจ้งขนาดมหึมาเป็นเวลาหลายปี.
การเที่ยวชมสถานก่อสร้างต่าง ๆ นับว่าน่าตรึงใจ โดยเฉพาะเมื่อเราคิดถึงรูปโฉมที่ปรับปรุงใหม่ของมอสโกเมื่อถึงปลายปี 1997. กระนั้น สิ่งที่ทำให้เรารักมอสโกก็คือ ประชาชน. นักข่าวคนหนึ่งในมอสโกเคยให้ข้อสังเกตไว้ว่า “ผู้เยี่ยมชมตื้นตันใจด้วยมิตรภาพทั้งมวลซึ่งชาวมอสโกสามารถให้ได้จากใจจริงของตน.” เราพบว่าคำพูดนี้เป็นความจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรายล้อมอยู่รอบโต๊ะอาหารเล็ก ๆ ในห้องครัว ได้ลิ้มรสความรักอันอบอุ่นและน้ำใจต้อนรับแขกของชาวรัสเซียครอบครัวหนึ่ง.
น่าดีใจ เรายังพบด้วยว่าชาวมอสโกหลายคนได้เรียนรู้ความหมายอันแท้จริงของคำว่าอาร์มาเก็ดดอน อันเป็นสงครามซึ่งพระผู้สร้างของเราจะชำระแผ่นดินโลกทั้งสิ้นเพื่อนำมาซึ่งสมัยเมื่อผู้คนทั้งมวลที่รักพระองค์อย่างแท้จริงจะอยู่ด้วยกันได้ ไม่ใช่ด้วยความเดียดฉันท์และระแวงสงสัย แต่ด้วยความเข้าใจและไว้วางใจกัน ในฐานะบุตรของพระเจ้า ผู้ที่รักกันและกันและรับใช้พระเจ้าอย่างเป็นเอกภาพ. (โยฮัน 13:34, 35; 1 โยฮัน 2:17; วิวรณ์ 21:3, 4)—ผู้อ่านส่งมา.
[เชิงอรรถ]
a อรรถาธิบายคำศัพท์ในคัมภีร์ไบเบิลบริสุทธิ์ (ภาษาอังกฤษ) โดย แอดัม คลาร์ก, ฉบับพิมพ์เดี่ยว, หน้า 1349.
[รูปภาพหน้า 13]
โบสถ์แห่งเซนต์เบซิลและกำแพงพระราชวังเครมลิน เป็นสัญลักษณ์ของมอสโกที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง
[รูปภาพหน้า 15]
ทุกหนทุกแห่งมีสิ่งเตือนใจการฉลองครบรอบ 850 ปี
[รูปภาพหน้า 16]
โฉมใหม่ของห้างสรรพสินค้า กูม อันลือชื่อ
[รูปภาพหน้า 16, 17]
สถานีรถไฟใต้ดินหลายแห่ง ดูคล้ายกับพระราชวัง
[ที่มาของภาพ]
Tass/Sovfoto
[รูปภาพหน้า 16, 17]
สนามกีฬาเลนินได้รับการตกแต่งใหม่
[รูปภาพหน้า 17]
สวนหย่อมจัดใหม่นอกพระราชวังเครมลิน
[รูปภาพหน้า 18]
ปั้นจั่นดูเหมือนจะมีทั่วไปทุกหนแห่ง และการก่อสร้างก็ทำกันอย่างคร่ำเคร่ง