เกิดอะไรขึ้นกับอาปาเช?
คำพูดต่อไปนี้เอ่ยอ้างถึงใคร “ยังไม่เคยมีใครที่มีใบหน้าโหดกว่านี้”? แต่ก็อีกนั่นแหละ ใครล่ะที่โด่งดังในเรื่องความกล้าหาญและเด็ดเดี่ยว? เขาผู้นั้นคือผู้นำคนสุดท้ายของเผ่าอาปาเชที่ยอมแพ้ต่อกองทัพสหรัฐ. เขามีชีวิตอยู่ประมาณ 80 ปีและตายในปี 1909 ที่โอกลาโฮมา โดยเชื่อกันว่าเขาเป็นคริสเตียนสังกัดคริสตจักรดัตช์รีฟอร์ม. เขาคือ โกยาคลา หรือในชื่อซึ่งเป็นที่รู้จักกันมากกว่า เจโรนิโม ผู้นำผู้ยิ่งใหญ่คนสุดท้ายของเผ่าอาปาเช.
ว่ากันว่า เขามาถูกขนานนามว่า เจโรนิโม หลังจากที่พวกทหารเม็กซิโกร้องเสียงหลงด้วยความกลัวเรียกหา “นักบุญ” เจโรม (เคโรนีโม) เมื่อโกยาคลาโจมตีพวกเขา. ประมาณปี 1850 กองทัพเม็กซิโกฆ่าผู้หญิงและเด็กชาวอาปาเช 25 คนที่ตั้งกระโจมอยู่นอกเมืองเคโนส ประเทศเม็กซิโก. ในกลุ่มผู้ถูกฆ่ามีแม่, เมียที่ยังสาว, และลูกสามคนของเจโรนิโมรวมอยู่ด้วย. กล่าวกันว่า “ตั้งแต่นั้นมาจนชั่วชีวิต เจโรนิโมเกลียดชาวเม็กซิโกทุกคน.” ด้วยแรงเสริมของปณิธานที่จะล้างแค้น เขาจึงกลายเป็นหัวหน้าเผ่าอาปาเชที่มีคนกลัวมากที่สุดคนหนึ่ง.
แต่เราทราบอะไรบ้างเกี่ยวกับชาวอินเดียนแดงเผ่าอาปาเช ซึ่งถูกนำเสนอบ่อยมากในบทบาทของพวกวายร้าย จนกลายเป็นรูปแบบตายตัวของหนังฮอลลีวูด? พวกเขายังคงมีเผ่าพันธุ์อยู่ไหม? หากเป็นอย่างนั้น พวกเขาดำเนินชีวิตอย่างไร และต้องเผชิญกับอนาคตเช่นไร?
“เสือแห่งเผ่าพันธุ์มนุษย์”
พวกอาปาเชa (ชื่อซึ่งดูเหมือนว่ามาจากคำภาษาซูนีคืออาปาชู ซึ่งมีความหมายว่า “ศัตรู”) มีชื่อเสียงว่าเป็นนักรบที่ปราศจากความกลัวและเชี่ยวชาญศึก. นายพลจอร์จ ครุก นักรบที่สู้กับอินเดียนแดงที่มีชื่อเสียงในศตวรรษที่ 19 เรียกพวกเขาว่า “เสือแห่งเผ่าพันธุ์มนุษย์.” กระนั้น แหล่งหนึ่งกล่าวว่า “หลังปี 1500 ชนเผ่าอาปาเชทั้งหมดไม่เคยรวมกันได้เกินหกพันคนอีกเลย.” แต่นักรบไม่กี่สิบคนสามารถสกัดกองทัพข้าศึกทั้งกองทัพให้ชะงักงันด้วยการรบแบบกองโจร!
อย่างไรก็ตาม แหล่งข้อมูลทางอาปาเชเองรายงานว่า “ตรงกันข้ามกับแนวคิดทั่วไปซึ่งชาวสเปน, ชาวเม็กซิโกและชาวอเมริกันสร้างขึ้นมา ชนเผ่าอาปาเชไม่ใช่คนป่าเถื่อนซึ่งชอบสงครามและกระหายเลือด. เราโจมตีปล้นชิงอาหารเฉพาะในยามขาดแคลน. เราไม่ได้ทำสงครามอย่างไร้จุดหมาย แต่โดยทั่วไปแล้วเป็นการต่อสู้ที่มีการวางแผนอย่างดีเพื่อแก้แค้นความอยุติธรรมทั้งหลายที่ทำกับเรา.” และความอยุติธรรมดังกล่าวนี้ช่างมีมากเหลือเกิน!
นิทรรศการที่ศูนย์วัฒนธรรมอาปาเชซาน คาร์ลอส เมืองเพริดอต รัฐแอริโซนา อธิบายประวัติศาสตร์ของเผ่าอาปาเชจากมุมมองของพวกเขาเองดังนี้: “การมาของคนนอกสู่ภูมิภาคนี้นำมาซึ่งความเป็นปฏิปักษ์และการเปลี่ยนแปลง. ผู้มาใหม่แทบไม่คำนึงถึงความผูกพันที่เราซึ่งเป็นชนเผ่าดั้งเดิมมีต่อแผ่นดิน. ด้วยความพยายามในอันที่จะปกป้องประเพณีและวัฒนธรรม บรรพบุรุษของเราต่อสู้และชนะศึกหลายครั้งในการรบกับทหารและประชากรแห่งสเปน, เม็กซิโก, และสหรัฐ. แต่เพราะสู้กำลังคนที่มากกว่าและเทคโนโลยีสมัยใหม่ไม่ได้ ในที่สุดบรรพบุรุษของเราจึงถูกบีบบังคับให้ยอมรับข้อเรียกร้องของรัฐบาลสหรัฐ. เราถูกบังคับให้ทิ้งวิถีชีวิตร่อนเร่ไปตามสายลม และอาศัยอยู่ในเขตสงวน.” วลี ‘ถูกบังคับให้อาศัยอยู่ในเขตสงวน’ ปลุกความรู้สึกเห็นอกเห็นใจอย่างยิ่งต่อผู้อาศัยในเขตสงวนประมาณห้าแสนคน (จากจำนวนชาวอเมริกันพื้นเมืองทั้งหมดมากกว่าสองล้านคน) ใน 554 เผ่าที่อยู่ในสหรัฐ และ 633 กลุ่มทั่วแคนาดา. ชนเผ่าอาปาเชมีจำนวนประมาณ 50,000 คน.b
การรอดชีวิตในยุคแรก ๆ
ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ด้านประวัติศาสตร์ชาวอเมริกันพื้นเมืองในยุคแรก ๆ ยอมรับทฤษฎีที่ว่า เผ่าดั้งเดิมเหล่านี้มาจากเอเชียโดยอพยพมาทางช่องแคบแบริง แล้วจากนั้นจึงค่อย ๆ กระจายลงไปทางใต้และขยายไปทางตะวันออก. นักภาษาศาสตร์เชื่อมโยงภาษาของเผ่าอาปาเชกับภาษาของชนชาติในอะลาสกาและแคนาดาที่พูดภาษาอทาพาสคาน. โทมัส เมลส์ เขียนดังนี้: “ช่วงเวลาที่มาถึงแถบตะวันตกเฉียงใต้ของอเมริกาตามการประมาณในปัจจุบันตกระหว่างคริสต์ศักราช 1000 ถึง 1500. นักมานุษยวิทยายังไม่เห็นพ้องด้วยในเรื่องเส้นทางที่แน่ชัดซึ่งพวกเขาใช้และอัตราการอพยพ.”—ชนเผ่าที่ชื่ออาปาเช (ภาษาอังกฤษ).
ในสองสามศตวรรษก่อนหน้านี้ บ่อยครั้งชนเผ่าอาปาเชเอาตัวรอดได้ด้วยการจัดกองจู่โจมปล้นเพื่อนบ้านชาวเม็กซิโกเชื้อสายสเปน. โทมัส เมลส์เขียนดังนี้: “การโจมตีเช่นนั้นดำเนินอยู่เกือบสองร้อยปี เริ่มตั้งแต่ประมาณปี 1690 และยืดเยื้อจนถึงประมาณปี 1870. การโจมตีดังกล่าวไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเม็กซิโกเป็นแหล่งข้าวของจำเป็นที่อุดมสมบูรณ์อย่างแท้จริง.”
ใครถลกหนังหัวก่อน?
สืบเนื่องจากการปะทะกันอยู่เสมอระหว่างเม็กซิโกและเผ่าอาปาเช รัฐบาลระดับรัฐที่ปกครองรัฐโซโนราของเม็กซิโกจึง “หันกลับไปใช้วิธีการเก่าแก่ของสเปน” นั่นคือการตั้งค่าหัว. นี่ไม่ใช่แนวคิดแปลกใหม่ซึ่งมีเฉพาะในหมู่ชาวสเปน—ชาวบริเตนและฝรั่งเศสได้นำธรรมเนียมดังกล่าวไปใช้ก่อนหน้านี้แล้ว.
ชาวเม็กซิโกถลกหนังหัวเพื่อเอาไปขึ้นเงินค่าหัว และบางครั้งโดยไม่สนใจว่าหนังหัวนั้นเป็นของอาปาเชหรือไม่. ในปี 1835 ได้มีการออกกฎหมายว่าด้วยค่าหัวในเม็กซิโก ซึ่งเสนอให้ 100 เปโซสำหรับหนังหัวนักรบแต่ละราย. สองปีต่อมา มีค่าหัว 50 เปโซให้สำหรับหนังหัวของผู้หญิง และ 25 เปโซสำหรับหนังหัวของเด็กด้วย! ในหนังสือชื่อการพิชิตดินแดนอาปาเช (ภาษาอังกฤษ) แดน แทรปป์ เขียนดังนี้: “นโยบายนี้มุ่งเข่นฆ่าให้สูญสิ้นอย่างแท้จริง ซึ่งให้หลักฐานว่า การฆ่าล้างชาติพันธุ์ได้แผ่รากไปทั่วแล้ว และไม่ได้มีชาติใดชาติหนึ่งในสมัยปัจจุบันเป็นต้นคิด.” เขากล่าวต่อไปว่า “พวกอาปาเชเองไม่ถลกหนังหัว.” อย่างไรก็ตาม เมลส์กล่าวว่า บางครั้งพวกชิริคาฮัวก็ถลกหนังหัว—แต่ไม่บ่อย “เพราะพวกเขากลัวความตายและผี.” เขาเสริมอีกว่า “การถลกหนังหัวทำเพื่อแก้แค้นตามอย่างวิธีการที่ชาวเม็กซิโกเริ่มทำก่อนแล้วเท่านั้น.”
แทรปป์กล่าวว่า พวกคนงานเหมือง “มักรวมสมัครพรรคพวก . . . และออกไปล่าพวกอินเดียนแดง. เมื่อต้อนจับได้ คนพวกนี้ก็จะฆ่าผู้ชายทั้งหมด และบางครั้งก็ฆ่าผู้หญิงและเด็กทุกคนด้วย. แน่ละ พวกอินเดียนแดงย่อมต้องตอบโต้ด้วยวิธีเดียวกันต่อคนผิวขาวและเผ่าอื่น ๆ.”
ชาลส์ ลัมมิส กล่าวว่า สงครามกับเผ่าอาปาเชดำเนินไปจนกระทั่งถึงจุดที่ก่อผลประโยชน์ให้กับรัฐแอริโซนา เนื่องจาก “การทำสงครามกับพวกอาปาเชต่อไปเรื่อย ๆ [หมายถึง] เม็ดเงินมากกว่าสองล้านดอลลาร์ในแต่ละปีที่กระทรวงกลาโหมจ่ายออกไปภายในเขตชายแดนแอริโซนา.” แทรปป์รายงานดังนี้: “คนที่มีอำนาจและไร้มโนธรรมซึ่งไม่ต้องการสร้างสันติกับเผ่าอาปาเช เพราะเมื่อมีสันติภาพ เงินอุดหนุนทางทหารที่ไหลมาเทมาก็จะถูกตัดขาด.”
เขตสงวนเป็นทางแก้ไหม?
การปะทะกันเป็นประจำระหว่างผู้บุกรุกผิวขาวที่มาตั้งรกรากกับชนเผ่าอาปาเชที่เป็นเจ้าถิ่นทำให้รัฐบาลกลางต้องเข้ามาแก้ปัญหาด้วยการจำกัดให้ชาวอินเดียนแดงอยู่ในเขตสงวน—บ่อยครั้ง เป็นที่ดินทุรกันดาร ซึ่งคาดหมายว่าพวกเขาจะเอาชีวิตรอดได้. ในปี 1871-1872 ได้มีการตั้งเขตสงวนสำหรับอาปาเช.
จากปี 1872 ถึง 1876 อาปาเชชิริคาฮัวได้มีเขตสงวนเป็นของตัวเอง. คนเหล่านี้ที่ดำเนินชีวิตร่อนเร่อย่างอิสระมาโดยตลอดจึงรู้สึกว่าถูกกักขัง. แม้ว่าพวกเขามีเนื้อที่ 6,840,000 ไร่สำหรับประชากร 400 ถึง 600 คน อาณาเขตดังกล่าวนี้ซึ่งส่วนใหญ่แห้งแล้งไม่มีพื้นที่มากพอที่พวกเขาจะหาอาหารโดยการล่าสัตว์และการเก็บของป่า. รัฐบาลจำเป็นต้องจัดให้มีการปันส่วนทุก 15 วันเพื่อบรรเทาความอดอยาก.
ถึงขนาดนั้น ผู้ตั้งรกรากผิวขาวก็ยังคิดว่าเขตสงวนชิริคาฮัวซึ่งแยกอยู่ต่างหากเป็นการสิ้นเปลืองที่ดิน และชนเผ่าอาปาเชควรถูกกักให้อยู่ในเขตสงวนแห่งเดียว. ความไม่หวังดีของผู้ตั้งรกรากผิวขาวยิ่งมีมากขึ้นไปอีกหลังจากที่โคชีสซึ่งเป็นหัวหน้าเผ่าที่ได้รับความนับถือเสียชีวิตในปี 1874. พวกเขาจำเป็นต้องมีข้ออ้างที่จะไล่อาปาเชชิริคาฮัวออกจากเขตสงวน. มีอะไรเกิดขึ้น? “ในปี 1876 เกิดเหตุการณ์หนึ่งที่เปิดช่องให้ใช้เป็นข้ออ้างได้. คนขายเหล้าเถื่อนสองคนถูกอินเดียนแดงชิริคาฮัวสองคนฆ่า เมื่อเขาไม่ยอมขาย [เหล้า] ให้อีก. แทนที่จะจับผู้ต้องหา ตัวแทน [รัฐบาล] ซึ่งดูแลเขตสงวนซาน คาร์ลอส มาถึงพร้อมกับคนของเขาซึ่งมีอาวุธครบมือ และคุมตัว [เผ่า] ชิริคาฮัวไปที่เขตสงวนซาน คาร์ลอส. เขตสงวนชิริคาฮัวถูกสั่งปิด.”
อย่างไรก็ตาม ชาวอินเดียนแดงยังคงได้รับอนุญาตให้ท่องเที่ยวไปมาได้อย่างอิสระนอกเขตสงวน. ผู้ตั้งรกรากผิวขาวไม่ชอบนโยบายดังกล่าว. “เพื่อสนองความต้องการของผู้ตั้งรกราก รัฐบาลจึงย้ายอาปาเชเผ่าซาน คาร์ลอส, ไวต์ เมาน์เทน, ซีเบกเคว, และทอนโท รวมทั้งเผ่าย่อย ๆ อีกมากมายซึ่งประกอบเป็นอาปาเชเผ่าชิริคาฮัว ไปอยู่ที่ศูนย์ซาน คาร์ลอส.”—การเดินทางของสิ่งทรงสร้าง—เอกลักษณ์และความเชื่อของชาวอเมริกันพื้นเมือง (ภาษาอังกฤษ).
คราวหนึ่ง อาปาเชเผ่ายาวาไพ, ชิริคาฮัว, และอาปาเชตะวันตกหลายพันคนก็ถูกกักให้อยู่ในเขตสงวน. สภาพอย่างนี้ก่อความตึงเครียดและความระแวง เนื่องจากเผ่าเหล่านี้บางเผ่าเป็นศัตรูกันมานาน. พวกเขามีปฏิกิริยาอย่างไรต่อข้อจำกัดต่าง ๆ ของเขตสงวน? คำตอบของชาวเผ่าอาปาเชคือ “เมื่อถูกตัดขาดจากวิถีชีวิตดั้งเดิมของเรา เราก็อดอยากทางกาย, ทางอารมณ์, และทางวิญญาณ. เราถูกพรากเสรีภาพ.”
อย่างไรก็ตาม ชิริคาฮัวกลุ่มหนึ่งซึ่งนำโดยเจโรนิโมหัวหน้าเผ่าผู้มีชื่อเลื่องลือในการรบ ได้หนีออกจากเขตสงวนในปี 1885 และหลบหนีไปที่เม็กซิโก. พวกเขาถูกไล่ล่าโดยนายพลเนลสัน ไมลส์ พร้อมกับทหารเกือบ 5,000 นาย แถมด้วยผู้แกะรอยชาวอาปาเชอีก 400 คน—ทั้งหมดพยายามค้นหาอาปาเชที่ทรยศหลบหนีซึ่งพอถึงเวลานั้นมีเพียงแค่นักรบ 16 คน, ผู้หญิง 12 คน, และเด็ก 6 คน!
ในที่สุด เจโรนิโมก็ยอมแพ้ในวันที่ 4 กันยายน 1886. เขาเต็มใจจะกลับไปที่เขตสงวนซาน คาร์ลอส. แต่การณ์กลับไม่เป็นอย่างนั้น. มีคนบอกเขาว่า อาปาเชทั้งหมดที่นั่นถูกส่งไปทางตะวันออกไปที่ฟลอริดาในฐานะนักโทษ และเขาเองก็จะถูกส่งไปที่เดียวกัน. เขาพูดเป็นภาษาอาปาเชว่า “ลาห์น ดัดซายู นาฮิไค เลห์ นิ นเยลี เคะห์เจ” ซึ่งหมายความว่า “ครั้งหนึ่ง เราเคยเคลื่อนไหวดังสายลม.” เจโรนิโมผู้ทระนงและมากด้วยกลอุบาย มาบัดนี้กลายเป็นนักโทษ ไม่สามารถไปไหนมาไหนอย่างอิสระดุจสายลมได้อีกต่อไป.
ท้ายที่สุด เขาได้รับอนุญาตให้ย้ายกลับไปทางตะวันตกจนกระทั่งถึงฟอร์ต ซิลล์ โอกลาโฮมา ซึ่งเขาตายที่นั่นในปี 1909. เช่นเดียวกับผู้นำชาวอเมริกันพื้นเมืองคนอื่น ๆ อีกหลายคน หัวหน้าเผ่าอาปาเชผู้นี้ถูกบังคับให้ยอมรับสภาพชีวิตที่อึดอัดในคุกและเขตสงวน.
พวกเขาเผชิญปัญหาอะไรในปัจจุบัน?
ปัจจุบัน เผ่าอาปาเชครอบครองเขตสงวนหลายแห่งในแอริโซนาและนิวเม็กซิโก. ตื่นเถิด! ได้ไปเยี่ยมเขตสงวนซาน คาร์ลอส และสัมภาษณ์ผู้นำอาปาเชหลายคน. เรื่องราวเกี่ยวกับการไปเยือนครั้งนั้นมีดังต่อไปนี้.
ไม่นานนักหลังจากที่เข้าไปในเขตสงวนในวันที่ร้อนและอากาศแห้งในเดือนพฤษภาคม เราก็ได้รับการต้อนรับอย่างเอื้ออารีจาก แฮร์ริสัน ทัลโก และภรรยาเขา. แฮร์ริสันซึ่งพูดจาชัดถ้อยชัดคำ สูงกว่าหกฟุต และไว้หนวดเฟิ้ม เป็นสมาชิกสภาของเผ่าที่ซาน คาร์ลอส. เราถามเขาว่า “ปัญหาอะไรบ้างที่มีผลกระทบต่อเผ่าอาปาเชในปัจจุบัน?”
“เรากำลังสูญเสียค่านิยมดั้งเดิมของเรา. โทรทัศน์ก่ออิทธิพลที่เสียหายอย่างมาก โดยเฉพาะต่อหนุ่มสาวของเรา. ตัวอย่างหนึ่งก็คือ พวกเขาไม่ได้เรียนภาษาของเราเอง. ปัญหาใหญ่อีกอย่างหนึ่งคือการว่างงาน ซึ่งมีมากถึง 60 เปอร์เซ็นต์ในบางพื้นที่. จริงอยู่ เรามีบ่อนกาสิโน แต่มีน้อยคนที่ได้งานจากบ่อนเหล่านี้. และในทางกลับกัน คนของเราหลายคนไปที่นั่นเสียเอง และเอาเช็คเงินช่วยเหลือทั่วไปที่ตนได้รับสำหรับค่าเช่าและอาหารไปเล่นพนันเสียหมด.”
เมื่อถามเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพในเผ่า แฮร์ริสันตอบอย่างไม่ชักช้า. เขาบอกว่า “โรคเบาหวาน. มากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ของคนของเราเป็นเบาหวาน. ในบางพื้นที่มีมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์.” เขายอมรับว่า ปัญหาใหญ่อีกอย่างหนึ่งคือภัยร้ายซึ่งคนผิวขาวนำเข้ามาเมื่อ 100 กว่าปีมานี้—เครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์. “ยาเสพย์ติดกำลังส่งผลกระทบคนของเราด้วยเช่นกัน.” ป้ายที่ติดอยู่ตามถนนในเขตสงวนซึ่งเป็นหลักฐานชัดเจนว่ามีปัญหาเหล่านี้ อ่านว่า “ครองสติให้แจ่มใส—ไม่ยุ่งเกี่ยวยาเสพย์ติด” และ “รักษาแผ่นดินของเรา. รักษาสุขภาพตน. อย่าผลาญทรัพย์ตัวเอง.”
เราถามว่า เอดส์มีผลกระทบต่อเผ่าของเขาหรือไม่. เขาตอบด้วยความรู้สึกชิงชังอย่างเห็นได้ชัดว่า “การรักร่วมเพศนั่นแหละที่เป็นอันตรายทีเดียว. การรักร่วมเพศกำลังแทรกซึมเข้ามาในเขตสงวน. โทรทัศน์และความชั่วร้ายของคนผิวขาวกำลังทำให้หนุ่มสาวอาปาเชของเราบางคนอ่อนแอลง.”
เราถามว่าสภาพการณ์ในเขตสงวนได้เปลี่ยนไปอย่างไรบ้างในปีหลัง ๆ นี้. แฮร์ริสันตอบว่า “ในทศวรรษ 1950 นี่คือลำดับความสำคัญและสิ่งที่มีอิทธิพล: อันดับแรกคือศาสนา; สอง ครอบครัว; สาม การศึกษา; สี่ แรงกดดันจากคนรุ่นเดียวกัน; และสุดท้าย คือโทรทัศน์. ปัจจุบัน ลำดับย้อนกลับในทิศทางตรงกันข้าม โดยมีโทรทัศน์เป็นอิทธิพลที่เด่นชัดที่สุด. แรงกดดันจากคนรุ่นเดียวกันเป็นอิทธิพลที่มีพลังเป็นอันดับสอง—กดดันให้ละทิ้งวิถีชีวิตแบบอาปาเชและติดตามกระแสหลักตามแบบฉบับอเมริกัน. การศึกษายังคงอยู่ในอันดับสาม และอาปาเชหลายคนกำลังได้ประโยชน์จากโอกาสทางการศึกษาระดับวิทยาลัยและการขยายให้มีโรงเรียนและโรงเรียนเตรียมอุดมมากขึ้นในเขตสงวน.”
“แล้วอิทธิพลของครอบครัวล่ะเป็นอย่างไร?” เราถาม.
“น่าเสียดาย เดี๋ยวนี้ครอบครัวถูกลดความสำคัญไปอยู่ในอันดับที่สี่ และศาสนากลายเป็นอันดับสุดท้ายเสียแล้ว—ไม่ว่าจะเป็นศาสนาดั้งเดิมของเราหรือศาสนาของคนผิวขาว.”
“คุณมีทัศนะอย่างไรต่อศาสนาแห่งคริสต์ศาสนจักร?”
“เราไม่ชอบการที่คริสตจักรพยายามเปลี่ยนความเชื่อดั้งเดิมของคนของเรา.c นิกายลูเทอรันและคาทอลิกมีคณะผู้สอนศาสนาที่นี่ 100 กว่าปีแล้ว. มีกลุ่มเพนเตคอสด้วยซึ่งมีวิธีการที่เร้าอารมณ์.
“เราจะต้องฟื้นฟูเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของเราโดยทางครอบครัว และนำภาษาอาปาเชกลับมาใช้. ปัจจุบัน ภาษาของเรากำลังสูญหายไป.”
ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของอาปาเช
เราได้ไปเยี่ยมเจ้าหน้าที่ชาวอาปาเชอีกคนหนึ่ง ซึ่งพูดอย่างมั่นใจเกี่ยวกับความหวังทางเศรษฐกิจของเขตสงวนซาน คาร์ลอส. อย่างไรก็ตาม เขาอธิบายว่าไม่ง่ายเลยที่จะให้นักลงทุนมาทุ่มเงินในโครงการต่าง ๆ ที่นั่น. นิมิตหมายที่ดีอย่างหนึ่งคือสัญญาที่ทำกับบริษัทโทรศัพท์ยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งเพื่อก่อตั้งบริษัทซาน คาร์ลอส อาปาเช เทเลคอมมิวนิเคชัน. โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากสมาคมเพื่อเศรษฐกิจชนบท และจะสร้างงานมากขึ้นให้ลูกจ้างชาวอาปาเช รวมทั้งขยายและปรับปรุงระบบโทรศัพท์ของเขตสงวนซึ่งขาดตกบกพร่องอยู่มาก.
เจ้าหน้าที่ผู้นี้ยังได้กล่าวด้วยความภาคภูมิใจถึงศูนย์ล้างไตซึ่งจะมีการตั้งขึ้นในโรงพยาบาลประจำเขตสงวนในอีกไม่ช้า ซึ่งจะให้การรักษาทางการแพทย์ได้ดีขึ้นและใกล้ชิดยิ่งขึ้น. จากนั้นเขาให้เราดูแผนการพัฒนาศูนย์การค้าขึ้นมาใหม่ในซาน คาร์ลอส ซึ่งมีกำหนดจะก่อสร้างเร็ว ๆ นี้. เขามองอนาคตด้วยความมั่นใจทีเดียว แต่เน้นว่าต้องมีการศึกษาเป็นพื้นฐาน. ‘การศึกษาหมายถึงค่าจ้างที่ดีกว่า ซึ่งนำไปสู่มาตรฐานความเป็นอยู่ที่ดีกว่า.’
ผู้หญิงอาปาเชมีชื่อเสียงในเรื่องฝีมือการสานตะกร้า. หนังสือคู่มือท่องเที่ยวเล่มหนึ่งกล่าวว่า “การล่าสัตว์, การหาปลา, การทำฟาร์มปศุสัตว์, ไม้แปรรูป, การทำเหมือง, นันทนาการกลางแจ้งและการท่องเที่ยว” เป็นปัจจัยสำคัญ ๆ ที่มีผลต่อฐานะทางเศรษฐกิจในท้องถิ่น.
อาปาเชกำลังพยายามตามให้ทันโลกภายนอก แม้ว่าโอกาสไม่ค่อยจะอำนวยให้พวกเขาเท่าไรนัก. เช่นเดียวกับคนอื่น ๆ จำนวนมาก พวกเขาต้องการความยุติธรรม, ความนับถือ, และดำเนินชีวิตที่ดีงาม.
เมื่อความยุติธรรมอย่างแท้จริงจะมีอยู่ทั่วไป
พยานพระยะโฮวาไปเยี่ยมชาวอาปาเชเพื่อบอกพวกเขาเกี่ยวกับโลกใหม่ที่พระยะโฮวาพระเจ้าได้ทรงสัญญาไว้สำหรับแผ่นดินโลกของเรา ซึ่งพรรณนาไว้อย่างงดงามในยะซายา พระธรรมเล่มหนึ่งในคัมภีร์ไบเบิล ดังนี้: “เพราะนี่แน่ะ เรากำลังสร้างฟ้าสวรรค์ใหม่และแผ่นดินโลกใหม่; และสิ่งก่อนนั้นจะไม่ระลึกถึงอีก ทั้งจะไม่คำนึงถึงในหัวใจ. และเขาจะสร้างบ้านเรือนและจะได้อยู่เป็นแน่; และเขาจะทำสวนองุ่นแล้วได้กินผลแน่นอน. เขาจะไม่ทำงานหนักโดยเปล่าประโยชน์.”—ยะซายา 65:17, 21, 23, ล.ม.; 2 เปโตร 3:13; วิวรณ์ 21:1-4.
เวลาใกล้จะถึงแล้วที่พระยะโฮวาพระเจ้าจะทรงจัดการกวาดล้างความเห็นแก่ตัวและความเสื่อมทรามทั้งสิ้นในโลก และยุติการทำให้แผ่นดินโลกเสียหายด้วย. (โปรดดูมัดธาย 24; มาระโก 13; ลูกา 21.) เวลานี้ ประชาชนจากทุกชาติ รวมทั้งชาวอเมริกันพื้นเมืองด้วย สามารถทำให้ตัวเองได้พรด้วยการหันมาหาพระยะโฮวา พระเจ้าองค์เที่ยงแท้ โดยผ่านทางพระคริสต์เยซู. (เยเนซิศ 22:17, 18) พยานพระยะโฮวาเสนอการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลตามบ้านโดยไม่คิดมูลค่าแก่ใครก็ตามที่อ่อนน้อม ซึ่งปรารถนาจะได้รับแผ่นดินโลกที่ได้รับการฟื้นฟูเป็นมรดกและเต็มใจเชื่อฟังพระเจ้า.—บทเพลงสรรเสริญ 37:11, 19.
[เชิงอรรถ]
a ชนเผ่าอาปาเชแบ่งออกเป็นเผ่าย่อยหลายเผ่า เช่น อาปาเชสายตะวันตก ซึ่งก็รวมถึงเผ่าทอนโทเหนือและใต้, มิมเบรนโย, และโคโยเทโร.
b อาปาเชสายตะวันออกได้แก่อาปาเชเผ่าชิริคาฮัว, เมสคาเลโร, ฮีคะริลยา, ลีพัน, และคิโอวา. การแบ่งนอกเหนือจากนี้ก็คือแบ่งเป็นอาปาเชเผ่าไวต์ เมาน์เทน และซาน คาร์ลอส. ปัจจุบัน เผ่าเหล่านี้ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของรัฐแอริโซนาและในรัฐนิวเม็กซิโก.—ดูแผนที่ในหน้า 15.
c ตื่นเถิด! จะลงเรื่องความเชื่อและศาสนาของชาวอเมริกันพื้นเมืองในภายหลัง.
[แผนที่/รูปภาพหน้า 15]
อเมริกาเหนือ
พื้นที่ขยายใหญ่อยู่ ด้านขวา
เขตสงวนอาปาเช
แอริโซนา
นิวเม็กซิโก
ฮีคะริลยา
ฟอร์ต อาปาเช (ไวต์ เมาน์เทน)
ซาน คาร์ลอส
เมสคาเลโร
[ที่มาของภาพ]
Mountain High Maps® Copyright © 1997 Digital Wisdom, Inc.
[รูปภาพหน้า 13]
เจโรนิโม
[ที่มาของภาพ]
Courtesy of the Arizona Historical Society/Tucson, AHS#78167
[รูปภาพหน้า 16]
แฮร์ริสัน ทัลโก สมาชิกสภาของเผ่า
[รูปภาพหน้า 17]
หัวหน้าเผ่าโคชีสถูกฝังใน ที่มั่นของชิริคาฮัว
จานดาวเทียม นำสัญญาณโทรทัศน์เข้ามาในเขตสงวน
[รูปภาพหน้า 18]
ในงานศพของอาปาเช ญาติ ๆ จะวางหินรอบ ๆ หลุมศพ. ริบบิ้นที่สะบัดพลิ้วในสายลมเป็นสัญลักษณ์ของทิศทั้งสี่