หนุ่มสาวถามว่า . . .
ฉันจะจัดการอย่างไรเมื่อถูกเยาะเย้ย?
หนุ่มสาวผู้ซึ่งประพฤติหรือแต่งตัวต่างไปจากเพื่อนวัยเดียวกันอาจตกเป็นเป้าของการเยาะเย้ยอย่างแรง. เรื่องนี้เกิดขึ้นจริงกับเยาวชนคริสเตียน ซึ่งการประพฤติของพวกเขามักจะแตกต่างกับหนุ่มสาวอื่น ๆ. พระคริสต์ตรัสถึงสาวกแท้ของพระองค์มิใช่หรือที่ว่า “ถ้าเขาได้ข่มเหงเรา เขาก็จะข่มเหงเจ้าด้วย”?—โยฮัน 15:20, ล.ม.
เรื่องนี้มีผลกระทบอย่างไรต่อหนุ่มสาวพยานพระยะโฮวา. บางคนในพวกเขาถูกเยาะเย้ยเพราะไม่ฉลองวันนักขัตฤกษ์อย่างใดอย่างหนึ่ง; บางคนถูกวิจารณ์เพราะไม่ทำความเคารพธง. พยานฯจำนวนไม่น้อยถึงกับถูกก่อกวนเนื่องจากไม่ใช้ยาเสพย์ติด, เนื่องจากเป็นคนซื่อตรง, และเนื่องจากการเชิดชูมาตรฐานทางศีลธรรมของคัมภีร์ไบเบิล.
สภาพการณ์แบบนี้ไม่ใช่เพิ่งมีขึ้น. ที่จริง อัครสาวกเปโตรได้บอกคริสเตียนที่อยู่ในศตวรรษแรกว่า “เพราะท่านทั้งหลายไม่ได้วิ่งร่วมกับเขาต่อไป [ผู้คนของนานาชาติ] . . . เขาก็ฉงนและกล่าวร้ายท่านทั้งหลายอยู่เรื่อยไป.” (1 เปโตร 4:4, ล.ม.) ฉบับแปลอื่นใช้คำว่า พวกเขา “ล้อเลียนท่าน” (นอกซ์) หรือ “เขาด่าประจานท่าน.”—ทูเดส์ อิงลิช เวอร์ชัน.
คุณเคยตกเป็นเป้าของการเยาะเย้ยเนื่องจากความเชื่อมั่นทางศาสนาของคุณไหม? ถ้าเป็นอย่างนั้น จงมีใจกล้า. คุณยังมีเพื่อนอีกมาก! และคุณจะสุขใจที่รู้ว่าคุณสามารถเรียนรู้วิธีที่จะรับมือกับความไม่สบายใจขณะที่ถูกเยาะเย้ยเพราะความเชื่อของคุณ.
สาเหตุที่พวกเขาหัวเราะเยาะ
ทำไมบางคนจึงหัวเราะเยาะคนเหล่านั้นซึ่งมีความเชื่อและความประพฤติแตกต่างกับของตัวเอง? บางครั้งคนที่หัวเราะเยาะ ก็เหมือนกับอันธพาล คือรู้สึกไม่มั่นใจ. เขาอาจเยาะเย้ยคุณเพื่อยกตนขึ้นต่อหน้าเพื่อน ๆ ของเขา. เมื่อเขาอยู่ตามลำพัง บางคนในกลุ่มผู้ก่อกวนนั้นคงจะไม่สนใจหรือไม่กล้าที่จะวิจารณ์คุณอย่างเปิดเผย.
ในอีกด้านหนึ่ง คนเยาะเย้ยบางคนเป็นอย่างที่เปโตรเขียนคือ “เขาก็ฉงน.” ใช่ เขาอาจรู้สึกข้องขัดใจอย่างแท้จริงเมื่อเห็นแนวทางการประพฤติของคุณ. ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งในหมู่พยานพระยะโฮวา พวกเขาอาจคิดจริงจังว่ามันแปลกที่คุณไม่เข้าร่วมในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับวันนักขัตฤกษ์อย่างใดอย่างหนึ่ง. เขาอาจถึงกับได้รับข้อมูลที่บิดเบือนเรื่องพยานพระยะโฮวาจากผู้ที่จงใจต่อต้าน.
ไม่ว่าด้วยสาเหตุใดก็ตาม เมื่อเผชิญการโจมตีด้วยคำพูดดูถูกเย้ยหยัน คุณอาจเห็นพ้องกับภาษิตในคัมภีร์ไบเบิลที่ว่า “คำพูดพล่อย ๆ ของคนบางจำพวกเหมือนการแทงของกระบี่.” (สุภาษิต 12:18) แต่จำไว้ว่าคนที่พูดเช่นนั้นอาจทำไปไม่ใช่เพราะพวกเขาไม่ชอบตัวคุณ. แต่เป็นไปได้มากว่า พวกเขากำลังทำอย่างที่สุภาษิตของคัมภีร์ไบเบิลกล่าวไว้ คือ “พูดพล่อย ๆ.”
กระนั้น การถูกเยาะเย้ยย่อมเจ็บปวด เหมือนบาดแผลถูกแทง. คุณอาจรู้สึกถูกล่อใจให้อะลุ่มอล่วยความเชื่อของคุณเสียด้วยซ้ำเพื่อสกัดคำพูดเชิงดูถูกที่กระหน่ำเข้ามา. แล้วคุณจะจัดการอย่างไรเมื่อคุณถูกเยาะเย้ยเพราะความเชื่อ?
พร้อมโต้ตอบให้เหตุผล
อัครสาวกเปโตรเตือนสติคริสเตียนดังนี้: “เตรียมพร้อมเสมอที่จะโต้ตอบต่อหน้าทุกคนซึ่งเรียกเหตุผลจากท่านสำหรับความหวังของท่าน แต่จงทำเช่นนี้พร้อมด้วยอารมณ์อ่อนโยนและความนับถือสุดซึ้ง.” (1 เปโตร 3:15, ล.ม.) เพื่อจะพูดปกป้องความเชื่อนั้น คุณต้องมีความรู้ถ่องแท้และต้องเข้าใจเหตุผลต่าง ๆ เกี่ยวด้วยความเชื่อของคุณ.
อย่างไรก็ตาม คุณต้องเรียนรู้ด้วยว่าจะแสดง “ความนับถืออย่างสุดซึ้ง” ต่อคนอื่นอย่างไร หรืออย่างที่เดอะ ไบเบิล อิน เบสิก อิงลิช แปลว่า “ปราศจากการถือดี.” ความรู้ของคุณด้านคัมภีร์ไบเบิลพร้อมทั้งคำสอนต่าง ๆ นั้นไม่ควรทำให้คุณรู้สึกว่าตัวเหนือกว่าคนอื่น. ตรงกันข้าม คุณควรพยายามปลูกฝังทัศนคติเยี่ยงอัครสาวกเปาโล ซึ่งเขียนเกี่ยวกับงานรับใช้ของท่านว่า “ข้าพเจ้าก็ทำตัวเป็นทาสแก่คนทั้งปวงเพื่อว่าข้าพเจ้าจะได้คนมาให้มากที่สุด.”—1 โกรินโธ 9:19, ล.ม.
ถ้าคุณพบว่าคุณไม่กล้าพอที่จะพูดปกป้องความเชื่อของคุณ จงอย่าสิ้นหวัง. หนุ่มสาวพยานฯจำนวนมากเคยมีความรู้สึกแบบเดียวกัน. เจมัลบอกว่า “เมื่อผมยังเรียนอยู่ชั้นประถม ผมไม่รู้จะอธิบายกับคนอื่นอย่างไรในเรื่องที่ผมไม่ฉลองวันนักขัตฤกษ์ต่าง ๆ หรือเคารพธง หรือแม้แต่ที่ผมออกไปเผยแพร่ตามบ้าน.” อะไรได้ช่วยเขา? “คุณพ่อได้ช่วยผมเสมอ จนกระทั่งในที่สุดผมสามารถอธิบายเรื่องเหล่านี้ได้ และนี่ก่อผลต่างกันอย่างมาก.” หากคุณมีปัญหาเรื่องการอธิบายความเชื่อของคุณแก่คนอื่น บางทีคุณอาจขอคนที่ช่วยเหลือได้ ซึ่งก็คือบิดามารดาหรือสมาชิกที่อาวุโสในประชาคมคริสเตียน เพื่อจะช่วยคุณให้เข้าใจความรู้เกี่ยวกับพระเจ้าอย่างละเอียด.—เอเฟโซ 3:17-19.
เด็กสาวพยานฯวัย 16 ปีพูดว่า โครงการการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเป็นส่วนตัวได้ช่วยเธอให้กล้าที่จะชี้แจงเมื่ออยู่ที่โรงเรียน. เธอยอมรับว่า “ก่อนหน้านี้ เมื่อถูกเพื่อนร่วมชั้นล้อเลียนที่เป็นพยานฯ ฉันไม่รู้จะพูดอย่างไรดี เดี๋ยวนี้ เนื่องจากเป็นผู้เผยแพร่เต็มเวลา ฉันศึกษาคัมภีร์ไบเบิลมากขึ้น และฉันสามารถให้คำตอบได้. การอ่านให้ทันกับบทความล่าสุดในวารสารหอสังเกตการณ์ และตื่นเถิด! ช่วยฉันในการพูดคุยกับเพื่อน ๆ ที่โรงเรียนเกี่ยวกับความเชื่อของฉัน.”
จริงอยู่ ไม่มีสภาพการณ์ใดเหมือนกัน. สภาพแวดล้อมที่ต่างกันย่อมมีการตอบสนองต่างกันไป. อย่างไรก็ตาม เมื่อคุณถูกยั่วยุด้วยคำพูดที่ไม่ปรานี นับว่าไม่เหมาะเลยที่จะ “ทำชั่วตอบแทนชั่ว.” (โรม 12:17-21) คำตอบโต้อย่างเผ็ดร้อน ไม่ว่าจะฟังดูคมคายเพียงใด ก็มีแต่จะเพิ่มเชื้อเพลิงเข้าไปในกองไฟและอาจกระพือคำสบประมาทให้ลุกลามยิ่งขึ้น. ดังนั้น บางคนจึงพบว่าดีกว่าที่จะไม่ใส่ใจต่อคำเผ็ดร้อนนั้น.
ในบางกรณี เช่นเมื่อคำพูดเป็นเพียงความพยายามเพื่อให้เกิดความตลกขบขัน อาจเป็นการฉลาดเสียด้วยซ้ำหากจะหัวเราะกับคำพูดนั้น ๆ แทนที่จะรู้สึกขุ่นเคือง. (ท่านผู้ประกาศ 7:9) หากผู้เยาะเย้ยเห็นว่าคำพูดของตนแทบไม่มีผลหรือไม่มีผลอะไรเลยเขาก็อาจจะไม่มาก่อกวนอีก.—เทียบกับสุภาษิต 24:29; 1 เปโตร 2:23.
การชี้แจง
แต่บางครั้งก็เป็นไปได้ที่จะชี้แจงถึงความเชื่อของคุณอย่างรวบรัดและผ่อนสั้นผ่อนยาว. เด็กหญิงวัย 13 ปีได้ลองใช้วิธีนี้และเกิดผลดีอย่างน่าทึ่ง. เธอพูดว่า “ฉันกำลังเดินเข้าห้องเรียนเมื่อเพื่อนนักเรียนหลายคนเริ่มพูดเรื่องพยานพระยะโฮวาอย่างคะนองปาก. ฉันอยากชี้แจงบ้าง แต่พวกเขาพากันเดินหนีไปแถมยังหัวเราะใส่หน้าฉันอีก— ยกเว้นนักเรียนคนหนึ่ง.” นักเรียนที่เป็นพยานฯอธิบายว่า “เด็กหญิงที่ชื่อ เจมี หันมาหาฉันและบอกว่าเธอมีหนังสือ ท่านจะมีชีวิตอยู่ได้ตลอดไปในอุทยานบนแผ่นดินโลก.a เจมีพูดว่า เธอได้อ่านเกือบทั้งเล่มและสนใจอยากได้ข้อมูลมากขึ้นเกี่ยวกับความเชื่อของพวกเรา. ฉันจึงเริ่มการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับเจมี.” จากประสบการณ์ที่ให้กำลังใจแก่เธอ เด็กสาวพยานฯคนนั้นเริ่มคุยกับเด็กคนอื่น ๆ. เธอบอกว่า “ฉันไปเยี่ยมเพื่อนนักเรียนสี่คนเป็นประจำซึ่งแสดงความสนใจ และฉันแน่ใจว่าเขาจะศึกษาเร็ว ๆ นี้.”
หลายปีมาแล้วนักศึกษาคนหนึ่งในไลบีเรียประเทศแถบแอฟริกาก็เคยมีประสบการณ์ทำนองนี้. ระหว่างเรียนวิชาสังคมศาสตร์ เขาได้ชี้แจงด้วยความนับถือว่าในฐานะที่เขาเป็นพยานพระยะโฮวา เขาเชื่อเรื่องการมีผู้สร้างโลกแทนที่จะเชื่อวิวัฒนาการ. ทีแรกเพื่อนร่วมชั้นของเขาหลายคนรู้สึกไม่พอใจเป็นอย่างมาก. แต่ครูอนุญาตให้อธิบายความเชื่อของเขาต่อนักศึกษาร่วมชั้น หลังจากนั้นครูได้รับหนังสือชีวิต—เกิดขึ้นมาอย่างไร? โดยวิวัฒนาการหรือมีผู้สร้าง? b
หลังจากได้อ่านหนังสือแล้ว ครูบอกนักเรียนทั้งชั้นว่า “หนังสือนี้หาที่เปรียบไม่ได้. นับเป็นหนึ่งในบรรดาหนังสือวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุดเกี่ยวกับการสร้างโลกเท่าที่ครูเคยอ่าน.” แล้วครูจึงชี้แจงว่าตนตั้งใจจะใช้หนังสือมีผู้สร้าง ควบกับตำราเรียนสำหรับสองเทอมหน้า และครูได้บอกนักศึกษาทั้งชั้นให้รับหนังสือจากนักศึกษาพยานฯ. มีการจำหน่ายหนังสือนั้นหลายสิบเล่ม และนักศึกษาหลายคนได้เปลี่ยนท่าทีที่ตนเคยแสดงต่อพยานพระยะโฮวา!
ความเชื่อที่ถูกทดสอบเป็นความเชื่อที่เข้มแข็ง
จริงอยู่ บางครั้งคุณอาจรู้สึกหมดกำลังใจ เนื่องจากมีคนจำนวนมากไม่เข้าร่วม—หรือไม่เข้าใจ—จุดยืนของคุณที่อาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลัก. (เทียบกับบทเพลงสรรเสริญ 3:1, 2.) ดังนั้น เป็นการสุขุมที่จะเฟ้นหาเพื่อนในหมู่คนที่เชื่อมั่นและมีความเชื่อเหมือนกันกับคุณ. (สุภาษิต 27:17) แต่ถ้าที่โรงเรียนหรือในละแวกบ้านคุณไม่มีหนุ่มสาวที่มีความเชื่อเหมือนคุณล่ะ?
หากเป็นเช่นนั้น จำไว้ว่าพระยะโฮวาพระเจ้าทรงเป็นเพื่อนที่ใหญ่ยิ่งของคุณ และพระองค์ทรงสามารถค้ำจุนคุณ. พระองค์ทรงตกเป็นเป้าของการหมิ่นประมาทจากซาตานพญามารมาตลอดหลายพันปี. ดังนั้น เราย่อมแน่ใจได้ว่าตราบเท่าที่คุณยืนมั่นเพื่อความเชื่อ คุณทำให้พระหฤทัยของพระยะโฮวาชื่นบานยินดี. แนวทางดังกล่าวเปิดโอกาสให้พระองค์ ‘มีคำตอบให้ซาตานผู้ซึ่งหมิ่นประมาทพระองค์.’—สุภาษิต 27:11.
เป็นที่คาดหมายว่าความเชื่อของคุณจะถูกทดสอบเป็นครั้งคราว. (2 ติโมเธียว 3:12) กระนั้น อัครสาวกเปโตรรับรองกับพวกเราว่าคุณภาพความเชื่อของเราที่ผ่านการทดสอบแล้ว “มีคุณค่ามากยิ่งกว่าทองคำที่ต้องสูญเสียไป แม้จะมีการทดลองดูแล้วด้วยไฟก็ตาม.” (1 เปโตร 1:7, ล.ม.) ฉะนั้น เมื่อใดก็ตามที่คุณถูกเยาะเย้ยเพราะความเชื่อ จงถือเป็นโอกาสเสริมความเชื่อให้เข้มแข็งและแสดงถึงความอดทนของคุณ. อัครสาวกเปาโลได้เขียนว่าความอดทนกระทำให้เกิด “อุปนิสัยดี.” (โรม 5:3-5) ใช่แล้ว ความปรารถนาเพื่อให้ได้มาซึ่งความโปรดปรานจากพระยะโฮวาก่อให้เกิดแรงกระตุ้นอันทรงพลัง เพื่อคุณจะรับมือได้เมื่อคุณถูกเยาะเย้ยเพราะความเชื่อ!
[เชิงอรรถ]
a จัดพิมพ์โดยสมาคมว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์ แห่งนิวยอร์ก.
b จัดพิมพ์โดยสมาคมว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์แห่งนิวยอร์ก.
[รูปภาพหน้า 13]
คุณสามารถพูดปกป้องความเชื่อของคุณได้ไหม?