โลกใต้ดินของปารีส
โดยผู้สื่อข่าว ตื่นเถิด! ในฝรั่งเศส
ผมกดหมายเลขโทรศัพท์อย่างกระวนกระวายใจหวังให้มีใครสักคนรับสาย. “ฮัลโหล! ฮัลโหล!” ผมกรอกเสียงลงไป. “กุญแจรถของผมตกลงไปในท่อระบายน้ำทิ้ง! กรุณามาด่วนเลยนะครับ!” พนักงานหน่วยปฏิบัติการพิเศษอุโมงค์ระบายน้ำทิ้งมาถึงอย่างรวดเร็ว. งานของพวกเขาคือลอกท่อระบายน้ำทิ้งที่อุดตัน, ระบายน้ำที่ท่วมขังในห้องใต้ดินให้แห้ง, และเก็บกุญแจ แว่นตา กระเป๋าธนบัตร และแม้แต่สัตว์เลี้ยงซึ่งมักตกลงไปในท่อระบายน้ำทิ้งซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 18,000 ท่อในกรุงปารีส เพื่อมอบคืนให้เจ้าของ. พวกเขาเก็บกุญแจของผมขึ้นมาได้ และด้วยความโล่งอก ผมขอบคุณพวกเขาด้วยใจจริง.
วันต่อมา ผมตัดสินใจไปเยี่ยมชม มูเซ เด เซกู (พิพิธภัณฑสถานอุโมงค์ระบายน้ำทิ้ง) บนฝั่งด้านซ้ายของแม่น้ำเซน ตรงข้ามกับท่าเรือนำเที่ยวแม่น้ำที่มีชื่อเสียงของเรา ใกล้ ๆ กับหอไอเฟล. เป็นเวลาประมาณ 130 ปีแล้วที่ปารีสได้เปิดให้ชมโลกใต้ดินของนครแห่งนี้ด้วยความภาคภูมิ. ผมค้นพบเหตุผลในเรื่องนี้ด้วยการเลียนแบบผู้คนที่สนใจใคร่รู้มากกว่า 90,000 คนซึ่งมาเยือนพิพิธภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแห่งนี้ในแต่ละปี. ตามผมมาซิ ผมจะพาไปดูใกล้ ๆ ให้ประจักษ์ถึงสิ่งที่ วิกเตอร์ ฮูโก นักเขียนที่มีชื่อเสียงชาวฝรั่งเศสแห่งศตวรรษที่ 19 เรียกไว้ว่า “ลำไส้ของเลวีอาทาน”—อุโมงค์ระบายน้ำทิ้งของกรุงปารีส.
“ลำไส้” ที่เข้าไปได้ง่าย
เมื่อลงไปใต้ดิน 5 เมตร ผมก็เห็นของชิ้นแรกที่พิพิธภัณฑสถานจัดแสดงไว้—หนูสตัฟฟ์. เห็นแล้วขนลุกเลยทีเดียว! กล่าวกันว่า เมื่อเทียบจำนวนหนูกับจำนวนประชากรที่อยู่ในปารีส ทุก ๆ คนจะมีหนูอยู่สามตัว ซึ่งกระเพาะพวกมันย่อยสารพิษที่แรงที่สุดได้ดีจนแทบไม่น่าเชื่อ. พวกมันอิ่มหมีพีมันอย่างแน่นอน. แต่ละวัน พวกหนูกินของเสีย 100 ตันหรือหนึ่งในสามของสิ่งปฏิกูลที่อยู่ในอุโมงค์ระบายน้ำทิ้ง.
ก้อนหิน, ตะปู, กุญแจ, และของหนัก ๆ อย่างอื่นปนเปอยู่ด้วยกันกับน้ำทิ้งและน้ำฝนเขรอะไปทั้งอุโมงค์. ท่ามกลางเสียงน้ำหยดดังติ๋ง ๆ ผมตรวจดูเครื่องกำจัดสิ่งอันไม่พึงประสงค์ทั้งหลายออกไปจาก “ลำไส้” ขนาดมหึมานี้ซึ่งยาวถึง 2,100 กิโลเมตร. แต่ละปี พนักงานลอกอุโมงค์นับพันคนขจัดสิ่งปฏิกูล 15,000 ลูกบาศก์เมตร. ความมืด, น้ำสกปรกที่สาดกระเซ็น, ผนังที่ลื่นเป็นเมือก, และการเพิ่มสูงขึ้นอย่างฉับพลันของระดับน้ำสร้างความลำบากให้แก่พนักงานลอกอุโมงค์ไม่น้อยทีเดียว.
อนึ่ง ท่อที่คดเคี้ยวไปมาซึ่งอยู่ใกล้กับเพดานอุโมงค์ระบายน้ำทิ้งนั้นเป็นท่อขนาดใหญ่ซึ่งข้างในเป็นเครือข่ายขนาดมหึมาของท่อน้ำประปา, สายโทรศัพท์, และสายสัญญาณไฟจราจร.
เริ่มโดยชาวโรมัน
ชาวโรมันเป็นพวกแรกที่ทำให้ปารีสมีอุโมงค์ระบายน้ำทิ้ง. อุโมงค์ระบายน้ำทิ้งของชาวโรมันซึ่งยาวประมาณ 18 เมตรยังคงอยู่ใต้ซากปรักหักพังของโรงอาบน้ำร้อนของชาวโรมันในย่านลาติน ควอเตอร์. แต่เมื่อจักรวรรดิโรมันล่มสลาย สุขอนามัยก็ถูกหลงลืม. ปารีสยังคงสกปรกและขาดสุขอนามัยที่ดีอยู่อย่างนั้นหลายศตวรรษ โดยมีเพียงทางระบายน้ำเสียแบบง่าย ๆ (ร่องระบายน้ำตรงกลางถนน) หรือคูระบายน้ำเสีย. ร่องระบายน้ำเหล่านั้นส่งกลิ่นเหม็นคลุ้งและเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค. ในปี 1131 พระโอรสองค์โตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 6 สิ้นพระชนม์ด้วยโรคติดเชื้อหลังจากตกลงไปในร่องระบายน้ำ.
ร่องระบายน้ำถูกใช้เป็นที่ทิ้งขยะ และท่อระบายน้ำเสียแบบมีฝาปิดมิดชิดไม่กี่ท่อซึ่งเพิ่งสร้างขึ้นใหม่ก็กลายเป็นที่ทิ้งขยะเหมือนกันซึ่งทำให้เกิดการอุดตันได้ง่าย. ที่ทำให้แย่หนักลงไปอีกก็คือ เมื่อระดับน้ำในแม่น้ำเซนขึ้นสูง โคลนและของเสียที่เน่าเหม็นในอุโมงค์ระบายก็ถูกตีกลับ. ในตอนนั้น ระบบระบายน้ำทิ้งของปารีสเล็กมาก. ในปี 1636 อุโมงค์ระบายน้ำทิ้งมีความยาวเพียง 23 กิโลเมตรและรองรับประชากรถึง 415,000 คน. อีก 150 ปีต่อมา อุโมงค์ระบายน้ำทิ้งนี้ยาวขึ้นกว่าเดิมเพียงสามกิโลเมตร. พอถึงสมัยของนะโปเลียน อุโมงค์ระบายน้ำทิ้งนี้ก็ประสบปัญหารุนแรงเนื่องจากการอุดตัน.
ในศตวรรษที่ 19 ได้มีการตรวจสอบและวาดแผนที่อุโมงค์ระบายน้ำทิ้งที่มีอยู่. ปรากฏว่าอุโมงค์เหล่านี้ประกอบไปด้วยอุโมงค์เกือบสองร้อยอุโมงค์ หลายอุโมงค์ไม่เป็นที่รู้จักมาก่อน. ดินโคลนหลายตันที่สะสมมานานหลายศตวรรษถูกขจัดออกไปอย่างไร? มีข่าวลือว่าพบของมีค่าใต้ถนนในกรุงปารีส. ด้วยเหตุนี้เอง นักล่าสมบัติผู้ละโมบจึงยกโขยงกันเข้ามา. คนเหล่านี้ตะลุยโคลนเลน, คัดแยกเหรียญ, เพชรพลอย, และอาวุธต่าง ๆ จากโคลน.
การจัดระบบอุโมงค์ระบายน้ำทิ้ง
ในที่สุด ก็ได้มีการจัดระบบอุโมงค์ระบายน้ำทิ้ง, ปรับปรุงให้ทันสมัยขึ้น, ขยาย, และเชื่อมต่อกับบ้านแต่ละหลัง. มีการใช้ท่อต่าง ๆ ที่ใหญ่พอจะรับมือภาวะน้ำท่วมฉับพลันได้. ในปี 1878 ร่องน้ำที่ลึกพอจะเดินเรือได้ยาว 650 กิโลเมตรไหลอยู่ในอุโมงค์ใต้ดินขนาดใหญ่. วิกเตอร์ ฮูโก เขียนไว้ว่า “อุโมงค์ระบายน้ำทิ้งสะอาดสะอ้าน . . . แต่งตัวเสียใหม่อย่างดี.”
ในระหว่างศตวรรษที่ 20 มีการเพิ่มขนาดระบบระบายน้ำทิ้งขึ้นเป็นสองเท่า. และอุโมงค์ระบายน้ำทิ้งได้กลายเป็นภาพสะท้อนที่แจ่มชัดของนครแห่งนี้. ในแง่ใด? อุโมงค์ระบายน้ำทิ้งแต่ละอุโมงค์มีชื่อถนนและเลขที่ของอาคารบ้านเรือนที่อยู่ข้างบนเขียนบอกไว้ให้ทราบ. การปรับปรุงหลายอย่างยังคงดำเนินต่อไปในโครงการซ่อมแซมปรับปรุงที่ใช้เงินถึง 330 ล้านดอลลาร์ซึ่งเริ่มในปี 1991. การซ่อมแซมปรับปรุงระบบระบายน้ำทิ้งซึ่งมีความสำคัญมากในช่วงสิบปีมานี้ ซึ่งรองรับน้ำวันละ 1.2 ล้านลูกบาศก์เมตรนั้น รวมถึงการติดตั้งเครื่องทำความสะอาดอัตโนมัติและระบบควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์.
ด้วยความรู้สึกอยากสูดอากาศเหนือพื้นดินของปารีสเต็มที ผมมาถึงจุดสิ้นสุดของการเยี่ยมชม. อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวใต้ดินของผมยังไม่จบแค่นี้. คนขายของที่ระลึกแนะนำว่า “ถ้าอยากจะเห็นที่ลึกที่สุดในปารีส ต้องไปชมสุสานใต้ดิน. มีกระดูกของคนหกล้านคนกองอยู่ใต้ดินลึกลงไป 20 เมตร.” กระดูกพวกนี้มาจากไหน?
คริสตจักรทำให้อากาศเป็นพิษ
สุสานใต้ดินของปารีสรับกระดูกมาไว้ในนั้นเฉพาะศตวรรษที่ 18 ศตวรรษเดียว. นับตั้งแต่ยุคกลางเป็นต้นมา ประชาชนฝังศพในโบสถ์หรือละแวกใกล้เคียง. ธรรมเนียมดังกล่าวนี้ทำให้คริสตจักรได้เงินมากแต่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างยิ่ง เพราะสุสานอยู่กลางเมือง. สุสานนี้กลายเป็นฝันร้ายสำหรับชาวบ้านที่อยู่ใกล้ ๆ กับแซ-ซินโนซัง สุสานใหญ่ที่สุดในปารีส ซึ่งเนื้อที่ขนาด 7,000 ตารางเมตรของสุสานนี้รับศพจากโบสถ์ต่าง ๆ ประมาณ 20 แห่ง ตลอดจนศพที่ไม่มีญาติและผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของโรคระบาด.
ในปี 1418 โรคระบาดใหญ่ทำให้มีซากศพประมาณ 50,000 ศพ. ในปี 1572 เหยื่อนับหมื่นนับแสนคนจากการสังหารหมู่วันเซนต์บาร์โทโลมิวถูกยัดเข้าไว้ในสุสาน แซ-ซินโนซัง.a มีเสียงมากมายเรียกร้องให้ปิดสุสานนี้เสีย. ศพประมาณสองล้านศพ บางครั้งกองซ้อนกันเป็นพะเนินสูงถึง 10 เมตร ทำให้ระดับพื้นดินสูงขึ้นมากกว่า 2 เมตร. สุสานนี้เป็นแหล่งแพร่เชื้อโรค และส่งกลิ่นเน่าเหม็นซึ่งกล่าวกันว่าเป็นตัวการทำให้นมหรือไวน์เปรี้ยว. อย่างไรก็ตาม พวกนักบวชคัดค้านการปิดสุสานของนครแห่งนี้.
ในปี 1780 หลุมฝังศพรวมของชุมชนหลุมหนึ่งระเบิดออกและพ่นซากศพเข้าไปในห้องใต้ดินของชาวบ้านแถวนั้น. สุดจะทนได้อีกต่อไป! สุสานนั้นถูกปิด; และได้มีการห้ามฝังศพในนครปารีส. ซากศพในหลุมฝังศพหมู่ถูกลำเลียงไปไว้ที่เหมืองหิน โทมบ์-อิสวาร์ ซึ่งเป็นเหมืองร้าง. ตลอดช่วงเวลา 15 เดือน แต่ละคืนจะมีขบวนรถที่น่าขนลุกจัดการเคลื่อนย้ายกระดูก. นอกจากนั้น ยังได้มีการเคลื่อนย้ายกระดูกที่อยู่ในสุสานอีก 17 แห่งและสถานนมัสการ 300 แห่งด้วย. กระดูกถูกโยนลงไปในปล่องลึก 17.5 เมตร ซึ่งปัจจุบันมีบันไดจากถนนลงไปจนถึงสุสานใต้ดินนี้.
เยี่ยมสุสานใต้ดินแห่งปารีส
จากจัตุรัส เดนแฟร์-โรเชอโร ซึ่งอยู่ทางด้านใต้ของลาติน ควอเตอร์แห่งปารีส ผมเดินลงไปตามบันได 91 ขั้นของสุสานใต้ดิน. ในปี 1787 สตรีผู้สูงศักดิ์หลายคนจากราชวังกษัตริย์เป็นกลุ่มแรกที่เข้าชมสุสานใต้ดินแห่งนี้โดยอาศัยแสงจากคบไฟ. ปัจจุบันมีผู้เข้าชมประมาณ 160,000 คนในแต่ละปี.
หลังจากลงบันไดจนสุดแล้ว ก็จะเห็นทางเดินแคบยาวต่อเนื่องกันไปจนราวกับจะไม่มีที่สิ้นสุดซึ่งเป็นที่เก็บซากศพ. ผมเดินอย่างระมัดระวัง ครุ่นคิดถึงข้อเท็จจริงที่ว่าสุสานใต้ดินนี้มีพื้นที่มากกว่า 11,000 ตารางเมตร. ชายคนหนึ่งชื่อ ฟิลิแบร์ แอสแปร์ สร้างชื่อเสียงที่คงไม่มีใครอยากเอาอย่าง เมื่อเขาพยายามหาทางทะลุผ่านทางเดินที่ยาวหลายร้อยกิโลเมตรนี้. ในปี 1793 เขาหลงทางในทางเดินอันวกวนนี้. มีคนพบโครงกระดูกของเขาในอีก 11 ปีต่อมา โดยทราบว่าเป็นเขาจากกุญแจและเสื้อผ้า.
ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ใต้นครปารีสได้ถูกขุดทำเหมืองหิน. เป็นเวลานานที่การทำเหมืองหินไม่มีการควบคุม. แต่ในปี 1774 รือดาแฟร์ (ถนนนรก ปัจจุบันคือถนน เดนแฟร์-โรเชอโร) ถล่มเป็นทางยาว 300 เมตร กลายเป็นหลุมลึกถึง 30 เมตร. ปารีสกลายเป็นสถานอันตรายที่อาจเกิดการยุบถล่ม. นักเขียนคนหนึ่งกล่าวอย่างวิตกว่า หินที่อยู่ตามอาคารต่าง ๆ ซึ่ง “เราเห็นอยู่เหนือพื้นดินกำลังขาดหายไปจากใต้ดิน.” เพื่อจะค้ำทางเดินใต้ดินไว้ไม่ให้ยุบพังลงมา จึงได้มีการสร้างซุ้มโค้งอันงดงามค้ำเอาไว้.
“น่าเสียดายที่พวกเขาไม่ได้ปูพื้นตอนที่สร้างทางเดินใต้ดินนี้” ผมโอดครวญเมื่อเห็นรองเท้าของตัวเองเปรอะด้วยโคลน. โดยค่อย ๆ เดินลุยโคลนลื่น ๆ ในที่สุดผมก็สามารถเกาะประตูทองสัมฤทธิ์บานหนึ่งที่หนักอึ้ง. หลังประตูนั้นเป็นเฉลียงทางเดินซึ่งผนังเป็นกระดูกมนุษย์. กะโหลกที่ดูน่าเกลียดน่ากลัวและกระดูกขาส่วนบนกับกระดูกหน้าแข้งที่แห้งเปราะถูกเรียงไว้เป็นแถว และเรียงเป็นรูปไม้กางเขนบ้างรูปพวงหรีดบ้าง เป็นภาพที่ให้ความรู้สึกหม่นเศร้าชอบกล. มีแผ่นหินหลายแผ่นสลักข้อความจากคัมภีร์ไบเบิลและบทกวีที่แสดงถึงการคิดใคร่ครวญของมนุษย์เราถึงเรื่องความหมายของชีวิตและความตาย.
เมื่อออกจากสุสานใต้ดิน ผมล้างโคลนออกจากรองเท้าในร่องน้ำ ทำให้แน่ใจว่ากุญแจของผมจะไม่หล่นลงไปเยือนท่อระบายน้ำทิ้งของปารีสอีก! การเยี่ยมชมโลกใต้ดินอันน่าทึ่งของนครปารีสครั้งนี้นับเป็นประสบการณ์ที่ไม่ธรรมดาซึ่งผมคงไม่อาจลืมได้ง่าย ๆ. ไม่ต้องสงสัย ปารีสมีอะไรมากมายหลายอย่างนอกเหนือจากที่เห็นกันเพียงผิวเผิน.
[เชิงอรรถ]
a ดู ตื่นเถิด! (ภาษาอังกฤษ) ฉบับ 22 พฤษภาคม 1997 หน้า 7, 8.
[รูปภาพหน้า 25]
พิธีเปิดอุโมงค์ระบายน้ำทิ้งของปารีส
[ที่มาของภาพ]
Valentin, Musée Carnavalet, © Photothèque des Musées de la Ville de Paris/Cliché: Giet
[รูปภาพหน้า 25]
เยี่ยมชมอุโมงค์ระบายน้ำทิ้ง
[ที่มาของภาพ]
J. Pelcoq, The Boat, Musée Carnavalet, © Photothèque des Musées de la Ville de Paris/Cliché: Giet
[รูปภาพหน้า 25]
ภาพตัดขวางของอุโมงค์ระบายน้ำทิ้งของปารีส
[ที่มาของภาพ]
Ferat, Musée Carnavalet, © Photothèque des Musées de la Ville de Paris/Cliché: Briant
[รูปภาพหน้า 26]
กะโหลกที่ดูน่าเกลียดน่ากลัวและกระดูกขาส่วนบนกับกระดูกหน้าแข้งซึ่งถูกเรียงไว้เป็นแถว และเรียงเป็นรูปไม้กางเขนบ้างรูปพวงหรีดบ้าง
[รูปภาพหน้า 26]
คำจารึกที่ทางออก: “เหล็กในของความตายนั้นคือความบาป.”—1 โกรินโธ 15:56
[รูปภาพหน้า 26]
เครื่องทำความสะอาดอุโมงค์ระบายน้ำทิ้ง
[ที่มาของภาพหน้า 24]
Map background on pages 24-7: Encyclopædia Britannica/9th Edition (1899)