มาดริด—เมืองหลวงที่สร้างสำหรับกษัตริย์
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในสเปน
เมืองหลวงบางแห่งของโลกตั้งอยู่ใกล้อ่าวที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและใช้เป็นเมืองท่าที่คับคั่งจอแจมานานแล้ว. เมืองหลวงบางแห่งก็ตั้งอยู่ ณ บริเวณท่าข้ามที่ใช้กันบ่อยและกลายเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงอย่างแทบจะเลี่ยงไม่พ้น. เมืองหลวงของยุโรปหลายเมืองเป็นเมืองสำคัญตั้งแต่ยุคโรมัน. แต่กรุงมาดริด เมืองหลวงของสเปน หาได้เป็นเช่นนั้น. เมืองนี้มีพลเมืองไม่ถึง 10,000 คนในปี 1561 ตอนที่เมืองโดดเด่นขึ้นมาอย่างฉับพลัน.
เหตุผลก็ง่าย ๆ. ฟิลิปที่ 2 กษัตริย์แห่งสเปนและจักรวรรดิอันไพศาลที่อยู่ไกลโพ้น ทรงรู้สึกเบื่อหน่ายกับการย้ายพระตำหนักจากเมืองหนึ่งในแคว้นคาสทีลไปยังอีกเมืองหนึ่ง. เนื่องจากคลั่งไคล้การล่าสัตว์มาก พระองค์ทรงประสงค์จะมีพระตำหนักถาวรตั้งอยู่ในระยะที่สะดวกแก่การไปมายังเขตล่าสัตว์ที่ทรงโปรด. กรุงมาดริดสนองความต้องการดังกล่าวได้อย่างเหมาะเจาะ และเมืองนี้ยังมีน้ำดื่มที่สะอาด, มีพื้นที่ให้ขยาย, อีกทั้งมีที่นาอันอุดมสมบูรณ์อยู่ใกล้ ๆ.
หลังจากตัดสินพระทัยแล้ว กษัตริย์ฟิลิปทรงริเริ่มโครงการก่อสร้างเพื่อทำให้มาดริดเป็นเมืองหลวงที่เหมาะ. ภายหลัง กษัตริย์สเปนหลายพระองค์ยังได้ตบแต่งเมืองนี้เพิ่มอีก ทำให้กรุงมาดริดมีความเกี่ยวพันกับราชวงศ์ของกษัตริย์อย่างที่ไม่มีใดเหมือน. พอถึงศตวรรษที่ 17 มาดริดจึงกลายเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในสเปน. ปัจจุบัน เมืองนี้เป็นนครหลวงสมัยใหม่ที่เจริญรุ่งเรืองซึ่งมีประชากรมากกว่าสามล้านคน.
เนื่องจากกรุงมาดริดมีความเกี่ยวพันอย่างใกล้ชิดกับราชวงศ์ของสเปน อาคารที่มีชื่อเสียงทางประวัติศาสตร์หลายหลังจึงเกี่ยวข้องกับราชวงศ์สำคัญสองราชวงศ์. เขตเก่าแก่ที่สุดของเมืองนี้เรียกว่า มาดริดแห่งออสเตรีย มีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ออสเตรียหรือฮับสบูร์กแห่งศตวรรษที่ 16 และ 17. ราชวงศ์ต่อมาเป็นที่รู้จักว่ามาดริดแห่งบูร์บง เป็นราชวงศ์ปัจจุบันที่มีมาตั้งแต่ปี 1700.
ตลอดหลายศตวรรษ กษัตริย์สเปนสนับสนุนหรือประทานเงินสำหรับการก่อสร้างอาคารที่สง่างามหลายหลังในเมืองหลวง. ภาพวาดอันล้ำค่าที่มีการเก็บรวบรวมไว้ในอาคารเหล่านั้น ปัจจุบันกลายเป็นจุดศูนย์รวมของหอศิลป์แห่งชาติของกรุงมาดริด. และที่ดินกว้างใหญ่ในกรุงมาดริดซึ่งเป็นของกษัตริย์ในที่สุดได้กลายเป็นสวนสาธารณะและสถานพักผ่อนหย่อนใจที่สำคัญของเมือง.
เมืองสีเขียว
เนื่องจากกษัตริย์ทรงสนพระทัยเรื่องการล่าสัตว์และเรื่องสวน จึงมีการสงวนพื้นที่สีเขียวไว้มากพออยู่แล้วตอนที่เริ่มมีการขยายกรุงมาดริดอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน. ทั้ง ๆ ที่เขตเมืองขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่สิบปีมานี้ แต่พื้นที่สวนสาธารณะอันกว้างใหญ่ก็ยังแผ่ขยายลงไปทางใต้โดยเฉพาะจากเทือกเขาไปจนถึงประตูสู่ใจกลางเมือง.
สวนสาธารณะแห่งหนึ่งในกรุงมาดริด ซึ่งเดิมเป็นเขตล่าสัตว์ของกษัตริย์นั้นมีชื่อว่า กาซา เด กัมโป ตั้งอยู่ใกล้พระราชวัง และตอนนี้สวนดังกล่าวกลายเป็นสวนสัตว์ที่ทันสมัย. ทางเหนือของกรุงมาดริดมีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลเป็นป่าไม้โอ๊กพื้นเมืองซึ่งเป็นที่รู้จักกันว่าเนินแห่งเอล ปาร์โด ซึ่งแผ่ไปถึงย่านใจกลางเมืองในรัศมี 10 กิโลเมตร.
กษัตริย์ฟิลิปที่ 2 ได้กำหนดขอบเขตของสวนสำหรับการล่าสัตว์แห่งนี้ขึ้นไม่นานหลังจากตั้งให้กรุงมาดริดเป็นเมืองหลวง. ที่ประทับระหว่างการล่าสัตว์ของกษัตริย์ ซึ่งพระราชบิดาของพระองค์ได้สร้างขึ้นในตอนแรก ยังคงทำให้สวนนี้งามเด่นอยู่. ปัจจุบัน ป่าไม้บริเวณนี้กลายเป็นสวนของท้องถิ่นที่มีการคุ้มครองสัตว์สองชนิดในยุโรปที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากที่สุด ซึ่งก็คือนกอินทรีจักรพรรดิของสเปนและแร้งดำของยุโรป.
สวนสาธารณะเรตีโรเคยเป็นสวนหลวงที่มีพื้นที่กว้างใหญ่อยู่ใจกลางกรุงมาดริด และเป็นที่ซึ่งบรรดาเชื้อพระวงศ์ใช้จัดกีฬาสู้วัวกระทิงและกระทั่งใช้เป็นยุทธการทางทะเล. สาธารณชนได้รับอนุญาตให้เข้าไปในสวนสาธารณะแห่งนี้ได้ในศตวรรษที่ 18 โดยมีเงื่อนไขว่า ต้องแต่งตัวอย่างเหมาะสม. แน่นอน ปัจจุบันกฎเกณฑ์เรื่องการแต่งกายเข้มงวดน้อยลง และมาดรีเลโญส (ชาวเมืองมาดริด) จึงแห่กันไปที่สวนอันเป็นที่นิยมนี้ทุกสุดสัปดาห์. ปราสาทแก้วเจียระไนที่สร้างจากเหล็กดัดและกระจก อีกทั้งระเบียงรูปครึ่งวงกลมซึ่งทำให้มองเห็นเรือที่แล่นอยู่ในทะเลสาบนั้น เป็นเพียงจุดที่น่าประทับใจสองจุดในสวนนี้ ซึ่งยังมีอีกหลายจุด.
ชาลส์ที่ 3 กษัตริย์แห่งศตวรรษที่ 18 ซึ่งมีความสนพระทัยอย่างแรงกล้าในเรื่องศิลปะและวิทยาศาสตร์ ได้ตั้งสวนพฤกษศาสตร์หลวงไว้ข้างสวนสาธารณะเรตีโร. ตลอดสองร้อยห้าสิบปีมานี้ สวนดังกล่าวมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในเรื่องพันธุ์ไม้ของอเมริกากลางกับอเมริกาใต้.
ถนนแห่งศิลปะ
เนื่องจากความเอื้อเฟื้อของราชวงศ์สเปน กรุงมาดริดยังเป็นที่ตั้งหอศิลป์ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในโลกด้วย. พิพิธภัณฑสถานปราโดถูกสร้างขึ้นตามพระบัญชาของกษัตริย์ชาลส์ที่ 3 ซึ่งเป็นที่รู้จักกันตามประวัติศาสตร์ว่าเป็นนายกเทศมนตรีที่โดดเด่นของกรุงมาดริด. งานศิลป์ส่วนใหญ่เหล่านี้เป็นของกษัตริย์สเปน ซึ่งได้เริ่มสะสมผลงานศิลปะมากว่าสี่ร้อยปีแล้ว.
ในศตวรรษที่ 17 เบลัซเกซ จิตรกรประจำราชสำนักไม่เพียงแต่วาดภาพงานชิ้นเอกด้วยตัวเองเท่านั้น แต่ยังได้เดินทางไปทั่วยุโรปเพื่อซื้อภาพวาดที่ดีเลิศสำหรับกษัตริย์ฟิลิปที่ 4 ผู้ทรงอุปถัมภ์เขา. ในศตวรรษต่อมา ฟรันซิสโก เด โกยา ได้เป็นจิตรกรประจำราชสำนักอย่างเป็นทางการ. ไม่แปลกที่พิพิธภัณฑสถานปราโดจะมีผลงานชิ้นเยี่ยมมากมายที่วาดโดยจิตรกรผู้มีชื่อเสียงสองคนนี้.
หอศิลป์ซึ่งถือกันว่ามีค่าสูงอีกสองแห่ง คือพิพิธภัณฑสถานทิวซัน-บอร์นามิซา และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเซนโตร เด อาร์เต เรย์นา โซฟีอา ตั้งอยู่บนถนนที่มีต้นไม้เรียงรายอยู่เป็นแถวเหมือนกับพิพิธภัณฑสถานปราโด. ถนนที่สวยงามนี้ซึ่งมีชื่อว่าถนนแห่งศิลปะ ยังมีการประดับด้วยรูปปั้นมากมายที่มีชื่อเสียงของกรุงมาดริด.
เช่นเดียวกับหลายเมือง กรุงมาดริดมีทั้งความรุ่งเรืองและความเสื่อม. เมืองหลวงนี้ถูกปิดล้อมเกือบตลอดเวลาที่เกิดสงครามกลางเมืองในสเปน (ปี 1936-1939) และยังคงเห็นรอยกระสุนบางรอยซึ่งเกิดจากการสู้รบนั้นได้บนซุ้มประตูอันเป็นอนุสรณ์ที่รู้จักกันว่า ปเวร์ตา เด อัลกาลา. อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ตอนเริ่มต้น ผู้ก่อตั้งเมืองต้องการให้กรุงมาดริดเป็นเมืองที่มีวัฒนธรรมซึ่งผู้คนสามารถอยู่ร่วมกันได้.
นอกเหนือจากสิ่งอื่น ๆ แล้ว กฎบัตรของกรุงมาดริดซึ่งมีการลงนามเมื่อปี 1202 ได้กำหนดไว้ว่า พลเมืองจะต่อสู้กันแบบตัวต่อตัว, ถือปืน, หรือพูดหยาบหยามหรือสบประมาทกันไม่ได้. นอกจากนี้ มีการคาดหมายว่าพวกเขาต้องรักษาเมืองให้สะอาด, หลีกเลี่ยงการฉ้อโกงชาวเมืองด้วยกัน, และดูแลค่าใช้จ่ายในงานฉลองสมรสให้สมเหตุผล. สอดคล้องกับความประสงค์ดังกล่าว กรุงมาดริดในปัจจุบันจึงเป็นเมืองที่สะอาด แม้ว่างานฉลองสมรสเป็นอะไรที่แพงมาก! ผู้มาเยือนที่ต้องการรับประทานอาหารราคาถูกอาจจะอยากลองชิมตาปัสแบบพื้น ๆ ดูบ้าง ซึ่งเป็นอาหารคำเล็ก ๆ รสชาติดีที่เสิร์ฟพร้อมกับเครื่องดื่มเย็นในร้านอาหารหลายแห่ง.
เมื่อไม่กี่ปีมานี้กรุงมาดริดได้ขยายออกไปมากทีเดียว. ปัจจุบันเมืองนี้มีระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพและมีสาธารณูปโภคที่จำเป็นทุกอย่างเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวนับล้านคนที่มาเยือนในแต่ละปี. พยานพระยะโฮวาหลายพันคนจากสเปนและประเทศอื่น ๆ จะมาเยือนเมืองนี้ในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม. พวกพยานฯ วางแผนจะจัดการประชุมนานาชาติขึ้นในสนามฟุตบอลขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของกรุงมาดริด. ด้วยเหตุนี้ ผู้เข้าร่วมการประชุมหลายคนจะมีโอกาสได้เห็นเมืองหลวงที่สร้างขึ้นสำหรับกษัตริย์ด้วยตาของเขาเอง.
[กรอบ/ภาพหน้า 24]
พระราชวังที่เหมาะสำหรับกษัตริย์
พระบรมมหาราชวัง. บางทีอาจเป็นอาคารที่น่าประทับใจที่สุดของกรุงมาดริด พระราชวังนี้ตั้งอยู่บนที่ที่เคยเป็นป้อมปราการของพวกมัวร์ในยุคโบราณ กรุงมาดริดถูกสร้างขึ้นเป็นครั้งแรกรอบ ๆ บริเวณนี้. วังนี้ใช้จัดงานสำคัญต่าง ๆ ของรัฐ แม้ว่าตั้งแต่ปี 1931 เป็นต้นมา ไม่ได้ใช้เป็นที่ประทับของกษัตริย์. สวนที่จัดอย่างเป็นกิจจะลักษณะทอดยาวเป็นแนวจากวังไปถึงแม่น้ำที่อยู่เบื้องล่าง.
วังอารังเควซ. อารังเควซอยู่ห่างจากเมืองหลวงประมาณ 50 กิโลเมตรลงไปทางใต้ ริมแม่น้ำเตกัส. สภาพแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์และภูมิอากาศที่อบอุ่นกว่าทำให้วังนี้เป็นที่โปรดปรานของกษัตริย์ฟิลิปที่ 2 ผู้ทรงริเริ่มการก่อสร้างพระราชวัง. ราชวังและสวนต่าง ๆ ที่สวยงามสร้างเสร็จในศตวรรษที่ 18 โดยกษัตริย์ชาลส์ที่ 3.
เอล เอสโกเรียล. กษัตริย์ฟิลิปที่ 2 เริ่มการก่อสร้างอารามที่ใหญ่โต, ห้องสมุด, สุสาน, และพระราชวังหลังนี้ไม่นานหลังจากที่พระองค์ทรงตั้งให้กรุงมาดริดเป็นเมืองหลวง. การก่อสร้างนี้ใช้เวลากว่า 20 ปี ที่นี่กลายเป็นศูนย์กลางแห่งจักรวรรดิของฟิลิป เป็นสถานที่ที่ตกแต่งอย่างเรียบง่ายซึ่งพระองค์จะทรงงานได้โดยไม่มีใครรบกวน. วังนี้เป็นหอเก็บเอกสารสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของสเปน รวมทั้งคัมภีร์ไบเบิลฉบับภาษาสเปนบางฉบับในยุคกลางด้วย.
[กรอบ/ภาพหน้า 25]
พระราชวังเอล ปาร์โด. พระตำหนักของกษัตริย์ที่ใช้ประทับระหว่างการล่าสัตว์หลังนี้ตั้งอยู่ในสวนประจำท้องถิ่นซึ่งอยู่ติดกับกรุงมาดริด. พระราชบิดาของกษัตริย์ฟิลิปที่ 2 ได้ทรงสร้างอาคารหลังเดิม และลานพระราชวังชั้นในมีอายุนับจากช่วงเวลานั้น.
ในลา กรังฮา เด ซาน อิลเดฟอนโซ ซึ่งขึ้นไปทางเหนือ 80 กิโลเมตร มีพระราชวังที่โอ่อ่าหรูหราอย่างยิ่ง. วังนี้สร้างโดยกษัตริย์ฟิลิปที่ 5 โดยเลียนแบบพระราชวังแวร์ซายที่พระองค์เคยประทับในวัยเยาว์. สวนและน้ำพุที่สร้างขึ้นอย่างประณีตในวังนี้ผิดแผกแตกต่างจากป่าสนอันกว้างใหญ่ไพศาลซึ่งปกคลุมภูเขาที่อยู่ล้อมรอบ.
[ที่มาของภาพหน้า 24]
Foto: Cortesía del Patrimonio Nacional, Madrid, España
[กรอบ/ภาพหน้า 26]
อนุสาวรีย์ที่มีชื่อเสียงของกรุงมาดริด
ปลาซา มาโยร์ (1). เป็นเวลากว่าสามศตวรรษมาแล้วที่มีการใช้จัตุรัสแห่งนี้เป็นตลาดและสถานที่สำคัญในการจัดงานสำหรับสาธารณชน เช่น กีฬาสู้วัวกระทิง, พระราชพิธีราชาภิเษก, และการประหารชีวิตผู้ที่ถูกเรียกว่าพวกนอกรีต. ภาพวาดหนึ่งที่อยู่ในพิพิธภัณฑสถานปราโด (2) เป็นภาพที่เด่นชัดของจัตุรัสปลาซา มาโยร์ ระหว่างที่มีการพิพากษาโทษพวกนอกรีตต่อสาธารณชน ซึ่งจัดขึ้นในกรุงมาดริดเมื่อปี 1680.
ศาลาประชาคมตั้งอยู่ในปลาซา เด ลา วียา จัตุรัสเก่าแก่ที่น่าชม ซึ่งเมืองนั้นได้จัดการประชุมอย่างเป็นทางการครั้งแรกที่นั่น. จัตุรัสนี้มีอาคารเก่าแก่อยู่รอบด้านและยังคงไว้ซึ่งบรรยากาศของกรุงมาดริดแห่งศตวรรษที่ 16. ไม่ไกลจากนั้น ผู้มาเยือนจะมองเห็นปเวร์ตา เดล ซอล จัตุรัสที่คับคั่งจอแจมากที่สุดในเมืองและเป็นจุดเริ่มต้นของถนนทุกสายที่แยกจากกรุงมาดริดไปถึงจังหวัดต่าง ๆ. จุดที่กล่าวมานั้นเป็นส่วนที่เก่าแก่ที่สุดของเมือง.
ขณะที่กรุงมาดริดขยายออกไป กษัตริย์แห่งราชวงศ์บูร์บง โดยเฉพาะกษัตริย์ชาลส์ที่ 3 ได้สร้างหรือสนับสนุนการสร้างอนุสาวรีย์อื่น ๆ ซึ่งมักจะเลียนแบบสถาปัตยกรรมฝรั่งเศสซึ่งเป็นที่มาของราชวงศ์บูร์บง ตัวอย่างเช่น พระราชวัง, หอสมุดแห่งชาติ (3), พิพิธภัณฑสถานของเทศบาล (4), น้ำพุแห่งเทพธิดาซีเบเล (5), น้ำพุแห่งเทพเนปจูน, และปเวร์ตา เด อัลกาลา (6).
[ที่มาของภาพหน้า 26]
Picture 2: MUSEO NACIONAL DEL PRADO; pictures 5 and 6: Godo-Foto