เมื่อจุลชีพจะไม่ทำร้ายใครเลย
จุลชีพสำคัญต่อชีวิต. จุลชีพมีอยู่มากมายทั้งในดินและในร่างกายของเรา. ดังที่กรอบ “จุลชีพชนิดต่าง ๆ” ในหน้า 7 กล่าวไว้ “แบคทีเรียอยู่ในร่างกายของเรานับล้านล้านตัว.” แบคทีเรียเหล่านี้ส่วนใหญ่มีประโยชน์ ที่จริง สำคัญยิ่งต่อสุขภาพ. แม้ว่ามีจุลชีพเพียงไม่กี่ชนิดที่ก่อให้เกิดโรค แต่เราก็มั่นใจได้ว่า ในที่สุดจุลชีพจะไม่ทำร้ายใครอีก.
ก่อนที่เราจะพิจารณาว่าผลกระทบทั้งหมดที่เป็นอันตรายของเชื้อโรคจะถูกขจัดออกไปโดยวิธีใด ขอให้เราพิจารณาความพยายามในปัจจุบันที่จะต่อสู้กับจุลชีพที่ทำให้เกิดโรค. นอกจากการตรวจดูกรอบ “สิ่งที่คุณทำได้” ในบทความนี้ ให้เราพิจารณาความพยายามของผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ในการต่อสู้กับเชื้อโรคที่ดื้อยา.
ยุทธวิธีระดับโลก
แพทย์หญิงโกร ฮาร์เลม บรันด์ลันด์ อดีตผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ได้พรรณนาถึงความพยายามที่ทำกันอยู่. ในรายงานว่าด้วยโรคติดเชื้อปี 2000 (ภาษาอังกฤษ) หัวข้อ “การเอาชนะการดื้อยาต้านจุลชีพ” เธอชี้ถึงความจำเป็นที่ต้องพัฒนา “ยุทธวิธีระดับโลกเพื่อควบคุมการดื้อยา” ของเชื้อโรค. เธอยังกล่าวถึงการสร้าง “พันธมิตรในหมู่ผู้ให้การดูแลสุขภาพแต่ละคน” โดยเน้นว่า “เรามีโอกาสจะเริ่มต้นการรณรงค์ขนานใหญ่เพื่อต่อต้านโรคติดเชื้อ.”
ในปี 2001 องค์การอนามัยโลกเสนอ “มาตรการระดับโลกเพื่อควบคุมการดื้อยาต้านจุลชีพ.” เอกสารฉบับนี้เสนอแผนการที่ชี้แนะผู้ให้การดูแลสุขภาพและผู้คนทั่วไปเกี่ยวกับ “สิ่งที่ต้องทำ และวิธีที่จะทำสิ่งนั้น.” มาตรการนี้รวมไปถึงการสอนผู้คนให้รู้วิธีป้องกันโรค และยังให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีใช้ยาปฏิชีวนะและยาต้านจุลชีพอื่น ๆ เมื่อพวกเขาติดเชื้อ.
นอกจากนั้น บุคลากรที่ดูแลด้านสุขภาพ ซึ่งก็คือแพทย์และพยาบาลรวมทั้งคนอื่น ๆ ที่ทำงานในโรงพยาบาลและสถานพักฟื้น ต่างก็ได้รับการกระตุ้นให้ระมัดระวังมากขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่ระบาดของการติดเชื้อ. น่าเศร้า การศึกษาวิจัยได้เผยว่า ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพหลายคนยังละเลยเรื่องการล้างมือหรือการเปลี่ยนถุงมือเมื่อเสร็จจากคนไข้คนหนึ่งไปหาอีกคนหนึ่ง.
นอกจากนี้ การสำรวจยังแสดงว่า แพทย์บางคนสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะแม้ว่าพวกเขาไม่ควรทำเช่นนั้น. เหตุผลหนึ่งคือ ผู้คนรบเร้าแพทย์ให้จ่ายยาปฏิชีวนะเพื่อจะหายเร็วขึ้น. ดังนั้น แพทย์จึงทำตามความต้องการของคนไข้เพียงเพื่อให้พวกเขาพอใจ. บ่อยครั้ง แพทย์ไม่ได้ให้เวลาที่จะสอนคนไข้ ทั้งไม่มีเครื่องมือที่สามารถระบุตัวเชื้อโรคที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ. นอกจากนั้น พวกเขาอาจสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะชนิดใหม่ ๆ ที่ครอบคลุมกว้างกว่า แต่ก็มีราคาแพงกว่า. และนี่ก็เป็นปัจจัยหนึ่งของปัญหาการดื้อยา.
ขอบเขตอื่น ๆ ที่มีการกล่าวถึงในมาตรการระดับโลกขององค์การอนามัยโลกคือโรงพยาบาล, ระบบรักษาพยาบาลของชาติ, ผู้ผลิตอาหาร, บริษัทยา, และนักกฎหมาย. รายงานนี้กระตุ้นทุกคนให้ร่วมมือกันเพื่อต่อสู้กับเชื้อโรคที่ดื้อยาซึ่งเป็นภัยคุกคามระดับโลก. แต่โครงการเช่นนี้จะได้ผลไหม?
อุปสรรคต่อความสำเร็จ
มาตรการระดับโลกขององค์การอนามัยโลกกล่าวถึงอุปสรรคสำคัญต่อการแก้ปัญหาสุขภาพ. นั่นคือแรงกระตุ้นที่หวังผลกำไรหรือเงินนั่นเอง. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า การรักเงินเป็นสาเหตุของ “สิ่งที่ก่อความเสียหายทุกชนิด.” (1 ติโมเธียว 6:9, 10, ล.ม.) องค์การอนามัยโลกกระตุ้นเตือนว่า “การติดต่อสัมพันธ์กับอุตสาหกรรมยาต้องได้รับการพิจารณาด้วย รวมไปถึงการควบคุมอย่างพอเหมาะในเรื่องการติดต่อระหว่างตัวแทนขายกับพนักงานในคลินิก และการตรวจตราดูโครงการที่ให้การศึกษาสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพด้านการแพทย์ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยอุตสาหกรรมยา.”
บริษัทยาได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ของตนแก่แพทย์อย่างเอาจริงเอาจัง. ปัจจุบันบริษัทเหล่านี้ทำเช่นนั้นแก่สาธารณชนโดยตรงทางโทรทัศน์. ดูเหมือนว่า การโฆษณาอย่างนี้มีส่วนทำให้มีการใช้ยามากเกินไป ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เชื้อโรคที่ดื้อยามีเพิ่มมากขึ้น.
ในบทที่ว่าด้วยการใช้ยาต้านจุลชีพในสัตว์ที่เลี้ยงไว้เป็นอาหาร มาตรการระดับโลกขององค์การอนามัยโลกกล่าวว่า “สัตวแพทย์ในบางประเทศได้รับรายได้มากถึง 40% หรือมากกว่านั้นของรายได้ทั้งหมดจากการขายยา ดังนั้น จึงไม่มีการโน้มน้าวให้ใช้ยาต้านจุลชีพอย่างจำกัด.” ตามหลักฐานที่มีมากมาย เชื้อโรคที่ดื้อยาได้ปรากฏขึ้นและแพร่ระบาดเนื่องจากการใช้ยาปฏิชีวนะมากเกินไป.
ที่จริง การผลิตยาปฏิชีวนะมีมากจนไม่น่าเชื่อ. ในสหรัฐเพียงประเทศเดียว มีการผลิตยาปฏิชีวนะประมาณ 20 ล้านกิโลกรัมทุกปี! จากการผลิตของทั้งโลกรวมกัน มียาเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่ใช้กับมนุษย์ นอกนั้นเป็นยาพ่นสำหรับพืชผลหรือให้สัตว์กิน. บ่อยครั้ง มีการผสมยาปฏิชีวนะในอาหารของสัตว์ที่เลี้ยงไว้เป็นอาหารเพื่อเร่งการเติบโต.
บทบาทของรัฐบาล
น่าสังเกต บทสรุปด้านการบริหารของเอกสารในเรื่องมาตรการระดับโลกขององค์การอนามัยโลกกล่าวว่า “ความรับผิดชอบส่วนใหญ่ในการบังคับใช้มาตรการเหล่านี้จะขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ. รัฐบาลต่าง ๆ มีบทบาทสำคัญมาก.”
แน่นอน หลายรัฐบาลได้จัดทำโครงการเพื่อควบคุมการดื้อยาต้านจุลชีพ โดยเน้นการประสานงานกันทั้งภายในและภายนอกพรมแดน. โครงการเหล่านี้รวมถึงการเก็บบันทึกเรื่องการใช้ยาต้านจุลชีพและจุลชีพที่ดื้อยา, การปรับปรุงวิธีควบคุมการติดเชื้อ, การใช้ยาต้านจุลชีพในทางการแพทย์และการเกษตรอย่างเหมาะสม, การค้นคว้าเพื่อเข้าใจเรื่องการดื้อยา, และการพัฒนายาตัวใหม่ ๆ. รายงานโรคติดเชื้อปี 2000 ขององค์การอนามัยโลกไม่ได้มองในแง่ดี. เพราะเหตุใด?
รายงานนี้ชี้ถึง “การขาดความตั้งใจจริงทางการเมืองในส่วนของรัฐบาลซึ่งอาจไม่ได้ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกต่อสาธารณสุข.” รายงานนี้เสริมว่า “โรคต่าง ๆ และการดื้อยายังทวีขึ้นท่ามกลางสภาพความไม่สงบทางการเมือง, ความยากจน, การอพยพของผู้คนจำนวนมาก ๆ และการเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมที่ซึ่งผู้คนจำนวนมากถูกห้อมล้อมด้วยโรคติดเชื้อ.” น่าเศร้า ปัญหาเหล่านี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลมนุษย์ไม่เคยแก้ไขได้เลย.
อย่างไรก็ตาม คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงรัฐบาลหนึ่งซึ่งไม่เพียงแต่จะแก้ปัญหาที่เกิดจากโรคภัย แต่จะขจัดความเจ็บป่วยทุกอย่างให้หมดสิ้นไปด้วย. คุณอาจคิดว่าเชื้อโรคบางชนิดจะก่อความเสียหายตลอดไป แต่มีเหตุผลที่ดีที่จะเชื่อว่าอนาคตจะดีกว่านั้นมาก.
เมื่อจุลชีพจะไม่ก่อความเสียหาย
นานมาแล้ว ยะซายาผู้พยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิลได้ชี้ไปยังรัฐบาลที่มีอำนาจเหนือมนุษย์และระบุตัวผู้ปกครองในรัฐบาลดังกล่าว. ขอสังเกตคำพยากรณ์ข้อนี้: “ด้วยว่าจะมีบุตรคนหนึ่งเกิดขึ้นในพวกเรา, คือทรงประทานบุตราคนหนึ่งให้แก่พวกเรา, และท่านได้แบกการปกครองไว้เหนือบ่าของท่าน, และเขาจะขนานนามของท่านว่า, ที่ปรึกษามหัศจรรย์, พระเจ้าทรงอานุภาพ, พระบิดาองค์ถาวร, และองค์สันติราช.”—ยะซายา 9:6.
ใครคือบุตร หรือเจ้าชายองค์นี้ ซึ่งจะได้รับอำนาจปกครอง? ขอสังเกตว่า มีการระบุตัวก่อนที่ท่านผู้นี้จะประสูติด้วยซ้ำ. ทูตสวรรค์ฆับรีเอลกล่าวแก่มาเรียหญิงพรหมจารีว่า “นี่แน่ะ. เธอจะตั้งครรภ์และคลอดบุตรชาย จงตั้งชื่อบุตรนั้นว่าเยซู. บุตรนั้นจะเป็นใหญ่, . . . และแผ่นดินของท่าน จะไม่รู้สิ้นสุดเลย.”—ลูกา 1:31-33.
เมื่อพระเยซูทรงวัฒนาขึ้นเป็นผู้ใหญ่แล้ว พระองค์ให้หลักฐานว่าพระองค์เป็นผู้ปกครองในรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรของพระเจ้าที่ทรงสัญญาไว้. พระเยซูไม่เพียงเดินทางไปทั่วแผ่นดินนั้นเพื่อประกาศ “ข่าวดีแห่งราชอาณาจักร” แต่พระองค์ยังสำแดงอำนาจของพระองค์ในการขจัดความเจ็บป่วยและโรคภัยทุกอย่าง. คัมภีร์ไบเบิลรายงานว่า “ประชาชนเป็นอันมากมาเฝ้าพระองค์พาคนง่อย, คนตาบอด, คนใบ้, คนเขยก, และคนเจ็บอื่น ๆ หลายคนมาวางใกล้พระบาทของพระเยซู, แล้วพระองค์ทรงรักษาเขาให้หาย. คนเหล่านั้นก็มีความอัศจรรย์ใจเมื่อเห็นคนใบ้พูดได้, คนเขยกหายปกติ, คนง่อยเดินได้, คนตาบอดเห็นได้.”—มัดธาย 9:35, ล.ม.; 15:30, 31.
ใช่แล้ว ไม่ว่าผู้คนจะป่วยด้วยโรคใดหรือมีความพิการแบบไหน พระเยซูก็รักษาได้. พระองค์ทรงถึงกับปลุกบางคนที่ตายแล้วให้เป็นขึ้นจากตาย! (ลูกา 7:11-17; 8:49-56; โยฮัน 11:38-44) จริงอยู่ คนที่ได้รับการรักษาและแม้แต่คนที่ถูกปลุกให้เป็นขึ้นจากตายในตอนนั้น ในที่สุดก็ตายอีก. กระนั้น การอัศจรรย์ของพระเยซูได้แสดงถึงสิ่งที่พระองค์จะทำในอนาคตเพื่อผู้คนที่มีชีวิตบนแผ่นดินโลกภายใต้การปกครองแห่งราชอาณาจักร. คัมภีร์ไบเบิลสัญญาว่าในตอนนั้น “จะไม่มีใครที่อาศัยอยู่ที่นั่นพูดว่า, ‘ข้าพเจ้าป่วยอยู่.’”—ยะซายา 33:24; วิวรณ์ 21:3, 4.
ดังที่เราทราบกันดี ปัจจุบันนี้ทุกคนต้องเจ็บป่วยและตาย. เชื้อโรคทำความเสียหายแก่ผู้คนนับล้าน หลายครั้งก็ทำให้เสียชีวิต. กระนั้น ร่างกายของมนุษย์ก็ได้รับการออกแบบอย่างน่าอัศจรรย์จนบางคนสงสัยว่าทำไมคนเราจึงเจ็บป่วย. นายแพทย์ลูวิส โทมัส เขียนเกี่ยวกับบทบาทที่สำคัญของแบคทีเรียและให้ข้อสังเกตว่า ความเจ็บป่วยเกิดขึ้น “เหมือนอุบัติเหตุ.” เขากล่าวว่า “อาจเป็นได้ว่ากลไกการป้องกันตัวของผู้ป่วยมีจุดบกพร่องเป็นพิเศษในทางใดทางหนึ่ง.”
ที่จริง ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรงแทบไม่เคยป่วยเนื่องจากการติดเชื้อแบคทีเรีย. ถึงกระนั้น ในที่สุดคนเราก็แก่ลงและตายไป. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า บาปที่สืบทอดมาจากอาดาม มนุษย์คนแรกซึ่งเดิมเป็นคนสมบูรณ์ คือความบกพร่องอันเป็นสาเหตุของความเจ็บป่วยและความตาย. คัมภีร์ไบเบิลอธิบายว่า “ความผิดได้เข้ามาในโลกเพราะคน ๆ เดียว, และความตายก็เกิดมาเพราะความผิดนั้น อย่างนั้นแหละความตายจึงได้ลามไปถึงคนทั้งปวง, เพราะคนทั้งปวงเป็นคนผิดอยู่แล้ว.”—โรม 5:12.
อย่างไรก็ตาม พระเจ้าทรงส่งพระบุตรลงมาบนแผ่นดินโลกเพื่อพระบุตรนั้นจะประทานชีวิตสมบูรณ์ของพระองค์เป็นค่าไถ่เพื่อปลดปล่อยมนุษย์จากผลของบาป. (มัดธาย 20:28) คัมภีร์ไบเบิลอธิบายว่า “ค่าจ้างของความบาปนั้นคือความตาย แต่ของประทานของพระเจ้าก็คือชีวิตนิรันดร์ ในพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา.” (โรม 6:23; 1 โยฮัน 5:11) ภายใต้การปกครองแห่งราชอาณาจักรของพระเจ้า ผลแห่งการเยียวยาอันเนื่องมาจากเครื่องบูชาไถ่ของพระคริสต์จะสำเร็จเป็นจริง. ครั้นแล้ว จุลชีพทุกชนิด แม้แต่ชนิดที่ทำให้เกิดโรคในปัจจุบัน จะไม่เป็นอันตรายต่อใครอีกเลย.
นับว่ามีเหตุผลมิใช่หรือที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรนี้ที่มีสัญญาไว้ในคัมภีร์ไบเบิล ซึ่งจะจัดการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของมนุษยชาติ? พยานพระยะโฮวายินดีจะช่วยคุณให้เรียนรู้มากขึ้น.
[กรอบหน้า 9]
สิ่งที่คุณทำได้
คุณจะทำอะไรได้เพื่อลดอันตรายที่เกิดจากจุลชีพที่ดื้อยาให้เหลือน้อยที่สุด? องค์การอนามัยโลกให้คำแนะนำบางประการ. ประการแรก องค์การนี้ได้ให้มาตรการแบบคร่าว ๆ ที่เราสามารถปฏิบัติได้เพื่อลดการเกิดโรคและการแพร่ระบาดของการติดเชื้อ. ประการที่สอง องค์การนี้กล่าวถึงวิธีที่ผู้คนจะปรับปรุงเรื่องการใช้ยาต้านจุลชีพ.
ตามเหตุผลแล้ว วิธีที่ดีที่สุดที่จะลดการเกิดโรคและการแพร่ระบาดของโรคก็คือ การทำสิ่งใดก็ตามที่จำเป็นเพื่อจะมีสุขภาพที่แข็งแรงเสมอ. คุณจะทำอะไรได้เพื่อเลี่ยงการเจ็บป่วย?
มาตรการป้องกันโรค
1. พยายามอย่างเต็มที่เพื่อจะได้รับสามสิ่งต่อไปนี้: สารอาหารที่ถูกต้อง, การออกกำลังกายที่พอเหมาะ, และการพักผ่อนที่เพียงพอ.
2. รักษาสุขอนามัยส่วนตัว. นักวิชาการเน้นว่า การล้างมือเป็นสิ่งสำคัญที่ได้ผลที่สุดซึ่งช่วยเลี่ยงการเจ็บป่วยและเป็นการป้องกันไม่ให้เชื้อโรคแพร่ไปยังผู้อื่น.
3. ทำให้แน่ใจว่าอาหารที่คุณและครอบครัวคุณรับประทานนั้นปลอดภัย. จงตระหนักเป็นพิเศษว่า มือของคุณรวมทั้งบริเวณที่ใช้ในการเตรียมอาหารต้องสะอาด. นอกจากนั้น จงใช้น้ำสะอาดล้างมือและล้างอาหาร. เนื่องจากเชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดีในอาหาร ดังนั้น เมื่อทำอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ต้องทำให้สุกจริง ๆ. การเก็บและการแช่เย็นอาหารต้องทำอย่างถูกวิธี.
4. ในดินแดนซึ่งมีแมลงที่บินได้เป็นพาหะนำโรค ควรออกนอกบ้านในตอนกลางคืนหรือตอนเช้าตรู่ให้น้อยที่สุด เพราะช่วงนั้นจะมีแมลงเหล่านี้มากที่สุด. และจงใช้มุ้งเป็นประจำหรือติดมุ้งลวดเพื่อป้องกันยุง.
5. วัคซีนอาจช่วยสร้างระบบภูมิคุ้มกันของคุณให้ต่อสู้กับเชื้อโรคบางชนิดซึ่งมักจะมีในที่ที่คุณอาศัยอยู่.
การใช้ยาต้านจุลชีพ
1. ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ก่อนซื้อหรือกินยาปฏิชีวนะหรือยาต้านจุลชีพชนิดใด ๆ. การโฆษณาขายยาให้ผู้บริโภคโดยตรงมักให้ผลประโยชน์แก่ผู้ขายมากกว่าผู้ซื้อ.
2. อย่ารบเร้าแพทย์ให้สั่งจ่ายยาปฏิชีวนะ. ถ้าคุณทำเช่นนั้น แพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะคุณเพียงเพราะกลัวว่าจะเสียลูกค้าไป. ตัวอย่างเช่น หวัดเกิดจากไวรัส และยาปฏิชีวนะไม่สามารถรักษาหวัดได้. การกินยาปฏิชีวนะเมื่อคุณติดเชื้อไวรัสอาจเป็นการทำลายแบคทีเรียที่มีประโยชน์ หรืออาจทำให้แบคทีเรียที่ดื้อยาขยายพันธุ์.
3. อย่ายืนกรานที่จะได้ยารุ่นใหม่ล่าสุด ยาชนิดนั้นอาจไม่ใช่ยาที่ดีที่สุดสำหรับคุณและอาจทำให้คุณต้องจ่ายแพงกว่าที่จำเป็น.
4. จงเรียนรู้เรื่องยาจากแหล่งที่วางใจได้: ยานั้นใช้สำหรับโรคอะไร? อาจเกิดผลข้างเคียงอะไรบ้าง? ยาตัวนั้นจะทำปฏิกิริยากับยาอื่นอย่างไร และมีปัจจัยอื่น ๆ อะไรบ้างซึ่งอาจทำให้การกินยานั้นเป็นอันตราย?
5. ถ้าสมควรกินยาปฏิชีวนะจริง ๆ โดยทั่วไปแล้วมักมีการแนะนำว่าคุณควรกินให้ครบตามขนาดที่ระบุในใบสั่งยา แม้คุณจะรู้สึกดีขึ้นแล้วก่อนที่จะกินหมด. ยาช่วงท้าย ๆ ช่วยทำให้แน่ใจว่าเชื้อทุกอย่างถูกขจัดจนหมด.
[ภาพหน้า 10]
ภายใต้รัฐบาลอันชอบธรรมของพระเจ้า ผู้คนจะชื่นชมกับชีวิตโดยไม่มีจุลชีพที่ก่อความเสียหาย