ความสำคัญของการพึ่งพาอาศัยกันในธรรมชาติ
ในธรรมชาติ “เพื่อชีวิตจะอยู่รอดได้ ความสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ก็มีความสำคัญพอ ๆ กันกับการเจริญเติบโตและการสืบพันธุ์.”—“สัมพันธ์ชีวิต” (ภาษาอังกฤษ).
ท้องทะเลดูสงบเงียบ. มีแต่เสียงร้องของฝูงนกทะเลหลายสิบตัว. อาการตื่นเต้นของนกเหล่านี้บ่งบอกว่ามีอะไรบางอย่างกำลังเกิดขึ้นใต้ผิวน้ำ. ทันใดนั้นเอง มีฟองอากาศผุดขึ้นมากมาย แล้วค่อย ๆ ม้วนวนเป็นวงแหวนสีขาว. อีกอึดใจต่อมา ร่างดำทะมึนสองร่างก็ปรากฏขึ้นในน้ำใสกลางวงแหวนนั้น. มันคือวาฬหลังค่อมสองตัวที่ขึ้นมาจากห้วงน้ำใต้มหาสมุทร อ้าปากกว้างจนเห็นบาลีน (ซี่กระดูกรูปหวี) ซึ่งอยู่ในปากของมัน. เมื่อถึงผิวน้ำ มันหุบปากอันมหึมาของมัน, พ่นน้ำ, และดำลงไปเพื่อทำอย่างเดิมอีก.
วาฬทั้งสองตัวกำลังช่วยกันต้อนและกินฝูงกริลล์ ซึ่งเป็นสัตว์คล้ายกุ้งตัวเล็ก ๆ. สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาด 40 ตันนี้แหวกว่ายราวกับเต้นบัลเลต์ใต้น้ำ โดยดำลงไปใต้ฝูงกริลล์ และว่ายเป็นวงแคบ ๆ พร้อมกับพ่นฟองอากาศออกจากรูพ่นของมัน. การเคลื่อนไหวอันชาญฉลาดนี้ทำให้เกิด “ตาข่าย” ฟองอากาศขึ้นรอบ ๆ ฝูงกริลล์. จากนั้นวาฬก็พุ่งขึ้นมาตรงกลาง “ตาข่าย” และเขมือบเหยื่อของมัน.
ในที่ราบแอฟริกา ลิงบาบูนและอิมพาลา (ละมั่งแอฟริกา) มักจะร่วมแรงร่วมใจกัน. วารสารไซเยนติฟิก อเมริกัน กล่าวว่า “สัตว์ทั้งสองนี้มีระบบเตือนภัยร่วมกัน.” อิมพาลามีประสาทรับกลิ่นที่ไวมาก ส่วนลิงบาบูนมีสายตาที่เฉียบคม ทำให้ยากมากที่สัตว์นักล่าจะเข้ามาใกล้โดยที่พวกมันไม่รู้ตัว. มีการร่วมมือกันในลักษณะคล้ายกันนี้ระหว่างนกกระจอกเทศซึ่งมีสายตาดี กับม้าลายซึ่งมีหูที่ไวมาก.
ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของตัวอย่างจำนวนนับไม่ถ้วนเกี่ยวกับการพึ่งพาอาศัยกันของสิ่งชีวิตรอบตัวเรา. ที่จริง การช่วยเหลือกันมีอยู่ในสิ่งมีชีวิตทุกระดับชั้น ตั้งแต่จุลชีพจนถึงมนุษย์และระหว่างสิ่งมีชีวิตที่คล้ายกันและต่างกัน. หลายพันปีมาแล้ว กษัตริย์ซะโลโม ผู้ซึ่งเป็นนักศึกษาธรรมชาติ ได้สังเกตมดที่ต่ำต้อย. ท่านเขียนว่า “ไปดูมดซิ, เจ้าขี้เกียจ; จงพิจารณาทางทั้งหลายของมัน, และจงฉลาดขึ้น; มันไม่มีหัวหน้า, ผู้กำกับการ, หรือผู้ปกครอง. ถึงกระนั้น มันก็ยังสะสมอาหารไว้เมื่อฤดูร้อน, และรวบรวมเสบียงของมันไว้เมื่อฤดูเกี่ยวข้าว.”—สุภาษิต 6:6-8.
มดเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องการพึ่งพาอาศัยกัน, ความขยันขันแข็ง, และความมีระเบียบวินัย โดยที่มันมักจะทำงานร่วมกันเพื่อขนสิ่งที่มีขนาดใหญ่กว่าตัวมันหลายเท่ากลับเข้ารัง. มดบางชนิดถึงกับช่วยมดตัวอื่นในรังที่ได้รับบาดเจ็บหรือหมดแรงให้กลับรังของมัน. เมื่อคำนึงถึงคุณลักษณะเหล่านี้ ไม่น่าแปลกใจที่ซะโลโมเลือกใช้มดเพื่อเป็นตัวอย่างสำหรับเรา.
ในบทความถัดไป เราจะพิจารณาว่าการพึ่งพาอาศัยกันเป็นอรรถบทสำคัญใน ‘หนังสือแห่งธรรมชาติ’ ซึ่งทำให้ชีวิตทั้งมวล รวมทั้งมนุษย์ด้วย ดำรงอยู่ได้. นอกจากนี้ เราจะเรียนรู้ว่ามนุษย์กลับฉกฉวยประโยชน์จากธรรมชาติ, ก่อมลพิษ, และทำให้สิ่งมีชีวิตบางอย่างสูญพันธุ์ไป. พระผู้สร้างจะยอมให้เป็นเช่นนี้ตลอดไปไหม?
[ภาพหน้า 3]
บน: ลิงบาบูนและอิมพาลามีระบบเตือนภัยร่วมกัน
[ภาพหน้า 4]
มดเป็นตัวอย่างของการพึ่งพาอาศัยกัน
[ภาพหน้า 4]
มีการร่วมมือกันระหว่างนกกระจอกเทศ ซึ่งมีสายตาดีกับม้าลายซึ่งมีหูไว