หนุ่มสาวถามว่า
จะทำอย่างไรถ้าพี่หรือน้องของฉันฆ่าตัวตาย?
ชีวิตของคาเรนได้เปลี่ยนไปในวันที่พ่อของเธอแจ้งข่าว. พ่อบอกแต่เพียงว่า “ชีลาจากไปแล้ว.” คาเรนกับพ่อต่างกอดกันและกัน พยายามที่จะเข้าใจการกระทำที่ยากที่จะเข้าใจได้เช่นนั้น. น้องสาวของคาเรนได้ปลิดชีวิตของตนเอง.a
เมื่อเยาวชนคนหนึ่งตาย ผู้ปลอบโยนที่หวังดีมักจะมุ่งความสนใจไปยังบิดามารดา. พวกเขาตั้งคำถามกับพี่น้องของผู้ตายว่า “พ่อและแม่ของเธอเป็นอย่างไรบ้าง?” แต่พวกเขาอาจลืมที่จะถามว่า “แล้วเธอ ล่ะเป็นอย่างไรบ้าง?” จึงไม่แปลกที่พี่น้องของผู้ตายถูกเรียกว่า ผู้โศกเศร้าที่ถูกลืม.
การวิจัยแสดงว่าความตายของพี่หรือน้องก่อผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเยาวชน. ดร. พี. กิลล์ ไวท์ เขียนในหนังสือของเธอที่ชื่อ ความโศกเศร้าของพี่น้อง—การฟื้นตัวหลังความตายของพี่หรือน้อง (ภาษาอังกฤษ) ว่า “การสูญเสียครั้งใหญ่ดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเด็ก ๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่ในด้านสุขภาพ, พฤติกรรม, การเรียน, การนับถือตนเอง, และพัฒนาการ.”
เยาวชนที่โตกว่าก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน. คาเรนที่พูดถึงตอนต้นมีอายุ 22 ปีเมื่อชีลาน้องสาวของเธอฆ่าตัวตาย. อย่างไรก็ตาม บางครั้งความโศกเศร้าของเธอดูเหมือนว่าเกินกว่าที่ทนรับได้. เธอบอกว่า “ดิฉันไม่ได้หมายความว่าดิฉันทุกข์ใจมากกว่าพ่อแม่ แต่ดิฉันคิดว่าตัวเองรับมือกับความทุกข์ใจได้น้อยกว่าพวกท่าน.”
คุณเป็นเหมือนคาเรนไหมที่สูญเสียพี่หรือน้องเพราะความตาย? ถ้าเช่นนั้น คุณอาจรู้สึกเหมือนกับดาวิดผู้ประพันธ์บทเพลงสรรเสริญซึ่งเขียนว่า “ข้าพเจ้าว้าวุ่นใจ ข้าพเจ้าค้อมตัวต่ำที่สุด; ตลอดวันข้าพเจ้าเดินไปมาด้วยความเศร้าหมอง.” (บทเพลงสรรเสริญ 38:6, ล.ม.) คุณจะรับมือกับความโศกเศร้าได้อย่างไร?
“ถ้าเพียงแต่ฉัน . . . ”
การฆ่าตัวตายของพี่หรือน้องสามารถทำให้คุณรู้สึกผิดอย่างมาก. คุณอาจคิดทำนองนี้ ‘ถ้าเพียงแต่ฉันได้ทำอะไรสักอย่างที่แตกต่างไป น้องของฉันคงจะไม่ตาย.’ อาจดูเหมือน ว่ามีหลักฐานที่สนับสนุนความคิดเช่นนั้น. คริสซึ่งอายุ 21 ปีตอนที่น้องชายวัย 18 ปีฆ่าตัวตายก็คิดเช่นนั้น. เขาบอกว่า “ผมเป็นคนสุดท้ายที่พูดกับน้องชาย ผมจึงคิดว่าผมน่าจะรู้ว่ามีอะไรผิดปกติกับน้องบ้าง. ผมหาเหตุผลว่าถ้าเพียงแต่ผมเป็นคนที่เข้าหาได้ง่ายกว่านี้ น้องชายคงได้เปิดเผยความรู้สึกของเขามากขึ้นและพูดคุยกับผม.”
ความรู้สึกผิดของคริสนั้นรุนแรงขึ้นเพราะก่อนหน้านั้นเขาและน้องต่างเข้ากันไม่ค่อยได้. คริสเล่าอย่างปวดร้าวว่า “บันทึกก่อนตายของน้องบอกว่าผมน่าจะเป็นพี่ชายที่ดีกว่านี้. ถึงแม้ผมจะรู้ว่าน้องไม่ได้หมายความอย่างนั้นจริง ๆ เพราะเขาไม่สบาย แต่ความคิดนั้นยังคงทรมานผม.” บ่อยครั้ง ความรู้สึกผิดนั้นมีมากขึ้นเมื่อนึกถึงการโต้เถียงอย่างเผ็ดร้อนที่มีระหว่างกันก่อนที่พี่หรือน้องจะตาย. ดร. ไวท์ ที่อ้างถึงก่อนหน้านี้ได้บอกกับตื่นเถิด! ว่า “เยาวชนหลายคนที่สูญเสียพี่หรือน้องบอกดิฉันว่าความรู้สึกผิดจากการโต้เถียงระหว่างพวกเขาที่เกิดขึ้นหลายเดือนหรือแม้แต่หลายปีมาแล้วยังคงรบกวนใจพวกเขาอยู่.”
ถ้าคุณรู้สึกผิดเนื่องจากการฆ่าตัวตายของพี่หรือน้อง ให้ถามตัวเองว่า ‘มีใครไหมที่สามารถควบคุมการกระทำของอีกคนหนึ่งได้อย่างครบถ้วน?’ คาเรนบอกว่า “ความทุกข์ทรมานที่คนหนึ่งพยายามหาทางออกและวิธีการอันน่ากลัวที่เขาหรือเธอใช้เพื่อยุติมัน เป็นเรื่องที่คุณไม่สามารถป้องกันได้.”
จะว่าอย่างไรถ้าคุณดูเหมือนว่าไม่อาจลืมคำพูดที่รุนแรงไม่กรุณาที่เคยใช้กับพี่หรือน้อง? คัมภีร์ไบเบิลสามารถช่วยคุณให้มองเรื่องราวจากมุมมองที่ถูกต้อง. พระคัมภีร์บอกว่า “เราต่างพลาดพลั้งกันหลายครั้ง. ถ้าผู้ใดไม่พลาดพลั้งทางวาจาเลย ผู้นั้นก็เป็นคนสมบูรณ์.” (ยาโกโบ 3:2; บทเพลงสรรเสริญ 130:3) การครุ่นคิดเกี่ยวกับสิ่งที่คุณพูดหรือปฏิบัติกับพี่หรือน้องอย่างไม่กรุณามีแต่จะทำให้ความโศกเศร้าของคุณเพิ่มมากขึ้น. แม้ว่าความทรงจำเหล่านั้นจะเจ็บปวด แต่ข้อเท็จจริงยังคงอยู่ที่ว่าคุณไม่ได้เป็นสาเหตุการตายของพี่หรือน้องของคุณ.b
การรับมือกับความโศกเศร้า
ไม่มีสองคนที่จะแสดงความโศกเศร้าแบบเดียวกันทุกประการ. บางคนร้องไห้ต่อหน้าคนอื่น ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด. คัมภีร์ไบเบิลรายงานว่ากษัตริย์ดาวิด “ทรงพระกันแสง” หลังจากความตายของอัมโนนราชบุตร. (2 ซามูเอล 13:36) แม้กระทั่งพระเยซูก็ “ทรงกันแสง” เมื่อพระองค์เห็นผู้คนโศกเศร้าอันเนื่องมาจากความตายของลาซะโรผู้เป็นสหายของพระองค์.—โยฮัน 11:33-35.
ในอีกด้านหนึ่ง บางคนไม่ได้แสดงความโศกเศร้าทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความตายเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน. คาเรนเล่าว่า “ความรู้สึกของดิฉันดูเหมือนด้านชา. ดิฉันรู้สึกชะงักงันไปชั่วขณะ.” ปฏิกิริยาดังกล่าวเป็นเรื่องปกติมากเมื่อพี่หรือน้องฆ่าตัวตาย. ดร. ไวท์บอกตื่นเถิด! ว่า “การฆ่าตัวตายเป็นเรื่องสะเทือนใจและคุณต้องพบกับภาวะการตกตะลึงก่อนที่จะโศกเศร้า. นักบำบัดบางคนพยายามให้ญาติของผู้ตายร้องไห้และแสดงความโศกเศร้าออกมาเมื่อพวกเขายังไม่พร้อม. พวกเขายังคงมึนงงจากการตกตะลึง.”
การปรับตัวกับความเป็นจริงที่ว่าน้องหรือพี่ได้ตายไปแล้วเป็นเรื่องต้องใช้เวลา และเป็นเรื่องที่เข้าใจได้เมื่อคำนึงถึงว่าได้เกิดอะไรขึ้น. คริสบอกว่า “ครอบครัวของผมเป็นเหมือนแจกันที่แตกกระจายและได้รับการติดกาวเข้าด้วยกันอีก. ตอนนี้เราดูเหมือนอ่อนไหวมากกว่าเดิม พร้อมที่จะ ‘แตก’ แม้จะอยู่ภายใต้ความกดดันที่น้อยกว่า.” เพื่อช่วยคุณรับมือกับสถานการณ์เช่นนี้ ลองปฏิบัติตามรายการต่อไปนี้:
◼ จดข้อความที่ปลอบโยนจากคัมภีร์ไบเบิลไว้บางข้อและอ่านข้อความเหล่านี้อย่างน้อยวันละครั้ง.—บทเพลงสรรเสริญ 94:19.
◼ พูดกับคนที่คุณไว้ใจซึ่งมีความเห็นอกเห็นใจ. การพูดออกมาอาจช่วยคุณให้ฟื้นตัวจากความโศกเศร้า.—สุภาษิต 17:17.
◼ คิดรำพึงเกี่ยวกับคำสัญญาในพระคัมภีร์เรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตาย.—โยฮัน 5:28, 29.
คุณอาจพบว่าการเขียนความรู้สึกของคุณในสมุดบันทึกอย่างน้อยสักช่วงหนึ่งจะช่วยคุณให้มองความโศกเศร้าจากมุมมองที่ดีขึ้น. เพื่อเป็นการฝึกลองใช้กรอบที่อยู่ข้างล่างนี้.
จงมั่นใจว่า “พระเจ้าทรงเป็นใหญ่กว่าใจเราและทรงรู้ทุกสิ่ง.” (1 โยฮัน 3:20) พระองค์ทรงทราบดีกว่ามนุษย์คนใด ๆ เกี่ยวกับปัจจัยและสภาพแวดล้อมที่อาจนำพี่หรือน้องของคุณให้ตกอยู่ในสภาพที่หดหู่. พระองค์ยังทรงรู้จักคุณ มากกว่าที่คุณรู้จักตัวเอง. (บทเพลงสรรเสริญ 139:1-3) ดังนั้น คุณสามารถมั่นใจได้ว่าพระองค์เข้าใจสิ่งที่คุณต้องเผชิญ. เมื่อความโศกเศร้าของคุณดูเหมือนว่ามากเกินที่จะรับได้ จงระลึกถึงถ้อยคำที่บทเพลงสรรเสริญ 55:22 ที่ว่า “จงทอดภาระของท่านไว้กับพระยะโฮวา, และพระองค์จะทรงเป็นธุระให้: พระองค์จะไม่ยอมให้คนชอบธรรมแตกฉานซ่านเซ็นไป.”
ถ้าต้องการอ่านบทความชุด “หนุ่มสาวถามว่า” เพิ่มเติม ให้ดาวน์โหลดตื่นเถิด! ฉบับอื่น ๆ จากเว็บไซต์ www.jw.org
[เชิงอรรถ]
a ชื่อต่าง ๆ ในบทความนี้เป็นนามสมมุติ.
b เรื่องนี้คล้ายกันกับความตายที่เป็นผลมาจากความเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุ. ไม่ว่าคุณจะรักพี่หรือน้องมากแค่ไหน คุณก็ไม่อาจควบคุม “วาระกับโอกาส” ได้.—ท่านผู้ประกาศ 9:11.
ข้อชวนคิด
◼ คุณจะพูดกับใครถ้าความรู้สึกของคุณดูเหมือนว่ามากเกินที่จะรับได้?
◼ คุณจะช่วยเยาวชนที่โศกเศร้าได้อย่างไร?
[กรอบหน้า 20]
การจดบันทึกความคิดของคุณอาจเป็นวิธีช่วยที่ดีมากในการรับมือกับความโศกเศร้า. ด้วยการคำนึงถึงเรื่องนี้ ให้เขียนความคิดของคุณลงในช่องว่างข้างล่างและตอบคำถามหลังจากนั้น.
◼ นี่คือความทรงจำที่ดีสามประการที่ฉันมีต่อพี่หรือน้อง:
1 ․․․․․
2 ․․․․․
3 ․․․․․
◼ นี่คือสิ่งที่ฉันอยากพูดกับพี่หรือน้องถ้าเขายังมีชีวิตอยู่:
․․․․․
◼ คุณจะบอกอะไรกับเด็ก ๆ ซึ่งตำหนิตัวเองเพราะการตายของพี่หรือน้องของเขา?
․․․․․
◼ ข้อคัมภีร์ต่อไปนี้ข้อใดที่คุณพบว่าให้การปลอบประโลมมากที่สุด และเพราะเหตุใด?
□ “พระยะโฮวาทรงอยู่ใกล้คนที่หัวใจสลาย; และคนที่จิตใจชอกช้ำพระองค์ทรงช่วยให้รอด.”—บทเพลงสรรเสริญ 34:18, ล.ม.
□ “พระองค์ไม่ได้ทรงประมาทหรือเบื่อหน่ายความยากแค้นแห่งผู้ต้องทุกข์ยากนั้น; และไม่ได้ซ่อนพระพักตร์จากเขา; แต่เมื่อเขาร้องทูลต่อพระองค์ ๆ ได้ทรงสดับฟัง.”—บทเพลงสรรเสริญ 22:24.
□ “จะมีเวลาที่ทุกคนซึ่งอยู่ในอุโมงค์ฝังศพจะได้ยินเสียงท่าน [พระเยซู] และออกมา.”—โยฮัน 5:28, 29.