ไปขุดหาทอง แต่ได้พบบ้านใหม่
ย่านคนจีน. ในเมืองใหญ่ ๆ ทั่วโลก คำนี้ชวนให้นึกถึงร้านค้าของชาวจีนที่มีผู้คนพลุกพล่าน รวมทั้งร้านอาหาร เทศกาล และการเชิดมังกร. กระนั้น ย่านคนจีนแต่ละแห่งก็มีประวัติของตัวเอง. ย่านคนจีนในออสเตรเลียทุกวันนี้เริ่มขึ้นจากผู้อพยพชาวจีนรุ่นแรก ๆ ที่เดินทางมาถึงชายฝั่งของดินแดนนี้ โดยหวังจะร่ำรวยจากแหล่งทองคำใหม่ ๆ ที่เพิ่งค้นพบ.
ภูเขาทองคำแห่งใหม่
ตอนแรกผู้อพยพชาวจีนแค่ทยอยกันเข้ามาสู่ออสเตรเลีย แต่เมื่อมีการค้นพบทองคำในปี 1851 ชาวจีนก็พากันหลั่งไหลเข้ามามากมาย. ผู้ชายหลายพันคนออกเดินทางจากสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูในมณฑลกวางตุ้งของจีน และต้องเดินทางโดยเรืออย่างทรหดลงมาทางใต้. ก่อนหน้านั้นมีการค้นพบทองคำในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา และชาวจีนกวางตุ้งเรียกแหล่งทองคำที่นั่นว่าภูเขาทองคำ. ฉะนั้น แหล่งทองคำในออสเตรเลียจึงถูกเรียกว่าภูเขาทองคำแห่งใหม่.
การที่คนเหล่านั้นจากบ้านจากเมืองมาไม่ใช่ด้วยเหตุผลที่อยากได้ทองคำเท่านั้น. แต่เพราะสมัยนั้นประเทศจีนเกิดสงครามกลางเมือง ภัยธรรมชาติ และความยากจน ซึ่งทำให้ชีวิตยากลำบากมาก.
น่าเศร้า ผู้บุกเบิกบางคนที่มุ่งหน้ามาออสเตรเลียไม่รอดชีวิตจนถึงจุดหมาย. พวกเขาเสียชีวิตเพราะโรคระบาดบนเรือซึ่งมีคนอยู่กันอย่างแออัดและการเดินทางอันยาวไกล. ส่วนผู้รอดชีวิต พวกเขาไม่ได้มีชีวิตที่สบายขึ้นเลยแม้จะไปถึงดินแดนแห่งใหม่แล้ว.
ตรากตรำในแหล่งทองคำ
เนื่องจากประเพณีที่ภรรยาและลูก ๆ ต้องอยู่ในเมืองจีนเพื่อรักษาวงศ์ตระกูลของบรรพบุรุษ ไม่นานนักหลายคนก็รู้สึกเหงาและเปล่าเปลี่ยว. ในปี 1861 มีผู้ชายชาวจีนอยู่ในออสเตรเลียมากกว่า 38,000 คน แต่มีผู้หญิงเพียง 11 คน. อย่างไรก็ตาม มีเพียงไม่กี่คนคิดจะลงหลักปักฐานที่นั่น. ส่วนใหญ่ตั้งใจจะกลับบ้านไปอยู่กับครอบครัวพร้อมด้วยทรัพย์สินและชื่อเสียง.
ความใฝ่ฝันนี้เป็นแรงผลักดันชาวจีนให้ขุดหาทองคำ. คนงานเหมืองอาศัยในเต็นท์และทำงานตรากตรำหลายชั่วโมงกลางแดดร้อน. เพราะการเชื่อโชคลาง บางคนจึงกลัวที่จะทำเหมืองใต้ดินอย่างน้อยก็ในช่วงแรก ๆ. ด้วยเหตุนี้ พวกเขาเริ่มขุดและร่อนทองบนผิวดิน รวมทั้งล้างขี้แร่ในรางไม้เพื่อจะได้ทอง. ความพยายามของพวกเขาได้ผล. บันทึกแสดงให้เห็นว่าระหว่างปี 1854 ถึง 1862 ทองคำที่ขุดได้จากรัฐวิกตอเรียหนักประมาณ 18,662 กิโลกรัมถูกส่งไปเมืองจีน.
น่าเศร้า สมบัติที่เพิ่งขุดได้นี้บางส่วนถูกกลืนหายไปเพราะการพนันและการติดฝิ่น มันง่ายที่คนว้าเหว่จะติดนิสัยไม่ดีเหล่านี้. บ่อยครั้งผลที่ตามมาคือ สุขภาพทรุดโทรม สูญเสียทั้งรายได้และความหวังที่จะได้กลับบ้าน. บางคนได้รับการสงเคราะห์จากสมาคมชาวจีนและคนใจบุญ ส่วนบางคนก็ตายก่อนวัยอันควร หรือตายในสภาพที่หมดเนื้อหมดตัวและอย่างอ้างว้าง.
ชาวจีนยังต้องทนกับชาวเหมืองซึ่งเป็นคนท้องถิ่นที่คอยอิจฉาและขี้ระแวง เมื่อเห็นว่าคนจีนผูกพันกลมเกลียวกันและเป็นชุมชนที่ประสบความสำเร็จมากกว่า. การมองในแง่ร้ายเช่นนี้ทำให้เกิดการจลาจลและการทำร้ายชาวจีน. มีการปล้นทองคำและเผาเต็นท์และข้าวของของพวกเขา. ในที่สุด ความเป็นปรปักษ์ก็ลดน้อยลง. กระนั้น หลังจากการค้นพบทองคำเป็นเวลา 50 ปี กฎหมายจำกัดการเข้าเมืองแห่งปี 1901 ได้ปิดโอกาสไม่ให้คนเอเชียเข้าประเทศออสเตรเลีย จนกระทั่งปี 1973 จึงเปิดโอกาสให้เข้าเมืองได้อีกครั้งหนึ่ง.
เมื่อทองคำหมดไป
เมื่อไม่มีทองคำในเหมือง ชาวจีนบางคนพอใจที่จะอยู่ในออสเตรเลียต่อไป. ผลก็คือ ชาวจีนจึงหันไปเปิดร้านซักรีด, ภัตตาคาร, และปลูกพืชผักขายตามเมืองต่าง ๆ ที่เคยขุดทองกัน. ชาวจีนยังมีชื่อในด้านการผลิตเครื่องเรือนและการค้าขายพืชผักผลไม้สด. แล้วพอถึงปลายศตวรรษที่ 19 ชุมชนชาวจีน หรือย่านคนจีนก็ผุดขึ้นตามเมืองต่าง ๆ ในออสเตรเลีย เช่น แอเทอร์ตัน, บริสเบน, บรูม, แคนส์, ดาร์วิน, เมลเบิร์น, ซิดนีย์, และทาวน์สวิลล์.
เนื่องจากผู้หญิงชาวจีนไม่กี่คนเดินทางมาออสเตรเลีย ผู้ชายชาวจีนจำนวนมากจึงครองตัวเป็นโสด. แต่ก็มีบ้างที่แต่งงานกับผู้หญิงชาวออสเตรเลีย แม้คนในท้องถิ่นจะไม่เห็นด้วยกับการแต่งงานดังกล่าว. ในเวลาต่อมา ลูกหลานของพวกเขาจึงกลายมาเป็นส่วนสำคัญของสังคมออสเตรเลีย.
ในทุกวันนี้ คนจีนเข้ามาอาศัยในออสเตรเลียมากกว่ายุคใด ๆ. ส่วนใหญ่มาเพื่อศึกษาต่อและทำธุรกิจ. นอกจากนั้น คนเข้าเมืองเหล่านี้ยังหมายรวมไปถึงผู้หญิงจำนวนมากอีกด้วย. เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของโลกจึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ หลังจากผู้ชายที่หาเลี้ยงครอบครัวได้ตั้งรกรากอยู่ในออสเตรเลียแล้ว พวกเขาขึ้นเครื่องบินกลับเอเชียและไปทำงานในประเทศจีน, ฮ่องกง, สิงคโปร์, หรือไต้หวัน.
ถึงแม้โลกเปลี่ยนไปมาก แต่เป้าหมายหลักของผู้ย้ายถิ่นทั่วโลกก็ยังคงเหมือนเดิม คือแสวงหาชีวิตที่มั่นคงและความสำเร็จในต่างแดน.
[กรอบ/ภาพหน้า 20]
ไกลกว่าที่คิด
เพื่อเลี่ยงการเสียภาษีขึ้นบก ผู้โดยสารชาวจีนจะขึ้นบกตามชายฝั่งที่ห่างจากท่าเรือใหญ่ ๆ และห่างจากเหมืองทองหลายร้อยกิโลเมตร. โรบในรัฐเซาท์ออสเตรเลีย เป็นหนึ่งในเมืองเหล่านั้นที่พวกเขาขึ้นฝั่ง. เมืองโรบมีประชากรประมาณ 100 ถึง 200 คน และในช่วงเวลาห้าเดือนของปี 1857 มีชาวจีนอย่างน้อย 12,000 คนที่ผ่านเมืองนี้.
ด้วยความทรหดอดทนและความร่วมมืออย่างน่าทึ่ง ผู้ชายหลายร้อยคนเดินผ่านถิ่นที่ไม่ค่อยมีผู้คนอยู่อาศัยไปยังแหล่งทองคำ. อย่างไรก็ตาม ระยะทางนั้นไกลกว่าที่พวกเขาคิดไว้มาก และพวกเขาต้องเดินเท้าถึงห้าสัปดาห์. คนเข้าเมืองเหล่านี้เก็บสาหร่ายทะเลเป็นเสบียงและกินจิงโจ้และวอมแบตระหว่างเดินทาง. พวกเขายังได้ขุดบ่อน้ำและทิ้งทางเดินไว้สำหรับคนข้างหลัง.
พวกเขาไว้เปียและใส่งอบ ผู้ชายเหล่านั้นมักจะวิ่งเหยาะ ๆ เรียงแถวและร้องเพลงไปด้วย. มีการพบเหรียญเงินจีนตามเส้นทางเดิน เนื่องจากผู้มาใหม่โยนเงินเหล่านั้นทิ้งไปเมื่อรู้ว่ามันไม่มีค่าในออสเตรเลีย.
[ที่มาของภาพ]
Image H17071 State Library of Victoria
[กรอบ/ภาพหน้า 21]
สิ่งที่ล้ำค่ากว่าทองคำ
เวย์น คู เป็นนักวิทยาศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมทำงานกับสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งประเทศจีน. ในช่วงทศวรรษ 1990 เขากับซู ภรรยาของเขาได้ไปที่ยุโรปเพื่อเขาจะเรียนต่อที่นั่น. ระหว่างอยู่ที่นั่น ทั้งสองได้พบพยานพระยะโฮวาและได้ศึกษาพระคัมภีร์. ในปี 2000 เวย์นและซูได้ย้ายไปออสเตรเลีย ทั้งคู่ศึกษาต่อด้านวิชาการ ซูศึกษาด้านชีววิทยาระดับโมเลกุล. พวกเขาก็ยังไม่เลิกศึกษาพระคัมภีร์ไบเบิล.
เวย์นชี้แจงว่า “เราใช้เวลานับสิบ ๆ ปีเพื่อจะได้ ปริญญาระดับสูง. แต่ผมก็บอกกับตัวเองว่า ‘ในที่สุด เราทุกคนก็ต้องแก่ เจ็บ และตาย. นั่นนะหรือเป็นจุดมุ่งหมายของชีวิต?’ ดูเหมือนว่าทุกสิ่งทุกอย่างไร้ประโยชน์. แต่คัมภีร์ไบเบิลตอบคำถามสำคัญที่สุดในชีวิตได้อย่างน่าพอใจและมีเหตุผล.
“การศึกษาพระคัมภีร์ทำให้เราได้ตรวจสอบแนวคิดที่เราไม่เคยคิดมาก่อนเลย แนวคิดนั้นคือความเป็นอยู่ของพระผู้สร้าง. ผมได้อ่านหนังสือของพยานฯ ชื่อ ชีวิต—เกิดขึ้นมาอย่างไร? โดยวิวัฒนาการหรือมีผู้สร้าง? และได้อ่านงานเขียนของชาลส์ ดาร์วิน เกี่ยวกับวิวัฒนาการ. การอ่านหนังสือเหล่านี้ พร้อมด้วยการค้นคว้าส่วนตัวทางด้านวิทยาศาสตร์ทำให้ผมสรุปได้ว่าต้องมีผู้สร้าง. ซูก็ได้ข้อสรุปอย่างเดียวกับผม.
“อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นเหตุผลทำให้เราเชื่อว่ามีพระเจ้าก็คือพลังของพระคัมภีร์ที่เปลี่ยนชีวิตผู้คนให้ดีขึ้น. แน่นอน หนังสือน่าอัศจรรย์นี้ไม่เพียงให้ความหวังในอนาคตแก่เราเท่านั้น แต่ยังทำให้เรามีเพื่อนแท้และสายสมรสที่แน่นแฟ้น. ผมกับซูได้รับบัพติสมาในปี 2005 เรารู้สึกยินดีที่ได้พบสิ่งที่ล้ำค่ากว่าการศึกษาสูงและ ‘ทองคำที่สูญไปได้.’ ”—1 เปโตร 1:7
[ภาพหน้า 19]
นักขุดทองชาวจีน ทศวรรษ 1860
[ที่มาของภาพหน้า 19]
Sydney Chinatown: © ARCO/G Müller/age fotostock; gold miner: John Oxley Library Image 60526 State Library of Queensland