บท 16
รัฐบาลที่จะนำมาซึ่งสันติภาพทั่วแผ่นดินโลก
มีรัฐบาลไหนบ้างที่สามารถนำสันติภาพถาวรมาสู่แผ่นดินโลก? จัดการให้มีความปลอดภัยและปลอดอาชญากรรม? จัดหาอาหารที่ดีมีคุณประโยชน์แก่ทุกคนได้อย่างบริบูรณ์? ชำระสิ่งแวดล้อมให้สะอาดและกำจัดโรคภัยไข้เจ็บได้?
2 จงพิจารณาประวัติของมนุษย์ในด้านการปกครองเช่น ระบอบราชาธิปไตย ประชาธิปไตยและระบอบสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์. การปกครองเหล่านี้ไม่มีแม้แต่ระบอบเดียวหรือเมื่อรวมกันทั้งหมดสามารถนำมาซึ่งสิ่งดีต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว แม้แต่ในขอบข่ายเล็ก ๆ โดยไม่ต้องพูดถึงทั้งโลก. แต่กระนั้น ก็มีเหตุผลที่คุณจะมีความหวัง.
พระเจ้าทรงมุ่งหมายจะให้มีรัฐบาล—ราชอาณาจักร
3 พระยะโฮวาเจ้าเองทรงสัญญาจะจัดหาสิ่งจำเป็นต่าง ๆ ให้แก่เรา. เราจะแน่ใจในเรื่องนี้ได้อย่างไร? จำไว้ว่า พระองค์ทรงมุ่งหมายแต่แรกจะให้ทั่วโลกเป็นอุทยานซึ่งประชาชนจะอยู่ด้วยความสงบสุข. (เยเนซิศ 1:28; 2:8, 9) ครั้นแล้วได้เกิดการกบฏขึ้นในสวนเอเดน. แต่คุณคิดว่าพระเจ้าจะทรงยอมให้มนุษย์ที่ไม่รู้จักบุญคุณขัดขวางจุดมุ่งหมายของพระองค์ไหม? ไม่เด็ดขาด. ที่จริง ไม่นานหลังจากอาดามกับฮาวาเป็นกบฏ พระยะโฮวาตรัสบอกล่วงหน้าถึงการมาของผู้ช่วยคือ “พงศ์พันธุ์” ซึ่งจะกำจัดผู้ก่อกวนความสงบสุขในสวรรค์และบนแผ่นดินโลก. (เยเนซิศ 3:15) คุณอาจสงสัยว่า ‘แต่ “รัฐบาล” จะเข้ามามีบทบาทตอนไหน?’ “พงศ์พันธุ์” นั้นจะเป็นพระมาซีฮา องค์สันติราช ซึ่งผู้พยากรณ์ยะซายาได้รับการดลใจให้เขียนว่า “ความจำเริญรุ่งเรืองแห่งรัฐบาล ของท่านและสันติสุขจะไม่รู้สิ้นสุด.”—ยะซายา 9:6, 7; 11:1-5.
4 ถูกแล้ว คำสัญญาของพระยะโฮวาคือที่จะให้มีการปกครองซึ่งนำมาถึงความยุติธรรมและสันติภาพ. พระคัมภีร์เรียกการปกครองนี้ว่าราชอาณาจักรของพระเจ้า. หลายล้านคนได้อธิษฐานว่า “พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย . . . ขอให้ราชอาณาจักรของพระองค์มา.” (มัดธาย 6:9, 10, ล.ม.) ถ้าท่านเคยอธิษฐานอย่างนี้ ท่านก็ทูลขอให้มีรัฐบาลจริง ๆ—ราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์—ซึ่งจะนำสันติภาพมาสู่แผ่นดินโลก. (บทเพลงสรรเสริญ 72:1-8) แต่พระเจ้าจะมอบอำนาจให้รัฐบาลนั้นดำเนินงานเมื่อไร? พระองค์จะทรงเลือกสรรและทำให้ผู้ที่จะปกครองราชอาณาจักรนั้นมีคุณสมบัติพร้อมโดยวิธีใด?
5 พระประสงค์ของพระเจ้าได้คลี่คลายตลอดเวลาหลายศตวรรษ. ยกตัวอย่าง พระองค์ทรงแจ้งว่า พระมาซีฮาจะมาทางเชื้อสายของอับราฮาม โดยทางยาโคบ และจะมาบังเกิดในตระกูลยูดา. (เยเนซิศ 22:18; 49:10) ครั้นแล้ว พระยะโฮวาได้ทรงตั้งอาณาจักรยิศราเอลขึ้นซึ่งเป็นแบบเชิงพยากรณ์ถึงสิ่งที่จะมีมาภายหลัง. ชาติยิศราเอลปกครองโดยพระเจ้า. พูดได้ว่า กษัตริย์ของพวกเขาประทับบน “พระที่นั่งของพระยะโฮวา.” (1 โครนิกา 29:23) พระยะโฮวาทรงมีอำนาจสูงสุด กฎหมายและมาตรฐานของพระองค์เป็นเครื่องนำทางชาตินั้น. ต่อมาพระเจ้าทรงแจ้งแก่กษัตริย์ดาวิดว่า โดยทางราชวงศ์ของท่านจะมีผู้หนึ่งบังเกิดมาซึ่งจะเป็นกษัตริย์ถาวร.—บทเพลงสรรเสริญ 89:20, 21, 29.
6 รายละเอียดดังกล่าว และเรื่องอื่น ๆ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ยิศราเอลซึ่งมีบันทึกในพระคัมภีร์เป็นสิ่งสำคัญ เพราะทำให้เราได้ทราบว่า พระเจ้าได้ทรงวางรากฐานแน่นหนาอย่างถูกต้องตามกฎหมายสำหรับราชอาณาจักรที่จะมีมานั้น. ประสานกับเรื่องนี้ ในกาลต่อมาพระเจ้าได้ทรงส่งทูตสวรรค์องค์หนึ่งให้มาแจ้งข่าวแก่หญิงสาวพรหมจารีซึ่งเป็นเชื้อวงศ์ของดาวิดดังนี้:
“เธอจะ . . . คลอดบุตรชาย จงตั้งชื่อบุตรนั้นว่าเยซู. บุตรนั้นจะเป็นใหญ่และจะได้ชื่อว่าเป็นบุตรของผู้สูงสุด พระเจ้า [ยะโฮวา] จะประทานพระที่นั่งของดาวิดบิดาของท่านให้แก่ท่าน และท่านจะครอบครองพงศ์พันธุ์ของยาโคบสืบ ๆ ไปเป็นนิตย์ และแผ่นดินของท่านจะไม่รู้สิ้นสุดเลย.”—ลูกา 1:28-33.
7 ผู้นี้แหละคือมาซีฮาตามที่บอกไว้ล่วงหน้า ผู้ซึ่งพระเจ้าทรงสัญญาว่าจะมอบอำนาจการครอบครองเหนือมนุษยชาติสืบ ๆ ไปเป็นนิตย์. เราอาจคาดหมายอะไรจากพระเยซูในฐานะผู้ครอบครอง? ขอให้เราตรวจสอบประวัติบันทึกเกี่ยวกับพระองค์ดูบ้าง.
8 พระเยซูทรงแสดงความเลื่อมใสเต็มเปี่ยมต่อพระเจ้าและทรงปฏิบัติตามพระทัยประสงค์ของพระองค์มิได้ขาด. (เฮ็บราย 10:9; ยะซายา 11:3) วิธีหนึ่งซึ่งพระองค์ทรงแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อพระเจ้าก็คือโดยการไม่รับสินบนไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินหรือตำแหน่งใหญ่โต ต่างกันเสียจริง ๆ กับผู้ครอบครองที่เป็นมนุษย์. (ลูกา 4:5-8) พระองค์ไม่หวั่นกลัวในการสนับสนุนความจริง ดังนั้น พระองค์จึงได้เปิดโปงความหน้าซื่อใจคดทางศาสนาอย่างไม่หยุดยั้ง.—โยฮัน 2:13-17; มาระโก 7:1-13.
9 อนึ่ง พระคริสต์ทรงมีความรักอย่างเด่นชัดต่อมนุษยชาติ ดังที่ได้แสดงให้เห็นโดยข้อเท็จจริงที่พระองค์ได้สละชีวิตของพระองค์เพื่อประโยชน์ของพวกเรา. (โยฮัน 13:34; 15:12, 13) ด้วยพระทัยเมตตาสงสาร พระเยซูได้ทรงรักษาคนป่วยให้หาย ทรงปลุกคนตายให้ฟื้น และทรงเลี้ยงอาหารสำหรับคนขัดสน. (ลูกา 7:11-15, 22; 9:11-17) พระองค์ทรงมีอำนาจเหนือพลังธรรมชาติและทรงใช้อำนาจนั้นเพื่อประโยชน์ของผู้คน. (มัดธาย 8:23-27) กระนั้น พระองค์ทรงเป็นบุคคลที่ใคร ๆ ก็เข้าพบได้ แม้แต่เด็กก็สบายใจเมื่ออยู่กับบุรุษที่มีน้ำใจอ่อนโยนผู้นี้.—มัดธาย 11:28-30; 19:13-15.
10 ขอให้นึกดูซิว่า การมีพระองค์เป็นผู้ครอบครองพร้อมด้วยคุณลักษณะและความสามารถต่าง ๆ ของพระองค์จะหมายถึงพระพรมากมายสักเพียงไร! นี่แหละเป็นความหวังอันยอดเยี่ยมสำหรับผู้นมัสการพระยะโฮวา.
การปกครองจากสวรรค์
11 เมื่อผู้สำเร็จราชการชาวโรมันถามพระเยซูถึงเรื่องฐานะการเป็นกษัตริย์ของพระองค์ พระเยซูตรัสตอบว่า “อาณาจักรของเราไม่เป็นส่วนของโลกนี้.” (โยฮัน 18:36, ล.ม.) เกี่ยวกับการเมืองของชาติต่าง ๆ พระเยซูทรงวางตัวเป็นกลางอย่างเคร่งครัด เป็นการวางแบบอย่างแก่เหล่าสาวกของพระองค์. (โยฮัน 6:15; 2 โกรินโธ 5:20) ยิ่งกว่านั้น พระเจ้าหาได้ทรงมุ่งหมายจะให้พระบุตรของพระองค์ทำการปกครองจากที่แห่งใดแห่งหนึ่งบนแผ่นดินโลกไม่. พระองค์จะบริหารการปกครองจากสวรรค์ จากที่นั่น พระองค์ทรงสามารถใช้อำนาจอันเยี่ยมยอดเกินมนุษย์ได้อย่างกว้างขวาง.
12 โดยคำนึงถึงความหวังเช่นนั้น ภายหลังการสิ้นพระชนม์ด้วยความซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าแล้ว พระบิดาของพระเยซูจึงได้ปลุกพระองค์ให้มีชีวิตอมตะในสภาพวิญญาณ. (กิจการ 10:39-43; 1 โกรินโธ 15:45) พระคริสต์ทรงปรากฏกายให้สาวกของพระองค์ได้เห็นและทรงรับรองให้เขามั่นใจว่าพระองค์ทรงมีชีวิตและประกอบด้วยฤทธิ์เดช. ครั้นแล้ว พระเยซูได้เสด็จสู่สวรรค์. ในเรื่องนี้อัครสาวกเปโตรเขียนไว้ว่า “พระองค์ทรงสถิตอยู่เบื้องขวาพระหัตถ์ของพระเจ้าเพราะพระองค์ได้เสด็จสู่สวรรค์แล้ว และพวกทูตสวรรค์และผู้มีอำนาจและผู้มีฤทธิ์เดชทั้งหลายทรงมอบให้อยู่ใต้อำนาจของพระองค์แล้ว.”—1 เปโตร 3:22, ล.ม.; มัดธาย 28:18.
13 เริ่มตั้งแต่ปีสากลศักราช 33 พระคริสต์ทรงเริ่มปกครองประชาคมคริสเตียน และสาวกของพระองค์ต่างก็ยินดีรับรองพระองค์ในฐานะองค์พระผู้เป็นเจ้าและตำแหน่งของพระองค์ในสวรรค์. (โกโลซาย 1:13, 14) แต่ตอนนั้นก็หาใช่พระประสงค์ของพระเจ้าไม่ที่จะให้พระเยซูเริ่มปกครองเหนือโลกแห่งมนุษยชาติและเอกภพ.
14 พระเจ้าทรงปล่อยให้มนุษย์มีเวลานานพอจะเห็นผลสืบเนื่องจากการปกครองของมนุษย์. ด้วยเหตุนี้ พระคริสต์จึงต้องรออยู่จนกระทั่งถึงเวลาที่กำหนดไว้สำหรับให้ราชอาณาจักรของพระองค์ปกครองโลก. อัครสาวกเปาโลเขียนไว้ว่า “พระองค์นี้ ครั้นทรงกระทำบูชาเพราะความบาปเพียงหนเดียวซึ่งใช้ได้เป็นนิตย์ ก็เสด็จนั่งเบื้องขวาพระหัตถ์ของพระเจ้า ตั้งแต่นี้ไปพระองค์คอยอยู่จนถึงบรรดาศัตรูของพระองค์จะถูกปราบลงเป็นที่รองพระบาทของพระองค์.”—เฮ็บราย 10:12, 13.
15 แต่ถ้าพระเยซูไม่ทรงประจักษ์แก่ตาอยู่ในสวรรค์ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าพระองค์ทรงเริ่มทำการปกครองแล้ว? ดังได้พิจารณากันในบทก่อน พระเยซูทรงให้ “สัญลักษณ์” ซึ่งเห็นประจักษ์เพื่อเหล่าสาวกของพระองค์ที่อยู่ในโลกจะทราบเมื่อถึงเวลานั้น. (มัดธาย 24:3-31) สงคราม การกันดารอาหาร แผ่นดินไหว การข่มเหงคริสเตียนและการประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรไปทั่วโลก ซึ่งเราได้เห็นนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 (1914-1918) เป็นสิ่งยืนยันว่าเรามีชีวิตอยู่ในช่วงอวสานแห่งระบบนี้. อนึ่ง เหตุการณ์เหล่านี้เป็นข้อพิสูจน์อีกว่า บัดนี้พระคริสต์ครองราชย์ในสวรรค์ เพราะหลังจากมีการพรรณนาถึงสงครามต่อสู้ซาตานในสวรรค์แล้ว พระคัมภีร์กล่าวว่า:
“บัดนี้ ความรอดและฤทธิ์เดชและอาณาจักรแห่งพระเจ้าและอำนาจพระคริสต์ของพระองค์ก็มาแล้ว. . . . เพราะเหตุนั้นแหละสวรรค์ทั้งหลายกับทั้งผู้ที่อยู่ในสวรรค์นั้นจงชื่นชมยินดีเถิด! วิบัติจะมีแก่แผ่นดินโลกและทะเล เพราะว่ามารลงมาถึงเจ้า มีความโกรธยิ่งนัก ด้วยมันรู้ว่าเวลาของมันมีน้อย.”—วิวรณ์ 12:7-12.
16 ฉะนั้น เวลานี้พระเยซูคริสต์ทรงครอบครอง. นี้หมายความว่าเป็นเพียง “ชั่วระยะสั้น” จนกระทั่งพระองค์ทรงใช้อำนาจของพระองค์กำจัดผู้ต่อต้านราชอาณาจักรทั้งมวล รวมทั้งพญามารและทุกรัฐบาลที่มนุษย์จัดตั้งขึ้นมา. (ดานิเอล 2:44) ตอนนั้นแหละเราจะชื่นชมยินดีในราชอาณาจักรตามระบอบการของพระเจ้าซึ่งจะทำให้เกิดสันติภาพถาวร.
ผู้ครอบครองร่วมกันในราชอาณาจักร
17 พระคัมภีร์ได้เผยอีกแง่มุมหนึ่งที่ประทับใจมากเกี่ยวกับราชอาณาจักร. ดานิเอล 7:13, 14 พรรณนาเกี่ยวกับการที่พระบุตรของพระเจ้าได้รับเอา “ราชอำนาจ ศักดิ์ศรี กับราชอาณาจักร.” แล้วมีการแถลงในนิมิตว่า:
“ครั้นแล้วอาณาจักรและเกียรติยศ รัชช และอำนาจราชศักดิ์แห่งรัฏฐทั้งปวงทั่วใต้ฟ้าจะถูกมอบไว้แก่เหล่าผู้บริสุทธิ์ของพระผู้สูงสุด นั้น: อาณาจักรของเขาเป็นอาณาจักรถาวร และรัฏฐทั้งปวงจะรับใช้และเชื่อฟังเขา.”—ดานิเอล 7:27.
ดังนั้นพระเจ้าทรงประสงค์ให้พระเยซูคริสต์มีผู้ร่วมทำการปกครอง. ทั้งนี้ย่อมหมายความว่ามนุษย์บางคนจะไปสวรรค์. ขณะที่พระเยซูดำเนินชีวิตอยู่บนแผ่นดินโลก พระองค์ทรงเริ่มคัดเลือกชายหญิงให้มาเป็นผู้ร่วมทำการปกครองกับพระองค์. พระองค์ทรงแจ้งแก่เขาว่าพระองค์จะเสด็จไปสวรรค์เพื่อเตรียมที่สำหรับเขา.—โยฮัน 14:1-3.
18 เรื่องนี้ช่วยเราให้เข้าใจเรื่องหนึ่งได้แจ่มแจ้งซึ่งผู้คนมากมายที่ไปโบสถ์ตลอดชีวิตของเขาไม่เคยเข้าใจคือ: ฝ่ายหนึ่ง พระคัมภีร์ชี้ชัดว่า พระเจ้าทรงมุ่งหมายจะให้มนุษย์มีชีวิตอยู่บนแผ่นดินโลก แต่อีกฝ่ายหนึ่ง พระคัมภีร์พูดถึงมนุษย์จะไปสวรรค์. เรื่องนี้เป็นไปอย่างไร? เอาละ พระเจ้าทรงสัญญาไว้ว่าจะมีมนุษย์จำนวนหนึ่งถูกรับไปอยู่ในสวรรค์ร่วมปกครองกับพระบุตรของพระองค์ในราชอาณาจักร. แต่แผ่นดินโลกจะกลายเป็นอุทยาน มีมนุษย์อยู่ร่วมกันด้วยความสงบสุข.—ดูบทเพลงสรรเสริญ 37:29; ยะซายา 65:17, 20-25.
19 บุคคลที่จะไปสวรรค์ในฐานะเป็นส่วนแห่งรัฐบาลราชอาณาจักรนั้นมีจำนวนเท่าไร? พระเยซูทรงตรัสโดยนัยดังนี้ “แกะฝูงเล็กน้อยเอ๋ย อย่ากลัวเลย เพราะว่าพระบิดาของท่านชอบพระทัยจะประทานแผ่นดินนั้นให้แก่ท่าน.” (ลูกา 12:32) ใช่แล้ว จำนวนนั้นมีจำกัด. พระธรรมวิวรณ์แจ้งว่าจำนวนคนเหล่านั้นที่ “ถูกไถ่ไว้แล้วจากแผ่นดินโลก” เพื่อปกครองร่วมกับ “พระเมษโปดก” (พระเยซูคริสต์) มี 144,000 คน. (วิวรณ์ 14:1-5) ทั้งนี้ย่อมเข้าใจได้ไม่ยาก. แม้แต่รัฐบาลของมนุษย์ก็ยังประกอบขึ้นด้วยคณะชายหญิงที่ถูกคัดเลือกผู้ซึ่งจะไปยังนครหลวงเพื่อเป็นส่วนประกอบของรัฐบาล.
20 แต่พระเจ้าหาได้ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของมนุษย์จะกำหนดว่าใครสมควรไปสวรรค์. พระองค์ทรงเลือกพวกเขา. (1 เปโตร 2:4, 5, 9; โรม 8:28-30; 9:16) ในคราวที่พระเจ้าทรงเลือกอัครสาวกเปาโล พระองค์ได้โปรดให้ท่านได้รับพระวิญญาณของพระองค์ ซึ่งทำให้เปาโลมั่นใจว่าตนจะได้เป็นส่วนแห่ง “ราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์.” (2 ติโมเธียว 4:18) เปาโลได้เขียนดังนี้: “ฝ่ายพระวิญญาณนั้นเป็นพยานรวมกับจิตใจของเราทั้งหลายว่า เราทั้งหลายเป็นบุตรของพระเจ้า. ถ้าเราทั้งหลายเป็นบุตรของพระเจ้าแล้ว เราจึงเป็นทายาท คือผู้รับมรดกของพระเจ้าและเป็นทายาทด้วยกันกับพระคริสต์.”—โรม 8:16, 17; 2 โกรินโธ 1:22; 5:5.
21 โดยเทียบเคียงแล้ว ผู้นมัสการพระเจ้ามีเพียงจำนวนน้อยที่ถูกเลือกไว้เพื่อจะอยู่ในสวรรค์ เนื่องจากพระเจ้าทรงประสงค์จะให้มนุษย์อยู่บนแผ่นดินอย่างมีความสุข. พระเยซูเป็นผู้แรกที่ถูกรับเข้าไปในสวรรค์. (เฮ็บราย 6:19, 20; มัดธาย 11:11) หลังจากนั้น พระเจ้าก็ยังทรงเลือกสรรอีก 144,000 คนเรื่อยมา. ครั้นจำนวนนี้ครบแล้วจะเป็นอย่างไร?
22 หลังจากอัครสาวกโยฮันได้เห็นนิมิตชนจำนวนจำกัด (144,000 คน) ในสวรรค์ร่วมกับพระคริสต์แล้ว ท่านเห็น “ชนฝูงใหญ่ซึ่งไม่มีใครนับจำนวนได้.” (วิวรณ์ 7:4, 9, 10, ล.ม.) คนเหล่านี้จะได้รับการคุ้มครองจากพระเจ้าให้รอดผ่านการทำลายล้างคราวอวสานของระบบปัจจุบันนี้. พวกเขามีความหวังอันวิเศษในเรื่องชีวิตนิรันดร์บนแผ่นดินโลก ความหวังอย่างเดียวกันนี้แหละที่เตรียมไว้ให้แก่บรรดาผู้มีความเชื่อ เช่น โนฮา อับราฮาม และดาวิด ซึ่งได้ตายไปก่อนพระเจ้าเปิดทางให้แก่ 144,000 คนรับชีวิตฝ่ายสวรรค์.—กิจการ 2:34.
เหตุผลที่ผู้ครอบครองได้รับความไว้วางใจ
23 ทุกวันนี้ คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยไว้วางใจผู้ครอบครองของตน. อย่างไรก็ดี บุคคลซึ่งจะทำการปกครองในราชอาณาจักรของพระเจ้าแตกต่างกันมากกับผู้ครอบครองฝ่ายโลกนี้ทีเดียว. ตลอดเวลาหลายร้อยปี พระเจ้าทรงเลือกสรรบุคคลซึ่งได้พิสูจน์ให้เห็นความเชื่อศรัทธาของเขาแล้ว. ภายใต้การทดลองและการล่อใจทุกรูปแบบ พวกเขายึดอยู่กับสิ่งที่ถูกต้องและเที่ยงธรรม. พวกเขาทำให้พระเจ้าทรงไว้วางใจเขา แล้วเราจะไม่ไว้วางใจบุคคลเหล่านี้หรือ?
24 นอกจากนี้ เนื่องจากเขาเคยเป็นมนุษย์มาแล้ว เขาจึงสามารถเข้าใจและเห็นอกเห็นใจพวกเรา. (เทียบเฮ็บราย 4:15, 16.) เขาย่อมเข้าใจถึงความเหน็ดเหนื่อย ความวิตกกังวล และความท้อใจว่าเป็นเช่นไร. เขาเข้าใจว่าที่จะอดทนและเมตตากรุณามากขึ้นนั้นจำต้องใช้ความพยายามบากบั่นเพียงไร. และมีบางคนในคณะนี้เคยเป็นสตรี พวกเขาจึงเข้าใจความรู้สึกและความจำเป็นเฉพาะอย่างของผู้หญิงที่อยู่ทางแผ่นดินโลก.—ฆะลาเตีย 3:28.
25 ทุกวันนี้ มีพยานพระยะโฮวาหลายล้านคนที่กำลังพิสูจน์ว่าเขาไว้วางใจพระคริสต์และผู้ที่ร่วมครอบครองกับพระองค์ ทั้งแสดงให้เห็นว่าราชอาณาจักรเป็นสิ่งจริงจังเพียงไรสำหรับพวกเขา. เขาทำเช่นนี้โดยการเป็นพลเมืองที่จงรักภักดี แห่งราชอาณาจักรของพระเจ้า. (สุภาษิต 14:28) พวกเขายอมรับและสนับสนุนกฎหมาย แห่งราชอาณาจักรที่บันทึกไว้ในพระคัมภีร์ และเชื่อจริง ๆ ว่าหลักการคริสเตียนเป็นแนวทางที่ดีที่สุดสำหรับชีวิต. พวกเขาร่วมอยู่ในโครงการศึกษา ที่รัฐบาลนี้จัดขึ้น. คัมภีร์ไบเบิลเป็นตำราหลัก ใช้ควบกับหนังสืออ้างอิงฝ่ายคริสเตียน และคู่มือการศึกษา. ณ การประชุมต่าง ๆ ของประชาคม พวกเขาเรียนมากขึ้นเรื่องราชอาณาจักรและการดำเนินชีวิตแบบคริสเตียน. และเขาขยายโครงการศึกษาไปถึงผู้อื่นด้วยการสั่งสอนในที่สาธารณะและตามบ้าน.—กิจการ 20:20.
26 พระเยซูคริสต์ทรงกล่าวถึงลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของ “สมัยสุดท้าย” ว่า “ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรนี้จะได้รับการประกาศไปทั่วแผ่นดินโลกที่มีคนอาศัยอยู่ เพื่อเป็นพยานแก่นานาชาติ ครั้นแล้ว จุดอวสานจะมาถึง.” (มัดธาย 24:14, ล.ม.) ก่อนพระเยซูเสด็จสู่สวรรค์ พระองค์ทรงเน้นถึงความจำเป็นที่สาวกของพระองค์ควรจะมีส่วนร่วมในงานประกาศเผยแพร่ข่าวดีนี้.—มัดธาย 28:19, 20; กิจการ 1:8.
27 คริสเตียนสมัยนี้ตระหนักดีว่าการมีส่วนทำงานประกาศสั่งสอนเช่นนี้เป็นวิธีสำคัญวิธีหนึ่งที่พวกเขาจะแสดงออกซึ่งความรักต่อพระเจ้าและต่อเพื่อนบ้านได้. (มาระโก 12:28-31) งานนี้เกี่ยวข้องกับชีวิต ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่รับผิดชอบสำคัญ. (กิจการ 20:26, 27; 1 โกรินโธ 9:16) อนึ่ง งานนี้ยังเป็นแหล่งที่นำมาซึ่งความสุขและความพึงพอใจมากมายด้วย. (กิจการ 20:35) พยานพระยะโฮวายินดีจะช่วยคุณในการสอนคนอื่นเกี่ยวกับราชอาณาจักรของพระเจ้าที่ทำการปกครองอยู่.
[คำถามศึกษา]
สิ่งน่าปรารถนาอะไรบ้างที่รัฐบาลของมนุษย์ไม่อาจทำให้สัมฤทธิ์ผลได้? (1, 2)
เราทราบได้อย่างไรว่าพระเจ้าทรงประสงค์จะตั้งรัฐบาลที่จะนำมาซึ่งสันติภาพ? (3, 4)
พระเจ้าทรงดำเนินขั้นตอนอะไรบ้างเกี่ยวกับการตั้งราชอาณาจักร? (5, 6)
ทำไมเราจึงแน่ใจได้ว่าพระเยซูจะทรงเป็นผู้ครอบครองที่ดีเยี่ยม? (7-10)
ด้วยเหตุผลอะไรที่จะบอกได้ว่าพระเยซูจะไม่ปกครองที่โลกนี้? (11, 12)
มีหลักฐานอะไรบ่งบอกเมื่อพระคริสต์ทรงเริ่มครอบครองมนุษยชาติ? (13-16)
ใครจะร่วมการปกครองราชอาณาจักรกับพระเยซู? (17, 18)
ผู้ที่จะไปสวรรค์มีจำนวนเท่าไร และทำไมไม่ใช่มนุษย์ทุกคนจะไปสวรรค์? (19-22)
ด้วยเหตุผลอะไรเราจึงไว้วางใจบุคคลเหล่านี้ซึ่งร่วมปกครอง? (23, 24)
เราจะแสดงให้เห็นโดยวิธีใดว่าเราสนับสนุนราชอาณาจักร? (25-27)
[กรอบหน้า 166]
“ความล้มเหลว ในการสร้างรากฐานอันแท้จริงสำหรับสันติภาพของโลก . . . เป็นผลโดยตรงของการที่ชาติต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศใหญ่กว่า ปฏิเสธไม่ยอมรับอำนาจซึ่งสามารถบัญชาให้เขากระทำสิ่งที่ควรกระทำในระดับนานาชาติ.
“เมื่อเป็นเช่นนั้น การท้าทายอันสำคัญในทุกวันนี้คือ ทำอย่างไรจึงจะสร้างอำนาจโลกเพื่อรักษาสันติภาพซึ่งเป็นที่เชื่อถือไว้วางใจของประชาชนในโลก.”—บรรณาธิการ นอร์มัน เคาซินส์ “แซ็ทเทอร์เดย์ รีวิว.”
[กรอบหน้า 175]
มองดูการปกครองตามสภาพจริง
สเท็ลวิโอซึ่งเคยเป็นนักต่อสู้ทางการเมืองในแถบตอนใต้ของยุโรปในทศวรรษปี 1970 เล่าว่า “อาวุธของเราคือตะบอง ไม้พลองหุ้มตะกั่ว โซ่และปืน.” ณ ค่ายลับแบบค่ายทหาร เขาได้เรียนรู้วิธีปลุกระดมฝูงชนให้ก่อการจลาจล และทำสงครามในเมืองใหญ่.
แต่เมื่อหลายปีผ่านไปก็เกิดการเปลี่ยนแปลง. พยานพระยะโฮวาคนหนึ่งได้ไปที่บ้านของสเท็ลวิโอเพื่อสอนพระคัมภีร์. ผลเป็นอย่างไร? “ความรู้ทำให้ตาผมสว่างขึ้น ผมแลเห็นว่าลัทธิชาตินิยมและพรรคการเมืองย่อย ๆ เหล่านั้นทำให้มนุษย์แบ่งแยกกัน. ผมได้เรียนจากคัมภีร์ไบเบิลว่า พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ทุกชาติจากคน ๆ เดียวให้อาศัยอยู่บนแผ่นดินโลก. (กิจการ 17:26) การสำนึกได้เช่นนี้เป็นพลังก่อให้มีเอกภาพ. ช่วยผมไม่เกลียดชังคนอื่นเพียงเพราะความคิดเห็นทางด้านการเมืองของเขาแตกต่างไป.”
อดีตนักต่อสู้หัวรุนแรงผู้นี้กล่าวเสริมว่า “ผมเฝ้าถามตัวเองว่า: มนุษย์จะสามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ของเขาโดยอาศัยการเมืองได้อย่างไร เนื่องจากการเมืองเองได้ทำให้มนุษย์แตกแยกกัน? เพื่อมนุษย์จะอยู่ร่วมกัน สาเหตุต่าง ๆ ที่ทำให้มีการแบ่งแยกจะต้องหมดไป. ผมได้เห็นคนผิวดำและผิวขาวอยู่ท่ามกลางพยานพระยะโฮวาจุ่มตัวในน้ำรับบัพติสมาที่สระเดียวกัน คนที่แต่ก่อนถือลัทธิโปรเตสแตนท์และคาทอลิกในไอร์แลนด์ซึ่งเคยเกลียดกันมาก่อน เวลานี้เลิกเกลียดกันแล้ว ชาวอาหรับและชาวยิวได้ประชุมร่วมกันในช่วงสงครามหกวัน. ผมได้มาเรียนที่จะรักคนเหล่านั้นซึ่งผมเคยเกลียดชัง.
“ไม่มีใครจะกล่าวได้ว่า ราชอาณาจักรของพระเจ้าซึ่งพยานพระยะโฮวาตั้งใจรอคอยจะเป็นเพียงความฝันที่เป็นจริงไม่ได้ เพราะว่าเวลานี้มีสังคมหนึ่งในระดับนานาชาติเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอยู่แล้วภายใต้ราชอาณาจักรนั้น. การปฏิบัติตามหลักการในคัมภีร์ไบเบิลปรากฏผลออกมาอย่างที่ไม่มีกลุ่มศาสนา กลุ่มการเมืองหรือกลุ่มสังคมใดทำได้สำเร็จ.
“สำหรับผู้ที่เคยต่อสู้ดิ้นรนเหมือนที่ผมได้ทำในอดีตเพื่อหวังจะได้ความยุติธรรม สันติภาพและสังคมที่เป็นระเบียบ ผมขอกล่าวว่า ‘จงมองสภาพอย่างที่เป็นจริงและยอมรับว่ามนุษย์ไม่เคยมีความสามารถจะนำมาซึ่งสิ่งเหล่านั้นได้. แต่ขอจงมองดูไปที่พยานพระยะโฮวา. พวกเขาได้เอาชนะปัญหาด้านสงคราม การแบ่งแยกทางการเมือง การเลือกที่รักมักที่ชังทางด้านเชื้อชาติ สันติภาพและเอกภาพมิใช่หรือ? มนุษย์ไว้วางใจมนุษย์ด้วยกันและมักมีปัญหา. พยานพระยะโฮวายอมตัวใต้อำนาจราชอาณาจักรของพระเจ้าและสามารถแก้ปัญหาสำคัญด้านการดำรงชีวิตได้.’”