บท 19
คุณจะนมัสการพระเจ้าในแนวของพระองค์ไหม?
พระคัมภีร์บอกล่วงหน้าว่าใน “สมัยสุดท้าย” คนจะ “เป็นคนรักตัวเอง . . . เป็นคนอวดตัว เป็นคนจองหอง . . . มีสภาพธรรมะภายนอก แต่ฤทธิ์ของธรรมะนั้นเขาปฏิเสธเสีย.” (2 ติโมเธียว 3:1-5) คำพรรณนานี้ตรงกันกับสภาพที่เราแลเห็นอยู่รอบตัวเราในทุกวันนี้มิใช่หรือ?
2 จริงทีเดียว ทุกแง่มุมแห่งการดำเนินชีวิต ประชาชนประพฤติอย่างที่แสดงให้เห็นว่า “ต้องฉันก่อน”—การประพฤติของเขาขณะไปซื้อของหรือขับรถ การที่เขาให้ความสนใจต่อเครื่องแต่งกาย การแต่งหน้าและการเต้นรำแบบที่เขาชอบ. แต่ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้หาได้นำมาซึ่งความสุขอันแท้จริงไม่.
3 ผู้คนจำนวนมากมีทัศนะต่อศาสนาตามที่เขา ต้องการหรือรู้สึกว่าเขา มีความจำเป็น. นับว่าเป็นความผิดพลาดอะไรเช่นนั้น! เรามิใช่ฝ่ายที่จะบอกว่าพระเจ้าควรได้รับการนมัสการอย่างไร. ในฐานะที่พระยะโฮวาเป็นผู้สร้างและเป็นผู้ประสาทชีวิต พระองค์ย่อมจะเป็นผู้กำหนดว่า สมควรนมัสการพระองค์อย่างไร. (โรม 9:20, 21) และสิ่งที่พระองค์ทรงเรียกร้องจากเราก็เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของเราเอง. สิ่งนั้นคงนำมาซึ่งความอิ่มอกอิ่มใจในขณะนี้ และจิตใจและหัวใจของเราจะจดจ้องอยู่กับสิ่งต่าง ๆ อันน่าพิศวงซึ่งพระองค์ทรงเตรียมไว้ให้เราในอนาคต.—ยะซายา 48:17.
4 พระยะโฮวาหาได้ทำให้คริสเตียนต้องรับภาระหนักด้วยพิธีรีตองต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็นหรือตั้งข้อจำกัดอย่างไร้สาระ. แต่พระเจ้าทรงทราบว่า ที่จะมีชีวิตดำรงอยู่เรื่อยไปนั้นขึ้นอยู่กับการมีสัมพันธภาพที่ดีกับพระองค์ และเราจะต้องดำเนินชีวิตตามมาตรฐานของพระองค์ และแสดงความห่วงใยต่อคนอื่น ๆ หากเราจะได้รับความเพลิดเพลินอย่างแท้จริงในชีวิต. เมื่อเรานมัสการพระเจ้าในแนวที่พระองค์ ประสงค์ ชีวิตก็จะมีค่าและมีความหมายยิ่งขึ้น.
กระทำสิ่งต่าง ๆ ในแนวของพระเจ้า
5 โนฮาเป็นตัวอย่างที่ดีเกี่ยวด้วยการเป็นบุคคลที่กระทำในแนวของพระเจ้า. พระคัมภีร์กล่าวว่า “โนฮาเป็นคนชอบธรรม รอบคอบดีในสมัยอายุของเขา และได้ดำเนินกับพระเจ้า.” หลังจากพระเจ้าทรงชี้แจงแนะนำให้ท่านสร้างนาวาใหญ่เพื่อพิทักษ์ชีวิต “พระเจ้ารับสั่งให้โนฮาทำอย่างไร โนฮาก็กระทำอย่างนั้นทุกสิ่งทุกประการ.” (เยเนซิศ 6:9, 22) การทำสิ่งต่าง ๆ ในแนวของพระเจ้าทำให้โนฮารอดชีวิต รวมทั้งชีวิตคนอื่นภายในครอบครัวด้วย ซึ่งสนับสนุนท่านฐานะผู้พยากรณ์ของพระเจ้าบนแผ่นดินโลก.—2 เปโตร 2:5.
6 อีกผู้หนึ่งซึ่งดำเนินในแนวของพระเจ้าได้แก่อับราฮาม. พระเจ้าได้สั่งท่านให้ไปจากบ้านเกิดเมืองนอนของตน. ถ้าเป็นคุณ คุณจะเชื่อฟังไหม? อับราฮาม “ก็ออกไปตามคำพระยะโฮวาตรัสสิ่งนั้น.” ทั้ง ๆ ที่ “หารู้ไม่ว่าจะไปทางไหน.” (เยเนซิศ 12:4; เฮ็บราย 11:8) เนื่องจากได้กระทำสิ่งต่าง ๆ อย่างซื่อสัตย์ในแนวของพระเจ้า อับราฮามจึงได้ชื่อว่าเป็น “มิตรสหายของพระยะโฮวา.”—ยาโกโบ 2:23, ล.ม.; โรม 4:11.
การอยู่ในท่ามกลางพลไพร่ของพระเจ้า
7 ในเวลาต่อมา พระเจ้าพอพระทัยจะติดต่อกับผู้คนกลุ่มใหญ่คือชาติยิศราเอล. พวกเขาเป็น “พลไพร่ของพระองค์ เป็นสมบัติพิเศษ ถูกเลือกจากชนประเทศซึ่งอยู่ทั่วแผ่นดินโลก.” (พระบัญญัติ 14:2, ล.ม.) แน่นอน ชาวยิศราเอลแต่ละคนจะต้องอธิษฐานถึงพระเจ้าและมีสัมพันธภาพใกล้ชิดเป็นส่วนตัวกับพระองค์. แต่เขาก็ต้องยอมรับว่าพระเจ้าทรงชี้นำประชาคม และในฐานะที่เป็นไพร่พล เขาต้องปฏิบัติตามระเบียบการนมัสการดังที่ได้มีเค้าโครงไว้ในกฎหมายของพระเจ้า. ด้วยเหตุนี้ พวกเขาย่อมได้รับการคุ้มครองป้องกันและพระพรตามที่พระเจ้าทรงจัดเตรียมไว้สำหรับประชาคม. (พระบัญญัติ 28:9-14) คิดดูซิว่าการที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของคนเหล่านั้นซึ่งพระผู้สูงสุดเรียกว่า “ยิศราเอลพลไพร่ของเรา” นั้น เป็นสิทธิพิเศษมากจริง ๆ.—2 ซามูเอล 7:8.
8 สำหรับคนที่ไม่ใช่ชาวยิศราเอลแต่ต้องการนมัสการพระเจ้าองค์เที่ยงแท้ล่ะจะว่าอย่างไร? บุคคลจำพวกนี้ประกอบกันเป็นเหมือน “ฝูงชนชาติอื่นเป็นอันมากได้ปะปนติดตามไปด้วย” ซึ่งสมัครใจไปกับพวกยิศราเอลเมื่อโมเซนำชาตินั้นออกจากอียิปต์. (เอ็กโซโด 12:38) ถ้าคุณอยู่ในอียิปต์ตอนนั้น คุณจะคิดไหมว่าคุณจะคงอยู่ที่นั่นต่อไปได้และนมัสการพระเจ้าตามแนวของคุณเองอย่างเป็นเอกเทศ?
9 แม้แต่เมื่อพวกยิศราเอลได้ตั้งรกรากอยู่ในแผ่นดินแห่งคำสัญญาแล้ว ชาวต่างประเทศผู้ซึ่งยอมรับพระยะโฮวาและต้องการนมัสการพระองค์ก็ย่อมทำเช่นนั้นได้. อย่างไรก็ดี พวกเขาต้องหยั่งรู้เข้าใจว่าพระเจ้าทรงปฏิบัติกับพลไพร่ที่เข้ามาชุมนุมกัน และการนมัสการของพระองค์มีศูนย์รวม ณ พระวิหารในกรุงยะรูซาเลม. (1 กษัตริย์ 8:41-43; อาฤธโม 9:14) พระเจ้าจะไม่ทรงรับรองเอาบุคคลใด ๆ หากเขาปล่อยให้ความยโสหรือความคิดที่ไม่หมายพึ่งใครกระตุ้นเขาให้ตั้งแบบแผนการนมัสการตามแนวของตนเอง.
การเปลี่ยนประชาคม
10 สมัยที่พระเยซูทรงหมกมุ่นกับงานรับใช้ทางแผ่นดินโลก ตอนนั้นพระเจ้ายังคงติดต่อกับชาวยิศราเอลในฐานะเป็นชนชาติที่ได้อุทิศแด่พระองค์. ด้วยเหตุนี้ ทุกคนที่ได้ยอมรับพระมาซีฮาแล้วจึงไม่จำเป็นจะประชุมกับพระเยซูอย่างสม่ำเสมอ หรือเดินทางไปกับพระองค์อย่างพวกอัครสาวกได้กระทำ. (มาระโก 5:18-20; 9:38-40) แต่ชาตินั้นส่วนใหญ่ได้ปฏิเสธพระมาซีฮาของพระยะโฮวา พระเยซูจึงตรัสก่อนพระองค์สิ้นพระชนม์ไม่นานดังนี้ “แผ่นดินของพระเจ้าจะต้องเอาไปจากท่านยกให้แก่ชนชาติหนึ่งซึ่งจะกระทำให้ผลเจริญสมกับแผ่นดินนั้น.”—มัดธาย 21:43, ฉบับแปลใหม่.
11 ชนชาติใหม่นี้จะได้แก่ผู้ใด ครั้นไม่มีข้อเรียกร้องให้นมัสการในแบบที่เคยบัญญัติไว้ในกฎหมายของพระเจ้าสำหรับพวกยิศราเอล? (โกโลซาย 2:13, 14; ฆะลาเตีย 3:24, 25) ในวันเพ็นเตคอสเตปีสากลศักราช 33 ประชาคมคริสเตียนได้ถูกวางรากไว้แล้วและพระเจ้าทรงบันดาลให้การนี้แจ้งชัดแก่ผู้สังเกตการณ์ที่จริงใจว่า นี้แหละคือราชกิจของพระองค์. (กิจการ 2:1-4, 43–47; เฮ็บราย 2:2-4) ทีแรก ชาวยิวและชาวต่างประเทศที่เชื่อฝ่ายลัทธิยูดาย และต่อมาคนต่างชาติหรือชนเชื้อชาติต่าง ๆ ได้เข้ามาเป็น “ประชาชนเพื่อพระนามของพระองค์.” บัดนี้ พระเจ้าทรงถือว่าคนเหล่านี้เป็น “เชื้อสายที่ทรงเลือกไว้ เป็นคณะปุโรหิตหลวง เป็นชาติบริสุทธิ์ เป็นพลไพร่ที่เป็นสมบัติพิเศษ.”—กิจการ 15:14-18; 1 เปโตร 2:9, 10, ล.ม.
12 หากคุณอยู่ในสมัยนั้น และต้องการมีสัมพันธภาพกับพระเจ้า คุณคงจะได้รับการแนะนำให้สมทบกับประชาคมคริสเตียน. เรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นกับโกระเนเลียวชาวอิตาเลียนกับคนในครอบครัวของเขา. (กิจการ 10:1-48) ผู้มีความเชื่อที่อยู่ทั่วโลกประกอบกันขึ้นเป็นประชาคมคริสเตียน. (1 เปโตร 5:9) ประชาคมในที่ต่าง ๆ ทุกแห่ง ซึ่งพบปะประชุมกันในบ้านหรือในสถานที่สำหรับผู้คนทั่วไป ต่างก็เป็นส่วนของประชาคมคริสเตียนประชาคมเดียวซึ่งพระเจ้าทรงใช้ขณะนั้น.—กิจการ 15:41; โรม 16:5.
13 เนื่องด้วยเป็นพระเจ้าแห่งความเป็นระเบียบ พระยะโฮวาได้ทรงจัดเตรียมมาตรการสำหรับองค์การในประชาคม. เพื่อให้การเอาใจใส่แก่ผู้นมัสการเป็นรายบุคคลตามความจำเป็น พระองค์จึงทรงแต่งตั้งผู้ชายให้ปฏิบัติหน้าที่ผู้บำรุงเลี้ยงหรือผู้ดูแล. พวกเขาเป็นคนมีประสบการณ์ ประกอบด้วยคุณวุฒิสามารถสอนพระวจนะของพระเจ้าและฝึกอบรมสมาชิกของประชาคมให้บอกเล่าความจริงในพระคัมภีร์แก่คนอื่น ๆ เพื่อช่วยในงานอันสำคัญยิ่งเกี่ยวกับการประกาศ “ข่าวดี.”—2 ติโมเธียว 2:1, 2; เอเฟโซ 4:11-15; มัดธาย 24:14; กิจการ 20:28.
14 ประชาคมย่อมได้รับประโยชน์อื่นอีกหลายทางจากผู้ดูแลเหล่านี้. พวกเขาจะไม่ปฏิบัติอย่างเข้มงวดหรือกดขี่. ตรงกันข้าม หน้าที่การงานที่เขาได้รับมอบหมายก็เพื่อช่วยเหลือเพื่อนคริสเตียนด้วยความรักให้เสริมสร้างสัมพันธภาพกับพระเจ้าให้มั่นคง. (กิจการ 14:21-23; 1 เปโตร 5:2, 3) ใครก็ตามที่มีปัญหาก็สามารถเข้าพบผู้เฒ่าผู้แก่ฝ่ายวิญญาณเหล่านี้เพื่อจะได้รับการช่วยเหลือด้วยความกรุณาตามหลักพระคัมภีร์. (ยาโกโบ 5:13-16; ยะซายา 32:1, 2) เนื่องจากคริสเตียนยังเป็นมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์ ความยุ่งยากจึงอาจเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวในประชาคม. พวกผู้ดูแลต้องระวังระไวพร้อมจะช่วยเหลือเพื่อนคริสเตียนและคอยเฝ้าดูผู้ที่อาจทำให้สภาพฝ่ายวิญญาณของประชาคมเป็นอันตราย.—ฟิลิปปอย 4:2, 3; 2 ติโมเธียว 4:2-5.
15 ประชาคมต่าง ๆ ได้รับการชี้นำที่จำเป็นจากคริสเตียนคณะกรรมการปกครองอันประกอบด้วยบรรดาอัครสาวกและผู้เฒ่าผู้แก่แห่งประชาคมยะรูซาเลม. บุคคลเหล่านี้ได้ศึกษาและแก้ปัญหาต่าง ๆ ซึ่งถูกส่งเข้ามาจากประชาคมต่าง ๆ. และคณะกรรมการปกครองก็ได้จัดส่งตัวแทนไปเยี่ยมประชาคมต่าง ๆ.—กิจการ 15:1-3.
16 พระยะโฮวาเจ้ายังทรงติดต่อกับพลไพร่ของพระองค์ในฐานะเป็นคณะที่ถูกรวบรวมเข้าด้วยกัน. ตลอดทั่วโลกมีประชาคมแห่งคณะพยานพระยะโฮวาหลายพันประชาคม. หากคุณต้องการจะเข้าประสานกับแนวของพระเจ้าเกี่ยวกับการนมัสการ จงขานรับคำพูดหนุนใจจากพระองค์ที่ให้มาร่วมชุมนุมกับเพื่อนคริสเตียนที่ว่า:
“ให้เราพิจารณาดูกันและกัน เพื่อเป็นเหตุให้บังเกิดใจรักซึ่งกันและกัน และกระทำการดี ซึ่งเราเคยประชุมกันนั้นอย่าให้หยุด . . . แต่จงเตือนสติกันและให้มากยิ่งขึ้น เมื่อท่านทั้งหลายเห็นวันเวลานั้นใกล้เข้ามาแล้ว.”—เฮ็บราย 10:24, 25.
การนมัสการพระเจ้าด้วยสิ้นสุดจิตวิญญาณ
17 เป็นการดีที่คุณพึงไตร่ตรองทุกสิ่งที่พระเจ้ายะโฮวาทรงกระทำเพื่อคุณ. โดยพระองค์คุณจึงมีชีวิตและได้รับสิ่งค้ำจุนชีวิตของคุณในแต่ละวันด้วย. ยิ่งกว่านั้น พระเจ้าได้ส่งพระบุตรของพระองค์เข้ามาในโลกเพื่อวายพระชนม์เป็นเครื่องบูชา. การเช่นนั้นแสดงถึงความรักอย่างลึกซึ้งของพระเจ้า ความรักซึ่งวางใจได้และไม่เสื่อมสลาย. (โรม 5:8; 8:32, 38, 39) ด้วยวิธีนี้เอง พระเจ้าทรงเปิดช่องทางให้คุณได้รับการอภัยบาป และมีความหวังจะได้ชีวิตนิรันดรพร้อมด้วยความสุข.—โยฮัน 3:17; 17:3.
18 เราจะตอบรับความรักของพระองค์โดยวิธีใด? แน่นอน เราไม่ควรปฏิเสธพระเจ้าและบอกปัดความรักของพระองค์. อัครสาวกเปโตรสนับสนุนดังนี้:
“เพราะฉะนั้น จงกลับใจและหันกลับ เพื่อบาปของท่านทั้งหลายจะถูกปลดเปลื้อง เพื่อฤดูแห่งความสดชื่นจะมา.”—กิจการ 3:19, ล.ม.
19 พวกเราทุกคนจำต้อง “กลับใจ” เพราะเราทุกคนล้วนแต่ทำบาป คือพลาดจากมาตรฐานของพระเจ้าในด้านความประพฤติ คำพูด และความคิด. (โรม 2:4; 7:14-21; ยาโกโบ 3:2) สำหรับเรา ที่จะกลับใจหมายถึงการยอมรับว่าเราเป็นคนบาป และรู้สึกเสียใจที่เราไม่ได้ดำเนินชีวิตให้ประสานเต็มที่กับพระทัยประสงค์ของพระยะโฮวา. คุณรู้สึกเช่นนั้นไหม? ขั้นต่อไป เราจะต้อง “หันกลับ” เพื่อจะเปลี่ยนแนวชีวิตของเรา และนับจากนั้นไปก็พยายามสะท้อนคุณลักษณะต่าง ๆ ของพระยะโฮวา และกระทำสิ่งต่าง ๆ ในแนวของพระองค์. เมื่อกระทำเช่นนั้น เราย่อมวางใจได้ว่าพระเจ้าจะโปรดให้อภัยและรับรองเรา.—บทเพลงสรรเสริญ 103:8-14; 2 เปโตร 3:9.
20 ครั้นเรายอมรับว่าพระเยซูทรงวางแบบอย่างเพื่อว่าเราจะสามารถรับใช้พระเจ้าได้โดยการดำเนินตามรอยพระบาทของพระองค์ เราจึงควรบากบั่นจะเลียนแบบพระองค์. (1 เปโตร 2:21) เฮ็บราย 10:7 บอกเราว่า ทัศนะของพระเยซูคือว่า “ข้าแต่พระเจ้า ข้าพเจ้ามา . . . เพื่อจะให้น้ำพระทัยของพระองค์สำเร็จ.” ในทำนองเดียวกัน ความรักและความหยั่งรู้คุณค่าที่เรามีต่อพระเจ้า น่าจะกระตุ้นเราให้อุทิศชีวิตแด่พระองค์ เพื่อทำตามพระทัยประสงค์ของพระองค์ด้วยสิ้นสุดจิตวิญญาณ. แน่นอน เรายังคงต้องกินอาหาร นอนหลับ เอาใจใส่ดูแลและรักครอบครัวของเรา ชื่นชมกับการหย่อนใจซึ่งยังความเพลิดเพลิน และการมีส่วนทำกิจกรรมอื่น ๆ อันเป็นปกติในชีวิต. แต่การอุทิศชีวิตของเราแด่พระเจ้าหมายถึงการให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกต่อพระทัยประสงค์และการนมัสการของพระองค์ และหมายความว่าแม้เราจะอยู่ที่ไหนหรือทำอะไรก็ตาม เราจะพยายามอย่างจริงจังที่จะนำคำแนะนำของพระเจ้าไปใช้และติดตามตัวอย่างที่พระเยซูทรงวางไว้.—โกโลซาย 3:23, 24.
21 พระคัมภีร์แจ้งไว้ชัดเจนว่า บุคคลที่อุทิศชีวิตแด่พระเจ้าควรแสดงเรื่องนี้อย่างเปิดเผยโดยการรับบัพติสมา. พระเยซูได้ตรัสแก่สาวกของพระองค์ว่า:
“เหตุฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงออกไปสั่งสอนชนทุกประเทศให้เป็นสาวก ให้ รับบัพติสมา ในนามแห่งพระบิดา และพระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์ สอนเขาให้ถือรักษา สิ่งสารพัดที่เราได้สั่งพวกท่านไว้.”—มัดธาย 28:19, 20.
หากคนเหล่านั้นที่รับบัพติสมาต้องได้ศึกษาพระวจนะของพระเจ้าและเข้ามาเป็นสาวกของพระคริสต์ จึงเห็นได้ชัดว่าคนเหล่านั้นคงไม่ใช่ทารกแน่ ๆ. นอกจากนี้ การรับบัพติสมาอันเป็นสัญลักษณ์แสดงการอุทิศตัวของเขาแด่พระเจ้า เป็นไปโดยการจุ่มตัวมิดในน้ำ ดังที่พระเยซูได้รับบัพติสมาในแม่น้ำยาระเดน.—มาระโก 1:9-11; กิจการ 8:36-39.
22 การที่คุณมาเป็นสาวกที่ได้รับบัพติสมาแล้วของพระคริสต์ จะทำให้คุณเข้ามาอยู่ในแนวชีวิตแบบคริสเตียนแท้ที่มีความอิ่มใจและเป็นสุข. ชีวิตแบบนี้หาได้ถูกควบคุมด้วยกฎเกณฑ์ว่า จงทำหรืออย่าทำ อย่างไม่รู้จักจบสิ้นไม่. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น เป็นชีวิตที่มีพัฒนาการอันน่าพอใจ. คุณสามารถจะปรับปรุงแง่คิดฝ่ายวิญญาณและความหยั่งรู้ค่าของคุณต่อพระวจนะของพระเจ้าได้เสมอ ทั้งนี้จะทำให้คุณเลียนแบบอย่างของพระเยซูได้อย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นทุกที.—ฟิลิปปอย 1:9-11; เอเฟโซ 1:15-19.
23 ข้อนี้จะกระทบกระเทือนการคิดและความประพฤติของคุณแต่ละวัน. ขณะที่คุณติดตามแนวทางคริสเตียน คุณก็จะมีความมั่นใจยิ่งขึ้นว่าในไม่ช้า พระเจ้าจะทำลายความชั่วช้าทุกอย่างให้หมดสิ้นเพื่อนำมาซึ่ง ‘ฟ้าสวรรค์ใหม่และแผ่นดินโลกใหม่ซึ่งความชอบธรรมจะดำรงอยู่.’ และความมั่นใจนั้นจะเพิ่มแรงกระตุ้นที่จะพัฒนาบุคลิกแบบคริสเตียนและติดตามแนวชีวิตซึ่งจะนำคุณเข้าสู่ระเบียบใหม่ที่จะมาถึง. (เอเฟโซ 4:17, 22–24) อัครสาวกเปโตรได้รับการดลใจให้เขียนว่า:
“ท่านทั้งหลายควรเป็นคนชนิดใดในการประพฤติอันบริสุทธิ์ และการกระทำด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้า. . . . เนื่องจากท่านทั้งหลายกำลังคอยท่าสิ่งเหล่านี้อยู่ ก็จงกระทำด้วยสุดกำลังเพื่อในที่สุดพระองค์จะพบท่านปราศจากด่างพร้อยและมลทิน และมีสันติสุข.”—2 เปโตร 3:11, 14; ล.ม.
24 ช่างเป็นพระพรอะไรเช่นนี้ เมื่อวิถีชีวิตของคนเราทั้งสิ้นสะท้อนให้เห็นข้อเท็จจริงที่ว่า เขากำลังนมัสการพระเจ้ายะโฮวา! ถึงแม้ทุกวันนี้ หลายคนมีชีวิตอยู่เพียงเพื่อหาความพอใจให้ตัวเอง และแสวงความสนุกเพลิดเพลินอย่างเห็นแก่ตัวให้ได้ทุกรูปแบบเท่าที่จะทำได้ แต่คุณสามารถดำเนินชีวิตและนมัสการพระเจ้าองค์เที่ยงแท้ในแนวของพระองค์. นี้แหละเป็นทางชีวิตที่ดีที่สุด.
[คำถามศึกษา]
สำหรับคนส่วนใหญ่แล้ว เขาถือว่าใครสำคัญอันดับแรก และทำไมการมีแง่คิดเช่นนั้นจึงไม่สุขุม? (1-4)
โนฮาและอับราฮามต่างไปจากคนส่วนใหญ่สมัยนี้อย่างไร? (5, 6)
ในสมัยชาติยิศราเอลโบราณ พระเจ้าทรงติดต่อกับผู้คนโดยวิธีใด? (7-9)
พระเจ้าทรงเปลี่ยนอะไรเกี่ยวกับการติดต่อของพระองค์? (10-12)
พระเจ้าทรงรวบรวมและชี้นำคริสเตียนอย่างไร? (13-15)
แนวทางที่พระเจ้าทรงติดต่อกับคริสเตียนน่าจะมีความหมายเช่นไรสำหรับคุณ? (16)
ความรักที่เรามีต่อพระเจ้าน่าจะกระตุ้นเราให้ทำอะไร? (17-19)
เหตุใดการรับบัพติสมาเป็นขั้นตอนสำคัญ และการทำเช่นนั้นเป็นเครื่องหมายแสดงถึงสิ่งใด? (20, 21)
คุณได้อุทิศชีวิตแด่พระเจ้าไหม และคุณประสงค์จะรับบัพติสมาไหม? แนวทางนี้หมายถึงอะไรสำหรับคุณ? (22-24)