บท 21
ภัยพิบัติจากพระยะโฮวาเหนือคริสต์ศาสนจักร
นิมิต 5—วิวรณ์ 8:1–9:21
เรื่อง: การเป่าแตรหกตัวในแตรเจ็ดตัว
เวลาที่สำเร็จเป็นจริง: ตั้งแต่การขึ้นครองราชย์ของพระเยซูคริสต์ในปี 1914 จนถึงความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่
1. เกิดอะไรขึ้นเมื่อพระเมษโปดกทรงแกะตราดวงที่เจ็ด?
“ลมจากสี่ทิศ” ถูกยับยั้งไว้จนกว่าชน 144,000 คนได้รับการประทับตราและชนฝูงใหญ่ได้รับการรับรองว่าจะมีชีวิตรอด. (วิวรณ์ 7:1-4, 9, ล.ม.) อย่างไรก็ตาม ก่อนพายุอันแรงกล้าจะพัดบนแผ่นดินโลก จะต้องมีการแจ้งให้ทราบเช่นกันถึงการพิพากษาลงโทษที่พระยะโฮวามีต่อโลกของซาตาน! ขณะที่พระเมษโปดกทรงแกะตราดวงที่เจ็ดซึ่งเป็นดวงสุดท้าย โยฮันคงต้องเฝ้ามองอย่างจดจ่อเพื่อดูว่าจะมีอะไรปรากฏออกมา. และท่านได้บอกประสบการณ์ของท่านแก่เราดังนี้: “เมื่อพระองค์ทรงแกะตราดวงที่เจ็ด เกิดความเงียบในสวรรค์ประมาณครึ่งชั่วโมง. แล้วข้าพเจ้าได้เห็นทูตสวรรค์เจ็ดองค์ยืนอยู่เฉพาะพระพักตร์พระเจ้า และทูตสวรรค์เหล่านั้นได้รับแตรเจ็ดตัว.”—วิวรณ์ 8:1, 2, ล.ม.
เวลาสำหรับการอธิษฐานอย่างแรงกล้า
2. เกิดอะไรขึ้นในสวรรค์ระหว่างครึ่งชั่วโมงแห่งความเงียบอันมีความหมายเป็นนัย?
2 ช่างเป็นความเงียบที่มีความหมาย! ครึ่งชั่วโมงอาจดูเหมือนว่ายาวนานเมื่อคุณกำลังคอยให้อะไรสักอย่างเกิดขึ้น. ตอนนี้ แม้แต่เสียงสรรเสริญที่ร้องประสานกันอย่างต่อเนื่องในสวรรค์ก็ไม่ได้ยินอีกต่อไป. (วิวรณ์ 4:8) เพราะเหตุใด? โยฮันเห็นเหตุผลในนิมิตดังนี้: “แล้วทูตสวรรค์อีกองค์หนึ่งที่มีภาชนะทองคำสำหรับใส่เครื่องหอมก็มาถึงและยืนที่แท่นบูชา ทูตสวรรค์องค์นี้ได้รับเครื่องหอมปริมาณมากเพื่อจะถวายบนแท่นบูชาทองคำที่อยู่หน้าราชบัลลังก์นั้นพร้อมกับคำอธิษฐานของผู้บริสุทธิ์ทั้งหมด. ควันเครื่องหอมก็ลอยขึ้นจากมือทูตสวรรค์องค์นั้นไปเฉพาะพระพักตร์พระเจ้าพร้อมกับคำอธิษฐานของเหล่าผู้บริสุทธิ์.”—วิวรณ์ 8:3, 4, ล.ม.
3. (ก) การเผาเครื่องหอมเตือนเราให้ระลึกถึงสิ่งใด? (ข) อะไรคือจุดประสงค์ของเวลาครึ่งชั่วโมงแห่งความเงียบในสวรรค์นั้น?
3 สิ่งนี้ทำให้เราระลึกได้ว่า ภายใต้ระบบของพวกยิวนั้น มีการเผาเครื่องหอมเป็นประจำทุกวันที่พลับพลา และในเวลาต่อมา ที่พระวิหารในกรุงเยรูซาเลม. (เอ็กโซโด 30:1-8) ในระหว่างที่มีการเผาเครื่องหอมอยู่นั้น พวกอิสราเอลที่ไม่ใช่ปุโรหิตจะคอยอยู่ภายนอกบริเวณอันศักดิ์สิทธิ์ แล้วอธิษฐาน—อย่างเงียบ ๆ ในใจอย่างไม่ต้องสงสัย—ถึงผู้ที่ควันเครื่องหอมลอยไปถึง. (ลูกา 1:10) ตอนนี้ โยฮันได้เห็นสิ่งที่คล้ายกันเกิดขึ้นในสวรรค์. เครื่องหอมที่ทูตสวรรค์องค์นั้นนำมาถวายมีส่วนเกี่ยวข้องกับ “คำอธิษฐานของผู้บริสุทธิ์ทั้งหลาย.” แท้จริง ในนิมิตก่อนหน้านี้ได้กล่าวถึงเครื่องหอมว่าหมายถึงคำอธิษฐานนั้น. (วิวรณ์ 5:8, ล.ม.; บทเพลงสรรเสริญ 141:1, 2) ฉะนั้น จึงเห็นได้ชัดว่า ความเงียบโดยนัยในสวรรค์นั้นก็เพื่อให้ได้ยินคำอธิษฐานของเหล่าผู้บริสุทธิ์บนแผ่นดินโลก.
4, 5. เหตุการณ์อะไรในประวัติศาสตร์ช่วยเราให้ระบุเวลาซึ่งสอดคล้องกับครึ่งชั่วโมงแห่งความเงียบโดยนัยนั้น?
4 เราจะกำหนดช่วงเวลาที่เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นได้ไหม? ได้ โดยตรวจสอบจากบริบท ประกอบเข้ากับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ในช่วงต้นแห่งวันขององค์พระผู้เป็นเจ้า. (วิวรณ์ 1:10) ระหว่างปี 1918 และ 1919 เหตุการณ์ต่าง ๆ บนแผ่นดินโลกลงรอยอย่างน่าสังเกตกับเค้าเรื่องที่พรรณนาในวิวรณ์ 8:1-4. เป็นเวลา 40 ปีก่อนปี 1914 นักศึกษาพระคัมภีร์—ชื่อที่ใช้เรียกพยานพระยะโฮวาในสมัยนั้น—ได้ประกาศอย่างกล้าหาญว่า เวลาของชนต่างชาติจะสิ้นสุดลงในปีนั้น. เหตุการณ์ที่ก่อความทุกข์ในปี 1914 พิสูจน์ว่าพวกเขาพูดถูก. (ลูกา 21:24; มัดธาย 24:3, 7, 8) แต่หลายคนก็เชื่อว่าในปี 1914 พวกเขาจะถูกรับตัวจากแผ่นดินโลกเพื่อขึ้นไปรับมรดกทางภาคสวรรค์. สิ่งนั้นไม่ได้เกิดขึ้น. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง พวกเขาต้องทนกับการกดขี่ข่มเหงอย่างรุนแรง. ในวันที่ 31 ตุลาคม 1916 ชาลส์ ที. รัสเซลล์ นายกคนแรกของสมาคมว็อชเทาเวอร์เสียชีวิต. ต่อมา ในวันที่ 4 กรกฎาคม 1918 โจเซฟ เอฟ. รัทเทอร์ฟอร์ด นายกสมาคมคนใหม่และผู้แทนของสมาคมอีกเจ็ดคนถูกส่งไปยังทัณฑสถานในเมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย ถูกตัดสินอย่างไม่เป็นธรรมให้จำคุกเป็นเวลานานหลายปี.
5 คริสเตียนผู้จริงใจแห่งชนจำพวกโยฮันถึงกับงงงวย. พระเจ้าทรงประสงค์ให้พวกเขาทำอะไรต่อจากนั้น? พวกเขาจะถูกรับไปสวรรค์เมื่อไรกัน? บทความหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า “การเก็บเกี่ยวสิ้นสุดลงแล้ว—อะไรจะติดตามมา?” ปรากฏในวารสารหอสังเกตการณ์ (ภาษาอังกฤษ) ฉบับ 1 พฤษภาคม 1919. บทความนี้สะท้อนให้เห็นสภาพที่ไม่แน่นอนและหนุนกำลังใจผู้ซื่อสัตย์ให้อดทนต่อไปดังนี้: “เราเชื่อว่าเป็นคำกล่าวที่เป็นจริงในตอนนี้ว่า การเก็บเกี่ยวชนจำพวกราชอาณาจักรคือข้อเท็จจริงที่ได้สำเร็จแล้ว คนเหล่านั้นทั้งปวงถูกประทับตราตามเวลากำหนด และประตูก็ปิดลงแล้ว.” ในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ คำอธิษฐานโดยใจแรงกล้าของชนจำพวกโยฮันกำลังลอยขึ้นไป ราวกับลอยขึ้นไปในควันของเครื่องหอมปริมาณมาก. และคำอธิษฐานของพวกเขาก็เป็นที่ได้ยินแล้ว!
ขว้างไฟมายังแผ่นดินโลก
6. เกิดอะไรขึ้นหลังจากความเงียบในสวรรค์ และสิ่งนี้เป็นการตอบรับต่ออะไร?
6 โยฮันบอกเราว่า “แล้วทูตสวรรค์องค์นั้นก็นำภาชนะเครื่องหอมไปใส่ไฟจากแท่นบูชาจนเต็มและขว้างไฟนั้นลงมายังแผ่นดินโลก จึงทำให้เกิดเสียงฟ้าร้อง เสียงพูด ฟ้าแลบ และแผ่นดินไหว.” (วิวรณ์ 8:5, ล.ม.) หลังจากความเงียบ มีการเคลื่อนไหวที่น่าตื่นเต้นเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน! เห็นได้ชัดว่านี่เป็นการตอบสนองต่อคำอธิษฐานของเหล่าผู้บริสุทธิ์ เพราะถูกกระตุ้นให้เกิดขึ้นด้วยไฟที่นำมาจากแท่นบูชาเผาเครื่องหอม. ย้อนไปในปี 1513 ก่อนสากลศักราช ณ ภูเขาไซนาย ฟ้าร้องและฟ้าแลบ, เสียงดัง, ไฟ, และการสะเทือนหวั่นไหวของภูเขาเป็นสัญลักษณ์แสดงว่า พระยะโฮวาทรงหันความใฝ่พระทัยมายังประชาชนของพระองค์. (เอ็กโซโด 19:16-20) ปรากฏการณ์ที่คล้ายคลึงกับที่โยฮันเล่านั้นก็บ่งชี้เช่นกันถึงการที่พระยะโฮวาทรงหันมาใฝ่พระทัยประชาชนของพระองค์บนแผ่นดินโลก. แต่สิ่งที่โยฮันเห็นเป็นการแสดงด้วยสัญลักษณ์. (วิวรณ์ 1:1) ฉะนั้น ควรจะตีความ ไฟ, ฟ้าร้อง, เสียงพูด, ฟ้าแลบ, และแผ่นดินไหวโดยนัยอย่างไรในทุกวันนี้?
7. (ก) ไฟอะไรอันมีความหมายเป็นนัยที่พระเยซูทรงจุดขึ้นบนแผ่นดินโลกระหว่างการรับใช้ของพระองค์? (ข) พี่น้องฝ่ายวิญญาณของพระเยซูได้จุดไฟให้ลุกขึ้นในคริสต์ศาสนจักรอย่างไร?
7 ณ โอกาสหนึ่ง พระเยซูทรงบอกกับสาวกของพระองค์ว่า “เรามาเพื่อจะให้ไฟบังเกิดขึ้นในแผ่นดินโลก.” (ลูกา 12:49) แท้จริง พระองค์ทรงจุดไฟขึ้น. โดยการประกาศอย่างกระตือรือร้น พระเยซูทรงทำให้ราชอาณาจักรของพระเจ้าเป็นประเด็นที่สำคัญยิ่งต่อผู้คนชาวยิว และสิ่งนี้เองได้จุดชนวนการโต้เถียงกันอย่างรุนแรงไปทั่วประเทศ. (มัดธาย 4:17, 25; 10:5-7, 17, 18) ในปี 1919 พี่น้องฝ่ายวิญญาณของพระเยซูบนแผ่นดินโลก คริสเตียนผู้ถูกเจิมกลุ่มเล็ก ๆ ซึ่งมีชีวิตรอดผ่านช่วงเวลาแห่งความทุกข์ยากของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ได้จุดไฟที่คล้ายคลึงกันนี้ในคริสต์ศาสนจักร. ในเดือนกันยายนของปีนั้นเอง พระวิญญาณของพระยะโฮวาเป็นที่เห็นเด่นชัด เมื่อเหล่าพยานผู้ภักดีของพระองค์จากใกล้และไกลมาชุมนุมกันที่ซีดาร์ พอยต์ รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา. โจเซฟ เอฟ. รัทเทอร์ฟอร์ด ซึ่งเพิ่งถูกปล่อยตัวจากที่คุมขังและไม่นานได้เห็นข้อกล่าวหาทั้งหมดที่มีต่อท่านนั้นตกไป ได้ปราศรัย ณ การประชุมใหญ่ในครั้งนั้นอย่างกล้าหาญว่า “การเชื่อฟังต่อพระบัญชาแห่งนายของเรา และสำนึกว่าเป็นสิทธิพิเศษและหน้าที่ของเราที่จะต่อสู้กับแหล่งแห่งความผิดซึ่งครอบงำผู้คนให้ตกเป็นทาสมาเป็นเวลานาน ภารกิจของเราเคยเป็นและยังคงเป็น การประกาศราชอาณาจักรอันรุ่งโรจน์ของพระมาซีฮาซึ่งกำลังจะมีมา.” นั่นคือเรื่องสำคัญที่สุด—ราชอาณาจักรของพระเจ้า!
8, 9. (ก) เจ. เอฟ. รัทเทอร์ฟอร์ด ได้อธิบายอย่างไรถึงเจตคติและความปรารถนาของประชาชนของพระเจ้าในระหว่างปีต่าง ๆ ที่มีความยากลำบากระหว่างสงคราม? (ข) ที่ว่ามีการขว้างไฟลงที่แผ่นดินโลกนั้นเป็นอย่างไร? (ค) ฟ้าร้อง, เสียงพูด, ฟ้าแลบ, และแผ่นดินไหวได้เกิดขึ้นอย่างไร?
8 เมื่อกล่าวถึงประสบการณ์อันยากลำบากของประชาชนของพระเจ้าเมื่อไม่นานก่อนหน้านั้นผู้บรรยายกล่าวว่า “การโจมตีของศัตรูช่างไร้ความปรานี จนหลายคนในฝูงแกะอันเป็นที่รักขององค์พระผู้เป็นเจ้าถึงกับงงงวยและตะลึงงัน อธิษฐานและคอยองค์พระผู้เป็นเจ้าให้มาสำแดงถึงพระทัยประสงค์ของพระองค์. . . . ถึงแม้ประสบกับความท้อแท้ใจอยู่ชั่วขณะ แต่ก็มีความปรารถนาอันแรงกล้าจะประกาศข่าวสารแห่งราชอาณาจักร.”—ดูวารสารหอสังเกตการณ์ (ภาษาอังกฤษ) ฉบับ 15 กันยายน 1919 หน้า 280.
9 ในปี 1919 ความปรารถนานั้นก็สมหวัง. กล่าวในแง่ฝ่ายวิญญาณแล้ว คริสเตียนกลุ่มเล็ก ๆ แต่ไม่อยู่นิ่งเฉยกลุ่มนี้ถูกเร้าใจให้ฮึกหาญเพื่อจะเริ่มงานประกาศไปทั่วโลก. (เทียบกับ 1 เธซะโลนิเก 5:19.) ไฟถูกขว้างมายังแผ่นดินโลกในแง่ที่ราชอาณาจักรของพระเจ้าถูกทำให้เป็นประเด็นที่ก่อการโต้เถียงกันอย่างรุนแรงและยังเป็นเช่นนี้ต่อ ๆ ไป! เสียงอันทรงพลังที่ประกาศข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรอย่างชัดแจ้งได้เข้าแทนที่ความเงียบ. สัญญาณเตือนภัยจากคัมภีร์ไบเบิลที่ดังดุจฟ้าร้องก็ดังกังวานออกไป. ลำแสงเจิดจ้าแห่งความจริงส่องออกมาจากพระคำซึ่งเป็นคำพยากรณ์ของพระยะโฮวาดั่งแสงฟ้าแลบ และศาสนจักรถูกเขย่าสะเทือนไปถึงรากราวกับโดยแผ่นดินไหวที่รุนแรง. ชนจำพวกโยฮันเห็นแล้วว่ามีงานที่จะต้องทำ. และจนกระทั่งทุกวันนี้ งานนั้นยังคงแผ่ขยายต่อไปอย่างรุ่งโรจน์ทั่วแผ่นดินโลกที่มีผู้คนอาศัยอยู่!—โรม 10:18.
เตรียมพร้อมจะเป่าแตร
10. ทูตสวรรค์เจ็ดองค์นั้นเตรียมตัวจะทำอะไร และเพราะเหตุใด?
10 โยฮันกล่าวต่อไปว่า “แล้วทูตสวรรค์เจ็ดองค์ที่มีแตรเจ็ดตัวก็เตรียมจะเป่าแตร.” (วิวรณ์ 8:6, ล.ม.) การเป่าแตรเหล่านั้นหมายถึงอะไร? ในสมัยอิสราเอลมีการใช้เสียงแตรเป็นสัญญาณบอกถึงวันสำคัญหรือเหตุการณ์ที่น่าจดจำ. (เลวีติโก 23:24; 2 กษัตริย์ 11:14) ในทำนองเดียวกัน เสียงแตรที่โยฮันจะได้ยินจะดึงความสนใจไปยังเรื่องที่สำคัญถึงความเป็นความตาย.
11. งานเตรียมการอะไรบนแผ่นดินโลกที่ชนจำพวกโยฮันได้เข้าร่วมอย่างขันแข็งนับแต่ปี 1919 จนถึงปี 1922?
11 ขณะที่เหล่าทูตสวรรค์เตรียมพร้อมจะเป่าแตร พวกเขาก็คงให้การชี้นำเพื่อการเตรียมงานบนแผ่นดินโลกด้วยเป็นแน่. ในช่วงปี 1919-1922 ชนจำพวกโยฮันที่กลับมีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกก็มีงานมากอยู่กับการจัดระบบงานประกาศใหม่ และรวบรวมอุปกรณ์ในการพิมพ์. ในปี 1919 วารสารยุคทอง (ภาษาอังกฤษ) ซึ่งรู้จักกันในทุกวันนี้ว่า ตื่นเถิด! ได้รับการจัดพิมพ์ขึ้นในฐานะ “วารสารแห่งข้อเท็จจริง, ความหวัง, และความเชื่อมั่น” ซึ่งเป็นเครื่องมือดุจแตรที่มีบทบาทสำคัญในการเปิดโปงศาสนาเท็จที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง.
12. มีการแถลงอะไรโดยการเป่าแตรแต่ละตัว ซึ่งเตือนเราให้รำลึกถึงสิ่งใดที่เกิดขึ้นในสมัยของโมเซ?
12 ตามที่เราจะได้เห็นในตอนนี้ เสียงแตรแต่ละตัวจะประกาศถึงเหตุการณ์น่าตื่นเต้นซึ่งมีภัยพิบัติอันน่ากลัวก่อผลกระทบต่อส่วนต่าง ๆ ของแผ่นดินโลก. ภัยพิบัติบางอย่างทำให้เราระลึกถึงภัยพิบัติที่พระยะโฮวาทรงบันดาลเพื่อลงโทษชาวอียิปต์ในสมัยของโมเซ. (เอ็กโซโด 7:19–12:32) ภัยพิบัติเหล่านั้นแสดงถึงการพิพากษาของพระยะโฮวาต่อชาติอียิปต์ และเปิดโอกาสให้ประชาชนของพระองค์พ้นจากการเป็นทาส. ภัยพิบัติที่โยฮันเห็นก็ทำให้บางสิ่งที่คล้ายคลึงกันบรรลุผลสำเร็จ. อย่างไรก็ตาม ภัยพิบัติเหล่านี้ไม่ได้เป็นภัยพิบัติจริง ๆ หากแต่เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการพิพากษาอันชอบธรรมของพระยะโฮวา.—วิวรณ์ 1:1.
การระบุตัว “หนึ่งในสามส่วน”
13. เกิดอะไรขึ้นเมื่อมีการเป่าแตรสี่ตัวแรก และการนี้ก่อให้มีคำถามอะไรขึ้นมา?
13 ดังที่เราจะเห็น เมื่อมีการเป่าแตรสี่ตัวแรก ภัยพิบัติได้มีลงเหนือ “หนึ่งในสามส่วน” ของแผ่นดินโลก, ของทะเล, ของแม่น้ำและน้ำพุ, และของแหล่งแห่งแสงสว่างของโลก. (วิวรณ์ 8:7-12) หนึ่งในสามนับว่าเป็นส่วนที่ค่อนข้างมาก แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด. (เทียบกับยะซายา 19:24; ยะเอศเคล 5:2; ซะคาระยา 13:8, 9.) ดังนั้น “หนึ่งในสามส่วน” ไหนที่สมควรที่สุดที่จะได้รับภัยพิบัติเหล่านั้น? ซาตานและเผ่าพันธุ์ของมันได้ทำให้มนุษยชาติส่วนใหญ่ตาบอดและเสื่อมทราม. (เยเนซิศ 3:15; 2 โกรินโธ 4:4) สภาพการณ์เป็นเช่นที่ดาวิดได้พรรณนาว่า “เขาทั้งปวงหลงไป ประพฤติในทางลามกทั้งนั้น ไม่มีผู้ใดประพฤติดี ไม่มี จะหาสักคนเดียวก็ไม่ได้.” (บทเพลงสรรเสริญ 14:3) ใช่แล้ว มนุษยชาติทั้งปวงอยู่ในอันตรายแห่งการได้รับการพิพากษาลงโทษ. แต่ส่วนหนึ่งของทั้งหมดมีความผิดเป็นพิเศษ. ส่วนหนึ่ง คือ “หนึ่งในสามส่วน” นั้นน่าจะรู้ดี! “หนึ่งในสามส่วน” นั้นคืออะไร?
14. อะไรคือหนึ่งในสามส่วนอันมีความหมายเป็นนัยซึ่งได้รับข่าวสารที่ก่อภัยพิบัติจากพระยะโฮวา?
14 คริสต์ศาสนจักรนั่นเอง! ในทศวรรษ 1920 อาณาเขตที่คริสต์ศาสนจักรครอบคลุมประมาณหนึ่งในสามของมนุษยชาติ. ศาสนาของพวกเขาเป็นผลของการออกหากจากหลักการคริสเตียนแท้ครั้งยิ่งใหญ่—การออกหากซึ่งพระเยซูและเหล่าสาวกของพระองค์ได้บอกไว้ล่วงหน้า. (มัดธาย 13:24-30; กิจการ 20:29, 30; 2 เธซะโลนิเก 2:3; 2 เปโตร 2:1-3) นักเทศน์นักบวชในคริสต์ศาสนจักรอ้างว่าตนอยู่ในพระวิหารของพระเจ้าและเสนอตัวเป็นผู้สอนหลักการคริสเตียน. แต่คำสอนของพวกเขาห่างไกลจากความจริงในคัมภีร์ไบเบิลมาก ทั้งยังทำให้พระนามของพระเจ้าเสื่อมเสียอย่างไม่หยุดหย่อน. หนึ่งในสามโดยนัยนั้นแสดงถึงคริสต์ศาสนจักรอย่างเหมาะเจาะ คริสต์ศาสนจักรจึงได้รับข่าวสารอันทรงพลังจากพระยะโฮวาที่ทรมานพวกเขา. หนึ่งในสามส่วนของมนุษยชาตินั้นไม่สมควรจะได้รับความโปรดปรานจากพระเจ้าเลย!
15. (ก) การเป่าแตรแต่ละครั้งนั้นจำกัดกับปีหนึ่งโดยเฉพาะไหม จงอธิบาย? (ข) เสียงของใครที่มีการเสริมเข้ากับเสียงของชนจำพวกโยฮันในการประกาศการพิพากษาของพระยะโฮวา?
15 สอดคล้องกับการเป่าแตรเป็นลำดับ มติพิเศษได้ออกมาในคราวการประชุมภาคเจ็ดครั้งนับแต่ปี 1922-1928. แต่การเป่าแตรไม่ถูกจำกัดไว้เฉพาะปีเหล่านั้น. การเปิดโปงครั้งใหญ่ถึงแนวทางที่ชั่วช้าของคริสต์ศาสนจักรดำเนินอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาในขณะที่วันขององค์พระผู้เป็นเจ้าคืบหน้าต่อไป. คำพิพากษาของพระยะโฮวาจะต้องมีการประกาศไปยังชนทุกชาติทั่วโลก แม้จะประสบกับความเกลียดชังและการกดขี่ข่มเหงจากนานาชาติก็ตาม. แล้วเมื่อนั้นแหละอวสานแห่งระบบของซาตานจะมาถึง. (มาระโก 13:10, 13) น่าดีใจที่ชนฝูงใหญ่ได้เสริมเสียงร้องของตนเข้ากับเสียงของชนจำพวกโยฮันในการประกาศให้กึกก้องไปทั่วโลก.
แผ่นดินโลกหนึ่งในสามส่วนถูกเผา
16. มีอะไรติดตามมาหลังจากทูตสวรรค์องค์แรกเป่าแตรของตน?
16 โยฮันได้เขียนเกี่ยวกับทูตสวรรค์เหล่านั้นว่า “เมื่อทูตสวรรค์องค์แรกเป่าแตรของตน เกิดมีลูกเห็บกับไฟปนเลือด แล้วมันก็ถูกขว้างลงมายังแผ่นดินโลก แผ่นดินโลกหนึ่งในสามส่วนจึงถูกเผา ต้นไม้หนึ่งในสามส่วนก็ถูกเผา และพืชสีเขียวทั้งหมดก็ถูกเผา.” (วิวรณ์ 8:7, ล.ม.) สิ่งนี้คล้ายกับภัยพิบัติที่เจ็ดที่มีแก่ประเทศอียิปต์ แต่สิ่งนี้มีความหมายอย่างไรสำหรับสมัยของเรา?—เอ็กโซโด 9:24.
17. (ก) คำ “แผ่นดินโลก” ในวิวรณ์ 8:7 หมายถึงอะไร? (ข) แผ่นดินโลกหนึ่งในสามส่วนของคริสต์ศาสนจักรถูกไหม้ไปอย่างไร?
17 ในคัมภีร์ไบเบิล คำว่า “แผ่นดินโลก” มักหมายถึงมนุษยชาติ. (เยเนซิศ 11:1; บทเพลงสรรเสริญ 96:1) เนื่องจากภัยพิบัติที่สองมีเหนือทะเล ซึ่งเกี่ยวข้องกับมนุษยชาติเช่นกัน คำว่า “แผ่นดินโลก” จึงต้องหมายถึงสังคมมนุษย์ที่ดูเหมือนมีเสถียรภาพซึ่งซาตานได้สร้างขึ้น และซึ่งสมควรถูกทำลาย. (2 เปโตร 3:7; วิวรณ์ 21:1) อรรถาธิบายเรื่องภัยพิบัติเปิดเผยว่า แผ่นดินโลกหนึ่งในสามส่วนของคริสต์ศาสนจักรจะถูกแผดเผาด้วยความร้อนกล้าแห่งความไม่พอพระทัยของพระยะโฮวา. ผู้มีชื่อเสียงเด่นซึ่งยืนตระหง่านดุจต้นไม้ท่ามกลางคริสต์ศาสนจักรนั้นจะมอดไหม้ไปโดยการประกาศคำพิพากษาลงโทษของพระยะโฮวา. หากยังคงสนับสนุนศาสนาแห่งคริสต์ศาสนจักรต่อ ๆ ไป สมาชิกคริสตจักรทั้งหมดนับร้อย ๆ ล้านคนจะกลายเป็นดังใบหญ้าที่ถูกแผดเผา เหี่ยวเฉาทางฝ่ายวิญญาณในสายพระเนตรของพระเจ้า.—เทียบกับบทเพลงสรรเสริญ 37:1, 2.a
18. ข่าวสารการพิพากษาของพระยะโฮวาได้มีการประกาศอย่างไร ณ การประชุมใหญ่ที่ซีดาร์ พอยต์ โอไฮโอ ในปี 1922?
18 มีการส่งข่าวสารการพิพากษานี้ออกไปอย่างไร? โดยทั่วไปแล้วก็ไม่ใช่โดยทางสื่อมวลชนของโลกนี้ ซึ่งเป็นส่วนของโลกและมักจะตำหนิ “ทาส” ของพระเจ้า. (มัดธาย 24:45, ล.ม.) ข่าวสารนี้ได้รับการประกาศในวิธีที่เห็นเด่นชัดในคราวการชุมนุมครั้งประวัติศาสตร์ครั้งที่สองของประชาชนของพระเจ้าที่ซีดาร์ พอยต์ รัฐโอไฮโอ ในวันที่ 10 กันยายน 1922. คนเหล่านั้นได้รับรองมติที่มีชื่อว่า “การท้าทายต่อผู้นำของโลก” อย่างพร้อมเพรียงและกระตือรือร้น. พูดอย่างตรงไปตรงมาก็คือ มตินี้แจ้งแก่แผ่นดินโลกโดยนัยในปัจจุบันดังนี้: “เราขอเชิญชาติต่าง ๆ บนแผ่นดินโลก ผู้ปกครองและผู้นำ รวมทั้งนักเทศน์นักบวชของคริสตจักรทุกนิกายบนแผ่นดินโลก ผู้ติดตามและสนับสนุน ธุรกิจใหญ่โตและนักการเมืองผู้ยิ่งใหญ่ ให้นำหลักฐานมาพิสูจน์ความถูกต้องชอบธรรมแห่งฐานะตำแหน่งของพวกเขาว่า พวกเขาสามารถสร้างสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองบนแผ่นดินโลกและนำความสุขมาสู่ประชาชนได้ และหากไม่สามารถทำได้ เราขอให้พวกเขาเงี่ยหูฟังคำพยานจากเราในฐานะพยานขององค์พระผู้เป็นเจ้า และให้พวกเขาบอกว่าคำพยานของเราเป็นความจริงหรือไม่.”
19. ประชาชนของพระเจ้าได้ให้คำพยานอะไรแก่คริสต์ศาสนจักรเกี่ยวกับราชอาณาจักรของพระเจ้า?
19 คริสเตียนเหล่านี้ให้คำพยานอะไร? นั่นคือ “เราขอยึดมั่นและประกาศว่า ราชอาณาจักรของพระมาซีฮาเป็นวิธีเดียวสำหรับเยียวยาความเจ็บป่วยทั้งปวงของมนุษยชาติ และจะนำมาซึ่งสันติภาพบนแผ่นดินโลกและความโปรดปรานต่อมนุษยชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่นานาชาติปรารถนา ทั้งประกาศว่า คนเหล่านั้นที่ยอมตัวด้วยความเต็มใจต่อการปกครองที่ชอบธรรมของพระองค์ซึ่งได้เริ่มขึ้นแล้วจะได้รับการอวยพระพรให้มีสันติสุข, ชีวิต, เสรีภาพ, และความสุขชั่วนิรันดร์.” ในสมัยที่ชั่วช้านี้ เมื่อรัฐบาลของมนุษย์ โดยเฉพาะรัฐบาลในคริสต์ศาสนจักร ประสบความล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่าในการแก้ไขปัญหาของโลก คำท้าทายที่ประกาศออกไปนี้ยิ่งดังขึ้นกว่าการประกาศในปี 1922 เสียอีก. เป็นความจริงทีเดียวที่ว่าราชอาณาจักรของพระเจ้าในพระหัตถ์ของพระคริสต์ของพระองค์ผู้ทรงมีชัยเป็นความหวังเดียวเท่านั้นของมนุษยชาติ!
20. (ก) โดยเครื่องมืออะไรที่ข่าวสารการพิพากษาในปี 1922 และหลังจากนั้น ถูกป่าวประกาศออกไปโดยประชาคมแห่งคริสเตียนผู้ถูกเจิม? (ข) อะไรคือผลที่เกิดขึ้นในคริสต์ศาสนจักรเนื่องจากการเป่าแตรครั้งที่หนึ่ง?
20 โดยทางมติ, แผ่นพับ, หนังสือเล่มเล็ก, หนังสือปกแข็ง, วารสาร, และคำบรรยาย คำประกาศนี้และคำประกาศซึ่งจะมีมาอีกจึงเปล่งเสียงดังออกไปโดยทางประชาคมแห่งคริสเตียนผู้ถูกเจิม. เสียงแตรตัวแรกยังผลให้คริสต์ศาสนจักรถูกกระหน่ำด้วยเม็ดน้ำแข็งของลูกเห็บที่ตกกระหน่ำลงมา. ความผิดฐานทำให้โลหิตตกของคริสต์ศาสนจักร เนื่องจากมีส่วนในสงครามต่าง ๆ ในศตวรรษที่ 20 ถูกเปิดโปง คริสต์ศาสนจักรจึงถูกเผยให้เห็นว่าสมควรจะได้รับการสำแดงพระพิโรธอันแรงกล้าจากพระยะโฮวา. ชนจำพวกโยฮันซึ่งต่อมาได้รับการสนับสนุนจากชนฝูงใหญ่ ยังคงเปล่งเสียงแตรตัวแรกให้ก้องออกไป เพื่อดึงความสนใจไปยังทัศนะที่พระยะโฮวามีต่อคริสต์ศาสนจักรว่าสมควรจะถูกทำลาย.—วิวรณ์ 7:9, 15.
เหมือนภูเขาใหญ่ที่มีไฟลุกอยู่
21. เกิดอะไรขึ้นเมื่อทูตสวรรค์องค์ที่สองเป่าแตรของตน?
21 “เมื่อทูตสวรรค์องค์ที่สองเป่าแตรของตน มีอะไรเหมือนภูเขาใหญ่ที่มีไฟลุกอยู่ถูกทุ่มลงในทะเล แล้วทะเลหนึ่งในสามส่วนก็กลายเป็นเลือด สิ่งมีชีวิตในทะเลนั้นตายไปหนึ่งในสามส่วน และเรือทั้งหลายก็อับปางลงหนึ่งในสามส่วน.” (วิวรณ์ 8:8, 9, ล.ม.) ภาพที่น่ากลัวนี้แสดงถึงอะไร?
22, 23. (ก) ได้มีการลงมติอะไรอันเป็นผลจากการเป่าแตรที่สองอย่างไม่ต้องสงสัย? (ข) “ทะเลหนึ่งในสามส่วน” เป็นเครื่องหมายเล็งถึงอะไร?
22 เราจะเข้าใจเรื่องนี้ได้ดียิ่งหากทราบภูมิหลังของการประชุมภาคแห่งประชาชนของพระยะโฮวาที่ลอสแอนเจลิส แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ในวันที่ 18-26 สิงหาคม 1923. คำบรรยายพิเศษโดย เจ. เอฟ. รัทเทอร์ฟอร์ด ในบ่ายวันเสาร์มีชื่อเรื่องว่า “แกะและแพะ.” มีการระบุตัว “แกะ” อย่างชัดเจนว่าเป็นผู้ซึ่งมีความโน้มเอียงในทางชอบธรรมซึ่งจะรับมรดกทางแผ่นดินโลกอันเป็นส่วนแห่งราชอาณาจักรของพระเจ้า. มติซึ่งติดตามมาดึงความสนใจไปยังความหน้าไหว้หลังหลอกของบรรดา “นักเทศน์นักบวชที่ออกหากและ ‘คนสำคัญแห่งฝูงแกะของเขา’ ซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพลมากทางการเงินและทางการเมืองของโลกนี้.” มตินั้นเชิญชวนให้ “ฝูงชนผู้รักสันติภาพและความสงบสุขในคริสตจักรนิกายต่าง ๆ . . . ถอนตัวจากระบบศาสนาที่มีความผิดร้ายแรงซึ่งองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเรียกว่า ‘บาบิโลน’” แล้วเตรียมตัว “รับพระพรแห่งราชอาณาจักรของพระเจ้า.”
23 ไม่ต้องสงสัย มตินี้เป็นผลของการเป่าแตรตัวที่สอง. ผู้ที่จะตอบรับข่าวสารในเวลาอันควรจะแยกตัวจากกลุ่มคนที่ยะซายาได้พรรณนาไว้ดังนี้: “แต่คนชั่วทั้งหลายก็เหมือนกับทะเลบ้า, เพราะมันอยู่สงบไม่ได้, และน้ำทะเลก็เป็นคลื่นขุ่นและโสโครก.” (ยะซายา 57:20; 17:12, 13) ดังนั้น “ทะเล” จึงแสดงถึงมนุษยชาติที่ไม่มีวันสงบ มีแต่ความวุ่นวาย และมีน้ำใจขืนอำนาจ ซึ่งก่อกวนให้เกิดความไม่สงบและการปฏิวัติ. (เทียบกับวิวรณ์ 13:1.) จะมีเวลาหนึ่งที่ “ทะเล” นั้นจะไม่มีอีกต่อไป. (วิวรณ์ 21:1) ในขณะนี้ ด้วยเสียงแตรตัวที่สอง พระยะโฮวาทรงประกาศคำพิพากษาต่อหนึ่งในสามส่วน—ซึ่งเป็นส่วนที่ดื้อรั้นที่อยู่ในคริสต์ศาสนจักรนั่นเอง.
24. ภูเขาใหญ่ที่มีไฟลุกอยู่ซึ่งถูกทุ่มลงไปในทะเลเป็นภาพเล็งถึงสิ่งใด?
24 มวลสารดุจภูเขาซึ่งกำลังลุกไหม้ด้วยไฟนั้นถูกทุ่มลงไปใน “ทะเล” ที่ว่านี้. ในคัมภีร์ไบเบิล ภูเขามักเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงรัฐบาลต่าง ๆ. ตัวอย่างเช่น มีการพรรณนาถึงราชอาณาจักรของพระเจ้าว่าเป็นดุจภูเขา. (ดานิเอล 2:35, 44) ส่วนบาบิโลนที่ล่มจมกลายเป็น “ภูเขาอันไหม้เสียแล้ว.” (ยิระมะยา 51:25) แต่มวลสารดุจภูเขาที่โยฮันเห็นนั้นยังลุกไหม้อยู่. การที่มวลสารนี้ถูกทุ่มลงไปในทะเลแสดงให้เห็นว่า ในช่วงระหว่างและหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ปัญหาทางการปกครองได้กลายเป็นประเด็นสำคัญท่ามกลางมนุษยชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในดินแดนของคริสต์ศาสนจักร. ในอิตาลี มุสโสลินีได้นำลัทธิฟาสซิสต์เข้ามา. ส่วนเยอรมนีได้ยึดเอาระบอบนาซีของฮิตเลอร์ ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ได้ทดลองรูปแบบต่าง ๆ ของระบบสังคมนิยม. การเปลี่ยนแปลงชนิดถอนรากถอนโคนได้เกิดขึ้นในรัสเซีย ซึ่งการปฏิวัติของพวกบอลเชวิกได้ทำให้เกิดประเทศคอมมิวนิสต์ประเทศแรกขึ้นมา ยังผลให้ผู้นำทางศาสนาแห่งคริสต์ศาสนจักรต้องสูญเสียอำนาจและอิทธิพลในประเทศซึ่งเคยเป็นฐานที่มั่นแห่งหนึ่งของตนมาก่อน.
25. เรื่องของการปกครองยังคงเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อนต่อไปอย่างไรภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง?
25 การทดลองปกครองด้วยลัทธิฟาสซิสต์และระบอบนาซีมาถึงจุดอวสานโดยสงครามโลกครั้งที่สอง แต่การปกครองยังคงเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อนอยู่ และทะเลแห่งมนุษยชาติยังคงก่อให้เกิดรัฐบาลปฏิวัติใหม่ ๆ เรื่อยมา. ในช่วงทศวรรษต่าง ๆ หลังจากปี 1945 ได้มีการตั้งรัฐบาลเหล่านั้นขึ้นในหลายที่ เช่น จีน, เวียดนาม, คิวบา, และนิการากัว. ในประเทศกรีซ การทดลองใช้ระบอบเผด็จการทางทหารต้องประสบความล้มเหลว. ในประเทศกัมพูชา การเบนไปสู่ลัทธิคอมมิวนิสต์แบบดั้งเดิมยังผลให้มีสองล้านกว่าคนตายตามที่มีรายงาน.
26. “ภูเขาใหญ่ที่มีไฟลุกอยู่” ยังคงสร้างความปั่นป่วนในทะเลแห่งมนุษยชาติต่อไปอย่างไร?
26 “ภูเขาใหญ่ที่มีไฟลุกอยู่” นั้นยังคงก่อคลื่นในทะเลแห่งมนุษยชาติต่อไป. มีรายงานการต่อสู้ในเรื่องการปกครองในทวีปแอฟริกา, อเมริกา, เอเชีย, และหมู่เกาะต่าง ๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก. การต่อสู้หลายแห่งได้เกิดขึ้นในดินแดนของคริสต์ศาสนจักรหรือในที่ซึ่งมิชชันนารีของคริสต์ศาสนจักรได้กลายมาเป็นนักปฏิบัติการ. บาทหลวงของนิกายโรมันคาทอลิกถึงกับเคยเข้าร่วมและต่อสู้ในฐานะสมาชิกของกองโจรคอมมิวนิสต์. ในขณะเดียวกัน กลุ่มผู้เผยแพร่ศาสนาของนิกายโปรเตสแตนต์ได้ทำงานในอเมริกากลางเพื่อต่อต้านในสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า “ความกระหายอำนาจอย่างชั่วร้ายและไม่เคยพอ” ของพวกคอมมิวนิสต์. แต่ไม่มีสักอย่างเดียวในความวุ่นวายเหล่านี้ในทะเลแห่งมนุษยชาติได้นำมาซึ่งสันติภาพและความปลอดภัย.—เทียบกับยะซายา 25:10-12; 1 เธซะโลนิเก 5:3.
27. (ก) “ทะเลหนึ่งในสามส่วน” ได้กลายเป็นเลือดไปอย่างไร? (ข) “สิ่งมีชีวิตในทะเล . . . หนึ่งในสามส่วน” ได้ตายไปอย่างไร และ ‘เรือทั้งหลาย . . . หนึ่งในสามส่วน’ จะอับปางลงอย่างไร?
27 เสียงแตรตัวที่สองเผยให้รู้ว่า ผู้ที่เข้าส่วนในการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองแทนที่จะสวามิภักดิ์ต่อราชอาณาจักรของพระเจ้านั้นมีความผิดฐานทำให้โลหิตตก. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ทะเลหนึ่งในสามส่วน” ของคริสต์ศาสนจักรได้กลายเป็นเลือด. สิ่งมีชีวิตทั้งหมดที่อยู่ในทะเลนั้นได้ตายในสายพระเนตรของพระเจ้า. ไม่มีองค์การใด ๆ ซึ่งนิยมความรุนแรงที่ลอยดุจเรือในทะเลหนึ่งในสามส่วนนั้นจะสามารถรอดพ้นจากการอับปางในคราวที่สุดได้. เรายินดีจริง ๆ ที่บัดนี้ผู้มีนิสัยเยี่ยงแกะนับล้าน ๆ คนใส่ใจฟังเสียงเรียกดุจแตรที่ให้แยกตัวจากคนเหล่านั้นที่ยังมัวเมาอยู่ในลัทธิชาตินิยมที่มีอคติและที่มีความผิดฐานทำให้โลหิตตกของทะเลนั้น!
ดาวดวงหนึ่งตกจากฟ้า
28. เกิดอะไรขึ้นเมื่อทูตสวรรค์องค์ที่สามเป่าแตรของตน?
28 “เมื่อทูตสวรรค์องค์ที่สามเป่าแตรของตน มีดาวดวงใหญ่ดวงหนึ่งติดไฟลุกโพลงเหมือนโคมไฟตกจากฟ้าลงมาบนแม่น้ำทั้งหลายหนึ่งในสามส่วนและบนน้ำพุทั้งหลาย. ดาวดวงนั้นชื่อบอระเพ็ด. น้ำทั้งหลายหนึ่งในสามส่วนก็มีรสขมเหมือนบอระเพ็ด คนมากมายจึงตายเพราะน้ำที่ถูกทำให้มีรสขมนั้น.” (วิวรณ์ 8:10, 11, ล.ม.) อีกครั้งหนึ่งที่ส่วนอื่น ๆ ของคัมภีร์ไบเบิลช่วยให้เราเข้าใจว่า คัมภีร์ข้อนี้หมายความอย่างไรในวันขององค์พระผู้เป็นเจ้า.
29. อะไรทำให้ความหมายของ “ดาวดวงใหญ่ดวงหนึ่งที่ติดไฟลุกโพลงเหมือนโคมไฟ” นั้นถึงที่สำเร็จ และเพราะเหตุใด?
29 เราได้เห็นมาแล้วว่ามีการใช้ดาวเป็นสัญลักษณ์ในข่าวสารที่พระเยซูทรงมีไปถึงประชาคมทั้งเจ็ด ซึ่งดาวทั้งเจ็ดดวงนั้นเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงพวกผู้ปกครองในประชาคมเหล่านั้น.b (วิวรณ์ 1:20) “ดาว” ที่ถูกเจิม พร้อมด้วยผู้ถูกเจิมอื่น ๆ ทั้งหมดอยู่ในสวรรค์สถานในแง่ฝ่ายวิญญาณ นับตั้งแต่ที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ได้ทรงประทับตราหมายพวกเขาไว้เป็นมัดจำเกี่ยวกับมรดกทางภาคสวรรค์ของพวกเขา. (เอเฟโซ 2:6, 7) อย่างไรก็ตาม อัครสาวกเปาโลได้เตือนว่า จากท่ามกลางเหล่าผู้ที่เป็นดุจดาวจะมีผู้ออกหาก, ผู้ที่ก่อความแตกแยก ซึ่งจะนำฝูงแกะให้หลงทาง. (กิจการ 20:29, 30) ความไม่ซื่อสัตย์เช่นนั้นจะก่อให้เกิดการออกหากครั้งใหญ่ แล้วผู้ปกครองที่ทำผิดเหล่านี้จะประกอบกันขึ้นเป็นคนนอกกฎหมายที่ยกตนเองขึ้นสู่ฐานะเยี่ยงพระเจ้าท่ามกลางมนุษย์. (2 เธซะโลนิเก 2:3, 4) คำเตือนของเปาโลสำเร็จเป็นจริงเมื่อพวกนักเทศน์นักบวชในคริสต์ศาสนจักรปรากฏตัวเด่นอยู่บนเวทีโลกนี้. “ดาวดวงใหญ่ดวงหนึ่งติดไฟลุกโพลงเหมือนโคมไฟ” เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงชนกลุ่มนี้เป็นอย่างดี.
30. (ก) เมื่อกษัตริย์แห่งบาบิโลนถูกกล่าวถึงว่าเป็นบุคคลที่ตกจากฟ้านั้น นั่นหมายความอย่างไร? (ข) การตกจากฟ้าอาจหมายถึงอะไร?
30 โยฮันเห็นดาวดวงนี้ตกจากฟ้า. อย่างไรกัน? ประสบการณ์ของกษัตริย์ในโบราณกาลองค์หนึ่งช่วยให้เราเข้าใจ. ยะซายาได้ทูลกษัตริย์แห่งบาบิโลนว่า “เอ้อเฮ้อ ดาราประจำวัน บุตราแห่งอรุโณทัย, ตกลงมาจากฟากฟ้าเสียแล้ว! เจ้าผู้เคยเหยียดประชาชาติลง, ถูกตัดให้ตกลงมายังพื้นปถพีเสียแล้วซี!” (ยะซายา 14:12) คำพยากรณ์นี้สำเร็จเป็นจริงเมื่อประเทศบาบิโลนถูกโค่นลงโดยกองทัพของกษัตริย์ไซรัส และกษัตริย์ของบาบิโลนต้องลดฐานะลงอย่างฉับพลันจากความเป็นผู้ครองโลกสู่ความพ่ายแพ้อันน่าอดสู. ฉะนั้น การตกจากฟ้าจึงหมายถึงการสูญเสียฐานะอันสูงส่งแล้วตกสู่ความอัปยศ.
31. (ก) พวกนักเทศน์นักบวชแห่งคริสต์ศาสนจักรได้ตกจาก “ฟ้า” เมื่อไร? (ข) น้ำซึ่งมีการจัดหาให้โดยพวกนักเทศน์นักบวชได้กลายเป็น“บอระเพ็ด” ไปอย่างไร และมีผลอย่างไรต่อคนเป็นอันมาก?
31 เมื่อนักเทศน์นักบวชแห่งคริสต์ศาสนจักรออกหากจากหลักการคริสเตียนแท้ พวกเขาจึงได้ตกจากฐานะอันสูงส่งใน “สวรรค์สถาน” ที่เปาโลได้พรรณนาไว้ที่เอเฟโซ 2:6, 7 แทนการให้น้ำสะอาดแห่งความจริง พวกเขาจัด “บอระเพ็ด” มาให้คือคำโกหกอันขมขื่น เช่น เรื่องไฟนรก, ไฟชำระ, ตรีเอกานุภาพ, และเรื่องการกำหนดล่วงหน้า นอกจากนี้ พวกเขายังนำชาติต่าง ๆ เข้าสู่การสงคราม ไม่ได้สร้างเสริมประชาชนให้เป็นผู้รับใช้ที่มีศีลธรรมของพระเจ้า. ผลเป็นอย่างไร? ทำให้ผู้ที่เชื่อในคำเท็จเหล่านั้นได้รับผลเสียหายทางฝ่ายวิญญาณ. กรณีของพวกนักเทศน์นักบวชนี้คล้ายคลึงกับพวกอิสราเอลที่ไม่ซื่อสัตย์ในสมัยของยิระมะยา ซึ่งพระยะโฮวาได้ตรัสกับพวกเขาดังนี้: “ดูเถิด เราจะทำให้พวกเขากินบอระเพ็ด และเราจะให้เขาดื่มน้ำมีพิษ. เพราะจากพวกผู้พยากรณ์แห่งเยรูซาเลมการออกหากได้ลามไปทั่วแผ่นดิน.”—ยิระมะยา 9:15; 23:15, ล.ม.
32. การตกจากฟ้าฝ่ายวิญญาณของคริสต์ศาสนจักรได้ปรากฏขึ้นเมื่อไร และการตกนั้นถูกทำให้เด่นขึ้นอย่างไร?
32 การตกจากฟ้าฝ่ายวิญญาณนี้เห็นเด่นชัดในปี 1919 เมื่อชนที่เหลือซึ่งมีจำนวนเล็กน้อยแห่งคริสเตียนผู้ถูกเจิมได้รับการแต่งตั้งให้ดูแลผลประโยชน์แห่งราชอาณาจักร แทนที่จะเป็นพวกนักเทศน์นักบวชในคริสต์ศาสนจักร. (มัดธาย 24:45-47) และตั้งแต่ปี 1922 การตกจากฟ้าสวรรค์นั้นถูกทำให้เด่นขึ้นเมื่อชนคริสเตียนกลุ่มนี้ได้รณรงค์อีกครั้งหนึ่งให้เปิดโปงข้อบกพร่องของพวกนักเทศน์นักบวชแห่งคริสต์ศาสนจักรอย่างตรงไปตรงมา.
33. ได้มีการเปิดโปงอะไรเกี่ยวกับพวกนักเทศน์นักบวชแห่งคริสต์ศาสนจักร ณ การประชุมใหญ่ที่โคลัมบัส โอไฮโอ สหรัฐอเมริกาเมื่อปี 1924?
33 ที่เด่นเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือการแถลง ณ “การประชุมครั้งใหญ่ยิ่งของนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลที่จัดขึ้นในช่วงระยะนี้” ตามที่วารสารยุคทอง (ภาษาอังกฤษ) ได้พรรณนาไว้. การประชุมนี้ได้จัดขึ้นที่เมืองโคลัมบัส รัฐโอไฮโอ วันที่ 20-27 กรกฎาคม 1924. ไม่ต้องสงสัย ตามการชี้นำของทูตสวรรค์ที่เป่าแตรตัวที่สาม มีการรับรองมติอันทรงพลังและต่อมาแผ่นพับ 50 ล้านแผ่นก็ถูกแจกจ่ายออกไป. แผ่นพับนี้ถูกจัดพิมพ์ภายใต้ชื่อว่า พวกผู้สอนศาสนาถูกกล่าวโทษ. มีหัวเรื่องย่อยที่เสนอประเด็น “พงศ์พันธุ์แห่งคำสัญญาต่อพงศ์พันธุ์ของงู.” การกล่าวโทษนั้นได้เปิดโปงพวกนักเทศน์นักบวชในคริสต์ศาสนจักรอย่างตรงไปตรงมาในเรื่องต่าง ๆ เช่น การที่พวกเขารับตำแหน่งทางศาสนาที่ฟังดูใหญ่โต การทำให้พ่อค้าใหญ่และนักการเมืองอาชีพเป็นคนสำคัญในฝูงแกะของเขา ความปรารถนาจะเป็นคนเด่นต่อหน้ามนุษย์ และการไม่ยอมประกาศข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรของพระมาซีฮาแก่ประชาชน. มตินั้นได้เน้นว่าคริสเตียนที่อุทิศตัวแล้วทุกคนได้รับมอบหมายจากพระเจ้าให้ประกาศ “วันแห่งความแก้แค้นของพระยะโฮวา; เพื่อเล้าโลมบรรดาคนโศกเศร้า.”—ยะซายา 61:2.
34, 35. (ก) เกิดอะไรขึ้นกับอำนาจและอิทธิพลของพวกนักเทศน์นักบวชนับตั้งแต่ทูตสวรรค์องค์ที่สามเริ่มเป่าแตรของตน? (ข) มีอะไรรอท่าพวกนักเทศน์นักบวชแห่งคริสต์ศาสนจักรอยู่ในอนาคต?
34 ตั้งแต่ทูตสวรรค์องค์ที่สามเริ่มเป่าแตร ตำแหน่งอันมีอิทธิพลท่ามกลางมนุษยชาติของพวกนักเทศน์นักบวชเริ่มหลุดลอยไป จนกระทั่งในปัจจุบันมีเพียงไม่กี่คนที่รักษาอำนาจเยี่ยงพระเจ้าตามที่เคยได้รับในศตวรรษก่อน ๆ ไว้ได้. เนื่องจากการประกาศของพยานพระยะโฮวา ผู้คนจำนวนมากมายได้มาตระหนักว่า หลักคำสอนหลายอย่างที่บรรดานักเทศน์นักบวชสอนนั้นเป็นพิษทางฝ่ายวิญญาณ—เป็น “บอระเพ็ด.” ยิ่งกว่านั้น อำนาจของพวกนักเทศน์นักบวชในยุโรปทางตอนเหนือก็เกือบจะไม่มีแล้ว ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ รัฐบาลได้จำกัดอิทธิพลของพวกเขาอย่างเข้มงวด. ในส่วนของยุโรปและในทวีปอเมริกาที่เป็นคาทอลิก พฤติกรรมอันฉาวโฉ่ของพวกนักเทศน์นักบวชในด้านการเงิน, การเมือง, และศีลธรรมก็ทำลายชื่อเสียงของพวกเขา. ตั้งแต่นี้ไป ฐานะของพวกเขามีแต่จะเลวลง เนื่องจากในอีกไม่นาน พวกเขาจะประสบจุดจบเช่นเดียวกับผู้ที่นับถือศาสนาเท็จอื่น ๆ ทั้งหมด.—วิวรณ์ 18:21; 19:2.
35 ภัยพิบัติจากพระยะโฮวาลงเหนือคริสต์ศาสนจักรยังไม่เสร็จสิ้น. ขอให้พิจารณากันว่าจะเกิดอะไรขึ้นภายหลังการเป่าแตรตัวที่สี่.
ความมืด!
36. เกิดอะไรขึ้นหลังจากทูตสวรรค์องค์ที่สี่เป่าแตรของตน?
36 “เมื่อทูตสวรรค์องค์ที่สี่เป่าแตรของตน ดวงอาทิตย์หนึ่งในสามส่วน ดวงจันทร์หนึ่งในสามส่วน และดวงดาวทั้งหลายหนึ่งในสามส่วนถูกทำให้มืดไปและหนึ่งในสามของกลางวันจะไม่มีความสว่าง กลางคืนก็เช่นกัน.” (วิวรณ์ 8:12, ล.ม.) ภัยพิบัติที่เก้าที่มีแก่อียิปต์เป็นภัยพิบัติที่นำมาซึ่งความมืดจริง ๆ. (เอ็กโซโด 10:21-29) แต่ความมืดโดยนัยที่ก่อภัยพิบัติแก่มนุษย์คืออะไร?
37. อัครสาวกเปโตรและเปาโลได้พรรณนาถึงสถานะฝ่ายวิญญาณของคนที่อยู่ภายนอกประชาคมคริสเตียนไว้อย่างไร?
37 อัครสาวกเปโตรบอกเพื่อนร่วมความเชื่อว่า กล่าวในแง่วิญญาณ พวกเขาเคยอยู่ในความมืดก่อนพวกเขาเข้ามาเป็นคริสเตียนนั่นเอง. (1 เปโตร 2:9) เปาโลก็ใช้คำว่า “ความมืด” เช่นกันเพื่อพรรณนาสภาพฝ่ายวิญญาณของคนที่อยู่นอกประชาคมคริสเตียน. (เอเฟโซ 5:8; 6:12; โกโลซาย 1:13; 1 เธซะโลนิเก 5:4, 5) แต่คนเหล่านั้นที่อยู่ในคริสต์ศาสนจักรซึ่งอ้างว่าเชื่อพระเจ้า ทั้งยังบอกว่ายอมรับพระเยซูในฐานะผู้ช่วยให้รอดนั้นล่ะจะว่าอย่างไร?
38. ทูตสวรรค์องค์ที่สี่ประกาศถึงข้อเท็จจริงอะไรเกี่ยวกับ “ความสว่าง” ของคริสต์ศาสนจักร?
38 พระเยซูตรัสว่าจะรู้จักคริสเตียนแท้ได้โดยผลของเขา และว่าคนมากมายที่อ้างว่าเป็นสาวกของพระองค์จะเป็น “ผู้ประพฤติล่วงพระบัญญัติ.” (มัดธาย 7:15-23) ไม่มีผู้ใดที่มองดูผลของหนึ่งในสามส่วนของโลกที่ครอบครองโดยคริสต์ศาสนจักรแล้วจะปฏิเสธได้ว่าคริสต์ศาสนจักรกำลังคลำหาทางอยู่ในความมืดมนฝ่ายวิญญาณ. (2 โกรินโธ 4:4) คริสต์ศาสนจักรควรแก่การตำหนิมากที่สุด เนื่องจากการอ้างตัวเป็นคริสเตียน. ดังนั้น จึงสมควรยิ่งที่ทูตสวรรค์องค์ที่สี่จะประกาศถึงข้อเท็จจริงที่ว่า โดยแท้แล้ว “ความสว่าง” ของคริสต์ศาสนจักรก็คือความมืด และแหล่งแห่ง “ความสว่าง” ของคริสต์ศาสนจักรก็เป็นแบบบาบิโลน ไม่ใช่แบบคริสเตียน.—มาระโก 13:22, 23; 2 ติโมเธียว 4:3, 4.
39. (ก) มติซึ่งได้มีการรับรอง ณ การประชุมใหญ่ในปี 1925 พรรณนาถึงความสว่างจอมปลอมของคริสต์ศาสนจักรอย่างไร? (ข) ได้มีการเปิดโปงอะไรอีกในปี 1955?
39 สอดคล้องกับคำแถลงนั้นจากสวรรค์ ประชาชนจำนวนมากของพระเจ้ามาชุมนุมกันในการประชุมใหญ่ที่เมืองอินเดียนาโพลิส รัฐอินเดียนา สหรัฐอเมริกา ในวันที่ 29 สิงหาคม 1925 แล้วรับเอามติที่บอกอย่างตรงไปตรงมาในชื่อ “ข่าวสารแห่งความหวัง” เพื่อพิมพ์เผยแพร่. อีกครั้งหนึ่งที่มีการจำหน่ายจ่ายแจกแผ่นพับประมาณ 50 ล้านแผ่นออกไปในหลายภาษา. มตินี้ได้พรรณนาถึงความสว่างจอมปลอมที่ส่องออกไปโดยผู้ค้ากำไรเกินควร, ผู้นำทางการเมือง, และนักเทศน์นักบวช ซึ่งยังผลให้ “ประชาชาติทั้งหลายตกอยู่ในความมืด.” มตินั้นยังได้ชี้ไปยังราชอาณาจักรของพระเจ้าว่าเป็นความหวังแท้สำหรับการได้รับ “พระพรแห่งสันติภาพ, ความเจริญ, สุขภาพ, ชีวิต, เสรีภาพ, และความสุขชั่วนิรันดร์.” ชนคริสเตียนผู้ถูกเจิมกลุ่มเล็ก ๆ ต้องใช้ความกล้าหาญเพื่อจะประกาศข่าวสารเช่นนั้นต่อองค์การที่ใหญ่โตแห่งคริสต์ศาสนจักร. แต่พวกเขาก็ได้ทำเรื่อยมานับแต่ต้นทศวรรษ 1920 จนถึงบัดนี้. ในสมัยใกล้เข้ามาอีก คือในปี 1955 การเปิดโปงชนจำพวกนักเทศน์นักบวชได้ดำเนินไปโดยการจำหน่ายจ่ายแจกหนังสือเล่มเล็กที่มีชื่อว่า คริสต์ศาสนจักรหรือหลักการคริสเตียน—อย่างไหนเป็น “ความสว่างของโลก”? ออกไปทั่วโลกในหลายภาษา. ทุกวันนี้ ความหน้าไหว้หลังหลอกของคริสต์ศาสนจักรเป็นที่ปรากฏชัดจนหลายคนในโลกเห็นกับตาตนเอง. แต่ประชาชนของพระยะโฮวาก็ไม่เลิกเปิดโปงสิ่งที่คริสต์ศาสนจักรเป็นอยู่ นั่นคือ อาณาจักรแห่งความมืด.
นกอินทรีตัวหนึ่งบินอยู่
40. เสียงแตรสี่ตัวแสดงให้เห็นว่าคริสต์ศาสนจักรเป็นอย่างไร?
40 เสียงแตรสี่ตัวแรกทำให้มีการเปิดเผยอย่างแท้จริงถึงสภาพที่ร้างเปล่าและที่ทำให้ถึงตายของคริสต์ศาสนจักร. “แผ่นดินโลก” ในส่วนที่เป็นของคริสต์ศาสนจักรถูกเผยให้เห็นว่าสมควรแก่การพิพากษาของพระยะโฮวา. มีการแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลปฏิวัติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันในดินแดนของคริสต์ศาสนจักรและที่อื่น ๆ นั้นเป็นอันตรายต่อชีวิตฝ่ายวิญญาณ. สภาพที่ตกต่ำของพวกนักเทศน์นักบวชในคริสต์ศาสนจักรก็ถูกตีแผ่ และสภาพฝ่ายวิญญาณของคริสต์ศาสนจักรที่มีแต่ความมืดมนอยู่ทั่วไปก็เป็นที่ปรากฏแก่คนทั้งปวง. คริสต์ศาสนจักรเป็นส่วนที่สมควรได้รับการตำหนิอย่างยิ่งในระบบของซาตาน.
41. ระหว่างช่วงระยะหนึ่งที่ไม่มีการเป่าแตร โยฮันได้เห็นและได้ยินอะไร?
41 ยังมีอะไรอีกที่จะต้องเปิดเผย? ก่อนที่เราจะพบคำตอบสำหรับคำถามนี้ มีการหยุดชั่วขณะในลำดับการเป่าแตร. โยฮันพรรณนาถึงสิ่งที่ท่านเห็นต่อจากนั้น ดังนี้: “แล้วข้าพเจ้าก็เห็นและได้ยินนกอินทรีตัวหนึ่งซึ่งบินอยู่กลางท้องฟ้าพูดเสียงดังว่า ‘วิบัติ วิบัติ วิบัติแก่คนที่อยู่บนแผ่นดินโลกเพราะเสียงแตรที่เหลือของทูตสวรรค์สามองค์ซึ่งกำลังจะเป่าแตรของตน!’”—วิวรณ์ 8:13, ล.ม.
42. นกอินทรีที่บินอยู่อาจมีความหมายถึงอะไร และข่าวสารของนกนั้นคืออะไร?
42 นกอินทรีบินสูงในท้องฟ้า ดังนั้น ผู้คนในบริเวณกว้างจะมองเห็นมันได้. นกอินทรีมีสายตาคมเป็นเยี่ยมและมองเห็นได้ในระยะไกล. (โยบ 39:29) มีการพรรณนาถึงสิ่งมีชีวิตที่เป็นคะรูบหนึ่งในสี่ตนที่อยู่ล้อมรอบราชบัลลังก์ของพระเจ้าว่าเหมือนนกอินทรีที่บินอยู่. (วิวรณ์ 4:6, 7) ไม่ว่าจะเป็นคะรูบองค์นี้หรือผู้รับใช้ผู้อื่นที่เห็นการณ์ไกลของพระเจ้าก็ตาม ผู้นั้นได้ประกาศข่าวสารอันทรงพลังด้วยเสียงดังว่า “วิบัติ, วิบัติ, วิบัติ”! ขอให้ผู้ที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินโลกจงใส่ใจ ขณะที่ได้ยินเสียงแตรสามตัวที่เหลือ เสียงแตรแต่ละตัวเกี่ยวข้องกับวิบัติเหล่านั้นแต่ละอย่าง.
[เชิงอรรถ]
a ในทางตรงกันข้าม วิวรณ์ 7:16 แสดงว่า ชนฝูงใหญ่ไม่ได้ประสบกับความร้อนที่แผดเผาเนื่องจากการไม่เป็นที่พอพระทัยของพระยะโฮวา.
b ขณะที่ดาวเจ็ดดวงในพระหัตถ์เบื้องขวาของพระเยซูเป็นภาพเล็งถึงเหล่าผู้ดูแลที่ถูกเจิมในประชาคมคริสเตียน พวกผู้ปกครองในประชาคมส่วนใหญ่กว่า 100,000 ประชาคมในโลกสมัยนี้เป็นชนจำพวกชนฝูงใหญ่. (วิวรณ์ 1:16; 7:9) ฐานะของพวกเขาคืออะไร? เนื่องจากพวกเขาได้รับการแต่งตั้งโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์โดยทางชนจำพวกทาสสัตย์ซื่อและสุขุม จึงอาจกล่าวได้ว่า คนเหล่านี้อยู่ภายใต้การควบคุมโดยพระหัตถ์เบื้องขวาของพระเยซู เนื่องจากพวกเขาก็เป็นรองผู้บำรุงเลี้ยงเช่นกัน. (ยะซายา 61:5, 6; กิจการ 20:28) พวกเขาสนับสนุน “ดาวเจ็ดดวง” โดยที่พวกเขารับใช้ในที่ซึ่งไม่มีผู้ถูกเจิมที่มีคุณวุฒิ.
[แผนภูมิหน้า 139]
น้ำแห่งคริสต์ศาสนจักรถูกเปิดเผยว่าเป็นน้ำขม
ความเชื่อและเจตคติของ สิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลกล่าวไว้
คริสต์ศาสนจักร อย่างแท้จริง
พระนามเฉพาะของพระเจ้าไม่สำคัญ: พระเยซูทรงอธิษฐานว่า
“การใช้นามเฉพาะใด ๆ สำหรับ ขอให้พระนามของพระเจ้า
พระเจ้าองค์หนึ่งองค์เดียว . . . เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์.
เป็นการไม่สมควรทั้งสิ้น เปโตรกล่าวว่า “ทุกคนซึ่งได้ออกพระนาม
สำหรับความเชื่อสากล ขององค์พระผู้เป็นเจ้าจะรอด.”
แห่งศาสนจักรคริสเตียน.” (กิจการ 2:21; โยเอล 2:32;
(คำนำของคัมภีร์ฉบับรีไวส์ มัดธาย 6:9; เอ็กโซโด 6:3;
สแตนดาร์ด เวอร์ชัน) วิวรณ์ 4:11; 15:3; 19:6)
พระเจ้าคือตรีเอกานุภาพ: คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่าพระยะโฮวา
“พระบิดาคือพระเจ้า ทรงเป็นใหญ่กว่าพระเยซู
พระบุตรคือพระเจ้า และเป็นพระเจ้าและเป็นประมุข
และพระวิญญาณบริสุทธิ์ ของพระเยซู. (โยฮัน 14:28; 20:17;
คือพระเจ้า และกระนั้น 1 โกรินโธ 11:3) พระวิญญาณบริสุทธิ์
ก็ไม่ใช่มีพระเจ้าสามองค์ เป็นพลังปฏิบัติการของ
แต่มีองค์เดียว.” (สารานุกรม พระยะโฮวา. (มัดธาย 3:11;
คาทอลิก ฉบับพิมพ์ปี 1912) ลูกา 1:41; กิจการ 2:4)
จิตวิญญาณมนุษย์เป็นอมตะ: มนุษย์ไม่มีส่วนใดที่เป็นอมตะ.
“เมื่อมนุษย์สิ้นชีวิต จิตวิญญาณ เมื่อตาย มนุษย์ไม่มีความรู้สึก
และร่างกายของเขาแยกกัน. นึกคิดอีกต่อไป และกลับ
ร่างกายของเขา . . . เน่าเปื่อยไป . . . เป็นดินเพราะมนุษย์ถูกสร้าง
แต่จิตวิญญาณมนุษย์ไม่ตาย.” มาจากดิน. (เยเนซิศ 2:7; 3:19;
(เกิดอะไรขึ้นหลังความตาย, บทเพลงสรรเสริญ 146:3, 4;
หนังสือเล่มหนึ่งของ ท่านผู้ประกาศ 3:19, 20; 9:5, 10;
ลัทธิโรมันคาทอลิก) ยะเอศเคล 18:4, 20)
คนชั่วถูกลงโทษในนรก ค่าจ้างของความบาปคือความตาย
หลังจากตาย: “ตามความเชื่อของ ไม่ใช่การมีชีวิตอย่างทรมาน.
คริสเตียนทางจารีตประเพณี (โรม 6:23) ผู้ตายพักผ่อนโดยไม่มี
นรกเป็นสถานที่แห่งความเจ็บปวด ความรู้สึกอยู่ในนรก (ฮาเดส, เชโอล)
และความทุกข์ทรมานไม่สิ้นสุด.” รอคอยการเป็นขึ้นจากตาย.
(สารานุกรมเดอะ เวิลด์ บุ๊ก (บทเพลงสรรเสริญ 89:48; โยฮัน 5:28, 29;
ฉบับพิมพ์ปี 1987) 11:24, 25; วิวรณ์ 20:13, 14)
“ตำแหน่งผู้กลางถูกใช้ ผู้กลางแต่ผู้เดียวระหว่าง
กับพระแม่.” พระเจ้ากับมนุษย์คือพระเยซู.
(สารานุกรมนิว คาทอลิก (โยฮัน 14:6; 1 ติโมเธียว 2:5;
ฉบับพิมพ์ปี 1967) เฮ็บราย 9:15; 12:24)
ทารกควรรับบัพติสมา: บัพติสมาสำหรับคนเหล่านั้น
“ตั้งแต่เริ่มแรก คริสตจักรได้ ที่ได้รับการทำให้เป็นสาวกและ
ดำเนินการให้มีพิธีบัพติสมา ได้รับการสอนให้เชื่อฟังพระบัญชา
อันศักดิ์สิทธิ์แก่ทารก. ไม่เพียงแต่ ของพระเยซู. เพื่อจะมีคุณสมบัติ
ถือกันว่าการปฏิบัติเช่นนี้เป็น สำหรับการรับบัพติสมา
สิ่งถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น บุคคลนั้น ๆ จะต้องเข้าใจพระคำ
แต่ยังมีการสอนว่าเรื่องนี้จำเป็น ของพระเจ้าและแสดง
อย่างแท้จริงเพื่อความรอดด้วย.” ความเชื่อออกมา.
(สารานุกรมนิว คาทอลิก (มัดธาย 28:19, 20; ลูกา 3:21-23;
ฉบับพิมพ์ปี 1967) กิจการ 8:35, 36)
คริสตจักรส่วนใหญ่ถูกแบ่งออก คริสเตียนในศตวรรษแรก
เป็นชั้นฆราวาสและชั้นนักเทศน์ ทุกคนเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า
ซึ่งคอยดูแลพวกฆราวาส. และเข้าร่วมในงานประกาศข่าวดี.
ตามปกติแล้วพวกนักเทศน์ (กิจการ 2:17, 18; โรม 10:10-13; 16:1)
นักบวชจะได้รับเงินเดือน คริสเตียนควร “ให้เปล่า ๆ”
เป็นการแลกเปลี่ยนกับการที่ ไม่ใช่รับค่าจ้าง. (มัดธาย 10:7, 8)
เขาให้การดูแลนั้นและ พระเยซูทรงห้ามการใช้
ถูกยกขึ้นอยู่เหนือฆราวาส ยศถาบรรดาศักดิ์ทางศาสนา
โดยบรรดาศักดิ์เรียกต่าง ๆ อย่างเด็ดขาด.
เช่น “ท่านเจ้าคุณ” (มัดธาย 6:2;
“คุณพ่อ” หรือ 23:2-12;
“พระคุณเจ้า.” 1 เปโตร 5:1-3)
รูปปั้น, รูปภาพ, และ คริสเตียนต้องหลีกหนีจาก
ไม้กางเขนถูกใช้ในการนมัสการ: การใช้รูปเคารพทุกชนิด
“รูปปั้น . . . ของพระคริสต์, ของ รวมทั้งที่เรียกกันว่าการนมัสการ
พระมารดาของพระเจ้า, และของ ทางอ้อม. (เอ็กโซโด 20:4, 5;
นักบุญอื่น ๆ ควรถูกเก็บไว้ใน 1 โกรินโธ 10:14; 1 โยฮัน 5:21)
โบสถ์และมีการให้ความเคารพ พวกเขานมัสการพระเจ้าไม่ใช่ตาม
และเกียรติยศแก่รูปเหล่านั้น ที่ได้เห็นแต่ด้วยวิญญาณและความจริง.
อย่างสมควร.” (แถลงการณ์ของ (โยฮัน 4:23, 24;
สภาแห่งเทรนต์ [1545-1563]) 2 โกรินโธ 5:7)
บรรดาสมาชิกของคริสตจักรถูกสอนว่า พระเยซูทรงประกาศเรื่อง
พระประสงค์ของพระเจ้าจะบรรลุผลสำเร็จ ราชอาณาจักรของพระเจ้า
โดยทางการเมือง. คาร์ดินัลสเป็ลล์แมน ไม่ใช่ระบอบการเมืองบางอย่าง
ผู้ล่วงลับไปแล้วได้กล่าวไว้ว่า ว่าเป็นความหวังสำหรับมนุษยชาติ.
“มีวิถีทางเดียวสู่สันติภาพ . . . ทางหลวง (มัดธาย 4:23; 6:9, 10) พระองค์ทรง
แห่งประชาธิปไตย.” รายการข่าวต่าง ๆ ปฏิเสธจะเข้ายุ่งเกี่ยวทางการเมือง.
รายงานถึงการเกี่ยวข้องของศาสนา (โยฮัน 6:14, 15) ราชอาณาจักรของ
กับการเมืองของโลก (แม้แต่ใน พระองค์ไม่เป็นส่วนของโลก
การจลาจลต่าง ๆ) และการที่ศาสนา ฉะนั้น เหล่าผู้ติดตามพระองค์จะต้องไม่
สนับสนุนองค์การสหประชาชาติ เป็นส่วนของโลก. (โยฮัน 18:36; 17:16)
ว่าเป็น “ความหวังสุดท้ายแห่ง ยาโกโบได้เตือนห้ามการเป็น
ความปรองดองกันและสันติภาพ.” มิตรกับโลก. (ยาโกโบ 4:4)
[ภาพหน้า 132]
การแกะตราเจ็ดดวงนำไปสู่ การเป่าแตรเจ็ดตัว
[ภาพหน้า 140]
“การท้าทายต่อผู้นำของโลก” (1922)
มตินี้ได้ช่วยให้มีการป่าวประกาศเรื่องภัยพิบัติ จากพระยะโฮวาต่อ “แผ่นดินโลก”
[ภาพหน้า 140]
“คำเตือนแก่คริสเตียนทุกคน” (1923)
การพิพากษาที่พระยะโฮวาทรงตอบแทนแก่ “ทะเลหนึ่งในสามส่วน” ได้มีการประกาศออกไปอย่างกว้างขวางเนื่องด้วยมตินี้
[ภาพหน้า 141]
“พวกผู้สอนศาสนาถูกกล่าวโทษ” (1924)
การแจกจ่ายแผ่นพับนี้ออกไปอย่างกว้างขวางได้ช่วย ประชาชนให้สังเกตเห็นว่า “ดวงดาว” แห่งพวกนักเทศน์ นักบวชของคริสต์ศาสนจักรได้ร่วงลงแล้ว
[ภาพหน้า 141]
“ข่าวสารแห่งความหวัง” (1925)
มติอันตรงไปตรงมานี้ได้ถูกใช้เพื่อเปิดโปงการที่คริสต์ศาสนจักรแอบอ้างว่าเป็นแหล่งแห่งความสว่างนั้นว่าที่จริงแล้วพวกเขาเป็นแหล่งแห่งความมืดมน