บท 25
การทำให้พยานทั้งสองคืนชีพ
1. ทูตสวรรค์ที่มีฤทธิ์มากเรียกโยฮันให้ทำอะไร?
ก่อนวิบัติที่สองผ่านพ้นไปในที่สุด ทูตสวรรค์ที่มีฤทธิ์มากได้เชิญโยฮันเข้าร่วมในการเสนอภาพเชิงพยากรณ์อีกเรื่องหนึ่ง ภาพครั้งนี้เกี่ยวข้องกับพระวิหาร. (วิวรณ์ 9:12; 10:1) โยฮันรายงานดังนี้: “ข้าพเจ้าได้รับไม้อ้อท่อนหนึ่งยาวเหมือนไม้พลองเมื่อท่านบอกว่า ‘จงลุกขึ้นแล้ววัดที่ศักดิ์สิทธิ์ของพระวิหารของพระเจ้าและแท่นบูชารวมทั้งคนเหล่านั้นที่นมัสการในนั้น.’”—วิวรณ์ 11:1, ล.ม.
ที่ศักดิ์สิทธิ์ของพระวิหาร
2. (ก) ที่ศักดิ์สิทธิ์ของพระวิหารอะไรซึ่งจะคงทนอยู่จนถึงสมัยของเรา? (ข) ใครคือมหาปุโรหิตแห่งที่ศักดิ์สิทธิ์ของพระวิหาร และที่บริสุทธิ์ที่สุดของพระวิหารนั้นคืออะไร?
2 พระวิหารในที่นี้จะเป็นวิหารจริงใด ๆ ในกรุงเยรูซาเลมไม่ได้ เนื่องจากพระวิหารหลังสุดท้ายนั้นถูกชาวโรมันทำลายไปแล้วเมื่อปีสากลศักราช 70. อย่างไรก็ดี อัครสาวกเปาโลชี้แจงว่า แม้แต่ก่อนจะประสบความพินาศ ที่ศักดิ์สิทธิ์ของพระวิหารอีกประเภทหนึ่งก็ปรากฏซึ่งจะคงอยู่ตลอดมาจนถึงสมัยของเรา. นั่นคือวิหารฝ่ายวิญญาณที่ยิ่งใหญ่ซึ่งทำให้แบบเชิงพยากรณ์โดยพลับพลาประชุมและต่อมาก็โดยพระวิหารที่สร้างขึ้นในกรุงเยรูซาเลมนั้นสำเร็จเป็นจริง. นี่แหละเป็น “พลับพลาแท้ ซึ่ง [พระยะโฮวา] ได้ทรงสร้าง ไม่ใช่มนุษย์” และมหาปุโรหิตแห่งพระวิหารนั้นคือพระเยซู ผู้ซึ่งเปาโลพรรณนาว่า “ได้ประทับเบื้องขวาพระที่นั่งแห่งผู้ทรงพระเดชานุภาพในสวรรค์” แล้ว. ที่บริสุทธิ์ที่สุดของพระวิหารนี้ได้แก่สวรรค์สถานอันเป็นที่ซึ่งพระยะโฮวาประทับนั่นเอง.—เฮ็บราย 8:1, 2; 9:11, 24.
3. ณ พลับพลานมัสการ อะไรที่มีภาพเล็งถึงโดย (ก) ม่านกั้นห้องบริสุทธิ์ที่สุดไว้จากห้องบริสุทธิ์? (ข) สัตว์ที่ถวายเป็นเครื่องบูชา? (ค) แท่นบูชา?
3 อัครสาวกเปาโลอธิบายว่า ม่านในพลับพลาซึ่งกั้นระหว่างที่บริสุทธิ์ที่สุดกับที่บริสุทธิ์นั้นเป็นภาพเล็งถึงเลือดเนื้อของพระเยซู. เมื่อพระเยซูทรงสละชีวิตเป็นเครื่องบูชา ม่านผืนนี้ได้ฉีกออกเป็นสองท่อน แสดงว่าเลือดเนื้อของพระเยซูไม่เป็นอุปสรรคต่อการเสด็จเข้าไปถึงที่ประทับของพระยะโฮวาในสวรรค์อีกต่อไป. โดยอาศัยเครื่องบูชาของพระเยซู เมื่อถึงเวลา รองปุโรหิตที่ถูกเจิมทั้งหลายที่สิ้นชีวิตด้วยความซื่อสัตย์ก็ผ่านเข้าไปในสวรรค์เหมือนกัน. (มัดธาย 27:50, 51; เฮ็บราย 9:3; 10:19, 20) อนึ่ง เปาโลก็ชี้แจงด้วยว่า การถวายสัตว์เป็นเครื่องบูชาอย่างต่อเนื่อง ณ พลับพลานั้นชี้ถึงการสละชีวิตมนุษย์สมบูรณ์ครั้งเดียวของพระเยซู. แท่นถวายเครื่องบูชาที่ลานพระวิหารเล็งถึงการจัดเตรียมของพระยะโฮวา ตามพระทัยประสงค์ของพระองค์ เพื่อรับรองเครื่องบูชาของพระเยซูเพื่อประโยชน์ของ “คนเป็นอันมาก”—แห่งพวกผู้ถูกเจิมและภายหลังก็เพื่อแกะอื่น—ผู้ที่ “รอคอยพระองค์ด้วยใจจดจ่อให้ได้รับความรอด.”—เฮ็บราย 9:28, ฉบับแปลใหม่; 10:9, 10; โยฮัน 10:16.
4. สิ่งต่อไปนี้เป็นสัญลักษณ์ถึงอะไร (ก) ที่บริสุทธิ์? (ข) ลานพระวิหารชั้นใน?
4 จากความรู้นี้ซึ่งได้มาโดยการดลใจจากพระเจ้า เราจึงสรุปได้ว่า ที่บริสุทธิ์ในพลับพลาเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงสถานภาพบริสุทธิ์ซึ่งทีแรกพระเยซูทรงมี และแล้วก็สมาชิกผู้ถูกเจิมแห่งปุโรหิตหลวงจำนวน 144,000 คน ขณะที่เขายังอยู่บนแผ่นดินโลก ก่อนเข้าไปทาง “ม่าน” นั้น. (เฮ็บราย 6:19, 20; 1 เปโตร 2:9, ฉบับแปลใหม่) สถานภาพบริสุทธิ์เป็นสัญลักษณ์ถึงการที่พวกเขาถูกรับเป็นบุตรฝ่ายวิญญาณของพระเจ้า อย่างที่พระเจ้าทรงรับรองเอาพระเยซูเป็นพระบุตรหลังจากพระเยซูรับบัพติสมาในแม่น้ำยาระเดนเมื่อปีสากลศักราช 29. (ลูกา 3:22; โรม 8:15) ส่วนลานรอบพลับพลานั้น ส่วนเดียวของพลับพลาที่ชาวอิสราเอลที่ไม่ใช่ปุโรหิตมองเห็น และเป็นที่ถวายเครื่องบูชาล่ะ? ลานนั้นแสดงถึงฐานะสมบูรณ์พร้อมของมนุษย์เยซู ซึ่งทำให้พระองค์มีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะสละชีวิตเพื่อมนุษยชาติ. นอกจากนั้น ยังแสดงถึงฐานะชอบธรรมอย่างพวกผู้บริสุทธิ์ที่ได้มาโดยอาศัยเครื่องบูชาของพระเยซู ซึ่งสาวกผู้ถูกเจิมของพระองค์มีขณะอยู่บนแผ่นดินโลก.a—โรม 1:7; 5:1.
การวัดที่ศักดิ์สิทธิ์ของพระวิหาร
5. ในคำพยากรณ์ต่าง ๆ ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู การกระทำเหล่านี้ชี้เป็นนัยถึงอะไร (ก) การวัดกรุงเยรูซาเลม? (ข) การวัดพระวิหารในนิมิตของยะเอศเคล?
5 โยฮันได้รับคำสั่งให้ “วัดที่ศักดิ์สิทธิ์ของพระวิหารของพระเจ้าและแท่นบูชารวมทั้งคนเหล่านั้นที่นมัสการในนั้น.” เรื่องนี้หมายถึงอะไร? ในคำพยากรณ์ที่พระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู การวัดเคยเป็นการค้ำประกันว่า จะมีการตัดสินด้วยความยุติธรรมโดยอาศัยมาตรฐานอันสมบูรณ์ของพระยะโฮวา. ในสมัยกษัตริย์มะนาเซที่ชั่วร้าย การวัดกรุงเยรูซาเลมในเชิงพยากรณ์แสดงถึงการพิพากษาให้กรุงนั้นพินาศอย่างที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้. (2 กษัตริย์ 21:13; บทเพลงร้องทุกข์ 2:8) แต่ต่อมาภายหลัง เมื่อยิระมะยาเห็นว่ามีการวัดกรุงเยรูซาเลม นั่นยืนยันว่ากรุงนั้นจะได้รับการสร้างใหม่. (ยิระมะยา 31:39; ดูซะคาระยา 2:2-8 ด้วย.) ทำนองเดียวกัน การวัดที่ละเอียดกว้างขวางของพระวิหารในนิมิตนั้นที่ยะเอศเคลมองเห็นเป็นคำรับรองแก่ชาวยิวที่เป็นเชลยในบาบิโลนว่า จะมีการฟื้นฟูการนมัสการแท้ขึ้นในประเทศบ้านเกิดของเขา. นอกจากนี้ ยังเป็นข้อเตือนใจว่า เมื่อคำนึงถึงการผิดที่เขาได้ทำ นับจากนี้ต่อไปชาติอิสราเอลต้องปฏิบัติตามมาตรฐานแห่งความบริสุทธิ์ที่พระเจ้าทรงกำหนดไว้.—ยะเอศเคล 40:3, 4; 43:10.
6. การที่โยฮันได้รับการบอกให้วัดสถานศักดิ์สิทธิ์และพวกปุโรหิตที่นมัสการที่นั่นเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงอะไร? จงอธิบาย.
6 ด้วยเหตุนั้น เมื่อโยฮันได้รับคำสั่งให้วัดที่ศักดิ์สิทธิ์ของพระวิหารรวมทั้งพวกปุโรหิตที่นมัสการ ณ พระวิหารด้วย จึงเป็นเครื่องหมายแสดงว่า ไม่มีสิ่งใดอาจยับยั้งความสำเร็จเป็นจริงตามพระประสงค์ของพระยะโฮวาได้ในเรื่องวิธีการจัดเตรียมด้านพระวิหารและคนที่เกี่ยวพันกับเรื่องนี้ และแสดงว่าพระประสงค์เหล่านั้นใกล้จะบรรลุจุดสุดยอดอยู่แล้ว. บัดนี้ในเมื่อสิ่งต่าง ๆ ถูกวางไว้ใต้เท้าทูตสวรรค์ที่มีฤทธิ์มากของพระยะโฮวา จึงเป็นสมัยที่ “ภูเขาแห่งราชนิเวศของพระยะโฮวาจะถูกตั้งขึ้นอย่างมั่นคงให้เหนือยอดภูเขาทั้งหลาย.” (ยะซายา 2:2-4, ล.ม.) การนมัสการอันบริสุทธิ์ของพระยะโฮวาต้องได้รับการยกย่อง หลังจากหลายศตวรรษแห่งการออกหากของคริสต์ศาสนจักร. อนึ่ง เป็นเวลาที่พี่น้องที่ซื่อสัตย์ของพระคริสต์ซึ่งได้ตายไปจะถูกปลุกขึ้นมาสู่ “สถานบริสุทธิ์ที่บริสุทธิ์ยิ่ง.” (ดานิเอล 9:24, ล.ม.; 1 เธซะโลนิเก 4:14-16; วิวรณ์ 6:11; 14:4) และผู้ที่ได้รับการประทับตรารุ่นสุดท้ายแห่ง “ทาสทั้งหลายของพระเจ้าของเรา” บนแผ่นดินโลกก็ต้องถูกวัดตามมาตรฐานของพระเจ้า เพื่อจะมีคุณสมบัติเหมาะสำหรับตำแหน่งถาวรของเขาในการจัดเตรียมด้านพระวิหารในฐานะบุตรที่ได้รับการกำเนิดด้วยพระวิญญาณของพระเจ้า. ชนจำพวกโยฮันสมัยปัจจุบันรู้จักมาตรฐานศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นอย่างครบถ้วนและตั้งใจแน่วแน่จะบรรลุมาตรฐานนั้น.—วิวรณ์ 7:1-3, ล.ม.; มัดธาย 13:41, 42; เอเฟโซ 1:13, 14; เทียบกับโรม 11:20.
การเหยียบย่ำลานที่อยู่ภายนอก
7. (ก) เพราะเหตุใดโยฮันจึงได้รับการบอกไม่ให้วัดลานพระวิหาร? (ข) เมื่อไรที่เมืองบริสุทธิ์ถูกเหยียบย่ำเป็นเวลา 42 เดือน? (ค) โดยวิธีใดที่พวกนักเทศน์นักบวชแห่งคริสต์ศาสนจักรพลาดไป ไม่ได้ยึดมั่นกับมาตรฐานอันชอบธรรมของพระยะโฮวาเป็นเวลา 42 เดือน?
7 ทำไมโยฮันถูกห้ามมิให้วัดลานภายนอก? ท่านแจ้งแก่เราดังนี้: “ส่วนลานที่อยู่ภายนอกที่ศักดิ์สิทธิ์ของพระวิหารนั้นทิ้งไว้ไม่ต้องวัด เพราะลานนั้นถูกยกให้ชนต่างชาติแล้วและพวกเขาจะเหยียบย่ำเมืองบริสุทธิ์เป็นเวลาสี่สิบสองเดือน.” (วิวรณ์ 11:2, ล.ม.) เราได้มาเข้าใจว่า ลานพระวิหารชั้นในเป็นภาพเล็งถึงฐานะชอบธรรมขณะอยู่บนแผ่นดินโลกของคริสเตียนที่ได้รับการกำเนิดด้วยพระวิญญาณ. ดังเราจะทราบต่อไป การอ้างอิงในข้อนี้คือระยะ 42 เดือนจริง ๆ ซึ่งนับจากเดือนธันวาคม ปี 1914 ถึงเดือนมิถุนายน ปี 1918 เมื่อทุกคนซึ่งอ้างตัวเป็นคริสเตียนถูกทดลองอย่างหนักหน่วง. พวกเขาจะยืนหยัดเพื่อมาตรฐานอันชอบธรรมของพระยะโฮวาตลอดสมัยสงครามครั้งนั้นไหม? ส่วนใหญ่ไม่ทำเช่นนั้น. นักเทศน์นักบวชในคริสต์ศาสนจักรทั้งมวลต่างให้ลัทธิชาตินิยมขึ้นหน้าการเชื่อฟังกฎหมายของพระเจ้า. นักเทศน์นักบวชของทั้งสองฝ่ายที่เข้าสู่สงคราม ซึ่งส่วนใหญ่สู้รบกันในดินแดนแห่งคริสต์ศาสนจักร ได้เทศนาให้คนหนุ่มเข้าสู่สนามเพลาะ. หลายล้านคนถูกฆ่า. พอถึงเวลาเริ่มการพิพากษากับครอบครัวของพระเจ้าในปี 1918 สหรัฐก็ได้เข้าไปพัวพันกับการนองเลือดครั้งนั้น และนักเทศน์นักบวชแห่งคริสต์ศาสนจักรทั้งสิ้นได้ก่อความผิดฐานทำให้โลหิตตกซึ่งยังคงร้องเรียกหาการแก้แค้นจากพระเจ้า. (1 เปโตร 4:17) การที่พวกเขาถูกทิ้งไว้จึงกลายเป็นการถาวรไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้.—ยะซายา 59:1-3, 7, 8; ยิระมะยา 19:3, 4.
8. ระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง นักศึกษาพระคัมภีร์หลายคนได้ตระหนักถึงเรื่องอะไร แต่พวกเขายังไม่เข้าใจเต็มที่ถึงอะไร?
8 แต่นักศึกษาพระคัมภีร์กลุ่มเล็ก ๆ นั้นล่ะเป็นอย่างไร? พวกเขาจะถูกวัดทันทีในปี 1914 ไหมในเรื่องการที่เขายึดมั่นกับมาตรฐานของพระเจ้า? เปล่าเลย. พวกเขาก็เหมือนกับพวกที่ประกาศตัวเป็นคริสเตียนในคริสต์ศาสนจักร คือต้องถูกทดลองเช่นกัน. พวกเขาถูก ‘ทิ้งไว้และถูกยกให้ชนต่างชาติ’ เพื่อจะถูกทดลองและถูกกดขี่ข่มเหงอย่างหนัก. พวกเขาหลายคนตระหนักว่าเขาไม่ควรจะออกไปและฆ่าฟันเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน แต่ตอนนั้นเขายังไม่เข้าใจเต็มที่ในความเป็นกลางของคริสเตียน. (มีคา 4:3; โยฮัน 17:14, 16; 1 โยฮัน 3:15) เมื่อได้รับความกดดันจากชาติต่าง ๆ บางคนยอมอะลุ่มอล่วย.
9. เมืองบริสุทธิ์ที่ถูกเหยียบย่ำโดยชนต่างชาตินั้นคืออะไร และใครคือตัวแทนบนแผ่นดินโลกของเมืองนี้?
9 กระนั้น เป็นไปอย่างไรที่เมืองบริสุทธิ์ถูกชาติเหล่านั้นเหยียบย่ำ? เห็นได้ชัดว่า เรื่องนี้ไม่ใช่พาดพิงถึงกรุงเยรูซาเลมซึ่งถูกทำลายไปกว่า 25 ปีมาแล้วก่อนมีการเขียนพระธรรมวิวรณ์. แต่เมืองบริสุทธิ์นี้คือเยรูซาเลมใหม่ ซึ่งตอนหลังมีการพรรณนาในพระธรรมวิวรณ์ ซึ่งในเวลานี้มีคริสเตียนผู้ถูกเจิมที่เหลืออยู่ซึ่งอยู่ในลานชั้นในของพระวิหารเป็นตัวแทนอยู่บนแผ่นดินโลก. ชนเหล่านี้จะกลายเป็นส่วนของเมืองบริสุทธิ์ด้วย. ฉะนั้น การเหยียบย่ำพวกเขาก็เท่ากับเหยียบย่ำเมืองบริสุทธิ์ทีเดียว.—วิวรณ์ 21:2, 9-21.
พยานทั้งสองถูกฆ่า
10. พยานผู้ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวาควรทำอะไรในขณะที่ถูกเหยียบย่ำอยู่นั้น?
10 แม้แต่ขณะถูกเหยียบย่ำ ผู้ภักดีเหล่านี้ก็ไม่เลิกเป็นพยานซื่อสัตย์ของพระยะโฮวา. ฉะนั้น คำพยากรณ์แจ้งต่อไปดังนี้ “‘แล้วเราจะให้พยานสองคนของเราสวมผ้ากระสอบพยากรณ์อยู่หนึ่งพันสองร้อยหกสิบวัน.’ ต้นมะกอกสองต้นกับเชิงตะเกียงสองอันเป็นสัญลักษณ์แทนตัวพยานสองคนนี้ และเขาทั้งสองยืนอยู่เฉพาะพระพักตร์เจ้าแห่งแผ่นดินโลก.”—วิวรณ์ 11:3, 4, ล.ม.
11. อะไรคือความหมายของการที่คริสเตียนผู้ถูกเจิมที่ซื่อสัตย์จะ “สวมผ้ากระสอบ” พยากรณ์?
11 คริสเตียนผู้ถูกเจิมที่ซื่อสัตย์เหล่านี้ต้องมีคุณลักษณะด้านความอดทน เพราะเขาต้อง “สวมผ้ากระสอบ” กล่าวพยากรณ์. ทั้งนี้หมายถึงอะไร? ในสมัยคัมภีร์ไบเบิลผ้ากระสอบมักจะบ่งนัยถึงความเศร้าเสียใจ. การสวมผ้ากระสอบเป็นสัญลักษณ์ว่าผู้สวมถูกทำให้ต่ำต้อยเนื่องจากความเศร้าสลดหรือความกลัดกลุ้ม. (เยเนซิศ 37:34; โยบ 16:15, 16; ยะเอศเคล 27:31) ผ้ากระสอบเกี่ยวพันกับข่าวน่าเศร้าแห่งความหายนะหรือความเศร้าสลดซึ่งพวกผู้พยากรณ์ของพระเจ้าต้องประกาศ. (ยะซายา 3:8, 24-26; ยิระมะยา 48:37; 49:3) การสวมผ้ากระสอบอาจบ่งชี้ถึงความถ่อมใจหรือการกลับใจเมื่อคำนึงถึงการเตือนจากพระเจ้า. (โยนา 3:5) ผ้ากระสอบที่พยานทั้งสองสวมอยู่จึงดูเหมือนชี้ถึงความอดทนด้วยใจถ่อมเมื่อประกาศการพิพากษาของพระยะโฮวา. พยานทั้งสองประกาศวันที่พระองค์จะทรงแก้แค้นซึ่งจะยังความเศร้าสลดแก่นานาชาติด้วยเช่นกัน.—พระบัญญัติ 32:41-43.
12. เพราะเหตุใดช่วงเวลาระหว่างที่เมืองบริสุทธิ์จะถูกเหยียบย่ำนั้นจึงดูเหมือนเป็นช่วงเวลาตามตัวอักษร?
12 ชนจำพวกโยฮันต้องประกาศข่าวสารนี้เป็นเวลาตามที่แจ้งไว้แน่นอนคือ 1,260 วันหรือ 42 เดือน นานเท่ากับระยะเวลาที่เมืองบริสุทธิ์จะถูกเหยียบย่ำ. ช่วงเวลานี้ดูเหมือนเป็นตามตัวอักษร เนื่องจากได้กล่าวไว้สองทางต่างกัน ทีแรกบอกเป็นเดือน และต่อมาบอกจำนวนวัน. นอกจากนี้ ณ ตอนเริ่มต้นวันขององค์พระผู้เป็นเจ้า ก็มีระยะเวลาสามปีครึ่งซึ่งถูกหมายไว้เมื่อประสบการณ์อันยากลำบากแห่งประชาชนของพระยะโฮวานั้นตรงกับเหตุการณ์ที่ได้พยากรณ์ไว้ ณ ที่นี้—เริ่มในเดือนธันวาคม ปี 1914 เรื่อยไปจนถึงเดือนมิถุนายน ปี 1918. (วิวรณ์ 1:10) พวกเขาประกาศข่าว “ผ้ากระสอบ” ซึ่งเกี่ยวกับการที่พระยะโฮวาทรงพิพากษาคริสต์ศาสนจักรและโลกมนุษย์.
13. (ก) อะไรที่มีการแสดงถึงโดยข้อเท็จจริงที่ว่า พยานทั้งสองนั้นเป็นสัญลักษณ์ถึงคริสเตียนผู้ถูกเจิม? (ข) การที่โยฮันเรียกพยานทั้งสองว่า “ต้นมะกอกสองต้นกับเชิงตะเกียงสองอัน” นั้นทำให้นึกถึงคำพยากรณ์อะไรของซะคาระยา?
13 ข้อเท็จจริงที่ว่า พยานทั้งสองถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ถึงชนจำพวกโยฮันเป็นข้อยืนยันแก่เราว่า ข่าวสารของพวกเขาถูกต้องและเชื่อถือได้. (เทียบกับพระบัญญัติ 17:6; โยฮัน 8:17, 18.) โยฮันเรียกพวกเขาว่า “ต้นมะกอกสองต้นกับเชิงตะเกียงสองอัน” และบอกว่าเขา “ยืนอยู่เฉพาะพระพักตร์เจ้าแห่งแผ่นดินโลก.” นี่คือการอ้างอิงอย่างเห็นได้ชัดถึงคำพยากรณ์ของซะคาระยา ผู้ที่เห็นเชิงตะเกียงซึ่งมีตะเกียงเจ็ดดวงอยู่ที่ยอดของกิ่งตะเกียงและต้นมะกอกเทศสองต้น. กล่าวกันว่าต้นมะกอกเทศ “ทั้งสองนี้คือผู้ที่ได้รับการเจิม” คือซะรูบาเบลเจ้าเมือง และยะโฮซูอะปุโรหิตใหญ่ “ผู้ยืนอยู่ข้างพระเจ้าแห่งพิภพทั้งสิ้น.”—ซะคาระยา 4:1-3, 14, ฉบับแปลใหม่.
14. (ก) นิมิตของซะคาระยาเกี่ยวกับต้นมะกอกเทศสองต้นกับเชิงตะเกียงนั้นชี้ถึงอะไร? (ข) ชนคริสเตียนผู้ถูกเจิมจะประสบกับอะไรระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง?
14 ซะคาระยาอยู่ในสมัยแห่งการบูรณะ และนิมิตที่ท่านเห็นมะกอกเทศสองต้นหมายความว่า ซะรูบาเบลกับยะโฮซูอะจะได้รับพระวิญญาณของพระยะโฮวาเพื่อช่วยหนุนกำลังไพร่พลให้ทำงาน. ภาพเชิงตะเกียงที่เห็นในนิมิตเป็นข้อเตือนใจซะคาระยาไม่ให้ ‘ดูหมิ่นวันแห่งการเล็กน้อย’ เพราะพระประสงค์ของพระยะโฮวาจะต้องลุล่วง—“ยะโฮวาแห่งพลโยธาทั้งหลายตรัสว่า ‘ไม่ใช่ด้วยกำลังและฤทธิ์ แต่โดยพระวิญญาณของเรา.’” (ซะคาระยา 4:6, 10; 8:9) คริสเตียนกลุ่มน้อยที่นำความสว่างแห่งความจริงไปให้มนุษยชาติอย่างไม่ลดละในระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่งก็จะถูกใช้ทำนองคล้ายกันในงานบูรณะ. พวกเขาเช่นกัน ย่อมเป็นบ่อเกิดแห่งการหนุนกำลังใจ และแม้มีจำนวนไม่มาก แต่ก็จะเรียนรู้ที่จะหมายพึ่งกำลังของพระยะโฮวา ไม่ดูหมิ่นวันแห่งการเริ่มต้นแบบเล็กน้อย.
15. (ก) ข้อเท็จจริงที่ว่า ชนคริสเตียนผู้ถูกเจิมนั้นได้ถูกพรรณนาว่าเป็นพยานสองคนนั้นเตือนเราให้ระลึกถึงอะไรด้วยเช่นกัน? จงอธิบาย. (ข) พยานทั้งสองนั้นได้รับมอบหมายให้แสดงการอัศจรรย์แบบใด?
15 ข้อเท็จจริงที่มีการพรรณนาว่าพวกเขาคือพยานทั้งสองนั้นทำให้เราระลึกถึงการแปลงกาย. ในนิมิตนั้น อัครสาวกสามคนของพระเยซูเห็นพระองค์ทรงรุ่งโรจน์ด้วยสง่าราศีแห่งราชอาณาจักร โดยมีโมเซกับเอลียาอยู่กับพระองค์. นิมิตนี้เล็งถึงการที่พระเยซูเสด็จประทับบัลลังก์อันรุ่งเรืองในปี 1914 เพื่อดำเนินงานที่ผู้พยากรณ์ทั้งสองท่านนั้นแสดงให้เห็นล่วงหน้าให้บรรลุผลสำเร็จ. (มัดธาย 17:1-3) นับว่าเหมาะสมทีเดียว เวลานี้เราแลเห็นพยานทั้งสองแสดงการอัศจรรย์คล้ายกับที่โมเซและเอลียาเคยทำ. ยกตัวอย่าง โยฮันกล่าวถึงบุคคลทั้งสองดังนี้: “ถ้าใครอยากจะทำร้ายพวกเขา จะมีไฟออกจากปากพวกเขามาเผาผลาญศัตรูเหล่านั้นเสีย ถ้าใครอยากจะทำร้ายพวกเขา ผู้นั้นจะถูกฆ่าอย่างนี้แหละ. พยานทั้งสองนี้มีอำนาจจะปิดท้องฟ้าไม่ให้ฝนตกในช่วงเวลาที่พวกเขาพยากรณ์อยู่.”—วิวรณ์ 11:5, 6ก, ล.ม.
16. (ก) สัญลักษณ์เกี่ยวกับไฟเตือนเราอย่างไรให้นึกถึงสมัยที่อำนาจมอบหมายของโมเซได้รับการท้าทายในอิสราเอล? (ข) พวกนักเทศน์นักบวชแห่งคริสต์ศาสนจักรได้ต่อต้านพวกนักศึกษาพระคัมภีร์และก่อความยุ่งยากแก่พวกเขาอย่างไรในระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และพวกเขาตอบโต้อย่างไร?
16 ทั้งนี้ทำให้เรานึกถึงคราวที่อำนาจของโมเซถูกท้าทายในอิสราเอล. ผู้พยากรณ์ท่านนี้ประกาศคำพิพากษาอันร้อนแรงดุจไฟ และพระยะโฮวาทรงทำลายพวกกบฏโดยเผาผลาญพวกเขา 250 คนด้วยไฟจริงจากสวรรค์. (อาฤธโม 16:1-7, 28-35) ทำนองคล้ายคลึงกัน ผู้นำแห่งคริสต์ศาสนจักรดูหมิ่นนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิล กล่าวว่าคนเหล่านี้ไม่เคยสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยศาสนา. แต่พยานทั้งหลายของพระเจ้ามีหนังสือแนะนำตัวที่เชื่อถือได้ดีกว่าในฐานะเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า ซึ่งก็ได้แก่บุคคลอ่อนน้อมซึ่งตอบรับข่าวสารในพระคัมภีร์. (2 โกรินโธ 3:2, 3) ปี 1917 นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลได้จัดพิมพ์หนังสือความลึกลับที่สำเร็จแล้ว (ภาษาอังกฤษ) คำอธิบายอันทรงพลังเกี่ยวกับพระธรรมวิวรณ์และยะเอศเคล. จากนั้น ได้มีการแจกแผ่นพับสี่หน้าชื่อนักศึกษาพระคัมภีร์รายเดือน (ภาษาอังกฤษ) มีบทความเรื่อง “ความล่มจมของบาบิโลน—เหตุผลที่คริสต์ศาสนจักรต้องลำบากเวลานี้—ผลบั้นปลาย” ออกไปถึง 10,000,000 แผ่น. ในประเทศสหรัฐ นักเทศน์นักบวชที่โกรธแค้นได้ใช้ความบ้าคลั่งสมัยสงครามเป็นข้ออ้างเพื่อให้มีการสั่งห้ามหนังสือนี้. ในประเทศอื่น ๆ หนังสือนี้ถูกตรวจสอบ. กระนั้นก็ดี ผู้รับใช้ของพระเจ้าตอบโต้ด้วยการออกแผ่นพับสี่หน้าที่เผ็ดร้อนชื่อข่าวราชอาณาจักร (ภาษาอังกฤษ). ขณะที่วันขององค์พระผู้เป็นเจ้าคืบหน้าต่อไป. สิ่งพิมพ์อื่น ๆ ต่างทำให้สภาพฝ่ายวิญญาณที่ตายแล้วของคริสต์ศาสนจักรเป็นที่ชัดแจ้ง.—เทียบกับยิระมะยา 5:14.
17. (ก) เหตุการณ์อะไรในสมัยเอลียาซึ่งเกี่ยวข้องกับความแห้งแล้งและไฟ? (ข) ไฟออกมาจากปากของพยานทั้งสองอย่างไร และมีการเกี่ยวพันกับความแห้งแล้งอะไร?
17 ส่วนเอลียาล่ะเป็นอย่างไร? ในยุคของกษัตริย์ต่าง ๆ แห่งอิสราเอล ผู้พยากรณ์ท่านนี้ประกาศถึงความแห้งแล้งว่าเป็นการสำแดงถึงพระพิโรธที่พระยะโฮวาทรงมีต่อชาวอิสราเอลที่นมัสการพระบาละ. ความแห้งแล้งยืดเยื้อนานสามปีครึ่ง. (1 กษัตริย์ 17:1; 18:41-45; ลูกา 4:25; ยาโกโบ 5:17) ในเวลาต่อมา เมื่อกษัตริย์อาฮัดยาที่ไม่ซื่อสัตย์ส่งทหารไปบังคับเอลียาให้เข้าเฝ้ายังที่ประทับ ผู้พยากรณ์ได้เรียกไฟลงมาจากสวรรค์เผาผลาญทหารเหล่านั้นสิ้นทุกคน. เฉพาะแต่เมื่อนายทหารคนหนึ่งแสดงความนับถือต่อตำแหน่งของท่านในฐานะผู้พยากรณ์อย่างสมควร เอลียาจึงยอมเดินทางไปเข้าเฝ้ากษัตริย์กับเขา. (2 กษัตริย์ 1:5-16) เช่นเดียวกัน ระหว่างปี 1914 และ 1918 ด้วยความกล้าหาญ ชนที่เหลือผู้ถูกเจิมได้บอกให้สนใจความแห้งแล้งฝ่ายวิญญาณในคริสต์ศาสนจักร และได้เตือนเรื่องการพิพากษาอันร้อนแรงดุจไฟเมื่อ “ถึงวันใหญ่ของพระยะโฮวาอันเป็นวันที่น่าสะพรึงกลัว.”—มาลาคี 4:1, 5; อาโมศ 8:11.
18. (ก) มีการมอบหมายอำนาจอะไรแก่พยานทั้งสอง และสิ่งนี้คล้ายคลึงกับที่มีการมอบแก่โมเซอย่างไร? (ข) พยานทั้งสองเปิดโปงคริสต์ศาสนจักรอย่างไร?
18 โยฮันกล่าวต่อไปเกี่ยวกับพยานทั้งสองดังนี้: “และพวกเขามีอำนาจทำให้น้ำทั้งหลายกลายเป็นเลือด และใช้ภัยพิบัติทุกชนิดโจมตีแผ่นดินโลกได้บ่อยเท่าที่พวกเขาต้องการ.” (วิวรณ์ 11:6ข, ล.ม.) เพื่อจูงใจฟาโรห์ให้ปล่อยชาติอิสราเอลเป็นอิสระ พระยะโฮวาทรงใช้โมเซให้โจมตีชาติอียิปต์ที่กดขี่ด้วยภัยพิบัติ ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนน้ำให้เป็นเลือดด้วย. หลายร้อยปีต่อมา ชาวฟะลิศติมศัตรูของอิสราเอลจำได้ดีถึงปฏิบัติการของพระยะโฮวาต่อชาวอียิปต์ ทำให้พวกเขาร้องเสียงดังว่า “ใครจะช่วยเราให้พ้นจากพระหัตถ์แห่งพระเจ้าที่น่าเกรงขามองค์นี้? พระเจ้าองค์นี้แหละที่ได้ลงโทษชาวอียิปต์ด้วยการสังหาร [“ภัยพิบัติ,” ฉบับแปลรีไวสด์ สแตนดาร์ด] ทุกอย่างในถิ่นทุรกันดาร.” (1 ซามูเอล 4:8, ล.ม.; บทเพลงสรรเสริญ 105:29) โมเซเป็นภาพแสดงถึงพระเยซูผู้มีอำนาจประกาศคำพิพากษาที่พระเจ้าทรงมีแก่พวกผู้นำศาสนาในสมัยของพระองค์. (มัดธาย 23:13; 28:18; กิจการ 3:22) และในระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง พยานทั้งสอง คือพี่น้องของพระคริสต์ ก็ได้เปิดโปงคุณสมบัติที่ทำให้ถึงตายของ “น้ำทั้งหลาย” ซึ่งคริสต์ศาสนจักรแจกจ่ายแก่ฝูงแกะของตน.
พยานทั้งสองถูกฆ่า
19. ตามบันทึกในพระธรรมวิวรณ์ อะไรเกิดขึ้นเมื่อพยานทั้งสองเสร็จสิ้นการให้คำพยานของเขา?
19 ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นกับคริสต์ศาสนจักรครั้งนี้ร้ายแรงจนถึงขนาดที่หลังจากพยานทั้งสองซึ่งสวมผ้ากระสอบได้พยากรณ์อยู่นานถึง 42 เดือน คริสต์ศาสนจักรได้ใช้อิทธิพลทางโลกจัดการ “ฆ่า” เขา. โยฮันเขียนไว้ว่า “เมื่อพวกเขาทำหน้าที่เป็นพยานเสร็จแล้ว สัตว์ร้ายที่ขึ้นมาจากขุมลึกจะต่อสู้กับพวกเขาและชนะและฆ่าพวกเขาเสีย. ศพของพวกเขาจะอยู่บนถนนใหญ่ในเมืองใหญ่ชื่อโซโดมและอียิปต์ซึ่งเป็นชื่อที่มีความหมายแฝงซึ่งองค์พระผู้เป็นเจ้าของพวกเขาก็ถูกตรึงบนหลักที่นั่นด้วย. ผู้คนจากชนชาติ ตระกูล ภาษา และประเทศต่าง ๆ จะมองดูศพเขาทั้งสองเป็นเวลาสามวันครึ่งและไม่ยอมให้เอาศพเขาทั้งสองไปวางไว้ในอุโมงค์ฝังศพ. ส่วนคนที่อยู่บนแผ่นดินโลกต่างยินดีและพากันรื่นเริงที่เขาทั้งสองตายพวกเขาจะส่งของขวัญให้กันเพราะผู้พยากรณ์สองคนนั้นเคยทรมานคนที่อยู่บนแผ่นดินโลก.”—วิวรณ์ 11:7-10, ล.ม.
20. “สัตย์ร้ายที่ขึ้นมาจากขุมลึก” คืออะไร?
20 นี้เป็นข้ออ้างอิงประการแรกในจำนวน 37 ครั้งในพระธรรมวิวรณ์ที่กล่าวถึงสัตว์ร้าย. เมื่อถึงเวลาอันควร เราจะพิจารณาเรื่องนี้และสัตว์ร้ายอื่นอย่างละเอียด. ขณะนี้ก็พอที่จะพูดว่า “สัตว์ร้ายที่ขึ้นมาจากขุมลึก” นั้นเป็นการวางแผนของซาตาน เป็นระบบฝ่ายการเมืองที่ดำเนินการอยู่.b—เทียบกับวิวรณ์ 13:1; ดานิเอล 7:2, 3, 17.
21. (ก) พวกศัตรูทางศาสนาของพยานทั้งสองได้ฉวยโอกาสอย่างไรจากสถานการณ์ระหว่างสงครามนั้น? (ข) ข้อเท็จจริงที่ว่า ศพของพยานทั้งสองถูกทิ้งไว้โดยไม่ฝังนั้นชี้ถึงอะไร? (ค) ช่วงเวลาสามวันครึ่งนั้นควรจะเข้าใจอย่างไร? (ดูเชิงอรรถ.)
21 ตั้งแต่ปี 1914 ถึงปี 1918 ชาติต่าง ๆ ติดพันอยู่กับสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง. ความรู้สึกนิยมชาติเดือดพล่าน แล้วในฤดูใบไม้ผลิปี 1918 ศัตรูทางศาสนาของพยานทั้งสองก็ฉวยโอกาสจากสถานการณ์ในเวลานั้น. พวกเขาพลิกแพลงกลไกของรัฐถึงขั้นที่ทำให้คณะบุคคลที่มีหน้าที่รับผิดชอบของกลุ่มนักศึกษาพระคัมภีร์ต้องถูกจำคุกด้วยข้อหาเท็จที่ว่าเป็นกบฏ. เพื่อนร่วมงานที่ซื่อสัตย์ต่างก็ตะลึงงัน. กิจกรรมราชอาณาจักรเกือบจะหยุดชะงัก. ราวกับว่างานประกาศสั่งสอนตายแล้ว. ในสมัยคัมภีร์ไบเบิลถือกันว่าเป็นความอัปยศอย่างยิ่งหากไม่ได้ฝังศพในอุโมงค์รำลึก. (บทเพลงสรรเสริญ 79:1-3; 1 กษัตริย์ 13:21, 22) เหตุฉะนั้น การละศพพยานทั้งสองไว้ไม่ฝังย่อมเป็นความอัปยศอดสูยิ่ง. ในภูมิอากาศที่ร้อนจัดแถบประเทศปาเลสไตน์ ศพที่ทิ้งไว้กลางถนนนานถึงสามวันครึ่งคงจะเริ่มส่งกลิ่น.c (เทียบกับโยฮัน 11:39.) ข้อปลีกย่อยอย่างนี้ในคำพยากรณ์จึงบ่งชี้ถึงความอับอายซึ่งพยานทั้งสองต้องสู้ทน. คนเหล่านั้นที่เอ่ยถึงข้างต้นซึ่งถูกจำคุกไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวด้วยซ้ำขณะที่คดีอยู่ในระหว่างอุทธรณ์. พวกเขาถูกตีแผ่ต่อหน้าธารกำนัลนานพอที่จะส่งกลิ่นเหม็นตลบไปถึงผู้ที่อาศัยใน “เมืองใหญ่.” แต่ “เมืองใหญ่” นี้หมายถึงอะไร?
22. (ก) เมืองใหญ่นั้นคืออะไร? (ข) วงการหนังสือพิมพ์ร่วมกับพวกนักเทศน์นักบวชอย่างไรในความยินดีที่ทำให้พยานทั้งสองเงียบเสียง? (ดูในกรอบ.)
22 โยฮันชี้ร่องรอยบางอย่างแก่เรา. ท่านบอกว่าพระเยซูถูกตรึงที่นั่น. ฉะนั้น เรานึกถึงกรุงเยรูซาเลมทันที. แต่ท่านบอกไว้ด้วยว่าเมืองใหญ่นั้นถูกเรียกว่าโซโดมและอียิปต์. ก็นั่นแหละ เยรูซาเลมตัวจริงครั้งหนึ่งเคยได้ฉายาว่าโซโดมเพราะกิจปฏิบัติต่าง ๆ ที่ไม่สะอาดซึ่งทำกันที่นั่น. (ยะซายา 1:8-10; เทียบกับยะเอศเคล 16:49, 53-58.) และอียิปต์ มหาอำนาจแรกของโลก บางครั้งก็ดูเหมือนเป็นภาพแสดงถึงระบบของโลกนี้. (ยะซายา 19:1, 19; โยเอล 3:19) ด้วยเหตุนี้ เมืองใหญ่นี้เป็นภาพเล็งถึง “เยรูซาเลม” ซึ่งเป็นมลทิน ที่อ้างว่านมัสการพระเจ้า แต่ที่แท้กลายเป็นเมืองที่ไม่สะอาดและเต็มไปด้วยบาป เหมือนโซโดม และก็เป็นส่วนของระบบโลกของซาตานเช่นเดียวกันกับอียิปต์. เมืองใหญ่นี้เป็นภาพเล็งถึงคริสต์ศาสนจักร คู่เทียบสมัยปัจจุบันของเยรูซาเลมที่ไม่ซื่อสัตย์ ซึ่งสมาชิกองค์การนี้มีเหตุผลมากมายจะชื่นชมยินดีเมื่อเขาสามารถยุติงานประกาศของพยานทั้งสองซึ่งเป็นสิ่งรบกวนใจเขา.
ลุกขึ้นอีก!
23. (ก) มีอะไรเกิดขึ้นกับพยานทั้งสองหลังจากสามวันครึ่งผ่านไป และมีผลกระทบอย่างไรต่อพวกศัตรูของเขา? (ข) เมื่อไรที่พระธรรมวิวรณ์ 11:11, 12 กับคำพยากรณ์ของยะเอศเคลเกี่ยวกับการที่พระยะโฮวาทรงเป่าลมหายใจลงบนหุบเขาแห่งกระดูกแห้งทั้งหลายนั้นได้มาสำเร็จเป็นจริงในสมัยนี้?
23 วงการหนังสือพิมพ์ร่วมกับนักเทศน์นักบวชในการสบประมาทประชาชนของพระเจ้า หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งให้ข่าวว่า “หนังสือความลึกลับที่สำเร็จแล้ว นั้นมาถึงจุดจบแล้ว.” แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย! พยานทั้งสองไม่ตายแน่นิ่งตลอดไป. เราอ่านดังนี้: “เมื่อผ่านไปสามวันครึ่งพลังชีวิตจากพระเจ้าก็เข้าสู่ตัวเขาทั้งสอง ทั้งสองจึงลุกขึ้นยืน คนเหล่านั้นที่เห็นพวกเขาต่างก็กลัวมาก. แล้วเขาทั้งสองก็ได้ยินเสียงอันดังจากสวรรค์ตรัสกับพวกเขาว่า ‘ขึ้นมาบนนี้เถิด.’ ทั้งสองจึงขึ้นไปในเมฆและเข้าไปในสวรรค์ เหล่าศัตรูก็เห็นพวกเขา.” (วิวรณ์ 11:11, 12, ล.ม.) ดังนั้น พวกเขามีประสบการณ์คล้ายกันกับกองกระดูกแห้งในหุบเขาซึ่งยะเอศเคลไปเห็นมาในนิมิต. พระยะโฮวาทรงเป่าลมหายใจเข้าไปในกระดูกแห้งเหล่านั้น แล้วกระดูกเหล่านั้นก็กลับมีชีวิต ซึ่งให้ภาพการฟื้นตัวขึ้นใหม่ของชาติอิสราเอลภายหลังการเป็นเชลยในบาบิโลน 70 ปี. (ยะเอศเคล 37:1-14) คำพยากรณ์สองเรื่อง คือที่พระธรรมยะเอศเคลและวิวรณ์ ได้สำเร็จเป็นจริงในปัจจุบันอย่างน่าตื่นเต้นในปี 1919 เมื่อพระยะโฮวาทรงชุบพยาน “ที่ตายแล้ว” ของพระองค์ให้มีชีวิตที่กระชุ่มกระชวยอีก.
24. เมื่อพยานทั้งสองกลับมีชีวิตอีก มีผลกระทบอย่างไรแก่พวกผู้กดขี่ข่มเหงทางศาสนา?
24 เหล่าผู้กดขี่ข่มเหงตื่นตระหนกกันมาก! ศพของพยานทั้งสองคืนชีพและเคลื่อนไหวอีกครั้งในทันทีทันใด. นั่นเป็นเรื่องร้ายสำหรับนักเทศน์นักบวช ซ้ำร้ายกว่านั้นเมื่อคริสเตียนที่รับใช้พระเจ้าซึ่งพวกเขาเคยใช้แผนชั่วเพื่อให้ถูกจำคุกนั้นได้รับการปล่อยตัว และในเวลาต่อมามีการประกาศว่าไม่มีโทษทุกข้อหา. ความตระหนกคงยิ่งหนักเข้าไปอีกเมื่อเดือนกันยายน ปี 1919 นักศึกษาพระคัมภีร์จัดการประชุมใหญ่ขึ้นที่ซีดาร์ พอยต์ รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา. ที่นี่เอง เจ. เอฟ. รัทเทอร์ฟอร์ด ที่เพิ่งรับการปล่อยตัวจากคุกไม่นานได้ปลุกใจผู้เข้าร่วมประชุมด้วยคำบรรยาย “การประกาศเรื่องราชอาณาจักร” ซึ่งอาศัยพระธรรมวิวรณ์ 15:2 และยะซายา 52:7 เป็นหลัก. ชนจำพวกโยฮันเริ่มต้น “พยากรณ์” หรือประกาศอย่างเปิดเผยอีกครั้งหนึ่ง. พวกเขาก้าวต่อไปด้วยพลังอันเข้มแข็งยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ เปิดโปงความหน้าซื่อใจคดของคริสต์ศาสนจักร อย่างไม่พรั่นพรึง.
25. (ก) เมื่อไรที่พยานทั้งสองได้รับการบอกว่า “ขึ้นมาบนนี้เถิด” และสิ่งนั้นเกิดขึ้นอย่างไร? (ข) ผลกระทบอันน่าตื่นตะลึงอะไรที่การคืนชีพของพยานทั้งสองมีต่อเมืองใหญ่นั้น?
25 คริสต์ศาสนจักรพยายามครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อให้ได้ชัยชนะอย่างในปี 1918. คริสต์ศาสนจักรใช้ฝูงชนก่อเหตุวุ่นวาย, พลิกแพลงทางกฎหมาย, การจำคุก, กระทั่งการสังหารเสียด้วยซ้ำ—ทุกวิธีต่างไร้ประโยชน์! หลังจากปี 1919 ขอบเขตฝ่ายวิญญาณของพยานทั้งสองนั้นอยู่ไกลเกินเอื้อม. ในปีนั้นพระยะโฮวาตรัสแก่เขาว่า “ขึ้นมาบนนี้เถิด” และเขาขึ้นไปสู่สถานภาพฝ่ายวิญญาณที่ถูกยกระดับซึ่งถึงแม้ศัตรูมองเห็นเขาได้แต่ก็ไม่อาจแตะต้องได้. โยฮันพรรณนาผลกระทบที่การฟื้นฟูของพวกเขาทำให้เมืองใหญ่ตื่นตระหนกดังนี้ “ในเวลานั้นเองก็เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ หนึ่งในสิบของเมืองนั้นพังทลาย มีคนตายเนื่องจากแผ่นดินไหวนั้นเจ็ดพันคน ส่วนคนอื่น ๆ หวาดกลัวและยกย่องพระเจ้าแห่งสวรรค์.” (วิวรณ์ 11:13, ล.ม.) เกิดการสั่นสะเทือนครั้งใหญ่อย่างแท้จริงภายในศาสนจักร. ดูเหมือนพื้นดินภายใต้ผู้นำศาสนาประจำชาติได้เคลื่อนไหว ขณะที่คณะบุคคลของกลุ่มคริสเตียนที่มีชีวิตขึ้นใหม่เริ่มงาน. หนึ่งในสิบของเมืองนี้ เทียบจำนวนได้ 7,000 คน ได้รับผลกระทบอย่างลึกซึ้งจนมีการกล่าวถึงพวกเขาว่าถูกฆ่าตาย.
26. ใครที่มีภาพเล็งถึงโดย “หนึ่งในสิบของเมืองนั้น” และ “เจ็ดพันคน” ในวิวรณ์ 11:13? จงอธิบาย.
26 คำพูดที่ว่า “หนึ่งในสิบของเมืองนั้น” ทำให้เรานึกถึงสิ่งที่ยะซายาได้พยากรณ์เกี่ยวด้วยเยรูซาเลมโบราณว่ามีหนึ่งในสิบจะรอดพ้นการทำลายล้างกรุงนั้นฐานะเป็นเผ่าพันธุ์อันบริสุทธิ์. (ยะซายา 6:13) ในทำนองเดียวกัน ตัวเลข 7,000 ทำให้เรานึกถึงตอนที่เอลียารู้สึกว่า ท่านเป็นคนเดียวที่รักษาความซื่อสัตย์ในแผ่นดินอิสราเอล พระยะโฮวาตรัสแก่ท่านว่า ที่จริง ยังมีอีก 7,000 คนที่ไม่ได้คุกเข่าให้รูปพระบาละ. (1 กษัตริย์ 19:14, 18) ในศตวรรษแรก อัครสาวกเปาโลบอกว่า จำนวน 7,000 นี้เล็งถึงชนชาวยิวที่เหลืออยู่ซึ่งได้ตอบรับข่าวดีเกี่ยวด้วยพระคริสต์. (โรม 11:1-5) ข้อคัมภีร์เหล่านี้ช่วยเราเข้าใจว่า “เจ็ดพันคน” และ “หนึ่งในสิบของเมืองนั้น” ในพระธรรมวิวรณ์ 11:13 ได้แก่คนเหล่านั้นที่ตอบรับการกลับมีชีวิตอีกของพยานทั้งสองและได้หนีออกมาจากเมืองใหญ่ที่เต็มไปด้วยบาป. กล่าวได้ว่า พวกเขาตายไปแล้วสำหรับคริสต์ศาสนจักร. ชื่อของเขาถูกตัดออกจากการเป็นสมาชิกภาพของคริสต์ศาสนจักร. พวกเขาไม่มีชีวิตอยู่อีกต่อไปสำหรับคริสต์ศาสนจักร.d
27, 28. (ก) ‘คนอื่น ๆ ยกย่องพระเจ้าแห่งสวรรค์’ โดยวิธีใด? (ข) พวกนักเทศน์นักบวชแห่งคริสต์ศาสนจักรถูกบังคับให้ต้องยอมรับอะไร?
27 แต่โดยวิธีใดที่ ‘คนอื่น ๆ [แห่งคริสต์ศาสนจักร] ยกย่องพระเจ้าแห่งสวรรค์’? แน่นอน ไม่ใช่โดยการละทิ้งศาสนาที่ออกหากแล้วเข้ามาเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า. แต่เป็นอย่างคำอธิบายในหนังสือของวินเซนต์ชื่อการศึกษาศัพท์ในคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ [ภาษาอังกฤษ] เมื่อพิจารณาถ้อยคำที่ว่า “ยกย่องพระเจ้าแห่งสวรรค์.” ที่นั่นมีกล่าวอย่างนี้: “วลีตอนนี้ไม่ได้หมายถึงการเปลี่ยนศาสนา หรือการกลับใจ หรือการขอบพระคุณ แต่เป็นการยอมรับ ซึ่งเป็นความหมายตามปกติของวลีนี้ในพระคัมภีร์. เทียบกับยะโฮซูอะบท 7 ข้อ 19 (ฉบับเซปตัวจินต์); โยฮันบท 9:24; กิจการ 12:23; โรม 4:20.” คริสต์ศาสนจักรต้องยอมรับด้วยความแค้นใจว่าพระเจ้าของนักศึกษาพระคัมภีร์ทรงทำราชกิจอันยิ่งใหญ่ด้วยการนำพวกเขากลับเข้าสู่กิจกรรมคริสเตียน.
28 อาจเป็นได้ว่า พวกนักเทศน์นักบวชยอมรับเช่นนั้นอยู่ในใจ หรือกับตัวเองเท่านั้น. ที่แน่ ๆ คือไม่มีใครในพวกเขาแสดงการยอมรับพระเจ้าของพยานทั้งสองอย่างเปิดเผย. แต่คำพยากรณ์ของพระยะโฮวาที่ตรัสผ่านโยฮันช่วยเราให้เข้าใจสิ่งที่อยู่ในใจของพวกเขาและตระหนักถึงความตื่นตระหนกที่น่าขายหน้าซึ่งคนเหล่านั้นประสบในปี 1919. ตั้งแต่ปีนั้นเป็นต้นมา ขณะ “เจ็ดพันคน” ได้ผละจากคริสต์ศาสนจักรทั้ง ๆ ที่คริสต์ศาสนจักรได้พยายามจะยึดฝูงแกะไว้ นักเทศน์นักบวชต้องจำใจยอมรับว่า พระเจ้าของชนจำพวกโยฮันนั้นมีฤทธิ์มากกว่าพระของตน. ในปีหลัง ๆ นี้ พวกเขาจะยิ่งตระหนักชัดแจ้งยิ่งขึ้นเมื่อแกะอีกมากมายในฝูงของเขาจะจากไป เป็นการสะท้อนคำพูดของฝูงชนในคราวที่เอลียาได้ชัยชนะนักศาสนาที่กราบไหว้พระบาละ ณ ภูเขาคารเม็ลที่ว่า “พระยะโฮวาทรงเป็นพระเจ้าเที่ยงแท้! พระยะโฮวาทรงเป็นพระเจ้าเที่ยงแท้!”—1 กษัตริย์ 18:39, ล.ม.
29. อะไรที่โยฮันกล่าวซึ่งกำลังมาอย่างรวดเร็ว และการเขย่าอะไรอีกที่รอคอยคริสต์ศาสนจักรอยู่?
29 แต่ฟังซิ! โยฮันบอกพวกเราดังนี้: “วิบัติที่สองผ่านไปแล้ว. วิบัติที่สามจะมาโดยเร็ว.” (วิวรณ์ 11:14, ล.ม.) ถ้าคริสต์ศาสนจักรถูกเขย่าจากสิ่งที่เกิดขึ้นจนถึงบัดนี้ คริสต์ศาสนจักรจะทำประการใดเมื่อมีการประกาศวิบัติที่สาม, ทูตสวรรค์องค์ที่เจ็ดเป่าแตร, และความลับอันศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าสำเร็จในที่สุด?—วิวรณ์ 10:7.
[เชิงอรรถ]
a เพื่อการพิจารณาอย่างละเอียดเรื่องวิหารฝ่ายวิญญาณอันใหญ่โตนี้ โปรดดูบทความ “มหาวิหารฝ่ายวิญญาณของพระยะโฮวา” ในวารสารหอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 กรกฎาคม 1996 และบทความ “พระวิหารอันแท้จริงซึ่งจะเป็นที่นมัสการ” ในฉบับ 15 พฤศจิกายน 1973.
b “ขุมลึก” นั้น (ภาษากรีก อะบือส์โซส; ฮีบรู เทโฮห์ม) มีความหมายเป็นนัยถึงสถานที่ซึ่งไม่มีการดำเนินกิจกรรม. (ดูวิวรณ์ 9:2.) แต่ในความหมายตามตัวอักษรแล้ว คำนี้อาจหมายถึงทะเลอันไพศาลได้ด้วย. คำนี้ในภาษาฮีบรูมักมีการแปลว่า “น้ำอันลึก.” (บทเพลงสรรเสริญ 71:20; 106:9; โยนา 2:5) ดังนั้น “สัตว์ร้ายที่ขึ้นมาจากขุมลึก” จึงอาจระบุได้ว่าเป็น “สัตว์ร้ายตัวหนึ่งขึ้นมาจากทะเล.”—วิวรณ์ 11:7, ล.ม.; 13:1.
c ขอให้สังเกตว่า ในการตรวจสอบประสบการณ์ต่าง ๆ ของประชาชนของพระเจ้าในสมัยนี้ ปรากฏว่า ขณะที่ระยะ 42 เดือนนั้นหมายถึงเวลาสามปีครึ่งจริง ๆ แต่เวลาสามวันครึ่งนั้นไม่ได้หมายถึงช่วงเวลา 84 ชั่วโมงจริง ๆ. อาจเป็นได้ที่ระยะเวลาสามวันครึ่งมีการกล่าวถึงสองครั้ง (ในข้อ 9 และข้อ 11) เพื่อเน้นว่า นั่นคงจะเป็นช่วงเวลาเพียงสั้น ๆ เมื่อเทียบกับเวลาสามปีครึ่งจริง ๆ แห่งกิจการงานซึ่งมีอยู่ก่อนหน้า.
d โปรดเทียบการใช้คำ “ตาย,” “ได้ตาย,” และ “มีชีวิตอยู่” ในข้อคัมภีร์ต่าง ๆ ดังเช่น โรม 6:2, 10, 11; 7:4, 6, 9; ฆะลาเตีย 2:19; โกโลซาย 2:20; 3:3.
[กรอบหน้า 168]
ความยินดีแห่งวิวรณ์ 11:10
ในหนังสือของเขาชื่อนักเทศน์เสนออาวุธ ซึ่งพิมพ์ในปี 1933 เรย์ เอช. อับรามส์อ้างถึงการต่อต้านอย่างเผ็ดร้อนต่อหนังสือของกลุ่มนักศึกษาพระคัมภีร์ที่ชื่อความลึกลับที่สำเร็จแล้ว (ภาษาอังกฤษ). เขาวิจารณ์ถึงความพยายามของพวกนักเทศน์นักบวชที่จะกำจัดพวกนักศึกษาพระคัมภีร์และ “การพูดโน้มน้าวจูงใจ” ของพวกเขา. การนี้นำไปสู่การฟ้องร้องคดีในศาลซึ่งยังผลให้มีการตัดสินจำคุก เจ. เอฟ. รัทเทอร์ฟอร์ดกับเพื่อนร่วมงานของเขาอีกเจ็ดคนนานหลายปี. ดร. อับรามส์กล่าวว่า “การวิเคราะห์คดีความทั้งหมดนำไปสู่การลงความเห็นว่า คริสตจักรและพวกนักเทศน์นักบวชนั้นอยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวให้มีการกำจัดพวกที่เชื่อถือรัสเซลล์นั้นตั้งแต่แรก. ในแคนาดา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 1918 พวกนักเทศน์ได้เริ่มดำเนินแผนการรณรงค์ต่อต้านพวกเขาและสิ่งพิมพ์ของเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังสือความลึกลับที่สำเร็จแล้ว. ตามที่กล่าวในหนังสือพิมพ์วินนิเปก ทรีบูน . . . เชื่อกันว่าการสั่งห้ามหนังสือของพวกเขานั้นได้มีการก่อขึ้นโดยตรงจาก ‘การขอร้องของพวกนักเทศน์นักบวช.’”
ดร. อับรามส์กล่าวต่อไปว่า “เมื่อข่าวการพิพากษาให้ลงโทษจำคุกยี่สิบปีนั้นไปถึงเหล่าผู้จัดทำสิ่งพิมพ์ทางศาสนาต่าง ๆ พวกเขาทุกคนไม่ว่าตำแหน่งใหญ่หรือเล็กที่จัดทำหนังสือเหล่านั้น ต่างก็รู้สึกยินดีจริง ๆ ในเหตุการณ์นั้น. ผมไม่อาจค้นหาถ้อยคำแห่งความเห็นอกเห็นใจได้เลยจากใครสักคนในเหล่าคนที่จัดทำวารสารของนิกายออร์โทด็อกซ์. อัปตัน ซินแคลร์ สรุปว่า ‘ไม่อาจมีข้อสงสัยได้เลยว่า การกดขี่ข่มเหง . . . ได้เกิดขึ้นจากข้อเท็จจริงส่วนหนึ่งที่ว่าพวกเขาเป็นที่จงเกลียดจงชังของคณะศาสนา “ออร์โทด็อกซ์.”’ สิ่งซึ่งความพยายามร่วมกันของคริสตจักรทำไม่สำเร็จบัดนี้ก็ดูเหมือนว่ารัฐบาลทำให้สำเร็จเพื่อพวกเขา.” หลังจากที่อ้างถึงความคิดเห็นต่าง ๆ อันเป็นที่เสื่อมเสียของหนังสือทางศาสนาหลายเล่มแล้ว ผู้เขียนได้อ้างถึงการกลับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์และวิจารณ์ว่า “คำตัดสินนี้มีการตอบรับด้วยความเงียบกริบในพวกคริสตจักร.”
[ภาพหน้า 163]
โยฮันวัดพระวิหารฝ่ายวิญญาณ—มาตรฐานซึ่งปุโรหิตที่ถูกเจิมจะต้องบรรลุ
[ภาพหน้า 165]
งานบูรณะพระวิหารโดยซะรูบาเบลและยะโฮซูอะแสดงให้เห็นว่าในวันแห่งองค์พระผู้เป็นเจ้านั้นการเริ่มต้นแบบเล็กน้อยคงจะติดตามมาด้วยการเพิ่มพูนอย่างมากมายในท่ามกลางเหล่าพยานพระยะโฮวา. อาคารต่าง ๆ เช่นที่เห็นข้างบนนี้ซึ่งอยู่ที่บรุกลิน นิวยอร์ก จำเป็นต้องมีการขยายขนาดขึ้นอย่างมากเพื่อเป็นประโยชน์ในการสนองความต้องการของพวกเขา
[ภาพหน้า 166]
ข่าวสารการพิพากษาอันร้อนแรงซึ่งได้รับการประกาศโดยพยานทั้งสองนั้นมีการแสดงเป็นภาพล่วงหน้าไว้โดยการงานให้คำพยากรณ์ของโมเซและเอลียา
[ภาพหน้า 169]
เช่นเดียวกับกองกระดูกแห้งในยะเอศเคลบท 37 พยานทั้งสองถูกทำให้คืนชีพเพื่อการงานประกาศในสมัยปัจจุบัน