บท 39
กษัตริย์นักรบทรงมีชัย ณ อาร์มาเก็ดดอน
นิมิต 13—วิวรณ์ 19:11-21
เรื่อง: พระเยซูทรงนำกองทัพฝ่ายสวรรค์ทำลายล้างระบบของซาตาน
เวลาที่สำเร็จเป็นจริง: หลังจากความพินาศของบาบิโลนใหญ่
1. อาร์มาเก็ดดอนคืออะไร และมีเหตุการณ์อะไรที่นำไปสู่อาร์มาเก็ดดอน?
อาร์มาเก็ดดอน—คำที่น่าหวั่นกลัวสำหรับหลายคน! แต่สำหรับคนรักความชอบธรรม คำนี้บ่งถึงวันที่รอคอยมานานเมื่อพระยะโฮวาจะทรงลงโทษตามคำพิพากษาแก่นานาชาติอย่างเด็ดขาด. นี่ไม่ใช่สงครามของมนุษย์ แต่เป็น “สงครามในวันใหญ่ของพระเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพทุกประการ”—วันที่พระองค์จะทรงแก้แค้นผู้ปกครองทั้งหลายแห่งแผ่นดินโลก. (วิวรณ์ 16:14, 16, ล.ม.; ยะเอศเคล 25:17) ความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่จะเริ่มต้นแล้วพร้อมกับการทำให้บาบิโลนใหญ่ร้างเปล่า. ครั้นแล้ว โดยการสนับสนุนของซาตาน สัตว์ร้ายสีแดงเข้มพร้อมกับเขาสิบเขาของมันจะมุ่งโจมตีประชาชนของพระยะโฮวา. ด้วยความโกรธแค้นยิ่งกว่าก่อนต่อองค์การของพระเจ้าอันเปรียบได้กับผู้หญิงนั้น พญามารมุ่งมั่นจะใช้พรรคพวกที่มันหลอกมาให้ทำสงครามกับพงศ์พันธุ์ที่ยังเหลืออยู่ของนางจนถึงที่สุด. (วิวรณ์ 12:17) นี่เป็นโอกาสสุดท้ายของซาตาน!
2. โกกแห่งมาโกกคือใคร และพระยะโฮวาทรงทำอย่างไรเพื่อให้มันโจมตีประชาชนของพระองค์?
2 การโจมตีอย่างมีเจตนาร้ายของพญามารมีพรรณนาไว้ชัดเจนในยะเอศเคลบท 38 (ล.ม.). ที่นั่น ซาตานตัวชั่วร้ายได้สมญาว่า “โกกแห่งแผ่นดินมาโกก.” พระยะโฮวาจะใช้ขอโดยนัยเกี่ยวขากรรไกรของโกก ลากโกกพร้อมด้วยกองทัพและกำลังพลมากมายของมันให้เข้าโจมตี. พระองค์ทรงทำการนี้โดยวิธีใด? โดยทำให้โกกเห็นว่า เหล่าพยานของพระองค์เป็นผู้ที่ไม่มีการป้องกันตัว “ที่ถูกรวบรวมจากชาติทั้งหลาย . . . ซึ่งสะสมความมั่งคั่งและทรัพย์สมบัติ . . . ที่อาศัยอยู่ในใจกลางแผ่นดินโลก.” ผู้คนเหล่านี้อยู่กลางเวทีแผ่นดินโลกในฐานะเป็นชาติเดียวที่ไม่ยอมบูชาสัตว์ร้ายและรูปของมัน. ความเข้มแข็งและความมั่งคั่งฝ่ายวิญญาณของพวกเขาทำให้โกกโกรธมาก. ฉะนั้น โกกและกำลังทหารอันมากมายของมันรวมทั้งสัตว์ร้ายที่มีเขาสิบเขาซึ่งขึ้นมาจากทะเล จึงฮือเข้ามาจะฆ่าพวกเขา. อย่างไรก็ตาม ไม่เหมือนบาบิโลนใหญ่ ประชาชนที่สะอาดของพระเจ้าได้รับการคุ้มครองจากพระองค์!—ยะเอศเคล 38:1, 2, 4, 11, 12, 15, ล.ม.; วิวรณ์ 13:1.
3. พระยะโฮวาทรงจัดการกับกองกำลังทางทหารของโกกอย่างไร?
3 พระยะโฮวาทรงจัดการกับกองกำลังของโกกและฝูงชนฝ่ายโกกอย่างไร? ฟังซิ! “พระยะโฮวาเจ้าตรัสว่า, เราจะเรียกกะบี่มาต่อสู้ท่านในภูเขาทั้งหลายของเรา, กะบี่ต่อกะบี่จะต่อสู้กันทุกเล่ม.” แต่ไม่ว่าอาวุธนิวเคลียร์หรืออาวุธที่ใช้กันทั่วไป จะไร้ผลในการสู้รบนั้น เพราะพระยะโฮวาทรงประกาศว่า “เราจะตัดสินเขาด้วยโรคห่าและโลหิต, เราจะเทห่าฝนอันใหญ่และลูกเห็บโตใหญ่, ไฟ, และกำมะถัน, เหนือเขาและเหนือพลโยธาของเขา, และเหนือประเทศทั้งหลายที่อยู่กับเขา. และเราจะสำแดงตัวเราให้เป็นใหญ่, ให้เป็นที่นับถือ, และเราจะให้ประเทศทั้งหลายรู้จักเรา, และเขาทั้งหลายจะได้รู้ว่าเราคือยะโฮวา.”—ยะเอศเคล 38:21-23; 39:11; เทียบกับยะโฮซูอะ 10:8-14; วินิจฉัย 7:19-22; 2 โครนิกา 20:15, 22-24; โยบ 38:22, 23.
ผู้ที่มีพระนามว่า “ผู้ซื่อสัตย์และสัตย์จริง”
4. โยฮันพรรณนาถึงพระเยซูคริสต์ในชุดออกศึกอย่างไร?
4 พระยะโฮวาทรงเรียกกระบี่มาต่อสู้. ใครล่ะจะกวัดแกว่งกระบี่เล่มนี้? เมื่อกลับไปอ่านพระธรรมวิวรณ์ เราพบคำตอบในอีกนิมิตหนึ่งอันน่าตื่นเต้น. ฟ้าสวรรค์ได้เปิดออกต่อสายตาของโยฮันเพื่อเปิดเผยบางสิ่งที่น่าเกรงขามจริง ๆ นั่นคือ พระเยซูคริสต์เองในชุดออกศึก! โยฮันบอกพวกเราว่า “แล้วข้าพเจ้าเห็นสวรรค์เปิดออกและมีม้าขาวตัวหนึ่ง. ผู้ที่ทรงม้านั้นมีพระนามว่า ผู้ซื่อสัตย์และสัตย์จริง พระองค์ทรงพิพากษาและทำสงครามด้วยความชอบธรรม. พระเนตรของพระองค์ดุจเปลวไฟและพระองค์ทรงสวมมงกุฎหลายอัน.”—วิวรณ์ 19:11, 12ก, ล.ม.
5, 6. สิ่งเหล่านี้หมายถึงอะไร (ก) “ม้าขาว”? (ข) พระนามว่า “ซื่อสัตย์และสัตย์จริง”? (ค) พระเนตรประดุจ “เปลวไฟ”? (ง) “มงกุฎหลายอัน”?
5 ดังในนิมิตก่อนที่กล่าวถึงผู้ขี่ม้าทั้งสี่ “ม้าขาว” นี้เป็นสัญลักษณ์ที่เหมาะสมของการทำสงครามอันชอบธรรม. (วิวรณ์ 6:2) และในเหล่าบุตรของพระเจ้าจะมีใครล่ะที่ชอบธรรมยิ่งกว่านักรบที่เก่งกล้าองค์นี้? เมื่อถูกเรียกว่า “ผู้ซื่อสัตย์และสัตย์จริง” นักรบผู้นี้จึงต้องเป็นพระเยซูคริสต์ “พยานที่ซื่อสัตย์และสัตย์จริง.” (วิวรณ์ 3:14, ล.ม.) พระองค์ทำสงครามเพื่อลงโทษตามการพิพากษาอันชอบธรรมของพระยะโฮวา. ดังนั้น พระองค์ทรงปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้พิพากษาที่พระยะโฮวาทรงแต่งตั้ง เป็น “พระเจ้าทรงอานุภาพ.” (ยะซายา 9:6) พระเนตรของพระองค์ดุจ “เปลวไฟ” น่าเกรงขาม คอยท่าที่จะทำลายเหล่าศัตรูของพระองค์อย่างรุนแรง.
6 ที่พระเศียรของกษัตริย์นักรบองค์นี้มีมงกุฎหลายอัน. สัตว์ร้ายตัวที่โยฮันเห็นขึ้นมาจากทะเลนั้นมีมงกุฎสิบอัน ซึ่งเป็นภาพเล็งถึงการปกครองของมันทางแผ่นดินโลกชั่วระยะหนึ่ง. (วิวรณ์ 13:1) กระนั้น พระเยซูก็มี “มงกุฎหลายอัน.” การปกครองอันรุ่งเรืองของพระองค์หาที่เปรียบไม่ได้ เนื่องจากพระองค์ทรงเป็น “จอมกษัตริย์แห่งชนเหล่านั้นผู้ซึ่งปกครองเป็นกษัตริย์ และองค์พระผู้เป็นเจ้าแห่งชนที่ปกครองเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า.”—1 ติโมเธียว 6:15, ล.ม.
7. พระนามที่เขียนไว้ซึ่งพระเยซูทรงมีนั้นคืออะไร?
7 โยฮันพรรณนาต่อไปดังนี้: “พระองค์ทรงมีพระนามเขียนไว้ซึ่งไม่มีใครรู้จักนอกจากพระองค์เอง.” (วิวรณ์ 19:12ข, ล.ม.) คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงพระบุตรของพระเจ้ามาแล้วโดยใช้ชื่อต่าง ๆ เช่น พระเยซู, อิมมานุเอล, และมิคาเอล. แต่ “พระนาม” ซึ่งไม่ระบุนี้ดูเหมือนหมายถึงตำแหน่งและอภิสิทธิ์ที่พระเยซูมีในช่วงวันขององค์พระผู้เป็นเจ้า. (เทียบกับวิวรณ์ 2:17.) ในการพูดถึงพระเยซูตั้งแต่ปี 1914 ยะซายากล่าวว่า “เขาจะขนานนามของท่านว่า, ที่ปรึกษามหัศจรรย์, พระเจ้าทรงอานุภาพ, พระบิดาองค์ถาวร, และองค์สันติราช.” (ยะซายา 9:6) อัครสาวกเปาโลผนวกพระนามของพระเยซูเข้ากับอภิสิทธิ์อันสูงส่งของพระองค์เกี่ยวด้วยงานรับใช้เมื่อท่านเขียนดังนี้: “พระเจ้าจึงได้ทรงยก [พระเยซู] ขึ้นให้ดำรงตำแหน่งสูง และทรงโปรดประทานพระนามซึ่งเหนือนามอื่นทั้งหมดให้แก่พระองค์ เพื่อทุกหัวเข่า . . . จะได้กราบลงในพระนามของพระเยซู.”—ฟิลิปปอย 2:9, 10, ล.ม.
8. เพราะเหตุใดจึงมีเพียงพระเยซูเท่านั้นที่ทรงสามารถรู้จักนามที่เขียนไว้ และพระองค์ทรงให้ผู้ใดมีส่วนร่วมในสิทธิพิเศษอันสูงส่งของพระองค์?
8 อภิสิทธิ์ของพระเยซูนั้นเป็นเลิศ. นอกจากพระยะโฮวาแล้ว มีแต่พระเยซูเท่านั้นทรงสามารถเข้าใจความหมายของการได้รับตำแหน่งสูงส่งเช่นนั้น. (เทียบกับมัดธาย 11:27.) ฉะนั้น ในสรรพสิ่งซึ่งพระเจ้าทรงสร้างขึ้น เฉพาะพระเยซูเท่านั้นที่ทรงหยั่งรู้พระนามนี้อย่างเต็มเปี่ยม. กระนั้นก็ดี พระเยซูทรงรวมเจ้าสาวของพระองค์ไว้ด้วยในสิทธิพิเศษเหล่านี้บางประการ. ดังนั้น พระองค์ทรงทำสัญญานี้: “ผู้ที่มีชัย . . . บนตัวเขา . . . จะเขียนชื่อใหม่ของเราไว้.”—วิวรณ์ 3:12, ล.ม.
9. สิ่งเหล่านี้บ่งชี้ถึงอะไร (ก) การที่พระเยซู “ทรงฉลองพระองค์ที่พรมด้วยเลือด”? (ข) การที่พระเยซูถูกเรียกว่า “พระวาทะของพระเจ้า”?
9 โยฮันกล่าวเพิ่มดังนี้: “พระองค์ทรงฉลองพระองค์ที่พรมด้วยเลือด และพระองค์ทรงพระนามว่าพระวาทะของพระเจ้า.” (วิวรณ์ 19:13, ล.ม.) นั่นเป็น “เลือด” ของใคร? อาจเป็นเลือดอันประกอบด้วยชีวิตของพระเยซูก็ได้ ซึ่งได้หลั่งออกมาเพื่อเห็นแก่มนุษยชาติ. (วิวรณ์ 1:5) แต่ในท้องเรื่องนี้ เลือดนั้นดูเหมือนพาดพิงถึงเลือดของพวกศัตรูซึ่งหลั่งออกในคราวที่พวกเขาถูกลงโทษตามคำพิพากษาของพระยะโฮวา. ข้อนี้ทำให้เรานึกถึงนิมิตก่อนหน้าเกี่ยวกับเถาองุ่นบนแผ่นดินโลกที่ถูกเกี่ยวและถูกย่ำในบ่อย่ำองุ่นบ่อใหญ่แห่งพระพิโรธของพระเจ้าจนกระทั่งเลือดไหลนอง “สูงถึงบังเหียนม้า” ซึ่งหมายถึงการมีชัยครั้งยิ่งใหญ่เหนือเหล่าศัตรูของพระเจ้า. (วิวรณ์ 14:18-20, ล.ม.) ทำนองเดียวกัน เลือดซึ่งพรมบนฉลองพระองค์ของพระเยซูยืนยันว่า พระองค์มีชัยโดยเด็ดขาดและครบถ้วน. (เทียบกับยะซายา 63:1-6.) บัดนี้ โยฮันกล่าวอีกครั้งถึงการที่พระเยซูถูกเรียกโดยพระนามหนึ่ง. ครั้งนี้พระนามนั้นเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง คือ “พระวาทะของพระเจ้า” ซึ่งระบุตัวกษัตริย์นักรบองค์นี้ว่าเป็นโฆษกสำคัญของพระยะโฮวาและเป็นผู้สนับสนุนความจริง.—โยฮัน 1:1; วิวรณ์ 1:1.
เพื่อนนักรบของพระเยซู
10, 11. (ก) โยฮันแสดงให้เห็นอย่างไรว่า พระเยซูไม่ได้สู้รบเพียงลำพัง? (ข) ข้อเท็จจริงที่ว่า ม้าเหล่านั้นเป็นม้าขาวและที่ว่า ผู้ขี่ม้านุ่งห่ม “ผ้าลินินเนื้อดีสีขาวที่สะอาด” แสดงถึงอะไร? (ค) ใครบ้างประกอบเป็น “กองทัพ” ภาคสวรรค์?
10 พระเยซูไม่ได้สู้รบในสงครามครั้งนี้เพียงลำพัง. โยฮันบอกเราว่า “กองทัพในสวรรค์ก็ขี่ม้าขาวตามพระองค์ไป และพวกเขาสวมผ้าลินินเนื้อดีสีขาวที่สะอาด.” (วิวรณ์ 19:14, ล.ม.) ความจริงที่ว่าม้าเหล่านั้นเป็น “ม้าขาว” แสดงถึงการสงครามที่ชอบธรรม. “ผ้าลินินเนื้อดี” เหมาะสมกับทหารม้าของมหากษัตริย์ และความขาวสะอาดแวววาวของผ้าลินินแสดงถึงฐานะบริสุทธิ์ ชอบธรรมเฉพาะพระพักตร์พระยะโฮวา. ถ้าเช่นนั้น “กองทัพ” เหล่านี้ประกอบด้วยใครบ้าง? ไม่ต้องสงสัย เหล่าทูตสวรรค์บริสุทธิ์รวมอยู่ในกองทัพเหล่านี้. ในตอนเริ่มต้นวันขององค์พระผู้เป็นเจ้านั้นเองที่มิคาเอลกับเหล่าทูตสวรรค์ฝ่ายพระองค์ได้เหวี่ยงซาตานกับผีปิศาจบริวารของมันออกจากสวรรค์. (วิวรณ์ 12:7-9) ยิ่งกว่านั้น “หมู่ทูตสวรรค์ทั้งสิ้น” จะคอยปรนนิบัติพระเยซูขณะพระองค์ประทับบนราชบัลลังก์อันรุ่งโรจน์ของพระองค์ และทรงดำเนินงานพิพากษานานาประเทศและผู้คนแห่งแผ่นดินโลก. (มัดธาย 25:31, 32, ล.ม.) แน่นอน ในสงครามขั้นเด็ดขาดนั้น เมื่อมีการลงโทษตามคำพิพากษาของพระเจ้าจนถึงที่สุดแล้ว พระเยซูจะทรงมีเหล่าทูตสวรรค์ไปพร้อมกับพระองค์อีก.
11 จะมีพวกอื่นเกี่ยวข้องอยู่ด้วย. เมื่อส่งข่าวสารของพระองค์ไปยังประชาคมทิอาทิรา พระเยซูทรงสัญญาว่า “เราจะให้ผู้ที่มีชัยและทำตามอย่างเราจนถึงที่สุดมีอำนาจเหนือชาติต่าง ๆ อย่างที่เราได้รับอำนาจจากพระบิดาของเรา และเขาจะปกครองประชาชนด้วยคทาเหล็กเพื่อทำให้พวกเขาแตกเป็นเสี่ยง ๆ ดุจภาชนะดินเหนียว.” (วิวรณ์ 2:26, 27, ล.ม.) ไม่ต้องสงสัย เมื่อเวลานั้นมาถึง เหล่าพี่น้องของพระคริสต์ซึ่งอยู่ในสวรรค์แล้วจะมีส่วนในการปกครองประชาชนและชาติต่าง ๆ ด้วยคทาเหล็กนั้นอย่างแน่นอน.
12. (ก) เหล่าผู้รับใช้ของพระเจ้าบนแผ่นดินโลกจะเข้าร่วมในการสู้รบ ณ อาร์มาเก็ดดอนไหม? (ข) ประชาชนของพระยะโฮวาบนแผ่นดินโลกมีส่วนเกี่ยวข้องในอาร์มาเก็ดดอนอย่างไร?
12 แต่จะว่าอย่างไรกับผู้รับใช้ของพระเจ้าที่อยู่บนแผ่นดินโลก? ชนจำพวกโยฮันจะไม่เข้าร่วมในการสู้รบ ณ อาร์มาเก็ดดอน และสหายที่ภักดีของพวกเขา อันได้แก่ผู้คนจากทุกชาติซึ่งหลั่งไหลไปยังราชนิเวศฝ่ายวิญญาณสำหรับการนมัสการพระยะโฮวาก็ไม่เข้าร่วมเช่นกัน. คนรักสันติเหล่านี้ได้ตีดาบเป็นผาลไถนาแล้ว. (ยะซายา 2:2-4) กระนั้น พวกเขามีส่วนเกี่ยวข้องอยู่มาก! ดังที่เราสังเกตเห็นแล้ว ประชาชนของพระยะโฮวาซึ่งดูเหมือนไม่มีอะไรป้องกันตัวนี้แหละที่ถูกโกกกับพรรคพวกของมันโจมตีอย่างชั่วร้าย. นี่เป็นสัญญาณบอกกษัตริย์นักรบของพระยะโฮวาซึ่งมีเหล่ากองทัพในสวรรค์ให้การสนับสนุนอยู่ให้เริ่มทำสงครามทำลายล้างชาติต่าง ๆ เหล่านั้น. (ยะเอศเคล 39:6, 7, 11; เทียบกับดานิเอล 11:44–12:1.) ในฐานะผู้เฝ้าดู ประชาชนของพระเจ้าบนแผ่นดินโลกจะสนใจอย่างยิ่ง. อาร์มาเก็ดดอนจะหมายถึงความรอดของพวกเขา และพวกเขาจะมีชีวิตยั่งยืนตลอดไปในฐานะสักขีพยานแห่งสงครามใหญ่เพื่อพิสูจน์ว่าพระยะโฮวาเป็นฝ่ายถูก.
13. เราทราบอย่างไรว่า พยานพระยะโฮวาไม่ต่อต้านการปกครองทั้งสิ้น?
13 ทั้งนี้หมายความว่า พยานพระยะโฮวาต่อต้านการปกครองทั้งสิ้นหรือ? เปล่าเลย! พวกเขาเชื่อฟังคำแนะนำของอัครสาวกเปาโลที่ว่า “จงให้ทุกคนยอมอยู่ใต้อำนาจที่สูงกว่า.” พวกเขาตระหนักดีว่า ตราบใดที่ยังมีระบบปัจจุบัน “อำนาจที่สูงกว่า” เหล่านั้นก็ย่อมมีอยู่เนื่องจากพระเจ้าทรงอนุญาตเพื่อรักษาความเป็นระเบียบในสังคมมนุษย์. ดังนั้น เหล่าพยานพระยะโฮวาจึงเสียภาษี, เชื่อฟังกฎหมาย, เคารพกฎจราจร, ทำตามในเรื่องการจดทะเบียน, และอื่น ๆ. (โรม 13:1, 6, 7, ล.ม.) ยิ่งกว่านั้น พวกเขาปฏิบัติตามหลักการในคัมภีร์ไบเบิลด้วยการเป็นคนพูดแต่ความจริงและซื่อสัตย์, แสดงความรักต่อเพื่อนมนุษย์, สร้างหน่วยครอบครัวให้เข้มแข็งด้านศีลธรรม, และฝึกอบรมบุตรของตนเป็นพลเมืองที่เป็นแบบอย่างอันดี. ด้วยวิธีนี้ พวกเขาให้คืนไม่เพียง ‘ของของกายะซาแก่กายะซา แต่ของของพระเจ้าแด่พระเจ้า.’ (ลูกา 20:25; 1 เปโตร 2:13-17) เนื่องจากพระคำของพระเจ้าแสดงว่า อำนาจการปกครองของโลกนี้เป็นอำนาจชั่วคราว พยานพระยะโฮวาในขณะนี้เตรียมตัวสำหรับชีวิตที่สมบูรณ์กว่านี้ ชีวิตแท้ซึ่งอีกไม่นานพวกเขาจะได้รับภายใต้การปกครองแห่งราชอาณาจักรของพระคริสต์. (1 ติโมเธียว 6:17-19, ล.ม.) แม้พวกเขาจะไม่มีส่วนล้มล้างอำนาจต่าง ๆ ของโลกนี้ แต่เหล่าพยานฯมีความเคารพยำเกรงต่อสิ่งต่าง ๆ ที่คัมภีร์ไบเบิล พระคำซึ่งมีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้า กล่าวเกี่ยวกับการลงโทษที่พระยะโฮวาจวนจะดำเนินการตามคำพิพากษาอยู่แล้ว ณ อาร์มาเก็ดดอน.—ยะซายา 26:20, 21; เฮ็บราย 12:28, 29.
สู่การสู้รบครั้งสุดท้าย!
14. “ดาบยาวคมกริบ” ที่ออกมาจากพระโอษฐ์ของพระเยซูเป็นสัญลักษณ์ถึงสิ่งใด?
14 พระเยซูทรงทำให้ชัยชนะของพระองค์ครบถ้วนโดยอำนาจอะไร? โยฮันแจ้งให้เราทราบดังนี้: “มีดาบยาวคมกริบออกมาจากพระโอษฐ์ของพระองค์ พระองค์จะทรงใช้ดาบนั้นฟันนานาชาติ และพระองค์จะทรงปกครองพวกเขาด้วยคทาเหล็ก.” (วิวรณ์ 19:15ก, ล.ม.) “ดาบยาวคมกริบ” นั้นหมายถึงอำนาจที่พระเจ้าทรงมอบให้พระเยซูใช้สำเร็จโทษบรรดาผู้ที่ไม่ยอมสนับสนุนราชอาณาจักรของพระเจ้า. (วิวรณ์ 1:16; 2:16) การใช้สัญลักษณ์ที่ชัดเจนเช่นนี้เทียบได้กับคำกล่าวของยะซายาที่ว่า “พระองค์ [พระยะโฮวา] ได้ทรงสร้างปากของข้าพเจ้าให้พูดฉะฉานดังดาบ; พระองค์ได้เอาข้าพเจ้าซ่อนไว้ในร่มเงาแห่งพระหัตถ์ของพระองค์, พระองค์ได้ทรงขัดเกลาข้าพเจ้าเหมือนดังลูกศรมันขึ้นเงา.” (ยะซายา 49:2) ในข้อนี้ยะซายาเล็งถึงพระเยซู ผู้ประกาศการพิพากษาของพระเจ้าและลงโทษตามการพิพากษานั้น เหมือนกับลูกศรที่ไม่พลาดเป้า.
15. เมื่อถึงเวลานั้น ใครได้ถูกเปิดโปงและพิพากษาไปแล้วเพื่อจะแสดงถึงการเริ่มต้นของสิ่งใด?
15 เมื่อถึงเวลานั้น พระเยซูก็จะทรงดำเนินการให้สำเร็จเป็นจริงไปแล้วตามถ้อยคำของเปาโลที่ว่า “ตอนนั้นทีเดียว คนละเลยกฎหมายจะถูกเปิดโปง ผู้ซึ่งพระเยซูเจ้าจะทรงกำจัดเสียด้วยลมจากพระโอษฐ์ของพระองค์และจะทรงผลาญให้สิ้นสูญไปโดยการสำแดงการประทับของพระองค์.” ใช่แล้ว การประทับของพระเยซู (ภาษากรีก พารูเซีย) มีการแสดงให้เห็นแล้วตั้งแต่ปี 1914 เป็นต้นมา โดยการเปิดโปงและการพิพากษาคนละเลยกฎหมาย ได้แก่นักเทศน์นักบวชแห่งคริสต์ศาสนจักร. การประทับนั้นจะมีการแสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดเมื่อเขาทั้งสิบของสัตว์ร้ายสีแดงเข้มทำการลงโทษตามคำพิพากษานั้นและทำลายคริสต์ศาสนจักร พร้อมด้วยส่วนที่เหลือของบาบิโลนใหญ่. (2 เธซะโลนิเก 2:1-3, 8, ล.ม.) นั่นจะเป็นการเริ่มต้นความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่! หลังจากนั้น พระเยซูจะทรงมุ่งไปที่ส่วนที่เหลือแห่งองค์การของซาตาน ตรงกันกับคำพยากรณ์ที่ว่า “ท่านต้องตีแผ่นดินโลกด้วยไม้เรียวแห่งปากของท่าน; และท่านจะสังหารคนชั่วด้วยวิญญาณแห่งริมฝีปากของท่าน.”—ยะซายา 11:4, ล.ม.
16. บทเพลงสรรเสริญและยิระมะยาพรรณนาบทบาทของกษัตริย์นักรบที่พระยะโฮวาทรงแต่งตั้งนั้นอย่างไร?
16 กษัตริย์นักรบ ในฐานะผู้ที่พระยะโฮวาทรงแต่งตั้ง จะทรงทำการแยกระหว่างคนที่จะได้ชีวิตรอดและคนที่จะตาย. โดยคำกล่าวเชิงพยากรณ์ถึงพระบุตรของพระเจ้านี้ พระยะโฮวาตรัสว่า “ท่านจะตีพวกเขา [พวกผู้ปกครองแผ่นดินโลก] ให้แตกด้วยคทาเหล็ก ท่านจะฟาดเขาให้แหลกดุจภาชนะของช่างหม้อ.” และยิระมะยาได้กล่าวต่อพวกผู้นำรัฐบาลที่ทุจริตเหล่านั้นและลูกน้องของเขาว่า “พวกเลี้ยงแกะเอ๋ย, จงร้องไห้ร้องห่มแลออกเสียงดัง, แลเจ้าทั้งหลายที่ใหญ่ในฝูงสัตว์นั้น, จงกลิ้งเกลือก, เพราะวันคืนทั้งหลายสำหรับฆ่าพวกเจ้า, แลสำหรับให้พวกเจ้ากระจัดกระจายไปนั้นถึงกำหนดแล้ว; แลพวกเจ้าจะต้องล้มลงเหมือนอย่างภาชนะอันงามนั้น” แม้พวกผู้ปกครองเหล่านั้นอาจดูงามสำหรับโลกชั่วนี้ แต่คทาเหล็กของพระมหากษัตริย์จะฟาดพวกเขาจนแตกกระจายในครั้งเดียว ราวกับการตีภาชนะอันงามให้แหลกไป. จะเป็นดังที่ดาวิดได้พยากรณ์ถึงพระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าดังนี้: “พระยะโฮวาจะทรงส่งไม้ธารพระกรแห่งอำนาจของท่านออกจากเมืองซีโอนโดยตรัสว่า ‘จงออกไปปราบปรามท่ามกลางศัตรูของเจ้า.’ พระยะโฮวาเองที่เบื้องขวาพระหัตถ์ของท่าน จะทรงฟาดฟันกษัตริย์ทั้งหลายให้ย่อยยับในวันพิโรธของพระองค์. พระองค์จะทรงสำเร็จโทษชนประเทศต่าง ๆ; พระองค์ให้ซากศพเกลื่อนกล่นอยู่ทั่วไป.”—บทเพลงสรรเสริญ 2:9, 12, ล.ม.; 83:17, 18; 110:1, 2, 5, 6, ล.ม.; ยิระมะยา 25:34.
17. (ก) โยฮันพรรณนาปฏิบัติการสำเร็จโทษของกษัตริย์นักรบอย่างไร? (ข) จงกล่าวถึงคำพยากรณ์บางข้อที่แสดงว่า วันแห่งพระพิโรธของพระเจ้าจะก่อภัยพิบัติร้ายกาจเพียงไรแก่นานาชาติ.
17 กษัตริย์นักรบที่ทรงอำนาจองค์นี้ปรากฏอีกครั้งในฉากถัดไปแห่งนิมิตนี้: “และพระองค์จะทรงย่ำในบ่อย่ำองุ่นแห่งพระพิโรธอันแรงกล้าของพระเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพทุกประการ.” (วิวรณ์ 19:15ข) ในนิมิตก่อนหน้านี้ โยฮันได้เห็นการย่ำ ‘บ่อย่ำองุ่นแห่งพระพิโรธของพระเจ้า.’ (วิวรณ์ 14:18-20, ล.ม.) อนึ่ง ยะซายาก็ได้พรรณนาบ่อย่ำองุ่นสำหรับการสำเร็จโทษ และผู้พยากรณ์คนอื่น ๆ ก็บอกว่า วันแห่งพระพิโรธของพระเจ้าจะก่อภัยพิบัติร้ายกาจเพียงไรแก่นานาชาติ.—ยะซายา 24:1-6; 63:1-4; ยิระมะยา 25:30-33; ดานิเอล 2:44; ซะฟันยา 3:8; ซะคาระยา 14:3, 12, 13; วิวรณ์ 6:15-17.
18. ผู้พยากรณ์โยเอลเปิดเผยอะไรเกี่ยวกับการพิพากษาของพระยะโฮวาต่อประเทศทั้งปวง?
18 ผู้พยากรณ์โยเอลผูกโยงบ่อย่ำองุ่นเข้ากับการเสด็จมาของพระยะโฮวาเพื่อจะ “พิพากษาบรรดาชาวนานาประเทศที่อยู่ล้อมรอบ.” และพระยะโฮวาองค์นี้แหละที่ทรงบัญชาแก่ผู้พิพากษาสมทบของพระองค์ ซึ่งก็คือพระเยซูอย่างไม่ต้องสงสัย กับกองทัพฝ่ายสวรรค์ของพระองค์ว่า “พืชซึ่งควรจะเกี่ยวก็สุกแล้ว: จงเอาเคียวสอดเข้าไป; มาเถอะ, จงลงไปย่ำ, ด้วยว่าเครื่องหีบน้ำองุ่นเต็มอยู่แล้ว. และถังรองน้ำองุ่นก็เต็มล้น; เพราะว่าความชั่วร้ายของเขามีมากมายอยู่แล้ว. มหาชนมากมายหลั่งไหลเข้ามายังหุบเขาแห่งการพิพากษา; ด้วยว่าวันของพระยะโฮวาใกล้จะถึงหุบเขาแห่งการพิพากษาแล้ว. ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ก็มืดไป, และดาวทั้งหลายก็อับแสง. และพระยะโฮวาจะทรงแผดพระสุรเสียงจากซีโอน, และจะทรงเปล่งเสียงจากยะรูซาเลม: และท้องฟ้าและแผ่นดินโลกจะหวั่นไหว; แต่พระยะโฮวาจะเป็นที่พำนักแห่งพลไพร่ของพระองค์, เป็นป้อมสำหรับเชื้อวงศ์ยิศราเอล. ดังนั้นเจ้าทั้งหลายจะได้รู้สำนึกว่า เรายะโฮวาเป็นพระเจ้าของเจ้า.”—โยเอล 3:12-17.
19. (ก) คำถามที่ 1 เปโตร 4:17 จะมีคำตอบอย่างไร? (ข) มีพระนามอะไรเขียนไว้บนฉลองพระองค์ของพระเยซู และเพราะเหตุใดพระนามนั้นจึงจะเหมาะสม?
19 วันนั้นจะมืดมนจริง ๆ สำหรับชาติต่าง ๆ และมนุษย์ที่ไม่เชื่อฟัง แต่เป็นวันผ่อนคลายสำหรับทุกคนที่ทำให้พระยะโฮวาและกษัตริย์นักรบของพระองค์เป็นที่คุ้มภัยของตน! (2 เธซะโลนิเก 1:6-9) การพิพากษาซึ่งเริ่มกับราชนิเวศของพระเจ้าเมื่อปี 1918 จะได้ดำเนินไปจนถึงจุดสุดยอด เป็นการตอบคำถามที่ 1 เปโตร 4:17 (ล.ม.) ที่ว่า “ปลายทางของคนเหล่านั้นที่ไม่เชื่อฟังข่าวดีของพระเจ้าจะเป็นอย่างไร?” ผู้กำชัยชนะที่ทรงสง่าราศีจะได้ย่ำบ่อย่ำองุ่นจนแล้วเสร็จ ซึ่งแสดงว่า พระองค์เป็นบุคคลที่ได้รับการยกย่อง ซึ่งโยฮันกล่าวถึงดังนี้: “พระองค์ทรงมีพระนามหนึ่งเขียนไว้บนฉลองพระองค์ที่บริเวณพระอูรุว่า กษัตริย์แห่งกษัตริย์ทั้งหลายและเจ้านายแห่งเจ้านายทั้งหลาย.” (วิวรณ์ 19:16, ล.ม.) พระองค์ทรงพิสูจน์แล้วว่าทรงมีอำนาจยิ่งกว่าผู้ปกครองคนใดในโลกนี้ ยิ่งกว่ากษัตริย์องค์ใดหรือเจ้านายที่เป็นมนุษย์มากมายนัก. ความทรงเกียรติและความสง่างามของพระองค์เลิศล้ำเกินคำพรรณนา. พระองค์ได้ “ทรงม้าห้อไปเพื่อเห็นแก่ความจริงและความถ่อมใจและความชอบธรรม” และทรงมีชัยชนะตลอดกาล! (บทเพลงสรรเสริญ 45:4, ล.ม.) บนฉลองพระองค์ซึ่งพรมด้วยโลหิตนั้นมีพระนามเขียนไว้ซึ่งได้รับพระราชทานจากพระยะโฮวาเจ้าองค์บรมมหิศร ผู้ซึ่งพระเยซูทรงพิสูจน์ว่าเป็นฝ่ายถูก!
พระเจ้าทรงจัดงานเลี้ยงใหญ่
20. โยฮันพรรณนา “งานเลี้ยงใหญ่ของพระเจ้า” อย่างไร ซึ่งทำให้ระลึกถึงคำพยากรณ์อะไรที่อยู่ก่อนหน้านี้แต่คล้ายกัน?
20 ในนิมิตที่ให้แก่ยะเอศเคล ภายหลังการทำลายฝูงคนฝ่ายโกกแล้ว นกและสัตว์ป่าทั้งหลายถูกเรียกให้มางานเลี้ยง! พวกมันจะขจัดซากศพที่เกลื่อนกลาดบนแผ่นดินให้หมดสิ้นโดยกินศพศัตรูของพระยะโฮวา. (ยะเอศเคล 39:11, 17-20) คำพูดต่อจากนั้นของโยฮันทำให้เรานึกถึงคำพยากรณ์ก่อนหน้าได้อย่างชัดเจน: “ข้าพเจ้าเห็นทูตสวรรค์องค์หนึ่งยืนอยู่ที่ดวงอาทิตย์ และท่านร้องบอกนกทุกตัวที่บินกลางท้องฟ้าด้วยเสียงดังว่า ‘มานี่เถิด จงมาชุมนุมกันในงานเลี้ยงใหญ่ของพระเจ้า พวกเจ้าจะได้กินเนื้อของกษัตริย์ทั้งหลาย เนื้อของพวกนายทหารชั้นผู้ใหญ่ เนื้อของคนที่มีกำลัง เนื้อม้าและคนที่ขี่ม้าเหล่านั้น และเนื้อของคนทั้งปวง ทั้งที่เป็นไทและเป็นทาส ทั้งผู้ใหญ่ผู้น้อย.’”—วิวรณ์ 19:17, 18, ล.ม.
21. สิ่งเหล่านี้แสดงถึงอะไร (ก) การที่ทูตสวรรค์องค์นั้น “ยืนอยู่ที่ดวงอาทิตย์”? (ข) ข้อเท็จจริงที่คนตายถูกทิ้งไว้บนพื้นดิน? (ค) ความหลากหลายของศพที่จะถูกทิ้งให้นอนเกลื่อนกลาดบนพื้นดิน? (ง) คำกล่าวที่ว่า “งานเลี้ยงใหญ่ของพระเจ้า”?
21 ทูตสวรรค์องค์นั้น “ยืนอยู่ที่ดวงอาทิตย์” ตำแหน่งที่สูงเด่นเพื่อเรียกนกทั้งหลายให้ตั้งใจฟัง. ท่านเรียกนกให้อยู่พร้อมจะกินเนื้อของคนทั้งหลายซึ่งจะถูกสังหารโดยกษัตริย์นักรบและกองทัพภาคสวรรค์ของพระองค์. ข้อเท็จจริงที่คนตายถูกทิ้งไว้บนพื้นดินแสดงว่า พวกเขาจะตายอย่างน่าอัปยศต่อสาธารณชน. เหมือนนางอีซาเบลในคราวโบราณ จะไม่มีใครจัดการฝังศพพวกเขาอย่างมีเกียรติ. (2 กษัตริย์ 9:36, 37) ความหลากหลายของศพที่จะถูกทิ้งให้นอนเกลื่อนกลาดนั้นแสดงถึงขอบเขตของการทำลายล้าง ซึ่งมีตั้งแต่กษัตริย์, นายทหาร, คนแข็งแรง, ไท, และทาส. ไม่มีข้อยกเว้น. ร่องรอยสุดท้ายทุกอย่างของโลกที่กบฏด้วยการต่อต้านพระยะโฮวาจะถูกกำจัด. หลังจากนั้น ทะเลที่ปั่นป่วนแห่งมนุษย์ที่สับสนอลหม่านจะไม่มีอีกต่อไป. (วิวรณ์ 21:1) นี่แหละคือ “งานเลี้ยงใหญ่ของพระเจ้า” เนื่องจากพระยะโฮวาทรงเรียกนกทั้งหลายมาร่วมกินเลี้ยง.
22. โยฮันสรุปการสงครามครั้งสุดท้ายนั้นว่าอย่างไร?
22 โยฮันกล่าวสรุปการสงครามครั้งสุดท้ายดังนี้: “แล้วข้าพเจ้าเห็นสัตว์ร้ายนั้นกับกษัตริย์ทั้งหลายแห่งแผ่นดินโลกและกองทัพของพวกเขาชุมนุมกันเพื่อทำสงครามกับผู้ที่ทรงม้านั้นและกองทัพของพระองค์. แล้วสัตว์ร้ายนั้นก็ถูกจับพร้อมกับผู้พยากรณ์เท็จที่ทำการอัศจรรย์ต่าง ๆ ต่อหน้ามันเพื่อชักนำคนที่ได้รับเครื่องหมายของสัตว์ร้ายและคนที่นมัสการรูปของมันให้หลงผิด. ทั้งสองถูกโยนลงไปในบึงไฟที่ลุกไหม้ด้วยกำมะถันทั้งเป็น. ส่วนคนที่เหลือถูกฆ่าด้วยดาบยาวที่ออกจากพระโอษฐ์ของผู้ที่ทรงม้านั้น และนกทุกตัวต่างกินเนื้อของคนเหล่านั้นจนอิ่ม.”—วิวรณ์ 19:19-21, ล.ม.
23. (ก) ในความหมายเช่นไรที่ “สงครามในวันใหญ่ของพระเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพทุกประการ” สู้รบกัน ณ “อาร์มาเก็ดดอน”? (ข) “กษัตริย์ทั้งหลายแห่งแผ่นดินโลก” ไม่ได้เอาใจใส่คำเตือนอะไร และมีผลอะไรตามมา?
23 หลังจากการเทขันใบที่หกแห่งพระพิโรธของพระยะโฮวาแล้ว โยฮันได้รายงานว่าคำโฆษณาชวนเชื่อของผีปิศาจได้รวบรวม “กษัตริย์ทั้งหลายทั่วแผ่นดินโลก . . . เข้าสู่สงครามในวันใหญ่ของพระเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพทุกประการ.” สงครามนั้นสู้รบกัน ณ อาร์มาเก็ดดอน ซึ่งก็ไม่ใช่สถานที่จริง ๆ แต่หมายถึงสภาพการณ์ทั่วโลกซึ่งเรียกร้องการลงโทษตามการพิพากษาของพระยะโฮวา. (วิวรณ์ 16:12, 14, 16, ล.ม.) ตอนนี้ โยฮันเห็นแนวรบ. ที่นั่น พวกที่จัดขบวนต่อสู้พระเจ้าได้แก่ “กษัตริย์ทั้งหลายแห่งแผ่นดินโลกและกองทัพของพวกเขา.” คนเหล่านี้ปฏิเสธอย่างดื้อรั้นไม่ยอมตัวอยู่ใต้อำนาจแห่งมหากษัตริย์ที่พระยะโฮวาทรงแต่งตั้ง. พระองค์ได้ให้คำเตือนพวกเขาอย่างเป็นธรรมด้วยข่าวสารที่มีขึ้นด้วยการดลใจดังนี้: “จงจูบพระบุตร เพื่อ [พระยะโฮวา] จะไม่พิโรธ และท่านทั้งหลายจะไม่พินาศจากทางนั้น.” ในเมื่อไม่ยอมตัวอยู่ใต้การปกครองของพระคริสต์ พวกเขาก็ต้องตาย.—บทเพลงสรรเสริญ 2:12, ล.ม.
24. (ก) มีการลงโทษตามคำพิพากษาอะไรแก่สัตว์ร้ายและผู้พยากรณ์เท็จ และการที่พวกมันถูกโยน “ทั้งเป็น” หมายความเช่นไร? (ข) ทำไม “บึงไฟ” จึงต้องเป็นบึงโดยนัย?
24 สัตว์ร้ายเจ็ดหัวสิบเขาที่ขึ้นมาจากทะเลนั้นเป็นตัวแทนองค์การทางการเมืองของซาตาน ถูกทำให้ตกอยู่ในสภาพที่ถูกลืมเลือน พร้อมกับผู้พยากรณ์เท็จ คือมหาอำนาจที่เจ็ดของโลก. (วิวรณ์ 13:1, 11-13; 16:13) “ทั้งเป็น” หรือขณะยังคงดำเนินงานด้วยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันขัดขวางประชาชนของพระเจ้าบนแผ่นดินโลก พวกมันก็ถูกโยนลงไปใน “บึงไฟ.” นี่เป็นบึงไฟจริง ๆ ไหม? ไม่ใช่ เช่นเดียวกับที่สัตว์ร้ายกับผู้พยากรณ์เท็จก็ไม่ใช่สัตว์จริง ๆ. “บึงไฟ” เป็นสัญลักษณ์ถึงการทำลายอย่างสิ้นเชิงและถึงที่สุด เป็นที่ซึ่งไม่มีทางหวนกลับมาอีก. นี่แหละเป็นที่ซึ่งความตาย, ฮาเดส, และแล้วก็ซาตานเองจะถูกโยนลงไป. (วิวรณ์ 20:10, 14) แน่นอน “บึงไฟ” หาใช่นรกสำหรับทรมานคนชั่วตลอดไปไม่ เนื่องจากความคิดเกี่ยวกับสถานที่เช่นนั้นเป็นที่สะอิดสะเอียนต่อพระยะโฮวา.—ยิระมะยา 19:5; 32:35; 1 โยฮัน 4:8, 16.
25. (ก) ใครคือคนเหล่านั้นที่ “ถูกฆ่าด้วยดาบยาวที่ออกจากพระโอษฐ์ของผู้ที่ทรงม้านั้น”? (ข) เราพึงคาดหมายไหมว่า คนใด ๆ ที่ “ถูกฆ่า” นั้นจะได้รับการปลุกให้เป็นขึ้นจากตาย?
25 คนอื่น ๆ ทั้งปวงซึ่งไม่ได้เป็นส่วนโดยตรงของการปกครอง แต่ถึงอย่างไรก็เป็นส่วนที่ไม่อาจแก้ไขปรับปรุงได้ของโลกแห่งมนุษยชาติที่เสื่อมทรามก็จะ “ถูกฆ่าด้วยดาบยาวที่ออกจากพระโอษฐ์ของผู้ที่ทรงม้านั้น.” พระเยซูจะทรงตัดสินว่าพวกเขาสมควรตาย. เนื่องจากไม่มีการกล่าวถึงบึงไฟในกรณีของคนเหล่านี้ เราพึงคาดหวังไหมว่าพวกเขาจะได้รับการปลุกให้เป็นขึ้นจากตาย? เราไม่ได้รับการบอกเล่าจากที่ไหนเลยว่า คนเหล่านั้นซึ่งผู้พิพากษาของพระยะโฮวาทรงสำเร็จโทษในคราวนั้นจะได้รับการปลุกขึ้นจากตาย. ดังที่พระเยซูเองตรัสว่า คนทั้งปวงที่ไม่ใช่ “แกะ” จะเข้าใน “ไฟซึ่งไหม้อยู่เป็นนิตย์ที่เตรียมไว้สำหรับมารและทูตสวรรค์ของมัน” คือ “จะไปสู่การตัดขาดเป็นนิตย์.” (มัดธาย 25:33, 41, 46, ล.ม.) นี่เป็นสุดยอดของ “วันแห่งการพิพากษาและวันพินาศแห่งบรรดาคนที่ดูหมิ่นพระเจ้า.”—2 เปโตร 3:7, ล.ม.; นาฮูม 1:2, 7-9; มาลาคี 4:1.
26. จงกล่าวสั้น ๆ ถึงผลของอาร์มาเก็ดดอน.
26 ด้วยวิธีนี้ องค์การทั้งสิ้นของซาตานทางแผ่นดินโลกจะถึงกาลอวสาน. “ฟ้าสวรรค์เดิม” แห่งการปกครองด้านการเมืองได้ล่วงพ้นไปแล้ว. “แผ่นดินโลก” หรือระบบซึ่งดูเหมือนถาวรที่ซาตานก่อตั้งขึ้นมาตลอดหลายศตวรรษ ถูกทำลายโดยสิ้นเชิง. “ทะเล” แห่งมวลมนุษย์ที่ชั่วช้าซึ่งต่อต้านพระยะโฮวา ไม่มีอีกต่อไป. (วิวรณ์ 21:1; 2 เปโตร 3:10) แต่พระยะโฮวาทรงเตรียมอะไรไว้ให้ซาตาน? โยฮันจะบอกให้เราทราบต่อไป.