การศึกษาพระคัมภีร์ที่มีขึ้นโดยการดลใจพร้อมด้วยภูมิหลัง
บทเรียนที่ 2—เวลาและพระคัมภีร์บริสุทธิ์
อธิบายระยะเวลาต่าง ๆ ที่ใช้ในคัมภีร์ไบเบิล, ปฏิทินที่ใช้กันทั่วไป, วันเวลาหลักสำหรับคัมภีร์ไบเบิล, และประเด็นน่าสนใจที่เกี่ยวกับ “กระแสเวลา.”
1, 2. ซะโลโมเขียนอะไรเกี่ยวกับเวลา และเมื่อคำนึงถึงลักษณะที่ผ่านไปอย่างรวดเร็วของเวลา เราควรทำอย่างไรกับเวลา?
มนุษย์มีจิตสำนึกแรงกล้าในเรื่องเวลาที่ผ่านไป. พร้อมกับเสียงติ๊กแต่ละครั้งของนาฬิกา เขาก้าวสู่อีกห้วงเวลาหนึ่ง. แท้จริง เขาจะเป็นผู้มีสติปัญญาถ้าเขาใช้เวลาอย่างเหมาะสม. ดังที่กษัตริย์ซะโลโมเขียนไว้ว่า “มีวาระกำหนดไว้สำหรับทุกสิ่งและมีวาระสำหรับโครงการทุกอย่างภายใต้ฟ้า: มีวาระสำหรับชาตะ, และวาระสำหรับมรณะ; มีวาระสำหรับปลูก, และวาระสำหรับถอนที่ปลูกไว้แล้วนั้น; มีวาระสำหรับฆาตกรรม, และวาระสำหรับเยียวยา; มีวาระสำหรับรื้อทลายลง, และวาระสำหรับก่อสร้างขึ้น; มีวาระสำหรับกันแสง, และวาระสำหรับสำรวล.” (ผู้ป. 3:1-4) เวลาช่างผ่านไปเร็วจริง ๆ! 70 ปีแห่งช่วงชีวิตปกติเป็นเวลาสั้นเกินไปสำหรับการที่คนเราจะตักตวงความรู้มากมายและเพลิดเพลินกับสารพัดสิ่งดีอื่น ๆ ที่พระยะโฮวาทรงจัดเตรียมไว้ให้มนุษย์บนแผ่นดินโลก. “พระองค์ทรงทำทุกสิ่งงดงามตามกาลเวลา. แม้แต่เวลาที่ไม่มีกำหนดพระองค์ก็ทรงใส่ไว้ในหัวใจของพวกเขา เพื่อมนุษย์จะรู้ไม่จบในเรื่องราชกิจซึ่งพระเจ้าเที่ยงแท้ได้ทรงกระทำตั้งแต่ต้นจนปลาย.”—ผู้ป. 3:11, ล.ม.; เพลง. 90:10.
2 พระยะโฮวาเองทรงพระชนม์อยู่นิรันดร์. ส่วนสิ่งมีชีวิตที่พระองค์ทรงสร้างนั้น พระองค์ทรงพอพระทัยจะจัดพวกเขาไว้ในกระแสเวลา. เหล่าทูตสวรรค์ ซึ่งรวมทั้งซาตานตัวกบฏ ต่างก็ตระหนักดีถึงการล่วงไปของเวลา. (ดานิ. 10:13; วิ. 12:12) เกี่ยวกับมนุษยชาติ มีคำเขียนไว้ว่า “วาระและเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดล่วงหน้าย่อมบังเกิดแก่เขาทุกคน.” (ผู้ป. 9:11, ล.ม.) ความสุขมีแก่ผู้ที่คำนึงถึงพระเจ้าตลอดเวลาและผู้ที่ยินดีตอบรับการจัดเตรียม “อาหาร . . . ตามเวลาที่สมควร” ของพระองค์!—มัด. 24:45, ล.ม.
3. เวลาและอวกาศมีอะไรเหมือนกัน?
3 เวลาดำเนินไปในทิศทางเดียว. ถึงแม้เวลาเกี่ยวข้องกับทุกสิ่ง แต่ไม่มีมนุษย์คนใดบอกได้ว่าเวลาคืออะไร. เวลาเป็นสิ่งที่หาขอบเขตไม่ได้เหมือนอวกาศ. ไม่มีใครอธิบายได้ว่ากระแสเวลาเริ่มตรงไหนหรือจะไปที่ไหน. สิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับความรู้ที่ไร้ขีดจำกัดของพระยะโฮวาซึ่งมีพรรณนาถึงพระองค์ว่าเป็นพระเจ้า “ตั้งแต่เวลาไม่กำหนดจนกระทั่งเวลาไม่กำหนด.”—เพลง. 90:2, ล.ม.
4. อาจพูดได้อย่างไรเกี่ยวกับการเคลื่อนของเวลา?
4 อีกด้านหนึ่ง เวลามีลักษณะเฉพาะบางอย่างที่เข้าใจได้. อัตราการเคลื่อนของเวลาสามารถวัดได้. นอกจากนั้น เวลาเคลื่อนไปในทิศทางเดียวเท่านั้น. เหมือนการจราจรบนถนนที่เดินรถทางเดียว เวลาเคลื่อนไปในทิศทางเดียวอย่างไม่หยุดยั้ง—คือไปข้างหน้าเสมอ. ไม่ว่าเวลาจะเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยความเร็วแค่ไหน เวลาไม่มีทางถูกทำให้ย้อนกลับมาได้. เรามีชีวิตอยู่ในช่วงปัจจุบันที่สั้นนัก. อย่างไรก็ตาม ช่วงปัจจุบันนี้กำลังเคลื่อน เคลื่อนอย่างต่อเนื่องเข้าสู่อดีต. ไม่มีทางหยุดยั้ง.
5. เหตุใดอาจกล่าวได้ว่าอดีตเป็นชัยชนะหรือไม่ก็ความพ่ายแพ้?
5 อดีต. อดีตผ่านไปแล้ว เป็นประวัติศาสตร์ และจะไม่มีวันเกิดขึ้นซ้ำอีก. ความพยายามใด ๆ เพื่อเรียกอดีตให้กลับมาเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้เหมือนการพยายามทำให้น้ำตกไหลย้อนขึ้นไปบนเขาหรือให้ลูกศรพุ่งกลับไปหาคันธนูที่ยิงมันออกไป. ความผิดพลาดของเราได้ละรอยของมันไว้ในกระแสเวลา เป็นรอยที่มีแต่พระยะโฮวาเท่านั้นที่ลบทิ้งได้. (ยซา. 43:25) ทำนองเดียวกัน การดีที่คนเราทำไว้ในอดีตก็สร้างบันทึกซึ่งจะ “กลับมาหาเขา” พร้อมด้วยพระพรจากพระยะโฮวา. (สุภา. 12:14, ฉบับแปลใหม่; 13:22) อดีตเป็นชัยชนะหรือไม่ก็ความพ่ายแพ้. ไม่มีอะไรจะควบคุมมันได้อีกต่อไป. มีคำเขียนเกี่ยวกับคนชั่วไว้ว่า “เพราะพวกเขาจะเหี่ยวแห้งไปอย่างรวดเร็วเหมือนหญ้า, และพวกเขาจะค่อย ๆ เฉาไปเหมือนหญ้าเขียวสด.”—เพลง. 37:2, ล.ม.
6. อนาคตต่างจากอดีตอย่างไร และเหตุใดเราควรสนใจอนาคตเป็นพิเศษ?
6 อนาคต. อนาคตเป็นสิ่งที่แตกต่างไป. อนาคตเคลื่อนมาหาเราเสมอ. ด้วยความช่วยเหลือจากพระคำของพระเจ้า เราสามารถรู้ถึงอุปสรรคซึ่งอยู่ข้างหน้าและเตรียมรับมือกับมัน. เราสามารถสะสม “ทรัพย์สมบัติไว้ในสวรรค์” เพื่อตัวเอง. (มัด. 6:20) ทรัพย์สมบัติเหล่านั้นจะไม่ถูกกระแสเวลาพัดพาไป. ทรัพย์นั้นจะอยู่กับเราและจะยืนยงเข้าสู่อนาคตถาวรแห่งพระพร. เราสนใจการใช้เวลาอย่างสุขุม เพราะการทำเช่นนั้นมีผลกระทบอนาคตดังกล่าว.—เอเฟ. 5:15, 16.
7. พระยะโฮวาทรงประทานอะไรบ้างเป็นเครื่องบอกเวลาแก่มนุษย์?
7 เครื่องบอกเวลา. นาฬิกาของเราในทุกวันนี้เป็นเครื่องบอกเวลา. นาฬิกาเป็นเหมือนไม้บรรทัดวัดเวลา. ด้วยวิธีคล้ายกัน พระยะโฮวาพระผู้สร้างได้ตั้งเครื่องบอกเวลาขนาดยักษ์ให้เดิน—คือ โลกหมุนรอบตัวเอง, ดวงจันทร์โคจรรอบโลก และดวงอาทิตย์—เพื่อว่า จากจุดยืนของมนุษย์บนแผ่นดินโลก เขาจะได้รับการบอกเวลาอย่างถูกต้อง. “และพระเจ้าตรัสต่อไปว่า ‘ให้เกิดมีดวงสว่างบนท้องฟ้าเพื่อแบ่งระหว่างกลางวันกับกลางคืน; และดวงสว่างเหล่านั้นต้องทำหน้าที่เป็นเครื่องหมายและกำหนดฤดูและกำหนดวันและปี.’” (เย. 1:14, ล.ม.) ดังนั้น ในฐานะเป็นกลุ่มวัตถุที่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวพันกัน เทห์ฟากฟ้าเหล่านี้เคลื่อนที่ในวงโคจรอันสมบูรณ์ วัดการเคลื่อนของเวลาในทิศทางเดียวอย่างไม่รู้สิ้นสุดและอย่างไม่ผิดพลาด.
8. คำว่า “วัน” ที่ใช้ในคัมภีร์ไบเบิลมีความหมายแตกต่างกันอย่างไรบ้าง?
8 วัน. คำว่า “วัน” ในคัมภีร์ไบเบิลถูกใช้ด้วยความหมายต่างกันหลายอย่าง เช่นเดียวกับที่มีความหมายหลายหลากในสมัยปัจจุบัน. เมื่อโลกหมุนรอบตัวเองครบหนึ่งรอบ จึงกำหนดเป็นวันหนึ่งที่มี 24 ชั่วโมง. ในความหมายนี้ วันหนึ่งจึงประกอบด้วยเวลากลางวันและกลางคืน รวมเป็น 24 ชั่วโมง. (โย. 20:19) อย่างไรก็ตาม ช่วงสว่างซึ่งตามปกติมีความยาวโดยเฉลี่ย 12 ชั่วโมงก็ถูกเรียกว่าวันด้วย. “พระเจ้าทรงเรียกความสว่างนั้นว่าวัน, และทรงเรียกความมืดนั้นว่าคืน.” (เย. 1:5) ทั้งนี้ทำให้เกิดคำเรียกเวลาว่า “คืน” ช่วงเวลาซึ่งตามปกติมีความยาวโดยเฉลี่ย 12 ชั่วโมงที่มืด. (เอ็ก. 10:13) ในอีกความหมายหนึ่ง คำว่า “วัน” พาดพิงถึงช่วงเวลาที่บุคคลโดดเด่นบางคนมีชีวิตอยู่. ตัวอย่างเช่น ยะซายาเห็นนิมิตของท่าน “ในรัชกาล [“วัน,” ล.ม.] ของกษัตริย์อุซียา, กษัตริย์โยธาม, กษัตริย์อาฮาศ, และกษัตริย์ฮิศคียา” (ยซา. 1:1) และมีการกล่าวถึงสมัยหรือวันของโนฮาและโลตว่าเป็นวันเชิงพยากรณ์. (ลูกา 17:26-30) อีกตัวอย่างหนึ่งของการใช้คำว่า “วัน” ในความหมายที่ไม่ตายตัวหรืออย่างมีนัยคือคำกล่าวของเปโตรที่ว่า “วันเดียวสำหรับพระยะโฮวาเป็นเหมือนพันปี.” (2 เป. 3:8, ล.ม.) ในบันทึกที่เยเนซิศ วันแห่งการทรงสร้างยิ่งยาวนานกว่านั้นอีก คือหลายพันปี. (เย. 2:2, 3; เอ็ก. 20:11) บริบทในคัมภีร์ไบเบิลบอกความหมายที่คำว่า “วัน” ถูกใช้ในข้อนั้น.
9. (ก) การแบ่งวันออกเป็น 24 ชั่วโมงซึ่งแต่ละชั่วโมงมี 60 นาทีนั้นมีความเป็นมาอย่างไร? (ข) มีกล่าวถึงการบอกเวลาแบบใดบ้างในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู?
9 ชั่วโมง. มีการสืบค้นพบว่าการแบ่งวันออกเป็น 24 ชั่วโมงเริ่มที่อียิปต์. การแบ่งชั่วโมงออกเป็น 60 นาทีในสมัยปัจจุบันมีต้นตอจากหลักคณิตศาสตร์ของชาวบาบูโลน ซึ่งเป็นระบบที่อาศัยตัวเลข 60. ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูไม่มีกล่าวถึงการแบ่งออกเป็นชั่วโมง.a แทนที่จะแบ่งวันออกเป็นชั่วโมง พระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูใช้คำต่าง ๆ เช่น “เช้า,” “เที่ยง” “กลางวัน” และ “เวลาเย็น” เป็นการบอกเวลา. (เย. 24:11; 43:16; บัญ. 28:29; 1 กษัต. 18:26) กลางคืนถูกแบ่งออกเป็นสามช่วงเรียกว่า “ยาม” (เพลง. 63:6, ล.ม.) มีการเรียกสองในสามช่วงนั้นอย่างเจาะจงในคัมภีร์ไบเบิล นั่นคือ “ยามกลาง” (วินิจ. 7:19, ล.ม.) และ “ยามหลัง.”—เอ็ก. 14:24, ล.ม.; 1 ซามู. 11:11, ล.ม.
10. ชาวยิวในสมัยพระเยซูนับชั่วโมงอย่างไร และการรู้เรื่องนี้ช่วยเราให้กำหนดเวลาเกี่ยวกับการสิ้นพระชนม์ของพระคริสต์อย่างไร?
10 อย่างไรก็ตาม ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกมีกล่าวถึง “นาฬิกา [“ชั่วโมง,” ล.ม.]” บ่อย ๆ. (โย. 12:23; มัด. 20:2-6) มีการนับชั่วโมงต่าง ๆ ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นหรือประมาณ 6:00 น. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึง “ชั่วโมงที่สาม” ซึ่งเป็นเวลาประมาณ 9:00 น. มีกล่าวถึง “ชั่วโมงที่หก” ว่าเป็นเวลาเมื่อความมืดปกคลุมยะรูซาเลมในตอนที่พระเยซูถูกตรึง. เวลานี้จะตรงกับเวลาเที่ยงวันของเรา. มีกล่าวว่าการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูบนหลักทรมานเกิดขึ้นประมาณ “ชั่วโมงที่เก้า” หรือประมาณ 15:00 น.—มโก. 15:25, ล.ม.; ลูกา 23:44, ล.ม.; มัด. 27:45, 46, ล.ม.b
11. การใช้คำ “สัปดาห์” เพื่อนับเวลามีมานานแค่ไหน?
11 สัปดาห์. มนุษย์เริ่มนับวันเป็นช่วงละเจ็ดวันตั้งแต่ตอนต้นประวัติศาสตร์. เมื่อทำเช่นนี้ เขาทำตามตัวอย่างของพระผู้สร้างซึ่งปิดท้ายวันแห่งการทรงสร้างหกวันด้วยช่วงที่เจ็ดซึ่งเรียกว่าวันเช่นกัน. โนฮานับวันต่าง ๆ เป็นช่วงละเจ็ดวัน. ในภาษาฮีบรู คำว่า “สัปดาห์” ตามตัวอักษรหมายถึงเจ็ดระยะหรือเจ็ดช่วง.—เย. 2:2, 3; 8:10, 12; 29:27.
12. เดือนตามจันทรคติคืออะไร และต่างจากเดือนที่เราใช้ในปัจจุบันอย่างไร?
12 เดือนตามจันทรคติ. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึง “เดือน [“เดือนตามจันทรคติ,” ล.ม.]” (เอ็ก. 2:2; บัญ. 21:13; 33:14; เอษ. 6:15) เดือนที่เราใช้ในปัจจุบันไม่ใช่เดือนตามจันทรคติ เพราะไม่ได้กำหนดโดยอาศัยดวงจันทร์. เดือนเหล่านี้เป็นเพียงการแบ่งปีตามสุริยคติตามใจชอบเป็น 12 ช่วง. เดือนตามจันทรคติคือเดือนที่กำหนดโดยวันขึ้น 1 ค่ำ. ดวงจันทร์มีสี่ระยะซึ่งประกอบกันเป็นหนึ่งรอบที่เฉลี่ยแล้วประมาณ 29 วัน 12 ชั่วโมงกับ 44 นาที. คนเราเพียงแต่มองดูรูปทรงของดวงจันทร์เพื่อจะบอกโดยประมาณว่าเป็นวันอะไรในเดือนตามจันทรคติ.
13. มีการบันทึกเรื่องน้ำท่วมโลกอย่างถูกต้องแม่นยำอย่างไร?
13 แทนที่จะใช้เดือนตามจันทรคติอย่างเคร่งครัด โนฮาดูเหมือนบันทึกเหตุการณ์โดยใช้เดือนที่มี 30 วัน. ตามบันทึกที่โนฮาเก็บไว้เกี่ยวกับนาวา เราจึงเข้าใจว่าน้ำที่ท่วมโลกปกคลุมแผ่นดินโลกเป็นเวลาห้าเดือนหรือ “ร้อยห้าสิบวัน.” หลังจาก 12 เดือนกับ 10 วัน แผ่นดินจึงแห้งเพื่อผู้โดยสารในนาวาจะออกมาได้. ดังนั้น เหตุการณ์สำคัญนั้นจึงมีการบันทึกเวลาอย่างถูกต้อง.—เย. 7:11, 24; 8:3, 4, 14-19.
14. (ก) พระยะโฮวาทรงจัดให้มีฤดูอย่างไร? (ข) การจัดให้มีฤดูต่าง ๆ จะดำเนินต่อไปนานเท่าไร?
14 ฤดู. เมื่อเตรียมแผ่นดินโลกให้เป็นที่อาศัย พระยะโฮวาทรงจัดเตรียมด้วยสติปัญญาและความรักให้มีฤดูต่าง ๆ. (เย. 1:14) ฤดูเหล่านั้นเป็นผลจากการที่โลกเอียงทำมุม 23.5° กับวงโคจรรอบดวงอาทิตย์. ทั้งนี้ยังผลให้ซีกโลกใต้เอียงเข้าหาดวงอาทิตย์ก่อน แล้วอีกหกเดือนต่อมาจึงเป็นซีกโลกเหนือ ฤดูต่าง ๆ จึงดำเนินไปอย่างเป็นระเบียบ. การเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลเช่นนี้ทำให้มีความหลากหลายและความแตกต่างอีกทั้งควบคุมเวลาสำหรับการปลูกและการเก็บเกี่ยว. พระคำของพระเจ้ารับรองกับเราว่าการจัดเตรียมให้มีการเปลี่ยนแปลงและความแตกต่างของฤดูต่าง ๆ ตลอดปีจะดำเนินอยู่ตลอดกาล. “โลกยังดำรงอยู่ตราบใด จะมีฤดูหว่านกับฤดูเกี่ยว เวลาเย็นกับเวลาร้อน ฤดูร้อนกับฤดูหนาว และมีวันและคืนเรื่อยไปตราบนั้น.”—เย. 8:22, ฉบับแปลใหม่.
15, 16. (ก) ฤดูฝนในแผ่นดินตามคำสัญญาอาจแบ่งเป็นช่วง ๆ อย่างไร? (ข) จงอธิบายเกี่ยวกับฤดูฝนช่วงต่าง ๆ และความสัมพันธ์ที่มีกับกิจกรรมทางการเกษตร.
15 โดยทั่วไป ปีในแผ่นดินตามคำสัญญาแบ่งออกได้เป็นฤดูฝนและฤดูแล้ง. ตั้งแต่ประมาณกลางเดือนเมษายนถึงกลางเดือนตุลาคม แทบไม่มีฝนเลย. ฤดูฝนอาจแบ่งออกเป็นฝนต้นฤดู หรือ “ฝนฤดูใบไม้ร่วง [ล.ม.]” (ตุลาคม-พฤศจิกายน); ฝนหนักในฤดูหนาวและอากาศหนาวขึ้น (ธันวาคม-กุมภาพันธ์); และฝนปลายฤดูหรือ “ฝนฤดูใบไม้ผลิ [ล.ม.]” (มีนาคม-เมษายน). (บัญ. 11:14; โยเอล 2:23) ทั้งนี้เป็นการแบ่งโดยประมาณ ฤดูต่าง ๆ คาบเกี่ยวกันเนื่องจากความหลากหลายของภูมิอากาศในแผ่นดินส่วนต่าง ๆ กัน. ฝนต้นฤดูทำให้ผืนดินที่แห้งกลับอ่อนนุ่มชุ่มชื้น เดือนตุลาคม-พฤศจิกายนจึงเป็นเวลาสำหรับ “ไถนา” และ “หว่านพืช.” (เอ็ก. 34:21; เลวี. 26:5) ในช่วงฝนตกหนักในฤดูหนาวตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์มักมีหิมะตก และในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์อุณหภูมิในที่สูง ๆ อาจลดต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงบะนายาซึ่งเป็นผู้เก่งกล้าคนหนึ่งของดาวิดว่าได้ฆ่าสิงโต “ในวันที่มีหิมะ.”—2 ซามู. 23:20.
16 เดือนมีนาคมและเมษายน (ประมาณเดือนไนซานและอียาร์ของชาวฮีบรู) เป็นเดือนที่ “ฝนชุกปลายฤดู.” (ซคา. 10:1, ฉบับแปลใหม่) นี่เป็นฝนปลายฤดูซึ่งจำเป็นต้องมีเพื่อให้ธัญพืชที่ปลูกในฤดูใบไม้ร่วงเติบโตจึงจะเก็บเกี่ยวได้ผลดี. (โฮ. 6:3; ยโก. 5:7) นอกจากนั้น ช่วงนี้ยังเป็นฤดูกาลของการเก็บเกี่ยวรุ่นแรก และพระเจ้าทรงบัญชาชาติยิศราเอลให้ถวายผลแรกจากการเก็บเกี่ยวในวันที่ 16 เดือนไนซาน. (เลวี. 23:10; รูธ 1:22) นั่นเป็นเวลาแห่งความงดงามและความปีติยินดี. “ดอกไม้ต่าง ๆ นานาได้ปรากฏบนพื้นแผ่นดิน; เวลาสำหรับวิหคร้องเพลงมาถึงแล้ว, และเสียงคูของนกเขาก็ได้ยินอยู่ในประเทศของเรา; ต้นมะเดื่อเทศกำลังทำผลดิบให้สุกหวานไป, และเถาองุ่นมีดอกบานอยู่; มันส่งกลิ่นหอมฟุ้ง.”—ไพเราะ. 2:12, 13.
17. (ก) ธัญพืชได้รับการหล่อเลี้ยงอย่างไรระหว่างฤดูแล้ง? (ข) จงพิจารณาแผนภูมิ “ปีของชาวยิศราเอล” และแบ่งปีตามฤดูดังที่พิจารณาในวรรค 15-17. (ค) การเก็บเกี่ยวรุ่นแรก, การเกี่ยวข้าว และเวลาเก็บรวบรวมผลไม้คือเมื่อไร และเทศกาลอะไรบ้างตรงกับเหตุการณ์เหล่านี้?
17 ฤดูแล้งเริ่มประมาณกลางเดือนเมษายน แต่เกือบตลอดช่วงนี้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งตามที่ราบชายฝั่งทะเลและพื้นลาดด้านตะวันตกของภูเขา น้ำค้างมากมายช่วยหล่อเลี้ยงพืชฤดูร้อน. (บัญ. 33:28) ระหว่างเดือนพฤษภาคมมีการเกี่ยวข้าว และตอนปลายเดือนนี้มีการฉลองเทศกาลสัปดาห์ (เพนเตคอสเต). (เลวี. 23:15-21) จากนั้น ขณะที่อากาศอุ่นขึ้นและพื้นดินแห้งขึ้น ผลองุ่นก็สุกและถูกเก็บเกี่ยว ตามด้วยผลไม้ฤดูร้อนชนิดอื่น ๆ เช่น มะกอกเทศ, อินทผลัม และมะเดื่อเทศ. (2 ซามู. 16:1) เมื่อถึงปลายฤดูแล้งและเริ่มมีฝนต้นฤดู ผลิตผลของแผ่นดินทุกอย่างถูกเก็บเกี่ยว และเป็นช่วงนี้แหละ (ประมาณต้นเดือนตุลาคม) ที่มีการฉลองเทศกาลตั้งทับอาศัย หรือการอาศัยในกระท่อม.—เอ็ก. 23:16; เลวี. 23:39-43.
18. (ก) เหตุใดความหมายของคำภาษาฮีบรูสำหรับ “ปี” จึงเหมาะสม? (ข) สำหรับแผ่นดินโลก ปีตามสุริยคติแท้คืออะไร?
18 ปี. บัดนี้การศึกษาของเราเกี่ยวกับเวลาในคัมภีร์ไบเบิลนำเรามาสู่คำว่า “ปี.” มีการกล่าวถึงปีตั้งแต่ตอนเริ่มประวัติศาสตร์ของมนุษย์. (เย. 1:14) คำภาษาฮีบรูสำหรับ “ปี” คือ ชานาห์ʹ มาจากรากศัพท์ซึ่งหมายความว่า “ซ้ำ; ทำอีก” และแฝงแนวคิดเกี่ยวกับวัฏจักร. ความหมายนี้เหมาะ เนื่องจากในแต่ละปี วัฏจักรของฤดูต่าง ๆ เวียนมาอีก. ปีทางแผ่นดินโลกเกี่ยวข้องกับเวลาที่โลกใช้เพื่อโคจรหรือเดินทางรอบดวงอาทิตย์ครบหนึ่งรอบ. ที่ละเอียดแม่นยำกว่าคือ ปีตามสุริยคติ เป็นช่วงเวลาตั้งแต่วสันตวิษุวัตหนึ่งถึงอีกวสันตวิษุวัตหนึ่ง. ช่วงเวลานั้นเฉลี่ยแล้วเท่ากับ 365 วัน 5 ชั่วโมง 48 นาที 46 วินาที หรือประมาณ 365 1/4 วัน. นี่เรียกว่าปีตามสุริยคติแท้.
19. (ก) ปีสมัยโบราณในคัมภีร์ไบเบิลมีการคำนวณอย่างไร? (ข) “ปีศักดิ์สิทธิ์” อะไรที่พระยะโฮวาทรงกำหนดในเวลาต่อมา?
19 ปีในคัมภีร์ไบเบิล. ตามการคำนวณแบบโบราณในคัมภีร์ไบเบิล ปีหนึ่งนับจากฤดูใบไม้ร่วงถึงฤดูใบไม้ร่วง. การนับแบบนี้เหมาะกับชีวิตแบบเกษตรกรรมโดยเฉพาะ คือปีหนึ่งเริ่มด้วยการไถนาและการหว่าน ซึ่งอยู่ในช่วงต้นเดือนตุลาคมของพวกเรา และจบลงด้วยการเก็บเกี่ยว. โนฮานับปีโดยเริ่มต้นในฤดูใบไม้ร่วง. ท่านบันทึกเรื่องมหาอุทกภัยว่าเริ่มต้น “ในเดือนที่สอง” ซึ่งตรงกับช่วงครึ่งหลังของเดือนตุลาคมกับครึ่งแรกของเดือนพฤศจิกายน. (เย. 7:11, ล.ม. เชิงอรรถ) จนถึงทุกวันนี้ หลายชนชาติบนแผ่นดินโลกยังคงเริ่มปีใหม่ในฤดูใบไม้ร่วง. ตอนที่อพยพจากอียิปต์ในปี 1513 ก.ส.ศ. พระยะโฮวาทรงบัญชาว่าเดือนอาบิบ (ไนซาน) ควรเป็น “เดือนต้น” สำหรับพวกยิว ตอนนั้นพวกเขาจึงมีปีศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเริ่มตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิถึงฤดูใบไม้ผลิ. (เอ็ก. 12:2) อย่างไรก็ตาม ชาวยิวในสมัยของเราถือตามปีทางโลกที่เริ่มต้นด้วยฤดูใบไม้ร่วง โดยมีเดือนทิชรีเป็นเดือนแรก.
20. ปีตามจันทรคติถูกปรับให้เข้ากับปีตามสุริยคติอย่างไร และปีจันทรสุริยคติคืออะไร?
20 ปีจันทรสุริยคติ. จนกระทั่งสมัยของพระคริสต์ ชาติต่าง ๆ ส่วนใหญ่ใช้ปีตามจันทรคติเพื่อนับเวลา โดยใช้วิธีการต่าง ๆ ปรับปีนั้น ๆ ให้เข้ากับปีตามสุริยคติมากขึ้น. โดยทั่วไปปีตามจันทรคติซึ่งมี 12 เดือนมี 354 วัน โดยเดือนต่าง ๆ มี 29 หรือ 30 วัน ซึ่งขึ้นอยู่กับการปรากฏแต่ละครั้งของดวงจันทร์ข้างขึ้น. ปีตามจันทรคติจึงสั้นกว่าปีตามสุริยคติที่มี 365 1/4 วัน อยู่ประมาณ 11 1/4 วัน. ชาวฮีบรูใช้ปีตามจันทรคติ. คัมภีร์ไบเบิลไม่มีอธิบายวิธีที่พวกเขาปรับปีนั้น ๆ ให้เข้ากับปีตามสุริยคติและฤดูต่าง ๆ แต่พวกเขาคงต้องได้เพิ่มหรือแทรกอธิกมาสเมื่อจำเป็น. การจัดเรื่องอธิกมาสนี้ต่อมามีการจัดแบบแผนในศตวรรษที่ห้า ก.ส.ศ. ให้เป็นระบบซึ่งรู้จักกันในปัจจุบันว่า วัฏจักรของเมทอน. ระบบนี้เปิดช่องให้เพิ่มอธิกมาสเจ็ดครั้งทุก ๆ 19 ปี และในปฏิทินของชาวยิว มีการเพิ่มอธิกมาสหลังจากเดือนอะดาร์ซึ่งเป็นเดือนที่ 12 และเรียกว่าเดือนวีอะดาร์ หรือ “อะดาร์ที่สอง.” เมื่อปฏิทินตามจันทรคติถูกปรับให้เข้ากับปีตามสุริยคติด้วยวิธีนั้น ปีซึ่งมี 12 หรือ 13 เดือน จึงเป็นที่รู้จักกันว่า ปีจันทรสุริยคติ.
21. (ก) ปฏิทินจูเลียนคืออะไร? (ข) เหตุใดปฏิทินเกรกอเรียนจึงถูกต้องกว่า?
21 ปฏิทินจูเลียนและปฏิทินเกรกอเรียน. ปฏิทินเป็นระบบที่กำหนดการเริ่มต้น, ความยาว และช่วงต่าง ๆ ของปี รวมทั้งการจัดช่วงเหล่านี้ให้เป็นระเบียบ. จูเลียส ซีซาร์นำปฏิทินจูเลียนมาใช้ในปี 46 ก.ส.ศ. เพื่อให้ประชาชนโรมันมีปีตามสุริยคติใช้แทนปีตามจันทรคติ. ปฏิทินจูเลียนมี 365 วันในหนึ่งปี โดยมีข้อยกเว้นว่า ในทุก ๆ ปีที่สี่ (ปีอธิกสุรทิน) จะเพิ่มอีกหนึ่งวันเพื่อให้มี 366 วัน. อย่างไรก็ตาม ต่อมามีการพบว่า ที่แท้แล้วปีตามปฏิทินจูเลียนยาวกว่าปีตามปฏิทินสุริยคติจริง ๆ 11 นาทีกว่า. พอถึงศตวรรษที่ 16 สากลศักราช เวลาที่ต่างกันนั้นจึงได้รวมกันเป็น 10 วันเต็ม. ดังนั้น ในปี 1582 โปปเกรกอรีที่ 13 แนะให้ปรับปรุงเล็กน้อย ซึ่งเป็นการเริ่มใช้ปฏิทินที่รู้จักกันในปัจจุบันว่าปฏิทินเกรกอเรียน. โดยคำสั่งของโปป จึงมีการลดจำนวนวันในปี 1582 ลง 10 วัน ดังนั้น วันหลังจากวันที่ 4 ตุลาคมจึงกลายเป็นวันที่ 15 ตุลาคม. ปฏิทินเกรกอเรียนกำหนดว่าปีที่ครบร้อยซึ่งหารด้วย 400 ไม่ลงตัวไม่ถือเป็นปีอธิกสุรทิน. ตัวอย่างเช่น ปี 1900 ไม่ถือเป็นปีอธิกสุรทินเหมือนปี 2000 เพราะจำนวน 1,900 หารด้วย 400 ไม่ลงตัว. ปัจจุบัน ปฏิทินเกรกอเรียนเป็นปฏิทินแบบหนึ่งที่ใช้กันทั่วไปในส่วนใหญ่ของโลก.
22, 23. ปีเชิงพยากรณ์ยาวเท่าไร?
22 “ปี” เชิงพยากรณ์. ในคำพยากรณ์ของคัมภีร์ไบเบิล มีการใช้คำว่า “ปี” บ่อย ๆ ในความหมายพิเศษเท่ากับ 12 เดือน แต่ละเดือนมี 30 วัน รวมเป็น 360 วัน. ขอสังเกตสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งบอกเมื่อให้ความเห็นเกี่ยวกับยะเอศเคล 4:5, 6 ว่า “เราต้องคาดว่ายะเอศเคลรู้เรื่องปีที่มี 360 วัน. ปีนั้นไม่ใช่ทั้งปีตามสุริยคติแท้และปีตามจันทรคติ. นั่นเป็นปี ‘โดยเฉลี่ย’ ซึ่งแต่ละเดือนมี 30 วัน.”c
23 ปีเชิงพยากรณ์ยังเรียกกันอีกว่า “ระยะ” และการศึกษาพระธรรมวิวรณ์ 11:2, 3 และ 12:6, 14 (ล.ม.) เผยให้เห็นวิธีที่มีการคำนวณว่า หนึ่ง “ระยะ” เท่ากับ 360 วัน. ในคำพยากรณ์ บางครั้งคราวมีการใช้วันหนึ่งแทนปีหนึ่งอย่างมีความหมายเป็นนัย.—ยเอศ. 4:5, 6.
24. หลายชนชาติในสมัยโบราณเริ่มการนับอย่างไร?
24 ปีศูนย์ไม่มี. ชนชาติต่าง ๆ ในสมัยโบราณ ซึ่งรวมทั้งชาวกรีกที่คงแก่เรียน, ชาวโรมัน, และชาวยิว ต่างก็ไม่มีแนวความคิดเรื่องเลขศูนย์. สำหรับพวกเขา ทุกสิ่งเริ่มนับจากหนึ่ง. เมื่อคุณเรียนเรื่องเลขโรมันในโรงเรียน (I, II, III, IV, V, X และอื่น ๆ) คุณเคยเรียนเรื่องเลขศูนย์ไหม? ไม่ เพราะชาวโรมันไม่มีเลขศูนย์. เนื่องจากชาวโรมันไม่ใช้เลขศูนย์ สากลศักราชจึงไม่เริ่มด้วยปีศูนย์ แต่เริ่มด้วยปี ส.ศ. 1. อนึ่ง นั่นยังทำให้มีการจัดตัวเลขเชิงอันดับที่ เช่น ที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม ที่สิบ และ ที่หนึ่งร้อย. ในคณิตศาสตร์สมัยใหม่ คนเราเข้าใจว่าทุก ๆ สิ่งเริ่มจากการไม่มีอะไร หรือศูนย์. อาจเป็นได้ว่าชาวฮินดูเป็นผู้คิดเลขศูนย์ขึ้นใช้.
25. เลขเชิงอันดับที่ต่างจากเลขเชิงการนับอย่างไร?
25 ดังนั้น เมื่อไรก็ตามที่มีการใช้เลขเชิงอันดับที่ เราต้องหักออกหนึ่งเสมอเพื่อจะได้จำนวนที่ครบถ้วน. ตัวอย่างเช่น เมื่อเราพูดถึงวันเวลาในศตวรรษที่ 20 สากลศักราช นั่นหมายความว่ามี 20 ศตวรรษเต็ม ๆ ไหม? ไม่ นั่นหมายถึง 19 ศตวรรษเต็ม บวกกับบางปี. เพื่อพูดถึงจำนวนเต็ม คัมภีร์ไบเบิลและนักคณิตศาสตร์สมัยใหม่ใช้เลขเชิงการนับ เช่น 1, 2, 3, 10, และ 100. เลขเหล่านี้ยังเรียกกันอีกว่า “เลขจำนวนเต็ม.”
26. คุณจะคำนวณอย่างไร (ก) จำนวนปีตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ปี 607 ก.ส.ศ. ถึงวันที่ 1 ตุลาคม ปี ส.ศ. 1914? (ข) 2,520 ปีตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ปี 607 ก.ส.ศ.?
26 ตอนนี้ เนื่องจากสากลศักราชไม่ได้เริ่มด้วยปีศูนย์ แต่เริ่มด้วยปี ส.ศ. 1 และปฏิทินที่ใช้กับปีต่าง ๆ ก่อนสากลศักราชไม่ได้นับย้อนจากปีศูนย์ แต่เริ่มด้วยปี 1 ก.ส.ศ. ตัวเลขที่ใช้สำหรับปีไม่ว่าในวันเวลาใดจึงเป็นเลขเชิงอันดับที่จริง ๆ. นั่นคือ ปี ส.ศ. 1990 หมายถึง 1,989 ปีเต็มจริง ๆ นับแต่ตอนเริ่มต้นของสากลศักราช และวันที่ 1 กรกฎาคม 1990 คือ 1,989 ปีบวกกับครึ่งปีนับตั้งแต่ตอนเริ่มต้นสากลศักราช. หลักการเดียวกันนี้ใช้กับวันที่ต่าง ๆ ก่อนสากลศักราชด้วย. ดังนั้น เพื่อทราบว่ามีกี่ปีผ่านไประหว่างวันที่ 1 ตุลาคม ปี 607 ก.ส.ศ. ถึงวันที่ 1 ตุลาคม 1914 ให้เอา 606 ปี (บวกกับสามเดือนสุดท้ายของปีก่อน) บวกกับ 1,913 ปี (บวกเก้าเดือนแรกของปีถัดไป) ผลที่ได้คือ 2,519 ปี (บวก 12 เดือน) หรือ 2,520 ปี. หรือถ้าคุณต้องการทราบว่า 2,520 ปีหลังจากวันที่ 1 ตุลาคม ปี 607 ก.ส.ศ. จะเป็นวันที่อะไร ให้จำไว้ว่า 607 เป็นเลขเชิงอันดับที่—เลขนี้หมายถึงจำนวน 606 ปีเต็ม—และเนื่องจากเราไม่ได้นับจากวันที่ 31 ธันวาคม ปี 607 ก.ส.ศ. แต่นับจากวันที่ 1 ตุลาคม ปี 607 ก.ส.ศ. เราจึงต้องเพิ่ม 3 เดือนสุดท้ายของปี 607 ก.ส.ศ. เข้ากับ 606. ตอนนี้ให้เอา 2,520 ปีลบด้วย 606 1/4. จำนวนที่เหลือคือ 1,913 3/4. นั่นหมายความว่า 2,520 ปีจากวันที่ 1 ตุลาคมปี 607 ก.ส.ศ. นำเราเข้าไปในช่วงสากลศักราช 1913 3/4 ปี นั่นคือ 1,913 ปีเต็มนำเรามายังตอนเริ่มต้นของปี ส.ศ. 1914 และสามส่วนสี่ของหนึ่งปีที่เพิ่มเข้ามานำเรามายังวันที่ 1 ตุลาคม ส.ศ. 1914.d
27. เวลาหลักคืออะไร และเหตุใดจึงมีประโยชน์มาก?
27 เวลาหลัก. การลำดับเวลาที่วางใจได้ของคัมภีร์ไบเบิลอาศัยเวลาหลักที่เชื่อถือได้. เวลาหลักเป็นวันเวลาตามปฏิทินในประวัติศาสตร์ซึ่งมีหลักฐานน่าเชื่อถือควรแก่การยอมรับและตรงกับเหตุการณ์เฉพาะอย่างที่บันทึกไว้ในคัมภีร์ไบเบิล. ดังนั้น จึงสามารถใช้เวลานั้นเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อกำหนดได้อย่างแน่นอนว่า เหตุการณ์หนึ่ง ๆ ในคัมภีร์ไบเบิลเกิดขึ้นตั้งแต่วันไหนตามปฏิทิน. เมื่อกำหนดจุดหลักนั้นแล้ว การคำนวณไปข้างหน้าหรือย้อนหลังจากจุดนั้นจึงทำโดยอาศัยบันทึกที่ถูกต้องแม่นยำในคัมภีร์ไบเบิลเอง เช่น ช่วงอายุของคนที่มีกล่าวไว้หรือระยะเวลาการครองราชย์ของกษัตริย์องค์ต่าง ๆ. ดังนั้น โดยเริ่มจากจุดที่กำหนดไว้ เราจึงสามารถใช้ลำดับเวลาที่วางใจได้ในคัมภีร์ไบเบิลในการกำหนดวันที่ของเหตุการณ์หลายอย่างในคัมภีร์ไบเบิล.
28. เวลาหลักอะไรที่มีสำหรับพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู?
28 วันเวลาหลักสำหรับพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู. เหตุการณ์สำคัญอย่างหนึ่งที่มีบันทึกไว้ทั้งในคัมภีร์ไบเบิลและในประวัติศาสตร์ของทางโลกคือการโค่นเมืองบาบูโลนโดยชาวมีเดียและชาวเปอร์เซียภายใต้ไซรัส (โคเร็ศ). คัมภีร์ไบเบิลบันทึกเหตุการณ์นี้ไว้ที่ดานิเอล 5:30. แหล่งข้อมูลต่าง ๆ ทางประวัติศาสตร์ (รวมทั้งดีโอโดรุส, อาฟริกานุส, ยูเซบิอุส, ปโตเลมี และแผ่นดินเหนียวของบาบูโลน) สนับสนุนว่าปี 539 ก.ส.ศ. เป็นปีที่ไซรัสโค่นบาบูโลน. พงศาวดารนะโบไนดัสบอกวันและเดือนที่กรุงนั้นแตก (แต่ส่วนที่บอกปีหายไป). ผู้เชี่ยวชาญทางโลกในด้านการลำดับเวลาจึงได้กำหนดวันที่บาบูโลนแตกเป็นวันที่ 11 ตุลาคม ปี 539 ก.ส.ศ. ตามปฏิทินจูเลียนหรือวันที่ 5 ตุลาคมตามปฏิทินเกรกอเรียน.e
29. ไซรัสมีราชโองการออกมาเมื่อไร ซึ่งเปิดโอกาสสำหรับอะไร?
29 หลังจากการล่มจมของบาบูโลน และระหว่างปีแรกที่ไซรัสปกครองบาบูโลนที่ถูกพิชิต ท่านได้มีราชโองการอันเลื่องชื่อซึ่งอนุญาตให้ชาวยิวกลับสู่ยะรูซาเลม. เมื่อคำนึงถึงบันทึกในคัมภีร์ไบเบิล ราชโองการนั้นคงออกมาตอนปลายปี 538 ก.ส.ศ. หรือใกล้ถึงฤดูใบไม้ผลิของปี 537 ก.ส.ศ. เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้มีเวลาพอที่ชาวยิวจะตั้งถิ่นฐานอีกครั้งในปิตุภูมิของตนและมาถึงยะรูซาเลมเพื่อฟื้นฟูการนมัสการพระยะโฮวาใน “เดือนที่เจ็ด” คือเดือนทิชรี หรือประมาณวันที่ 1 ตุลาคม ปี 537 ก.ส.ศ.—เอษ. 1:1-4; 3:1-6.f
30. มีการกำหนดอย่างไรว่า ปี ส.ศ. 29 เป็นวันเวลาหลักสำหรับพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก?
30 วันเวลาหลักสำหรับพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก. วันเวลาหลักสำหรับพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกกำหนดโดยวันที่ทิเบริอุส ซีซาร์ (ติเบเรียวกายะซา) สืบตำแหน่งจากจักรพรรดิเอากุสตุส. เอากุสตุสสิ้นชีพเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ปี ส.ศ. 14 (ตามปฏิทินเกรกอเรียน); ทิเบริอุสได้รับการแต่งตั้งเป็นจักรพรรดิโดยสภาโรมันเมื่อวันที่ 15 กันยายน ปี ส.ศ. 14. ที่ลูกา 3:1, 3 กล่าวว่า โยฮันผู้ให้บัพติสมาเริ่มงานรับใช้ของท่านในปีที่ 15 แห่งรัชกาลทิเบริอุส. ถ้าปีต่าง ๆ นับกันตั้งแต่การสิ้นชีพของเอากุสตุส ปีที่ 15 จะเริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี ส.ศ. 28 ไปถึงเดือนสิงหาคมปี ส.ศ. 29. ถ้านับตั้งแต่ตอนที่ทิเบริอุสได้รับการแต่งตั้งจากสภาให้เป็นจักรพรรดิ ปีนั้นจะเริ่มตั้งแต่เดือนกันยายนปี ส.ศ. 28 ไปถึงเดือนกันยายนปี ส.ศ. 29. หลังจากนั้นไม่นาน พระเยซูซึ่งอายุอ่อนกว่าโยฮันผู้ให้บัพติสมาประมาณ 6 เดือนได้รับบัพติสมาเมื่อพระองค์ “มีพระชนมายุประมาณสามสิบพรรษา.” (ลูกา 3:2, 21-23; 1:34-38) เรื่องนี้ตรงกับคำพยากรณ์ที่ดานิเอล 9:25 ที่ว่า 69 “สัปดาห์” (สัปดาห์เชิงพยากรณ์ซึ่งแต่ละสัปดาห์มี 7 ปี จึงรวมเป็น 483 ปี) จะผ่านไปนับตั้งแต่ “มีถ้อยคำออกไปให้กู้กรุงเยรูซาเลม และให้สร้างขึ้นใหม่” รวมทั้งกำแพงกรุงนั้น จนถึงการปรากฏของพระมาซีฮา. (ดานิ. 9:24, ล.ม. เชิงอรรถ) “ถ้อยคำ” นั้นเป็นราชโองการของอาร์ทาเซอร์เซส [ลอนกีมานุส] ในปี 455 ก.ส.ศ. และนะเฮมยาเป็นผู้ปฏิบัติตามราชโองการนั้นในยะรูซาเลมในช่วงท้าย ๆ ของปีนั้น. และอีก 483 ปีต่อมา คือในช่วงหลังของปี ส.ศ. 29 เมื่อพระเยซูรับบัพติสมาจากโยฮัน พระองค์ได้รับการเจิมโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์จากพระเจ้าด้วย จึงได้เป็นพระมาซีฮาหรือผู้ถูกเจิม. ที่ว่าพระเยซูรับบัพติสมาและเริ่มงานรับใช้ของพระองค์ในช่วงท้ายปีนั้นยังสอดคล้องกับคำพยากรณ์ที่ว่าพระองค์จะต้องถูกตัดขาด “พอถึงกึ่งสัปดาห์” ของปีเหล่านั้น (หรือหลังจากสามปีครึ่ง). (ดานิ. 9:27, ล.ม.) เนื่องจากพระองค์สิ้นพระชนม์ในฤดูใบไม้ผลิ การรับใช้ของพระองค์สามปีครึ่งจึงต้องเริ่มตอนใกล้ถึงฤดูใบไม้ร่วงในปี ส.ศ. 29.g อนึ่ง หลักฐานสองทางนี้ยังพิสูจน์ด้วยว่าพระเยซูประสูติในฤดูใบไม้ร่วงของปี 2 ก.ส.ศ. เนื่องจากลูกา 3:23 แสดงว่าพระเยซูอายุประมาณ 30 ปีเมื่อพระองค์เริ่มปฏิบัติงาน.h
31. (ก) เหตุใดอัตราการล่วงเลยของเวลาจึงดูเหมือนแตกต่างกัน? (ข) คนที่อายุยังน้อยจึงมีข้อได้เปรียบอะไร?
31 วิธีที่เวลาเคลื่อนเร็วขึ้น. มีคำกล่าวโบราณที่ว่า “กาน้ำที่ถูกเฝ้ามองไม่เคยเดือด.” นั่นเป็นความจริงเมื่อเราเฝ้าดูเวลา เมื่อเราคำนึงถึงเวลา เมื่อเราคอยให้บางสิ่งเกิดขึ้น เวลาดูเหมือนผ่านไปช้าเหลือเกิน. แต่ถ้าเรามีงานมาก ถ้าเราสนใจและหมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่กำลังทำ ก็จะดูเหมือนว่า “เวลาติดปีกบิน” จริง ๆ. ยิ่งกว่านั้น เวลาของคนสูงอายุดูเหมือนผ่านไปเร็วกว่าเวลาของเด็ก ๆ มากทีเดียว. ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? หนึ่งปีที่เพิ่มเข้ากับชีวิตของเด็กอายุหนึ่งขวบหมายถึงประสบการณ์ชีวิตที่เพิ่มขึ้นถึง 100 เปอร์เซ็นต์. หนึ่งปีที่เพิ่มเข้ากับชีวิตของคนอายุ 50 ปีหมายถึงแค่ 2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น. สำหรับเด็ก ปีหนึ่งดูเหมือนนานมาก. ส่วนคนมีอายุ หากมีงานมากและมีสุขภาพดี จะพบว่าปีหนึ่ง ๆ ผ่านไปเร็วขึ้นเรื่อย ๆ. เขาได้มาเข้าใจลึกซึ้งขึ้นในถ้อยคำของซะโลโมที่ว่า “ภายใต้ดวงอาทิตย์หามีสิ่งใดที่นับว่าเป็นสิ่งใหม่ไม่.” อีกด้านหนึ่ง คนที่อายุน้อยยังมีเวลาเติบโตอีกหลายปีซึ่งดูเหมือนผ่านไปช้ากว่า. แทนที่จะ “วิ่งไล่ตามลม” ไปกับโลกที่นิยมวัตถุ พวกเขาอาจใช้ปีเหล่านั้นให้เกิดผลกำไรด้วยการสะสมประสบการณ์มากมายในแนวทางของพระเจ้า. ถ้อยคำของซะโลโมอีกตอนหนึ่งนับว่าเหมาะกับเวลาทีเดียว ที่ว่า “บัดนี้ จงระลึกถึงพระผู้สร้างองค์ยิ่งใหญ่ของเจ้าในช่วงวัยหนุ่มของเจ้า ก่อนยามทุกข์ร้อนจะมา หรือปีเดือนมาถึงเมื่อเจ้าจะกล่าวว่า ‘ข้าไม่มีความชื่นใจในปีเดือนเหล่านั้นเลย.’ ”—ผู้ป. 1:9, 14; 12:1, ล.ม.
32 มนุษย์อาจหยั่งรู้ค่าอย่างเต็มที่ยิ่งขึ้นต่อทัศนะของพระยะโฮวาเรื่องเวลาอย่างไร?
32 เวลา—เมื่อคนมีชีวิตตลอดไป. อย่างไรก็ตาม มีเวลาชื่นชมยินดีอยู่เบื้องหน้าซึ่งจะเป็นเวลาที่ห่างไกลจากความทุกข์ร้อน. เหล่าผู้รักความชอบธรรมซึ่งวันเวลาของพวกเขา ‘อยู่ในพระหัตถ์ของพระยะโฮวา’ ต่างคอยท่าชีวิตนิรันดร์ในดินแดนแห่งราชอาณาจักรของพระเจ้า. (เพลง. 31:14-16; มัด. 25:34, 46) ภายใต้ราชอาณาจักร ความตายจะไม่มีอีกต่อไป. (วิ. 21:4) การไม่มีอะไรทำ, ความเจ็บป่วย, ความเบื่อ และความไร้ค่าจะหมดไป. จะมีงานที่น่าสนใจและน่าทึ่งให้ทำ ซึ่งต้องใช้ความสามารถอันสมบูรณ์ของมนุษย์และทำให้ได้รับความพึงพอใจอย่างใหญ่หลวงในความสำเร็จ. ปีต่าง ๆ จะดูเหมือนผ่านไปเร็วขึ้น ๆ และจิตใจที่หยั่งรู้ค่าและสามารถจดจำก็จะมีความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ทำให้มีความสุขให้เก็บไว้มากขึ้นเรื่อย ๆ. ขณะที่หลายพันปีผ่านไป ไม่ต้องสงสัยว่ามนุษย์บนแผ่นดินโลกจะหยั่งรู้ค่าอย่างเต็มที่ยิ่งขึ้นต่อทัศนะของพระยะโฮวาเกี่ยวกับเวลา: ‘เพราะพันปีในสายพระเนตรของพระยะโฮวาก็เหมือนเวลาวานนี้ที่ล่วงไป.’—เพลง. 90:4.
33. เกี่ยวกับเวลา พระยะโฮวาทรงมีบัญชาให้เกิดพระพรเช่นไร?
33 เมื่อมองดูกระแสเวลาจากฐานะมนุษย์ในขณะนี้และพิจารณาคำสัญญาของพระเจ้าเรื่องโลกใหม่แห่งความชอบธรรม พระพรในสมัยนั้นจึงเป็นภาพความหวังที่น่ายินดีจริง ๆ: “เพราะที่นั่นพระยะโฮวาทรงบัญชาให้เกิดพระพร, แม้กระทั่งชีวิตถึงเวลาไม่กำหนด”!—เพลง. 133:3, ล.ม.
[เชิงอรรถ]
a คำว่า “ชั่วโมง” ปรากฏในฉบับแปลคิง เจมส์ ที่ดานิเอล 3:6, 15; 4:19, 33; 5:5 จากภาษาอาระเมอิก; อย่างไรก็ตาม ปทานุกรม, พจนานุกรมภาษาฮีบรูและแคลเดีย ของสตรอง (ภาษาอังกฤษ) ให้ความหมายของคำนั้นว่า “ประเดี๋ยวหนึ่ง คือ ครู่หนึ่ง.” คำนี้มีการแปลว่า “เวลา, ครู่หนึ่ง” ในพระคัมภีร์บริสุทธิ์ฉบับแปลโลกใหม่ (ภาษาอังกฤษ).
b ดูเชิงอรรถของข้อพระคัมภีร์เหล่านี้ (ในฉบับแปลโลกใหม่ ภาษาอังกฤษ).
c ปฏิทินของคัมภีร์ไบเบิล 1961 (ภาษาอังกฤษ) โดย เจ. ฟอน เคาดูเฟอร์ หน้า 75.
d การหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 1 หน้า 458.
e การหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 1 หน้า 453-454, 458; เล่ม 2 หน้า 459.
f การหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 1 หน้า 568.
g การหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 2 หน้า 899-902.
h การหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 2 หน้า 56-58.
[แผนภูมิหน้า 349]
ปีของชาวยิศราเอล
ชื่อเดือน ไนซาน (อาบิบ)
ตรงกับเดือน มีนาคม-เมษายน
ปีศักดิ์สิทธิ์ เดือน 1
ปีทางโลก เดือน 7
ข้ออ้างอิง เอ็ก. 13:4; นเฮม. 2:1
การฉลอง 14 ไนซาน ปัศคา
15-21 ไนซาน เทศกาลขนมไม่มีเชื้อ
16 ไนซาน การถวายผลแรก
ชื่อเดือน อียาร์ (ซิฟ)
ตรงกับเดือน เมษายน-พฤษภาคม
ปีศักดิ์สิทธิ์ เดือน 2
ปีทางโลก เดือน 8
ข้ออ้างอิง 1 กษัต. 6:1
ชื่อเดือน ซีวาน
ตรงกับเดือน พฤษภาคม-มิถุนายน
ปีศักดิ์สิทธิ์ เดือน 3
ปีทางโลก เดือน 9
ข้ออ้างอิง เอศ. 8:9
การฉลอง 6 ซีวาน การฉลองเทศกาลสัปดาห์
(เพนเตคอสเต)
ชื่อเดือน ทัมมูส
ตรงกับเดือน มิถุนายน-กรกฎาคม
ปีศักดิ์สิทธิ์ เดือน 4
ปีทางโลก เดือน 10
ข้ออ้างอิง ยิระ. 52:6
ชื่อเดือน อับ
ตรงกับเดือน กรกฎาคม-สิงหาคม
ปีศักดิ์สิทธิ์ เดือน 5
ปีทางโลก เดือน 11
ข้ออ้างอิง เอษรา 7:8
ชื่อเดือน เอลูล
ตรงกับเดือน สิงหาคม-กันยายน
ปีศักดิ์สิทธิ์ เดือน 6
ปีทางโลก เดือน 12
ข้ออ้างอิง นเฮม. 6:15
ชื่อเดือน ทิชรี (เอธานิม)
ตรงกับเดือน กันยายน-ตุลาคม
ปีศักดิ์สิทธิ์ เดือน 7
ปีทางโลก เดือน 1
ข้ออ้างอิง 1 กษัต. 8:2
การฉลอง 1 ทิชรี วันแห่งการเป่าแตร
10 ทิชรี วันแห่งการไถ่โทษ
15-21 ทิชรี เทศกาลตั้งทับอาศัย
22 ทิชรี การประชุมตามพิธี
ชื่อเดือน เฮชวาน (บูล)
ตรงกับเดือน ตุลาคม-พฤศจิกายน
ปีศักดิ์สิทธิ์ เดือน 8
ปีทางโลก เดือน 2
ข้ออ้างอิง 1 กษัต. 6:38
ชื่อเดือน ชิสเลฟ
ตรงกับเดือน พฤศจิกายน-ธันวาคม
ปีศักดิ์สิทธิ์ เดือน 9
ปีทางโลก เดือน 3
ข้ออ้างอิง นเฮม. 1:1
ชื่อเดือน เทเบท
ตรงกับเดือน ธันวาคม-มกราคม
ปีศักดิ์สิทธิ์ เดือน 10
ปีทางโลก เดือน 4
ข้ออ้างอิง เอศ. 2:16
ชื่อเดือน เชบัต
ตรงกับเดือน มกราคม-กุมภาพันธ์
ปีศักดิ์สิทธิ์ เดือน 11
ปีทางโลก เดือน 5
ข้ออ้างอิง ซคา. 1:7
ชื่อเดือน อะดาร์
ตรงกับเดือน กุมภาพันธ์-มีนาคม
ปีศักดิ์สิทธิ์ เดือน 12
ปีทางโลก เดือน 6
ข้ออ้างอิง เอศ. 3:7
ชื่อเดือน วีอะดาร์
ตรงกับเดือน (อธิกมาส)
ปีศักดิ์สิทธิ์ เดือน 13