บทสอง
ดานิเอล—หนังสือที่ถูกพิจารณาคดี
1, 2. ในแง่ใดที่พระธรรมดานิเอลถูกกล่าวหา และทำไมคุณคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะพิจารณาพยานหลักฐานที่ใช้แก้ข้อกล่าวหาที่มีต่อพระธรรมดานิเอล?
ขอนึกภาพว่าคุณเองอยู่ในศาล กำลังร่วมฟังการพิจารณาคดีสำคัญคดีหนึ่ง. ชายคนหนึ่งถูกกล่าวหาว่าฉ้อโกง. อัยการยืนยันว่าชายคนนี้มีความผิดจริง. กระนั้น ผู้ถูกกล่าวหามีชื่อเสียงมานานว่าเป็นคนซื่อสัตย์. คุณไม่อยากฟังพยานหลักฐานของฝ่ายจำเลยหรือ?
2 คุณก็อยู่ในสถานการณ์คล้ายกันเมื่อมาถึงกรณีของพระธรรมดานิเอล. ผู้เขียนพระธรรมเล่มนี้มีชื่อเสียงในเรื่องความซื่อสัตย์. พระธรรมที่เรียกตามชื่อของท่านได้รับความนับถืออย่างสูงมานานหลายพันปี. พระธรรมนี้อ้างว่าเป็นประวัติศาสตร์ที่น่าเชื่อถือ เขียนโดยดานิเอล ผู้พยากรณ์ชาวฮีบรูซึ่งมีชีวิตอยู่ระหว่างศตวรรษที่เจ็ดและศตวรรษที่หก ก.ส.ศ. การลำดับเวลาที่ถูกต้องในคัมภีร์ไบเบิลแสดงว่าพระธรรมเล่มนี้ครอบคลุมช่วงเวลาตั้งแต่ราว ๆ ปี 618 ถึงปี 536 ก.ส.ศ. และเขียนเสร็จในปีนั้นด้วย. แต่พระธรรมนี้ถูกกล่าวหา. สารานุกรมและหนังสืออ้างอิงอื่น ๆ บางเล่มบอกเป็นนัยหรือยืนยันตรง ๆ เลยว่าพระธรรมนี้เป็นเรื่องหลอกลวง.
3. สารานุกรมบริแทนนิกาฉบับใหม่ กล่าวอย่างไรเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของพระธรรมดานิเอล?
3 ยกตัวอย่าง สารานุกรมบริแทนนิกาฉบับใหม่ (ภาษาอังกฤษ) ยอมรับว่า ครั้งหนึ่ง “ถือกันโดยทั่วไปว่า [พระธรรมดานิเอล] เป็นประวัติศาสตร์ที่ถูกต้องแม่นยำ มีคำพยากรณ์แท้.” อย่างไรก็ดี สารานุกรมบริแทนนิกา อ้างว่าที่แท้แล้วพระธรรมดานิเอล “ถูกเขียนขึ้นในภายหลัง ตอนที่ชาติอยู่ในภาวะวิกฤติ—เมื่อชาวยิวกำลังถูกกดขี่อย่างหนักภายใต้อันทิโอกุสที่ 4 เอพิฟาเนส [กษัตริย์ชาวซีเรีย].” สารานุกรมนี้อ้างว่าพระธรรมเล่มนี้เขียนขึ้นระหว่างปี 167 ถึงปี 164 ก.ส.ศ. สารานุกรมเดียวกันนี้ยืนยันว่าผู้เขียนพระธรรมดานิเอลมิได้พยากรณ์อนาคต แต่แค่เล่า “เหตุการณ์ซึ่งสำหรับเขาแล้วเป็นเรื่องราวในอดีต เสมือนเป็นคำพยากรณ์ของเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต.”
4. การวิจารณ์พระธรรมดานิเอลเริ่มมีขึ้นเมื่อไร และอะไรกระตุ้นให้เกิดคำวิจารณ์คล้าย ๆ กันในศตวรรษหลัง ๆ?
4 ความคิดแบบนี้เริ่มมาจากไหน? การวิจารณ์พระธรรมดานิเอลไม่ใช่เรื่องใหม่. การกระทำดังกล่าวเริ่มมีตั้งแต่ศตวรรษที่สาม ส.ศ. โดยนักปรัชญาชื่อ พอร์เฟอรี. เช่นเดียวกับหลายคนในจักรวรรดิโรมัน เขารู้สึกว่าถูกคุกคามโดยอิทธิพลของศาสนาคริสเตียน. เขาเขียนหนังสือ 15 เล่มเพื่อเซาะกร่อนศาสนา “ใหม่” นี้. หนังสือเล่มที่ 12 มุ่งไปยังพระธรรมดานิเอลโดยตรง. พอร์เฟอรีประกาศว่าพระธรรมนี้เป็นเรื่องหลอกลวง เขียนขึ้นโดยชาวยิวคนหนึ่งในศตวรรษที่สอง ก.ส.ศ. การโจมตีคล้ายกันเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 18 และ 19. ในทัศนะของนักวิจารณ์พระคัมภีร์และนักเหตุผลนิยม การพยากรณ์ คือการบอกล่วงหน้าถึงเหตุการณ์ในอนาคต เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้. ดานิเอลกลายเป็นเป้าที่คนชอบโจมตี. อาจกล่าวได้ว่า ท่านและพระธรรมของท่านถูกนำขึ้นพิจารณาคดีในศาล. นักวิจารณ์อ้างว่า มีข้อพิสูจน์เหลือเฟือที่ว่าดานิเอลไม่ได้เขียนพระธรรมนี้ในช่วงที่ชาวยิวถูกเนรเทศไปยังบาบูโลน แต่มีคนอื่นเขียนขึ้นหลายศตวรรษหลังจากนั้น.a การโจมตีแบบนี้มีมากเสียจนนักเขียนคนหนึ่งถึงกับเขียนคำแก้ต่างชื่อดานิเอลในถ้ำของนักวิจารณ์ (ภาษาอังกฤษ).
5. ทำไมคำถามเรื่องความน่าเชื่อถือของพระธรรมดานิเอลจึงเป็นคำถามสำคัญ?
5 มีหลักฐานพิสูจน์คำยืนยันอย่างมั่นใจของพวกนักวิจารณ์ไหม? หรือว่าพยานหลักฐานกลับสนับสนุนฝ่ายที่ถูกกล่าวหา? มีเรื่องที่สำคัญหลายเรื่องเกี่ยวข้องอยู่ด้วย. ไม่ใช่แค่เรื่องชื่อเสียงของพระธรรมเก่าแก่เล่มนี้เท่านั้น แต่ยังเกี่ยวกับอนาคตของเราด้วย. หากพระธรรมดานิเอลเป็นเรื่องหลอกลวง คำสัญญาของพระธรรมนี้สำหรับมนุษยชาติก็เป็นเพียงถ้อยคำที่ไร้ความหมาย. แต่ถ้าพระธรรมนี้มีคำพยากรณ์แท้ แน่นอนที่คุณคงอยากเรียนรู้ว่าคำพยากรณ์เหล่านี้มีความหมายอะไรต่อเราในทุกวันนี้. โดยคำนึงถึงข้อนี้ ให้เราพิจารณาการโจมตีพระธรรมดานิเอลบางประการ.
6. บางครั้งมีข้อกล่าวหาอะไรเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในพระธรรมดานิเอล?
6 เพื่อเป็นตัวอย่าง ลองพิจารณาข้อกล่าวหาของสารานุกรมอเมริกานา (ภาษาอังกฤษ) ที่ว่า “รายละเอียดทางประวัติศาสตร์หลายอย่างในสมัยก่อน [เช่น ในช่วงที่ถูกเนรเทศไปยังบาบูโลน] ถูกบิดเบือนอย่างมาก” ในพระธรรมดานิเอล. เป็นอย่างนั้นจริงไหม? ให้เราพิจารณาเรื่องที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นข้อผิดพลาดสามเรื่อง โดยพิจารณาทีละเรื่อง.
กรณีของกษัตริย์ที่ขาดไป
7. (ก) ทำไมการที่ดานิเอลอ้างถึงเบละซาซัรเป็นที่ชื่นชอบของพวกนักวิจารณ์คัมภีร์ไบเบิลนานมาแล้ว? (ข) เกิดอะไรขึ้นกับความคิดที่ว่าเบละซาซัรเป็นเพียงบุคคลที่ถูกสมมุติขึ้น?
7 ดานิเอลเขียนว่า เบละซาซัร “เจ้าลูกยาเธอ” ของนะบูคัดเนซัร กำลังปกครองเป็นกษัตริย์ในบาบูโลนตอนที่เมืองนี้ถูกโค่นล้ม. (ดานิเอล 5:1, 11, 18, 22, 30) นักวิจารณ์โจมตีข้อความนี้นานมาแล้ว เพราะชื่อของเบละซาซัรไม่ปรากฏที่ไหนเลยนอกจากคัมภีร์ไบเบิล. นักประวัติศาสตร์โบราณกลับระบุว่า นะโบไนดัสซึ่งสืบตำแหน่งต่อจากนะบูคัดเนซัรเป็นกษัตริย์บาบูโลนองค์สุดท้าย. ดังนั้น ในปี 1850 เฟอร์ดินันด์ ฮิทซิก กล่าวว่า เบละซาซัรเป็นคนที่ผู้เขียนจินตนาการขึ้นอย่างเห็นได้ชัด. แต่ความคิดเห็นของฮิทซิกดูเหมือนเป็นการด่วนสรุปไปสักหน่อยมิใช่หรือ? ถ้าจะว่าไป การที่ไม่มีการกล่าวถึงกษัตริย์ผู้นี้—โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่าบันทึกทางประวัติศาสตร์หาได้ยาก—พิสูจน์ จริง ๆ ไหมว่าเบละซาซัรไม่เคยมีชีวิตอยู่? อย่างไรก็ดี ในปี 1854 มีการขุดพบกระบอกดินเหนียวเล็ก ๆ สองสามกระบอกในซากปรักหักพังของเมืองอูระแห่งบาบูโลนซึ่งตอนนี้อยู่ทางภาคใต้ของอิรัก. เอกสารอักษรรูปลิ่มเหล่านี้จากกษัตริย์นะโบไนดัสมีคำอธิษฐานเพื่อ “เบล-ซาร์-อุสเซอร์ บุตรคนใหญ่ของเรา.” แม้แต่นักวิจารณ์ยังต้องเห็นด้วยว่า นี่เป็นเบละซาซัรที่พระธรรมดานิเอลพูดถึง.
8. คำพรรณนาของดานิเอลเกี่ยวกับเบละซาซัรฐานะเป็นกษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่ได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นจริงอย่างไร?
8 แต่พวกนักวิจารณ์ยังไม่พอใจ. นักวิจารณ์คนหนึ่งชื่อ เอช. เอฟ. ทอลบัตเขียนว่า “นี่ไม่ได้พิสูจน์อะไรเลย.” เขากล่าวหาว่าบุตรในคำจารึกอาจเป็นแค่เด็ก ขณะที่ดานิเอลแสดงว่าเบละซาซัรเป็นกษัตริย์ซึ่งครองราชย์อยู่. กระนั้น เพียงหนึ่งปีหลังจากข้อสังเกตของทอลบัตถูกตีพิมพ์ มีการพบแผ่นดินเหนียวอักษรรูปลิ่มเพิ่มขึ้นซึ่งกล่าวถึงเบละซาซัรว่ามีเหล่าเลขานุการและพนักงานประจำครัวเรือน. นี่ไม่ใช่เด็กแน่ ๆ! ในที่สุด แผ่นดินเหนียวอื่น ๆ ก็ทำให้เรื่องลงเอยได้ โดยรายงานว่านะโบไนดัสออกไปจากบาบูโลนช่วงเวลาหนึ่งนานหลายปี. แผ่นดินเหนียวเหล่านี้ยังแสดงด้วยว่า ระหว่างช่วงเวลานั้นท่าน “มอบตำแหน่งกษัตริย์” แห่งบาบูโลนให้บุตรคนใหญ่ (เบละซาซัร). จึงอาจกล่าวได้ว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวเบละซาซัรเป็นกษัตริย์—ปกครองร่วมกับบิดาของท่าน.b
9. (ก) อาจเป็นในความหมายใดที่ดานิเอลกล่าวว่าเบละซาซัรเป็นบุตรของนะบูคัดเนซัร? (ข) ทำไมพวกนักวิจารณ์จึงผิดที่ยืนยันว่าดานิเอลไม่ได้บอกเป็นนัยเลยถึงเรื่องนะโบไนดัส?
9 พวกนักวิจารณ์ก็ยังคงไม่พอใจ บางคนกล่าวว่าคัมภีร์ไบเบิลเรียกเบละซาซัรว่าเป็นบุตรของนะบูคัดเนซัร ไม่ใช่บุตรของนะโบไนดัส. บางคนยืนยันว่าดานิเอลไม่ได้บอกเป็นนัยเลยว่ามีนะโบไนดัสอยู่. อย่างไรก็ตาม ข้ออ้างทั้งสองก็ตกไปเมื่อมีการตรวจสอบ. ดูเหมือนว่านะโบไนดัสสมรสกับธิดาของนะบูคัดเนซัร. นี่จึงทำให้เบละซาซัรเป็นหลานของนะบูคัดเนซัร. ทั้งภาษาฮีบรูและภาษาอาระเมอิกต่างก็ไม่มีคำที่ใช้สำหรับ “ปู่,” “ตา,” หรือ “หลาน”; คำ “บุตรของ” อาจหมายถึง “หลานของ” หรือแม้แต่ “เชื้อสายของ” ก็ได้. (เทียบกับมัดธาย 1:1.) นอกจากนั้น บันทึกในคัมภีร์ไบเบิลยังเปิดช่องให้กับความคิดที่ว่าเบละซาซัรเป็นบุตรของนะโบไนดัส. เมื่อเกิดความหวาดกลัวเพราะลายมือที่บอกลางร้ายบนผนัง เบละซาซัรผู้สิ้นหวังเสนอตำแหน่งที่สาม ในอาณาจักรให้แก่ใครก็ตามซึ่งสามารถแปลคำเหล่านั้นได้. (ดานิเอล 5:7) ทำไมเป็นที่สามไม่ใช่ที่สอง? ข้อเสนอนี้บอกเป็นนัยว่ามีผู้อยู่ในตำแหน่งที่หนึ่งและที่สองแล้ว. ที่จริงก็คือนะโบไนดัสและบุตร ซึ่งได้แก่เบละซาซัรนั่นเอง.
10. ทำไมบันทึกของดานิเอลเกี่ยวกับระบอบราชาธิปไตยของบาบูโลนจึงมีรายละเอียดมากกว่าของนักประวัติศาสตร์โบราณคนอื่น ๆ?
10 ดังนั้น การที่ดานิเอลกล่าวถึงเบละซาซัรจึงมิได้เป็นประวัติศาสตร์ที่ “บิดเบือนอย่างมาก.” ตรงกันข้าม ดานิเอล—แม้ว่าไม่ได้เขียนประวัติศาสตร์ของบาบูโลน—แต่ก็ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับระบอบราชาธิปไตยของบาบูโลนมากกว่านักประวัติศาสตร์ฝ่ายโลกยุคโบราณ เช่น เฮโรโดทุส, เซโนฟอน, และเบอรอสซุส. ทำไมดานิเอลสามารถบันทึกข้อเท็จจริงต่าง ๆ ซึ่งพวกเขาไม่ได้บันทึก? เพราะว่าท่านอยู่ที่นั่นในบาบูโลน. หนังสือของท่านเป็นผลงานของพยานรู้เห็น ไม่ใช่ของผู้แอบอ้างในศตวรรษหลัง ๆ.
ใครคือดาระยาศชาวมีเดีย?
11. ตามที่ดานิเอลกล่าว ใครคือดาระยาศชาวมีเดีย แต่มีการพูดถึงท่านอย่างไร?
11 ดานิเอลรายงานว่า เมื่อบาบูโลนถูกโค่นล้ม กษัตริย์องค์หนึ่งชื่อ “ดาระยาศชาวมาดาย [มีเดีย]” เริ่มครองราชย์. (ดานิเอล 5:31) ยังไม่มีการพบชื่อของดาระยาศชาวมีเดียในแหล่งต่าง ๆ ทางโลกหรือทางโบราณคดี. ดังนั้น สารานุกรมบริแทนนิกาฉบับใหม่ จึงยืนยันว่าดาระยาศนี้เป็น “บุคคลที่ถูกสมมุติขึ้น.”
12. (ก) ทำไมพวกนักวิจารณ์คัมภีร์ไบเบิลน่าจะรู้ว่าไม่ควรกล่าวอย่างแน่ชัดลงไปว่าดาระยาศชาวมีเดียไม่เคยมีชีวิตอยู่จริง? (ข) ความเป็นไปได้ประการหนึ่งเกี่ยวกับการระบุตัวดาระยาศชาวมีเดียคืออะไร และหลักฐานอะไรบ่งชี้เรื่องนี้?
12 ผู้คงแก่เรียนบางคนรอบคอบมากกว่านั้น. ถ้าจะว่าไป นักวิจารณ์เคยกล่าวว่าเบละซาซัร “ถูกสมมุติขึ้น” เช่นกัน. ไม่ต้องสงสัย กรณีของดาระยาศจะได้รับการพิสูจน์แบบเดียวกัน. แผ่นดินเหนียวอักษรรูปลิ่มเปิดเผยอยู่แล้วว่า ไซรัสชาวเปอร์เซียไม่ได้รับตำแหน่ง “กษัตริย์แห่งบาบูโลน” ทันทีหลังการพิชิต. นักค้นคว้าคนหนึ่งแนะว่า “ใครก็ตามที่ดำรงตำแหน่ง ‘กษัตริย์แห่งบาบูโลน’ ก็คือเจ้าประเทศราชที่อยู่ใต้ไซรัส ไม่ใช่ไซรัสเอง.” ดาระยาศจะเป็นบรรดาศักดิ์ หรือตำแหน่งของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจชาวมีเดียซึ่งรับผิดชอบดูแลบาบูโลนได้ไหม? บางคนแนะว่าดาระยาศอาจเป็นชายชื่อกูบารู. ไซรัสตั้งกูบารูไว้เป็นผู้ว่าราชการในบาบูโลน และบันทึกฝ่ายโลกยืนยันว่าเขามีอำนาจปกครองค่อนข้างมาก. แผ่นดินเหนียวอักษรรูปลิ่มแผ่นหนึ่งกล่าวว่าเขาแต่งตั้งรองผู้ว่าราชการทั่วบาบูโลน. น่าสนใจ ดานิเอลบันทึกว่าดาระยาศแต่งตั้งเจ้าเมือง 120 คนเพื่อปกครองอาณาจักรบาบูโลน.—ดานิเอล 6:1.
13. อะไรเป็นเหตุผลที่ฟังขึ้นที่ว่าทำไมมีการกล่าวถึงดาระยาศชาวมีเดียในพระธรรมดานิเอลแต่ไม่มีในบันทึกฝ่ายโลก?
13 เมื่อถึงเวลา อาจมีการพบหลักฐานโดยตรงที่ระบุตัวกษัตริย์องค์นี้ได้ชัดเจนกว่า. ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร การที่โบราณคดีดูเหมือนไม่ได้ให้หลักฐานในเรื่องนี้ก็ไม่น่าจะเป็นมูลเหตุที่จะเรียกดาระยาศว่าเป็นผู้ที่ “ถูกสมมุติขึ้น” ยิ่งกว่านั้น ไม่น่าจะบอกปัดพระธรรมดานิเอลทั้งเล่มโดยหาว่าเป็นเรื่องหลอกลวง. เป็นเรื่องที่มีเหตุผลมากกว่าที่จะมองบันทึกของดานิเอลว่าเป็นคำให้การของพยานรู้เห็นซึ่งมีรายละเอียดมากกว่าบันทึกฝ่ายโลกที่มีอยู่.
การครองราชย์ของยะโฮยาคิม
14. ทำไมจึงไม่มีการขัดแย้งกันระหว่างดานิเอลและยิระมะยาเกี่ยวกับปีแห่งการครองราชย์ของยะโฮยาคิม?
14 ดานิเอล 1:1 บอกว่า “ครั้นปีที่สามในรัชกาลของราชายะโฮยาคิมกษัตริย์ของยะฮูดา, ราชานะบูคัศเนซัรกษัตริย์ของประเทศบาบูโลนได้ยกกองทัพมายังกรุงยะรูซาเลมและตั้งค่ายล้อมเมืองไว้.” นักวิจารณ์ได้จับผิดข้อคัมภีร์นี้เพราะดูเหมือนข้อนี้จะไม่สอดคล้องกับยิระมะยา ซึ่งกล่าวว่าปีที่สี่ แห่งยะโฮยาคิมเป็นปีที่หนึ่ง แห่งนะบูคัดเนซัร. (ยิระมะยา 25:1; 46:2) ดานิเอลขัดแย้งกับยิระมะยาไหม? ด้วยข้อมูลที่เพิ่มขึ้น เรื่องราวก็พร้อมที่จะกระจ่างออกมา. ทีแรกเมื่อถูกฟาโรนะโคตั้งเป็นกษัตริย์ในปี 628 ก.ส.ศ. ยะโฮยาคิมกลายเป็นเพียงหุ่นเชิดของผู้ปกครองอียิปต์. นี่เป็นประมาณสามปีก่อนที่นะบูคัดเนซัรสืบบัลลังก์ของบาบูโลนต่อจากบิดาของท่านในปี 624 ก.ส.ศ. ไม่นานหลังจากนั้น (ในปี 620 ก.ส.ศ.) นะบูคัดเนซัรโจมตียูดาและแต่งตั้งยะโฮยาคิมเป็นเจ้าประเทศราชภายใต้บาบูโลน. (2 กษัตริย์ 23:34; 24:1) สำหรับชาวยิวที่อยู่ในบาบูโลน “ปีที่สาม” ของยะโฮยาคิมจึงเป็นปีที่สามของกษัตริย์องค์นั้นที่รับใช้ภายใต้บาบูโลน. ดานิเอลเขียนจากมุมมองนี้. อย่างไรก็ตาม ยิระมะยาเขียนจากมุมมองของชาวยิวซึ่งอาศัยอยู่ในกรุงยะรูซาเลม. ดังนั้น ท่านจึงกล่าวถึงการครองราชย์ของยะโฮยาคิมว่าเริ่มตั้งแต่ฟาโรนะโคตั้งยะโฮยาคิมขึ้นเป็นกษัตริย์.
15. ทำไมการโจมตีเรื่องวันเวลาในดานิเอล 1:1 เป็นข้อโต้แย้งที่ไร้น้ำหนัก?
15 ดังนั้น ข้อที่ถูกมองว่าขัดแย้งกันนี้ จริง ๆ แล้วมีแต่จะสนับสนุนข้อพิสูจน์ที่ว่าดานิเอลเขียนพระธรรมของท่านในบาบูโลนท่ามกลางเชลยชาวยิว. แต่การโต้แย้งพระธรรมดานิเอลนี้มีช่องโหว่ที่เห็นชัดอีกจุดหนึ่ง. จำไว้ว่าผู้เขียนพระธรรมดานิเอลมีพระธรรมยิระมะยาอยู่แล้วอย่างแน่นอนและถึงกับอ้างถึงพระธรรมนี้. (ดานิเอล 9:2) หากผู้เขียนพระธรรมดานิเอลเป็นนักหลอกลวงที่ฉลาดอย่างที่นักวิจารณ์ว่า เขาจะเสี่ยงต่อการขัดแย้งกับแหล่งซึ่งได้รับความนับถือมากอย่างยิระมะยาไหม—และที่ข้อแรกในหนังสือของเขาเลยทีเดียว? ไม่อย่างแน่นอน!
รายละเอียดที่มีน้ำหนัก
16, 17. หลักฐานทางโบราณคดีสนับสนุนบันทึกของดานิเอลอย่างไรในเรื่อง (ก) การที่นะบูคัดเนซัรตั้งรูปทางศาสนาเพื่อประชาชนทั้งปวงจะนมัสการ? (ข) ทัศนะที่โอ้อวดของนะบูคัดเนซัรเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างของท่านในบาบูโลน?
16 ขอให้เราหันความสนใจจากเรื่องที่คัดค้านไปยังเรื่องที่สนับสนุนพระธรรมดานิเอลบ้าง. เราจะพิจารณารายละเอียดอื่น ๆ บางอย่างในพระธรรมดานิเอลซึ่งบ่งชี้ว่าผู้เขียนพระธรรมนี้มีความรู้จากประสบการณ์ของตนเองเกี่ยวกับยุคที่เขาเขียนถึงนั้น.
17 การที่ดานิเอลคุ้นเคยกับรายละเอียดเบื้องลึกของบาบูโลนโบราณเป็นหลักฐานหนักแน่นว่าบันทึกของท่านน่าเชื่อถือ. เพื่อเป็นตัวอย่าง ดานิเอล 3:1-6 รายงานว่า นะบูคัดเนซัรตั้งรูปใหญ่ขึ้นเพื่อให้ทุกคนนมัสการ. นักโบราณคดีได้พบหลักฐานอื่น ๆ ที่แสดงว่ากษัตริย์องค์นี้หาทางให้ราษฎรเข้าไปยุ่งเกี่ยวมากขึ้นกับกิจปฏิบัติด้านชาตินิยมและศาสนา. คล้ายกัน ดานิเอลบันทึกเกี่ยวกับทัศนะอันโอ้อวดของนะบูคัดเนซัรเรื่องโครงการก่อสร้างหลายโครงการของท่าน. (ดานิเอล 4:30) นักโบราณคดีในปัจจุบันนี้เท่านั้นที่ยืนยันว่าแท้จริงนะบูคัดเนซัรเป็นผู้สนับสนุนงานก่อสร้างซึ่งได้ทำในบาบูโลนเป็นอย่างมาก. เพื่อจะโอ้อวด กษัตริย์นี้ถึงกับให้ประทับนามของท่านลงบนก้อนอิฐเลยทีเดียว! นักวิจารณ์พระธรรมดานิเอลไม่สามารถอธิบายได้ว่าผู้ที่พวกเขาถือว่าเป็นนักหลอกลวงแห่งยุคแมกคาบี (167-63 ก.ส.ศ.) จะรู้เรื่องโครงการก่อสร้างเช่นนี้ได้อย่างไร คือหลังจากเหตุการณ์ได้เกิดขึ้นประมาณสี่ศตวรรษและก่อนที่นักโบราณคดีจะค้นพบเรื่องนี้นานมาก.
18. บันทึกของดานิเอลเรื่องการลงโทษในแบบที่ต่างกันภายใต้การปกครองของบาบูโลนและเปอร์เซียสะท้อนถึงความถูกต้องแม่นยำอย่างไร?
18 พระธรรมดานิเอลยังเปิดเผยความแตกต่างที่สำคัญบางเรื่องระหว่างกฎหมายของบาบูโลนกับมิโด-เปอร์เซีย. ยกตัวอย่าง ภายใต้กฎหมายของบาบูโลน เพื่อนสามคนของดานิเอลถูกโยนลงในเตาไฟเพราะไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งของกษัตริย์. หลายสิบปีต่อมา ดานิเอลถูกโยนลงในถ้ำสิงโตเพราะไม่ยอมปฏิบัติตามกฎหมายของเปอร์เซียซึ่งขัดต่อสติรู้สึกผิดชอบของท่าน. (ดานิเอล 3:6; 6:7-9) บางคนพยายามปฏิเสธเรื่องเตาไฟว่าเป็นนิทานปรัมปรา แต่นักโบราณคดีได้พบจดหมายจริง ๆ จากบาบูโลนโบราณซึ่งพูดถึงการลงโทษแบบนี้โดยเฉพาะ. อย่างไรก็ดี ชาวมีเดียและชาวเปอร์เซียถือว่าไฟเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์. พวกเขาจึงเปลี่ยนไปใช้วิธีลงโทษที่โหดร้ายอีกแบบหนึ่ง. ด้วยเหตุนี้ ถ้ำสิงโตจึงเกิดขึ้นอย่างไม่น่าแปลกใจ.
19. มีความแตกต่างเช่นไรระหว่างระบบกฎหมายของบาบูโลนและของมิโด-เปอร์เซียที่พระธรรมดานิเอลทำให้เห็นชัด?
19 ความแตกต่างอีกอย่างหนึ่งปรากฏให้เห็น. ดานิเอลแสดงว่านะบูคัดเนซัรสามารถตรากฎหมายและเปลี่ยนแปลงได้ตามอำเภอใจ. ดาระยาศเปลี่ยนแปลง ‘กฎหมายชาวมีเดียและชาวเปอร์เซีย’ ไม่ได้—แม้แต่กฎหมายที่ท่านตราขึ้นเอง! (ดานิเอล 2:5, 6, 24, 46-49; 3:10, 11, 29; 6:12-16) นักประวัติศาสตร์ จอห์น ซี. ฮวิตโคมบ์ เขียนว่า “ประวัติศาสตร์โบราณให้หลักฐานยืนยันเรื่องความแตกต่างนี้ระหว่างบาบูโลนซึ่งกฎหมายอยู่ใต้กษัตริย์ กับมิโด-เปอร์เซียซึ่งกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย.”
20. รายละเอียดอะไรเกี่ยวกับงานเลี้ยงของเบละซาซัรสะท้อนว่าดานิเอลมีความรู้เกี่ยวกับธรรมเนียมของบาบูโลนโดยตรง?
20 บันทึกที่น่าตื่นเต้นเรื่องงานเลี้ยงของเบละซาซัรในดานิเอลบท 5 นั้นมีรายละเอียดมากมาย. ดูเหมือนว่า งานนี้เริ่มด้วยการกินอย่างอิ่มหนำสำราญและการดื่มจัด เพราะมีการกล่าวถึงเหล้าองุ่นหลายครั้ง. (ดานิเอล 5:1, 2, 4) ที่จริง รูปสลักลายนูนของงานเลี้ยงคล้าย ๆ กันนี้แสดงให้เห็นว่ามีการดื่มแต่เหล้าองุ่น. ดังนั้น จากหลักฐานที่มีอยู่ เหล้าองุ่นสำคัญอย่างยิ่งในงานเลี้ยงแบบนี้. ดานิเอลยังกล่าวว่ามีผู้หญิงในงานนี้ด้วย คือพระสนมและนางห้ามของกษัตริย์. (ดานิเอล 5:3, 23) โบราณคดีสนับสนุนรายละเอียดนี้เกี่ยวกับประเพณีของบาบูโลนด้วย. ความคิดที่ว่าภรรยาจะอยู่ร่วมกับผู้ชายในงานเลี้ยงเป็นที่คัดค้านของชาวยิวและชาวกรีกในยุคแมกคาบี. บางทีนั่นอาจเป็นเหตุผลที่ฉบับแปลกรีกเซปตัวจินต์ฉบับแรก ๆ ของพระธรรมดานิเอลจึงตัดส่วนที่กล่าวถึงผู้หญิงเหล่านี้.c กระนั้น ผู้ที่ว่ากันว่าเป็นนักหลอกลวงแห่งพระธรรมดานิเอลคงจะอยู่ในยุคซึ่งมีวัฒนธรรมที่ผสมผสานกับวัฒนธรรมกรีก และบางทีในยุคเดียวกันกับยุคซึ่งมีการแปลฉบับเซปตัวจินต์ ด้วยซ้ำ!
21. อะไรคือคำอธิบายที่มีเหตุผลที่สุดที่ดานิเอลมีความรู้อย่างละเอียดเกี่ยวกับยุคและธรรมเนียมของช่วงเวลาที่ถูกเนรเทศไปยังบาบูโลน?
21 เมื่อคำนึงถึงรายละเอียดเช่นนี้ ดูเหมือนเป็นเรื่องเหลือเชื่อที่สารานุกรมบริแทนนิกา จะพรรณนาถึงผู้เขียนพระธรรมดานิเอลว่ามีความรู้เพียง “ผิวเผินและไม่แม่นยำ” เรื่องยุคแห่งการถูกเนรเทศไปยังบาบูโลน. นักหลอกลวงคนใด ๆ ในหลายศตวรรษต่อมาจะมีความคุ้นเคยอย่างใกล้ชิดกับธรรมเนียมเก่าแก่ของชาวบาบูโลนและเปอร์เซียโบราณได้อย่างไร? ขอจำไว้ด้วยว่า จักรวรรดิทั้งสองเสื่อมไปนานก่อนศตวรรษที่สอง ก.ส.ศ. เห็นได้ชัดว่า ในยุคนั้นไม่มีนักโบราณคดี และชาวยิวในเวลานั้นก็ไม่ได้อ้างว่ามีความรู้ในเรื่องประเพณีและประวัติศาสตร์ของต่างชาติ. มีเพียงแค่ดานิเอลผู้พยากรณ์ พยานรู้เห็นในเวลาและเหตุการณ์ที่ท่านพรรณนาถึงเท่านั้นที่จะสามารถเขียนพระธรรมซึ่งเรียกตามชื่อของท่านได้.
ปัจจัยภายนอกพิสูจน์ว่า พระธรรมดานิเอลเป็นเรื่องหลอกลวงไหม?
22. นักวิจารณ์อ้างอะไรเกี่ยวกับการจัดพระธรรมดานิเอลในสารบบของพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู?
22 ข้อโต้แย้งธรรมดาที่สุดอย่างหนึ่งต่อพระธรรมดานิเอลนั้นเกี่ยวข้องกับการจัดพระธรรมนี้ในสารบบพระคัมภีร์ภาษาฮีบรู. รับบีสมัยโบราณจัดพระธรรมต่าง ๆ ในพระคัมภีร์ภาษาฮีบรูเป็นสามหมวดคือ: พระบัญญัติ, ผู้พยากรณ์, และข้อเขียน. พวกเขาไม่ได้จัดพระธรรมดานิเอลไว้ในหมวดผู้พยากรณ์แต่อยู่ในหมวดข้อเขียน. พวกนักวิจารณ์หาเหตุผลว่านี่หมายความว่าพระธรรมนี้ต้องไม่เป็นที่รู้จักตอนที่มีการรวบรวมงานเขียนของผู้พยากรณ์คนอื่น ๆ. พระธรรมนี้ถูกจัดอยู่ในหมวดข้อเขียนอาจเป็นเพราะว่าถูกรวบรวมในเวลาต่อมา.
23. ชาวยิวโบราณมีทัศนะต่อพระธรรมดานิเอลอย่างไร และเราทราบเรื่องนี้ได้อย่างไร?
23 กระนั้น ไม่ใช่นักค้นคว้าวิจัยคัมภีร์ไบเบิลทุกคนเห็นด้วยที่พวกรับบีสมัยโบราณได้แบ่งสารบบพระคัมภีร์ในลักษณะตายตัวเช่นนั้น หรือที่พวกเขาไม่รวมพระธรรมดานิเอลเข้าไว้ในหมวดผู้พยากรณ์. แต่ถึงแม้ว่าพวกรับบีได้จัดพระธรรมดานิเอลเข้ากับข้อเขียนจริง ๆ นี่จะพิสูจน์ไหมว่าพระธรรมนี้ได้รับการเขียนในยุคหลัง? ไม่. พวกผู้คงแก่เรียนที่มีชื่อเสียงได้ชี้ให้เห็นเหตุผลหลายประการที่ว่าทำไมพวกรับบีไม่รวมพระธรรมดานิเอลเข้ากับหมวดผู้พยากรณ์. ตัวอย่างเช่น พวกเขาอาจทำเช่นนั้นเพราะพระธรรมนี้ทำให้พวกเขาไม่พอใจ หรือเพราะพวกเขามองท่านดานิเอลต่างไปจากผู้พยากรณ์คนอื่น ๆ เนื่องจากท่านรับราชการในดินแดนของต่างชาติ. ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญจริง ๆ คือ ชาวยิวสมัยโบราณมีความนับถืออย่างยิ่งต่อพระธรรมดานิเอลและเชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งของสารบบของพระคัมภีร์. ยิ่งกว่านั้น หลักฐานชี้ว่าสารบบของพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูเสร็จสมบูรณ์นานก่อนศตวรรษที่สอง ก.ส.ศ. หลังจากนั้นก็ไม่มีการอนุญาตให้เพิ่มเติมส่วนต่าง ๆ เข้าไปอีกเลย รวมทั้งหนังสือบางเล่มซึ่งเขียนระหว่างศตวรรษที่สอง ก.ส.ศ.
24. มีการใช้หนังสือนอกสารบบของพระคัมภีร์ชื่อ เอ็คเคลซิแอสติคุส แย้งพระธรรมดานิเอลอย่างไร และอะไรแสดงว่าการอ้างเหตุผลแบบนี้ไม่ถูก?
24 ช่างน่าขัน หนึ่งในงานเขียนเหล่านี้ซึ่งถูกปฏิเสธเพราะได้รับการเขียนขึ้นในสมัยหลัง ๆ กลับถูกใช้เพื่อเป็นข้อโต้แย้งต่อพระธรรมดานิเอล. หนังสือนอกสารบบพระคัมภีร์ชื่อ เอ็คเคลซิแอสติคุส โดย เยซูส เบน ซีรัค มีหลักฐานว่าถูกเขียนประมาณปี 180 ก.ส.ศ. พวกนักวิจารณ์มักจะชี้ว่าดานิเอลไม่มีชื่ออยู่ในรายชื่อยาวเหยียดของเหล่าผู้ชอบธรรมในหนังสือนี้. พวกเขาหาเหตุผลว่าดานิเอลต้องไม่เป็นที่รู้จักในสมัยนั้น. ข้อโต้แย้งนี้เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางท่ามกลางผู้คงแก่เรียน. แต่ลองคิดเรื่องนี้ดู: รายชื่อเดียวกันนี้ไม่มีชื่อของเอษราและมาระดะคาย (ซึ่งทั้งสองเป็นวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ในทัศนะของชาวยิวยุคหลังการเป็นเชลย), กษัตริย์ยะโฮซาฟาดที่ดี, และโยบผู้ซื่อสัตย์; ในบรรดาผู้วินิจฉัยทั้งหมด มีชื่อของซามูเอลคนเดียวในรายชื่อนี้.d เนื่องจากคนเหล่านี้ไม่ปรากฏอยู่ในรายชื่อซึ่งไม่ได้อ้างว่ามีความครบถ้วนและยังอยู่ในหนังสือนอกสารบบของพระคัมภีร์อีกด้วย เราต้องตัดพวกเขาเหล่านี้ทุกคนออกไปโดยถือว่าถูกสมมุติขึ้นมาอย่างนั้นไหม? ความคิดนี้ไร้สาระ.
พยานหลักฐานภายนอกที่สนับสนุนพระธรรมดานิเอล
25. (ก) โยเซฟุสยืนยันความถูกต้องของบันทึกของดานิเอลอย่างไร? (ข) บันทึกของโยเซฟุสเกี่ยวกับอะเล็กซานเดอร์มหาราชและบันทึกของดานิเอลสอดคล้องกับประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างไร? (ดูเชิงอรรถที่สอง.) (ค) หลักฐานด้านภาษาสนับสนุนพระธรรมดานิเอลอย่างไร? (ดูหน้า 26.)
25 ขอให้เราหันมาใส่ใจในแง่มุมที่สนับสนุนพระธรรมดานิเอลอีกครั้ง. มีการแนะว่าไม่มีพระธรรมเล่มอื่นใดในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูได้รับการยืนยันอย่างดีเช่นพระธรรมดานิเอล. เพื่อเป็นตัวอย่าง โยเซฟุส นักประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงชาวยิวยืนยันความน่าเชื่อถือของพระธรรมดานิเอล. โยเซฟุสกล่าวว่า ระหว่างการทำสงครามกับเปอร์เซียในศตวรรษที่สี่ ก.ส.ศ. อะเล็กซานเดอร์มหาราชได้มาที่กรุงยะรูซาเลม ซึ่งพวกปุโรหิตแสดงสำเนาของพระธรรมดานิเอลให้ท่านดู. อะเล็กซานเดอร์เองได้สรุปว่าคำพยากรณ์ของดานิเอลซึ่งมีการชี้ให้ท่านดูนั้นได้กล่าวถึงการรบของท่านกับเปอร์เซีย.e นี่เกิดขึ้นประมาณหนึ่งศตวรรษครึ่งก่อน “การหลอกลวง” ดังที่พวกนักวิจารณ์ยกขึ้นมาอ้าง. แน่นอน พวกนักวิจารณ์โจมตีโยเซฟุสเกี่ยวกับข้อความนี้. พวกเขายังโจมตีโยเซฟุสที่ให้ข้อสังเกตว่าคำพยากรณ์ของพระธรรมดานิเอลบางข้อได้สำเร็จด้วย. กระนั้น ดังที่นักประวัติศาสตร์ โยเซฟ ดี. วิลสัน ออกความเห็นว่า “[โยเซฟุส] อาจจะรู้เรื่องดีกว่าบรรดานักวิจารณ์ทั้งหมดในโลกนี้.”
26. ม้วนหนังสือแห่งทะเลตายสนับสนุนความน่าเชื่อถือของพระธรรมดานิเอลอย่างไร?
26 ความน่าเชื่อถือของพระธรรมดานิเอลได้รับการสนับสนุนมากขึ้นเมื่อมีการพบม้วนหนังสือแห่งทะเลตาย (เดดซี) ในถ้ำใกล้ ๆ คุมราน อิสราเอล. สิ่งที่พบเป็นจำนวนมากอย่างน่าประหลาดในปี 1952 คือม้วนหนังสือและชิ้นส่วนต่าง ๆ จากพระธรรมดานิเอล. มีการคำนวณว่าชิ้นส่วนที่เก่าแก่ที่สุดถูกเขียนขึ้นประมาณปลายศตวรรษที่สอง ก.ส.ศ. ดังนั้น ในเวลานั้น พระธรรมดานิเอลเป็นที่รู้จักและได้รับความนับถืออย่างกว้างขวางกันอยู่แล้ว. สารานุกรมภาพเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลของซอนเดอร์แวน (ภาษาอังกฤษ) ตั้งข้อสังเกตว่า “การระบุว่าพระธรรมดานิเอลเขียนขึ้นในยุคแมกคาบีต้องถูกยกเลิกไปในตอนนี้ ทั้งนี้เนื่องจากเป็นไปไม่ได้ที่จะมีช่วงเวลาเพียงพอระหว่างการเขียนพระธรรมดานิเอลและการปรากฏเป็นเล่มในห้องสมุดของนิกายทางศาสนายุคแมกคาบี.”
27. อะไรเป็นหลักฐานเก่าแก่ที่สุดที่ว่าดานิเอลเป็นบุคคลจริงซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางระหว่างการถูกเนรเทศไปยังบาบูโลน?
27 อย่างไรก็ตาม มีการยืนยันเกี่ยวกับพระธรรมดานิเอลที่ไว้วางใจได้มากกว่าและเก่าแก่กว่ามาก. ผู้ร่วมสมัยกับดานิเอลคนหนึ่งคือผู้พยากรณ์ยะเอศเคล. ท่านรับใช้เป็นผู้พยากรณ์ระหว่างการเป็นเชลยในบาบูโลนเช่นกัน. พระธรรมยะเอศเคลกล่าวถึงชื่อของท่านดานิเอลสามครั้ง. (ยะเอศเคล 14:14, 20; 28:3) ข้ออ้างอิงเหล่านี้แสดงว่า แม้แต่ในระหว่างช่วงชีวิตของท่านเอง ในศตวรรษที่หก ก.ส.ศ. ดานิเอลก็เป็นที่รู้จักกันดีฐานะเป็นผู้ชอบธรรมและสุขุม ควรค่าแก่การกล่าวถึงพอ ๆ กับโนฮาและโยบผู้เกรงกลัวพระเจ้า.
พยานที่ยิ่งใหญ่ที่สุด
28, 29. (ก) อะไรเป็นข้อพิสูจน์ที่หนักแน่นที่สุดว่าพระธรรมดานิเอลน่าเชื่อถือ? (ข) ทำไมเราควรยอมรับคำพยานของพระเยซู?
28 กระนั้น ที่สุดแล้ว ขอให้เราพิจารณาพยานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดถึงความน่าเชื่อถือของพระธรรมดานิเอล—จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากพระเยซูคริสต์. ในการพิจารณาเรื่องยุคสุดท้าย พระเยซูทรงอ้างถึง “ดานิเอลศาสดาพยากรณ์” และทรงอ้างถึงคำพยากรณ์ข้อหนึ่งของดานิเอล.—มัดธาย 24:15; ดานิเอล 11:31; 12:11.
29 ตอนนี้หากทฤษฎีของนักวิจารณ์เรื่องการเขียนในยุคแมกคาบีถูกต้อง หนึ่งในสองอย่างนี้จะต้องเป็นจริง. พระเยซูถูกหลอกหรือมิฉะนั้นพระองค์ก็ไม่เคยตรัสอย่างที่มัดธายอ้างว่าพระองค์ตรัส. เป็นไปไม่ได้ทั้งสองอย่าง. หากเราไม่สามารถไว้ใจบันทึกในกิตติคุณของมัดธายได้ เราจะสามารถไว้ใจส่วนอื่น ๆ ในคัมภีร์ไบเบิลได้อย่างไร? หากเราตัดข้อความเหล่านี้ออกไป คำไหนอีกล่ะที่เราจะตัดออกไปอีกจากหน้าต่าง ๆ แห่งพระคัมภีร์บริสุทธิ์? อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “พระคัมภีร์ทุกตอน มีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้าและเป็นประโยชน์เพื่อการสั่งสอน, . . . เพื่อจัดการเรื่องราวให้เรียบร้อย.” (2 ติโมเธียว 3:16, ล.ม.) ดังนั้น ถ้าผู้เขียนดานิเอลเป็นคนหลอกลวงแล้วล่ะก็ เปาโลก็เป็นคนอย่างนั้นด้วย! พระเยซูจะถูกหลอกได้ไหม? ไม่มีทาง. พระองค์ทรงพระชนม์อยู่ในสวรรค์เมื่อมีการเขียนพระธรรมดานิเอล. พระเยซูถึงกับตรัสว่า “เราเป็นอยู่ก่อนอับราฮามเกิดอีก.” (โยฮัน 8:58) ในบรรดามนุษย์ที่เคยมีชีวิตอยู่ พระเยซูนี่แหละเป็นผู้เหมาะสมที่สุดซึ่งเราสมควรถามในเรื่องข้อมูลเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของพระธรรมดานิเอล. แต่เราไม่จำเป็นต้องถาม. ดังที่เราเห็นแล้ว คำพยานของพระองค์ชัดเจนมาก.
30. พระเยซูทรงทำให้พระธรรมดานิเอลน่าเชื่อถือมากขึ้นต่อไปอีกอย่างไร?
30 พระเยซูทรงทำให้พระธรรมดานิเอลน่าเชื่อถือมากขึ้นไปอีกตอนที่พระองค์รับบัพติสมา. ตอนนั้นพระองค์ทรงกลายเป็นพระมาซีฮา ทรงทำให้คำพยากรณ์ในดานิเอลเกี่ยวกับ 69 สัปดาห์แห่งปีสำเร็จเป็นจริง. (ดานิเอล 9:25, 26; ดูบท 11 ในหนังสือนี้.) ถึงแม้ถ้าหากทฤษฎีที่ว่าพระธรรมดานิเอลถูกเขียนขึ้นภายหลังนั้นเป็นความจริง ผู้เขียนพระธรรมดานิเอลก็ยังรู้อนาคต 200 ปีล่วงหน้า. แน่นอน พระเจ้าจะไม่ทรงดลใจให้ผู้หลอกลวงกล่าวคำพยากรณ์แท้ในชื่อปลอม. คำพยานของพระเยซูได้รับการยอมรับอย่างเต็มหัวใจโดยผู้ซื่อสัตย์ต่อพระเจ้า. หากผู้เชี่ยวชาญทุกคน, นักวิจารณ์ทุกคนในโลกจะร่วมกันประณามพระธรรมดานิเอล คำพยานของพระเยซูจะพิสูจน์ว่าพวกเขาผิด เพราะพระองค์เป็น “พยานที่ซื่อสัตย์และสัตย์จริง.”—วิวรณ์ 3:14, ล.ม.
31. ทำไมนักวิจารณ์คัมภีร์ไบเบิลหลายคนยังคงไม่เชื่อถือพระธรรมดานิเอล?
31 แม้คำพยานหลักฐานขนาดนี้ก็ยังไม่เพียงพอสำหรับนักวิจารณ์คัมภีร์ไบเบิลหลายคน. หลังจากพิจารณาเรื่องนี้โดยตลอดแล้ว เราคงอดสงสัยไม่ได้ว่าจะต้องมีหลักฐานมากเท่าใดถึงจะพอเพื่อให้พวกเขาเชื่อ. ศาสตราจารย์คนหนึ่งแห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดเขียนว่า “การเพียงแต่ตอบข้อคัดค้านก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา ตราบใดที่ยังมีอคติเดิม ๆ อยู่ ที่ว่า ‘ไม่อาจมีคำพยากรณ์เหนือธรรมชาติได้.’” ดังนั้น อคติของเขาทำให้เขาตาบอด. แต่นั่นเขาเลือกเอง—และเขาเป็นฝ่ายได้รับผลเสีย.
32. มีอะไรรอเราอยู่ในการศึกษาพระธรรมดานิเอล?
32 แล้วคุณล่ะ? หากคุณสามารถเห็นว่าไม่มีเหตุผลแท้จริงที่จะสงสัยความน่าเชื่อถือของพระธรรมดานิเอลแล้วล่ะก็ คุณก็พร้อมสำหรับการเดินทางเพื่อการค้นพบอันน่าตื่นเต้น. คุณจะพบว่าการบรรยายเรื่องราวต่าง ๆ ของพระธรรมดานิเอลน่าตื่นเต้น คำพยากรณ์ก็น่าสนใจยิ่ง. ที่สำคัญกว่านั้น คุณจะพบว่าความเชื่อของคุณเติบโตแข็งแรงขึ้นในแต่ละบทที่ผ่านไป. คุณจะไม่มีวันเสียใจที่ได้เอาใจใส่อย่างใกล้ชิดต่อคำพยากรณ์ของดานิเอล!
[เชิงอรรถ]
a นักวิจารณ์บางคนพยายามทำให้ข้อกล่าวหาเรื่องการหลอกลวงนี้เบาลงโดยกล่าวว่าผู้เขียนใช้ชื่อดานิเอลเป็นนามแฝง เหมือนกับหนังสือโบราณนอกสารบบของพระคัมภีร์บางเล่มที่เขียนภายใต้ชื่อที่สมมุติขึ้น. อย่างไรก็ตาม เฟอร์ดินันด์ ฮิทซิก นักวิจารณ์คัมภีร์ไบเบิลพูดว่า “ในกรณีของพระธรรมดานิเอลนั้นต่างกัน หากคนอื่นเป็นผู้เขียนพระธรรมนี้ละก็ กรณีนี้ถือว่าพระธรรมดานิเอลจะเป็นข้อเขียนที่หลอกลวง และความมุ่งหมายก็เพื่อจะหลอกผู้อ่าน ถึงแม้ว่าจะทำเพื่อประโยชน์ของพวกเขาก็ตาม.”
b นะโบไนดัสไม่อยู่ตอนที่บาบูโลนแตก. ดังนั้น จึงเป็นการพรรณนาอย่างถูกต้องที่ว่าเบละซาซัรเป็นกษัตริย์ในเวลานั้น. นักวิจารณ์เถียงว่าบันทึกทางโลกมิได้ถือว่าเบละซาซัรเป็นกษัตริย์อย่างเป็นทางการ. อย่างไรก็ดี หลักฐานโบราณชี้ว่า ผู้คนในยุคนั้นอาจเรียกกระทั่งผู้ว่าราชการว่าเป็นกษัตริย์.
c ผู้คงแก่เรียนด้านภาษาฮีบรู ซี. เอฟ. ไคล์ เขียนเกี่ยวกับดานิเอล 5:3 ว่า “ฉบับแปลกรีกเซปตัวจินต์ข้อนี้ และข้อ 23 ด้วย ตัดส่วนที่กล่าวถึงพวกผู้หญิง ตามประเพณีของชาวมาซิโดเนีย, ชาวกรีก, และชาวโรมัน.”
d เมื่อเทียบกันแล้ว รายชื่อของชายหญิงที่ซื่อสัตย์ซึ่งอัครสาวกเปาโลเขียนโดยการดลใจที่มีในพระธรรมเฮ็บรายบท 11 ดูเหมือนพาดพิงถึงเหตุการณ์ที่บันทึกในพระธรรมดานิเอล. (ดานิเอล 6:16-24; เฮ็บราย 11:32, 33) อย่างไรก็ดี รายชื่อของอัครสาวกเปาโลก็ไม่ครบถ้วนเช่นกัน. มีหลายคนเช่น ยะซายา, ยิระมะยา, และยะเอศเคล ไม่ปรากฏในรายชื่อนี้ แต่นี่ไม่ได้พิสูจน์ว่าพวกเขาไม่เคยมีชีวิตอยู่.
e นักประวัติศาสตร์บางคนได้ให้ข้อสังเกตว่า นี่คงจะอธิบายได้ว่าทำไมอะเล็กซานเดอร์จึงปรานีชาวยิว ซึ่งเป็นมิตรกับชาวเปอร์เซียมานาน. ในเวลานั้น อะเล็กซานเดอร์อยู่ในช่วงการสงครามเพื่อทำลายมิตรของเปอร์เซียทั้งหมด.
คุณได้เรียนรู้อะไร?
• พระธรรมดานิเอลถูกกล่าวหาเช่นไร?
• เพราะเหตุใดการโจมตีของนักวิจารณ์ต่อพระธรรมดานิเอลจึงไม่มีรากฐานที่ดี?
• พยานหลักฐานอะไรสนับสนุนว่าบันทึกของดานิเอลน่าเชื่อถือ?
• อะไรเป็นข้อพิสูจน์ที่หนักแน่นที่สุดว่าพระธรรมดานิเอลน่าเชื่อถือ?
[กรอบหน้า 26]
ประเด็นเรื่องภาษา
การเขียนพระธรรมดานิเอลเสร็จสิ้นลงประมาณปี 536 ก.ส.ศ. พระธรรมนี้เขียนในภาษาฮีบรูและภาษาอาระเมอิก มีคำภาษากรีกและเปอร์เซียเล็กน้อย. การผสมผสานภาษาในลักษณะนี้เป็นเรื่องผิดปกติแต่ก็ไม่ใช่มีแห่งเดียวในพระคัมภีร์. พระธรรมเอษราได้รับการเขียนในภาษาฮีบรูและอาระเมอิกด้วย. กระนั้น นักวิจารณ์บางคนยืนยันว่า ผู้เขียนพระธรรมดานิเอลใช้ภาษาเหล่านี้ในลักษณะที่พิสูจน์ว่าเขาได้เขียนภายหลังปี 536 ก.ส.ศ. มีการอ้างถึงนักวิจารณ์คนหนึ่งอย่างกว้างขวางเมื่อเขากล่าวว่า การใช้คำภาษากรีกในพระธรรมดานิเอลแสดงว่าต้อง ได้รับการเขียนขึ้นในยุคหลัง ๆ. เขายืนยันว่า ภาษาฮีบรูสนับสนุน และภาษาอาระเมอิกอย่างน้อยเปิดช่อง ให้เห็นว่ามีการเขียนในช่วงหลัง ๆ—กระทั่งถึงศตวรรษที่สอง ก.ส.ศ. ทีเดียว.
อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ผู้คงแก่เรียนด้านภาษาทุกคนเห็นด้วย. ผู้เชี่ยวชาญบางคนกล่าวว่า ภาษาฮีบรูของดานิเอลคล้ายกับของยะเอศเคลและเอษราแต่ไม่เหมือนกับที่พบในงานเขียนนอกสารบบพระคัมภีร์ เช่น เอ็คเคลซิแอสติคุส. ส่วนการใช้ภาษาอาระเมอิกของดานิเอล ขอพิจารณาเอกสารสองฉบับที่พบอยู่ในหมู่ม้วนหนังสือแห่งทะเลตาย. เอกสารเหล่านี้เขียนในภาษาอาระเมอิกเช่นกันและเขียนขึ้นในศตวรรษที่หนึ่งและสอง ก.ส.ศ.—ไม่นานหลังจากช่วงเวลาที่คิดกันว่ามีการหลอกลวงในพระธรรมดานิเอล. แต่ผู้คงแก่เรียนได้สังเกตเห็นความแตกต่างอย่างมากระหว่างภาษาอาระเมอิกที่ใช้ในเอกสารเหล่านั้นและที่ใช้ในพระธรรมดานิเอล. ดังนั้น บางคนแนะว่าพระธรรมดานิเอลต้องมีอายุเก่าแก่กว่าที่พวกนักวิจารณ์ยืนยันหลายศตวรรษ.
จะว่าอย่างไรกับคำภาษากรีกในพระธรรมดานิเอลที่ “เป็นปัญหา”? คำเหล่านี้บางคำปรากฏว่าเป็นภาษาเปอร์เซีย ไม่ใช่ภาษากรีกเลย! คำที่ยังคงคิดว่าเป็นภาษากรีกคือชื่อเครื่องดนตรีสามชนิด. การที่มีสามคำนี้ทำให้พระธรรมดานิเอลต้อง มีการเขียนในช่วงหลัง ๆ ไหม? ไม่. นักโบราณคดีพบว่า วัฒนธรรมกรีกมีอิทธิพลก่อนที่กรีซจะเป็นมหาอำนาจโลกนานหลายศตวรรษ. ยิ่งกว่านั้น หากพระธรรมดานิเอลได้รับการเขียนในศตวรรษที่สอง ก.ส.ศ. เมื่อวัฒนธรรมและภาษากรีกแพร่หลาย พระธรรมนี้จะมีภาษากรีกเพียงสามคำเท่านั้น ไหม? คงไม่ใช่. น่าจะมีมากกว่านี้แน่ ๆ. ดังนั้น หลักฐานด้านภาษาสนับสนุนความน่าเชื่อถือของพระธรรมดานิเอลจริง ๆ.
[ภาพเต็มหน้า 12]
[ภาพหน้า 20]
(ล่าง) กระบอกดินเหนียวในวิหารของบาบูโลนบอกชื่อนะโบไนดัสและเบละซาซัรบุตรของท่าน
(บน) คำจารึกนี้มีคำโอ้อวดของนะบูคัดเนซัรเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างของท่าน
[ภาพหน้า 21]
ตามที่มีกล่าวในบันทึกเหตุการณ์ของนะโบไนดัส กองทัพของไซรัสเข้าเมืองบาบูโลนโดยไม่มีการต่อสู้
[ภาพหน้า 22]
(ขวา) “บันทึกเชิงกวีนิพนธ์ของนะโบไนดัส” รายงานว่านะโบไนดัสได้มอบอำนาจการปกครองแก่บุตรคนใหญ่
(ซ้าย) บันทึกของบาบูโลนเรื่องนะบูคัดเนซัรโจมตียูดา