ห้องสมุดออนไลน์ของวอชเทาเวอร์
ห้องสมุดออนไลน์
ของวอชเทาเวอร์
ไทย
  • คัมภีร์ไบเบิล
  • สิ่งพิมพ์
  • การประชุม
  • รร บทเรียน 4 น. 93-น. 96 ว. 2
  • การ​พูด​ที่​คล่องแคล่ว

ไม่มีวีดีโอสำหรับรายการนี้

ขออภัย โหลดวีดีโอนี้ไม่ได้

  • การ​พูด​ที่​คล่องแคล่ว
  • การรับประโยชน์จากโรงเรียนการรับใช้ตามระบอบของพระเจ้า
  • เรื่องที่คล้ายกัน
  • การพูดติดอ่าง—แก้ได้อย่างไร?
    ตื่นเถิด! 2010
การรับประโยชน์จากโรงเรียนการรับใช้ตามระบอบของพระเจ้า
รร บทเรียน 4 น. 93-น. 96 ว. 2

บทเรียน 4

การ​พูด​ที่​คล่องแคล่ว

คุณ​ต้อง​ทำ​อะไร?

อ่าน​และ​พูด​ใน​แบบ​ที่​คำ​พูด​และ​ความ​คิด​ของ​คุณ​ลื่น​ไหล. เมื่อ​การ​พูด​คล่องแคล่ว คำ​พูด​จะ​ไม่​ติด ๆ ขัด ๆ หรือ​ช้า​เกิน​ไป​จน​น่า​อึดอัด, และ​ไม่​อ่าน​ตะกุกตะกัก​หรือ​ไม่​ต้อง​ใช้​เวลา​นึก​เรื่อง​ที่​จะ​พูด.

เหตุ​ใด​จึง​สำคัญ?

เมื่อ​ผู้​บรรยาย​ขาด​ความ​คล่องแคล่ว ความ​คิด​ของ​ผู้​ฟัง​อาจ​เขว​ไป; การ​พูด​อาจ​ถ่ายทอด​แนว​คิด​ที่​ผิด​ไป. เรื่อง​ที่​พูด​อาจ​ไม่​โน้ม​น้าว​ใจ.

เมื่อ​อ่าน​ออก​เสียง คุณ​อ่าน​บาง​คำ​ตะกุกตะกัก​ไหม? หรือ​เมื่อ​ขึ้น​พูด​ต่อ​หน้า​ผู้​ฟัง คุณ​พบ​ว่า​คุณ​มัก​จะ​นึก​หา​คำ​พูด​ที่​เหมาะ​สม​ไม่​ค่อย​ออก​ไหม? ถ้า​เป็น​เช่น​นั้น คุณ​ก็​อาจ​มี​ปัญหา​เรื่อง​ความ​คล่องแคล่ว. บุคคล​ที่​คล่องแคล่ว​อ่าน​และ​พูด​แบบ​ที่​คำ​และ​ความ​คิด​ลื่น​ไหล​ไม่​ติด​ขัด​และ​น่า​ฟัง. นี่​ไม่​ได้​หมาย​ความ​ว่า​เขา​พูด​ไม่​หยุด, พูด​เร็ว, หรือ​พูด​โดย​ไม่​คิด. คำ​พูด​ของ​เขา​ไพเราะ​น่า​ฟัง. ใน​โรง​เรียน​การ​รับใช้​ตาม​ระบอบ​ของ​พระเจ้า​จะ​มี​การ​เอา​ใจ​ใส่​เป็น​พิเศษ​ใน​เรื่อง​ความ​คล่องแคล่ว.

มี​หลาย​ปัจจัย​ที่​ทำ​ให้​การ​พูด​ขาด​ความ​คล่องแคล่ว. คุณ​ต้อง​คำนึง​เป็น​พิเศษ​ใน​เรื่อง​ต่อ​ไป​นี้​ไหม? (1) เมื่อ​อ่าน​ต่อ​หน้า​คน​อื่น ๆ บาง​คำ​ที่​ไม่​คุ้น​เคย​อาจ​ทำ​ให้​เกิด​ความ​ลังเล. (2) การ​หยุด​นิด ๆ หน่อย ๆ บ่อย​เกิน​ไป อาจ​ทำ​ให้​การ​พูด​ตะกุกตะกัก. (3) การ​ขาด​การ​เตรียม​ตัว​อาจ​เป็น​เหตุ​ให้​เกิด​ปัญหา​นี้. (4) ใน​การ​บรรยาย​ต่อ​หน้า​กลุ่ม​ผู้​ฟัง ปัจจัย​พื้น ๆ ที่​ทำ​ให้​ขาด​ความ​คล่องแคล่ว​คือ​การ​ไม่​ได้​จัด​เรียง​เนื้อหา​ตาม​เหตุ​ผล. (5) การ​รู้​จัก​คำ​ศัพท์​ไม่​มาก​พอ​อาจ​เป็น​เหตุ​ให้​คน​เรา​ลังเล​ขณะ​นึก​หา​คำ​ที่​เหมาะ​สม. (6) ถ้า​มี​การ​เน้น​หลาย​คำ​เกิน​ไป ความ​คล่องแคล่ว​ก็​อาจ​ลด​ลง. (7) การ​ไม่​คุ้น​เคย​กับ​หลัก​ไวยากรณ์​อาจ​ทำ​ให้​เกิด​ปัญหา​นี้.

ถ้า​คุณ​ขาด​ความ​คล่องแคล่ว ถึง​แม้​ผู้​ฟัง​จะ​ไม่​เดิน​ออก​จาก​หอ​ประชุม​ไป​ก็​จริง แต่​ความ​คิด​ของ​เขา​อาจ​เขว​ไป. ผล​ก็​คือ เรื่อง​ที่​คุณ​พูด​ส่วน​ใหญ่​จะ​สูญ​เปล่า.

ใน​อีก​ด้าน​หนึ่ง จำ​ต้อง​ระมัดระวัง​เพื่อ​คำ​พูด​ที่​ตั้งใจ​จะ​ให้​มี​พลัง​และ​คล่องแคล่ว​จะ​ไม่​กลาย​เป็น​การ​พูด​ข่ม​คน​อื่น หรือ​บาง​ที​ถึง​กับ​ทำ​ให้​ผู้​ฟัง​รู้สึก​อึดอัด​ด้วย​ซ้ำ. หาก​เนื่อง​จาก​ภูมิ​หลัง​ทาง​วัฒนธรรม​ที่​แตกต่าง​กัน​ทำ​ให้​ผู้​คน​มอง​วิธี​ที่​คุณ​พูด​ว่า​เป็น​การ​อวด​ตัว​หรือ​ไม่​จริง​ใจ นั่น​จะ​ทำ​ให้​คุณ​ไม่​บรรลุ​เป้าหมาย. น่า​สนใจ​ที่​อัครสาวก​เปาโล​ซึ่ง​ถึง​แม้​เป็น​ผู้​บรรยาย​ที่​มี​ประสบการณ์​ก็​ยัง​แสดง​ท่า​ที​ต่อ​ชาว​เมือง​โกรินโธ​อย่าง “อ่อน​กำลัง, มี​ความ​กลัว​และ​หวั่น​หวาด​มาก” เพื่อ​ว่า​ท่าน​จะ​ไม่​ดึง​ความ​สนใจ​มา​สู่​ตัว​ท่าน​เอง​โดย​ไม่​จำเป็น.—1 โก. 2:3.

นิสัย​ต่าง ๆ ที่​พึง​หลีก​เลี่ยง. หลาย​คน​ใช้​คำ​แทรก​บาง​คำ​จน​ติด เช่น “เอ้อ-อ้า” หรือ “แล้ว​ก็.” บาง​คน​ไม่​ว่า​จะ​พูด​อะไร​ก็​ตาม​มัก​จะ​เริ่ม​ด้วย​คำ​ว่า “จริง ๆ แล้ว” หรือ​แทรก​วลี เช่น “ใช่​ไหม” หรือ “แบบ​ว่า.” บาง​ที​คุณ​อาจ​ไม่​รู้​ตัว​ด้วย​ซ้ำ​ว่า​คุณ​พูด​คำ​แบบ​นี้​บ่อย​แค่​ไหน. คุณ​อาจ​ฝึก​โดย​ให้​ใคร​สัก​คน​ฟัง​คุณ​และ​ให้​เขา​พูด​ซ้ำ​คำ​เหล่า​นั้น​ทุก​ครั้ง​ที่​คุณ​พูด. คุณ​อาจ​ประหลาด​ใจ​ก็​ได้.

บาง​คน​มัก​จะ​กลับ​มา​อ่าน​และ​พูด​ซ้ำ​ประโยค​เดิม​อีก. นั่น​คือ เขา​เริ่ม​พูด​ประโยค​หนึ่ง​แล้ว​หยุด​กลาง​คัน​และ​วก​กลับ​มา​พูด​อย่าง​น้อย​ส่วน​หนึ่ง​ของ​ข้อ​ความ​ที่​เขา​พูด​ไป​แล้ว​ซ้ำ​อีก.

ยัง​มี​บาง​คน​ที่​พูด​เร็ว​พอ แต่​เขา​เริ่ม​พูด​แนว​คิด​หนึ่ง แล้ว​ก็​เปลี่ยน​แนว​ความ​คิด​กลาง​คัน. ถึง​แม้​คำ​พูด​ฟัง​ดู​ราบรื่น แต่​การ​เปลี่ยน​แนว​ความ​คิด​กะทันหัน​ทำ​ให้​สูญ​เสีย​ความ​คล่องแคล่ว​ไป.

วิธี​ปรับ​ปรุง​ให้​ดี​ขึ้น. ถ้า​ปัญหา​ของ​คุณ​คือ​มัก​นึก​หา​คำ​พูด​ที่​เหมาะ​สม​ไม่​ค่อย​ออก คุณ​ก็​ต้อง​พยายาม​อย่าง​จริงจัง​เพื่อ​จะ​รู้​คำ​ศัพท์​ให้​มาก​ขึ้น. จง​สังเกต​เป็น​พิเศษ​ต่อ​คำ​ต่าง ๆ ที่​คุณ​ไม่​คุ้น​เคย​ขณะ​ที่​อ่าน​วารสาร​หอสังเกตการณ์, ตื่นเถิด!, และ​สรรพหนังสือ​อื่น ๆ. จง​เปิด​พจนานุกรม​เพื่อ​ดู​คำ​เหล่า​นั้น, ตรวจ​ดู​การ​ออก​เสียง​และ​ความ​หมาย, และ​จด​จำ​คำ​เหล่า​นั้น​ไว้​ใน​รายการ​คำ​ศัพท์​ของ​คุณ. หาก​คุณ​ไม่​มี​พจนานุกรม จง​ขอ​ความ​ช่วยเหลือ​จาก​ผู้​ที่​พูด​ภาษา​นั้น​ได้​ดี.

การ​ทำ​ให้​เป็น​นิสัย​ที่​จะ​อ่าน​ออก​เสียง​เป็น​ประจำ​จะ​ช่วย​ปรับ​ปรุง​ให้​ดี​ขึ้น. จง​สังเกต​คำ​ที่​อ่าน​ยาก และ​อ่าน​ออก​เสียง​คำ​เหล่า​นั้น​หลาย ๆ ครั้ง.

เพื่อ​จะ​อ่าน​ได้​คล่องแคล่ว จำเป็น​ต้อง​เข้าใจ​ว่า​คำ​ต่าง ๆ ใน​ประโยค​สัมพันธ์​กัน​อย่าง​ไร. โดย​ปกติ​แล้ว​ควร​อ่าน​คำ​ต่าง ๆ เป็น​กลุ่ม​คำ​เพื่อ​จะ​ถ่ายทอด​ความ​คิด​ของ​ผู้​เขียน. จง​สังเกต​กลุ่ม​คำ​เหล่า​นี้​เป็น​พิเศษ. ทำ​เครื่องหมาย​ไว้​ถ้า​จะ​ช่วย​คุณ​ได้. เป้าหมาย​ของ​คุณ​ไม่​ใช่​เพียง​แค่​อ่าน​คำ​ต่าง ๆ อย่าง​ถูก​ต้อง​เท่า​นั้น แต่​เพื่อ​จะ​ถ่ายทอด​ความ​คิด​อย่าง​ชัดเจน​ด้วย. หลัง​จาก​คุณ​วิเคราะห์​ประโยค​หนึ่ง ก็​ให้​วิเคราะห์​ประโยค​ถัด​ไป​และ​ทำ​อย่าง​นี้​จน​จบ​ทั้ง​ย่อ​หน้า. จง​ทำ​ความ​คุ้น​เคย​กับ​ความ​คิด​ที่​ถ่ายทอด​ออก​มา​ใน​ย่อ​หน้า​นั้น. ครั้น​แล้ว จง​ฝึก​อ่าน​ออก​เสียง. อ่าน​ย่อ​หน้า​นั้น​ซ้ำ​หลาย ๆ ครั้ง​จน​กระทั่ง​คุณ​สามารถ​อ่าน​โดย​ไม่​ติด​ขัด​และ​ไม่​หยุด​ผิด​ที่. จาก​นั้น ก็​ทำ​อย่าง​เดียว​กัน​กับ​ย่อ​หน้า​ถัด​ไป.

ถัด​จาก​นั้น จง​เร่ง​จังหวะ​การ​อ่าน​ให้​เร็ว​ขึ้น. ถ้า​คุณ​เข้าใจ​ว่า​คำ​ต่าง ๆ ใน​ประโยค​สัมพันธ์​กัน​อย่าง​ไร คุณ​จะ​สามารถ​กวาด​ตา​มอง​ได้​มาก​กว่า​หนึ่ง​คำ​ใน​แต่​ละ​ครั้ง และ​สามารถ​จะ​คาด​หมาย​ได้​ถึง​คำ​ที่​ควร​จะ​ตาม​มา. สิ่ง​นี้​จะ​ช่วย​ให้​การ​อ่าน​ของ​คุณ​มี​ประสิทธิภาพ​มาก​ขึ้น.

การ​ฝึก​เป็น​ประจำ​ที่​จะ​อ่าน​ออก​เสียง​ทันที​เมื่อ​เห็น​ตัว​หนังสือ​อาจ​เป็น​การ​ฝึกฝน​ที่​มี​คุณค่า. ตัว​อย่าง​เช่น จง​อ่าน​ออก​เสียง​ข้อ​คัมภีร์​ประจำ​วัน​และ​คำ​อธิบาย​โดย​ไม่​เตรียม​ตัว​ล่วง​หน้า และ​ทำ​อย่าง​นี้​เป็น​ประจำ. จง​ทำ​ให้​เป็น​นิสัย​ที่​จะ​มอง​คำ​ต่าง ๆ เป็น​กลุ่ม​คำ​ที่​ให้​แนว​คิด​ครบ​ถ้วน​แทน​ที่​จะ​มอง​ที​ละ​คำ ๆ.

ใน​การ​สนทนา เพื่อ​จะ​พูด​ได้​คล่องแคล่ว คุณ​ต้อง​คิด​ก่อน​พูด. จง​ทำ​เช่น​นั้น​ให้​เป็น​นิสัย​ใน​กิจกรรม​แต่​ละ​วัน​ของ​คุณ. จง​เลือก​แนว​คิด​ที่​คุณ​ต้องการ​จะ​ถ่ายทอด​และ​เลือก​ว่า​จะ​พูด​อะไร​ก่อน​อะไร​หลัง; จาก​นั้น จึง​ค่อย​เริ่ม​พูด. ไม่​ต้อง​รีบ​ร้อน. พยายาม​พูด​แนว​คิด​ที่​คิด​ไว้​ให้​ครบ​ถ้วน​โดย​ไม่​หยุด​หรือ​เปลี่ยน​ความ​คิด​กลาง​คัน. คุณ​อาจ​พบ​ว่า​เป็น​ประโยชน์​ที่​จะ​ใช้​ประโยค​สั้น ๆ ไม่​ซับซ้อน.

ถ้า​คุณ​รู้​ว่า​คุณ​ต้องการ​พูด​อะไร​จริง ๆ ปกติ​แล้ว​คำ​พูด​ก็​จะ​ออก​มา​เอง​เป็น​ธรรมชาติ. ใน​การ​สนทนา​ตาม​ปกติ ไม่​จำเป็น​ต้อง​เลือก​คำ​ต่าง ๆ ที่​คุณ​จะ​ใช้. อัน​ที่​จริง นับ​ว่า​ดี​กว่า​ที่​จะ​ทำ​เป็น​นิสัย​โดย​ให้​เรื่อง​ที่​คุณ​ต้องการ​พูด​แจ่ม​ชัด​อยู่​ใน​ความ​คิด​ของ​คุณ​เสีย​ก่อน แล้ว​เมื่อ​พูด จึง​ค่อย​นึก​หา​คำ​ที่​จะ​ใช้. ถ้า​คุณ​ทำ​เช่น​นั้น​พร้อม​กับ​เพ่งเล็ง​อยู่​กับ​เรื่อง​ที่​จะ​พูด แทน​ที่​จะ​เพ่งเล็ง​อยู่​กับ​คำ​ที่​จะ​ใช้ คำ​พูด​ก็​จะ​ออก​มา​ค่อนข้าง​เป็น​ธรรมชาติ และ​คุณ​ก็​จะ​พูด​ตาม​ที่​ได้​คิด​ไว้​จริง ๆ. แต่​เมื่อ​ใด​ก็​ตาม​ที่​คุณ​เริ่ม​คิด​ถึง​คำ แทน​ที่​จะ​คิด​ถึง​เรื่อง คำ​พูด​ของ​คุณ​ก็​อาจ​ติด​ขัด. ด้วย​การ​ฝึกฝน คุณ​อาจ​ประสบ​ความ​สำเร็จ​ใน​การ​พัฒนา​ความ​คล่องแคล่ว​ซึ่ง​เป็น​ลักษณะ​ที่​สำคัญ​ของ​การ​พูด​และ​การ​อ่าน​อย่าง​บังเกิด​ผล.

เมื่อ​ได้​รับ​มอบหมาย​ให้​เป็น​ตัว​แทน​พระ​ยะโฮวา​ต่อ​ชาติ​อิสราเอล​และ​ต่อ​หน้า​ฟาโรห์​แห่ง​อียิปต์ โมเซ​รู้สึก​ว่า​ท่าน​ไม่​มี​ความ​สามารถ. เพราะ​เหตุ​ใด? ก็​เพราะ​ท่าน​เป็น​คน​พูด​ไม่​คล่องแคล่ว; ท่าน​อาจ​มี​ปัญหา​ใน​การ​พูด. (เอ็ก. 4:10; 6:12) โมเซ​ขอ​ตัว​ที่​จะ​ไม่​รับ​หน้า​ที่​นี้ แต่​ไม่​มี​สัก​ครั้ง​ที่​พระเจ้า​ทรง​ยอม​รับ. พระ​ยะโฮวา​ทรง​ให้​อาโรน​เป็น​ผู้​พูด​แทน แต่​พระองค์​ทรง​ช่วย​โมเซ​ใน​การ​พูด​ด้วย. โมเซ​ไม่​ได้​แค่​พูด​กับ​บุคคล​และ​กลุ่ม​เล็ก ๆ เท่า​นั้น แต่​ท่าน​พูด​กับ​ทั้ง​ชาติ​หลาย​ต่อ​หลาย​ครั้ง​และ​พูด​อย่าง​มี​ประสิทธิภาพ. (บัญ. 1:1-3; 5:1; 29:2; 31:1, 2, 30; 33:1) ถ้า​คุณ​วางใจ​ใน​พระ​ยะโฮวา​และ​ทำ​ทุก​อย่าง​ที่​ทำ​ได้​เพื่อ​ปรับ​ปรุง​การ​พูด​ให้​คล่องแคล่ว คุณ​ก็​สามารถ​ใช้​คำ​พูด​ของ​คุณ​เพื่อ​ถวาย​เกียรติ​แด่​พระเจ้า​ได้​เช่น​กัน.

การ​รับมือ​กับ​การ​พูด​ติดอ่าง

มี​ปัจจัย​หลาย​อย่าง​ที่​อาจ​เป็น​เหตุ​ให้​พูด​ติดอ่าง. การ​รักษา​ที่​ได้​ผล​กับ​บาง​คน​อาจ​ไม่​ได้​ผล​กับ​คน​อื่น ๆ. แต่​เพื่อ​จะ​ประสบ​ความ​ยินดี​จาก​การ​เอา​ชนะ​ปัญหา​นี้​ได้ เป็น​สิ่ง​สำคัญ​ที่​ต้อง​พยายาม​อยู่​เรื่อย​ไป.

เมื่อ​คิด​ถึง​การ​ออก​ความ​เห็น ณ การ​ประชุม​ทำ​ให้​คุณ​รู้สึก​กังวล หรือ​ถึง​กับ​ตก​ประหม่า​ไหม? จง​อธิษฐาน​ขอ​ความ​ช่วยเหลือ​จาก​พระ​ยะโฮวา. (ฟิลิป. 4:6, 7) จง​เพ่ง​ความ​คิด​ของ​คุณ​ไป​ที่​การ​ถวาย​พระ​เกียรติ​พระ​ยะโฮวา​และ​การ​ช่วยเหลือ​คน​อื่น ๆ. อย่า​คาด​หมาย​ว่า​ปัญหา​จะ​หมด​ไป​อย่าง​สิ้นเชิง แต่​ให้​สังเกต​ว่า​คุณ​ได้​รับ​การ​ช่วยเหลือ​อย่าง​ไร​ให้​รับมือ​กับ​ปัญหา​นั้น. ขณะ​ที่​คุณ​ประสบ​พระ​พร​จาก​พระ​ยะโฮวา​และ​ได้​รับ​กำลังใจ​จาก​พี่​น้อง คุณ​คง​ปรารถนา​จะ​ทำ​ให้​ดี​ยิ่ง​ขึ้น.

โรง​เรียน​การ​รับใช้​ตาม​ระบอบ​ของ​พระเจ้า​เปิด​โอกาส​ให้​คุณ​มี​ประสบการณ์​ใน​การ​พูด​ต่อ​หน้า​กลุ่ม​คน. คุณ​อาจ​ประหลาด​ใจ​ที่​คุณ​พูด​ได้​ดี​ต่อ​หน้า​กลุ่ม​เล็ก ๆ ที่​ให้​การ​สนับสนุน​และ​ปรารถนา​ให้​คุณ​ประสบ​ผล​สำเร็จ. สิ่ง​นี้​อาจ​ช่วย​คุณ​ให้​มี​ความ​มั่น​ใจ​ที่​จะ​พูด​เมื่อ​อยู่​ใน​สภาพการณ์​ที่​ต่าง​ออก​ไป.

ถ้า​คุณ​จะ​บรรยาย จง​เตรียม​ตัว​อย่าง​ดี. จง​จดจ่อ​อยู่​กับ​การ​บรรยาย. พูด​ด้วย​ความ​รู้สึก​ที่​แสดง​ออก​อย่าง​พอ​เหมาะ​พอ​ควร. ถ้า​คุณ​เริ่ม​พูด​ติดอ่าง เท่า​ที่​เป็น​ไป​ได้ ให้​พูด​ด้วย​น้ำ​เสียง​ที่​ราบ​เรียบ​และ​ด้วย​ท่า​ที​ที่​สงบ. ผ่อน​คลาย​กล้ามเนื้อ​ขากรรไกร. พูด​ประโยค​สั้น ๆ. ใช้​คำ​แทรก เช่น “เออ” และ “อ้า” ให้​น้อย​ที่​สุด.

เมื่อ​สังเกต​คำ​ต่าง ๆ ที่​ทำ​ให้​เกิด​ปัญหา​คราว​ก่อน บาง​คน​ที่​รับมือ​กับ​การ​พูด​ติดอ่าง​หลีก​เลี่ยง​คำ​เหล่า​นั้น และ​ใช้​คำ​อื่น​ที่​มี​ความ​หมาย​คล้าย​กัน​แทน. บาง​คน​ชอบ​ที่​จะ​เลือก​คำ​ต่าง ๆ ที่​ออก​เสียง​ยาก ๆ ออก​มา​และ​ฝึก​พูด​คำ​เหล่า​นั้น​ซ้ำ​แล้ว​ซ้ำ​อีก.

ถ้า​คุณ​พูด​ติดอ่าง​เมื่อ​อยู่​ใน​วง​สนทนา อย่า​เลิก​ล้ม​ความ​พยายาม​ที่​จะ​พูด​คุย. คุณ​อาจ​อยาก​ให้​คน​อื่น​พูด​ไป​เรื่อย ๆ จน​กว่า​คุณ​สามารถ​พูด​ต่อ​ไป​ได้. ถ้า​จำเป็น ก็​เพียง​แค่​เขียน​สั้น ๆ หรือ​ให้​คน​นั้น​เห็น​ข้อ​ความ​บาง​อย่าง​ที่​พิมพ์​ไว้.

วิธี​ประสบ​ผล​สำเร็จ​ใน​การ​พูด​อย่าง​คล่องแคล่ว

  • เมื่อ​อ่าน​วารสาร​และ​หนังสือ​ต่าง ๆ จง​หมาย​คำ​ใหม่ ๆ ไว้ ค้น​ดู​ความ​หมาย​ที่​แท้​จริง​ของ​คำ​นั้น จาก​นั้น​ใช้​คำ​เหล่า​นั้น.

  • ฝึก​อ่าน​ออก​เสียง​อย่าง​น้อย​วัน​ละ​ห้า​ถึง​สิบ​นาที.

  • เตรียม​อย่าง​ละเอียด​ใน​ส่วน​ที่​ได้​รับ​มอบหมาย​ให้​อ่าน. ให้​สังเกต​เป็น​พิเศษ​ต่อ​กลุ่ม​คำ​ที่​ถ่าย​ทอด​ความ​คิด. จง​ทำ​ความ​คุ้น​เคย​กับ​ความ​คิด​ที่​ถ่ายทอด​ออก​มา.

  • ใน​การ​สนทนา​ประจำ​วัน จง​ฝึก​ที่​จะ​คิด​ก่อน แล้ว​จึง​พูด​ประโยค​ให้​ครบ​ถ้วน​โดย​ไม่​หยุด.

แบบ​ฝึก​หัด: พิจารณา​พระ​ธรรม​วินิจฉัย 7:1-25 อย่าง​ละเอียด ศึกษา​ที​ละ​ย่อ​หน้า. ทำ​ให้​แน่​ใจ​ว่า​คุณ​เข้าใจ​เรื่อง​ของ​แต่​ละ​ย่อ​หน้า. ใช้​พจนานุกรม​เพื่อ​ตรวจ​ดู​คำ​ที่​ไม่​คุ้น​เคย. ออก​เสียง​ชื่อ​แต่​ละ​คน. จาก​นั้น อ่าน​ออก​เสียง​ย่อ​หน้า​นั้น; ตั้งใจ​อ่าน​ให้​ถูก​ต้อง. เมื่อ​คุณ​รู้สึก​พอ​ใจ​กับ​การ​อ่าน​ใน​ย่อ​หน้า​นั้น​แล้ว ก็​จง​ทำ​อย่าง​เดียว​กัน​กับ​ย่อ​หน้า​ถัด​ไป และ​ย่อ​หน้า​อื่น ๆ ที่​เหลือ. จาก​นั้น​จง​อ่าน​ทั้ง​บท. อ่าน​ซ้ำ​อีก​ครั้ง แต่​คราว​นี้​อ่าน​ให้​เร็ว​ขึ้น​กว่า​เดิม​เล็ก​น้อย. อ่าน​อีก​ครั้ง​หนึ่ง คราว​นี้​อ่าน​ส่วน​ที่​เหมาะ​สม​ให้​เร็ว​ขึ้น​อีก แต่​อย่า​เร็ว​จน​ถึง​กับ​ทำ​ให้​คุณ​อ่าน​ติด​ขัด.

    หนังสือภาษาไทย (1971-2023)
    ออกจากระบบ
    เข้าสู่ระบบ
    • ไทย
    • แชร์
    • การตั้งค่า
    • Copyright © 2023 Watch Tower Bible and Tract Society of Pennsylvania
    • เงื่อนไขการใช้งาน
    • นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
    • การตั้งค่าความเป็นส่วนตัว
    • JW.ORG
    • เข้าสู่ระบบ
    แชร์