บท 6
อำนาจในการทำลายของ ‘พระยะโฮวานักรบที่เก่งกาจ’
1-3. (ก) ชาวอิสราเอลเจอสถานการณ์ที่อันตรายอะไร? (ข) พระยะโฮวาต่อสู้แทนประชาชนของพระองค์ยังไง?
ชาวอิสราเอลหมดทางหนี ด้านซ้ายและด้านขวาของพวกเขาก็เป็นภูเขาที่สูงชัน ข้างหน้าก็เป็นทะเลแดงที่ข้ามไปไม่ได้ และข้างหลังพวกเขาก็มีกองทัพอียิปต์ที่โหดเหี้ยมไล่ตามมาพร้อมที่จะฆ่าพวกเขา กองทัพขนาดใหญ่นั้นใกล้จะถึงตัวพวกเขาทุกทีa แต่โมเสสได้บอกคนของพระเจ้าว่าอย่าหมดหวัง เขารับรองว่า “พระยะโฮวาจะต่อสู้แทนพวกคุณ”—อพยพ 14:14
2 โมเสสขอพระยะโฮวาให้ช่วยพวกเขา และพระองค์ก็ตอบว่า “ทำไมเอาแต่ร้องขอให้เราช่วย? . . . ให้ชูไม้เท้าขึ้นและยื่นออกไปเหนือทะเล ทะเลจะแยกออกจากกัน” (อพยพ 14:15, 16) ขอให้นึกว่าเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น พระยะโฮวาสั่งทูตสวรรค์ของพระองค์ให้มาช่วยพวกเขาทันที และเสาเมฆก็ย้ายไปตั้งอยู่ข้างหลังชาวอิสราเอล เสาเมฆนั้นกั้นกลางเหมือนกำแพงระหว่างกองทัพอียิปต์กับชาวอิสราเอล (อพยพ 14:19, 20; สดุดี 105:39) โมเสสยื่นมือออกไป แล้วลมก็พัดมาอย่างแรงจนทำให้น้ำทะเลแยกออกจากกัน น้ำนั้นตั้งขึ้นเป็นกำแพงและเปิดทางที่กว้างพอให้ชาวอิสราเอลข้ามไปได้—อพยพ 14:21; 15:8
3 เมื่อฟาโรห์เห็นการอัศจรรย์เหล่านี้ เขาก็น่าจะสั่งกองทัพของเขาให้เลิกไล่ตามชาวอิสราเอล แต่ฟาโรห์ที่หยิ่งยโสกลับสั่งให้ทหารบุกโจมตี (อพยพ 14:23) พวกอียิปต์รีบไล่ตามชาวอิสราเอลไป แต่แล้วล้อรถรบของพวกเขาก็หลุดออกมา พอชาวอิสราเอลทุกคนขึ้นฝั่งอย่างปลอดภัยแล้ว พระยะโฮวาสั่งโมเสสว่า “ยื่นมือออกเหนือทะเลเพื่อให้น้ำกลับมาท่วมพวกอียิปต์ ท่วมรถศึกกับทหารม้าของเขา” แล้วน้ำที่ก่อเป็นกำแพงนั้นก็พังลงมาท่วมฟาโรห์และกองทัพของเขา—อพยพ 14:24-28; สดุดี 136:15
4. (ก) ที่ทะเลแดงพระยะโฮวาพิสูจน์ว่าพระองค์เป็นอะไรสำหรับชาวอิสราเอล? (ข) บางคนอาจรู้สึกยังไงเมื่อได้อ่านว่าบางครั้งพระยะโฮวาใช้อำนาจของพระองค์ในการสู้รบ?
4 การที่พระยะโฮวาช่วยชาวอิสราเอลให้รอดที่ทะเลแดงบอกให้เรารู้หลายอย่างเกี่ยวกับพระองค์ พระยะโฮวาแสดงให้เห็นว่าพระองค์เป็น “นักรบที่เก่งกาจ” (อพยพ 15:3) แต่คุณรู้สึกยังไงเมื่อได้อ่านว่าพระยะโฮวาใช้อำนาจของพระองค์ในการสู้รบ? สงครามทำให้ผู้คนเจ็บปวดรวดร้าวและต้องเจอกับความทุกข์มากมาย ถ้าพระยะโฮวาใช้อำนาจของพระองค์ในการสู้รบ นั่นอาจทำให้คุณรู้สึกไม่อยากเป็นเพื่อนกับพระองค์ไหม?
ที่ทะเลแดง พระยะโฮวาแสดงให้เห็นว่าพระองค์เป็น “นักรบที่เก่งกาจ”
การสู้รบของพระเจ้าไม่เหมือนกับการสู้รบของมนุษย์
5, 6. (ก) ทำไมมีการเรียกพระเจ้าว่า “พระยะโฮวาพระเจ้าผู้เป็นจอมทัพ”? (ข) การสู้รบของพระเจ้าต่างจากการสู้รบของมนุษย์ยังไง?
5 มีการใช้คำระบุตำแหน่งพระเจ้าว่า “พระยะโฮวาพระเจ้าผู้เป็นจอมทัพ” ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูประมาณ 260 ครั้ง และ 2 ครั้งในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก (1 ซามูเอล 1:11) ในฐานะผู้ปกครองที่ยิ่งใหญ่สูงสุด พระยะโฮวาดูแลและจัดระเบียบกองทัพขนาดใหญ่ซึ่งประกอบด้วยทูตสวรรค์ที่มีกำลังมาก (โยชูวา 5:13-15; 1 พงศ์กษัตริย์ 22:19) ทูตสวรรค์เหล่านี้จะทำลายศัตรูของพระเจ้าได้อย่างง่ายดาย (อิสยาห์ 37:36) ถึงแม้การทำลายไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดีสักเท่าไหร่ แต่เราต้องจำไว้ว่าการสู้รบของพระเจ้าไม่เหมือนกับการสู้รบของมนุษย์ ผู้นำของโลกอาจบอกว่าพวกเขามีเหตุผลที่ดีในการสู้รบ แต่การสู้รบของพวกเขาเกี่ยวข้องกับความโลภและความเห็นแก่ตัวเสมอ
6 ตรงกันข้าม พระยะโฮวาไม่ได้ทำอะไรตามอำเภอใจโดยไม่ได้คิดอย่างรอบคอบ เฉลยธรรมบัญญัติ 32:4 บอกว่า “พระเจ้าผู้เป็นเหมือนหินที่แข็งแกร่ง สิ่งที่พระองค์ทำดีเยี่ยมไม่มีที่ติ เพราะแนวทางทั้งหมดของพระองค์ยุติธรรม พระองค์เป็นพระเจ้าที่ซื่อสัตย์และยุติธรรมเสมอ พระองค์เป็นพระเจ้าที่เที่ยงธรรมและซื่อตรง” คัมภีร์ไบเบิลตำหนิการกระทำที่โหดเหี้ยม ความรุนแรง และความโกรธอย่างไม่มีการควบคุม (ปฐมกาล 49:7; สดุดี 11:5) ดังนั้น เมื่อพระยะโฮวาลงมือทำอะไรบางอย่าง พระองค์ก็มีเหตุผลที่ดีเสมอ พระองค์ใช้อำนาจในการทำลายเฉพาะเมื่อไม่มีทางเลือกอื่น พระองค์ได้บอกผ่านทางเอเสเคียลผู้พยากรณ์ของพระองค์ว่า “พระยะโฮวาพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่สูงสุดบอกว่า ‘เราไม่ดีใจเลยที่คนชั่วตาย แต่เราอยากให้เขาเลิกทำชั่วแล้วมีชีวิตอยู่ต่อไป’”—เอเสเคียล 18:23
7, 8. (ก) โยบเข้าใจผิดยังไงเกี่ยวกับเรื่องร้าย ๆ ที่เขาเจอ? (ข) เอลีฮูช่วยแก้ไขความคิดของโยบยังไง? (ค) เราเรียนรู้อะไรได้จากประสบการณ์ของโยบ?
7 ถ้าอย่างนั้น ทำไมพระยะโฮวาใช้อำนาจในการทำลาย? ก่อนตอบคำถามนี้ ขอให้เราคิดถึงโยบชายผู้ซื่อสัตย์ ซาตานได้กล่าวหาว่าโยบและมนุษย์ทุกคนจะไม่ซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าถ้าถูกทดลอง พระยะโฮวาตอบข้อกล่าวหานั้นโดยยอมให้ซาตานทดลองความซื่อสัตย์ของโยบ ผลก็คือ โยบป่วยเป็นโรคร้าย สูญเสียทรัพย์สมบัติ และเสียลูกไป (โยบ 1:1–2:8) โยบไม่รู้ว่าทำไมเขาต้องเจอกับเรื่องร้าย ๆ เขาเข้าใจผิดว่าความทุกข์ที่เกิดขึ้นเป็นการลงโทษที่ไม่ยุติธรรมจากพระเจ้า เขาถามพระเจ้าว่าทำไมพระองค์ทำให้เขาเป็น “เป้า” และเป็น “ศัตรู” ของพระองค์—โยบ 7:20; 13:24
8 ชายหนุ่มชื่อเอลีฮูได้ช่วยโยบให้รู้ว่าเขากำลังเข้าใจผิดโดยบอกว่า “ท่านมั่นใจว่าท่านทำถูกจนถึงกับบอกว่า ‘ผมเป็นฝ่ายถูกมากกว่าพระเจ้า’ อย่างนั้นหรือ?’” (โยบ 35:2) ไม่ฉลาดเลยที่จะคิดว่าเรารู้ดีกว่าพระเจ้าหรือคิดเอาเองว่าการกระทำของพระองค์ไม่ยุติธรรม เอลีฮูบอกว่า “ไม่มีวันที่พระเจ้าเที่ยงแท้จะทำชั่ว และไม่มีทางที่ผู้มีพลังอำนาจสูงสุดจะทำผิด!” เขายังบอกด้วยว่า “เราไม่มีทางเข้าใจผู้มีพลังอำนาจสูงสุดได้ พระองค์มีอำนาจล้นเหลือ พระองค์ไม่เคยทำอะไรขัดกับความยุติธรรมและความถูกต้องชอบธรรมของพระองค์” (โยบ 34:10; 36:22, 23; 37:23) เราแน่ใจได้ว่าเมื่อพระเจ้าสู้รบ พระองค์ย่อมมีเหตุผลที่ดีที่จะทำอย่างนั้น ขอให้จำเรื่องนี้ไว้ตอนที่เราเรียนรู้มากขึ้นว่าทำไมบางครั้งพระยะโฮวาพระเจ้าที่ทำให้เกิดสันติสุขถึงต้องสู้รบ—1 โครินธ์ 14:33
ทำไมพระเจ้าที่ทำให้เกิดสันติสุขต้องสู้รบ
9. ทำไมพระเจ้าที่บริสุทธิ์ถึงสู้รบ?
9 หลังจากสรรเสริญพระเจ้าว่าพระองค์เป็น “นักรบที่เก่งกาจ” โมเสสบอกว่า “พระยะโฮวาพระเจ้า ในพวกพระต่าง ๆ ใครจะเทียบกับพระองค์ได้? ใครจะเป็นเหมือนพระองค์ผู้มีความบริสุทธิ์ที่ล้ำเลิศ?” (อพยพ 15:11) ผู้พยากรณ์ฮาบากุกเขียนคล้าย ๆ กันว่า “ตาของพระองค์บริสุทธิ์เกินกว่าจะมองดูสิ่งชั่วช้า พระองค์ทนดูความชั่วไม่ได้” (ฮาบากุก 1:13) พระยะโฮวาเป็นพระเจ้าที่เปี่ยมด้วยความรัก บริสุทธิ์ และยุติธรรม แต่บางครั้งคุณลักษณะเหล่านี้ก็กระตุ้นให้พระองค์ใช้อำนาจในการทำลาย (อิสยาห์ 59:15-19; ลูกา 18:7) ดังนั้น เมื่อพระเจ้าสู้รบก็ไม่ได้หมายความว่าพระองค์ไม่บริสุทธิ์ แทนที่จะเป็นอย่างนั้น พระองค์สู้รบเพราะพระองค์บริสุทธิ์—อพยพ 39:30
10. ความเป็นศัตรูกันที่บอกไว้ในปฐมกาล 3:15 จะถูกแก้ไขยังไง และคนที่ซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวาจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง?
10 ขอให้คิดถึงว่าเกิดอะไรขึ้นหลังจากอาดัมและเอวามนุษย์คู่แรกได้กบฏต่อพระเจ้า (ปฐมกาล 3:1-6) ถ้าพระยะโฮวาไม่ลงโทษพวกเขา เรื่องนี้ก็จะมีผลกับตำแหน่งของพระองค์ในฐานะพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่สูงสุด พระยะโฮวาเป็นพระเจ้าที่ยุติธรรม พระองค์เลยต้องพิพากษาพวกเขาให้ตาย (โรม 6:23) ในคำพยากรณ์แรกของคัมภีร์ไบเบิล พระองค์บอกล่วงหน้าว่าผู้รับใช้ของพระองค์จะเป็นศัตรูกับพวกที่ติดตาม “งู” ซึ่งก็คือซาตาน (วิวรณ์ 12:9; ปฐมกาล 3:15) ในที่สุด เรื่องนี้จะถูกแก้ไขโดยการบดขยี้ซาตาน (โรม 16:20) การพิพากษาที่ยุติธรรมนี้จะทำให้คนที่ซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวาได้รับพรมากมาย อิทธิพลของซาตานจะหมดไปและโลกก็จะเป็นอุทยาน (มัทธิว 19:28) จนกว่าจะถึงเวลานั้น พวกที่อยู่ฝ่ายซาตานจะต่อต้านและพยายามทำลายคนที่รักพระยะโฮวา นี่เลยเป็นเหตุผลที่บางครั้งพระองค์ต้องต่อสู้เพื่อปกป้องคนของพระองค์
พระเจ้าลงมือกำจัดความชั่ว
11. ทำไมพระยะโฮวาถึงให้มีน้ำท่วมโลก?
11 น้ำท่วมใหญ่ในสมัยโนอาห์เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่พระยะโฮวาต้องต่อสู้เพื่อปกป้องคนของพระองค์ ปฐมกาล 6:11, 12 บอกว่า “โลกมีแต่ความเสื่อมทรามและความรุนแรง เมื่อพระองค์มองลงมาที่โลก พระองค์เห็นแต่ความเสื่อมทราม และมนุษย์ก็ทำแต่ความชั่ว” พระเจ้าจะปล่อยให้คนชั่วทำลายคนดีที่เหลืออยู่ไม่กี่คนบนโลกไหม? ไม่ พระยะโฮวาเห็นว่าจำเป็นต้องทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่เพื่อทำลายคนที่ชอบใช้ความรุนแรงและทำผิดศีลธรรม
12. (ก) พระยะโฮวาได้บอกล่วงหน้าเรื่องอะไรเกี่ยวกับ “ลูกหลาน” ของอับราฮัม? (ข) ทำไมชาวอาโมไรต์ต้องถูกทำลาย?
12 คล้ายกันกับการที่พระเจ้าพิพากษาชาวคานาอัน พระยะโฮวาสัญญากับอับราฮัมว่าทุกครอบครัวบนโลกจะได้รับพรโดยทาง “ลูกหลาน” ของเขา สอดคล้องกับความประสงค์ของพระเจ้า พระองค์ประกาศว่าแผ่นดินคานาอันที่ชาวอาโมไรต์อาศัยอยู่จะถูกยกให้ลูกหลานของอับราฮัม ยุติธรรมไหมที่พระเจ้าใช้กำลังไล่พวกเขาออกไปจากแผ่นดินของตัวเอง? พระยะโฮวาได้บอกล่วงหน้าว่าจะรอ ประมาณ 400 ปีก่อนที่จะทำลายพวกเขาเพราะ “ความผิดของชาวอาโมไรต์” ยังไม่ “ถึงขั้นที่จะต้องถูกลงโทษ”b (ปฐมกาล 12:1-3; 13:14, 15; 15:13, 16; 22:18) ระหว่างช่วงเวลานั้นชาวอาโมไรต์ยิ่งทำชั่วมากขึ้นเรื่อย ๆ แผ่นดินคานาอันเต็มไปด้วยการไหว้รูปเคารพ การฆ่าคน และการทำผิดศีลธรรม (อพยพ 23:24; 34:12, 13; กันดารวิถี 33:52) พวกเขาถึงกับเผาลูกของตัวเองเป็นเครื่องบูชาให้กับพระของพวกเขา พระยะโฮวาพระเจ้าที่บริสุทธิ์จะปล่อยให้คนของพระองค์อาศัยอยู่รวมกับพวกเขาไหม? ไม่เลย พระองค์บอกชัดเจนว่า “แผ่นดินนั้นจึงไม่สะอาดในสายตาของเรา และเราจะลงโทษพวกเขาเพราะความผิดนี้ คนที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินนั้นจะต้องถูกขับไล่ออกไป” (เลวีนิติ 18:21-25) แต่พระยะโฮวาไม่ได้ฆ่าทุกคนในแผ่นดินนั้น ชาวคานาอันบางคน เช่น ราหับและชาวเมืองกิเบโอนที่แสดงความเชื่อในพระยะโฮวาก็ได้รับการไว้ชีวิต—โยชูวา 6:25; 9:3-27
การต่อสู้เพื่อชื่อของพระองค์
13, 14. (ก) ทำไมพระยะโฮวาต้องทำให้ชื่อของพระองค์เป็นที่เคารพนับถืออยู่เสมอ? (ข) พระยะโฮวาทำให้ชื่อของพระองค์พ้นข้อกล่าวหายังไง?
13 เพราะพระยะโฮวาบริสุทธิ์ ชื่อของพระองค์จึงบริสุทธิ์ (เลวีนิติ 22:32) พระเยซูสอนสาวกให้อธิษฐานว่า “ขอให้ชื่อของพระองค์เป็นที่เคารพนับถืออยู่เสมอ” (มัทธิว 6:9) การกบฏในสวนเอเดนทำให้ชื่อของพระเจ้าเสื่อมเสียและทำให้มีข้อสงสัยเกี่ยวกับวิธีที่พระองค์ปกครอง พระยะโฮวาจะไม่มองข้ามการใส่ร้ายและการกบฏนั้น พระองค์ต้องทำให้ชื่อของพระองค์พ้นข้อกล่าวหา—อิสยาห์ 48:11
14 ขอให้คิดถึงชาวอิสราเอลอีกครั้ง ถ้าพวกเขายังเป็นทาสอยู่ในอียิปต์ คำสัญญาที่พระเจ้าทำกับอับราฮัมที่ว่าทุกครอบครัวบนโลกจะได้พรเพราะลูกหลานของเขาคงไม่มีทางเกิดขึ้นจริง แต่โดยการช่วยให้พวกเขาเป็นอิสระและตั้งพวกเขาเป็นชาติหนึ่ง พระยะโฮวาทำให้ชื่อของพระองค์เป็นที่เคารพนับถือ ด้วยเหตุนี้ ผู้พยากรณ์ดาเนียลได้อธิษฐานถึงพระเจ้าว่า “พระยะโฮวาพระเจ้า พระองค์ได้พาประชาชนของพระองค์ออกมาจากอียิปต์ด้วยอำนาจอันยิ่งใหญ่และทำให้พระองค์เองมีชื่อเสียงเลื่องลือ”—ดาเนียล 9:15
15. ทำไมพระยะโฮวาช่วยชาวยิวให้พ้นจากการเป็นเชลยในบาบิโลน?
15 ดาเนียลอธิษฐานแบบนี้ตอนที่ชาวยิวต้องการให้พระยะโฮวาช่วยพวกเขาอีกครั้งเพื่อเห็นแก่ชื่อของพระองค์ พวกเขาเป็นเชลยในบาบิโลนเพราะไม่เชื่อฟังพระยะโฮวา กรุงเยรูซาเล็มเมืองหลวงของพวกเขาถูกทำลาย ดาเนียลรู้ว่าถ้าพระยะโฮวาช่วยชาวยิวกลับบ้านเกิดชื่อของพระองค์ก็จะได้รับการยกย่องสรรเสริญ ดังนั้น ดาเนียลจึงอธิษฐานว่า “ขอพระยะโฮวาให้อภัยเรา ขอพระยะโฮวาสนใจและช่วยเรา พระเจ้าของผม ขอรีบมาช่วยเพื่อเห็นแก่ชื่อเสียงของพระองค์เอง เพราะเมืองนี้และชนชาตินี้ถูกเรียกตามชื่อของพระองค์”—ดาเนียล 9:18, 19
การต่อสู้เพื่อคนของพระองค์
16. ขออธิบายว่าทำไมการที่พระยะโฮวาปกป้องชื่อของพระองค์ไม่ได้หมายความว่าพระองค์เห็นแก่ตัว
16 การที่พระยะโฮวาปกป้องชื่อของพระองค์แสดงว่าพระองค์เห็นแก่ตัวไหม? ไม่เลย การทำอย่างนั้นแสดงให้เห็นว่าพระองค์เป็นพระเจ้าที่บริสุทธิ์ รักความยุติธรรม และปกป้องคนของพระองค์ ในปฐมกาลบท 14 เราอ่านว่ากษัตริย์สี่องค์จับตัวโลทหลานชายของอับราฮัมไปพร้อมกับครอบครัวของเขา ด้วยความช่วยเหลือจากพระยะโฮวาอับราฮัมชนะศัตรูที่มีกำลังมากกว่าได้ ชัยชนะครั้งนี้ดูเหมือนจะเป็นบันทึกเรื่องแรกใน “หนังสือสงครามของพระยะโฮวา” ซึ่งเป็นหนังสือที่บันทึกการสู้รบบางเรื่องที่ไม่ได้เขียนในคัมภีร์ไบเบิล (กันดารวิถี 21:14) แต่นี่ไม่ใช่ชัยชนะแค่ครั้งเดียว
17. อะไรแสดงว่าพระยะโฮวาสู้รบเพื่อชาวอิสราเอลหลังจากที่พวกเขาเข้าแผ่นดินคานาอันแล้ว? ขอยกตัวอย่าง
17 ไม่นานก่อนชาวอิสราเอลจะเข้าแผ่นดินคานาอัน โมเสสรับรองกับพวกเขาว่า “พระยะโฮวาพระเจ้าจะนำหน้าพวกคุณไปและจะต่อสู้แทนพวกคุณ เหมือนตอนที่คุณเห็นพระองค์ทำเพื่อพวกคุณในอียิปต์” (เฉลยธรรมบัญญัติ 1:30; 20:1) เริ่มจากโยชูวาที่เป็นผู้นำต่อจากโมเสสจนถึงสมัยของผู้วินิจฉัยและการปกครองของกษัตริย์ที่ซื่อสัตย์ของอาณาจักรยูดาห์ พระยะโฮวาสู้รบแทนประชาชนของพระองค์โดยช่วยพวกเขาให้ชนะพวกศัตรูหลายครั้ง—โยชูวา 10:1-14; ผู้วินิจฉัย 4:12-17; 2 ซามูเอล 5:17-21
18. (ก) ทำไมเราถึงรู้สึกขอบคุณที่พระยะโฮวาไม่เปลี่ยนแปลง? (ข) การเป็นศัตรูกันตามที่บอกไว้ในปฐมกาล 3:15 จะทำให้เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นในอีกไม่ช้า?
18 พระยะโฮวาไม่เปลี่ยนแปลง ความประสงค์ของพระองค์ที่จะทำให้โลกนี้เป็นอุทยานที่สงบสุขก็ไม่เปลี่ยนแปลงด้วย (ปฐมกาล 1:27, 28) พระเจ้ายังเกลียดความชั่วอยู่ พระองค์ยังคงรักประชาชนของพระองค์มากและอีกไม่นานพระองค์จะลงมือทำบางอย่างเพื่อปกป้องพวกเขา (สดุดี 11:7) ที่จริง การเป็นศัตรูกันตามที่บอกไว้ในปฐมกาล 3:15 จะทำให้มีการโจมตีคนของพระเจ้าอย่างหนักในอีกไม่ช้า เพื่อทำให้ชื่อของพระองค์เป็นที่เคารพนับถืออยู่เสมอ พระยะโฮวาจะปกป้องคนของพระองค์และจะเป็น “นักรบที่เก่งกาจ” อีกครั้งหนึ่ง—เศคาริยาห์ 14:3; วิวรณ์ 16:14, 16
19. (ก) ขอยกตัวอย่างว่าทำไมการใช้อำนาจในการทำลายของพระเจ้าน่าจะทำให้เราอยากใกล้ชิดกับพระองค์มากขึ้น (ข) การที่พระเจ้าเต็มใจต่อสู้เพื่อเราควรทำให้เรารู้สึกยังไง?
19 ลองคิดถึงตัวอย่างหนึ่ง สมมุติว่าครอบครัวของชายคนหนึ่งถูกสัตว์ทำร้าย และเขากระโดดเข้าต่อสู้แล้วฆ่าสัตว์ตัวนั้น คุณคิดว่าภรรยาและลูก ๆ จะไม่อยากอยู่ใกล้เขาเพราะเขาใช้กำลังฆ่าสัตว์ตัวนั้นไหม? คงไม่เป็นอย่างนั้น พวกเขาต้องรู้สึกขอบคุณความรักที่ไม่เห็นแก่ตัวของเขาแน่นอน เหมือนกัน เมื่อพระเจ้าใช้อำนาจในการทำลายเพื่อปกป้องเรา ก็ไม่น่าจะทำให้เราอยากอยู่ห่าง ๆ จากพระองค์ การที่พระองค์เต็มใจต่อสู้เพื่อเรา น่าจะทำให้เรารู้สึกรักพระองค์มากขึ้น และยอมรับพลังอำนาจที่ไม่มีขีดจำกัดของพระองค์มากขึ้นด้วย ดังนั้น เราจะ “ทำงานรับใช้ที่ศักดิ์สิทธิ์ให้กับพระเจ้าด้วยความเคารพยำเกรงอย่างที่พระองค์ยอมรับได้”—ฮีบรู 12:28
เข้าไปใกล้ชิดกับ “นักรบที่เก่งกาจ”
20. เราควรทำยังไงเมื่อรู้สึกว่ายากที่จะเข้าใจบางเรื่องในคัมภีร์ไบเบิล และเพราะอะไร?
20 แน่นอน คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้อธิบายรายละเอียดทุกอย่างเกี่ยวกับการตัดสินใจของพระยะโฮวาในการสู้รบ แต่เรามั่นใจได้เสมอว่าพระยะโฮวาไม่เคยใช้อำนาจในการทำลายอย่างไม่ยุติธรรมหรือโหดเหี้ยม บ่อยครั้งการอ่านเนื้อหาโดยรวมหรือข้อมูลที่เป็นภูมิหลังในคัมภีร์ไบเบิลจะช่วยให้เรามีมุมมองที่ถูกต้อง (สุภาษิต 18:13) ถึงเราไม่รู้รายละเอียดทุกอย่าง แต่การเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับพระยะโฮวาและคิดใคร่ครวญคุณลักษณะที่ยอดเยี่ยมของพระองค์จะช่วยให้เราเข้าใจว่าทำไมพระองค์ถึงทำอย่างนั้น และเราจะเห็นว่ามีเหตุผลมากมายที่จะไว้วางใจพระยะโฮวาพระเจ้าของเรา—โยบ 34:12
21. ถึงแม้บางครั้งพระยะโฮวาเป็น “นักรบที่เก่งกาจ” แต่จริง ๆ แล้วพระองค์เป็นพระเจ้าแบบไหน?
21 ถึงแม้บางครั้งพระยะโฮวาต้องเป็น “นักรบที่เก่งกาจ” แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพระองค์ชอบการสู้รบ ในนิมิตของเอเสเคียลเกี่ยวกับราชรถของพระเจ้า มีการให้ภาพว่าพระยะโฮวาเตรียมพร้อมจะสู้รบกับศัตรูของพระองค์ แต่เอเสเคียลก็เห็นรุ้งกินน้ำซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสันติสุขอยู่ล้อมรอบพระเจ้าด้วย (ปฐมกาล 9:13; เอเสเคียล 1:28; วิวรณ์ 4:3) เห็นได้ชัดว่าพระยะโฮวาเป็นพระเจ้าที่มีสันติสุข อัครสาวกยอห์นเขียนว่า “พระเจ้าเป็นความรัก” (1 ยอห์น 4:8) พระยะโฮวาแสดงคุณลักษณะทั้งหมดของพระองค์อย่างสมบูรณ์แบบ เรามีสิทธิพิเศษมากจริง ๆ ที่สามารถเข้าไปใกล้ชิดกับพระเจ้าผู้มีพลังอำนาจสูงสุดแต่ก็เปี่ยมด้วยความรัก
a ตามที่โยเซฟุสนักประวัติศาสตร์ชาวยิวบอกไว้ ชาวฮีบรู “ถูกรถรบ 600 คันไล่ตามพร้อมกับทหารม้า 50,000 นาย และทหารราบพร้อมอาวุธครบครันจำนวนมากถึง 200,000 นาย”—ประวัติโบราณของชาวยิว (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 2 หน้า 324 [บท 15 วรรค 3]
b ดูเหมือนคำว่า “อาโมไรต์” ในที่นี่รวมถึงผู้คนทั้งหมดในแผ่นดินคานาอัน—เฉลยธรรมบัญญัติ 1:6-8, 19-21, 27; โยชูวา 24:15, 18