บทห้า
เสรีภาพที่ผู้นมัสการพระยะโฮวาได้รับ
1, 2. (ก) เสรีภาพชนิดใดที่พระเจ้าให้กับมนุษย์คู่แรก? (ข) จงบอกถึงกฎบางอย่างที่ควบคุมกิจกรรมของอาดามและฮาวา.
เมื่อพระยะโฮวาทรงสร้างมนุษย์ชายหญิงคู่แรก พวกเขามีเสรีภาพมากยิ่งกว่าเสรีภาพใด ๆ ที่มนุษย์มีในปัจจุบัน. บ้านของเขาเป็นอุทยาน สวนเอเดนอันสวยงาม. ไม่มีความเจ็บป่วยใด ๆ มาทำลายความเพลิดเพลินในชีวิตของพวกเขา เนื่องจากพวกเขามีจิตใจและร่างกายที่สมบูรณ์. ความตายไม่ได้รอพวกเขาอยู่ดังที่รอทุกคนตั้งแต่นั้นมา. นอกจากนั้น พวกเขามิใช่หุ่นยนต์ ทว่า พวกเขามีเจตจำนงเสรี คือความสามารถที่จะตัดสินใจได้เองซึ่งเป็นของประทานอันน่าพิศวง. อย่างไรก็ตาม เพื่อจะมีเสรีภาพอันแสนวิเศษเช่นนั้น พวกเขาต้องนับถือกฎต่าง ๆ ของพระเจ้า.
2 ยกตัวอย่าง ขอพิจารณากฎทางกายภาพที่พระเจ้าวางไว้. แน่ล่ะ กฎเหล่านี้อาจจะไม่ใช่กฎที่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่อาดามและฮาวาถูกสร้างให้รู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติที่จะต้องเชื่อฟังกฎเหล่านั้น. ความรู้สึกอยากอาหารเป็นสัญญาณว่าต้องกิน; เมื่อกระหาย ก็ต้องดื่มน้ำ; เมื่อดวงอาทิตย์ตก ก็ต้องนอนหลับพักผ่อน. พระยะโฮวาทรงมอบหมายงานให้เขาทำอีกด้วย. งานมอบหมายนั้นเป็นประหนึ่งกฎหมาย ซึ่งจะควบคุมแนวทางการกระทำของพวกเขา. พวกเขาต้องให้กำเนิดบุตร, ควบคุมดูแลสัตว์ทั้งหลายบนแผ่นดินโลก, และขยายอาณาเขตอุทยานกระทั่งครอบคลุมไปทั่วโลก. (เยเนซิศ 1:28; 2:15) ช่างเป็นกฎหมายที่กรุณาและเอื้อประโยชน์จริง ๆ! กฎดังกล่าวทำให้พวกเขามีงานที่น่าพอใจอย่างยิ่ง ซึ่งเปิดโอกาสให้เขาใช้ความสามารถอย่างเต็มขนาดในแนวทางที่เป็นประโยชน์. นอกจากนั้น พวกเขามีเสรีภาพมากพอที่จะตัดสินใจได้เองว่าจะดำเนินงานที่เขารับมอบหมายอย่างไร. คนเราจะปรารถนาอะไรมากไปกว่านี้อีก?
3. อาดามและฮาวาจะเรียนรู้วิธีใช้เสรีภาพอย่างสุขุมในการตัดสินใจได้อย่างไร?
3 แน่ล่ะ เมื่ออาดามและฮาวาได้รับสิทธิพิเศษให้ตัดสินใจได้เอง ทั้งนี้มิได้หมายความว่า การตัดสินใจใด ๆ ที่พวกเขาทำจะเกิดผลดีเสมอไป. เสรีภาพในการตัดสินใจนั้นต้องทำภายในขอบเขตแห่งกฎหมายและหลักการของพระเจ้า. พวกเขาจะเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร? โดยฟังพระผู้สร้างของพวกเขาและโดยสังเกตดูราชกิจของพระองค์. พระเจ้าให้อาดามและฮาวามีเชาวน์ปัญญาที่จำเป็นเพื่อจะนำสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ไปใช้. เนื่องจากทั้งสองถูกสร้างอย่างสมบูรณ์ ความโน้มเอียงตามธรรมชาติของพวกเขาจะสะท้อนคุณลักษณะของพระเจ้าเมื่อทำการตัดสินใจ. แท้จริงแล้ว พวกเขาจะระมัดระวังในการสะท้อนคุณลักษณะเช่นนั้น ถ้าพวกเขาหยั่งรู้ค่าจริง ๆ ต่อสิ่งที่พระเจ้าทรงทำเพื่อเขาและหากเขาต้องการจะทำให้พระองค์พอพระทัย.—เยเนซิศ 1:16, 27; โยฮัน 8:29.
4. (ก) พระบัญชาที่ห้ามอาดามและฮาวากินผลของต้นไม้ต้นหนึ่งนั้นทำให้พวกเขาขาดเสรีภาพไหม? (ข) เหตุใดสิ่งนี้เป็นข้อเรียกร้องที่เหมาะสม?
4 นับว่าสมควรแล้วที่พระเจ้าเลือกจะทดสอบความเลื่อมใสที่พวกเขามีต่อพระองค์ฐานะเป็นผู้ประทานชีวิตและความเต็มใจที่จะอยู่ภายในขอบเขตซึ่งพระองค์ได้กำหนดไว้. พระยะโฮวาทรงบัญชาแก่อาดามว่า “บรรดาผลไม้ทุกอย่างในสวนนี้เจ้ากินได้ทั้งหมด; เว้นแต่ต้นไม้ที่ให้รู้ความดีและชั่วผลของต้นนั้นเจ้าอย่ากินเป็นอันขาด; ถ้าเจ้าขืนกินในวันใด, เจ้าจะตายในวันนั้นเป็นแน่.” (เยเนซิศ 2:16, 17) หลังจากที่ฮาวาถูกสร้าง เธอก็ได้รับทราบกฎหมายข้อนี้เช่นกัน. (เยเนซิศ 3:2, 3) ข้อจำกัดนี้ทำให้เขาขาดเสรีภาพไหม? ไม่เลย. เขาทั้งสองมีอาหารอันโอชะทุกชนิดอย่างอุดมบริบูรณ์ที่จะกินได้โดยไม่ต้องกินผลของต้นไม้นั้น. (เยเนซิศ 2:8, 9) นับว่าเหมาะสมทีเดียวที่ทั้งสองควรยอมรับว่าแผ่นดินโลกเป็นของพระเจ้า เนื่องจากพระองค์ทรงสร้างขึ้นมา. ฉะนั้น พระองค์มีสิทธิ์จะออกกฎหมายซึ่งสอดคล้องกับพระประสงค์ของพระองค์และเป็นประโยชน์แก่มนุษยชาติ.—บทเพลงสรรเสริญ 24:1, 10.
5. (ก) อาดามและฮาวาสูญเสียเสรีภาพอันรุ่งโรจน์ของเขาไปอย่างไร? (ข) อะไรเข้ามาแทนที่เสรีภาพที่อาดามกับฮาวาเคยมี และเราได้รับผลกระทบอย่างไร?
5 แต่เกิดอะไรขึ้น? โดยได้รับแรงกระตุ้นจากความทะเยอทะยานอันเห็นแก่ตัว ทูตสวรรค์องค์หนึ่งใช้เจตจำนงเสรีในทางที่ผิด และได้กลายเป็นซาตานซึ่งหมายถึง “ผู้ต่อต้าน.” มันล่อลวงฮาวาโดยให้คำรับรองแก่เธอเกี่ยวกับสิ่งซึ่งขัดกับพระประสงค์ของพระเจ้า. (เยเนซิศ 3:4, 5) อาดามร่วมกับฮาวาในการละเมิดกฎหมายของพระเจ้า. โดยการฉวยเอาสิ่งที่มิได้เป็นของตน พวกเขาจึงสูญเสียเสรีภาพอันรุ่งโรจน์. บาปกลายเป็นนายของพวกเขา และดังที่พระเจ้าได้เตือนไว้ ในที่สุดความตายก็มาถึงพวกเขา. มรดกที่ทั้งสองถ่ายทอดไปยังบุตรหลานคือบาป ซึ่งเห็นได้จากแนวโน้มที่จะทำผิดซึ่งติดตัวมาแต่กำเนิด. นอกจากนั้น บาปนำมาซึ่งความอ่อนแอที่ทำให้เกิดความเจ็บป่วย, ความแก่ชรา, และความตาย. อิทธิพลของซาตานทำให้แนวโน้มที่จะทำผิดทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดสังคมมนุษย์ที่เต็มไปด้วยประวัติของความเกลียดชัง, อาชญากรรม, การกดขี่, และสงครามซึ่งคร่าชีวิตหลายล้านคน. ช่างต่างกันเสียจริงกับเสรีภาพที่พระเจ้าประทานแก่มนุษยชาติตั้งแต่แรกเดิมนั้น!—พระบัญญัติ 32:4, 5; โยบ 14:1, 2; โรม 5:12; วิวรณ์ 12:9.
ที่ซึ่งจะพบเสรีภาพได้
6. (ก) เสรีภาพแท้จะพบได้ที่ไหน? (ข) เสรีภาพแบบใดที่พระเยซูตรัสถึง?
6 เมื่อคำนึงถึงสภาพอันเลวร้ายที่มีอยู่ทุกหนแห่งในปัจจุบัน ไม่แปลกที่ผู้คนปรารถนาจะได้เสรีภาพมากขึ้น. แต่จะพบเสรีภาพแท้ได้ที่ไหน? พระเยซูตรัสว่า “ถ้าเจ้าทั้งหลายตั้งมั่นคงอยู่ในคำของเรา เจ้าก็เป็นสาวกแท้ของเรา และเจ้าทั้งหลายจะรู้จักความจริง และความจริงจะทำให้เจ้าเป็นอิสระ.” (โยฮัน 8:31, 32, ล.ม.) นี่มิใช่เสรีภาพแบบที่ผู้คนหวังไว้เมื่อพวกเขาปฏิเสธนักปกครองคนหนึ่งหรือรูปแบบการปกครองหนึ่งเพื่อเข้าข้างอีกฝ่ายหนึ่ง. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น เสรีภาพนี้เจาะลึกถึงแก่นแท้ของปัญหาของมนุษย์ทีเดียว. สิ่งที่พระเยซูตรัสถึงคือ เสรีภาพพ้นจากการเป็นทาสของบาป. (โยฮัน 8:24, 34-36) ดังนั้น ถ้าคนเราเข้ามาเป็นสาวกแท้ของพระเยซูคริสต์ เขาจะประสบการเปลี่ยนแปลงในชีวิตอย่างเห็นได้ชัด นับเป็นการปลดปล่อยทีเดียว!
7. (ก) ในขณะนี้เราเป็นอิสระพ้นจากบาปในแง่ไหน? (ข) เพื่อจะมีเสรีภาพเช่นว่านั้น เราต้องทำอะไร?
7 นี่มิได้หมายความว่าในปัจจุบันคริสเตียนแท้ไม่รู้สึกถึงผลกระทบของแนวโน้มที่จะประพฤติผิดบาปซึ่งติดตัวมาแต่กำเนิด. เนื่องจากพวกเขาได้รับบาปเป็นมรดก พวกเขายังคงต่อสู้เนื่องจากสิ่งนั้น. (โรม 7:21-25) อย่างไรก็ตาม ถ้าคนเราดำเนินชีวิตสอดคล้องกับคำสั่งสอนของพระเยซูอย่างแท้จริง เขาก็จะไม่เป็นทาสของบาปอีกต่อไป. บาปจะไม่เป็นเหมือนผู้เผด็จการซึ่งออกคำสั่งให้เขาต้องเชื่อฟังอย่างไม่ลืมหูลืมตาอีกต่อไป. เขาจะไม่จมปลักกับวิถีชีวิตที่ไร้จุดมุ่งหมาย และทำให้เขามีสติรู้สึกผิดชอบที่ไม่ดี. เขาจะมีสติรู้สึกผิดชอบที่สะอาดจำเพาะพระเจ้า เนื่องจากบาปในอดีตของเขาได้รับการอภัยโดยอาศัยความเชื่อในเครื่องบูชาของพระคริสต์. แนวโน้มที่จะทำบาปอาจพยายามจะครอบงำอีก แต่เมื่อเขาไม่ยอมจำนน เพราะนึกถึงหลักคำสอนที่สะอาดของพระคริสต์ เขาแสดงให้เห็นว่า บาปมิใช่นายเหนือเขาอีกต่อไป.—โรม 6:12-17.
8. (ก) หลักการคริสเตียนแท้ให้เสรีภาพอะไรแก่เรา? (ข) เราควรมีทัศนะเช่นไรต่อผู้ปกครองฝ่ายโลก?
8 จงพิจารณาเสรีภาพที่เรามีในฐานะคริสเตียน. เราได้รับการปลดปล่อยจากผลกระทบของหลักคำสอนเท็จ, จากพันธนาการของการถือโชคลาง, และจากการเป็นทาสของบาป. ความจริงอันน่าพิศวงเรื่องสภาพของคนตายและการกลับเป็นขึ้นจากตายได้ทำให้เราเป็นอิสระพ้นจากการกลัวความตายอย่างที่ขาดเหตุผล. ความรู้ที่ว่าในไม่ช้าราชอาณาจักรอันชอบธรรมของพระเจ้าจะเข้ามาแทนที่รัฐบาลของมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์ ทำให้เราหลุดพ้นจากความสิ้นหวัง. (ดานิเอล 2:44; มัดธาย 6:10) อย่างไรก็ดี เสรีภาพเช่นนั้นไม่ได้เป็นข้ออ้างที่จะไม่นับถือเจ้าหน้าที่รัฐบาลและกฎหมายของรัฐ.—ติโต 3:1, 2; 1 เปโตร 2:16, 17.
9. (ก) เนื่องด้วยความรัก พระยะโฮวาทรงช่วยเราอย่างไรให้ได้รับเสรีภาพมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้สำหรับมนุษย์ในขณะนี้? (ข) เราจะตัดสินใจอย่างสุขุมได้อย่างไร?
9 พระยะโฮวาไม่ได้ปล่อยให้เราลองผิดลองถูกเพื่อหาวิธีดำเนินชีวิตที่ดีที่สุด. พระองค์รู้ว่าเราถูกสร้างขึ้นอย่างไร, อะไรจะทำให้เกิดความอิ่มใจอย่างแท้จริง, และสิ่งซึ่งจะเป็นประโยชน์ถาวรต่อเรา. พระองค์ทรงทราบถึงความคิดและความประพฤติที่อาจทำลายสัมพันธภาพที่คนเรามีกับพระองค์และกับเพื่อนมนุษย์ บางทีถึงกับทำให้ผู้นั้นมิได้เข้าโลกใหม่. ด้วยความรัก พระยะโฮวาทรงบอกให้เรารู้ทุกสิ่งโดยทางคัมภีร์ไบเบิลและองค์การที่เห็นได้ของพระองค์. (มาระโก 13:10; ฆะลาเตีย 5:19-23; 1 ติโมเธียว 1:12, 13) ดังนั้นแล้ว เป็นความรับผิดชอบของเราที่จะใช้เจตจำนงเสรีที่พระเจ้าประทานให้ในการตัดสินใจว่าจะตอบสนองอย่างไร. ไม่เหมือนกับอาดาม หากเราเอาใจใส่สิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลบอก เราจะตัดสินใจอย่างสุขุม. เราจะแสดงให้เห็นว่าสัมพันธภาพที่ดีกับพระยะโฮวาคือสิ่งที่เราเป็นห่วงมากที่สุดในชีวิตของเรา.
ต้องการเสรีภาพอีกแบบหนึ่ง
10. บางคนซึ่งเป็นพยานพระยะโฮวาไขว่คว้าหาเสรีภาพแบบไหน?
10 บางครั้ง หนุ่มสาวบางคนที่เป็นพยานพระยะโฮวา รวมทั้งผู้ใหญ่บางคน อาจรู้สึกว่าพวกเขาต้องการเสรีภาพอีกแบบหนึ่ง. โลกอาจดูน่าดึงดูดใจและน่าตื่นเต้น และเมื่อยิ่งคิดถึงเรื่องนี้มากเท่าไร ความปรารถนาของเขาที่จะทำสิ่งที่ไม่เหมาะสมกับคริสเตียนซึ่งเป็นที่นิยมในโลกก็ยิ่งแรงกล้าขึ้นเท่านั้น. คนเช่นนั้นอาจมิได้ตั้งใจจะใช้ยาเสพติด, ดื่มจัด, หรือทำผิดประเวณี. แต่พวกเขาเริ่มคบหากับบางคนที่ไม่ใช่คริสเตียนแท้ และต้องการจะเป็นที่ยอมรับของคนพวกนั้น. พวกเขาอาจเริ่มเลียนแบบคำพูดและความประพฤติของเขาเสียด้วยซ้ำ.—3 โยฮัน 11.
11. บางครั้งการล่อใจให้ทำผิดนั้นมาจากไหน?
11 บางครั้ง การล่อใจให้ประพฤติผิดหลักการคริสเตียนมาจากบางคนซึ่งอ้างว่ารับใช้พระยะโฮวา. นั่นเกิดขึ้นกับคริสเตียนในยุคแรกบางคน และสิ่งเดียวกันนั้นอาจเกิดขึ้นในสมัยของเรา. คนเช่นนั้นมักอยากทำสิ่งที่เขารู้สึกว่าจะนำความเพลิดเพลินมาให้ตน แต่สิ่งนั้น ๆ ขัดกับกฎหมายของพระเจ้า. พวกเขาชักชวนคนอื่น ๆ ให้มาร่วม “สนุก” กันบ้าง. พวกเขา ‘สัญญาว่าจะให้เสรีภาพ ขณะที่พวกเขาเองก็เป็นทาสของความเสื่อมเสีย.’—2 เปโตร 2:19, ล.ม.
12. อะไรคือผลอันน่าเศร้าของความประพฤติที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายและหลักการของพระเจ้า?
12 ผลสืบเนื่องจากสิ่งที่เรียกกันว่าเสรีภาพนั้นมักจะไม่ดี เพราะนั่นหมายถึงการไม่เชื่อฟังกฎหมายของพระเจ้า. ตัวอย่างเช่น การลักลอบได้เสียกันอาจก่อให้เกิดความปั่นป่วนทางอารมณ์ความรู้สึก, ติดโรค, เสียชีวิต, การตั้งครรภ์อันไม่พึงปรารถนา, และอาจทำให้ชีวิตสมรสพังทลายลง. (1 โกรินโธ 6:18; 1 เธซะโลนิเก 4:3-8) การใช้ยาในทางที่ผิดอาจก่อให้เกิดความหงุดหงิด, พูดจาเลอะเทอะ, สายตาพร่ามัว, วิงเวียนศีรษะ, หายใจไม่สะดวก, ประสาทหลอน และเสียชีวิต. การใช้ยาในทางที่ผิดอาจทำให้ติดยาได้ ซึ่งอาจนำไปสู่การก่ออาชญากรรมเพื่อจะได้เงินซื้อยามาเสพ. การใช้แอลกอฮอล์ในทางที่ผิดก็ส่งผลเช่นเดียวกัน. (สุภาษิต 23:29-35) ผู้ซึ่งพัวพันกับการประพฤติเช่นนั้นอาจคิดว่า พวกเขาเป็นอิสระ แต่พอรู้ตัวก็สายไปเสียแล้ว พวกเขาได้ตกเป็นทาสของบาป. และบาปนั้นช่างเป็นนายที่ทารุณจริง ๆ! การหาเหตุผลในเรื่องดังกล่าวเสียแต่บัดนี้ อาจช่วยป้องกันเราพ้นจากประสบการณ์ดังกล่าว.—ฆะลาเตีย 6:7, 8.
ที่ที่ปัญหาเริ่มต้น
13. (ก) ความปรารถนาที่นำไปสู่ปัญหามักจะถูกปลุกเร้าขึ้นอย่างไร? (ข) เพื่อเข้าใจว่า “การคบหาสมาคมที่ไม่ดี” เป็นอย่างไรนั้น เราต้องอาศัยทัศนะของใคร? (ค) ขณะที่คุณตอบคำถามในท้ายวรรค 13 จงเน้นเกี่ยวกับทัศนะของพระยะโฮวา.
13 ลองใคร่ครวญดูว่าปัญหามักจะเริ่มที่ไหน. คัมภีร์ไบเบิลอธิบายดังนี้: “ทุกคนถูกทดลองโดยที่ความปรารถนาของเขาเองชักนำและล่อใจเขา. ครั้นเมื่อความปรารถนาปฏิสนธิแล้ว ความปรารถนานั้นก่อให้เกิดบาป; แล้วเมื่อกระทำบาป บาปนั้นก็ก่อให้เกิดความตาย.” (ยาโกโบ 1:14, 15, ล.ม.) แต่ความปรารถนานั้นถูกปลุกเร้าขึ้นอย่างไร? โดยสิ่งที่เข้าไปในความคิดจิตใจ. บ่อยครั้ง สิ่งนี้เป็นผลจากการคบหากับผู้คนซึ่งไม่ได้นำหลักการของคัมภีร์ไบเบิลไปใช้. แน่ล่ะ เราทุกคนรู้ว่าเราควรหลีกเลี่ยง “การคบหาสมาคมที่ไม่ดี.” (1 โกรินโธ 15:33, ล.ม.) แต่การคบหาสมาคมแบบไหนที่ไม่ดี? พระยะโฮวาทรงมีทัศนะอย่างไรต่อเรื่องนี้? การหาเหตุผลจากคำถามต่าง ๆ ต่อไปนี้และเปิดดูข้อคัมภีร์ที่อ้างถึงน่าจะช่วยเราให้ลงความเห็นได้อย่างถูกต้อง.
ข้อที่ว่าบางคนดูเหมือนเป็นคนน่านับถือหมายความว่าเขาเป็นคนน่าคบไหม? (เยเนซิศ 34:1, 2, 18, 19)
การสนทนาหรือบางทีมุขตลกของเขา จะเป็นเครื่องบ่งชี้ได้ไหมว่าเราควรจะคบสนิทกับพวกเขาหรือไม่? (เอเฟโซ 5:3, 4)
พระยะโฮวาทรงรู้สึกอย่างไรถ้าเราเลือกคบหาใกล้ชิดกับคนที่ไม่รักพระองค์? (2 โครนิกา 19:1, 2)
ถึงแม้เราอาจทำงานร่วมกับเขา หรือเรียนอยู่โรงเรียนเดียวกับคนที่ไม่มีความเชื่อเหมือนเรา เหตุใดจึงจำเป็นที่เราต้องระวัง? (1 เปโตร 4:3, 4)
การดูโทรทัศน์และภาพยนตร์, การใช้อินเทอร์เน็ต, และการอ่านหนังสือ, นิตยสาร และหนังสือพิมพ์ล้วนเป็นวิธีที่เราคบหาสมาคมกับผู้อื่น. เรื่องราวประเภทไหนจากแหล่งดังกล่าวที่เราต้องระวัง? (สุภาษิต 3:31; ยะซายา 8:19; เอเฟโซ 4:17-19)
การเลือกคบหาสมาคมบอกอะไรแก่พระยะโฮวาในแง่ที่ว่าเราเป็นคนชนิดใด? (บทเพลงสรรเสริญ 26:1, 4, 5; 97:10)
14. เสรีภาพอันยอดเยี่ยมอะไรที่รออยู่เบื้องหน้าสำหรับผู้ที่เอาคำแนะนำจากพระคำของพระเจ้าไปใช้อย่างสัตย์ซื่อในขณะนี้?
14 สิ่งที่อยู่เบื้องหน้าเราไม่ไกลคือโลกใหม่ของพระเจ้า. โดยทางราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์ของพระเจ้า มนุษยชาติจะได้รับการปลดเปลื้องจากอิทธิพลของซาตานและระบบชั่วทั้งสิ้นของมัน. ทีละเล็กทีละน้อย ผลกระทบทั้งสิ้นจากบาปจะถูกขจัดออกไปจากมนุษยชาติที่เชื่อฟัง, ยังผลเป็นความสมบูรณ์ทั้งทางจิตใจและร่างกาย เพื่อเราจะสามารถมีชีวิตนิรันดร์ในอุทยาน. เสรีภาพซึ่งประสานกันอย่างเต็มที่กับ “พระวิญญาณของพระยะโฮวา” จะเป็นของสิ่งทรงสร้างทั้งปวงในที่สุด. (2 โกรินโธ 3:17, ล.ม.) จะมีเหตุผลไหมหากจะเสี่ยงต่อการสูญเสียสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดเนื่องจากไม่คำนึงถึงคำแนะนำในพระคำของพระเจ้าเสียแต่บัดนี้? โดยใช้เสรีภาพของคริสเตียนอย่างฉลาดในเวลานี้ ขอให้เราทุกคนแสดงอย่างชัดเจนว่า สิ่งที่เราต้องการจริง ๆ คือ “เสรีภาพอันรุ่งโรจน์แห่งบุตรทั้งหลายของพระเจ้า.”—โรม 8:21, ล.ม.
การอภิปรายทบทวน
• มนุษย์คู่แรกมีเสรีภาพแบบไหน? นั่นเทียบได้อย่างไรกับสิ่งที่มนุษยชาติกำลังประสบในขณะนี้?
• คริสเตียนแท้มีเสรีภาพเช่นไร? สิ่งนี้แตกต่างกันอย่างไรกับสิ่งที่โลกถือว่าเป็นเสรีภาพ?
• เหตุใดการหลีกเลี่ยงการคบหาสมาคมที่ไม่ดีจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก? ไม่เหมือนกับอาดาม เรายอมรับการตัดสินของใครในเรื่องที่ว่าสิ่งไหนไม่ดี?
[ภาพหน้า 46]
พระคำของพระเจ้าเตือนว่า “อย่าให้ผู้ใดลวงท่าน. การคบหาสมาคมที่ไม่ดีทำให้นิสัยดีเสียไป”