บท 24
“กล้าหาญไว้”
พวกยิวคบคิดกันวางแผนจะฆ่าเปาโล และเปาโลแก้คดีต่อหน้าเฟลิกส์
1, 2. ทำไมเปาโลถึงไม่แปลกใจที่เขาต้องเจอกับการข่มเหงในกรุงเยรูซาเล็ม?
หลังจากถูกฉุดออกมาจากฝูงชนที่บ้าคลั่งในกรุงเยรูซาเล็ม เปาโลถูกจำคุกอีกครั้งหนึ่ง อัครสาวกที่มีความกระตือรือร้นคนนี้ไม่รู้สึกแปลกใจเลยที่ต้องเจอกับการข่มเหงในกรุงเยรูซาเล็ม เปาโลได้รับการยืนยันหลายครั้งว่าเขา “จะต้องติดคุกและเจอความยากลำบากหลายอย่าง” (กจ. 20:22, 23) ถึงแม้เปาโลไม่รู้ว่าเขาจะต้องเจอกับอะไรบ้าง แต่เขารู้ดีว่าเขาจะต้องทนทุกข์ต่อไปเพื่อชื่อของพระเยซู—กจ. 9:16
2 แม้กระทั่งผู้พยากรณ์ในประชาคมคริสเตียนก็ได้เตือนว่าเปาโลจะถูกมัด และถูกมอบไว้ใน “เงื้อมมือคนต่างชาติ” (กจ. 21:4, 10, 11) ก่อนหน้านี้ไม่นาน ฝูงชนชาวยิวได้พยายามจะฆ่าเปาโล หลังจากนั้น ดูเหมือนว่าสมาชิกของสภาแซนเฮดริน “จะ . . . ฉีก [เขา] เป็นชิ้น ๆ” ตอนที่พวกเขาเถียงกันเกี่ยวกับเรื่องที่เปาโลพูด ตอนนี้ อัครสาวกเปาโลเป็นนักโทษที่ทหารโรมันควบคุมตัว และเขากำลังจะเจอกับการพิจารณาคดีและข้อกล่าวหาอีกมากมาย (กจ. 21:31; 23:10) อัครสาวกเปาโลจำเป็นต้องได้รับกำลังใจจริง ๆ
3. เราได้รับกำลังใจจากที่ไหนเพื่อจะทำงานประกาศต่อไปได้?
3 ในสมัยสุดท้าย เรารู้ดีว่า “ทุกคนที่ตั้งใจใช้ชีวิตด้วยความเลื่อมใสพระเจ้าและเป็นสาวกพระคริสต์เยซูต้องถูกข่มเหงกันทั้งนั้น” (2 ทธ. 3:12) ในบางครั้ง เราทุกคนต้องได้รับกำลังใจเพื่อจะทำงานประกาศต่อไป เรารู้สึกขอบคุณจริง ๆ ที่เราสามารถได้รับกำลังใจในเวลาที่เหมาะสมผ่านทางหนังสือและการประชุมที่ “ทาสที่ซื่อสัตย์และสุขุม” ได้จัดเตรียมไว้ให้เรา (มธ. 24:45) พระยะโฮวารับรองกับเราว่า พวกศัตรูของข่าวดีจะไม่ประสบผลสำเร็จ พวกเขาจะไม่สามารถทำลายผู้รับใช้ของพระองค์ทั้งกลุ่ม และไม่สามารถหยุดยั้งงานประกาศได้ (อสย. 54:17; ยรม. 1:19) แต่จะว่ายังไงกับอัครสาวกเปาโล? เขาได้รับกำลังใจให้ประกาศต่อไปทั้ง ๆ ที่เจอการต่อต้านไหม? เปาโลได้รับกำลังใจยังไง และเขาตอบรับยังไง?
การ “คบคิดวางแผนและสาบานตัว” ไม่ประสบความสำเร็จ (กิจการ 23:11-34)
4, 5. เปาโลได้รับกำลังใจยังไง และทำไมกำลังใจที่เขาได้รับถึงเหมาะกับเวลา?
4 อัครสาวกเปาโลได้รับกำลังใจอย่างมากในคืนนั้นหลังจากที่เขาได้รับความช่วยเหลือให้ออกมาจากสภาแซนเฮดริน เรื่องราวที่มีขึ้นโดยการดลใจบอกเราว่า “ผู้เป็นนายมายืนอยู่ข้างเปาโลและบอกว่า ‘กล้าหาญไว้ คุณได้ประกาศเกี่ยวกับผมอย่างทั่วถึงในกรุงเยรูซาเล็มแล้ว คุณจะต้องประกาศอย่างนั้นในกรุงโรมด้วย’” (กจ. 23:11) คำพูดที่ให้กำลังใจของพระเยซูทำให้เปาโลมั่นใจว่าเขาจะได้รับความช่วยเหลือ เปาโลจะรอดชีวิตและเขาจะไปประกาศความจริงเรื่องพระเยซูที่กรุงโรม
5 คำพูดที่ให้กำลังใจที่เปาโลได้รับเหมาะกับเวลาจริง ๆ เพราะในวันถัดมา มีผู้ชายชาวยิวมากกว่า 40 คน “คบคิดกันวางแผนและสาบานตัวว่าจะไม่กินไม่ดื่มอะไรจนกว่าจะได้ฆ่าเปาโล” ชาวยิวพวกนั้นตั้งใจจะฆ่าเปาโลจริง ๆ พวกเขาถึงกับสาบานว่าถ้าทำไม่สำเร็จ พวกเขาจะต้องเจอกับเรื่องเลวร้าย (กจ. 23:12-15) พวกปุโรหิตใหญ่และพวกผู้นำเห็นด้วยกับแผนการของพวกยิว พวกเขาให้นำตัวเปาโลกลับมาที่สภาแซนเฮดรินเพื่อซักถามอีกครั้ง พวกเขาทำเหมือนกับว่าอยากรู้เรื่องของเปาโลมากขึ้น แต่จริง ๆ แล้ว พวกผู้คบคิดตั้งใจจะดักทำร้ายเปาโลและฆ่าเขาระหว่างที่เดินทางมา
6. แผนฆ่าเปาโลถูกเปิดเผยยังไง และหนุ่มสาวในทุกวันนี้จะเลียนแบบหลานชายของเปาโลได้ยังไง?
6 อย่างไรก็ตาม หลานของเปาโลได้ยินแผนร้ายนี้ เขาบอกให้เปาโลรู้ หลังจากนั้น เปาโลก็ให้หลานไปบอกเรื่องแผนร้ายนี้กับคลาวดิอัสลีเซียสผู้บังคับกองพันชาวโรมัน (กจ. 23:16-22) แน่นอน พระยะโฮวารักหนุ่มสาวที่เป็นเหมือนหลานชายของเปาโล เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าหลานคนนี้ชื่ออะไร แต่เขามีความกล้าหาญ และคิดถึงความปลอดภัยของประชาชนของพระเจ้ามากกว่าความปลอดภัยของตัวเอง เขาพร้อมจะทำทุกอย่างที่ทำได้อย่างซื่อสัตย์เพื่อสนับสนุนงานของรัฐบาลพระเจ้า
7, 8 คลาวดิอัสลีเซียสได้ทำอะไรเพื่อให้เปาโลปลอดภัย?
7 ทันทีที่คลาวดิอัสลีเซียสผู้บังคับกองพันรู้ว่ามีการวางแผนฆ่าเปาโล เขาก็สั่งให้ทหาร 470 คนออกจากกรุงเยรูซาเล็มคืนนั้นเพื่อนำตัวเปาโลไปยังเมืองซีซารียาอย่างปลอดภัย ทหารกลุ่มนี้มีทั้งทหาร ทหารม้า และพลหอก พอไปถึงแล้วเปาโลก็ถูกส่งตัวให้ผู้ว่าราชการเฟลิกส์a ถึงแม้เมืองซีซารียาซึ่งเป็นศูนย์กลางการบริหารงานของโรมันในแคว้นยูเดียมีคนยิวอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่แล้วชาวเมืองนั้นเป็นคนต่างชาติ ซึ่งทำให้เมืองนี้มีความสงบเรียบร้อย ไม่เหมือนกับกรุงเยรูซาเล็มซึ่งมีหลายคนมีอคติอย่างรุนแรงต่อศาสนาอื่นและก่อให้เกิดความวุ่นวาย เมืองซีซารียายังเป็นกองบัญชาการสำคัญของกองทัพโรมันในแคว้นยูเดียด้วย
8 ลีเซียสทำตามกฎหมายโรมัน เขาส่งจดหมายถึงเฟลิกส์เพื่ออธิบายคดีความ ลีเซียสบอกว่า พอได้รู้ว่าเปาโลเป็นพลเมืองโรมัน เขาจึงช่วยเปาโลไว้ไม่ให้ถูก “พวกยิว . . . ฆ่า” ลีเซียสยังบอกอีกว่า เขาไม่เห็นว่าเปาโลมีความผิดอะไรที่ “ทำให้เขาควรถูกประหารหรือถูกขังคุก” แต่เนื่องจากมีการวางแผนทำร้ายเปาโล เขาจึงส่งตัวเปาโลให้ผู้ว่าราชการเฟลิกส์เพื่อฟังข้อกล่าวหาและตัดสินเรื่องนี้—กจ. 23:25-30
9. (ก) มีการละเมิดสิทธิพลเมืองโรมันของเปาโลยังไง? (ข) เราอาจใช้ประโยชน์จากสิทธิที่ตัวเองมีในฐานะพลเมืองของประเทศยังไง?
9 สิ่งที่ลีเซียสเขียนเป็นความจริงไหม? ไม่ใช่ทั้งหมด ดูเหมือนเขาพยายามทำให้ผู้ว่าราชการประทับใจในตัวเขามากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ที่จริง เหตุผลที่เขาช่วยเปาโลไม่ใช่เพราะเปาโลเป็นพลเมืองโรมัน นอกจากนั้น ลีเซียสไม่ได้บอกว่าเขา “สั่งให้เอาโซ่ 2 เส้นล่าม” เปาโล และต่อมาก็สั่งให้ “สอบสวน [เปาโล] ด้วยการเฆี่ยน” (กจ. 21:30-34; 22:24-29) การที่ลีเซียสทำอย่างนี้เป็นการละเมิดสิทธิพลเมืองโรมันของเปาโล ในทุกวันนี้ก็เหมือนกัน ซาตานใช้ผู้ต่อต้านที่คลั่งศาสนาข่มเหงประชาชนของพระเจ้า พวกเขาอาจพยายามละเมิดสิทธิเสรีภาพในการนมัสการพระเจ้าของเรา แต่จากตัวอย่างของเปาโล บ่อยครั้งประชาชนของพระเจ้าสามารถใช้ประโยชน์จากสิทธิที่ตัวเองมีในฐานะพลเมืองของประเทศเพื่อปกป้องตัวเอง
“ผมยินดีที่ได้พูดแก้คดีของผม” (กิจการ 23:35–24:21)
10. มีการกล่าวหาเปาโลด้วยข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงอะไรบ้าง?
10 มีการ “สั่งให้คุมตัวเปาโลเอาไว้ที่วังของเฮโรด” ในเมืองซีซารียา เพื่อคอยพวกผู้กล่าวหาจากกรุงเยรูซาเล็มให้มาพร้อมหน้ากัน (กจ. 23:35) ห้าวันต่อมา พวกเขาก็มาถึง มีมหาปุโรหิตอานาเนีย ทนายความคนหนึ่งชื่อเทอร์ทูลลัส และผู้นำชาวยิวบางคน ตอนแรก เทอร์ทูลลัสยกย่องเฟลิกส์ในสิ่งที่เขาทำเพื่อพวกยิว เทอร์ทูลลัสยกย่องแบบนี้ก็แค่อยากให้เฟลิกส์พอใจb ต่อจากนั้น เทอร์ทูลลัสได้ยกเรื่องที่เป็นคดีความขึ้นมาพูด เขาพูดถึงเปาโลว่า “เป็นตัวปัญหาที่ปลุกระดมชาวยิวทั่วทุกแห่ง เขาเป็นผู้นำนิกายของชาวนาซาเร็ธ และพยายามลบหลู่วิหารด้วย พวกผมจึงจับตัวเขาไว้” พวกยิวคนอื่น ๆ ก็ “ร่วมกล่าวหาเปาโลด้วยโดยยืนยันว่าเรื่องที่ฟ้องเปาโลเป็นเรื่องจริง” (กจ. 24:5, 6, 9) ข้อกล่าวหาเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการปลุกระดม การเป็นผู้นำนิกายอันตราย และการลบหลู่วิหาร เป็นข้อกล่าวหาร้ายแรงซึ่งอาจทำให้เปาโลถูกตัดสินประหารชีวิต
11, 12. เปาโลได้หักล้างข้อกล่าวหายังไง?
11 ต่อจากนั้น เปาโลได้รับอนุญาตให้พูด เขาเริ่มต้นว่า “ผมยินดีที่ได้พูดแก้คดีของผม” เปาโลปฏิเสธข้อกล่าวหาทุกอย่าง อัครสาวกเปาโลไม่ได้ลบหลู่วิหาร เขาไม่ได้พยายามปลุกระดม เปาโลชี้แจงว่า ที่จริง เขาไม่ได้มาที่กรุงเยรูซาเล็ม “หลายปี” แล้ว และหลังจากนั้น เขาเอา “ของบริจาค” มาให้คริสเตียนที่ขัดสนเพราะการขาดแคลนอาหารและการข่มเหง เปาโลได้ยืนยันว่าก่อนเข้าไปในวิหาร เขาได้ “ชำระตัวตามพิธีกรรม” และพยายามอยู่เสมอที่จะ “ไม่ทำผิดต่อพระเจ้าหรือต่อมนุษย์ เพื่อจะไม่มีอะไรรบกวนความรู้สึกผิดชอบชั่วดี”—กจ. 24:10-13, 16-18
12 อย่างไรก็ตาม เปาโลยอมรับว่าเขาทำงานรับใช้ที่ศักดิ์สิทธิ์ให้พระเจ้าของบรรพบุรุษของเขา “ตามแนวปฏิบัติที่พวกเขาเรียกว่าเป็นนิกายหนึ่ง” แต่เขายืนยันว่าเขาเชื่อ “ทุกสิ่งที่เขียนไว้ในกฎหมายของโมเสสและในหนังสือของพวกผู้พยากรณ์” และเขายังมีความหวังเหมือนกับพวกที่กล่าวหาเขา คือ “ทั้งคนดีและคนชั่วจะฟื้นขึ้นจากตาย” ต่อจากนั้นเปาโลได้ท้าผู้กล่าวหาเขาว่า “ให้คนที่อยู่ที่นี่บอกมาว่าผมทำผิดอะไรตอนที่ผมยืนอยู่ต่อหน้าศาลแซนเฮดริน ยกเว้นเรื่องเดียวที่พวกเขาจะกล่าวหาผมได้ คือตอนที่ยืนอยู่กลางศาลผมตะโกนขึ้นมาว่า ‘ผมถูกตัดสินคดีต่อหน้าพวกคุณในวันนี้ก็เพราะเรื่องการฟื้นขึ้นจากตาย’”—กจ. 24:14, 15, 20, 21
13-15. ทำไมเราควรเลียนแบบตัวอย่างของเปาโลตอนที่ประกาศกับผู้มีอำนาจบ้านเมือง?
13 ตอนที่เราถูกพาตัวไปต่อหน้าผู้มีอำนาจบ้านเมืองเนื่องจากการนมัสการของเรา และถูกกล่าวหาอย่างผิด ๆ ว่าปลุกระดมให้เกิดความวุ่นวาย ก่อความไม่สงบ หรือเป็นสมาชิกของ “นิกายอันตราย” เราสามารถคิดถึงตัวอย่างที่ดีของเปาโลได้ เปาโลไม่ได้พูดยกย่องผู้ว่าราชการหรือพูดประจบประแจงเหมือนเทอร์ทูลลัส เขาสงบนิ่งและแสดงความนับถือ เปาโลให้หลักฐานที่ชัดเจนและเป็นความจริงโดยพูดอย่างผ่อนหนักผ่อนเบา เขาบอกว่า “คนยิวบางคนจากแคว้นเอเชีย” ซึ่งกล่าวหาเขาว่าลบหลู่วิหารไม่ได้มาฟ้องเขาในวันนี้ และตามกฎหมายแล้ว เปาโลน่าจะมีโอกาสเจอพวกเขาและฟังข้อกล่าวหาของพวกเขา—กจ. 24:18, 19
14 ที่น่าประทับใจที่สุดก็คือ เปาโลไม่กลัวที่จะพูดเกี่ยวกับสิ่งที่เขาเชื่อ เขาพูดถึงความเชื่อเรื่องการฟื้นขึ้นจากตายด้วยความกล้าหาญ ทั้ง ๆ ที่เรื่องนั้นเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดความวุ่นวายอย่างหนักตอนที่เขาอยู่ต่อหน้าสภาแซนเฮดริน (กจ. 23:6-10) เมื่อแก้คดี ทำไมเปาโลถึงเน้นความหวังเรื่องการฟื้นขึ้นจากตาย? เพราะเปาโลประกาศความจริงเรื่องพระเยซูและการฟื้นขึ้นจากตายของท่าน ซึ่งเป็นเรื่องที่พวกผู้ต่อต้านไม่ยอมรับ (กจ. 26:6-8, 22, 23) ที่จริง เหตุผลหลักที่เปาโลถูกพิจารณาคดีในครั้งนี้ก็คือความเชื่อเรื่องการฟื้นขึ้นจากตาย โดยเฉพาะเรื่องการฟื้นขึ้นจากตายของพระเยซู
15 เหมือนกับเปาโล เราสามารถประกาศอย่างกล้าหาญ และได้กำลังใจจากสิ่งที่พระเยซูพูดกับเหล่าสาวกที่ว่า “ทุกคนจะเกลียดชังคุณเพราะคุณเป็นสาวกของผม แต่คนที่อดทนจนถึงที่สุด จะได้รับการช่วยให้รอด” เราต้องกังวลไหมว่าเราจะพูดอะไร? ไม่ เพราะพระเยซูรับรองว่า “ตอนที่พวกเขาจับคุณไป ไม่ต้องกังวลว่าจะพูดอะไร แต่ให้พูดไปตามที่พลังบริสุทธิ์ของพระเจ้าจะบอกคุณในตอนนั้น เพราะจริง ๆ แล้ว ไม่ใช่ตัวคุณเองที่พูด แต่เป็นพลังของพระเจ้า”—มก. 13:9-13
“เฟลิกส์ก็กลัว” (กิจการ 24:22-27)
16, 17. (ก) เฟลิกส์จัดการยังไงในเรื่องการพิจารณาคดีของเปาโล? (ข) ทำไมเฟลิกส์กลัว และทำไมเขาเรียกเปาโลไปพบอีกหลายครั้ง?
16 นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้ว่าราชการเฟลิกส์ได้ยินเรื่องความเชื่อของคริสเตียน คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “เฟลิกส์รู้เรื่องดีเกี่ยวกับทางนั้น [เป็นคำที่ใช้พูดถึงศาสนาคริสเตียนยุคแรก] . . . จึงให้เลื่อนการพิจารณาออกไปก่อนและพูดว่า ‘ผมจะตัดสินคดีของพวกคุณตอนที่ผู้บังคับกองพันลีเซียสมาถึง’ แล้วเฟลิกส์ก็สั่งนายร้อยให้คุมตัวเปาโลไว้แต่ให้มีอิสระบ้างพอสมควร และสั่งว่าไม่ต้องห้ามถ้ามีพวกของเปาโลมาคอยดูแลเขา”—กจ. 24:22, 23
17 ไม่กี่วันต่อมา เฟลิกส์กับดรูสิลลาภรรยาของเขาที่เป็นชาวยิวได้เรียกเปาโลมา พวกเขา “ฟังเปาโลพูดถึงความเชื่อเรื่องพระคริสต์เยซู” (กจ. 24:24) อย่างไรก็ตาม เมื่อเปาโลพูดถึงเรื่อง “การทำสิ่งที่ถูกต้อง การรู้จักควบคุมตัวเอง และการพิพากษาที่จะเกิดขึ้น เฟลิกส์ก็กลัว” นั่นอาจเป็นเพราะเรื่องนั้นรบกวนความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของเขา เพราะเขาได้ทำสิ่งที่ชั่วร้าย ดังนั้น เฟลิกส์จึงบอกเปาโลว่า “ตอนนี้คุณไปได้แล้ว ถ้ามีโอกาสผมจะเรียกคุณมาอีก” เฟลิกส์ได้พบเปาโลหลายครั้งหลังจากนั้น ไม่ใช่เพราะเขาต้องการเรียนรู้ความจริง แต่เพราะหวังว่าจะได้เงินสินบนจากเปาโล—กจ. 24:25, 26
18. ทำไมเปาโลถึงพูดกับเฟลิกส์และภรรยาเรื่อง “การทำสิ่งที่ถูกต้อง การรู้จักควบคุมตัวเอง และการพิพากษาที่จะเกิดขึ้น”?
18 ทำไมเปาโลถึงพูดกับเฟลิกส์และภรรยาเรื่อง “การทำสิ่งที่ถูกต้อง การรู้จักควบคุมตัวเอง และการพิพากษาที่จะเกิดขึ้น”? ขอจำไว้ว่า ทั้งสองคนนั้นอยากรู้ว่าถ้ามี “ความเชื่อเรื่องพระคริสต์เยซู” แล้วต้องทำอะไรบ้าง เปาโลรู้ว่าทั้งเฟลิกส์และภรรยาเป็นคนผิดศีลธรรม โหดร้าย และไม่ยุติธรรม เขาจึงอธิบายอย่างชัดเจนว่ามีข้อเรียกร้องอะไรสำหรับทุกคนที่ต้องการจะเป็นสาวกของพระเยซู สิ่งที่เปาโลพูดทำให้เห็นชัดเจนว่ามาตรฐานความถูกต้องของพระเจ้ากับรูปแบบชีวิตของเฟลิกส์และภรรยาแตกต่างกันอย่างมาก เรื่องนี้น่าจะช่วยเขาสองคนให้เข้าใจว่า พระเจ้าจะตัดสินมนุษย์ทุกคนในสิ่งที่เขาคิด พูด และทำ และการพิพากษาของพระเจ้าที่จะทำกับเฟลิกส์สำคัญยิ่งกว่าการพิพากษาของเฟลิกส์ที่จะทำกับเปาโล ไม่น่าแปลกใจที่เฟลิกส์ “กลัว”
19, 20. (ก) ในงานประกาศ เราควรทำยังไงเมื่อคนที่เราประกาศให้ฟังดูเหมือนแสดงความสนใจ แต่ไม่อยากเชื่อฟังพระเจ้าและเปลี่ยนชีวิตของเขา? (ข) เรารู้ได้ยังไงว่าเฟลิกส์ไม่ได้อยากช่วยเปาโลจริง ๆ?
19 เราอาจเจอคนที่เป็นเหมือนเฟลิกส์ในงานประกาศของเรา ตอนแรก พวกเขาอาจดูเหมือนสนใจความจริง แต่พวกเขาไม่อยากเชื่อฟังพระเจ้าและเปลี่ยนชีวิตของเขา เราต้องระวังตอนที่พยายามช่วยคนแบบนั้น และเหมือนกับเปาโล เราจะพยายามบอกอย่างผ่อนหนักผ่อนเบาให้เขารู้เกี่ยวกับมาตรฐานของพระเจ้าว่าอะไรถูกอะไรผิด เป็นไปได้ว่าความจริงอาจเข้าถึงหัวใจของพวกเขา แต่ถ้าเราเห็นชัดเจนว่าเขาไม่คิดจะเปลี่ยน เราก็ควรปล่อยเขาไป และไปเสาะหาคนที่อยากรู้ความจริง
20 ในกรณีของเฟลิกส์ มีการเผยให้เห็นว่าเขาคิดอะไรจริง ๆ คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “แต่เฟลิกส์ยังให้เปาโลอยู่ในคุกต่อไปเพราะอยากเอาใจชาวยิว สองปีผ่านไป ปอร์สิอัสเฟสทัสก็มารับตำแหน่งต่อจากเฟลิกส์” (กจ. 24:27) เห็นได้ชัดว่าเฟลิกส์ไม่ได้อยากช่วยเปาโลจริง ๆ เฟลิกส์รู้ว่าพวกผู้ติดตาม “ทางนั้น” ไม่ได้เป็นผู้ก่อความไม่สงบ (กจ. 19:23) เขายังรู้ด้วยว่าเปาโลไม่ได้ทำผิดกฎหมายโรมันข้อไหนเลย แต่เฟลิกส์ก็ให้เปาโลอยู่ในคุกต่อไป “เพราะอยากเอาใจชาวยิว”
21. เกิดอะไรขึ้นกับเปาโลหลังจากปอร์สิอัสเฟสทัสมาเป็นผู้ว่าราชการ และเปาโลคงจะได้รับกำลังต่อ ๆ ไปจากไหน?
21 เหมือนที่เราเห็นในข้อสุดท้ายของกิจการบท 24 เปาโลยังคงเป็นนักโทษอยู่ตอนที่ปอร์สิอัสเฟสทัสมาเป็นผู้ว่าราชการต่อจากเฟลิกส์ ดังนั้น การพิจารณาคดีอย่างต่อเนื่องได้เริ่มต้น และเปาโลต้องไปอยู่ต่อหน้าเจ้าหน้าที่หลายคน ที่จริง อัครสาวกผู้กล้าหาญคนนี้ “ถูกนำตัวไปอยู่ต่อหน้ากษัตริย์และผู้ว่าราชการ” (ลก. 21:12) เราจะดูด้วยกันว่า ในภายหลังเปาโลจะประกาศกับผู้ปกครองที่มีอำนาจมากที่สุดในสมัยนั้น ตลอดช่วงเวลานั้น ความเชื่อของเปาโลยังมั่นคงเสมอ ไม่ต้องสงสัยว่า เปาโลคงจะได้รับกำลังต่อ ๆ ไปจากคำพูดของพระเยซูที่ว่า “กล้าหาญไว้”
a ดูกรอบ “เฟลิกส์—ผู้ว่าราชการแคว้นยูเดีย”
b เทอร์ทูลลัสขอบคุณเฟลิกส์ที่ทำให้เกิด “ความร่มเย็นเป็นสุข” กับชาติยิว อย่างไรก็ตาม จริง ๆ แล้วช่วงที่เฟลิกส์เป็นผู้ว่าราชการในแคว้นยูเดีย มีความสงบสุขน้อยมากเมื่อเทียบกับช่วงการปกครองของผู้ว่าราชการคนอื่น ๆ ก่อนหน้านั้นและต่อจากนั้น จนถึงกับมีการกบฏต่อโรม นอกจากนั้น เทอร์ทูลลัสยังโกหกตอนที่บอกว่าพวกยิว “รู้สึกขอบคุณอย่างยิ่ง” ที่เฟลิกส์ทำการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง ที่จริง ชาวยิวส่วนใหญ่เกลียดชังเฟลิกส์เพราะเขาเป็นผู้ปกครองที่ชอบกดขี่ และเขาปราบการกบฏอย่างโหดร้าย—กจ. 24:2, 3