บทเก้า
อย่า “แสวงหาสิ่งที่เจ้าคิดว่าสำคัญ”
1, 2. (ก) ในปีที่สี่ของยะโฮยาคิม บารุคมีปัญหาอะไร? (ข) พระยะโฮวาทรงช่วยบารุคอย่างไร?
บารุคอาลักษณ์ที่ซื่อสัตย์ของยิระมะยาห์รู้สึกท้อแท้. ตอนนั้นเป็นปีที่สี่ในรัชกาลของกษัตริย์ยะโฮยาคิมที่ชั่วร้าย หรือในราวปี 625 ก่อน ส.ศ. ยิระมะยาห์ได้บอกให้อาลักษณ์ผู้นี้เขียนถ้อยคำทั้งสิ้นที่พระยะโฮวาได้ตรัสผ่านทางท่านลงไว้ในม้วนหนังสือ ซึ่งเป็นคำตรัสเรื่องเยรูซาเลมและยูดาห์ตลอด 23 ปีที่ยิระมะยาห์ทำงานพยากรณ์จนถึงตอนนั้น. (ยิระ. 25:1-3; 36:1, 2) บารุคไม่ได้อ่านข้อความในม้วนหนังสือดังกล่าวแก่พวกยิวในตอนนั้นทันที. เขาได้อ่านให้ชาวยิวฟังในปีต่อมา. (ยิระ. 36:9, 10) แต่มีอะไรบางอย่างทำให้บารุคเป็นทุกข์หรือ?
2 บารุคคร่ำครวญว่า “ข้าพเจ้าแย่แล้ว ข้าพเจ้าเป็นทุกข์อยู่แล้ว พระยะโฮวายังมาทำให้ข้าพเจ้าโศกเศร้าอีก ข้าพเจ้าทอดถอนใจจนเหนื่อยอ่อน.” บางครั้งคุณคงเคยแสดงความท้อแท้โดยพูดออกมาหรือไม่ก็แค่พูดในใจ. ไม่ว่าบารุคได้พูดวิธีไหนก็ตาม พระยะโฮวาทรงฟังอยู่. พระองค์ผู้ตรวจดูหัวใจมนุษย์ทรงทราบว่าอะไรทำให้บารุคทุกข์ใจ และโดยทางยิระมะยาห์ พระเจ้าทรงแก้ไขบารุคด้วยความกรุณา. (อ่านยิระมะยา 45:1-5, ล.ม.a) แต่คุณอาจอยากรู้ว่า ทำไมบารุคจึงรู้สึกท้อแท้ขนาดนั้น. เป็นเพราะงานมอบหมายที่เขาได้รับไหม หรือว่าบางทีเนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เขาต้องทำงานดังกล่าว? ที่แท้แล้ว ความรู้สึกดังกล่าวเกิดจากหัวใจเขานั่นเอง. อย่าลืมว่าบารุค ‘แสวงหาสิ่งที่เขาคิดว่าสำคัญ.’ สิ่งนั้นคืออะไร? พระยะโฮวาทรงสัญญาอะไรหากเขายอมรับคำแนะนำและพระบัญชาของพระองค์? และเราจะเรียนอะไรได้จากประสบการณ์ของบารุค?
‘สิ่งสำคัญ’ เหล่านั้นคืออะไร?
3. อะไรเป็นสาเหตุแห่งปัญหาของบารุค?
3 บารุคคงต้องรู้ว่า ‘สิ่งสำคัญ’ เหล่านั้นคืออะไร. อาลักษณ์ผู้นี้ตระหนักว่า “พระเนตรของ [พระเจ้า] ทรงมองดูวิถีทางของคน, และพระองค์ทรงเห็นทุกย่างก้าวที่เขาดำเนินไป.” (โยบ 34:21) เหตุผลที่บารุครู้สึกว่า “ไม่มีความสงบใจเลย” ระหว่างที่คัดลอกถ้อยคำเชิงพยากรณ์ของยิระมะยาห์ ไม่ใช่เพราะงานนั้นที่เขาได้รับมอบหมายให้ทำ. แต่เป็นทัศนะของเขาเองต่อสิ่งที่ดูเหมือนว่าสำคัญ คือสิ่งที่อยู่ในหัวใจเขา. เพราะหมกมุ่นอยู่กับการแสวงหา ‘สิ่งที่เขาคิดว่าสำคัญ’ บารุคจึงมองข้ามสิ่งที่สำคัญกว่า คือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า. (ฟิลิป. 1:10) รูปกริยาของคำที่แปลว่า “กำลัง แสวงหา” ตามที่ใช้ในภาษาฮีบรูเดิมแสดงว่านี่ไม่ใช่ความคิดชั่วครู่ชั่วยาม. บารุคได้แสวงหา ‘สิ่งที่เขาคิดว่าสำคัญ’ อยู่แล้วตอนที่พระยะโฮวาทรงเตือนว่า “อย่าแสวงหาต่อไปเลย.” แม้เลขานุการที่ซื่อสัตย์ผู้นี้ของยิระมะยาห์มีส่วนในการทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า แต่เวลาเดียวกันก็อยากได้ ‘สิ่งที่เขาคิดว่าสำคัญ.’
4, 5. เพราะเหตุใด ‘สิ่งสำคัญ’ ที่บารุคแสวงหาอาจเกี่ยวข้องกับชื่อเสียงและเกียรติยศ และทำไมคำเตือนของพระยะโฮวานับว่าเหมาะสม?
4 ในเรื่องสิ่งที่บารุคอยากจะได้ ประการหนึ่งคงต้องเกี่ยวข้องกับชื่อเสียงและเกียรติยศ. ถึงแม้บารุคเป็นผู้เขียนหนังสือให้ยิระมะยาห์ แต่เขาอาจไม่ได้เป็นเลขานุการส่วนตัว ของยิระมะยาห์เท่านั้น. ยิระมะยา 36:32 ในภาษาเดิมชวนให้คิดว่าบารุคมีตำแหน่ง “เลขานุการ” อย่างเป็นทางการ. หลักฐานทางโบราณคดีบ่งชี้ว่าเขามีตำแหน่งเป็นข้าราชสำนักระดับสูง. ที่จริง มีการใช้ตำแหน่งเดียวกันนี้สำหรับอะลีซามา “ราชเลขานุการ” ซึ่งมีชื่ออยู่ในบรรดาพวกเจ้านาย. เรื่องนี้บ่งชี้ว่าบารุคก็เช่นกันได้เข้าไปถึง “ห้องรับประทานอาหารของราชเลขานุการ” ใน “ราชวังของกษัตริย์” ฐานะเป็นเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งของอะลีซามา. (ยิระ. 36:11, 12, 14, ล.ม.) ถ้าเช่นนั้น บารุคคงต้องเป็นข้าราชการที่มีการศึกษาซึ่งทำงานอยู่ในราชสำนัก. ซะรายะ ซึ่งเป็นพี่ชายหรือไม่ก็น้องชายของเขามีตำแหน่งเป็นหัวหน้าจัดที่พักของกษัตริย์ซิดคียาและได้ติดตามกษัตริย์ไปในงานมอบหมายสำคัญที่บาบิโลน. (อ่านยิระมะยา 51:59 ) ในฐานะหัวหน้าจัดที่พัก ซะรายะคงรับผิดชอบดูแลเรื่องเสบียงและที่พำนักของกษัตริย์ระหว่างเดินทาง นับว่าเป็นตำแหน่งระดับสูงจริง ๆ.
5 คุณคงเข้าใจได้ว่าบุคคลที่เคยชินกับการอยู่ในตำแหน่งสูงอาจรู้สึกท้อแท้และทุกข์ใจเมื่อบันทึกข่าวสารการพิพากษาต่อยูดาห์ครั้งแล้วครั้งเล่า. ที่จริง การสนับสนุนผู้พยากรณ์ของพระเจ้าอาจทำให้บารุคเสี่ยงที่จะสูญเสียตำแหน่งและการงาน. และขอให้คิดถึงผลที่จะติดตามมาถ้าพระยะโฮวารื้อสิ่งที่พระองค์ได้สร้างขึ้นดังที่เราอ่านในยิระมะยา 45:4. ‘สิ่งสำคัญ’ ที่บารุคคิดถึง ไม่ว่าจะเป็นการได้รับเกียรติเป็นพิเศษในราชสำนักหรือความรุ่งเรืองทางด้านวัตถุ อาจปรากฏว่าไร้ประโยชน์. หากบารุคแสวงหาตำแหน่งที่มั่นคงในระบบยิวซึ่งในตอนนั้นกำลังจะพินาศแล้ว พระเจ้าก็มีเหตุผลที่จะยับยั้งเขาไว้มิให้มีแนวโน้มเช่นนั้น.
6, 7. หาก ‘สิ่งสำคัญ’ ที่บารุคแสวงหาคือทรัพย์สมบัติ เขาคงมีทัศนะเหมือนใครบ้างในสมัยนั้น?
6 ในอีกด้านหนึ่ง ‘สิ่งสำคัญ’ ที่บารุคแสวงหาอาจรวมถึงความมั่งคั่งด้านวัตถุ. ชาติต่าง ๆ ที่อยู่รอบอาณาจักรยูดาห์พึ่งอาศัยทรัพย์สมบัติและความมั่งคั่งอย่างเต็มที่. โมอาบไว้วางใจใน ‘การและทรัพย์สมบัติ’ ของตน. อัมโมนก็ทำอย่างเดียวกัน. และพระยะโฮวาให้ยิระมะยาห์พรรณนาถึงบาบิโลนว่า “มีทรัพย์สมบัติบริบูรณ์.” (ยิระ. 48:1, 7; 49:1, 4; 51:1, 13) แต่ความเป็นจริงคือ พระเจ้าได้ตัดสินลงโทษชาติเหล่านั้น.
7 ดังนั้น หากบารุคแสวงหาทรัพย์สมบัติและความร่ำรวย คุณอาจเข้าใจได้ถึงเหตุผลที่พระยะโฮวาทรงเตือนเขาให้ระวังเรื่องนั้น. เมื่อพระเจ้า “ยื่นมือออกจัดการ” ชาวยิว บ้านเรือนและทุ่งนาของพวกเขาจะถูกยกให้เหล่าศัตรู. (ยิระ. 6:12, ล.ม.; 20:5) สมมุติว่าคุณอยู่ในกรุงเยรูซาเลมสมัยเดียวกับบารุค. เพื่อนร่วมชาติส่วนใหญ่ของคุณ รวมถึงพวกเจ้านาย, ปุโรหิต, และกษัตริย์เอง ต่างก็รู้สึกว่าควรต่อสู้กับพวกบาบิโลนที่รุกราน. แต่คุณทราบข่าวสารของยิระมะยาห์ที่ว่า “จงรับใช้กษัตริย์บาบิโลนและมีชีวิตอยู่ต่อไป.” (ยิระ. 27:12, 17, ล.ม.) การมีทรัพย์สมบัติมากมายอยู่ในเมืองนั้นจะทำให้คุณเชื่อฟังพระบัญชาของพระเจ้าได้ง่ายขึ้นไหม? ความรู้สึกที่มีต่อทรัพย์สมบัติเหล่านั้นจะทำให้คุณอยากจะเชื่อฟังคำเตือนของยิระมะยาห์ไหม หรือว่าอยากจะทำตามคนส่วนใหญ่? ที่จริง ของมีค่าทุกอย่างในยูดาห์และเยรูซาเลม รวมทั้งของในพระวิหารได้ถูกปล้นเอาไปยังบาบิโลน. ดังนั้น การพยายามเพื่อจะได้ผลประโยชน์ด้านวัตถุคงไม่มีประโยชน์อะไร. (ยิระ. 27:21, 22) เรื่องนี้สอนบทเรียนอะไร?
ด้วยความกรุณา พระยะโฮวาทรงแก้ไขแนวโน้มของบารุคที่จะแสวงหา ‘สิ่งที่เขาคิดว่าสำคัญ’ โดยวิธีใด? เหตุใดคุณจึงรู้สึกว่าการยอมรับการแก้ไขจากพระเจ้าเป็นแนวทางที่สุขุม?
“เราจะช่วยเจ้าให้รอดชีวิต”
8, 9. เหตุใดคุณจึงกล่าวได้ว่าการที่บารุครอดชีวิตนับว่าสำคัญ?
8 ตอนนี้ให้เราพิจารณาว่า บารุคจะได้รับอะไรเนื่องจากเชื่อฟังพระบัญชาของพระเจ้า? ชีวิตนะสิ! มีการรับรองว่าเขาจะ “รอดชีวิต.” (อ่านยิระมะยา 45:5, ล.ม.) ผู้คนค่อนข้างน้อยรอดชีวิต. ใครบ้างล่ะ? คนเหล่านั้นที่เชื่อฟังพระบัญชาของพระเจ้าที่ให้ยอมแพ้ นั่นคือให้สวามิภักดิ์ต่อชาวแคลเดีย. (ยิระ. 21:9; 38:2) บางคนอาจสงสัยว่า ‘สิ่งที่เขาได้รับเพราะการเชื่อฟังก็แค่รอดชีวิตเท่านั้นหรือ?’
9 ขอนึกถึงสภาพของเยรูซาเลมระหว่างการล้อมของชาวบาบิโลน. การล้อมเมืองทำให้เกิดความทุกข์ลำบากมากขึ้นเรื่อย ๆ. เมื่อเทียบกันแล้ว โซโดมเสมือนถูกโค่นล้มในชั่วพริบตาเดียว. ในแง่หนึ่ง อาจกล่าวได้ว่าการทำลายเมืองโซโดมทนได้ง่ายกว่า. (ทุกข์. 4:6) บารุคได้บันทึกคำพยากรณ์ที่ว่าชาวกรุงเยรูซาเลมต้องตายเนื่องด้วยดาบ, ความอดอยาก, หรือโรคระบาด. จากนั้นเขาคงต้องเห็นคำพยากรณ์ดังกล่าวสำเร็จ. เสบียงอาหารในเยรูซาเลมหมดเกลี้ยง. น่าตกตะลึงสักเพียงไรที่เขาอยู่ในเมืองซึ่งมีแม่บางคนที่ตามปกติแล้วมี “ความเมตตา” ได้ต้มลูกของตนกิน! (ทุกข์. 2:20; 4:10; ยิระ. 19:9) แต่บารุครอดชีวิต. ใช่แล้ว เมื่ออยู่ในความสับสนอลหม่านเช่นนั้น การรอดชีวิตเป็นเหมือนรางวัลสำหรับผู้ชนะเมื่อสงครามยุติแล้ว. เห็นได้ชัด บารุคคงต้องยอมรับและปฏิบัติตามพระบัญชาของพระเจ้าที่มิให้แสวงหา ‘สิ่งที่เขาคิดว่าสำคัญ.’ และที่เขารอดชีวิตพิสูจน์ว่าเขาได้รับความพอพระทัยจากพระยะโฮวา.—ยิระ. 43:5-7
คุณจะแสวงหา ‘สิ่งที่คิดว่าสำคัญ’ ไหม?
10, 11. เรื่องราวของบารุคเกี่ยวข้องกับสมัยของเรารวมทั้งเราแต่ละคนอย่างไร?
10 ถึงแม้บารุคหมกมุ่นในการทำตามพระประสงค์ของพระเจ้าก็ตาม มีอยู่ชั่วระยะหนึ่งที่เขาต่อสู้กับความปรารถนาจะได้ ‘สิ่งที่เขาคิดว่าสำคัญ.’ พระยะโฮวาทรงเตือนเขาถึงอันตราย และเขาได้รับการช่วยให้พ้นจากความหายนะทางฝ่ายวิญญาณรวมทั้งความตายด้วย. เช่นเดียวกับบารุค เป็นไปได้ไหมที่เราถูกล่อใจและบางทีถูกครอบงำด้วยความปรารถนาในใจลึก ๆ แม้แต่ขณะที่เราขันแข็งในการรับใช้พระยะโฮวาอยู่?
11 สำหรับบารุค การสร้างชื่อเสียงให้ตัวเองอาจเป็นการล่อใจอย่างแท้จริง. คุณนึกภาพออกไหมที่เขาอาจถึงกับสงสัยว่า ‘ฉันจะสามารถทำงานต่อไปฐานะ “เลขานุการ” ได้ไหม? ฉันจะมีตำแหน่งสูงกว่านี้ได้ไหม?’ แล้วพวกเราล่ะเป็นอย่างไร? จงถามตัวเองว่า ‘ในใจฉันมี “ความทะเยอทะยาน” ที่จะประสบความสำเร็จในงานอาชีพฝ่ายโลกในขณะนี้หรืออนาคตอันใกล้ไหม?’ คริสเตียนหนุ่มสาวบางคนน่าจะไตร่ตรองคำถามที่ว่า ‘การคาดหวังที่จะได้เกียรติยศและความมั่นคงด้านการเงินโดยการศึกษาสูง ๆ ล่อใจให้ฉันแสวงหา “สิ่งที่ฉันคิดว่าสำคัญ” ไหม?’
12. พี่น้องชายคนหนึ่งได้แสวงหาสิ่งสำคัญสำหรับพระยะโฮวาอย่างไร และคุณคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับการเลือกของเขา?
12 พี่น้องชายคนหนึ่งซึ่งปัจจุบันรับใช้อยู่ที่สำนักงานใหญ่ ตอนอายุ 15 ปีเขาได้รับการเสนอทุนเรียนมหาวิทยาลัย. เขาทำให้ครูผิดหวังเมื่อไม่ยอมรับข้อเสนอนั้น เพราะเขาชอบงานไพโอเนียร์มากกว่า. แต่เขาก็ยังชอบการเรียนรู้อยู่ไม่เสื่อมคลาย. เขาไปเป็นมิชชันนารีในเกาะที่ห่างไกลแห่งหนึ่ง. ที่นั่นเขาต้องเรียนภาษาซึ่งมีคนพูดกันแค่ 10,000 กว่าคน. ไม่มีพจนานุกรมในภาษานั้น ดังนั้น เขาจึงรวบรวมประมวลศัพท์ด้วยตัวเอง. ในที่สุดเขาก็เชี่ยวชาญภาษานั้นและได้รับมอบหมายให้แปลหนังสือคริสเตียนบางเล่มของเรา. ต่อมา มีคนใช้ประมวลศัพท์ที่เขารวบรวมเป็นพื้นฐานสำหรับพจนานุกรมเล่มแรกในภาษานั้น. ครั้งหนึ่งเขาได้บอกผู้ฟังจำนวนมาก ณ การประชุมภาคว่า “หากผมยอมเรียนในมหาวิทยาลัย ผลงานทางวิชาการใด ๆ ที่ผมจะทำก็คงจะนำเกียรติมาให้ตัวผมเอง. แต่ผมไม่มีคุณสมบัติใด ๆ ฝ่ายโลก. ดังนั้น ผมจึงไม่ได้รับเกียรติในสิ่งที่ได้ทำ. เกียรติยศทั้งสิ้นเป็นของพระยะโฮวา.” (สุภา. 25:27) คุณคิดอย่างไรเกี่ยวกับการเลือกของพี่น้องชายคนนี้ตอนอายุ 15 ปี? ตลอดหลายปี เขาได้รับสิทธิพิเศษมากมายท่ามกลางประชาชนของพระเจ้า. ในกรณีของคุณ คุณต้องการใช้พรสวรรค์ที่คุณมีอย่างไร? แทนที่จะแสวงหาเกียรติยศให้ตัวเอง คุณตั้งใจใช้ความสามารถนั้นเพื่อสรรเสริญพระยะโฮวาไหม?
13. เหตุใดบิดามารดาบางคนควรไตร่ตรองสิ่งที่บารุคได้เผชิญ?
13 มีอันตรายอีกอย่างหนึ่ง คือการแสวงหา ‘สิ่งที่เราคิดว่าสำคัญ’ สำหรับคนที่เรารัก หรือแสวงหาสิ่งเหล่านั้นโดยทางคนที่เรารักซึ่งเป็นคนที่เราอาจโน้มน้าวได้. คุณคงเห็นบิดามารดาทั่วไปทุ่มเทเพื่อที่บุตรจะประสบผลสำเร็จในชีวิตยิ่งกว่าตนหรือกลายเป็นคนที่พวกเขาจะโอ้อวดได้. บางทีคุณเคยได้ยินความเห็นทำนองนี้ “ฉันไม่อยากให้ลูกต้องทำงานหนักเหมือนฉัน” หรือ “ฉันอยากให้ลูกเรียนมหาวิทยาลัยเพื่อจะมีชีวิตที่สะดวกสบาย.” บิดามารดาคริสเตียนบางคนอาจมีความรู้สึกคล้ายกัน. จริงอยู่ คนเราอาจพูดว่า ‘ฉันไม่ได้แสวงหาสิ่งที่สำคัญสำหรับตัวเอง.’ แต่เขาอาจทำเช่นนั้นโดยทางคนอื่น เช่นลูกชายหรือไม่ก็ลูกสาวไหม? ดังที่บารุคอาจถูกล่อใจให้แสวงหาความมีชื่อเสียงโดยทางตำแหน่งหรืออาชีพการงานของเขา บิดามารดาอาจคิดอยากได้สิ่งดังกล่าวโดยทางความสำเร็จของบุตร. แต่พระองค์ “ผู้ตรวจดูหัวใจ” จะไม่ทรงทราบเรื่องนี้หรือ ดังที่พระองค์ทรงทราบในกรณีของบารุค? (สุภา. 17:3, ล.ม.) เราน่าจะทูลขอพระเจ้าให้ตรวจดูความคิดในส่วนลึกที่สุดของเรา เช่นเดียวกับที่ดาวิดได้ทูลขอมิใช่หรือ? (อ่านบทเพลงสรรเสริญ 26:2; ยิระมะยา 17:9, 10 ) พระยะโฮวาอาจใช้วิธีต่าง ๆ เช่นที่เราพิจารณาเรื่องบารุคตอนนี้ เพื่อทำให้เราตื่นตัวต่ออันตรายในการแสวงหา ‘สิ่งที่คิดว่าสำคัญ.’
อาจเป็นไปได้ที่บารุคได้แสวงหา ‘สิ่งที่เขาคิดว่าสำคัญ’ ในทางใด? คุณเห็นบทเรียนอะไรในเรื่องนี้?
“ทรัพย์สมบัติ” ที่เป็นกับดัก
14, 15. ทรัพย์สมบัติอาจกลายเป็น ‘สิ่งที่เราคิดว่าสำคัญ’ ได้อย่างไร?
14 ขอพิจารณาความเป็นไปได้ที่ ‘สิ่งสำคัญ’ ซึ่งบารุคแสวงหานั้นคือความมั่งคั่งทางด้านวัตถุ. ดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น หากบารุคผูกพันมากกับบรรดาทรัพย์สินของเขาในยูดาห์ คงเป็นเรื่องยากที่เขาจะเชื่อฟังพระบัญชาของพระเจ้าที่ให้สวามิภักดิ์ต่อชาวแคลเดีย. คุณคงเคยเห็นแล้วว่าคนรวยมักไว้วางใจใน “ทรัพย์สมบัติ” ของเขา แต่คัมภีร์ไบเบิลยืนยันว่าทรัพย์ดังกล่าวให้การปกป้องแค่ใน “ความคิดเห็นของเขา.” (สุภา. 18:11) ผู้รับใช้ทุกคนของพระยะโฮวาสามารถได้รับประโยชน์จากการเตือนตัวเองให้นึกถึงทัศนะที่สมดุลเกี่ยวกับสิ่งฝ่ายวัตถุดังที่กล่าวไว้ในพระคำของพระองค์. (อ่านสุภาษิต 11:4 ) แต่บางคนอาจคิดว่า ‘จะเพลิดเพลินกับสิ่งที่โลกเสนอให้สักหน่อยไม่ได้เลยหรือ?’
15 ความผูกพันกับทรัพย์สมบัติอาจทำให้คริสเตียนมีความปรารถนาจะได้สิ่งต่าง ๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุคนี้ที่กำลังจะผ่านพ้นไป. แต่ไม่เป็นเช่นนั้นกับยิระมะยาห์และบารุค. หลายปีต่อมา พระเยซูทรงให้คำเตือนแก่ผู้คนที่มีชีวิตอยู่ “ในวันที่บุตรมนุษย์จะแสดงตัว.” พระองค์ตรัสกับพวกเขาว่า “จงระลึกถึงภรรยาของโลต.” คงเป็นเรื่องสมเหตุผลเช่นกันที่จะกระตุ้นเตือนคริสเตียนว่า ‘จงระลึกถึงยิระมะยาห์และบารุค.’ (ลูกา 17:30-33) หากเราได้พัฒนาความผูกพันเกินควรต่อสิ่งฝ่ายวัตถุ คงเป็นเรื่องยากที่เราจะปฏิบัติตามคำตรัสของพระเยซู. แต่อย่าลืมว่า บารุคใส่ใจคำเตือนของพระเจ้า ยังผลให้เขามีชีวิตอยู่ต่อไป.
16. จงเล่าถึงสถานการณ์ที่ผู้รับใช้พระเจ้าได้จัดให้สิ่งฝ่ายวัตถุอยู่ในลำดับที่เหมาะสม.
16 ขอพิจารณาสถานการณ์ของพี่น้องในโรมาเนียระหว่างการปกครองของคอมมิวนิสต์. ขณะที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจู่โจมตรวจค้นบ้านของพวกพยานฯ บางครั้งได้ยึดเอาทรัพย์สินส่วนตัวของพี่น้องไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งของที่พวกเขาจะขายได้. (ทุกข์. 5:2) พี่น้องชายหญิงหลายคนที่อยู่ภายใต้การปกครองนั้นเต็มใจสูญเสียทรัพย์สมบัติไป. บางคนต้องทิ้งบ้านและสมบัติเมื่อพวกเขาย้ายที่ใหม่ แต่พวกเขาก็ยังคงรักษาความซื่อสัตย์มั่นคงต่อพระยะโฮวา. หากเผชิญการทดสอบทำนองนั้น คุณจะยอมให้ความรู้สึกผูกพันกับสิ่งฝ่ายวัตถุเป็นอุปสรรคขัดขวางการรักษาความภักดีต่อพระเจ้าไหม?—2 ติโม. 3:11
17. เพื่อนร่วมสมัยบางคนของยิระมะยาห์กับบารุคอาจได้ช่วยคนทั้งสองอย่างไร?
17 เป็นที่น่าสังเกตว่ายิระมะยาห์กับบารุคได้รับการช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมสมัยของท่านบางคน. ซะฟันยาได้พยากรณ์ระหว่างการปกครองของโยซียาห์ ตอนที่ยิระมะยาห์รับใช้ฐานะผู้พยากรณ์. ยิระมะยาห์คงจะคิดเช่นไรเกี่ยวกับถ้อยคำที่เราพบในซะฟันยา 1:18? (อ่าน ) และคุณคงนึกภาพออกที่ยิระมะยาห์ได้แบ่งปันความเข้าใจที่มีขึ้นโดยการดลใจนั้นให้แก่บารุค. เพื่อนร่วมสมัยอีกคนหนึ่งคือยะเอศเคล ซึ่งถูกพาไปเป็นเชลยที่บาบิโลนในปี 617 ก่อน ส.ศ. กิจการงานบางอย่างและข่าวสารของท่านเกี่ยวข้องโดยตรงกับชาวยิวซึ่งยังคงอยู่ในบ้านเกิดของพวกเขา ดังนั้น ยิระมะยาห์คงได้เรียนรู้สิ่งที่ยะเอศเคลพูดหรือทำและยะเอศเคลก็คงได้เรียนจากยิระมะยาห์เช่นกัน. สิ่งที่ยิระมะยาห์เรียนคงจะรวมถึงถ้อยคำที่บันทึกในยะเอศเคล 7:19. (อ่าน ) เช่นเดียวกับที่ยิระมะยาห์และบารุคสามารถได้รับประโยชน์จากถ้อยคำดังกล่าวที่มีขึ้นโดยการดลใจ เราก็จะได้รับประโยชน์เหมือนกัน. ผู้คนจะร้องเรียกพระของเขาให้ช่วยเขารอดในวันของพระยะโฮวา. แต่ไม่ว่าพระหรือทรัพย์สมบัติของเขาก็จะไม่ช่วยพวกเขาให้รอด.—ยิระ. 2:28
คุณจะได้รับการ ‘ช่วยให้รอดชีวิต’ ไหม?
18. ใครต้องการ “รอดชีวิต” และจะรอดชีวิตได้โดยวิธีใด?
18 เราต้องจำไว้ว่าสิ่งเดียวที่พระยะโฮวาได้ทรงสัญญาคือจะให้เรา “รอดชีวิต.” ถึงแม้ผู้รับใช้บางคนของพระองค์เสียชีวิตไปเนื่องจากการข่มเหงที่อาจเกิดขึ้นระหว่าง “ความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่” ตอนที่อำนาจทางการเมืองซึ่งเป็นเสมือนเขาของสัตว์ร้ายหันมาต่อสู้ศาสนาก็ตาม บรรดาผู้ซื่อสัตย์เหล่านั้นจะไม่สูญเสียชีวิตตลอดไป. มีการรับประกันว่า เขาจะมี “ชีวิต” อีก ซึ่งจะเป็น “ชีวิตแท้” ในโลกใหม่. (วิ. 7:14, 15; 1 ติโม. 6:19) อย่างไรก็ดี เรามั่นใจได้ว่าผู้รับใช้ของพระเจ้าส่วนใหญ่ที่พิสูจน์ความซื่อสัตย์ในตอนนั้นจะผ่านความทุกข์ลำบากใหญ่ได้. คุณแน่ใจได้ว่าเมื่อพระเจ้าทำลายชาติต่าง ๆ จะไม่มีผู้ซื่อสัตย์คนใดอยู่ท่ามกลาง “ผู้ที่ต้องประหารโดยพระยะโฮวา.”—ยิระ. 25:32, 33
19. ในทางใดบ้างที่การพิจารณาตัวอย่างของยิระมะยาห์กับบารุคเสริมความตั้งใจของคุณที่จะไม่ ‘แสวงหาสิ่งที่คุณคิดว่าสำคัญ’?
19 บางคนอาจรู้สึกผิดหวังที่เขารอดมาได้แค่ “ชีวิต” เท่านั้น แต่จริง ๆ แล้วไม่น่าจะรู้สึกเช่นนั้นเลย. ขอระลึกว่าขณะที่ผู้คนในเยรูซาเลมตายเนื่องจากความอดอยาก พระยะโฮวาทรงรักษาชีวิตยิระมะยาห์ไว้. โดยวิธีใด? กษัตริย์ซิดคียาสั่งให้ควบคุมตัวยิระมะยาห์ไว้ในลานทหารรักษาพระองค์และให้ “เอาขนมปังกลมจากถนนคนทำขนมให้เขาวันละก้อนทุกวันจนกว่าขนมปังในเมืองนั้นจะหมด.” (ยิระ. 37:21, ล.ม.) และยิระมะยาห์ก็รอดชีวิตมาได้! พระยะโฮวาสามารถใช้วิธีใดก็ตามที่ทรงเลือกเพื่อจะให้ประชาชนของพระองค์มีสิ่งจำเป็น. และพระองค์จะทำเช่นนั้นแน่ ๆ เพราะพระองค์รับประกันความหวังของพวกเขาในเรื่องชีวิตนิรันดร์. บารุคได้รอดผ่านการทำลายกรุงเยรูซาเลมเนื่องจากไม่ได้ ‘แสวงหาสิ่งที่เขาคิดว่าสำคัญ.’ คล้ายกัน เราสามารถคอยท่าที่จะรอดผ่านอาร์มาเก็ดดอนเพื่อจะสรรเสริญพระยะโฮวาด้วย “ชีวิต” ของเราที่รอดมาได้และจะอยู่ตลอดไป.
เหตุใดนับว่าเป็นแนวทางสุขุมในทุกวันนี้ที่จะไม่แสวงหา ‘สิ่งที่ผู้คนคิดว่าสำคัญ’ แต่คอยท่าที่จะ “รอดชีวิต”?
a ยิระมะยา 45:1-5 (ล.ม.) “ในปีที่ 4 แห่งรัชกาลของเยโฮยาคิมกษัตริย์ยูดาห์ซึ่งเป็นราชบุตรของโยซียาห์ ขณะที่บารุคบุตรชายเนริยาห์เขียนคำพยากรณ์ทั้งหลายไว้ในหนังสือตามคำบอกของผู้พยากรณ์ยิระมะยาห์นั้น ยิระมะยาห์พูดกับเขาว่า ‘บารุค พระยะโฮวาพระเจ้าของอิสราเอลตรัสถึงเจ้าว่า “เจ้าบอกว่า ‘ข้าพเจ้าแย่แล้ว ข้าพเจ้าเป็นทุกข์อยู่แล้ว พระยะโฮวายังมาทำให้ข้าพเจ้าโศกเศร้าอีก ข้าพเจ้าทอดถอนใจจนเหนื่อยอ่อน ไม่มีความสงบใจเลย.’ ” เจ้าจงบอกเขาว่า “พระยะโฮวาตรัสว่า ‘เราจะรื้อสิ่งที่เราสร้างไว้ทั่วแผ่นดินนี้และจะถอนสิ่งที่เราปลูกไว้ทั่วแผ่นดินนี้. ส่วนเจ้าซึ่งกำลังแสวงหาสิ่งที่เจ้าคิดว่าสำคัญ อย่าแสวงหาต่อไปเลย.’ ” เรายะโฮวาบอกว่า “เราจะทำให้มนุษย์ทั้งสิ้นประสบความหายนะ แต่เราจะช่วยเจ้าให้รอดชีวิตในทุกที่ที่เจ้าจะไป.”’ ”