คำถาม 4
สิ่งมีชีวิตทั้งสิ้นสืบสายมาจากบรรพบุรุษเดียวกันไหม?
ดาร์วินคิดว่าสิ่งมีชีวิตทั้งสิ้นอาจสืบสายมาจากบรรพบุรุษเดียวกัน. เขาจินตนาการว่า ประวัติของสิ่งมีชีวิตบนโลกเป็นเหมือนต้นไม้ใหญ่. ต่อมา คนอื่น ๆ ก็เชื่อว่า “ต้นไม้แห่งชีวิต” นี้ตอนแรกเป็นลำต้นเดี่ยวที่มีเซลล์เป็นโครงสร้างอย่างง่าย. สปีชีส์ (ชนิดพันธุ์) ใหม่ ๆ แตกสาขาออกจากลำต้น แล้วแตกเป็นกิ่งย่อย หรือเป็นวงศ์ของพืชและสัตว์ จากนั้นก็แตกแขนงออกไปอีกเป็นกิ่งเล็ก ๆ ซึ่งก็คือสปีชีส์ทั้งหมดในวงศ์ต่าง ๆ ของพืชและสัตว์ที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน. นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ๆ หรือ?
นักวิทยาศาสตร์หลายคนอ้างอย่างไร? นักวิทยาศาสตร์หลายคนให้ความเห็นว่า หลักฐานจากฟอสซิลสนับสนุนทฤษฎีที่ว่าสิ่งมีชีวิตทั้งสิ้นมีบรรพบุรุษร่วมกัน. พวกเขายังอ้างด้วยว่า เนื่องจากสิ่งมีชีวิตทุกชนิดใช้ “ภาษาคอมพิวเตอร์” หรือดีเอ็นเอคล้าย ๆ กัน สิ่งมีชีวิตทั้งสิ้นจึงต้องวิวัฒนาการมาจากบรรพบุรุษเดียวกัน.
คัมภีร์ไบเบิลกล่าวอย่างไร? เรื่องราวในหนังสือเยเนซิศกล่าวว่า พืช สัตว์ทะเล สัตว์บก และสัตว์ปีก ถูกสร้างขึ้น “ตามชนิดของมัน.” (เยเนซิศ 1:12, 20-25) คำพรรณนานี้เปิดโอกาสให้เข้าใจว่า มีความหลากหลายภายในสิ่งมีชีวิต “ชนิด” เดียวกัน แต่สิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งก็มีลักษณะแตกต่างจากอีกชนิดหนึ่งมากพอที่จะจัดได้ว่าเป็นคนละชนิดกัน. นอกจากนี้ เรื่องราวการสร้างโลกในคัมภีร์ไบเบิลทำให้เราคิดว่าสิ่งมีชีวิตรูปแบบใหม่ ๆ จะปรากฏในหลักฐานฟอสซิลอย่างฉับพลันโดยมีลักษณะทางกายภาพครบทุกส่วน.
หลักฐานเผยอะไร? หลักฐานสนับสนุนเรื่องราวที่บันทึกไว้ในคัมภีร์ไบเบิล หรือสนับสนุนว่าดาร์วินเป็นฝ่ายถูก? การค้นพบในช่วง 150 ปีที่ผ่านมาเผยอะไร?
ต้นไม้ของดาร์วินถูกโค่น
เมื่อเร็ว ๆ นี้ นักวิทยาศาสตร์สามารถเปรียบเทียบรหัสพันธุกรรมระหว่างสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวหลายสิบชนิด รวมทั้งพืชและสัตว์ต่าง ๆ ด้วย. พวกเขาเชื่อว่า การเปรียบเทียบเช่นนั้นจะช่วยยืนยันแนวคิดเรื่องการแตกกิ่งก้านสาขาของ “ต้นไม้แห่งชีวิต” ที่ดาร์วินเสนอไว้ แต่ผลก็ไม่เป็นอย่างที่คิด.
งานวิจัยนั้นเผยอะไร? นักชีววิทยาชื่อ มัลคอล์ม เอส. กอร์ดอน เขียนไว้เมื่อปี 1999 ว่า “สิ่งมีชีวิตดูเหมือนมาจากหลายต้นกำเนิด ลำต้นของต้นไม้แห่งชีวิตดูเหมือนจะไม่ใช่ลำต้นเดี่ยว. มีหลักฐานไหมว่ากิ่งหลักทั้งหมดของสิ่งมีชีวิตแตกออกจากลำต้นเดียวอย่างที่ดาร์วินเชื่อนั้น? กอร์ดอนกล่าวต่อไปว่า “ทฤษฎีบรรพบุรุษร่วมแบบดั้งเดิมนั้นดูเหมือนจะใช้ไม่ได้กับอาณาจักรต่าง ๆ อย่างที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้. ทฤษฎีนั้นคงใช้ไม่ได้กับหลาย ๆ ไฟลัม หรืออาจกับทุกไฟลัมด้วยซ้ำ และอาจใช้ไม่ได้กับหลายคลาสของไฟลัมเหล่านั้นเช่นกัน.”29a
ผลการศึกษาวิจัยเมื่อเร็ว ๆ นี้ยังขัดแย้งกับทฤษฎีบรรพบุรุษร่วมของดาร์วิน. เพื่อเป็นตัวอย่าง บทความหนึ่งในวารสารนิว ไซเยนติสต์ ปี 2009 อ้างถึงถ้อยคำของเอริก แบพเทสเต นักวิทยาศาสตร์ด้านวิวัฒนาการที่กล่าวว่า “เราไม่มีหลักฐานสนับสนุนแต่อย่างใดว่าต้นไม้แห่งชีวิตนั้นเป็นเรื่องจริง.”30 บทความเดียวกันนั้นยังยกคำพูดของไมเคิล โรส นักชีววิทยาด้านวิวัฒนาการขึ้นมากล่าวด้วยว่า “ต้นไม้แห่งชีวิตนั้นกำลังถูกฝังลงอย่างเงียบ ๆ เราทุกคนรู้เรื่องนั้นกันดี. แต่สิ่งที่น้อยคนจะยอมรับได้ก็คือ เราต้องเปลี่ยนแนวคิดพื้นฐานทางชีววิทยากันใหม่หมด.”31b
แล้วหลักฐานจากฟอสซิลล่ะ?
นักวิทยาศาสตร์หลายคนชี้ว่า หลักฐานจากฟอสซิลช่วยสนับสนุนแนวคิดที่ว่า สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ มีบรรพบุรุษร่วมกัน. ตัวอย่างเช่น พวกเขาอ้างเหตุผลว่า หลักฐานจากฟอสซิลสนับสนุนสมมติฐานที่ว่า ปลาวิวัฒนาการเป็นสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และสัตว์เลื้อยคลานวิวัฒนาการเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม. แต่จริง ๆ แล้วหลักฐานฟอสซิลแสดงให้เห็นอะไร?
เดวิด เอ็ม. ร็อป นักบรรพชีวินด้านวิวัฒนาการกล่าวว่า “สิ่งที่นักธรณีวิทยาทั้งในสมัยดาร์วินและสมัยปัจจุบันพบนั้น จริง ๆ แล้วก็คือฟอสซิลแบบก้าวกระโดด กล่าวคือสปีชีส์ต่าง ๆ ปรากฏขึ้นมาตามลำดับอย่างฉับพลัน ไม่ได้แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไประหว่างช่วงที่พวกมันมีชีวิตอยู่ ก่อนที่พวกมันจะสูญพันธุ์ไปอย่างกะทันหัน.”32
ที่จริงแล้ว ฟอสซิลที่รวบรวมได้เกือบทั้งหมดแสดงว่า สิ่งมีชีวิตชนิดต่าง ๆ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปตลอดช่วงเวลาอันยาวนาน. หลักฐานไม่ได้แสดงว่ามีการวิวัฒนาการจากชนิดหนึ่งไปเป็นอีกชนิดหนึ่ง. โครงสร้างร่างกายแต่ละส่วนปรากฏขึ้นทันที. คุณสมบัติเฉพาะอย่างปรากฏขึ้นอย่างฉับพลัน. ตัวอย่างเช่น จู่ ๆ ค้างคาวที่มีระบบโซนาร์หาตำแหน่งวัตถุด้วยเสียงสะท้อน ก็ปรากฏขึ้นมาโดยที่ไม่มีตัวเชื่อมกับสัตว์ที่มีชีวิตอยู่ในยุคเริ่มแรก.
อันที่จริง กลุ่มสัตว์หลัก ๆ มากกว่าครึ่งดูเหมือนปรากฏขึ้นภายในช่วงเวลาค่อนข้างสั้น. เนื่องจากพบสิ่งมีชีวิตรูปแบบใหม่ ๆ ที่มีลักษณะเฉพาะตัวจำนวนมากมายปรากฏขึ้นอย่างกะทันหันในหลักฐานฟอสซิล นักบรรพชีวินจึงพูดถึงยุคนั้นว่า “การอุบัติขึ้นอย่างฉับพลันในยุคแคมเบรียน.” ยุคแคมเบรียนเป็นช่วงเวลาไหน?
ถ้าสมมติว่าการคาดคะเนของเหล่านักวิจัยถูกต้อง. ในกรณีนี้ ประวัติศาสตร์ของโลกอาจเทียบได้กับเส้นเวลาที่ยาวเท่ากับความยาวของสนามฟุตบอล (1). ด้วยมาตราส่วนดังกล่าว ถ้าคุณเดินไปบนสนามประมาณเจ็ดในแปดส่วนของความยาวทั้งหมด คุณจะมาถึงระยะที่นักบรรพชีวินเรียกว่ายุคแคมเบรียน (2). หลักฐานฟอสซิลแสดงว่าสัตว์กลุ่มหลัก ๆ ปรากฏให้เห็นในช่วงสั้น ๆ ภายในยุคดังกล่าว. สัตว์เหล่านั้นปรากฏขึ้นเร็วขนาดไหน? ขณะที่คุณย่างเท้าไปบนสนาม สัตว์ต่าง ๆ ก็ผุดขึ้นมาในช่วงไม่ถึงหนึ่งก้าว.
การปรากฏขึ้นแบบค่อนข้างฉับพลันของสิ่งมีชีวิตหลากหลายรูปแบบ กำลังทำให้นักวิจัยด้านวิวัฒนาการบางคนตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับทฤษฎีดั้งเดิมของดาร์วิน. เพื่อเป็นตัวอย่าง ในคำสัมภาษณ์เมื่อปี 2008 นักชีววิทยาด้านวิวัฒนาการชื่อ สจ๊วต นิวแมน ได้พูดถึงความจำเป็นที่จะมีทฤษฎีวิวัฒนาการแนวใหม่ที่สามารถอธิบายเรื่องการปรากฏขึ้นอย่างกะทันหันของสิ่งมีชีวิตรูปแบบใหม่ ๆ. เขากล่าวว่า “กลไกตามแนวคิดของดาร์วินที่เคยใช้อธิบายการเปลี่ยนแปลงทางวิวัฒนาการทุก ๆ อย่างนั้น ผมเชื่อว่าจะถูกลดความสำคัญลงมาเป็นเพียงหนึ่งในหลาย ๆ กลไก ซึ่งอาจไม่ใช่กลไกสำคัญที่สุดด้วยซ้ำ เพื่อทำความเข้าใจเรื่องวิวัฒนาการระดับมหภาค ซึ่งเป็นวิวัฒนาการที่มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในโครงสร้างทางกายวิภาค.”33
“หลักฐาน” มีปัญหา
แต่จะว่าอย่างไรกับฟอสซิลต่าง ๆ ที่ใช้เป็นหลักฐานแสดงว่าปลาพัฒนาไปเป็นสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และสัตว์เลื้อยคลานพัฒนาไปเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม? ฟอสซิลเหล่านี้ให้หลักฐานที่หนักแน่นไหมว่ามีวิวัฒนาการจริง? เมื่อตรวจสอบกันแบบละเอียด ก็เห็นปัญหาหลายอย่าง.
ประการแรก ขนาดเปรียบเทียบกันของสัตว์ที่นำมาเรียงลำดับจากสัตว์เลื้อยคลานไปจนถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่เห็นภาพในตำราเรียนบางครั้งก็ไม่ตรงตามสัดส่วนจริง. แทนที่จะมีขนาดไล่เลี่ยกันอย่างที่แสดงไว้ในตำราเรียนบางเล่ม จริง ๆ แล้ว บางชนิดมีขนาดใหญ่มาก และบางชนิดก็เล็ก.
ประการที่สอง ปัญหาใหญ่กว่านั้นก็คือ ขาดหลักฐานพิสูจน์ว่าสัตว์เหล่านั้นมีความเกี่ยวข้องกันในทางใด. ฟอสซิลที่เรียงตามลำดับเหล่านั้นมักจะมีช่วงห่างซึ่งนักวิจัยคาดคะเนว่าเป็นเวลานานหลายล้านปี. เกี่ยวกับเรื่องช่วงเวลาที่คั่นระหว่างหลาย ๆ ฟอสซิลในกลุ่มนี้ นักสัตววิทยาชื่อเฮนรี จี กล่าวว่า “ช่วงเวลาที่คั่นฟอสซิลเหล่านั้นกว้างใหญ่มากจนเราบอกอะไรไม่ได้แน่นอนว่าสัตว์ที่อยู่ในยุคที่เก่าแก่กว่ากับสัตว์ที่อยู่ยุคต่อ ๆ มามีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร.”34c
เมื่อให้ความเห็นเกี่ยวกับฟอสซิลของปลากับสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก มัลคอล์ม เอส. กอร์ดอน นักชีววิทยากล่าวว่า ฟอสซิลที่พบเป็นเพียงกลุ่มตัวอย่างเล็ก ๆ “ไม่น่าจะถือเป็นตัวแทนของสัตว์ทุกกลุ่ม และเป็นแค่กลุ่มตัวอย่างที่แสดงว่าสัตว์ในกลุ่มเหล่านี้ในยุคนั้นมีความหลากหลายทางชีวภาพ.” เขากล่าวต่อไปว่า “เราไม่มีทางรู้ได้ว่าสัตว์แต่ละอย่างนั้นมีความเกี่ยวข้องกับกระบวนการวิวัฒนาการในเวลาต่อมาหรือไม่ หรือเกี่ยวข้องกันถึงขีดไหน และก็ไม่มีทางรู้เช่นกันว่าสัตว์เหล่านั้นอาจมีความสัมพันธ์ต่อกันอย่างไร.”35d
จริง ๆ แล้ว “แผ่นฟิล์ม” นั้นบอกอะไร?
บทความหนึ่งที่ลงในนิตยสารแนชันแนล จีโอกราฟฟิก ปี 2004 เปรียบหลักฐานฟอสซิลว่าเป็น “ฟิล์มภาพยนตร์เรื่องวิวัฒนาการที่ภาพ 999 เฟรมจากทุก ๆ 1,000 เฟรมถูกตัดออก และหล่นหายไปบนพื้นในห้องตัดต่อภาพยนตร์.”36 ให้เรามาพิจารณาประเด็นที่แฝงอยู่ในตัวอย่างเปรียบเทียบนั้น.
สมมติว่าคุณพบแผ่นฟิล์มภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่ถูกตัดเป็นชิ้น ๆ จำนวน 100 เฟรม ซึ่งแต่เดิมมีอยู่ทั้งหมด 100,000 เฟรม. คุณจะรู้เค้าโครงของภาพยนตร์นั้นได้อย่างไร? คุณอาจจะมีเค้าโครงเรื่องหนึ่งอยู่ในใจแล้ว แต่ถ้าใน 100 เฟรมมีแค่ 5 เฟรมเท่านั้นที่มีภาพตรงกับเรื่องที่คุณคิด ส่วนอีก 95 เฟรมที่เหลือนั้นไม่ตรงกับที่คุณคิดไว้เลยล่ะ? มีเหตุผลไหมที่คุณจะยืนยันว่า เค้าโครงที่คุณคิดไว้นั้นถูกต้องเพราะภาพแค่ห้าเฟรมนั้น? เป็นไปได้ไหมว่าที่คุณเรียงภาพห้าเฟรมออกมาอย่างนั้นก็เพราะมันเข้ากับแนวคิดของคุณ? จะมีเหตุผลมากกว่าไหมที่จะยอมให้ภาพอีก 95 เฟรมเปลี่ยนความคิดเห็นของคุณเสียใหม่?
ตัวอย่างข้างต้นเกี่ยวข้องอย่างไรกับความคิดเห็นของนักวิวัฒนาการที่มีต่อหลักฐานฟอสซิล? ตลอดหลายปี นักวิจัยในอดีตไม่ยอมรับว่าฟอสซิลเกือบทั้งหมดที่เปรียบได้กับแผ่นฟิล์ม 95 เฟรมของภาพยนตร์นั้น แสดงให้เห็นว่าสปีชีส์ต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลงน้อยมากเมื่อเวลาผ่านไป. ทำไมพวกเขาทำเฉยกับหลักฐานที่มีความสำคัญอย่างนั้น? นักเขียนชื่อ ริชาร์ด มอรรีย์ กล่าวว่า “ดูเหมือนนักบรรพชีวินรับเอาความคิดแบบดั้งเดิมเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางวิวัฒนาการอย่างค่อยเป็นค่อยไปว่าเป็นข้อเท็จจริง และยึดติดกับแนวคิดนี้ไปแล้ว แม้จะพบหลักฐานที่บ่งชี้ไปในทางตรงกันข้ามก็ตาม. พวกเขาพยายามตีความหลักฐานฟอสซิลให้เข้ากับแนวคิดเรื่องวิวัฒนาการอย่างที่ยอมรับกันมาก่อนหน้านั้นแล้ว.”37
“การเอาฟอสซิลมาเรียงกันแล้วก็อ้างว่านี่คือสายวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ไม่ใช่สมมติฐานทางวิทยาศาสตร์ที่จะทดสอบได้ แต่เป็นคำยืนยันที่มีความน่าเชื่อถือพอ ๆ กับนิทานก่อนนอน ฟังแล้วสนุกดี และอาจให้ความรู้ด้วยซ้ำ แต่ขัดกับหลักวิทยาศาสตร์.”—In Search of Deep Time—Beyond the Fossil Record to a New History of Life, โดย Henry Gee, หน้า 116-117
แล้วนักวิวัฒนาการสมัยปัจจุบันล่ะ? เป็นไปได้ไหมที่พวกเขาจะยังจัดเรียงฟอสซิลตามลำดับอย่างที่ทำกันอยู่นี้ ไม่ใช่เพราะมีหลักฐานสนับสนุนแน่นหนาจากฟอสซิลส่วนใหญ่หรือจากการศึกษาเรื่องรหัสพันธุกรรม แต่เพราะการจัดลำดับอย่างนั้นสอดคล้องกับแนวคิดเรื่องวิวัฒนาการที่ยอมรับกันในปัจจุบัน?e
คุณคิดอย่างไร? หลักฐานสนับสนุนสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลกล่าวหรือสิ่งที่ดาร์วินสอน? ข้อสรุปไหนสอดคล้องกับหลักฐานมากที่สุด? ให้เราทบทวนข้อเท็จจริงที่กล่าวมาทั้งหมด.
สิ่งมีชีวิตสิ่งแรกบนโลกไม่ได้มีโครงสร้าง “แบบง่าย.
โอกาสที่แม้แต่องค์ประกอบของเซลล์จะเกิดขึ้นเองได้โดยบังเอิญมีน้อยมากเหลือเกิน.
ดีเอ็นเอ “โปรแกรมคอมพิวเตอร์” หรือรหัสคำสั่งที่ควบคุมการทำงานของเซลล์นั้น มีความสลับซับซ้อนอย่างน่าอัศจรรย์ ซึ่งเป็นหลักฐานแสดงถึงการออกแบบที่ชาญฉลาดเหนือชั้นกว่าโปรแกรมหรือหน่วยเก็บข้อมูลใด ๆ ที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นมากนัก.
การวิจัยรหัสพันธุกรรมแสดงว่า สิ่งมีชีวิตไม่ได้กำเนิดมาจากบรรพบุรุษเดียวกัน. นอกจากนี้ สัตว์กลุ่มหลัก ๆ ยังปรากฏขึ้นมาอย่างฉับพลันในหลักฐานฟอสซิล.
เมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงทั้งหมดนี้ คุณคิดว่ามีเหตุผลไหมที่จะสรุปว่า หลักฐานดังกล่าวสอดคล้องกับคำอธิบายจากคัมภีร์ไบเบิลเรื่องต้นกำเนิดชีวิต? แต่หลายคนก็ยังยืนยันว่า วิทยาศาสตร์ขัดแย้งกับหลายสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลสอนเรื่องการสร้างโลก. เป็นอย่างนั้นจริงหรือ? คัมภีร์ไบเบิลกล่าวเช่นไรจริง ๆ?
a คำ “ไฟลัม” ในทางชีววิทยาหมายถึง กลุ่มสัตว์กลุ่มใหญ่ที่มีลักษณะโครงสร้างหลัก ๆ บางอย่างทางกายวิภาคร่วมกัน. วิธีหนึ่งที่นักวิทยาศาสตร์ใช้ในการจัดหมวดหมู่สิ่งมีชีวิตทั้งหมดคือ แบ่งเป็นเจ็ดลำดับชั้น โดยลำดับชั้นถัด ๆ ไปจะเจาะจงมากขึ้น. ลำดับแรกซึ่งเป็นหมวดใหญ่ที่สุดคือ อาณาจักร. รองลงมาคือ ไฟลัม, คลาส, อันดับ, วงศ์, สกุล, และสปีชีส์. ตัวอย่างเช่น ม้าจัดอยู่ใน อาณาจักร Animalia; ไฟลัม Chordata; คลาส Mammalia; อันดับ Perissodactyla; วงศ์ Equidae; สกุล Equus; สปีชีส์ Caballus.
b ขอสังเกตว่า บทความในนิว ไซเยนติสต์ หรือคำพูดของแบพเทสเตและโรสนั้น ไม่ได้มีเจตนาที่จะบอกว่าทฤษฎีวิวัฒนาการผิด. แต่พวกเขาต้องการชี้ให้เห็นว่า ต้นไม้แห่งชีวิตที่ดาร์วินเสนอไว้ซึ่งเป็นแนวคิดหลักของทฤษฎีนั้นขาดหลักฐานสนับสนุน. นักวิทยาศาสตร์เหล่านี้ยังพยายามค้นหาคำอธิบายอื่น ๆ ที่อาศัยหลักวิวัฒนาการ.
c เฮนรี จี ไม่ได้กล่าวว่า ทฤษฎีวิวัฒนาการผิด. เขาให้ความเห็นเพื่อชี้ว่าฟอสซิลบอกอะไรเราได้อย่างจำกัด.
d มัลคอล์ม เอส. กอร์ดอนสนับสนุนคำสอนเรื่องวิวัฒนาการ
e เพื่อเป็นตัวอย่าง ดูกรอบ “แล้วเรื่องวิวัฒนาการของมนุษย์ล่ะ?”
f หมายเหตุ: นักวิจัยทุกคนที่กล่าวถึงในที่นี้ไม่ได้เชื่อคำสอนของคัมภีร์ไบเบิลเรื่องการสร้างโลก. ทุกคนยอมรับคำสอนเรื่องวิวัฒนาการ.
g คำ “โฮมินิด” ใช้พรรณนาสิ่งที่นักวิจัยด้านวิวัฒนาการเชื่อว่าเป็นสายพันธุ์ของครอบครัวมนุษย์และสปีชีส์ที่มีลักษณะคล้ายมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์.