วิธีช่วยคนที่ซึมเศร้าให้ประสบความยินดีอีก
เอปาฟะโรดีโต สาวกคริสเตียนในศตวรรษแรกรู้สึกซึมเศร้า. เขาถูกส่งไปเอาใจใส่ต่อความจำเป็นของอัครสาวกเปาโลที่ถูกจำคุกอยู่ แต่ได้ล้มป่วยหนัก. ถึงแม้เอปาฟะโรดีโตหายป่วยแล้ว เขารู้สึกซึมเศร้าเพราะประชาคมที่เขาอยู่ ซึ่งได้ส่งเขาไปกรุงโรมนั้น “ได้ยินว่าเขาป่วย.” (ฟิลิปปอย 2:25, 26) การอยู่ห่างไกลเพียงนั้นแต่ต้องการทำให้พวกเขาสบายใจในเรื่องนี้จึงก่อให้เกิดความซึมเศร้า. อนึ่ง เขาอาจรู้สึกว่าพวกเขาถือว่าตนเป็นผู้ที่ล้มเหลว. จะช่วยเขาได้อย่างไรให้ประสบความยินดีอีก?
เอปาฟะโรดีโตถูกส่งกลับบ้านในเมืองฟิลิปปอยโดยนำจดหมายจากอัครสาวกเปาโลไปด้วย. ในจดหมายนั้น เปาโลได้สั่งประชาคมว่า “จงต้อนรับเขาไว้ในองค์พระผู้เป็นเจ้าด้วยใจโสมนัสยินดีทุกอย่างและจงนับถือคนเช่นนั้น.” (ฟิลิปปอย 2:27-30) คริสเตียนชาวฟิลิปปอยได้รับการกระตุ้นให้ชักชวนเอปาฟะโรดีโตมาใกล้ชิดกับพวกเขาในวิธีซึ่งเหมาะสมกับคุณลักษณะพิเศษแห่งมิตรภาพที่เป็นแบบอย่างของประชาคมคริสเตียน. ถ้อยคำปลอบใจของพวกเขาจะแสดงให้เห็นว่า เขาได้รับความนิยมชมชอบ ถูกแล้วได้รับ ‘ความนับถือ.’ การเอาใจใส่ด้วยความยินดีเช่นนี้จะมีผลมากมายในการช่วยเขาให้ประสบความบรรเทาจากความซึมเศร้าทางจิตใจของเขา.
ตัวอย่างนี้เผยให้เห็นว่า ถึงแม้คริสเตียนโดยส่วนรวม “โสมนัสยินดีในองค์พระผู้เป็นเจ้า” ก็ตาม บางคนในพวกเขาประสบความซึมเศร้าในรูปแบบต่าง ๆ. (ฟิลิปปอย 4:4) ความซึมเศร้าทางด้านจิตใจอย่างรุนแรงเป็นโรคทางด้านความรู้สึกที่ร้ายแรงซึ่งเคยนำไปสู่อัตวินิบาตกรรมด้วยซ้ำ. บางครั้ง เคมีในสมองและปัจจัยอื่น ๆ ทางร่างกายมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย. ถึงกระนั้น บ่อยครั้งความซึมเศร้าจะลดลงได้โดยความช่วยเหลือแบบมีวิจารณญาณซึ่งได้รับจากคนอื่น ๆ. ด้วยเหตุนี้ เปาโลให้คำแนะนำว่าให้ “พูดปลอบใจผู้ที่ซึมเศร้า.” (1 เธซะโลนิเก 5:14, ล.ม.) เพราะฉะนั้น ประชาคมแห่งพยานพระยะโฮวาควรให้การสนับสนุนทางด้านอารมณ์ด้วยความยินดีแก่ผู้ที่ซึมเศร้า. หน้าที่รับผิดชอบนี้เป็นที่ยอมรับโดยองค์การคริสเตียนสมัยปัจจุบันย้อนหลังไปในปี 1903 เพราะเดอะ วอชเทาเวอร์ ในครั้งนั้นได้กล่าวถึงผู้ที่รู้สึกซึมเศร้า หรือคนที่หัวใจกะปลกกะเปลี้ยว่า “คนที่หัวใจกะปลกกะเปลี้ยและอ่อนแอ คงจะจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ การสนับสนุน การหนุนกำลังใจ.” แต่คุณจะช่วยผู้ซึมเศร้าได้อย่างไร?
ประการแรก โดยการแสดง “ความเห็นอกเห็นใจ” คุณอาจสามารถช่วยคนที่ซึมเศร้าให้เปิดเผย “ความกระวนกระวาย” ในหัวใจของเขาออกมา. หลังจากนั้น “ถ้อยคำที่ดี” จากคุณอาจช่วยเขาให้ชื่นชมยินดีได้. (1 เปโตร 3:8; สุภาษิต 12:25, ฉบับแปลใหม่) การที่เพียงแต่ปล่อยให้เขาพูดอย่างไม่อั้น และรู้สึกถึงความห่วงใยของคุณอาจนำมาซึ่งความผ่อนคลายมากมาย. แมรี คริสเตียนโสดผู้ซึ่งเคยต่อสู้กับความซึมเศร้าได้ชี้แจงว่า “ดิฉันมีเพื่อนอยู่สองคนซึ่งดิฉันสามารถระบายความในใจออกมาให้เขาฟังได้อย่างแท้จริง. ฉันต้องการให้ใครสักคนรับฟัง.” การมีใครสักคนซึ่งร่วมความคิดในส่วนลึกที่สุดเกี่ยวกับความลำบากในชีวิตอาจมีความหมายมากทีเดียว.
อย่างไรก็ดี จำเป็นต้องมีมากกว่าเพียงการรับฟังและให้คำแนะนำผิวเผินเช่น “มองในด้านดีของชีวิตสิ” หรือ “คิดในแง่บวกสิ.” ถ้อยคำดังกล่าวจะเผยให้เป็นการขาดความเห็นอกเห็นใจและไม่เหมาะสมเลยทีเดียวเมื่อบุคคลหนึ่งซึมเศร้า ดังที่สุภาษิต 25:20 บ่งชี้ไว้เมื่อกล่าวว่า “คนที่ร้องเพลงตลกคะนองให้คนที่มีใจเศร้าหมองฟังก็เป็นเหมือนคนที่ถอดเสื้อของเขาในอากาศหนาว.” คำพูดที่มองในแง่ดีแบบไม่ตรงกับความเป็นจริงอาจทิ้งให้บุคคลผู้ซึมเศร้านั้นรู้สึกทุกข์ใจมากขึ้น. ทำไม? เพราะความพยายามดังกล่าวมิได้คำนึงถึงสาเหตุสำหรับความซึมเศร้าของเขา.
ชูกำลังด้วยคำพูด
บุคคลที่ซึมเศร้าอย่างรุนแรงรู้สึกไม่เพียงแต่เศร้าเท่านั้น หากแต่รู้สึกว่าไร้ค่าและปราศจากความหวัง. คำภาษากรีกที่แปลว่า “ผู้ที่ซึมเศร้า” นั้นหมายความตามตัวอักษรว่า “คนที่มีชีวิตจิตใจน้อยนิด.” ผู้เชี่ยวชาญภาษากรีกคนหนึ่งให้คำจำกัดความคำนั้นไว้ในทำนองนี้: “คนที่ต้องลำบากเพราะความเป็นทุกข์เช่นนั้นจนหัวใจของเขาจมลงภายในตัวเขา.” ด้วยเหตุนี้ ความสามารถในการรับมือทางด้านอารมณ์นั้นก็หมดไป และความนับถือต่อตัวเองของเขาก็ลดน้อยลง.—เปรียบเทียบสุภาษิต 17:22.
โยบบรรพชนได้กล่าวว่า “ข้าฯจะหนุนกำลังของท่านทั้งหลายด้วยปากของข้าฯก็ได้.” (โยบ 16:5, ฉบับแปลใหม่) คำภาษาฮีบรูสำหรับ “หนุนกำลัง” นั้นบางครั้งแปลว่า “เสริมความแข็งแกร่ง” หรือ “เพิ่มกำลัง.” เคยมีการใช้คำนั้นเพื่อพรรณนาวิธีที่พระวิหารได้รับการ ‘เสริมให้แข็งแรงขึ้น’ โดยการซ่อมแซมทางด้านโครงสร้าง. (ยะซายา 41:10; นาฮูม 2:1; 2 โครนิกา 24:13, ฉบับแปลใหม่) คำพูดของคุณต้องสร้างความนับถือต่อตัวเองของบุคคลผู้ที่ซึมเศร้านั้นขึ้นใหม่อย่างชำนิชำนาญเสมือนการก่ออิฐทีละก้อน. การทำเช่นนี้เรียกร้องให้ท่านอาศัย “ความสามารถในการหาเหตุผล” ของเขา. (โรม 12:1, ล.ม.) เดอะ วอชเทาเวอร์ ฉบับปี 1903 ที่อ้างถึงในตอนนั้นได้ชี้แจงเกี่ยวกับคนที่ซึมเศร้าว่า “เนื่องจากขาด . . . ความนับถือตัวเองจึงต้องผลักดันพวกเขาไปข้างหน้าสักหน่อย เพื่อที่จะนำพรสวรรค์ที่เขามีอยู่จริง ๆ นั้นออกมา เพื่อการหนุนกำลังใจของพวกเขาเอง และเพื่อพระพรแก่ทั้งครอบครัวของความเชื่อ.”
ตัวอย่างของเอ็ลคานาในพระคัมภีร์กับนางฮันนาภรรยาผู้ซึมเศร้าของท่านแสดงให้เห็นวิธีที่คุณอาจชูกำลังด้วยคำพูดได้ ดังที่โยบได้กระทำ. เอ็ลคานามีภรรยาสองคน. พะนีนาหนึ่งในภรรยาสองคนนั้นมีลูกหลายคน แต่นางฮันนาเป็นหมัน. ดูเหมือนว่า ฮันนาถือว่าตัวเธอไร้ค่า. (เปรียบเทียบเยเนซิศ 30:1.) ประหนึ่งว่าภาระนี้ไม่หนักพอ นางพะนีนาได้ทำให้เธอกลัดกลุ้มจนถึงขั้นเธอร้องไห้โฮอย่างกลั้นไม่อยู่และเบื่ออาหาร. ถึงแม้เอ็ลคานาไม่รู้ว่าเธอเป็นทุกข์ถึงขนาดไหนก็ตาม เมื่อเห็นสภาพของเธอ เขาถามว่า “ฮันนา ทำไมจึงร้องไห้และไม่รับประทานอาหาร เสียใจด้วยเรื่องอะไร?”—1 ซามูเอล 1:1-8.
คำถามด้วยความกรุณา แบบไม่ตำหนิของเอ็ลคานาทำให้นางฮันนามีโอกาสที่จะแสดงความรู้สึกออกมาเป็นคำพูด. ไม่ว่าเธอตอบหรือไม่ เธอก็ได้รับการช่วยเหลือให้วิเคราะห์สาเหตุ ที่เธอดูเหมือนจะรู้สึกว่าไร้ค่า. ดังนั้น ผู้ที่ซึมเศร้าอาจพูดว่า ‘ฉันเป็นคนไม่ดีน่ะซิ.’ คุณอาจถามว่า ‘ทำไมคุณรู้สึกอย่างนั้น?’ ครั้นแล้วจงตั้งใจฟังขณะที่เขาระบายสิ่งที่เขารู้สึกภายในหัวใจของเขาออกมา.—เปรียบเทียบสุภาษิต 20:5.
ครั้นแล้ว เอ็ลคานาก็ถามฮันนาด้วยคำถามที่ทำให้มีกำลังใจจริง ๆ ดังนี้ “ฉันไม่ดีกว่าบุตรชายสิบคนหรือ?” ฮันนาได้รับการเตือนให้ระลึกถึงความรักใคร่ของเขาที่มีต่อเธอทั้ง ๆ ที่เธอเป็นหมัน. เขาถือว่าเธอมีค่า และเพราะฉะนั้นเธอจึงอาจลงความเห็นได้ว่า ‘เอาละ ที่แท้แล้ว ฉันก็ไม่ได้ไร้ค่าอย่างนั้น. ฉันยังมีความรักอันสุดซึ้งของสามีฉันอยู่!’ คำพูดของเขาทำให้ฮันนาเข้มแข็ง เพราะเธอเริ่มรับประทานอาหารและไปยังพระวิหาร.—1 ซามูเอล 1:8, 9.
เช่นเดียวกับเอ็ลคานาที่พูดเจาะจงลงไปและแนะให้ภรรยาเอาใจใส่ต่อเหตุผลอันถูกต้องสำหรับเธอที่จะรู้สึกดีขึ้นเกี่ยวกับตัวเอง คนเหล่านั้นที่ประสงค์จะช่วยบุคคลที่ซึมเศร้าก็ต้องทำเช่นเดียวกัน. ตัวอย่างเช่น คริสเตียนคนหนึ่งชื่อนาโอมีได้พูดทำนองนี้เกี่ยวกับสิ่งที่ได้ช่วยเธอให้ประสบความยินดีอีก: “เพื่อน ๆ บางคนได้ชมเชยวิธีที่ดิฉันได้เลี้ยงดูลูกชาย วิธีที่ดิฉันดูแลรักษาบ้าน และกระทั่งวิธีที่ดิฉันรักษาการปรากฏตัวไว้เสมอทั้ง ๆ ที่ดิฉันมีความซึมเศร้า. การหนุนกำลังใจเช่นนี้มีความหมายมากทีเดียว!” ถูกแล้ว คำชมเชยที่สมควรช่วยผู้ที่ซึมเศร้าให้มองเห็นคุณลักษณะที่ดีงามของเขาหรือเธอและประเมินค่าตัวเองอย่างเหมาะสม.
หากภรรยาของคุณซึมเศร้า ทำไมไม่พยายามเสริมสร้างเธอขึ้นอย่างที่ประสานกับถ้อยคำในสุภาษิต 31:28, 29 [ล.ม.] ล่ะ? เราอ่านที่นั่นว่า “ผู้เป็นเจ้าของของเธอก็ลุกขึ้น และเขายกย่องเธอ. มีสตรีหลายคนที่ได้แสดงความสามารถ แต่เธอ—เธอได้เลื่อนขึ้นอยู่เหนือพวกนั้นหมด.” กระนั้น ภรรยาที่ซึมเศร้าอาจไม่ยอมรับการประเมินค่าเช่นนั้น เนื่องจากเธออาจรู้สึกเหมือนเป็นคนที่ล้มเหลวเนื่องจากไม่สามารถดูแลเอาใจใส่ภารกิจในบ้านเรียบร้อยดีอย่างที่เธอคิดว่าเธอควรจะทำ. แต่โดยการเตือนเธอให้ระลึกถึงสตรีที่เธอเป็นอยู่ภายใน และเธอเป็นเช่นไรก่อนประสบความซึมเศร้า คุณอาจสามารถทำให้เธอมั่นใจว่าคำชมเชยของคุณมิใช่คำยกยอปอปั้นเปล่า ๆ. คุณอาจยอมรับด้วยว่า สิ่งที่เธอทำอยู่ขณะนี้แสดงถึงความมานะพยายามอย่างสูงส่ง. คุณอาจพูดว่า ‘ผมรู้ว่าคุณต้องรับภาระอย่างไรในการทำเช่นนี้. น่าชมเชยจริง ๆ ที่คุณใช้ความพยายามมากอย่างนั้น!’ การได้รับความเห็นดีเห็นชอบและคำชมเชยจากคู่สมรสและลูก ๆ คนเหล่านั้นซึ่งรู้จักคนเราดีที่สุด นับว่าจำเป็นยิ่งในการสร้างความนับถือต่อตัวเองขึ้นใหม่.—เปรียบเทียบ 1 โกรินโธ 7:33, 34.
การใช้ตัวอย่างในพระคัมภีร์อาจช่วยบุคคลที่ซึมเศร้าให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างในความคิดที่อาจจำเป็น. อาทิเช่น บางทีคนเรารู้สึกไวเกินไปในเรื่องความเห็นของคนอื่น ๆ. คุณอาจสาธยายตัวอย่างของเอปาฟะโรดีโต แล้วถามว่า ‘ทำไมคุณคิดว่าเขารู้สึกซึมเศร้าเมื่อเขาได้ทราบว่า ประชาคมของเขาได้ยินเรื่องความเจ็บป่วยของเขา? เขาเป็นคนที่ล้มเหลวจริง ๆ ไหม? ทำไมเปาโลบอกให้นับถือเขา? คุณค่าอันแท้จริงของเอปาฟะโรดีโตในฐานะเป็นบุคคลขึ้นอยู่กับสิทธิพิเศษแห่งการรับใช้ที่เขามีอยู่ไหม?’ คำถามดังกล่าวอาจช่วยคริสเตียนผู้ซึมเศร้าให้เอาใจใส่เป็นส่วนตัวและสำนึกว่าเขามิใช่คนที่ล้มเหลว.
“จงสนับสนุนคนที่อ่อนแอ”
พระคัมภีร์กระตุ้นว่า “จงสนับสนุนคนที่อ่อนแอ.” (1 เธซะโลนิเก 5:14, ล.ม.) การดำรงอยู่ของสายใยแห่งเพื่อนคริสเตียนซึ่งสามารถให้ความเอาใจใส่แบบที่ใช้การได้จริงนั้นเป็นข้อได้เปรียบอีกประการหนึ่งของศาสนาแท้. เพื่อนแท้ได้แก่คนเหล่านั้นที่ “เกิดมาสำหรับคราวที่มีความทุกข์ร้อน” และเขายืนหยัดอยู่กับบุคคลที่ซึมเศร้า. (สุภาษิต 17:17, ล.ม.) เมื่ออัครสาวกเปาโลรู้สึก “ท้อใจ” และ “ทั้งภายในก็มีความกลัว” ท่านได้รับการประเล้าประโลมใจ “โดยที่ติโตอยู่ด้วย.” (2 โกรินโธ 7:5, 6, ล.ม.) ในทำนองเดียวกัน การเยี่ยมแบบมีไมตรีจิตและการติดต่อทางโทรศัพท์ในเวลาที่เหมาะดูเหมือนว่าจะได้รับการหยั่งรู้ค่าอย่างสุดซึ้งจากผู้ที่ซึมเศร้า. คุณอาจถามว่า มีทางใดไหมที่คุณจะให้ความช่วยเหลือได้ เช่นรับใช้ไปโน่นไปนี่ ทำงานบ้าน หรืออะไร ๆ ทำนองนั้น.a สตรีคริสเตียนชื่อมาเรียบอกว่า “เมื่อดิฉันรู้สึกซึมเศร้า เพื่อนคนหนึ่งเขียนจดหมายถึงดิฉันหลายครั้ง และรวมเอาข้อคัมภีร์ที่หนุนใจไว้ด้วยเสมอ. ดิฉันจะอ่านจดหมายนั้นครั้งแล้วครั้งเล่า ร้องไห้ขณะที่ดิฉันอ่านจดหมายนั้น. จดหมายนั้นเป็นเสมือนทองสำหรับดิฉัน.”
หลังจากสนับสนุนประชาคมให้ช่วยเหลือ “ผู้ที่ซึมเศร้า” แล้วเปาโลบอกว่า “ให้มีใจอดเอาเบาสู้แก่คนทั้งปวง. ระวังให้ดีอย่าให้คนใดกระทำการชั่วตอบแทนการชั่วแก่คนทั้งปวง.” (1 เธซะโลนิเก 5:14, 15) ความอดทนเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเนื่องจากความเจ็บปวดทางด้านจิตใจ ความคิดในแง่ลบ และความอ่อนเพลียเนื่องจากอดหลับอดนอน บุคคลที่ซึมเศร้าอาจตอบรับด้วย “คำพูด . . . หุนหัน” เช่นเดียวกับโยบ. (โยบ 6:2, 3) ราเช็ลสตรีคริสเตียนซึ่งมารดาของเธอซึมเศร้าอย่างแรง ได้เปิดเผยว่า “หลายครั้งคุณแม่จะพูดอะไรบางอย่างที่น่าเกลียดชัง. ส่วนใหญ่ของช่วงเวลาเหล่านี้ ดิฉันพยายามเตือนตัวเองให้ระลึกถึงบุคคลชนิดที่คุณแม่เป็นอย่างแท้จริง คือ—เต็มด้วยความรัก ความกรุณา และใจดี. ดิฉันรู้ว่าบุคคลที่ซึมเศร้าอาจพูดอะไรหลายอย่างที่เขามิได้เจตนา. สิ่งที่แย่ที่สุดซึ่งคนเราทำได้คือการตอบโต้ด้วยคำพูดหรือการกระทำที่ไม่ดี.”
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สตรีคริสเตียนผู้อาวุโสบางคนอาจอยู่ในฐานะที่จะนำความผ่อนคลายมาให้ผู้หญิงอื่น ๆ ที่ทนทุกข์กับความปวดร้าวทางด้านความรู้สึก. (เปรียบเทียบ 1 ติโมเธียว 5:9, 10.) สตรีคริสเตียนที่มีความสามารถเหล่านี้อาจถือเป็นข้อสำคัญที่จะพูดคุยกับคนเช่นนั้นอย่างที่ทำให้สบายใจในโอกาสที่เหมาะ. บางครั้งนับว่าเหมาะสมที่พี่น้องหญิงคริสเตียนผู้อาวุโสจะช่วยเหลือผู้หญิงต่อไปแทนที่จะเป็นพี่น้องฝ่ายชาย. โดยการจัดระเบียบเรื่องต่าง ๆ และดูแลเรื่องนั้นอย่างสมควร ผู้ปกครองคริสเตียนอาจจัดการให้ผู้ที่ซึมเศร้านั้นได้รับการเอาใจใส่ที่จำเป็น.
ผู้ปกครองที่มีลิ้นซึ่งได้รับการอบรม
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้บำรุงเลี้ยงทางฝ่ายวิญญาณต้องมี “ความรู้และความเข้าใจ” เพื่อที่เขาจะ “ทราบวิธีสนทนาเพื่อหนุนกำลังใจผู้ที่เหนื่อยหน่าย.” (ยิระมะยา 3:15, ฉบับแปลใหม่; ยะซายา 50:4, เบ็ค) อย่างไรก็ดี หากผู้ปกครองไม่ระวัง เขาอาจทำให้บุคคลที่ซึมเศร้านั้นรู้สึกแย่ลงโดยไม่ได้ตั้งใจ. อาทิเช่น สหายสามคนของโยบเข้าใจกันว่าไปหาโยบเพื่อ “ร่วมทุกข์กับท่านและพูดจาเล้าโลมท่าน.” แต่คำพูดของพวกเขาซึ่งได้รับการกระตุ้นจากทัศนะที่ผิดเกี่ยวกับสภาพลำบากของโยบ ‘บดท่านให้ย่อยยับ’ แทนที่จะเล้าโลมใจท่าน.—โยบ 2:11; 8:1, 5, 6; 11:1, 13–19; 19:2, ฉบับแปลใหม่.
บทความต่าง ๆ ในสรรพหนังสือของสมาคมวอชเทาเวอร์เสนอเค้าโครงหลักการต่าง ๆ ที่จะนำมาใช้ได้ในการแนะนำปัจเจกบุคคล.b ผู้ปกครองส่วนใหญ่ได้นำเรื่องราวดังกล่าวมาใช้. กระนั้น ในบางกรณี คำพูดโดยไม่คิดของผู้ปกครอง—ในระดับส่วนตัวหรือในคำบรรยาย—ก่อผลเสียหายทีเดียว. ดังนั้นขออย่าให้ผู้ปกครอง ‘พูดพล่อย ๆ เหมือนการแทงของกระบี่’ แต่พูดด้วย ‘ลิ้นของคนที่มีปัญญาย่อมรักษาแผลให้หาย.’ (สุภาษิต 12:18) หากผู้ปกครองคิดถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้จากคำพูดของเขาก่อนเขาพูดนั้น คำพูดของเขาก็อาจเป็นการปลอบใจได้. เพราะฉะนั้น ผู้ปกครองทั้งหลาย จงว่องไวในการฟัง และช้าในการลงความเห็นโดยไม่รู้สถานการณ์ทั้งหมด.—สุภาษิต 18:13.
เมื่อผู้ปกครองมีความสนใจด้วยน้ำใสใจจริงในบุคคลที่ซึมเศร้า บุคคลนั้นรู้สึกว่าได้รับความรักและความหยั่งรู้ค่า. ความเอาใจใส่แบบไม่เห็นแก่ตัวดังกล่าวอาจกระตุ้นบุคคลเหล่านี้ให้มองข้ามคำพูดใด ๆ ที่ทำให้ท้อใจ. (ยาโกโบ 3:2) บุคคลที่ซึมเศร้ามักเต็มตื้นด้วยความรู้สึกว่ามีผิดอยู่เนือง ๆ และผู้ปกครองจะช่วยเขาให้มีทัศนะที่สมดุลในเรื่องต่าง ๆ. แม้แต่เมื่อมีการทำบาปที่ร้ายแรง การเอาใจใส่ทางด้านวิญญาณที่ผู้ปกครองจัดเตรียมให้ก็อาจช่วย ‘ขาที่เขยกนั้นให้หายเป็นปกติ’ ได้.—เฮ็บราย 12:13.
เมื่อบุคคลที่ซึมเศร้ารู้สึกว่าคำอธิษฐานของเขาไม่ได้ผล ผู้ปกครองก็จะอธิษฐานกับเขาและเผื่อเขาได้. โดยการอ่านบทความที่อาศัยพระคัมภีร์เป็นหลักซึ่งเกี่ยวข้องกับความซึมเศร้ากับเขา ผู้ปกครองจะ ‘ชะโลมทา’ บุคคลเหล่านี้ด้วยถ้อยคำฝ่ายวิญญาณที่เป็นการปลอบโยนได้. (ยาโกโบ 5:14, 15) ผู้ปกครองอาจช่วยคนที่ซึมเศร้าให้ลงมือจัดการตามหลักพระคัมภีร์เพื่อขจัดความผิดใจกันเป็นส่วนตัวใด ๆ ที่เขาหรือเธออาจมีกับใครบางคนหากว่านี้เป็นปัญหา. (เปรียบเทียบมัดธาย 5:23, 24; 18:15-17.) บ่อยครั้ง ความขัดแย้งกันดังกล่าวโดยเฉพาะอย่างยิ่งในครอบครัวเป็นมูลรากของความซึมเศร้า.
จงสำนึกว่าการหายเป็นปกติต้องใช้เวลา. แม้แต่ความพยายามด้วยความรักของเอ็ลคานาก็มิได้ปลดเปลื้องฮันนาให้พ้นจากความซึมเศร้าของเธอโดยฉับพลัน. คำอธิษฐานของเธอเองกับทั้งการทำให้มั่นใจอีกโดยมหาปุโรหิต ในที่สุดก็ได้นำไปสู่ความบรรเทา. (1 ซามูเอล 1:12-18) เนื่องจากเหตุนี้ จงอดทนหากมีการตอบสนองช้า. แน่ละ ผู้ปกครองโดยทั่วไปมิใช่แพทย์ และเพราะฉะนั้นอาจพบว่าความพยายามของเขามีขอบเขตจำกัดในบางกรณี. พวกเขาพร้อมกับสมาชิกในครอบครัวของบุคคลที่ซึมเศร้า อาจจำเป็นต้องสนับสนุนคนนั้นให้แสวงหาความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ. หากจำเป็น ผู้ปกครองหรือสมาชิกในครอบครัวอาจชี้แจงอย่างชัดเจนกับผู้เชี่ยวชาญใด ๆ ถึงความสำคัญของการนับถือต่อความเชื่อทางศาสนาของคนที่ซึมเศร้านั้น.
ไม่มีใครจะมีสุขภาพสมบูรณ์พร้อมทางร่างกาย จิตใจ หรือทางด้านอารมณ์ จนกว่าจะถึงโลกใหม่ของพระเจ้า. ในระหว่างนี้ คริสเตียนคนใดซึ่งหมดความยินดีของตนไปเนื่องจากความซึมเศร้าก็อาจรับเอาพลังจากไม่เฉพาะแต่ประชาคมคริสเตียนเท่านั้น หากแต่จากพระบิดาฝ่ายสวรรค์ของเราด้วย “ผู้ทรงปลอบโยนผู้ที่ซึมเศร้า.”—2 โกรินโธ 7:6, นิว อเมริกัน สแตนดาร์ด ไบเบิล.
[เชิงอรรถ]
a โปรดดูบทความเรื่อง “การเอาชนะความซึมเศร้า—วิธีที่คนอื่น ๆ จะช่วยได้” ในตื่นเถิด วันที่ 8 พฤศจิกายน 1987 หน้า 12-16.
b โปรดดูบทความเรื่อง “ลิ้นที่ได้รับการอบรม—เพื่อหนุนกำลังใจผู้ที่เหนื่อยหน่าย” ใน เดอะ วอชเทาเวอร์ วันที่ 1 มิถุนายน 1982 และ “‘ถ้อยคำฝ่ายวิญญาณ’ สำหรับผู้ที่เป็นทุกข์เดือดร้อนทางจิตใจ” ในหอสังเกตการณ์ ฉบับวันที่ 15 พฤศจิกายน 1988.
[กรอบหน้า 24]
วิธีพูดอย่างที่เป็นการปลอบใจ
◻ จงตั้งใจฟัง—โดยคำถามแบบมีวิจารณญาณ ‘ยกเอา’ ความรู้สึกในหัวใจบุคคลนั้นออกมา. จงว่องไวในการฟัง และช้าในการลงความเห็นใด ๆ ก่อนรู้สภาพการณ์ครบถ้วน.—สุภาษิต 20:5; 18:13.
◻ แสดงความร่วมรู้สึก—“ความเห็นอกเห็นใจ” ควรเชื่อมเข้ากับ ‘ความสงสารอย่างอ่อนละมุน’ ขณะที่คุณพยายามจะเข้าร่วมทางด้านอารมณ์กับคนที่ซึมเศร้า. ‘จงร้องไห้ด้วยกันกับผู้ที่ร้องไห้.’—1 เปโตร 3:8, ล.ม.; โรม 12:15.
◻ จงอดกลั้นทนนาน—อาจต้องมีการสนทนากันหลายครั้ง ดังนั้นจงอดทน. มองข้าม “คำพูดหุนหัน” ที่คนซึมเศร้าอาจพูดเนื่องจากความคับข้องใจ.—โยบ 6:3, ฉบับแปลใหม่.
◻ ชูกำลังด้วยคำพูด —ช่วยคนที่ซึมเศร้าให้แลเห็นคุณลักษณะที่ดีของเขาหรือเธอ. ให้คำชมเชยที่เจาะจง. ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาต่าง ๆ ประสบการณ์ที่ไม่ดี หรือข้อบกพร่องต่าง ๆ ในอดีตใช่ว่ากำหนดคุณค่าเฉพาะตัวของคนไม่. อธิบายเหตุผลที่พระเจ้าทรงรักและใฝ่พระทัยในเขาหรือเธอ.—โยบ 16:5.